แพทยสภากับการผลิตแพทย์
   บทบาทแพทยสภากับการผลิตบัณฑิตแพทย์เพื่อคนไทย

โดยกลุ่มคณาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
25 มกราคม 2553
ความเป็นมา
ในปีที่ผ่านมามีโรงเรียนแพทย์ของรัฐแห่งหนึ่งต้องการเปิดหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติโดยอ้างว่าประเทศไทยต้องตามให้ทันกับกระแสโลก ซึ่งการเปิดหลักสูตรนี้นอกจากจะต้องผ่านสภามหาวิทยาลัยแล้วจะต้องผ่านความเห็นชอบจากแพทยสภาด้วย แพทยสภาจึงได้ส่งคณะกรรมการเพื่อไปตรวจประเมินหลักสูตรและประเมินสถาบันที่จะเปิดสอน ในรายงานผลการตรวจมีคำแนะนำของคณะกรรมการผู้ตรวจประเมินว่า “หลักสูตรนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนของนโยบายการผลิตบัณฑิตแพทย์ในสถาบันของรัฐของประเทศไทย ... การให้ความสำคัญกับการผลิตบัณฑิตแพทย์ตามหลักสูตรนานาชาติขณะที่ยังสามารถเพิ่มศักยภาพในการผลิตแพทย์ให้กับชนบทของไทยได้ จึงสมควรนำประเด็นเหล่านี้เข้าพิจารณาใน สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ”
จึงนำไปสู่การอภิปรายในหัวข้อ “หลักสูตรแพทย์นานาชาติ ทางเลือกระหว่างโลกาภิวัตน์กับสุขภาพคนไทย” ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2552 ณ อาคารองค์การสหประชาชาติ ที่ผ่านมาที่ในประชุมส่วนใหญ่คัดค้านการเปิดหลักสูตรดังกล่าวอันจะเห็นได้จากข่าวที่ออกจากการประชุมในวันรุ่งขึ้น
ท่ามกลางการคัดค้านและความคลุมคลือไม่ชัดเจนต่อนโยบายการผลิตแพทย์นานาชาติของประเทศไทย ไม่ถึงหนึ่งเดือนต่อมาแพทยสภาก็ได้อนุมัติหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเป็นที่เรียบร้อย อย่างเงียบ ๆ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2553 และจะมีการรับรองมติการประชุมในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้
บทความนี้จึงขอสำรวจตรวจสอบบทบาทของแพทยสภาทั้งในปัจจุบันและในอดีตต่อการผลิตบัณฑิตแพทย์ของประเทศไทยในภาวะที่ประชาชนคนไทยยังต้องการหลักประกันทางสุขภาพอย่างทั่วถึง ว่าได้ตัดสินใจดีแล้วหรือในการกำหนดอนาคตของกำลังคนด้านการแพทย์โดยปราศจากอคติส่วนบุคคลและระดับองค์กร และเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติอย่างแท้จริง

นโยบายการผลิตแพทย์ของประเทศไทย
นโยบายการผลิตแพทย์ของประเทศไทยถูกกำหนดโดยการประชุมระดับชาติที่เรียกว่า “การประชุมแพทยศาสตรศึกษาแห่งชาติ” ซึ่งจัดทุก 7-8 ปีเพื่อระดมความคิดจาก ผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ทั้งในทางการแพทย์ การศึกษา และสังคมภายนอกที่มีส่วนได้เสียกับการผลิตและใช้บัณฑิตแพทย์ เพื่อพัฒนาการศึกษาแพทย์ให้มีแนวทางที่ทันต่อยุคสมัยและเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลง มีเป้าหมายที่ชัดเจน และพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพเพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง ในการประชุมครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 20-22 กรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมาได้กำหนดหัวข้อการประชุม (theme) ว่า “การบริบาลสุขภาพโดยมุ่งเน้นคนเป็นศูนย์กลาง” (People - Centered Health Care) โดยทางคณะผู้จัดงานได้ให้เหตุผลไว้ว่า “… ในยุคปัจจุบันแม้ว่าวงการแพทย์ไทยจะได้รับการยอมรับว่ามีการพัฒนาในระดับแนวหน้าของภูมิภาค แต่สังคมไทยยังคาดหวังให้แพทย์มีจรรยาแพทย์ บริบาลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด มีความเอื้ออาทรเสมือนญาติ รวมถึงการเลือกยา และวิธีการตรวจรักษาให้เหมาะสมกับสภาวะของโรคและฐานะผู้ป่วย ซึ่งแพทย์ทุกคนควรจะตระหนักและประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามพระราโชวาทแห่งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ว่า “I don't want you to be only a doctor but I also want you to be a man” ” ซึ่งเป็นแนวคิดที่น่าเคารพยกย่องที่มุ่งจะแก้ปัญหาการบริการทางการแพทย์อย่างจริงจัง โดยอยู่บนพื้นฐานของการเอาผู้ป่วยและคนเป็นศูนย์กลาง
ข้อเสนอแนะที่เกิดจากการประชุมครั้งนี้ ในข้อที่ 13 มีอยู่ว่า “สถาบันฯ ควรแสดงให้เห็นว่าได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในการปรับปรุงวัตถุประสงค์และสัดส่วนที่เหมาะสมของเนื้อหาของหลักสูตรในการผลิตบัณฑิตแพทย์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อให้ได้แพทย์ซึ่งสามารถให้การบริบาลสุขภาพที่มุ่งเน้นคนเป็นศูนย์กลางและสอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการด้านสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ” จึงควรที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้นำนโยบายที่เกิดจากการประชุมครั้งนี้ไปดำเนินการ รวมถึงแพทยสภาและคณะแพทยศาสตร์ต่าง ๆ

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติกับนโยบายการผลิตแพทย์นานาชาติ
นอกจากเวทีของนักวิชาการด้านการศึกษาทางการแพทย์แล้ว ยังมีการพูดคุยกันในเรื่องแพทย์นานาชาติของประชาสังคม ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติตามที่กล่าวไว้ข้างต้น จากที่ประชุมในวันนั้นนายแพทย์ฑิณกร โนรี จากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ได้ให้ข้อมูลเปิดประเด็นว่า ตามแผนแม่บทบุคลากรด้านสาธารณสุข กำหนดให้แพทย์ 1 คน ควรดูแลประชากร 1,800 คน แต่ในความเป็นจริง แพทย์ใน กทม. 1 คน ดูแล ประชากร 867 คน ขณะที่ แพทย์ 1 คนในภาคอีสาน ดูแลประชากร 7,015 คน และที่หนักไปกว่านั้น แพทย์ 1 คนใน จังหวัดศรีสะเกษดูแล ประชากร 11,267 คน
ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล คณบดีแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้เสนอหลักสูตรเห็นว่าหลักสูตรที่เสนอนี้ได้เชื่อมโยงองค์ความรู้แพทย์ตะวันออกและตะวันตก มีการบูรณาการ เพื่อสร้างคนไทยให้เป็นผู้นำในด้านการแพทย์ในระดับสากล ซึ่งคาดหวังว่า ประเทศไทยจะมีบทบาทเป็นผู้นำด้านสุขภาพของโลกในปี 2015 ที่อาเซียนจะรวมเป็นประชาคมหนึ่งเดียวเหมือนกับอียู และกล่าวว่า “การผลิตบุคลากรทางการแพทย์จะไม่ใช่แค่สำหรับคนเพียง 60 ล้านคนในประเทศ แต่เพื่อคน 600 ล้านคน” ในขณะที่ นพ.เสรี หงส์หยก รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำเสนอว่าไทยมีสัดส่วนแพทย์ 40 คนต่อประชากรแสนคนโดยในเอเชีย ไทยชนะเพียงกัมพูชาและลาว ซึ่งมีบุคลากรทางการแพทย์ 30 และ 20 คนต่อประชากรแสนคน ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างอเมริกา มีสัดส่วนแพทย์ 300 กว่าคน ต่อประชากรแสนคนและได้ฝากข้อคิดเอาไว้ว่า “ความต้องการแพทย์ของไทยยังมีอยู่ ยังขาดแคลน ขณะที่เรากำลังเดินตามโลกาภิวัตน์นั้นจะทำให้ทรัพยากรบุคคลถูกดึงออกไป เราต้องเดินตามโลกาภิวัตน์ให้ทัน แต่เราต้องช่วยตัวเองให้ได้ก่อน ไม่เช่นนั้นคนชั้นกลางและคนรายได้น้อยจะรับผลกระทบในเรื่องการรักษาพยาบาล”
นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ในฐานะผู้ดำเนินการอภิปรายได้เขียนบันทึกไว้ในเว็บไซต์ของสถาบัน ฯ ว่า “ผู้เข้าร่วมประชุมบางท่านยังได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า แม้ว่าหลักสูตรดังกล่าวจะไม่ได้ร้องขอการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลโดยตรง แต่การที่อาจารย์แพทย์ที่รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนผลิตขึ้นมา ต้องใช้เวลาจำนวนหนึ่งไปสอนนักศึกษาแพทย์หลักสูตรนานาชาติเหล่านี้ รวมทั้งการที่นักศึกษาแพทย์ต้องใช้โรงพยาบาลของรัฐและผู้ป่วยซึ่งเป็นคนไทยในการศึกษาเล่าเรียน เพื่อให้มีความรู้และประสบการณ์มากพอ ทั้งหมดนี้จึงเป็นการใช้ทรัพยากรของรัฐและทุนของสังคมไทย เพื่อสนับสนุนโครงการนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อฟังเหตุผลจากหลายมุมดังกล่าวแล้ว อาจกล่าวได้ว่า การก้าวให้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไปสำหรับกรณีนี้ อาจกลายเป็น “การก้าวไปข้างหน้าโดยทิ้งประชาชนคนไทยไว้ข้างหลัง” ซึ่งผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายพึงพิจารณาด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง…”
ส่วนคุณสารี อ๋องสมหวัง จากมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่าการบริการทางการแพทย์เองยังมีปัญหาอยู่ ทั้งเรื่องความเสมอภาคในการให้บริการ ความซับซ้อนในการจ่ายเงินระบบประกันภัย คนต่างชาติมารับการรักษาในประเทศไทยมากขึ้น โรงพยาบาลเอกชนไม่เอื้ออำนวยกับระบบประกันสุขภาพ และเป็นห่วงคุณภาพของแพทย์ “ที่ประชุมสมัชชาฯควรมีมติต่อการเปิดหลักสูตรแพทย์นานาชาติ ควรประเมินผลกระทบอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ แม้มหาวิทยาลัยผู้ออกหลักสูตรจะได้ออกนอกระบบ แต่ก็ต้องยึดโยงกับประชาชน ในส่วนโรงพยาบาลเอกชนนั้น รัฐบาลควรเก็บภาษีจากโอกาสทางนโยบายที่ได้ประโยชน์ จาก เมดิเคิลฮับ” อีกทั้งยังเสนอให้ทบทวนการใช้เงินแทนการทำงานใช้ทุนของนักศึกษาแพทย์ ว่าควรให้ไปใช้ชีวิตเรียนรู้การทำงานในชนบท
ขณะที่ พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร อุปนายก แพทยสภา กล่าวว่า การทำงานของแพทยสภาเดินตามยุคสมัย ตามความต้องการของประเทศ เมื่อมีความต้องการแพทย์จำนวนมากก็เปิดให้มีการตั้งโรงเรียนแพทย์เพิ่ม ซึ่งก็ต้องมีมาตรฐาน ในส่วนหลักสูตรนานาชาติก็เช่นเดียวกัน “เป็นสิทธิของทางมหาวิทยาลัยที่จะออกหลักสูตรแต่ ต้องมารองรับประเทศชาติ รองรับประชาชนจริงๆ”
จะเห็นได้ว่า วิทยากรทั้งสามท่านบนเวทีไม่มีใครสนับสนุนตามผู้เสนอหลักสูตรแต่อย่างใด อีกทั้งผู้เข้าร่วมฟังการอภิปรายอีกหลายคนได้ให้ข้อคิดเห็นเป็นไปในแนวทางเดียวกันคือ มีความห่วงใยต่อผลกระทบที่จะเกิดกับการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของคนไทย การกระจายแพทย์ และการไหลออกจากระบบราชการของแพทย์ รวมถึงเรื่องมาตรฐานของหลักสูตร การประกันคุณภาพหลักสูตร คุณภาพบัณฑิตแพทย์

บทบาทแพทยสภาในการผลิตบัณฑิตแพทย์
ทั้งสองการประชุมข้างต้นคือเวทีสาธารณะที่สำคัญระดับชาติที่แพทยสภาควรจะได้ตระหนักคิดและนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำกับดูแลคุณภาพของการผลติบัณฑิตแพทย์ให้มีทั้งคุณภาพและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน จึงไม่ควรดำเนินใด ๆ เองเสมือนผู้กำหนดนโยบายการในประเด็นที่ยังขาดความชัดเจน
แพทยสภาควรจะเน้นย้ำถึงบทบาทตนเองว่ามีหน้าที่ในการกำกับคุณภาพการผลิตบัณฑิตแพทย์ของไทย ไม่ใช่การกำหนดนโยบายการผลิตแพทย์เสียเอง โดยการอนุมัติหลักสูตรนานาชาติ ซึ่งขัดแย้งกับข้อสรุปของที่ประชุมทั้งสองข้างต้น และยังไม่ได้มีการถกเถียงกันระหว่างผู้รู้ และผู้เชี่ยวชาญในวงการ ทางการแพทย์ และการศึกษา ของประเทศไทยจนมีข้อสรุปที่แน่ชัด การผ่านการพิจารณาหลักสูตรแพทย์นานาชาติในครั้งนี้ยังไม่สอดคล้องกับบทบาทและหน้าที่พึงตระหนักของกรรมการแพทยสภาในชุดปัจจุบันซึ่งจำเป็นที่ควรได้รับการทบทวนอย่างยิ่ง แม้ว่า แพทยสภามีอำนาจหน้าที่ ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ในการรับรองหลักสูตรต่าง ๆ สำหรับการฝึกอบรมในวิชาชีพเวชกรรมของสถาบันทางการแพทย์ ก็ตาม เจตนารมณ์ของผู้ออก พรบ.ดังกล่าวก็คงต้องการให้แพทยสภาทำงานตอบสนองต่อความต้องการเรื่องการเจ็บป่วยของประชาชนคนไทย

ประเด็นที่แพทยสภาควรพิจารณาทบทวน
แม้ว่าในการอนุมัติหลักสูตรแพทย์นานาชาติในครั้งนี้จะมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นคนสัญชาติไทยเรียนและต้องทำสัญญาชดใช้ทุนให้รัฐบาล แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นหลักทั้งหมดที่พูดคุยกันในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประเด็นสำคัญคือการไม่สนองตอบต่อการขาดแคลนแพทย์แม้ว่าการอนุมัติจะมีมติให้มีการชดใช้ทุนก็ตาม การชดใช้ทุนเป็นเพียงการตอบโจทย์เรื่องการชดใช้ทรัพยากรของรัฐและผู้ป่วยในการเรียนแพทย์และสร้างความเสมอภาคในระบบการผลิตแพทย์แต่ไม่ได้ช่วยสนับสนุนให้แพทย์อยู่ในระบบที่ชาวบ้านทั่วไปเข้าถึง แต่กลับจะหลั่งไหลเข้าไปในระบบเอกชนที่ชาวต่างชาตินิยมเดินทางมารับบริการการรักษาในประเทศไทย เพราะคงยากที่ผู้จ่ายเงินหลักล้านและเรียนเป็นภาษาอังกฤษต้องการจะทำงานในชนบทที่ขาดแคลนแพทย์
ส่วนการกำหนดให้เป็นคนไทยสัญชาติไทยเท่านั้นก็อาจไม่ตอบสนองต่อความเป็นนานาชาติเพราะตัวชี้วัดหนึ่งของความเป็นนานาชาติคือการที่มีนักศึกษาจากต่างชาติเข้าเรียนด้วย ถ้าจำกัดที่บุคคลสัญชาติไทย ก็คงอ้างความเป็นนานาชาติได้ยาก อย่างดีก็คงเป็นได้เพียงหลักสูตรสองภาษา (Bilingual Program) หรือภาษาอังกฤษ (English Program) มากกว่าที่จะเป็นหลักสูตรนานาชาติ (International Program)
หากประเด็นเรื่องความขาดแคลนแพทย์ของไทยจบลงแล้ว แพทยสภาควรได้ตระหนักก่อนการอนุมัติหลักสูตรคือคือคุณภาพของบัณฑิตแพทย์นานาชาติ โดยปรกติก่อนการเปิดหลักสูตรใหม่จะมีการประเมินหลักสูตรและสถาบันการศึกษา แพทยสภาเองยอมรับว่า มีเกณฑ์การประเมินหลักสูตรและสถาบันการผลิตแพทย์เพียงเกณฑ์เดียว คือเกณฑ์ที่ใช้ในปัจจุบัน และเป็นเกณฑ์ที่ใช้ประเมินหลักสูตรปกติ (ภาษาไทย) จึงเกิดคำถามว่าในการประเมินหลักสูตรนานาชาติ ควรหรือไม่ที่แพทยสภาควรจะมีเกณฑ์ หรือแนวทางประเมินที่เหมาะสมกับการเป็นหลักสูตรนานาชาติและโรงเรียนแพทย์นานาชาติ เพราะการประเมินที่ทำผ่านไปก็เป็นเพียงการเอาเกณฑ์การประเมิน ที่ปกติที่ใช้ประเมินหลักสูตรภาษาไทยมาประเมิน แม้จะบอกว่าการแพทย์ประเทศไทยมีความเป็นสากล แต่การเป็นหลักสูตรนานาชาติย่อมต้องการคุณภาพและมาตรฐานที่แตกต่างออกไป การประเมินที่ไม่ตรงกับเป้าประสงค์ เช่นนี้ ย่อมนำมาซึ่งคำถามของความเป็นมาตรฐานของแพทยสภา ที่ผู้ปกครองของนักเรียนในฐานะผู้บริโภคควรได้พิจารณาตรวจสอบ
ในด้านเนื้อหารายละเอียด เกณฑ์การประเมินที่ใช้อยู่ก็ไม่ได้นิยามเรื่องความเป็นนานาชาติของหลักสูตรซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ เช่นเดียวกับที่แพทยสภามีการกำหนดมาตรฐานของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2545 สำหรับหลักสูตรภาษาไทยในปัจจุบัน แต่ยังไม่เคยมีการกำหนดมาตรฐานสำหรับหลักสูตรที่เป็นนานาชาติ หากจะเปรียบก็เหมือนเราต้องการปั้นตุ๊กตาฝรั่งแต่ยังไม่รู้ว่าจะให้หน้าตา คุณลักษณะ ออกมาอย่างไร อาจจะได้แค่ตุ๊กตาชาววังที่นุ่งชุดของบาร์บี้ แพทยสภาควรมีข้อกำหนด หรือที่เรียกว่า Specification
ว่าอยากให้แพทย์นานาชาติมีคุณลักษณะเป็นอย่างไรที่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่พึงยอมรับได้ ส่วนสถาบันที่จะผลิตบัณฑิตแพทย์นานาชาติจะไปเพิ่มคุณลักษณะอย่างไรก็เป็นเรื่องของความหลากหลายและปรัชญา ปณิธานของแต่ละหลักสูตร
เกณฑ์การประเมินแพทยสภาก็ไม่ได้ประเมินเรื่องการเตรียมความพร้อมอย่างไรต่อเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษของ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์บนหอผู้ป่วย บุคลากรสนับสนุนด้านการศึกษา รวมถึงผู้ป่วยคนไทย หรืออาจถึงอาจารย์แพทย์ผู้ซึ่งบ่มเพาะความเป็นวิชาชีพแพทย์ (professionalism) ซึ่งไม่มีการประเมินเลยในปัญหาเรื่องการใช้ภาษาซึ่งเป็นอุปสรรคอันสำคัญของการจัดหลักสูตรซึ่ง คนทั่วไปก็สามารถรับรู้ได้ถึงปัญหานี้
การประเมินควรครอบคลุมถึงเรื่องความร่วมมือ (Affiliation) กับต่างประเทศเพื่อความเป็นนานาชาติควรเป็นอย่างไร จะร่วมมือกับโรงเรียนแพทย์ห้องแถวในบางประเทศที่ไม่มีคุณภาพก็ได้หรือไม่ อะไรคือหลักประกันว่าสถานฝึกอบรมที่ร่วมมือในต่างประเทศจะมีคุณภาพดี นอกจากนี้โรงพยาบาลที่จะใช้ฝึกนักศึกษาแพทย์ในชั้นคลินิกจะต้องผ่านการประเมินอย่างไร จึงจะได้สมกับความเป็นหลักสูตรนานาชาติ

ยังคงมีอีกหลายประเด็นที่แพทยสภาควรจะได้ใช้วิจารณญาณไตร่ตรองให้รอบคอบให้สมกับที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน วงการแพทยศาสตรศึกษา และเพื่อนสมาชิกแพทย์ แพทยสภาควรหันกลับมาตัดสินใจเรื่องราวต่าง ๆ เชิงนโยบายบนหลักวิชาการ โดยการศึกษาค้นคว้าให้ถ้วนถี่เพื่อสร้างมาตรฐานทางการแพทย์ที่ดีให้แก่สังคมไทย ในประเด็นข้างต้นกลุ่มคณาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒได้ทำหนังสือไปยื่นที่แพทยสภา เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2552 ที่ผ่านมาเพื่อให้พิจารณาเรื่องเหล่านี้ให้ชัดเจนก่อนและกรรมการบางท่านก็เห็นด้วยว่าคงต้องใช้เวลาในการพัฒนาระบบต่าง ๆ เหล่านี้ จึงเกิดคำถามว่า มีเหตุจำเป็นอันใด ที่แพทยสภาจะต้องรีบร้อนเร่งรัดเช่นนี้ เพราะการอนุมัติครั้งนี้ กรรมการผู้ตรวจประเมินหลักสูตรได้เขียนบอกอย่างเป็นลายลักษ์อักษรแล้วว่าหลักสูตรนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนของนโยบายการผลิตบัณฑิตแพทย์ในสถาบันของรัฐของประเทศไทย หากแพทยสภาเป็นเสมือนผู้ที่จะคัดท้ายจุดเปลี่ยนนี้จึงควรทำด้วยความระมัดระวังและรอบครอบ เพื่อไม่ให้สังคมกล่าวหาท่านได้ว่าขาดความรับผิดชอบ

บทเรียนในอดีตที่สะท้อนตัวตนของแพทยสภาต่อการผลิตแพทย์เพื่อคนไทย
ความเร่งรีบของแพทยสภาในลักษณะเช่นนี้เคยปรากฏมาแล้วในกรณีที่ฝ่ายนโยบายกำลังคนด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขเสนอให้มีการปรับเพิ่มค่าชดเชยการใช้ทุนของนักศึกษาแพทย์ในกรณีที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข หรือลาออกจากราชการก่อนใช้ทุนครบ 3 ปี จากเดิมที่เรียกเก็บเพียงคนละ 4 แสนบาท ซึ่งใช้มานานมากตั้งแต่มีระบบการชดใช้ทุน โดยหวังว่าจะเป็นมาตรการที่แก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ของสถานพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล แต่แทนที่แพทยสภาจะช่วยส่งเสริมการกระจายแพทย์ใช้ทุนให้กับสังคมไทยกลับออกมาเห็นแย้งซึ่งเขียนไว้ในบทบรรณาธิการวารสาร ของสำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ (สวค.) ฉบับเดือน กรกฎาคม 2551 ว่า “ยังไม่ทันสิ้นเสียงของกระทรวงสาธารณสุขดีเสียงคัดค้านจากแพทยสภาและผู้แทนจากโรงพยาบาลเอกชนก็ดังขึ้นมาในทันที คงต้องยอมรับว่าหากข้อเสนอนี้ได้รับการผลักดันให้เป็นนโยบายจริง โรงพยาบาลเอกชนก็คงต้องจ่ายเงินมากขึ้นในการซื้อตัวแพทย์จบใหม่ เพราะปัจจุบันนี้โรงพยาบาลหลายแห่งซื้อตัวแพทย์ที่ตนเองหมายตาไว้ บวกกับการสร้างแรงจูงใจด้านผลตอบแทนรายได้ ทั้งแพทยสภาและโรงพยาบาลเอกชนก็ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าการปรับเพิ่มค่าชดเชยการใช้ทุนไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง ทางออกที่แท้จริง”

บทสรุป
ขอให้ท่านรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขท่านใหม่ คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ได้พิจารณาประเด็นต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นและเร่งหารือกับแพทยสภาเพื่อให้เกิดการทบทวนในมติดังกล่าว รวมถึงปลัดกระทรวงที่นั่งเป็นกรรมการในแพทยสภา ผู้ใหญ่ในกระทรวง และนักวิชาการด้านกำลังคนในกระทรวงสาธารณสุขควรได้แสดงจุดยืนต่อกรณีการอนุมัติหลักสูตรแพทย์นานาชาตินี้ที่ชัดเจน ประชาสังคมและนักวิชาการที่เข้าร่วมประชุมในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และการประชุมแพทยศาสตรศึกษาแห่งชาติที่ผ่านมาควรจะได้เรียกร้องถึงการที่แพทยสภาไม่นำผลการประชุมไปใช้ ซึ่งต่อไปการประชุมเหล่านี้ก็คงจะลดความศักสิทธิ์และหมดความหมายลงไป นอกจากนี้ แพทยสภาควรกลับมาทบทวนบทบาทของตนเองต่อการแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในสังคมไทย ว่าเป็นบทบาทของการกำกับดูแลตามนโยบายของสังคมไม่ใช่สวนทางกัน และขอให้แพทยสภาเร่งจัดทำเกณฑ์มาตรฐานสำหรับบัณฑิตแพทย์นานาชาติและกำหนดเกณฑ์การประเมินหลักสูตรแพทย์นานาชาติและเกณฑ์การประเมินสถาบันที่ต้องการผลิตแพทย์นานาชาติให้ชัดเจน เราคงไม่ต้องการให้สถาบันหลักทางการแพทย์ของประเทศถูกมองว่า เป็นเสมือนแม่ปู หรือเกิดข้อสงสัยว่าการพิจารณานี้มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ เอื้อต่อโรงพยาบาลเอกชนหรือไม่ เอื้อต่อโรงเรียนแพทย์ที่ต้องการเปิดหลักสูตรแพทย์นานาชาติเป็นแห่งต่อไปหรือไม่ เพราะการอนุมัติครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญและการรับรองหลักสูตรแห่งแรกไปได้แล้ว ก็ยากที่จะตั้งเงื่อนไขใด ๆ ต่อมาอีกได้
ส่วนคณะแพทยศาสตร์ที่ต้องการเปิดหลักสูตรนานาชาติควรพิจารณาว่าจะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือจนต้องเพิ่มผลผลิตโดยการผลิตแพทย์นานาชาตินี้อย่างไรเพื่อสนองตอบต่อความต้องการแพทย์ของคนไทยโดยเฉพาะชาวชนบทโดยการประสานกับฝ่ายนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้เกิดการเพิ่มทั้งจำนวนและรักษาไว้ซึ่งคุณภาพมาตรฐานและจิตวิญญาณของความเป็นแพทย์
กลุ่มคณาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ขอเรียกร้องให้แพทยสภาดำรงไว้ซึ่งศรัทธาของประชาชนและศรัทธาของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมด้วยกันเองในอันที่จะทบทวนมติที่ได้ทำไว้ในการประชุมเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2553 ในเรื่องการอนุมัติหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า แพทยสภาจะดำเนินการอย่างโปร่งใส และเปิดเผยต่อสาธารณชน

………………………………………………………………….





ผู้ประสานงานกลุ่มคณาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ผศ.นพ. วิชิต ลีละศิธร
ภาควิชารังสีวิทยา
๐๘๑๓๑๓๐๕๕๕

ผศ.พญ. สมัญญา ทิศาวิภาต
ภาควิชาวิสัญญีวิทยา
๐๘๑๓๐๔๙๐๗๐

ผศ.นพ. ชัยพฤกษ์ กุสุมาพรรณโญ
ภาควิชาวิสัญญีวิทยา
๐๘๑๘๑๕๓๒๖๐

ผศ.นพ. โอฬาร พรหมาลิขิต
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
๐๘๙๙๒๗๑๐๔๐

นพ. สุธีร์ รัตนะมงคลกุล
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม
๐๘๓๑๑๓๑๕๔๖

รศ.ดร. ลัดดาวัลย์ ผิวทองงาม
ภาควิชาเภสัชวิทยา
๐๘๑๑๗๑๐๘๓๑
โดย: copy มาฝาก [27 ม.ค. 53 10:55] ( IP A:58.9.192.243 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
ความคิดเห็นที่ 1
   สอนแบบอินเตอร์ก็ต้องสอนภาษาอังกฤษตลอดหลักสูตร
อาจารย์แพทย์ก็จะรวยกันบ้างละ ยิ่งพวกจบนอก ภาษาดี
แต่ก็ไม่น่าจะเสียหายนะ ดีกว่ามีคนสอน แต่ไม่มีคนเรียน
เพียงแต่ว่าจะมีคนมาเรียนหรือเปล่า และคนมาเรียนเขาจะมีคุณภาพเรียนจบไหม เวลารักษาคนไทย(เรียนคนไข้ไทย) ภาษาจะลำบากไหม
แต่ก็น่าจะพอทนเรียนได้
ส่วนเรื่องคนไทยก็ไม่ยาก ก็ให้รับเด็กไทยสักครึ่งหนึ่ง ราคาค่าเรียนต้องเท่ากัน หากไม่เท่ากันเริ่มต้นไม่แฟร์ ชีวิตมีปัญหาแน่นอน
แต่ในความเห็นส่วนตัวผมว่าไม่เสียหาย เปิดออนไลน์ยังได้เลย
โดย: ฟฟ [27 ม.ค. 53 22:39] ( IP A:58.8.18.140 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
   ท่านจะทำอะไรก็สุดแล้วแต่ท่าน
ชาวบ้านที่เป็นผู้เสียหายอย่างพวกเราคงไม่มีสิทธิ์มีเสียงต่อเรื่องนี้ ชีวิตก็จะเอาไม่รอดกันอยู่แล้ว แต่ที่แน่ ๆ คือเมื่อผลิตแพทย์
ออกมาแล้ว ขอให้มีคุณธรรม มีจิตใจที่มีเมตตาธรรมต่อคนไข้
ทำเขาเสียหายแล้วรู้จักรับผิดชอบ ขอให้คัดเอาอาจารย์แพทย์
ที่ดีมีคุณธรรมหน่อย

พวกเราผู้เสียหายขอฝากสอนวิชาจริยธรรม และมีชั่วโมงเรียนรู้
จากความผิดพลาด เพื่อป้องกันความผิดพลาด
โดย: ได้แต่ฝาก คงทำอะไรได้ไม่มากไปกว่านี้ [28 ม.ค. 53 21:19] ( IP A:58.9.204.42 X: )
ความคิดเห็นที่ 3
    คุณธรรมแปลว่าไร อธิบายหน่อยสิ แค่เป็นแพทย์ได้ ก็เก่งอยู่แล้ว จะเอาไรกับเค้าอีก
โดย: รักปลาเน่า [29 ม.ค. 53 23:47] ( IP A:115.67.75.55 X: )
ความคิดเห็นที่ 4
   ฤๅแพทยสภาจะไร้เดียงสาทางเกมธุรกิจ
โดย : ธงชัย สันติวงษ์

ที่มา
https://www.thaiclinic.com/cgi-bin/wb_xp/YaBB.pl?board=doctorroom;action=display;num=1265151137
เขาบอกว่าเครือข่ายฯ ไม่ทันเกม


ผมได้เคยเขียนเรื่อง “โรงงานยาสูบที่รัก” นานแล้ว และต่อมาไม่นานมานี้ ได้เขียนเรื่อง “ระวังเขาจะแปรรูป รพ.โรงงานยาสูบ” ด้วย

เพราะ ก่อนหน้านี้ผมได้เคยชี้แนะการทำแผนวิสาหกิจให้โรงงานยาสูบนานมาแล้ว โดยมีแผนเรื่องโรงพยาบาลอยู่ด้วย

โดยตามแผน จะให้มีการประสานร่วมมือกันกับ มศว ที่จะมีโครงการตั้งโรงเรียนแพทย์ ซึ่งต่างจะประสานกันได้ทั้ง การรักษาพยาบาลและการฝึกแพทย์ จึงเสนอให้ย้ายมาจากที่เดิม ที่ถนนสาทร ให้มาอยู่ที่โรงงานยาสูบ ถนนพระรามสี่ ในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ใกล้กันกับ มศว

แต่ต่อมาแผนการนี้เปลี่ยนไป โดยที่ไม่ทราบว่ามีอะไรเป็นเบื้องหลังหรือไม่ นอกจากข่าวว่า ร.พ.บำรุงราษฎร์ จะร่วมมือกับ มศว แล้วเรื่องก็เงียบหายไป ทั้งนี้ เหตุผลมีอะไรหรือไม่ไม่อาจทราบได้ แล้วต่อมา มศว ได้เปลี่ยนแผนโดยได้สร้างโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลขึ้นที่นครนายก โรงพยาบาลยาสูบจึงคิดและติดต่อประสานความร่วมมือกับพันธมิตรใหม่คือ รพ.จุฬาฯ ที่จะสนับสนุนไปมาได้อย่างดีและสะดวก ซึ่งจะทำให้ทั้งสองหน่วยขยายเพิ่มการรักษาพยาบาลได้ในขอบเขตที่ดีขึ้น

แต่ที่ไม่น่าจะเกี่ยวกันแต่ก็แยกกันไม่ออก ก็คือ เมื่อวันที่ 27 ม.ค.53 ข่าวไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า คณาจารย์คณะแพทยศาสตร์ ม.ศรีนครินทร์วิโรจน์ (มศว) ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “บทบาทของแพทยสภากับการผลิตบัณฑิตแพทย์เพื่อคนไทย” โดย “จวกแพทยสภาอนุมัติหลักสูตรคนรวย” คัดค้านการเร่งรัดหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติ ซึ่งเสนอโดยคณบดีคณะแพทย์ ม.ศ.ว.นั่นเอง โดยแพทย์สภาได้มีมติอนุมัติอย่างเงียบๆ ไปเมื่อ 14 ม.ค.และจะมีการรับรองมติในช่วงต้นก.พ. ซึ่งการเร่งรัดอนุมัติหลักสูตร เป็นการกระทำที่ไม่ตอบสนองต่อการขาดแคลนแพทย์ของประเทศ แม้ว่าจะมีการระบุให้ต้องใช้ทุนก็ตาม

ทั้งนี้ การใช้ทุนไม่ใช่ทางแก้ และไม่เป็นปัญหาสำหรับคนรวย โดยแพทย์จะหลั่งไหลเข้าไปในระบบเอกชนที่ต่างชาตินิยมมารักษาในไทย เพราะการเอาเงินมาใช้ทุนนั้นง่ายมากสำหรับคนรวย ดังนั้น การหวังให้ไปรักษาคนในชนบทคงไม่เกิดขึ้นแน่ ทำให้สงสัยว่า การเร่งรัดดังกล่าวอาจมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เอื้อต่อโรงพยาบาลเอกชนหรือเอื้อต่อโรงเรียนแพทย์ที่ต้องการเปิดหลักสูตร นานาชาติแห่งต่อไป

กลุ่มคณาจารย์แพทย์จึงได้ยื่นเรื่องให้ รมต.คนใหม่และปลัด กท.สาธารณสุข ซึ่งเป็นกรรมการแพทยสภาด้วย โดยขอให้ทบทวนเรื่องดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

เรื่องนี้บางคนอาจคิดว่าไม่น่าเป็นประเด็นใหญ่โตหรือถือเป็นธรรมดาของ กลไกตลาด แต่ขออย่าได้ประมาท เพราะ หากอ่านกลเกมต่อไปจะรู้ว่า มีเรื่องใหญ่ที่มีผลสภาพ “เหนือคำบรรยาย” เพราะ โดยมตินี้จะมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังนี้

1. เป็นการเปิดเสรีการผลิตแพทย์โดยทางอ้อม แล้วระบบแพทย์จะกลายเป็นระบบแพทย์พาณิชย์ ที่จะทำลายระบบแพทย์ปัจจุบันโดยปริยาย กล่าวคือ การเรียนแพทย์ตามหลักสูตรนานาชาตินี้ คนรวยจะได้เปรียบและเข้าได้ง่าย เพียงการใช้ "ระบบรับตรง" โดยจัดสอบเองกับเอาภาษาเป็นตัวคัด จึงไม่ยุติธรรมในชิงความเท่าเทียมของโอกาสและการแข่งขัน

2. เกิดระบบแพทย์พาณิชย์ เพราะ ระบบการผลิตแพทย์จะถูกแยกเป็น 2 ระบบ คือ “แพทย์อุดมการณ์” กับ “แพทย์พาณิชย์” โดยกลุ่มแรก จะต้องใช้ทุนและออกให้บริการรักษาผู้ป่วยในท้องถิ่นห่างไกล กับ “แพทย์พาณิชย์” ที่จะเข้าสู่เส้นทางการหาเงินจากโอกาสที่เปิดขึ้นตามนโยบาย Medical Hub ที่เป็นธุรกิจการรักษาพยาบาลเพื่อกำไรล้วนๆ

3. ปัญหาการขาดแคลนแพทย์จะหนักขึ้น จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ ที่จะกระทบทำให้ระบบและคุณภาพการรักษาพยาบาลเกิดการเหลื่อมล้ำ และทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการยากขึ้น โดยมาตรฐานการรักษาต่ำลง ซ้ำเติมปัญหาสังคมให้หนักขึ้น

เพียงแค่นี้ก็สะท้อนว่า การอนุมัติหลักสูตรนานาชาตินั้นเป็นวิธีการที่เป็น “กลยุทธ์มาแบบเหนือเมฆ” เสมือนเป็นการเปิดเสรีการผลิตแพทย์ในประเทศ เพราะสามารถเดินไปตามระบบ "อุดมศึกษาที่ออกนอกระบบ" ไม่ต้องโยงใยหรือต้องผูกมัดทำอะไรให้รัฐในทางไหนบ้าง อะไร เท่าใดบ้าง อยู่แล้ว

ดังนี้การผลิตแพทย์จึงเป็นการใช้ทรัพยากรภาษีรัฐเพื่อประโยชน์แก่เอกชน หรือ คนบางกลุ่ม ด้วยนโยบายเปิดข้างต้น กลุ่มเอกชน “ทุนใหญ่” ทั้งไทย-เทศในไทยก็จะสามารถดำเนินการด้านจัดทำ “ธุรกิจการศึกษาทางการแพทย์” โดยผลิตตามเกณฑ์หลักสูตรใหม่ของแพทย์สภาที่ออกมานี้ได้อย่างเต็มรูปแบบได้ ไม่ยาก

การอนุมัติหลักสูตรนานาชาติครั้งนี้จึงทำให้ นโยบายการผลิตแพทย์เบี่ยงเบนไป และจะทำให้มีการแบ่งแยกชั้นฐานะแพทย์ไทยจนเกิดช่องว่างใหญ่ทาง “จิตสำนึกแพทย์” ได้

ด้วยเหตุเพราะยุคโลกาภิวัตน์นั้น “พลังทุน” เติบใหญ่ทำให้เงินมีอิทธิพลเข้ามาละลายอุดมการณ์ทางการแพทย์ได้อย่างไม่ต้อง สงสัย

4. เหนือกว่านั้นยังอาจเป็น “กลเกมการแสวงหาประโยชน์แอบแฝง” เพราะ พลังทุนและนักผูกขาดรายใหญ่ ที่หัวใจพองโต ยังคงชูหัว ส่ายไป-มาเพื่อการหารูปแบบการหาประโยชน์แบบไม่อั้น โดยไม่จำต้องแคร์ต่อจิตสำนึกด้าน CSR ซึ่งมักทำโดยให้ลูกน้องสร้างภาพไว้ประกอบเรื่องเท่านั้นก็พอ

และด้วย “ตลาดทุน” ที่โยงกับพลังกิเลส กับนโยบายการนำรัฐวิสาหกิจเข้าตลาดหุ้นนั้น เอง ไม่ช้าไม่นานก็จะเปิดโอกาสให้ “ธุรกิจการเมือง” เข้ามาดำเนินการรุกขยายและยึดครองอุตสาหกรรมการรักษาพยาบาลของไทย โดยวิธีการจะง่ายมาก คือ การให้โรงพยาบาลของรัฐวิสาหกิจ เช่น รพ.ยาสูบ รพ.รถไฟ รพ.ท่าเรือ รพ. การไฟฟ้า รพ.การประปา และอื่นๆ เปลี่ยนสภาพเป็น “นิติบุคคล” บริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจ แล้วให้ไปเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น จากนั้นก็จะมีการหย่อนมือของทุนใหญ่ให้เข้ามาประสานการขยายงานให้บริการให้ กว้างขึ้น แล้วตามด้วยการผลิตนักบริหารโรงพยาบาลเป็นอันดับต่อไป โดยเป้าหมายที่ใหญ่กว่าคืออะไรนั้น คงต้องขอขยายความต่อเรื่อง “กลยุทธ์ขอมดำดิน” ที่จะเล่าต่อไปในคราวหน้า
โดย: เรื่องเล่า [3 ก.พ. 53 15:18] ( IP A:58.9.196.201 X: )
รายละเอียด :
ชื่อ / e-mail :    แทรกไอคอนน่ารักๆในข้อความ
e-mail :
ส่งอีเมลทุกครั้งที่มีการตอบกระทู้       (ใส่ Email เมื่อต้องการให้ส่ง Email เมื่อมีคนมาโพสในกระทู้)
รูปประกอบ :
.jpg .bmp .gif < 100K
จัดตำแหน่งรูป :
ชิดซ้าย
กึ่งกลาง
ชิดขวา
เสียงประกอบ : .wav .mp3 .wma .ogg < 300K
คลิปวีดีโอ (Youtube) :
ตัวอย่าง : http://www.youtube.com/watch?v=k_ufqno7NaE


CAPTCHA code



คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน