consumer.pantown.com
เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กรุณาโพสต์ข้อความที่นี่ <<
กลับไปหน้าแรก
แพทย์นานาชาติ" ฟังดูเข้าที แต่ชาวบ้านไม่รู้ "ผลดี-ผลเสีย"
รายงานพิเศษ :
"หลักสูตรแพทย์นานาชาติ" ฟังดูเข้าทีแต่ชาวบ้านไม่รู้ "ผลดี-ผลเสีย"
มติชนสุดสัปดาห์
ฉบับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553
หลังจากผลักดันกันมาตั้งแต่ปี 2551 แพทยสภาก็ได้อนุมัติรับรองการเปิดการศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตร์ภาคภาษาอังกฤษ (English Program) ให้กับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒม์ (มศว.) เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2553 ถือเป็นการนำร่องเปิด "หลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติ" แห่งแรกของประเทศไทย เพื่อมุ่งหวังเป็นสถาบันผลิตแพทย์ชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน กำหนดการเปิดสอนในภาคการศึกษาที่ 1 (สิงหาคม) ปีการศึกษา 2553 ระยะเวลาศึกษา 6 ปี เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 1.2 ล้านบาทต่อคนค่อปี หลักเกณฑ์คือผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าเรียนแล้วต้องใช้ทุนรัฐบาล 3 ปี กรณีที่ไม่ใช้ทุนจะต้องจ่ายค่าชดเชยคืน 4 แสนบาทเช่นเดียวกับภาคปกติ
อย่างไรก็ตาม ได้มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่างฝ่ายนักวิชาการที่ "สนับสนุน" และ "ไม่สนับสนุน" การเปิดหลักสูตรดังกล่าว จึงใคร่นำข้อมูลข้อคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ ประกอบกับนำผลการสำรวจที่เกี่ยวข้อง มาวิเคราะห์นำเสนอในประเด็นสำคัญดังนี้
ก่อกระแส"คัดค้าน"
ภายหลังจากการรับรองหลักสูตร เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2553 กลุ่มคณาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มศว. (บางส่วน) ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ "บทบาทของแพทยสภากับการผลิตบัณฑิตแพทย์เพื่อคนไทย" ชี้ให้เห็นความคลุมเครือไม่ชัดเจนของนโยบายการเปิดหลักสูตรที่ไม่ได้พิจารณาผลกระทบต่อระบบสุขภาพโดยรวมอย่างเพียงพอ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553 ชมรมแพทย์ชนบทออกแถลงการณ์คัดค้าน วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553 องค์กรเครือข่ายผู้บริโภค องค์กรผู้ป่วย และองค์กรพัฒนาเอกชน 14 องค์กรได้ยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) และคณะกรรมการแพทยสภาให้ทบทวนการรับรองหลักสูตรดังกล่าวที่จะเปิด
ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 น.พ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ออกแถลงการณ์ ให้สติกับสังคมว่า "อย่าด่วนตัดสินใจผลิตแพทย์นานาชาติ ให้รับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน" โดยเรียกร้องให้รัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข แพทยสภา และองค์กรที่เกี่ยวข้องไม่ควรด่วนตัดสินใจตามอำนาจหน้าที่เฉพาะตนเพียงลำพัง
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2553 ศ.วิรุณ ตั้งเจริญ อธิการบดี มศว. ออกแถลงการณ์ว่าหลักสูตรแพทยศาสตร์ มศว.ยังไม่ผ่านสภามหาวิทยาลัย และท้วงติงการทำงานของแพทยสภาว่าจะมีสิทธิพิจารณาหลักสูตรหรือไม่ พร้อมกับย้ำว่า มศว. เป็นมหาวิทยาลัยที่ "ติดดิน" โดยคำนึงถึงการช่วยเหลือผู้คนในถิ่นทุรกันดารว่าเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน
หลังจากนั้น วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 สช. ร่วมกับคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ และ น.พ.มงคล ณ สงขลา ได้เปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นประเด็น "ผลิตแพทย์นานาชาติ : สังคมได้อะไร" ที่ประชุมเห็นว่ายังมีปัญหาการกระจายแพทย์สู่ชนบท การจัดสรรแพทย์ในประเทศยังไม่เพียงพอ
งานนี้นอกจากจะก่อให้เกิดความขัดแย้งภายใน มศว. เองแล้ว ยังได้สร้างแรงกระเทือนกลายเป็นประเด็นวิวาทะระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในสังคมตามมาเป็นระลอก
แพทยสภาหนุนฝ่าแรงต้าน
น.พ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ชี้แจงให้ทราบว่าการอนุมัติให้ มศว. เปิดหลักสูตรแพทยศาสตร์ (ภาษาอังกฤษ) มีเป้าหมายผลิตปีละ 20 คน หรือประมาณ 1% ของแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาในแต่ละปี
การเสนอหลักสูตรแพทยศาสตร์ (ภาษาอังกฤษ) เป็นการปรับเปลี่ยนชื่อและเงื่อนไขการเรียน โดยให้รับสมัครเฉพาะนักเรียนสัญชาติไทย เรียนเหมือนหลักสูตรแพทย์ปกติ เพียงแต่ใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอน
การปรับเปลี่ยนดังกล่าว จึงเป็นไปเพื่อลดแรงต้านหลังจากที่เคยมีการเสนอเปิดหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติไปในตอนแรก
ด้วยกระแสคัดค้านที่เกิดขึ้น จึงได้มีการนำเรื่องนี้เข้าสู่วาระการประชุมคณะกรรมการแพทยสภาครั้งที่ 1/2553 อีกครั้ง เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 จากนั้น น.พ.อำนาจ กุสลานันท์ อุปนายกแพทยสภาก็แถลงว่า
"มติคณะกรรมการแพทยสภาออกมาเป็นเอกฉันท์ มีความเห็นตรงกันว่า หลักสูตรภาษาอังกฤษ ถือว่ามีประโยชน์และไม่ทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งคณะต่างๆ ก็มีการเปิดหลักสูตรภาษาอังกฤษหรืออินเตอร์กันหมดแล้ว"
ม.หลายแห่งเร่งเปิดตามกัน
ศ.น.พ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มศว. ชี้แจงว่า ความตั้งใจเดิมที่จะเปิดหลักสูตรนานาชาติตอนแรกนั้นต้องการรองรับนักศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว พม่า เป็นต้น แต่ขณะนี้กลุ่มเป้าหมายหลักของภาคภาษาอังกฤษที่จะเปิดนี้จะเน้นรับนักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติในไทยซึ่งมีมากกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ
"ถึงแม้จะมีอาจารย์แพทย์ มศว. บางส่วนคัดค้านการเปิดหลักสูตรนี้ ก็ถือว่าเป็นความคิดเห็นที่แตกต่างเท่านั้น" และเชื่อว่าในปี 2554 มหาวิทยาลัยหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวทิยาลัย และศิริราชพยาบาล (มหิดล) และมหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาหลักสูตรนี้ จะร่วมกันออกมาผลักดันให้เปิดหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติอย่างแน่นอน
ด้าน น.พ.อดิศร ภัทราดูลย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องพัฒนาหลักสูตรแพทย์ อยากให้เปิดวิสัยทัศน์ใหม่ ให้ต่างชาติรู้จักประเทศไทยมากขึ้น
"ประเทศต่างๆ ที่ไม่มี ร.ร.แพทย์ก็จะส่งคนมาเรียนที่เรา ส่งผลให้อนาคตประเทศไทยจะคุมการแพทย์ในภูมิภาคนี้ได้"
ศ.น.พ.อาวุธ ศรีศุกรี เลขาธิการกลุ่มสถาบันแพทยศาตร์แห่งประเทศไทย (เครือข่ายโรงเรียนแพทย์ 18 สถาบัน) กล่าวถึงการเปิดหลักสูตรแพทย์นานาชาติว่า หากมหาวิทยาลัยใดต้องการก้าวไปข้างหน้า ก้าวไประดับโลก ขณะนี้แพทย์ไทยเป็นที่ยอมรับในวงจำกัดระดับประเทศ ไม่ได้ออกไปในภูมิภาคหรือระดับโลก การเปิดหลักสูตรนี้จึงไม่มีทางเลี่ยง
ผลที่ได้จากการเปิดหลักสูตรนานาชาติก็จะตกกับนักเรียนที่เรียนแพทย์ในหลักสูตรปกติด้วย เพราะอาจารย์ที่สอนต้องมีการแลกเปลี่ยน ความรู้ก็จะมีมากขึ้น จะเห็นได้ว่าไม่ได้เกิดประโยชน์เฉพาะ ร.ร.แพทย์ แต่ยังเกิดประโยชน์ต่อประเทศประชาชนที่อยู่พื้นที่ห่างไกลด้วย
ผลดีที่จะเกิดขึ้น
สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ร่วมกับ สช. ได้ทำการสำรวจความคิดเห็น (ด้วยวิธีการเอแบคโพลล์เรียลไทม์) จากกลุ่มประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขต 17 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 1,101 ครัวเรือน เมื่อวันที่ 7-8 กุมภาพันธ์ 2553 พบว่า การเปิดหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติ ตามข้อเสนอของฝ่ายสนับสนุนได้ระบุ "ข้อดี" ซึ่งประชาชนจากการสำรวจเห็นว่ามีน้ำหนักในการนำมาพิจารณาเรียงตามลำดับ ดังนี้
ประการแรก การเปิดหลักสูตรนี้จะเปิดโอกาสให้กับนักเรียนใน ร.ร.นานาชาติ (ที่สอนภาษาต่างประเทศ) ในไทย ได้มีโอกาสเรียนแพทย์มากขึ้น ประการที่สอง จะทำให้คนไทยได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านการแพทย์กับสถาบันระดับนานาชาติได้มากขึ้น
ประการที่สาม เป็นการสนับสนุนให้ธุรกิจ "บริการทางการแพทย์" ของไทยมีโอกาสแข่งขันกับต่างชาติเมื่อมีการเปิดเสรีทางการค้าในอาเซียน ประการที่สี่ จะทำให้ได้แพทย์ที่เก่งด้านภาษาอังกฤษ ประการที่ห้า การเปิดหลักสูตรนี้ จะทำให้นักเรียนไม่ต้องออกไปเรียนวิชาแพทย์ที่เมืองนอก
และประการที่หก เป็นหลักสูตรที่เน้นให้ผู้เรียนลงทุนในการเรียนเอง จะได้ประหยัดงบประมาณของรัฐ
เหตุผลของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย
ส่วนฝ่ายที่ "ไม่สนับสนุน" ได้ระบุเหตุผลบางประการ ซึ่งประชาชนจากการสำรวจของเอแบคโพลล์เห็นว่ามีน้ำหนักที่ควรพิจารณาเรียงตามลำดับดังนี้
ประการแรก ประชาชนทั่วไป ต้องการแพทย์ที่เก่งในทางรักษา มากกว่าแพทย์ที่เก่งในทักษะภาษาอังกฤษ ประการที่สอง การเปิดหลักสูตรนี้ จะทำให้การเรียนการสอนวิชาแพทย์ เป็นไปเพื่อสร้างรายได้ให้กับสถาบันที่สอน ประการที่สาม แพทย์ที่เรียนจบหลักสูตรนี้ จะมุ่งทำงานในโรงพยาบาลเอกชนที่มีค่าตอบแทนสูง (เพราะลงทุนเรียนสูง) มากกว่าจะไปทำงานในชนบท
ประการที่สี่ เป็นการส่งเสริมการบริการทางการแพทย์ในเชิงพาณิชย์ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่รายได้น้อยเข้าถึงบริการทางการแพทย์ "ยากขึ้น" ประการที่ห้า จะดึงดูดให้อาจารย์แพทย์ไปสอนหลักสูตรนี้ ทำให้นักเรียนแพทย์ปกติทั่วไปขาดโอกาสได้เรียนกับอาจารย์แพทย์ที่เชี่ยวชาญ
และประการที่หก หากสถาบันการศึกษาทุ่มเทให้กับหลักสูตรนี้จะทำให้โอกาสในการผลิตแพทย์ปกติทั่วไปลดลง ทำให้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในประเทศรุนแรงมากขึ้น
ชาวบ้านได้ยินแล้วอยากให้มี
จากผลการสำรวจดังกล่าว เมื่อสอบถามว่า "ต้องการสนับสนุนให้เปิดหลักสูตรแพทย์นานาชาติในสถาบันการศึกษาของรัฐในขณะนี้หรือไม่"
พบว่าตัวอย่างประชาชนร้อยละ 77.1 สนับสนุน ร้อยละ 11.9 ระบุว่าไม่สนับสนุน และร้อยละ 11.0 ไม่มีความเห็น
แต่ยังรับรู้ข้อมูลไม่พอ
อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามเกี่ยวกับการรับรู้ข่าวสาร พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 91.7 ไม่ทราบข่าวการเปิดหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติในมหาวิทยาลัยของรัฐในครั้งนี้ คนที่รับทราบมีเพียงร้อยละ 8.3 เท่านั้น
และในบรรดาคนที่ทราบข่าวดังกล่าวส่วนใหญ่ร้อยละ 67.8 ที่ทราบว่านักวิชาการ "มีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องนี้" ร้อยละ 45.6 ทราบผลดี-ผลเสียของการเปิดหลักสูตรนี้ "พอๆ กัน" (ร้อยละ 30.0 ทราบผลเสียมากกว่า ส่
โดย: [0 3] ( IP )
ความคิดเห็นที่ 1
คงดีถ้ามีการพัฒนาความเก่ง
อย่าลืม แทรกหลักสูตร หลักจริยธรรม หลักมนุษยธรรม
เข้าไปในสมองด้วย
คนดีไม่จำเป็นต้องเก่งไปทุกเรื่อง...
โดย: มหาลัย มหาหลอก [20 ก.พ. 53 14:07] ( IP A:180.183.120.111 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
เห็นด้วยอย่างยื่ง เด็กไทยเก่งอีกมากมาย ได้นำความรู้ความและศักยภาพมาใช้ เป็นการเปิดโอกาส ประเทศจะพัฒนาไปไกล. ไม่รู้จะกร๊ดกันอะไรกันหนักหนารู้กันบ้างไหม แพทย์ไม่พอบริการประชาชน น่าเห็นใจทั้งผู้ป่วยและหมอ กรุณาให้การส่งเสริมสนับสนุนกันเข้าไป อย่ามัวแต่อิจฉาตาร้อนกันอยู่เลย เพื่ออนาคตเด็กไทย ไปอินเตอร์
โดย: AAA [7 ก.ค. 53 7:40] ( IP A:124.121.186.42 X: )
ดำ
ขาว
น้ำเงิน
แดง
เขียว
เหลือง
ส้ม
น้ำตาล
ม่วง
ฟ้า
เขียวมะนาว
รายละเอียด :
ชื่อ / e-mail :
แทรกไอคอนน่ารักๆในข้อความ
e-mail :
ส่งอีเมลทุกครั้งที่มีการตอบกระทู้
(ใส่ Email เมื่อต้องการให้ส่ง Email เมื่อมีคนมาโพสในกระทู้)
รูปประกอบ :
.jpg .bmp .gif < 100K
จัดตำแหน่งรูป :
ชิดซ้าย
กึ่งกลาง
ชิดขวา
เสียงประกอบ :
.wav .mp3 .wma .ogg < 300K
คลิปวีดีโอ (Youtube) :
ตัวอย่าง : http://www.youtube.com/watch?v=k_ufqno7NaE
คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน