consumer.pantown.com
เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กรุณาโพสต์ข้อความที่นี่ <<
กลับไปหน้าแรก
บุคคลดีเด่นแห่งปี
บุคคลดีเด่นแห่งปี งมหามาตรฐานท่ามกลางรางวัลท่วมหัว
โดย ASTVผู้จัดการรายวัน
19 กันยายน 2553 18:52 น.
https://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9530000131774
'บุคคลดีเด่นแห่งปี' - คนที่มีความโดดเด่นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเห็นได้ชัด
คำคำนี้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในงานประกาศรางวัลต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งร้อยทั้งร้อยของรางวัลที่แจกๆ กันในประเทศไทย บุคคลที่ได้รางวัลประเภทนี้มักจะต้องถูกระบุควบไปด้วยเสมอว่า เป็นคนดี มีคุณธรรม แต่ก็มีบ้างเป็นกรณียกเว้นอย่าง บุคคลแห่งปีของนิตยสารไทม์ ที่ประกาศบุคคลแห่งปีโดยวัดจากกระแสที่สร้างผลกระทบต่อเหตุการณ์ในปีนั้นๆ มากที่สุด เช่น บิล คลินตัน ได้เป็นบุคคลแห่งปีเพราะกรณีอื้อฉาวทางเพศ
เรียกว่าต้องดูกันที่วัตถุประสงค์
แต่ถึงจะบอกไปแล้วว่าร้อยทั้งร้อยต้องเป็นคนดีมีคุณธรรม ช่วงสัปดาห์ที่แล้วในบ้านเรากลับเกิดข้อกังขาใหญ่โตทีเดียวกับเรื่องการแจกรางวัลระฆังทอง ให้แก่ เก่ง-เมธัส สวนศรี นักแสดงดาวเคยรุ่งที่ประพฤติตนมีข่าวเสียหายมากมายลากยาวเป็นหน้ากระดาษ จนทำให้คนทั้งบ้านทั้งเมืองออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าใช้อะไรเป็นเกณฑ์
มาตรฐานของการให้รางวัลอยู่ที่ไหน
มาตรฐานชวนสงสัย
การมอบรางวัลใดรางวัลหนึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีมาตรฐานของการให้รางวัล ซึ่งจากการได้พูดคุยกับ อำนาจ หมัดสดาย ประธานสมัชชานักจัดรายการข่าววิทยุโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (สว.นท.) แม่งานจัดมอบรางวัลระฆังทอง ก็ได้ข้อสรุปชัดๆ ตรงประเด็นว่า หลักเกณฑ์การพิจารณามาจากสมาชิกของสมัชชาเป็นผู้คัดสรรคนจากทุกๆ ภาคส่วนของสังคม แล้วเอามาลงความเห็นกันอีกทีว่าเหมาะสมกับรางวัลหรือไม่ อย่างไร
เราให้สมาชิกเป็นคนเสนอชื่อว่าใครสมควรที่จะได้รับรางวัลบ้าง แล้วเอามาให้กรรมการของสมัชชาพิจารณาอีกทีหนึ่ง ซึ่งก็จะมาจากหลากหลายท้องที่ทั่วประเทศไทย จะเป็นใครก็ได้ทั้งสิ้นไม่จำเป็นต้องมีชื่อเสียง คนที่ได้รับรางวัลระฆังทองจึงมีตั้งแต่พระสงฆ์ แม่ชี นักจัดรายการวิทยุ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไปจนถึงนักการเมือง แต่ละสาขาก็มีรายละเอียดปลีกย่อยลงไปอีกเยอะมาก
จากรายละเอียดปลีกย่อยของหลักเกณฑ์การพิจารณานี่เองที่อาจจะทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยขึ้นมาในใจของใครหลายคนว่า รางวัลนี้ทำไมถึงได้ครอบคลุมกว้างขวางคนทุกวงการเสียขนาดนี้ จนทำให้จำนวนรางวัลที่แจกงอกเงยขึ้นมาเป็น 174 รางวัลเฉพาะในปีล่าสุด ซึ่งนั่นก็สะท้อนให้เห็นอีกว่า แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่คณะกรรมการจะเข้าไปดูว่าคนคนหนึ่งเหมาะสมกับรางวัลมากน้อยแค่ไหนแบบละเอียดถี่ถ้วน ถ้าเช่นนี้ไม่แน่ว่านั่งทำงานอยู่ที่โต๊ะเฉยๆ ก็อาจจะได้รางวัลกับเขาบ้างแบบไม่รู้ตัวถ้ามีคนเสนอชื่อคุณเข้าไป
จะบอกว่าเป็นรางวัลบุคคลแห่งปีที่ครอบจักรวาลที่สุดที่เคยเห็นมาก็ได้
รางวัลไทย ไม่คิดอะไรมาก?
ในฐานะนักแสดงที่คลุกคลีอยู่กับวงการมายาที่มีงานแจกรางวัลนั่นรางวัลนี่บ่อยเกือบทุกเดือน พระเอกร้อยล้านอย่าง วินัย ไกรบุตร กล่าวแสดงความเห็นว่า ถ้าจะมีรางวัลสักอย่างขึ้นมา ทั้งคนให้และคนรับควรจะต้องรู้ว่าได้รางวัลมาด้วยเหตุผลอะไร และที่มาที่ไปก็ต้องชัดเจน
สำหรับในความรู้สึกของผม การให้รางวัลอะไรสักอย่าง มันต้องมีเหตุผล ว่ามาจากไหน ได้มาได้อย่างไร มันต้องมีการอ้างอิงได้ คือใครได้มันไม่มีปัญหา แต่ก็ต้องบอกที่มาของเหตุผลที่เขาควรได้ แต่หลายๆ รางวัลที่มีในเมืองไทย ยังไม่มีความชัดเจนตรงนี้
ถามว่าคนดีๆ ที่ได้รับรางวัลมีไหม ก็มีอยู่เยอะนะ แต่บางรางวัลที่ให้ก็พลาดไปบ้าง ผมเองก็ไม่กล้าจะพูดว่าเรื่องแบบนี้มันมาจากไหน แต่ทั้งหมดนั้น สังคมก็รู้ว่ามันเหมาะหรือไม่ บางสิ่งบางอย่าง เราไม่ต้องวิจารณ์หรอก มันรู้ได้โดยเหตุและผล และการกระทำที่คนที่ได้รางวัลทำไว้ แต่ถ้ามองในแง่ดี มันอาจจะมีบางมุมที่เราไม่เคยเห็นมุมดีๆ แต่ตรงนี้ คนที่ให้รางวัลก็ควรจะมาชี้แจงให้เราเห็น ถ้าไม่บอกกับประชาชาชน มันก็จะมีข้อกังขาแบบนี้เกิดขึ้น
เช่นเดียวกับ ศาสวัต บุญศรี อาจารย์จากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ชี้ปมตรงนี้ว่า
การที่เลือกใครมาสักคน อาจจะเรื่องของการสร้างอิมเมจให้องค์กร หรือเรื่องอื่นๆ แต่ทั้งนี้ เขาก็ต้องมีมาตรฐานการให้รางวัลของเขา อย่างกรณีที่เป็นข่าวนั้น กรรมการเขาพูดว่า การที่จะมอบรางวัลให้ใคร เราไม่ได้ย้อนไปดูทั้งหมดที่ผ่านมา แต่ดูเพียงช่วงเวลาหนึ่งอาจจะแค่ปีสองปีที่ผ่านมา ตรงนี้อาจจะเป็นเกณฑ์หรือมาตรฐานของเขาก็ได้ แต่ผมเองไม่เห็นด้วยนะ
ดีเด่นให้จริง
กล่าวถึงเรื่องการมอบรางวัลทำนองนี้ สินี จักรธรานนท์ ผู้อำนวยการมูลนิธิอโชก้า (ประเทศไทย) องค์กรที่สนับสนุนบุคคลที่ทำงานเพื่อสังคม โดยการมอบรางวัลที่เรียกว่า อโชก้า เฟลโล่ ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากลถึงมาตรฐานการคัดเลือกบุคคล กล่าวว่า
หากมองโลกในแง่ดีต้องถือว่า ยุคนี้มีการยกย่องบุคคลมากกว่าสมัยก่อน มีรางวัลเกิดขึ้นมากมาย ทั้งแบบที่ต้องการประชาสัมพันธ์องค์กรผู้ให้รางวัล และอีกไม่น้อยที่ต้องการยกย่องบุคคลจริงๆ
การยกย่องเชิดชูบุคคลยังเป็นเรื่องที่ควรกระทำและเป็นเรื่องที่ได้ประโยชน์แก่สังคม แต่ควรจะทำด้วยความระมัดระวังและควรทำให้เกิดความหลากหลายในแง่ของประเภทและคุณสมบัติที่ต้องการจะยกย่อง ไม่ใช่สร้างแรงบันดาลใจโดยการใช้ความเด่นความดังหรือรูปลักษณ์ภายนอก และวัตถุประสงค์ในการยกย่องเชิดชูจะต้องชัด ประกอบกับกระบวนการสรรหาที่ดี
จากเรื่องราวรางวัลดังกล่าวนี้ ผลลัพธ์ที่ชิ่งสะท้อนไปสะท้อนมาอยู่ในโลกของสื่อสารมวลชนที่ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่งก็คือ
โลกสมัยนี้ เป็นโลกที่คนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ ฉะนั้นการจะทำอะไร สังคมสามารถเช็คได้ รู้เท่าทันและสามารถตั้งคำถามได้
อาจารย์ศาสวัตเขาฝากเตือนไว้
>>>>>>>>>
จะให้รางวัลใครต้องรู้จักคัดสรร
กรณีตัวอย่างของการคัดเลือกบุคคลดีเด่นระดับโลก ที่น่าศึกษา
คือมูลนิธิอโชก้า (Ashoka: Innovators for the Public) ผู้ริเริ่มสร้างสรรค์เพื่อสังคมระดับโลก
เป็นองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงผลกำไร ไม่รับเงินรัฐบาลและบรรษัทเงินทุนข้ามชาติ แต่รับการสนับสนุนที่ไม่มีเงื่อนไขจากมูลนิธิ และบุคคล อโชก้ายังระดมการสนับสนุนจากประชาชนในรูปแบบต่างๆ เพื่อการดำเนินงานในระยะยาว ก่อตั้งโดย บิล เดรย์ตัน เมื่อปี 2523 ปัจจุบันมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่วอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ถือเป็นองค์กรหนึ่งที่มีการคัดเลือกบุคคลเป็น อโชก้า เฟลโล่ ในแต่ละปี ผ่านกระบวนการที่เข้มข้นมาก มาดูกันว่าเขามีวิธีการสรรหาอย่างไร
สินี บอกว่าการคัดเลือกบุคคลจะต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนเสียก่อน โดยทางอโชก้ามีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน 5 ข้อ คือต้องเป็นคนที่มีแนวคิดใหม่หรือมีนวัตกรรมทางสังคม, ต้องทุ่มเททำงานให้แก่สังคม, มีทักษะในการจัดการให้ความคิดนั้นเป็นจริงๆ, ต้องเป็นคนที่มีคุณธรรม ไม่ประวัติคอร์รัปชั่นหรือทำผิดกฎหมาย และสุดท้ายคือแนวคิดนั้นจะต้องขยายผลต่อยอดได้
ส่วนกระบวนการสรรหา สินีอธิบายว่า
เราไม่ใช่แค่เดินไปเจอใครสะดุดตาหรือว่าเด่นอยู่แล้ว แล้วจับมาให้รางวัล แต่เรามีกระบวนการค้นหาซึ่งเราทำกันเป็นปี มีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก มีการถามคนที่อยู่ในวงการนั้นๆ ว่าคนที่ได้รับการเสนอชื่อมาเขาเหมาะสมหรือไม่
เมื่อได้รายชื่อแล้วจึงเข้าสู่กระบวนการขั้นที่ 2 คือการเสนอชื่อไปยังอโชก้าสากล เพื่อส่งตัวแทนมา ซึ่งมักจะเป็นกรรมการบริหารหรือผู้บริหารระดับสูงหรือที่ปรึกษาของอโชก้า และจะต้องไม่รู้จักตัวแคนดิเดตมาก่อน เพื่อทำการสัมภาษณ์แคนดิเดตที่ทางอโชก้า ประเทศไทยเสนอ โดยมีสิทธิที่จะบอกว่าแนวคิดของคนคนนี้ไม่สอดคล้องกับอโชก้าในทางสากล
ถ้าแคนดิเดตผ่านขั้นที่ 2 นี้ไป ก็จะพบกับคณะกรรมการไทย ซึ่งประกอบด้วยคน 3 คน ซึ่งอาจจะเป็นผู้นำทางด้านธุรกิจ สังคม และคนที่สามจะต้องเป็นอโชก้า เฟลโล่ที่ได้รับการคัดเลือกแล้ว เพื่อเปิดให้อโชก้า เฟลโล่มีส่วนร่วมในการมองหาสมาชิกใหม่ ทั้งสามคนนี้จะสัมภาษณ์แคนดิเดตอย่างละเอียด แล้วก็มาประชุมร่วมกันว่าเห็นด้วยหรือไม่กับขั้นตอน 1 และ 2 ที่ผ่านมาแล้ว เสียงของทั้งสามคนนี้ต้องเป็นเอกฉันท์ ค้านเพียงหนึ่งเสียง แคนดิเดตคนนั้นก็จะตก
แต่ถ้าแคนดิเดตผ่าน คณะกรรมการนี้ก็จะให้ความเห็นโดยละเอียด ความเห็นทั้งหมดตั้งแต่ชุดที่ 1 ถึงชุดที่ 3 จะถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรและเป็นความลับ และส่งไปยังคณะกรรมการบริหารของอโชก้าซึ่งจะประชุมกันที่วอชิงตัน ดี.ซี. เดือนละครั้ง ความเห็นทั้งหมดจะถูกเสนอและพิจารณาเอกสารทั้งหมด และถ้ามีคำถาม เขาก็จะส่งคำถามกลับมาที่ผู้แทนอโชก้าในขั้นที่ 2 หรือไม่ก็ส่งกลับมายังขั้นที่ 1 เลย
ดังนั้น สาระสำคัญในกระบวนการพิจารณาอยู่ที่ หนึ่ง-ประกอบด้วยคณะบุคคล ไม่ใช่ความเห็นของคนคนเดียว สอง-เป็นการถกเถียง อภิปราย บนพื้นฐานของการรวบรวมข้อมูลที่ค่อนข้างละเอียด สาม-เนื่องจากเป็นประเด็นปัญหาทางสังคม จึงต้องมีทั้งข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงกับความคิด ซึ่งวางอยู่บนความเห็นของบุคคลที่เราเลือกมาเป็นกรรมการ ในกระบวนการนี้จะเป็นการปฏิสัมพันธ์กับตัวแคนดิเดตในทุกขั้นตอน
และสุดท้าย เสียงชี้ขาดจะเป็นเสียงจากคณะกรรมการบริหารของอโชก้า ซึ่งในการประชุมแต่ละครั้งจะมีประมาณ 5-10 คนขึ้นไป และทั้งหมดนี้มีหลายเชื้อชาติ ทั้งแอฟริกัน เอเชีย ยุโรป กระบวนการทั้งหมดนี้จะใช้เวลาต่ำสุดคือ 6 เดือน-1 ปี หรืออาจจะ 2 ปีในแต่ละราย
........
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
โดย: ผจก.ออนไลน์ [21 ก.ย. 53 8:20] ( IP A:58.11.50.105 X: )
คลิก เพื่อเปลี่ยนกลับไปแสดงความคิดเห็นแบบเดิม
ชื่อไฟล์รูปห้ามมีอักขระพิเศษ เช่น (#),(<),(>),(&) เป็นต้นค่ะ
ชื่อ / e-mail :
แทรกไอคอนน่ารักๆในข้อความ
e-mail :
ส่งอีเมลทุกครั้งที่มีการตอบกระทู้
(ใส่ Email เมื่อต้องการให้ส่ง Email เมื่อมีคนมาโพสในกระทู้)
คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน