ความเท็จและความจริง ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองความเสียหาย
   ความเท็จและความจริงเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข

นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน

คงจะเป็นเพราะใกล้จะถึงฤดูการหาเสียงเลือกตั้งกรรมการแพทยสภา ทำให้มีแพทย์กลุ่มหนึ่งออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขซึ่งกำลังจะถึงคิวเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยเหตุผลสำคัญที่มีการหยิบยกขึ้นมาคัดค้าน คือ 1) กฎหมายนี้จะทำให้มีการฟ้องร้องแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขมากขึ้น 2) รัฐและคนไข้ทั่วไปจะเสียเงินมากมายเพื่อไปจ่ายเป็นค่าเสียหายให้แก่คนไข้ที่ฉวยโอกาสจากกฏหมายฉบับนี้ 3) คนไข้โดยเฉพาะที่ใกล้ตายจะพากันเข้าโรงพยาบาลเพื่อหาประโยชน์จากกฏหมายฉบับนี้ ทำให้โรงพยาบาลต้องรับภาระมากขึ้นและคนไข้ที่จำเป็นต้องอยู่ในโรงพยาบาลจะหาเตียงนอนในโรงพยาบาลยากลำบากขึ้น

ที่น่าสงสัยว่าการเคลื่อนไหวเรื่องนี้จะเกี่ยวโยงกับฤดูการหาเสียงเลือกตั้งกรรมการแพทยสภา เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เสนอต่อประธานรัฐสภาตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2552 หลังจากนั้นมีร่างฉบับอื่นอีก 3 ฉบับ เสนอเข้าไปประกบตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2552 และมี 2 ฉบับ คือ ของ นายเจริญ จรรย์โกมลกับคณะเสนอไปตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2551 และฉบับของ นายประสิทธิ์ ชัยวิรัตนะกับคณะ เสนอตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ร่างพระราชบัญญัติเหล่านี้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการตรวจพิจารณาต่อเนื่องกันมาเป็นเวลากว่าครึ่งปีแล้ว โดยแพทยสภาได้ส่งตัวแทนเป็นคณะเข้าไปติดตามให้ความเห็นร่วมกับคณะกรรมการกฤษฎีกามาโดยตลอด การที่มีการออกมาคัดค้านในช่วงนี้ แม้จะมีเหตุผลเพื่อสกัดมิให้กฏหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็มีเหตุชวนสงสัยว่าน่าจะเกี่ยวโยงกับฤดูการหาเสียงเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาเป็นสำคัญด้วย

ที่น่าเสียใจก็คือเหตุผลสำคัญที่มีการหยิบยกขึ้นมาคัดค้านร่างกฏหมายฉบับนี้ทั้ง 3 ข้อ โดยเฉพาะข้อแรกเรื่องที่จะทำให้แพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขถูกฟ้องร้องมากขึ้นนั้น เป็นความเท็จทั้งสิ้น เพราะแท้ที่จริงแล้วกฎหมายฉบับนี้ นอกจากจะให้ความเป็นธรรมและบรรเทาความเดือดร้อนแก่คนไข้ที่ได้รับความเสียหายแล้ว ยังมีหลักการสำคัญเพื่อลดคดีการฟ้องร้องแพทย์และโรงพยาบาลลงด้วย

กฎหมายฉบับนี้รัฐบาลได้เสนอร่างเข้าประกบด้วย ซึ่งปรากฏในบันทึกหลักการและเหตุผลชัดเจนของร่างกฎหมายฉบับนี้ของรัฐบาลว่า

“โดยที่ปัจจุบันความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขยังไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยาอย่างเป็นระบบให้ทันท่วงที ทำให้มีการฟ้องร้องผู้ให้บริการทั้งทางแพ่งและอาญา และทำให้ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้รับและผู้ให้บริการสาธารณสุขเปลี่ยนไปจากเดิม อันส่งผลร้ายมายังผู้รับและผู้ให้บริการสาธารณสุข ตลอดจนกระทบถึงการประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงระบบบริการสาธารณสุขด้วย สมควรจะได้แก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อให้ผู้ได้รับความเสียหายจากบริการสาธารณสุขได้รับการแก้ไขเยียวยาโดยรวดเร็วและเป็นธรรม โดยการจัดตั้งกองทุนเพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย ส่งเสริมให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้รับและผู้ให้บริการสาธารณสุข จัดให้มีการพัฒนาระบบความปลอดภัย และป้องกันความเสียหายจากบริการสาธารณสุข ทั้งให้ศาลอาจใช้ดุลยพินิจในการลดโทษและไม่ลงโทษผู้ให้บริการสาธารณสุขในกรณีที่ถูกฟ้องคดีอาญาข้อหากระทำการโดยประมาทด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”

อันที่จริง กฎหมายนี้มิใช่กฎหมายใหม่ถอดด้ามในประเทศไทย แต่เป็นการขยายการคุ้มครองผู้เสียหายจากกฎหมายเดิม 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และ มาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 กฏหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ ได้ให้ความคุ้มครองแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขอยู่แล้ว แต่ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ

พรบ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 คุ้มครองเฉพาะเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น ไม่คุ้มครองกรณีเข้ารับบริการโรงพยาบาลเอกชน โดยกฎหมายกำหนดให้โรงพยาบาลเป็นผู้รับผิดชอบต่อค่าเสียหายแทนเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดเฉพาะกรณีเป็นการจงใจทำให้เกิดความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ส่วน มาตรา 41 แห่ง พรบ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติคุ้มครองเฉพาะผู้มีสิทธิ์บัตรทองซึ่งมีอยู่ราว 47 – 48 ล้านคน เท่ากับร้อยละ 75 ของประชากรทั้งประเทศเท่านั้น ไม่คุ้มครองกรณีเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคมและข้าราชการกับพนักงานรัฐวิสาหกิจ

หลักการสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ นอกจากมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายการครอบคลุมประชากรให้ทั่วถึงทั้ง 100 % แล้ว ยังยึดหลักการสำคัญของมาตรา 41 แห่ง พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือ การช่วยเหลือและชดเชย “โดยไม่ต้องพิสูจน์ความรับผิด” ซึ่งเป็นไปตามหลักที่หลายประเทศใช้คือหลัก “No fault compensation” เพราะถ้าต้องรอพิสูจน์ถูกผิด นอกจากจะเกิดความล่าช้าเสียเวลาไปมากมายแล้ว ยังจะเพิ่มความบาดหมางระหว่างคนไข้กับหมอและโรงพยาบาลโดยไม่สมควรด้วย

คงจำกันได้ว่า ตอนออก พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็มีกรรมการแพทยสภาหน้าเก่าๆ หลายคนออกมาคัดค้านมาตรา 41 นี้กันอย่างครึกโครม มีการใช้ลูกเล่น “ไว้ทุกข์” และใช้วิธีการข่มขู่หลอกลวงว่า กฎหมายมาตรานี้จะทำให้มีการฟ้องร้องหมอฟ้องร้องโรงพยาบาลกันมากขึ้น และจะทำให้ต้องจ่ายเงินชดเชยความเสียหายกันมากมายโดยใช่เหตุ

แต่หลังจาก พรบ.หลักประกันสุขภาพออกมาแล้ว 8 ปี การณ์ก็หาได้เป็นไปตามที่คนเหล่านี้ข่มขู่หลอกลวงไม่ เงินค่าเสียหายที่ตั้งไว้ตามการคาดคะเน เหลืออยู่มากมาย ตลอด 6 ปี นับตั้งแต่กฎหมายมาตรานี้เริ่มมีผลบังคับใช้ มีการจ่ายชดเชยไปเพียง 2,600 กว่าราย และจ่ายเงินไปไม่ถึงร้อยละ 0.05 ของเงินกองทุน จากที่ตั้งไว้ร้อยละ 1.0 คดีฟ้องร้องที่กลัวว่าจะเพิ่มขึ้น กลับลดลง มีน้อยรายมากที่ได้รับเงินชดเชยแล้วยังไปฟ้องร้อง ตรงกันข้ามกฎหมายมาตรานี้กลับสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง หมอ – โรงพยาบาล และคนไข้ด้วย

กรณีตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ กรณีคนไข้ผ่าตัดตาที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น ซึ่งมีคนไข้ได้รับความเสียหายถึงขั้นตาบอดไปถึง 10 ราย มาตรา 41 ของ พรบ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ช่วยให้โรงพยาบาลสามารถช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นแก่ผู้เสียหายได้เป็นอย่างดี ซึ่งนอกจากจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของคนไข้แล้ว ยังเอื้อต่อการเจรจาขอความเห็นใจจากคนไข้และทำให้สถานการณ์ร้ายแรงครั้งนั้นคลี่คลายลงด้วยดี นอกจากคนไข้และญาติจะไม่เอาความกับหมอและโรงพยาบาลแล้ว ยังเห็นใจหมอและโรงพยาบาลอย่างมากด้วย

เรื่องการฟ้องร้องแพทย์ กฎหมายฉบับนี้ก็ไม่มีมาตราใดที่จะเปิดช่องให้ฟ้องแพทย์หรือโรงพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่อื่นในโรงพยาบาลเลย ตรงกันข้ามกลับจะช่วยแพทย์และโรงพยาบาลอย่างมาก เพราะร่างมาตรา 34 ฉบับของรัฐบาล กำหนดว่า “หากผู้เสียหายหรือญาติไม่ตกลงยินยอมรับเงินชดเชยและได้ฟ้องร้องผู้ให้บริการสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายเป็นคดีต่อศาล ให้สำนักงานยุติการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ผู้เสียหายหรือทายาทไม่มีสิทธิ์ที่จะยื่นคำขอตามพระราชบัญญัตินี้อีก”

นอกจากนี้ยังมาตรา 45 ที่เป็นประโยชน์ต่อแพทย์และโรงพยาบาลกรณีมีการฟ้องร้องคดีอาญากับแพทย์หรือโรงพยาบาลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 หรือมาตรา 300 ซึ่งไม่เกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้เลย ร่าง มาตรา 45 ฉบับของรัฐบาล กำหนดว่า “ในกรณีที่ผู้ให้บริการสาธารณสุขถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาฐานกระทำการโดยประมาทเกี่ยวเนื่องกับการให้บริการสาธารณสุข หากศาลเห็นว่าจำเลยกระทำความผิด ให้ศาลนำข้อเท็จจริงต่างๆ ของจำเลยเกี่ยวกับประวัติ พฤติการณ์แห่งคดี มาตรฐานทางวิชาชีพ การบรรเทาผลร้ายแห่งคดี การรู้สำนึกในความผิด การที่ได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 33 หรือ มาตรา 39 การชดใช้เยียวยาความเสียหาย และการที่ผู้เสียหายไม่ติดใจให้จำเลยได้รับโทษตลอดจนเหตุผลอื่นอันสมควร มาพิจารณาประกอบด้วย ในการนี้ ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับความผิดนั้นเพียงใด หรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้”

กฎหมายฉบับนี้จึงเป็นกฎหมายที่ดีที่สุดฉบับหนึ่งที่จะช่วยเยียวยาความเสียหายให้แก่ประชาชน และส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างคนไข้กับหมอ โดยเป็นประโยชน์ต่อแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่อื่นๆ และต่อโรงพยาบาลทั้งในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน ใครที่จะออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านขอให้ศึกษาให้ดี ไม่เช่นนั้นจะถูกจูงจมูกโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยบุคคลที่ไร้หิริโอตตัปปะ และมุ่งหาเสียงโดยวิธีน้ำเน่าโดยแท้

..........................................................
โดย: เครือข่ายฯ [29 ก.ค. 53 10:12] ( IP A:210.86.181.20 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
ความคิดเห็นที่ 1
   test
โดย: . [29 ก.ค. 53 11:18] ( IP A:210.86.181.20 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
   เรียน นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน

ผมมีความคิดเห็นบางอย่างที่ไม่ตรงกันเช่น
Code:
การ ช่วยเหลือและชดเชย “โดยไม่ต้องพิสูจน์ความรับผิด” ซึ่งเป็นไปตามหลักที่หลายประเทศใช้คือหลัก “No fault compensation” เพราะถ้าต้องรอพิสูจน์ถูกผิด นอกจากจะเกิดความล่าช้าเสียเวลาไปมากมายแล้ว ยังจะเพิ่มความบาดหมางระหว่างคนไข้กับหมอและโรงพยาบาลโดยไม่สมควรด้วย


หากเกิดเหตุการที่ผู้ป่วยที่อยู่ในการรักษาของท่าน มารับค่าเสียหาย โดยที่ไม่ได้พิสูจน์ถูกหรือผิด แต่ทางพรบ. นี้ก็ได้จ่ายชดใช้ความเสียหายไปแล้ว ท่านในฐานะแพทย์เจ้าของไข้จะรู้สึกอย่างไร
ถ้าหากท่านทำดีที่สุดแล้ว และไม่ใช่เกิดจากความประมาท แต่เกิดจากระบบการจ่ายเงินชดเชย ที่ไม่มีประสิทธิภาพ และไม่ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบจากองค์ความรู้ด้านการแพทย์ ซึ่งมีความซับซ้อนมาก ผมเองเป็นแพทย์ gp ยังไม่เข้าใจ guide line การรักษาของ แพทย์เฉพาะทาง แล้วคณะกรรมการที่ตัดสินเหล่านั้น ท่านจะใช้หลักการณ์อะไร แล้วท่านมีความสามารถแค่ไหน
โดย: pat [29 ก.ค. 53 14:05] ( IP A:125.25.251.1 X: )
ความคิดเห็นที่ 3
   คณะกรรมการ มีทั้งส่วนที่เป็นแพทย์และ ngo และือื่นๆ อีก
โดยใช้เสียงข้างมาก

-ในมุมมองแพทย์กลัวว่าคณะกรรมการจะไม่เข้าใจการทำงานของแพทย์ผู้ให้บริการ เพราะคณะกรรมการส่วนมากไม่ได้เรียนมาทางด้านนี้
-ในมุมมองของผู้ได้รับความเสียหายก็กลัวการเข้าข้างลำเอียง ถ้าหากมีแพทย์เป็นคณะกรรมการเสียงส่วนมาก
แล้วทาง พรบ นี้ ใช้เสียงข้างมากในการตัดสิน ไม่ได้ใช้เหตุผลทางการแพทย์ ส่วนตัวผมคิดว่า ยังไม่ใช่ทางออกที่ดีพอ

ส่วนแพทย์เจ้าของไข้จะรู้สึกอย่างไร ถ้าหากมีผู้ได้รับการชดเชย จำนวนมากในมือของท่าน ทั้งที่ไม่ผิด (การตัดสินไม่ได้พิสูจน์ ถูก ผิด)

ถ้าหากแพทย์สองท่าน มีความสามารถในการตรวจ วินิจฉัย รักษา ที่เท่ากัน คุณคิดว่า แพทย์คนใดจะมีผู้ป่วยในการดูแลมาเรียกร้องขอเงินทดแทนมากกว่ากัน ระหว่างแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก กับอีกคนดูแลน้อย แน่นอนแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยมาก ย่อมได้รับผลกระทบนี้ เพราะไม่ได้วัดกันที่ฝีมือ ไม่มีการพิสูจน์ ถูกหรือผิด

ในความรู้สึกของผมแล้ว ที่ผ่านมาแพทย์ที่มีเรื่องถึงต้องขึ้นศาล ย่อมหมดกำลังใจในการประกอบวิชาชีพนี้แล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะผิดหรือไม่ผิด แค่ต้องขึ้นให้การในศาล ก็คงคิดว่าเลือกทำงานอื่นได้ คงทำอย่างอื่นดีกว่า

เนื่องจากแพทย์เป็นผู้ที่ีมีอีโก้สูง ถ้าหากลดการยึดติด ว่าชื่อเสียง ลาภ ยศมันไม่ใช่ ตัวกู ของกู ผมก็คงไม่ต้องแสดงความเห็นนี้ แต่แพทย์จะเข้าใจหลักธรรมได้สักกี่คน ในเมื่อ ศีล 5 ซึ่งเป็น minimal requirement ของมนุษย์สมบัติ ยังรักษาให้เป็นปกติไม่ได้
ถ้าพรบ.นี้ออกมา แพทย์เจ้าของไข้ จะรู้สึกอย่างไร เมื่อคนไข้ในการดูแลได้รับค่าเสียหาย จากรพ. จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
ผู้ป่วย เพื่อนร่วมงาน สังคม จะมองแพทย์คนนั้นอย่างไร
คนทั่วไปเข้าใจหรือไม่ว่า แพทย์คนนี้ไม่ได้ผิด สังคมเข้าใจหรือไม่ว่า เนื่องจากแพทย์ผู้นั่นดูแลคนไข้จำนวนมาก จึงมีผู้ป่วยที่ได้รับเงินทดแทน หลายคน

ยังไงก็ขอให้ใคร่ครวญถึงจุดนี้ด้วย
โดย: pat1 [29 ก.ค. 53 14:35] ( IP A:125.25.251.1 X: )
ความคิดเห็นที่ 4
   หากเกิดเหตุการที่ผู้ป่วยที่อยู่ในการรักษาของท่าน มารับค่าเสียหาย โดยที่ไม่ได้พิสูจน์ถูกหรือผิด แต่ทางพรบ. นี้ก็ได้จ่ายชดใช้ความเสียหายไปแล้ว ท่านในฐานะแพทย์เจ้าของไข้จะรู้สึกอย่างไร
ถ้าหากท่านทำดีที่สุดแล้ว และไม่ใช่เกิดจากความประมาท
------------------------------------------------------------------
The no-fault label traditionally given to administrative compensation proposals is misleading because these proposals actually replace a determination of negligence with a determination of avoidability,
following the lead of other countries.100,101 The standard of avoidability is more permissive than that of negligence
โดย: คงจะเข้าใจนะครับ [30 ก.ค. 53] ( IP A:124.122.27.62 X: )
คลิก เพื่อเปลี่ยนกลับไปแสดงความคิดเห็นแบบเดิม

ชื่อไฟล์รูปห้ามมีอักขระพิเศษ เช่น (#),(<),(>),(&) เป็นต้นค่ะ
ชื่อ / e-mail :    แทรกไอคอนน่ารักๆในข้อความ
e-mail :
ส่งอีเมลทุกครั้งที่มีการตอบกระทู้       (ใส่ Email เมื่อต้องการให้ส่ง Email เมื่อมีคนมาโพสในกระทู้)


CAPTCHA code



คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน