chompoo-kitchenss.pantown.com
แป้ง+ครีม+เค้ก+เครื่องเทศ <<
กลับไปหน้าแรก
สารบอแรกซ์กับคนไทย
Nfitr31 / มันมากับอาหาร / หน้า 7 - ไทยรัฐ 5 พฤศจิกายน 42
ปี 2517 กองวิเคราะห์อาหารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สำรวจอาหารจำนวน 34ตัวอย่าง พบว่ามีการใช้สารบอแรกซ์ถึง 31 ตัวอย่าง
อีก 3 ปีถัดมา ก็ยังพบว่าทับทิมกรอบ ลอดช่อง ครองแครง รวมมิตร สาคูเม็ดใหญ่ จำนวน 11 ตัวอย่าง ใช้สารบอแรกซ์ทุกตัวอย่าง ในปริมาณเข้มข้นระหว่าง 70 - 11,850 ppm หลังจากนั้นระหว่างปี 2525-2529 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจพบบอแรกซ์ในผลไม้ดอง หมูยอ แหนม ลูกชิ้น ผงวุ้น ทับทิมกรอบ เฉาก๊วย บะหมี่ และปีนี้เอง เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อย.สุ่มตรวจอาหาร 44 ชนิดที่จำหน่ายในตลาดคลองมหานาค เช่น ผลไม้ดองทั้งหลาย รวมมิตร สลิ่ม แป้งกรอบ ลอดช่อง แป้งครองแครง ด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น พบว่าใส่สารบอแรกซ์อยู่ 4 ตัวอย่าง ครั้นเมื่อไปตรวจสถานที่ผลิตและจำหน่ายแป้งขนมหวาน ก็พบบรรจุภัณฑ์ของวัตถุที่ใช้ ผสมแป้งขนมหวานระบุข้อความ สารบอแรกซ์ อยู่ด้วย
ขอย้ำว่า คนที่ยังมีสติสัมปัญชัญญะอยู่สมบูรณ์ครบถ้วน จะไม่กินสารบอแรกซ์กับไม่ใช้สารบอแรกซ์ผสมอาหารเด็ดขาดและประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 (พ.ศ.2536) ก็ห้ามใช้สารชนิดนี้ด้วย
คนไทยส่วนใหญ่รู้จักสารนี้ในชื่อ น้ำประสานทอง ผงกรอบ ผงเนื้อนิ่ม นิยมใส่ในลูกชิ้น หมูยอ แหนม ไส้กรอก ผลไม้ดองวุ้นกรอบ กล้วยแขก ฯลฯ และหมักในเนื้อวัวเนื้อหมู ทำให้เนื้อนุ่ม สารบอแรกซ์ บ้านเขาเมืองอื่นนิยมใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องแก้ว เครื่องเคลือบ เป็นสารต้านจุลินทรีย์ สารทำความสะอาด ใช้ทำสเปรย์ ผงฆ่าแมลง มีพิษต่อระบบประสาทตับ ไตและผิวหนัง หากได้รับสะสมทีละเล็กทีละน้อยเป็นเวลานานๆ จะทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้เบื่ออาหาร อาเจียน ถ่ายอุจจาระบ่อยมีลักษณะเป็นเมือกและเป็นเลือด น้ำหนักตัวลดลง ร่างกายจะสะสมสารนี้ที่กรวยไต จะทำลายระบบการทำงานของตับ ไต เลือดจะขาดออกซิเจนทำให้ตัวเขียวคล้ำ ความดันลดลง หากได้รับในปริมาณมากจะคลื่นไส้ อาเจียนเป็นโลหิต หมดสติและตาย
ฉะนั้นอาหารใดที่มีลักษณะกรอบ และนุ่มผิดปกติก็ควรหลีกเลี่ยงซะ อาหารใดที่ทอดแล้วกรอบนานเป็นชั่วโมงๆก็สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ใช่เลย เพราะปกติอาหารทั่วๆไป มักจะกรอบอยู่ได้ไม่เกิน 1-2 ชั่วโมงแต่เพื่อความแน่นอน ก็อาจทดสอบหาสารบอแรกซ์ในอาหารได้ด้วยตัวเอง ด้วยการนำผงขมิ้น 1 ช้อนชาละลายในแอลกอฮอล์หรือเหล้าขาวประมาณ 10 ช้อนชา หรือ 3 ช้อนโต๊ะ แล้วเอากระดาษสีขาวที่ดูดซึมน้ำได้หรือผ้าขาวจุ่มลงไป ก็จะได้กระดาษขมิ้นหรือผ้าขมิ้น นำไปผึ่งลมให้แห้ง จากนั้นก็นำวัตถุที่ใช้ปรุงแต่งรสอาหารที่ต้องการตรวจสอบประมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียวมาละลายน้ำสะอาด ใช้ผ้าขมิ้นจุ่มลงไป ถ้าผ้าขมิ้นเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีแดง ใช่มันแน่นอน หากเป็นสีม่วงแก่และสีน้ำเงิน ก็แสดงว่ามีบอแรกซ์เจือปนอยู่มาก
ด้วยเหตุฉะนี้ สถาบันอาหารจึงสุ่มตัวอย่างขนมทับทิมกรอบ เม็ดสาคู และวุ้นกรอบตามย่านต่างๆในกรุงเทพฯเพื่อวิเคราะห์หาสารบอแรกซ์ ผลวิเคราะห์เป็นอย่างไรเชิญพิจารณาจากตารางข้างล่างนี้
วิธีวิเคราะห์ มอก. 1009 - 2533 วันที่วิเคราะห์ 20 ต.ค. 42
ฝ่ายบริการข้อมูล / ฝ่ายบริการทดสอบ สถาบันอาหารองค์กรอิสระในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม
โดย: ++ [5 ก.ย. 49] ( IP A:213.114.231.217 X: )
คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน