‘ช็อทคัตสมานฉันท์’กองทุนชดเชยผู้เสียหายทางการแพทย์
   คอลัมน์เวทีนโยบายสาธารณะ โดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) https://www.thainhf.org

แม้นว่าความผิดพลาดจะเคียงคู่มากับความเป็นมนุษย์ ทว่าหนึ่งในความผิดพลาดที่ยากจะยอมรับได้ในสายตาคนทั่วไปคือความผิดพลาดเสียหายอันเนื่องมาจากการได้รับบริการสาธารณสุข ด้วยเป็นปกติวิสัยของมนุษย์ทุกคนย่อมปรารถนาการได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีที่สุดคราวเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายหรือประสบอุบัติเหตุไม่คาดฝัน

กระนั้นที่ผ่านมาความผิดพลาดจากการได้รับบริการสาธารณสุขกลับไม่ค่อยได้รับการคลี่คลาย ซ้ำร้ายยังพัฒนาการกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างคนไข้ และแพทย์ที่นับวันจะหนักหน่วงรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเชิงปริมาณ และคุณภาพ จากมีการร้องเรียนแพทย์เพียงปีละ 50 รายโดยเฉลี่ยช่วงก่อนปี 2540 ได้ทะยานขึ้นเกือบ 4 เท่าตัว หรือเฉลี่ยปีละ 223 รายภายในเวลาไม่ถึงทศวรรษหลังจากนั้น อันเป็นไปในทางเดียวกันกับปริมาณการร้องเรียนโดยผู้เสียหายทางการแพทย์มายังเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ที่มากเกือบ 500 กรณีในปีหลังๆ

ทั้งนี้ในความเป็นจริงตัวเลขของผู้เสียหายทางการแพทย์น่าจะสูงกว่านั้นมาก!

ด้านแนวโน้มการฟ้องร้อง เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขในประเทศไทยก็สูงขึ้นทุกๆ วัน ซึ่งสวนทางในอัตราเร่งกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพกับผู้ป่วยที่นับวันจะลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ

กระทั่งภาพลักษณ์ระบบบริการสาธารณสุขของประเทศไทยโดยรวมถูกทำลายลงไปไม่น้อยจากการไร้ ซึ่ง ‘ศรัทธา’ ของผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ที่ลุกลามราวไฟลามทุ่งสู่ทุกองคาพยพในสังคมจากการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่นำเสนอผ่านสื่อมวลชน และแบบปากต่อปากถึงการค้ากำไรในธุรกิจสุขภาพที่ไร้ ซึ่งหัวใจของความเป็นมนุษย์ มองผู้ป่วยเพียงแค่มิติของผู้บริโภค

การเผยยอดภูเขาน้ำแข็งผ่านป้ายเรียกร้องสิทธิของผู้ป่วยด้วยท่วงทำนองของข้อความว่า ‘เราเรียกร้องสิทธิของคนไข้ไทยไม่เคยสำเร็จ’, ‘เจ็บ ตาย พิการ ตรวจสอบไม่ได้!’, ‘ใคร? เป็นผู้แก้เวชระเบียน’ หรือสั้นๆ อย่างคำว่า ‘เหยื่อ’ ทั้งภาคภาษาไทย และอังกฤษ ตลอดจนการพาร่างกายบอบช้ำทุพพลภาพทั้งของตนเอง และญาติสนิทมิตรสหายออกมาทวงถามความรับผิดชอบจากความเสียหายอันเนื่องมาจากการได้รับบริการสาธารณสุขนั้น นอกจากจะเป็นการนำประเด็นความอ่อนไหวที่อุดมด้วยความขัดแย้งขยายตัวสู่บริบททางสังคมแล้ว นัยหนึ่งยังเผยความอยุติธรรมอันก่อเกิดจากสัมพันธภาพทางอำนาจระหว่างแพทย์ และคนไข้ที่ยังคงเหนียวแน่นในทางดิ่งด้วย

การถือป้ายเรียกร้องทวงถามสิทธิในฐานะมนุษย์ของผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ ยันกระทั่งการเป็นคู่ความฟ้องร้องในชั้นศาลจึงถูกตอบโต้จากกลุ่มคนที่มีอำนาจแต่ใจคับแคบด้วยคำปรามาสหยามหมิ่นว่าหวังรวยทางลัด ทั้งๆ ที่ความร้าวรานระหว่าง และหลังการเจ็บป่วยทั้งของตัวผู้ป่วย และญาติผู้ป่วยที่ประหนึ่งเป็น ‘ผู้ป่วยหมายเลข 2’ อันเนื่องมาจากได้รับบริการสาธารณสุขที่ผิดพลาดนั้นครอบคลุมความทุกข์ทรมานทางกาย และใจอย่างแสนสาหัส

ด้วยผู้ป่วย และญาติผู้ป่วยต้องเผชิญชะตากรรมอย่างโดดเดี่ยว ไม่มีหน่วยงานดูแล สูญเสียหน้าที่การงาน ความมั่นคง ความก้าวหน้า รายได้ ไร้ค่ารักษา ค่ารถ ค่าข้าวปลาอาหาร บางรายสูญเสียความรักความอบอุ่นในครอบครัว ครอบครัวล้มเหลวแตกแยก เด็กขาดที่พึ่ง หมดอนาคต กระทั่งหนักหนาถึงขั้นสูญเสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

การดำรงสถานะ ‘เหยื่อของความผิดพลาดที่น่าเศร้าใจ!’ ตามนิยามขององค์การอนามัยโลก (WHO) และการวาดหวังว่าความผิดพลาดเช่นนี้จะต้องถูกนำมาเปิดเผยเป็นบทเรียนสอนหมอ และให้ความรู้แก่คนไข้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดขึ้นอีก รวมถึงสามารถลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของชาติได้อย่างมหาศาลนั้นจึงถูกปัดปฏิเสธเพียงเพราะบางกลุ่มยึดติดกับการผลักให้ผู้อื่นเป็นศัตรู เป็นคู่ปรปักษ์

การข่มขู่คุกคามทั้งตัวผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และที่ปรึกษาทั้งทางร่างกาย และจิตใจ การถูกฟ้องกลับ การถูกปฏิเสธการรักษา หรือการได้รับการรักษาแบบ over treatment โดยแพทย์ที่ใช้การรักษาแบบปกป้องตนเอง (defensive medicine) จึงพบเห็นได้ไม่น้อย ในขณะเดียวกันการเรียกร้องต่อสู้ เพื่อสิทธิของผู้ป่วยก็มักจะจำกัด ด้วยผู้ป่วยส่วนมากยังขาดความรู้ความเข้าใจในแง่กฎหมาย มากกว่านั้นยังหวาดกลัวไม่กล้าดำเนินการเพราะไม่เพียงไม่เห็นหนทางชนะ ทว่ายังท้อถอยกับขั้นตอนมากมายที่เรียกร้องทั้งเงิน และเวลามหาศาล โดยเฉพาะขั้นตอนการร้องขอเวชระเบียนที่ถือเป็นหัวใจในการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม และกระบวนการทางศาลที่ทุกข์ทรมาน

การขจัดอุปสรรคดังกล่าวนอกจากฟากผู้ป่วย และญาติผู้ป่วยจักต้องเข้าใจว่าความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขอาจเกิดได้ในหลายกรณี ทั้งจากเหตุสุดวิสัยในกระบวนการรักษาพยาบาลที่อาจเกิดขึ้นได้ต่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพได้ให้บริการตามมาตรฐาน และรอบคอบระมัดระวังอย่างยิ่งแล้วก็ตาม ตลอดจนต้องเรียนรู้การอดทนรอคอยกระบวนการพิสูจน์ความบกพร่องจากการรักษาพยาบาลที่เต็มไปด้วยขั้นตอนยุ่งยาก และใช้เวลามาก เพื่อท้ายสุดจะได้ไม่ต้องไปถึงขั้นฟ้องร้องแพทย์ให้รับผิดทางแพ่ง และอาญาด้วยเหตุเพียงเพราะขาดความเข้าใจในขั้นตอนการเยียวยาช่วยเหลือที่กินระยะเวลายาวนาน

ฝั่งผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์เองก็ต้องใช้หัวใจของความเป็นมนุษย์ทั้งระหว่าง และหลังการรักษา ไม่หลบลี้หนีหน้าหากเกิดความผิดพลาดในการรักษาพยาบาล อย่าผลักให้ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยเป็นปฏิปักษ์ด้วยการท้าทายให้ไปฟ้องร้อง รวมถึงขั้นตอนการเจรจาประนีประนอมก็ต้องมองผู้ป่วยเป็นมนุษย์ ไม่ใช่วัตถุสิ่งของที่ต่อรองราคาชีวิตกันได้โดยไม่อนาทรกับความรู้สึกของผู้สูญเสีย

หากทว่าในความร้อนแรงของปัญหาการฟ้องร้องแพทย์ที่ส่อเค้าวิกฤตยิ่งขึ้นเรื่อยๆ การหวังให้แต่ละฝ่ายมองความต้องการของอีกฝ่ายเป็นที่ตั้ง หรือ ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ อาจไม่ทันการณ์ การปฏิบัติจริงจึงต้องการกลไกอย่าง ‘กองทุนคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข’ ที่ถูกออกแบบอยู่ภายใต้ร่ม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... อันมีลักษณะของความเป็น ‘ช็อกคัตสมานฉันท์’ ที่สามารถทำให้ความต้องการทั้งของแพทย์ และผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายทางการแพทย์มาบรรจบกันได้อย่างมีดุลยภาพโดยเร็ว

เนื่องด้วยกองทุนคุ้มครองผู้เสียหายฯ จะทำหน้าที่ไม่ต่างอันใดกับช็อกคัต (Shortcut) ในระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อเข้าถึงโปรแกรมต่างๆ โดยไว เพราะกองทุนนี้จะทำหน้าที่จ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้เสียหายหรือทายาทได้เร็วมากอย่างไม่เคยมาก่อน โดยผู้เสียหายหรือทายาทจะได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง

เมื่อเกิดความเสียหาย คณะกรรมการกองทุนฯ ชุดแรกจะพิจารณาภายใน 1 เดือน เพื่อเยียวยาเบื้องต้น จากนั้นคณะกรรมการชุดที่ 2 จะคำนวณค่าชดเชยแท้จริงที่ควรได้รับโดยใช้เวลาดำเนินการภายใน 2 เดือน ถ้าหากมีการอุทธรณ์ก็จะต้องเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน โดยสรุปขั้นตอนทั้งหมดไม่เกิน 5 เดือน เทียบกับเมื่อก่อนที่ต้องรอพิจารณาในชั้นศาลนาน 5-7 ปี

การช่วยเหลือผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด (no fault) โดยใช้แหล่งเงินสมทบจากสถานพยาบาล และแหล่งเงินอุดหนุนจากรัฐที่คาดว่าในปีแรกจะมีเงินกองทุนราว 875 ล้านบาทนั้นจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล รวมทั้งค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย และจิตใจ ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ ค่าชดเชยในกรณีพิการหรือทุพพลภาพ ถึงแก่ความตาย การขาดไร้อุปการะกรณีถึงแก่ความตาย และมีทายาทที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดู โดยการจ่ายเงินชดเชยจะไม่ได้พิจารณาตามฐานานุรูปด้วยตระหนักว่ามนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน

ยิ่งกว่านั้น กองทุนนี้ยังส่งเสริมการพัฒนาระบบความปลอดภัย และป้องกันความเสียหาย เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย (patient safety) เพื่อลดอุบัติการณ์ความผิดพลาดในอนาคต อันจะเป็นคุณูปการระยะยาวต่อประชาชน และระบบสาธารณสุขของไทย แม้ว่าจะมีข้อจำกัดที่จะชดเชยความเสียหายเฉพาะที่รุนแรง และเมื่อยินยอมรับเงินชดเชยแล้ว ผู้เสียหายจะต้องทำหนังสือแสดงเจตนาสละสิทธิในการฟ้องร้องดำเนินคดีทางแพ่งก็ตามที

อย่างไรก็ดี การการันตีว่าผู้เสียหายจะได้รับการชดเชย และได้รับในจำนวนเพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในกระบวนการดำเนินการต่างๆ ก็น่าจะยุติการฟ้องร้องแพทย์ได้จำนวนหนึ่ง รวมถึงขยับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ให้กลับมากระชับแนบแน่นได้ด้วย ดังภาพความสำเร็จของประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่มีการจัดตั้งกองทุน เพื่อชดเชยความเสียหายโดยไม่ต้องรอผลพิสูจน์ถูกผิดที่สามารถลดการฟ้องร้องแพทย์ลงได้

กองทุนคุ้มครองผู้เสียหายฯ นี้จึงเป็นอีกหนึ่งกลไกในการสร้างความสมานฉันท์ระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ และแม้จะเป็นประเด็นเฉพาะด้าน หากทว่ารัฐบาลชุดนี้ที่มีแนวนโยบายเร่งด่วนว่าจะสร้างความสมานฉันท์ในสังคมก็ไม่น่าละเลย ด้วยอาจเป็นรูปธรรมความสมานฉันท์หนึ่งเดียวที่รัฐบาลทำได้สำเร็จก็ได้.
โดย: โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ [18 ก.ค. 53 21:36] ( IP A:58.9.198.91 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
ความคิดเห็นที่ 3
   เชิญท่านหมอเข้ามาอ่านกระทู้นี้ด้วยเทอญ
โดย: ขอเชิญฯพณฯ [18 ก.ค. 53 23:04] ( IP A:58.9.198.91 X: )
ความคิดเห็นที่ 5
   หัวหน้าเครือข่ายมาเพื่อ set ระบบให้ดีขึ้น ผมว่า พรบ นี้ ก็ok ระดับหนึ่ง แต่การพิจารณาจ่าย (มาตรา 6 ) ซึ่งมันพูดถึงตามหลักวิชาการ
แต่ระบบตัดสินดันเป็นความเห็นส่วนมาก ผมว่ามันแปลกๆนะ
โดย: r u ok?? [19 ก.ค. 53 11:37] ( IP A:61.7.235.230 X: )
ความคิดเห็นที่ 6
   มาตรา 33 -34
ผู้เสียหายอาจโดนตัดสิทธิ พรบ. หากคดีขึ้นสู่ศาล
ไม่มีชี้ความผิดแพทย์เลย (มีแค่หักเงินเข้ากองทุนเท่านั้นเอง)
โดย: r u ok?? [19 ก.ค. 53 11:55] ( IP A:61.7.235.230 X: )
ความคิดเห็นที่ 7
   ความจริงพรบ.ฉบับนี้ให้มีอนุกรรมการพิจารณาจากสหวิชาชีพ ทำให้ลดข้อครหาว่าหมอช่วยเหลือกัน ส่วนการจ่ายเงินรายไหนมากหรือน้อยควรจะให้คนส่วนใหญ่รับผิดชอบน่ะถูกต้องแล้ว อนุกรรมการทุกชุดจะมีแพทย์ไว้คอยให้ความเห็นทางวิชาการประกอบการตัดสิน ก็ถูกต้องอีก ส่วนจะถูกใจประชาชนหรือไม่ก็ต้องให้คนที่ไม่ใช่แพทย์เขาช่วยคิดดีแล้วเพราะเขาไม่ใช่คู่กรณีของคนไข้ ส่วนเงินที่กังวลกันว่าจะต้องจ่ายจนหมดเนื้อหมดตัวคณะอนุกรรมการเขามีฝ่ายบริหารจัดการอยู่แล้ว กรรมการก็ต้องเหลือเงินไว้เป็นค่าจ้างตัวเองเหมือนกันอย่าลืม

สิ่งที่จะช่วยกองทุนคือถ้าเป็นความผิดพลาดชนิดที่ป้องกันได้ ก็นำไปปรับปรุงกระบวนการรักษาลดช่องโหว่ feed back กลับไปยังวิชาชีพปรับปรุงมาตรฐานขึ้นมา ทีหลังเคสพวกนี้จะลดลงเป็นผลดีกับทั้งคนป่วย คนรักษา ช่วงแรกๆก็อาจดูว่ามีการจ่ายเยอะหน่อยหลังๆพอระบบเริ่มทำงานก็จะมีเคสลดลงเรื่อยๆ

Incident ------>กองทุน----->พิจารณาว่าควรจ่ายเบื้องต้นไหม---->พิจารณาว่าเป็น preventable หรือเปล่าเพื่อจ่ายเพิ่ม----->วิชาชีพเอา case มาstudy เพื่อป้องกันลดการเกิดซ้ำ----->patient safetyดีขึ้นไหม ----->ลดการหักเงินหมอเข้ากองทุน ----> คนไข้ปลอดภัยมากขึ้น-----> คุณหมอถูกฟ้องลดลง

เอาไหมเอาไหม.......(.....)
โดย: ครับอาจารย์เชิดชู [19 ก.ค. 53 14:45] ( IP A:210.86.181.20 X: )
ความคิดเห็นที่ 8
   แต่พวกทำบัญชีโรงพยาบาลแบบตบตาสรรพากรตายแน่ๆๆ
คนดีผีคุ้ม คนไม่ดีผีจะโดนหักคอ
โดย: . [19 ก.ค. 53 14:50] ( IP A:210.86.181.20 X: )
ความคิดเห็นที่ 9
    No fault ไม่ใช่ไม่มีการพิสูจน์ มีการพิสูจน์ มีการวิเคราะห์ แต่ไม่มีการลงโทษคนที่ทำนี่คือหลักการ ที่ถูกต้องแล้วควรจะใช้คำว่า non punitive
โดย: . [19 ก.ค. 53 14:54] ( IP A:210.86.181.20 X: )
ความคิดเห็นที่ 10
   สิ่งที่เจ้าหน้าที่สาธารณะสุขไม่เข้าใจ ควรอ่านหน้านี้เป็นอย่างมาก
โดย: r u ok?? [19 ก.ค. 53 15:21] ( IP A:61.7.235.230 X: )
ความคิดเห็นที่ 11
   เขาเข้าใจแต่พยายามทำดูไม่เข้าใจ
เพราะซ่อนเรื่องอื่นเอาไว้
โดย: เรื่องจริง [19 ก.ค. 53 16:02] ( IP A:58.9.190.73 X: )
ความคิดเห็นที่ 12
    เฮ้ย !!!! แล้วใครจะโง่ไปฟ้องหมอที่แพทยสภาเนี่ย แบบนี้หมดกันๆๆๆ ยอมไม่ด้ายยย
โดย: ตายแหล่ว [19 ก.ค. 53 17:10] ( IP A:210.86.181.20 X: )
ความคิดเห็นที่ 13
    มี พรบ.------> 99.99% ของเคส short cut ไปกองทุน .01% ไปศาล ------> แพทยสภาถูก bypass ----->ถนนสายเอกชนที่เคยยึดแพทยสภาไม่มาแล้ว------>แพทยสภาใสสะอาดมากขึ้น
โดย: หมอดีดี และคนไข้ดีดี รอวันนั้น [19 ก.ค. 53 17:17] ( IP A:210.86.181.20 X: )
ความคิดเห็นที่ 14
    เครือข่ายก็ถูก bypass เหมือนกัน
โดย: เตรียมสลายตัวเลย [19 ก.ค. 53 17:20] ( IP A:210.86.181.20 X: )
ความคิดเห็นที่ 15
   เครือข่ายฯ ถูกกระชับพื้นที่โดยพรบ.คุ้มคริองผู้เสียหายฯ
ยินดีให้สลายการชุมนุม โดยที่เราจะไม่ไปเผาแพทยสภา
โดย: แม้อยากเผาใจจะขาด [19 ก.ค. 53 18:43] ( IP A:58.9.190.73 X: )
ความคิดเห็นที่ 16
   เครือข่ายฯ นี้ทำตัวเป็นเพียงผู้ช่วยเหลือคนไข้ที่ได้รับความเสียหาย

ไม่ใช่ "พระเจ้า" หรือ "จ้าวเหนือหัวจิตหัวใจใคร"

เครือข่ายฯนี้ก็ไม่สามารถช่วยได้ "ทุกกรณี" ที่เข้ามาหา

คนไข้ที่หลุดรอดการช่วยเหลือไป สุดที่จะช่วยด้วย หรือ ไม่พอใจการไร้อำนาจต่อรองของเครือข่ายฯ "ก็มีอยู่ไม่น้อย" ที่ตีจากไปด้วยความแค้นความชังแพทยสภาและกรรมการทั้งหมด ทั้งปัจจุบันและอดีตที่ผ่านมา

พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ ฉบับที่ถูกต้องและเป็นธรรมจะถือเป็นทางออกให้กับบรรดา "เขาเหล่านั้น" ด้วยเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและลดความเกลียดชัง

ซึ่งหาก พ.ร.บ. ฯ ฉบับนี้แท้ง หรือ คลอดออกมาพิกลพิการ

เราก็ไม่รู้ว่า พวกเขาเหล่านี้จะมีทางรอดอื่นๆอยู่หรือไม่????

คนที่จนตรอก ย่อมทำอะไรก็ได้ สุดที่ใจเขาคิด เครือข่ายฯนี้ไปสั่งไปห้ามเขาก็คงไม่ได้ตลอด

ก็คงเหมือนๆกับ หมอผู้ใหญ่หลายๆคนที่ออกมาขู่แบบนิ่มๆว่า อาจมีหมอปฏิเสธการรักษา หรือเน้นส่งต่อเป็นหลัก

ประโยค "ที่แสดงความปากเสีย" แบบนี้ที่ออกมาจากหมอชั้นผู้ใหญ่ ก็ย่อมเป็นเหมือน "เป้าล่อ" ความเกลียดชัง/โกรธแค้นให้กับบรรดาคนไข้ที่อยู่นอก/หลุดรอดการช่วยเหลือของเครือข่ายฯนี้ไป

ชีวิตคนเราไม่ว่าจะเป็นหมอหรือคนไข้ ย่อมต้องหาทางออกกันทั้งนั้น

พ.ร.บ. ฉบับนี้ ถูกร่างและกลั่นกรองจากผู้รู้และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาอย่างถี่ถ้วนรอบด้านและเป็นธรรมแล้ว

หากมันไม่ออกมาอย่างที่ผมว่าในบรรทัดที่แล้วมา ก็ขอย้อนประโยคคำพูดของท่านเลขาฯแพทยสภา สัมพันธ์ คมฤทธิ์ ที่สมทับเชิงขู่ท่านจุรินทร์+นายกอภิสิทธิ์ ไว้ไม่กี่วันก่อนกลับไปเช่นเดียวกันว่า

ท่านกับแพทยสภาทั้งคณะก็ "ต้องเตรียมรับ" ผิดชอบไปเต็มๆด้วยเหมือนกันนะครับ
โดย: คนรู้ทัน ไม่รู้จริง (เรื่องหมอ) [20 ก.ค. 53 13:19] ( IP A:58.8.93.8 X: )
ความคิดเห็นที่ 17
   มูลเต็มแพทยสภาได้ทุกวันเหมือนกัน
โดย: ไม่มีมูลดีนัก [20 ก.ค. 53 17:55] ( IP A:58.9.220.30 X: )
รายละเอียด :
ชื่อ / e-mail :    แทรกไอคอนน่ารักๆในข้อความ
e-mail :
ส่งอีเมลทุกครั้งที่มีการตอบกระทู้       (ใส่ Email เมื่อต้องการให้ส่ง Email เมื่อมีคนมาโพสในกระทู้)
รูปประกอบ :
.jpg .bmp .gif < 100K
จัดตำแหน่งรูป :
ชิดซ้าย
กึ่งกลาง
ชิดขวา
เสียงประกอบ : .wav .mp3 .wma .ogg < 300K
คลิปวีดีโอ (Youtube) :
ตัวอย่าง : http://www.youtube.com/watch?v=k_ufqno7NaE


CAPTCHA code



คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน