ความคิดเห็นที่ 1 หลักเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะ (ฉบับใหม่)
หมายเหตุ - ในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งมีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์ตามกรอบแนวทางการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูมีและเลื่อนวิทยฐานะ โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2551
เห็นว่าเป็นสาระสำคัญจึงนำรายละเอียดมาเสนอครับ
1.ด้านคุณสมบัติผู้ขอรับการประเมิน
1.1 ไม่กำหนดคุณสมบัติด้านเงินเดือนขั้นต่ำของผู้ขอรับการประเมิน
1.2 กำหนดภาระงานของผู้ขอรับการประเมินสายงานการสอน กำหนด 18 ชั่วโมง/สัปดาห์ สำหรับสายงานบริหารและสายงานนิเทศการศึกษา ต้องปฏิบัติงานเต็มเวลา
ทั้งนี้ การนับจำนวนชั่วโมงสอน 18 ชั่วโมง/คาบต่อสัปดาห์ เฉพาะในปีการศึกษา 2551 ให้สามารถนับชั่วโมงปฏิบัติการสอนไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมง/คาบต่อสัปดาห์ และชั่วโมงปฏิบัติงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนตามที่ผู้บริหารสถานศึกษามอบหมายอีก 6 ชั่วโมง/คาบต่อสัปดาห์ รวมเป็น 18 ชั่วโมง/คาบต่อสัปดาห์ ได้
1.3 ประสบการณ์ในการดำรงตำแหน่งสายงานการสอนซึ่งผันแปรตามคุณวุฒิ กำหนดคงเดิม และให้สามารถนำประสบการณ์ ความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับการสอนทั้งในสายงานการศึกษาของรัฐและเอกชนมานับรวมได้ หากประสบการณ์การดำรงตำแหน่งครูไม่ครบตามหลักเกณฑ์
มีการปรับประสบการณ์ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งผู้ที่ขอเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการเป็น 2 ปี เท่ากันทุกสายงาน ยกเว้นสายงานการสอนคงเดิม คือปริญญาตรี 6 ปี ปริญญาโท 4 ปี และปริญญาเอก 2 ปี ให้สอดรับกับผลงานย้อนหลัง 2 ปี ติดต่อกัน ณ วันที่ยื่นคำขอ (เดิมกำหนด 1 ปี), วิทยฐานะชำนาญการเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ กำหนด 2 ปี, วิทยฐานะชำนาญการพิเศษเป็นวิทยฐานะชำนาญการเชี่ยวชาญ กำหนด 3 ปี เพื่อให้สอดรับกับตำแหน่งวิชาการในตำแหน่งรองศาสตราจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา และวิทยฐานะเชี่ยวชาญเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ กำหนด 2 ปี
2.กำหนดการประเมิน 3 ด้าน
2.1 การประเมินด้านวินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ ห้ามผู้ที่ขอรับการประเมินที่มีผลการพิจารณาโทษทางวินัยหรือจรรยาบรรณวิชาชีพถึงที่สุดแล้วถูกลงโทษหนักกว่าโทษภาคทัณฑ์ ขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะ เว้นแต่ได้พ้นจากระยะเวลาที่โทษกำหนดไว้ จะประเมินพิจารณาจากการตรวจสอบข้อมูลทะเบียนประวัติ (ก.พ. 7) ข้อมูลจากฐานข้อมูลสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) หรือส่วนราชการ สำนักงาน ก.ค.ศ. และสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา (เมื่อผ่านการประเมินด้านที่ 1 แล้ว จึงประเมินด้านที่ 2 และด้านที่ 3)
2.2 การประเมินด้านคุณภาพการปฏิบัติงานแต่ละสายงาน จะพิจารณาจากประจักษ์พยานและรายงานการประเมินตนเอง (SAR : Self Assessment Report) ด้านการเรียนการสอน หรือด้านการบริหารสถานศึกษา หรือด้านการบริหารเขตพื้นที่การศึกษา หรือด้านการนิเทศการศึกษา โดยผู้ขอรับการประเมินทุกวิทยฐานะต้องจัดส่งเอกสารดังกล่าว
2.3 การประเมินด้านผลที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ จะเน้นผลที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนในเชิงพัฒนาการเป็นสำคัญ รวมทั้งผลที่เกิดขึ้นต่อคุณภาพการศึกษา ผลต่อการพัฒนาวิชาการและวิชาชีพ และผลต่อชุมชนและสังคม โดยพิจารณาจากผลการประเมินคุณภาพภายในของสถานศึกษา ผลการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษา ผลการทดสอบระดับชาติ O -net, A-net, NT ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนรายบุคคล กรณีหน่วยงานการศึกษาที่ไม่มีการทดสอบ O-net, A-net, NT ให้ใช้ผลการทดสอบมาตรฐานวิชาชีพหรือมาตรฐานการศึกษาตามที่ส่วนราชการ หรือหน่วยงานการศึกษานั้นกำหนด อาทิ ผลการทดสอบของสถาบันการพลศึกษา กรมศิลปากร สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
นอกจากนี้ พิจารณาจากเอกสารรายงานการวิจัยปฏิบัติการสำหรับสายผู้สอน หรือรายงานที่ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ปกติที่ได้นำไปใช้แล้ว โดยกำหนดให้จัดส่งตั้งแต่วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ สำหรับวิทยฐานะเชี่ยวชาญต้องเสนอรายงานการวิจัยและนวัตกรรม และรายงานการพัฒนานวัตกรรมที่นำไปใช้แล้วจนเกิดผลดี เป็นแบบอย่างได้ สำหรับวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ ต้องเป็นรายงานวิจัยและนวัตกรรม และรายงานการพัฒนานวัตกรรมที่นำไปใช้แล้วจนเกิดผลดียิ่ง เป็นความรู้ใหม่ และเป็นแบบอย่างได้
ในกรณีที่มีการโอนหรือย้ายผลที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานเดิม สามารถนำมาใช้ในการประเมินใหม่ได้ ยกเว้นกรณีการเปลี่ยนสายงาน
3.วิธีการประเมิน
กำหนดเป็น 2 วิธี คือ การประเมินด้วยวิธีปกติ มีกรรมการประเมิน 3 คน เป็นกรรมการจากบุคคลภายใน 1 คน กรรมการจากบุคคลภายนอก 2 คน และการประเมินด้วยวิธีพิเศษ มีกรรมการประเมิน 5 คน เป็นกรรมการจากบุคคลภายนอกทั้งหมด
ในการประเมินด้วยวิธีพิเศษ จะทำให้ผู้มีความรู้ ความสามารถได้มีความก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด (Fast Track) กำหนดให้เริ่มขอรับการประเมินได้เมื่อมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าวิทยฐานะชำนาญการแล้ว สำหรับผู้ที่มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ.กำหนด แต่มีผลงานดีเด่นเป็นพิเศษและเป็นที่ยอมรับ เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจสำหรับผู้มีความรู้ ความสามารถและมีผลงานดีเด่น รวมทั้งดึงดูดคนที่มีความสามารถเข้าสู่วิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งนี้ สามารถจะขอประเมินข้ามวิทยฐานะและหรือไม่ข้ามวิทยฐานะก็ได้ จะประเมินโดย ก.ค.ศ.เป็นผู้พิจารณา และตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการประเมินจำนวน 5 คน
4.เกณฑ์ผ่านการประเมินแต่ละวิทยฐานะ ต้องเป็นเอกฉันท์ในแต่ละด้าน ดังนี้
ด้านวินัย คุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพ วิทยฐานะชำนาญการ และวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ อยู่ในเกณฑ์ผ่าน สำหรับวิทยฐานะเชี่ยวชาญและเชี่ยวชาญพิเศษ อยู่ในเกณฑ์ผ่านและเป็นแบบอย่างที่ดี
ด้านคุณภาพการปฏิบัติงาน วิทยฐานะชำนาญการ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 65, วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70, วิทยฐานะเชี่ยวชาญ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75, วิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80
ด้านผลที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ วิทยฐานะชำนาญการ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 65, วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70, วิทยฐานะเชี่ยวชาญ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75, วิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80
5.เงื่อนไขการพัฒนาก่อนการแต่งตั้ง
กำหนดเฉพาะวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ โดยให้ไปเข้ารับการพัฒนาตามหลักสูตรที่ ก.ค.ศ.กำหนด เพื่อพัฒนางานในหน้าที่ ไม่น้อยกว่า 20 ชั่วโมง หรือจำนวนหน่วยการพัฒนาที่กำหนดตามหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรง

|