แต่แพทยสภาต้องเป็นตัวอย่างที่ดีก่อน
   **หน้าแรกผู้จัดการ Online | หน้าแรกคุณภาพชีวิต | สุขภาพ
สุขภาพ ข่าว เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก




เสนอล้มเบิกจ่ายตรงค่ารักษา ขรก.คุมรายจ่ายช่วยระบบสมดุล

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 29 มีนาคม 2553 08:14 น.



นพ.ธันย์ สุภัทรพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี


ผอ.โรงพยาบาลรามาธิบดี หนุนรัฐล้มระบบให้ข้าราชการเบิกจ่ายตรง ชี้ สร้างความเสียหายแก่รัฐ ระบบเสียสมดุล ลั่นรัฐต้องมีแนวทางที่ชัดเจนมั่นใจ รพ.ทุกแห่งพร้อมปรับตัวปฏิบัติตาม เห็นด้วยแพทยสภาออกกฎคุมจริยธรรมแพทย์เข้มจ่ายยา แต่แพทยสภาต้องเป็นตัวอย่างที่ดีก่อน ขณะที่เภสัช จุฬาฯ แนะนำผลศึกษา สวปก.หาแนวทางแก้ไขร่วม เสนอคุมกลุ่มยา 9 กลุ่ม ราคาแพง

นพ.ธันย์ สุภัทรพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ปัจจุบันรายได้ของโรงพยาบาล 70% ถือว่ามาจากระบบสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งไม่ใช่เพียงโรงพยาบาลรามาธิบดีเท่านั้นโรงพยาบาลของรัฐส่วนใหญ่จะเป็นเช่นนี้ ซึ่งปัญหาคือ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยนอกมากกว่าผู้ป่วยใน เนื่องจากการดูแลรักษาผู้ป่วยในถูกควบคุมโดยการวินิจฉัยโรครวม หรือ DRGs และผู้ป่วยไม่เพิ่มจำนวนขึ้น เพราะโรงพยาบาลมีเตียงจำกัดอยู่แล้ว ขณะที่ผู้ป่วยนอกเป็นการเบิกจ่ายแบบปลายเปิด ซึ่งจ่ายตามการรักษาที่เกิดขึ้นจริง ทำให้ภาพรวมตัวเลขงบประมาณเพิ่มสูงขึ้น ที่สำคัญ ระบบการเบิกจ่ายตรงกับกรมบัญชีกลางยิ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ เป็นการเสียความสมดุลของผู้ใช้บริการและแพทย์ หากรัฐบาลกล้าที่จะยกเลิกระบบเบิกจ่ายโดยตรงและกลับไปใช้วิธีการนำใบเสร็จไปเบิกจ่าย
จะเป็นการถ่วงดุลค่ารักษาพยาบาลได้เป็นอย่างดี

“ส่วนกรณีที่พบว่า มีคนไข้เบิกยาในหลายโรงพยาบาลพร้อมกันนั้น โรงพยาบาลไม่เคยมีข้อมูล เพราะข้อมูลทั้งหมดจะอยู่ที่กรมบัญชีกลาง แต่โรงพยาบาลจะมีระบบการตรวจสอบคนไข้ที่มารับยาที่มีราคาแพง เช่น สอบถามว่ามียาเหลือกี่เม็ด รวมทั้งตรวจสอบไปยังแพทย์ที่จ่ายยาว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งการจะจ่ายยาโดยเฉพาะในกลุ่มที่มีราคาแพงจะต้องระบุเหตุผลของการใช้ยาที่ชัดเจนถ้าไม่ระบุก็ต้องมีผู้ที่มีอำนาจหน้าที่สูงกว่าเป็นผู้อนุมัติ ซึ่งก็ถือว่าโรงพยาบาลพยายามกันเต็มที่ในการช่วยประหยัดงบประมาณให้กับรัฐ”

นพ.ธันย์ กล่าวถึงกรณีแพทยสภาเตรียมออกหลักเกณฑ์การปฏิบัติการสั่งจ่ายยาของแพทย์ เพื่อลดปัญหาการสั่งจ่ายยาโดยไม่จำเป็น ว่า เห็นด้วยหากแพทยสภาจะออกกฎเกณฑ์ควบคุมการจ่ายยาของแพทย์ที่เกี่ยวกับด้านจริยธรรมแพทย์ ซึ่งหากจะเข้ามาดูแลจัดการแก้ปัญหาจริงก็ถือเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่สำคัญ คือ แพทยสภาจะต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีก่อน โดยเฉพาะปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทยาและแพทย์ ซึ่งคงต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ก็ยังมีปัญหาในรูปแบบเดิมอยู่ ทั้งการรับทุนจากบริษัทยา การเดินทางไปต่างประเทศที่ไม่เกี่ยวข้องกับทางวิชาการแพทย์หรือการแอบแฝงพาไปทัวร์ต่างประเทศ

“ทางออกของปัญหาส่วนตัวเห็นว่า ควรรวม 3 กองทุน ทั้งระบบสวัสดิการข้าราชการ ระบบประกันสังคม และระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ในความเป็นจริงคงไม่สามารถทำได้ เพราะมีที่มาของเงินต่างกัน ดังนั้น ทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือ รัฐบาลจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจน เชื่อว่า โรงพยาบาลทุกแห่งพร้อมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขของรัฐไม่ว่าจะควบคุมค่าใช้จ่ายโดยใช้ระบบปลายปิด หรือการล้มเลิกระบบการจ่ายตรงของสวัสดิการราชการ สมดุลก็จะกลับคืนมาอีกครั้งและเข้าสู่สภาพที่เป็นจริง” นพ.ธันย์ กล่าว

ด้านภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การศึกษาแนวทางการควบคุมค่ารักษาของข้าราชการมีการดำเนินการมานานแล้ว โดยกรมบัญชีกลางได้มอบหมายให้ทางสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) ทำการศึกษาในเรื่องนี้ แต่กลับไม่มีการนำผลการศึกษามาจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

“จริงๆ ควรนำผลการศึกษาที่ทางกรมบัญชีกลางสนับสนุนงบประมาณให้แก่ สวปก. สวรส. มาเผยแพร่ และจัดทำเป็นนโยบายหาแนวทางควบคุม ซึ่งน่าจะทำง่ายกว่ามาตั้งคณะกรรมการฯ และคณะทำงานขึ้นใหม่ เพราะเป็นการเสียเวลา เนื่องจากเรื่องนี้พูดกันมานาน และปัญหาการสั่งจ่ายยาเกินความจำเป็นก็มีมานานเช่นกัน แม้จะไม่มีตัวเลขชัดเจน แต่โดยรวมมีการสั่งยา หรือเรียกว่ายิงยาแพงๆ จริง เรื่องนี้หากกรมบัญชีกลางออกระเบียบห้ามจ่ายยาบางชนิดโดยเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นจะไม่จ่ายเงินให้ ก็น่าจะควบคุมได้อีกทาง แต่ที่ผ่านมากลับไม่ดำเนินการ” ภญ.นิยดา กล่าว

นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ ผู้อำนวยการ สวปก.กล่าวว่า สวปก.เคยทำการศึกษาการปฏิรูประบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ และได้เสนอไปยังกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังแล้ว ซึ่งพบว่าระบบสัวสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลฟุ่มเฟือยจริง โดยพบว่า โรงพยาบาลรัฐ หรือโรงเรียนแพทย์ขนาดใหญ่ รวมทั้งโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จำนวน 34 แห่ง มีการใช้จ่ายยามาก จากการสำรวจพบว่า สัดส่วนค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยนอก ซึ่งเป็นค่ายาสูงถึงร้อยละ 80 ขณะที่สัดส่วนค่าใช้จ่ายผู้ป่วยในเพียงร้อยละ 20 ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยนอก แสดงให้เห็นว่ามีต้นเหตุมาจากการใช้ยา ยาแพง และยานอกบัญชียาหลัก ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

“ครม.ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะควบคุมตัวยากี่กลุ่ม ซึ่งต้องรอคณะกรรมการเป็นผู้พิจารณา แต่ที่ สวปก.เคยศึกษาพบว่า มีกลุ่มยา 9 กลุ่มที่หากมีการควบคุมจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ ประกอบด้วย ได้แก่ 1.กลุ่มยาลดการเป็นแผลและเลือดออกในกระเพาะอาหาร 2.กลุ่มยาต้านอักเสบที่มิใช่สเตียรอยด์ 3.กลุ่มยาลดไขมันในเลือด 4.กลุ่มยาเบื้องต้นในการรักษาความดันโลหิตสูงและภาวะหัวใจล้มเหลวแบบเลือดคั่ง 5.กลุ่มยาลดความดันโลหิต 6.กลุ่มยาป้องกันการเกาะตัวของเกล็ดเลือด 7.ยาลดอาการเข่าเสื่อม 8.ยาป้องกันโรคกระดูกพรุน 9.กลุ่มยารักษามะเร็ง” นพ.สัมฤทธิ์ กล่าว
โดย: เขาว่ามา [29 มี.ค. 53 8:54] ( IP A:58.8.212.57 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
คลิก เพื่อเปลี่ยนกลับไปแสดงความคิดเห็นแบบเดิม

ชื่อไฟล์รูปห้ามมีอักขระพิเศษ เช่น (#),(<),(>),(&) เป็นต้นค่ะ
ชื่อ / e-mail :    แทรกไอคอนน่ารักๆในข้อความ
e-mail :
ส่งอีเมลทุกครั้งที่มีการตอบกระทู้       (ใส่ Email เมื่อต้องการให้ส่ง Email เมื่อมีคนมาโพสในกระทู้)


CAPTCHA code



คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน