หมอจุ๊ก....หมอ 20 ล้าน
   https://www.peace.mahidol.ac.th/th/index.php?option=com_content&task=view&id=381&Itemid=108

คน ตัวเล็กๆ ที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักบากบั่นตั้งหน้าตั้งตาทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่ในดินแดนชนบท อันห่างไกล สืบสานตามอุดมการณ์ที่ถูกสั่งสมระหว่างที่วัยแห่งชีวิตผลิบานอย่างเต็มที่

" หมอจุ๊ก" ของชาวบ้านใน อ.จะนะ จ.สงขลา พื้นที่ซึ่งเจิ่งนองไปด้วยกลิ่นคาวเลือดที่ชโลมจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน จังหวัดชายแดนใต้ สร้างผลงานผ่านองค์กรภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง

น. พ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ กลายเป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องจากมูลนิธิโกมล คีมทองให้ขึ้นกล่าวปาฐกถาเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวข้อ "อุดมคติที่ยังมีตัวตน : คนเล็กๆ คือความหวังท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง"

น.พ.สุภัทร หรือ "หมอจุ๊ก" ในวัยเพียง 39 ปี เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ เป็นใคร มาจากไหน ทำไมถึงได้รับเกียรติยกย่องให้เป็นหนึ่งในผู้ควรค่าแห่งการสรรเสริญจาก มูลนิธิโกมลคีมทอง

บางส่วนของปาฐกถาสะท้อนความเป็น "หมอจุ๊ก" ได้ดียิ่ง ดังนี้

สังคม วันนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ความเร็วในการเคลื่อนตัวของสังคม ยากที่ผู้มีอำนาจคนหนึ่งคนใดที่จะสามารถควบคุมสังคมได้ การเปลี่ยนแปลงทั้งหมด คนเล็กๆ มีพลังเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่ง ผมจะลองเล่าถึงประสบการณ์ที่ผมพบปะมาในชีวิตและจะได้สะท้อนถึงสิ่งที่เกิด ขึ้นทั้งในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา และบางส่วนที่ได้มีโอกาสพบเจอในประเทศ

ชีวิต ในวัยเด็กของผมไม่มีอะไรครับ เป็นลูกพ่อค้าขายรองเท้าธรรมดา เรียนหนังสือตามปกติก็ขยันเรียนตามประสา ก็โชคดีที่มีครอบครัวที่อบอุ่น คุณแม่คุณพ่อเคี่ยวเข็ญ การที่จะไปไหนในสมัยนั้นต้องบอกล่วงหน้า ไม่มีประเภทขอวันนี้ไปวันนี้ ไม่มีมือถือ โทรศัพท์ตู้สาธารณะหายากในเมืองหาดใหญ่สมัยนั้น สิ่งที่เราต้องทำ คือกลับบ้านตรงเวลา บอกว่าจะกลับบ้าน 2 ทุ่ม หรือ 6 โมงเย็น ถึงเวลาก็ต้องกลับ ไม่อย่างนั้นท่านก็จะเป็นห่วง เราก็ไม่สบายใจ ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นวินัยพื้นฐานที่สำคัญในชีวิตช่วงเด็ก ประกอบกับการตั้งใจเรียนก็ทำให้มีโอกาสได้เอนทรานซ์ติดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งผมคิดว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดในชีวิต เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิต 6 ปีในมหาวิทยาลัย

ซึ่งผมเข้ามาใน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ในปี 2531 นั้น น่าตกใจมากที่ว่าในการ เอนทรานซ์ครั้งนั้นมีนิสิตที่เอนทรานซ์ติดคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งไม่ใช่โควตาจาก ต่างจังหวัดทั้งหมด 104 คน เป็นแพทย์ที่จบมัธยมศึกษาจากต่างจังหวัดแค่ 4 คน ที่เหลือ 100 คน เป็นพวกหัวกะทิจากโรงเรียนเตรียมอุดมและสวนกุหลาบ เข้ามาถึงแล้วแทบจะเรียกว่าคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ แทบจะยกโรงเรียนเตรียมอุดมและสวนกุหลาบมา ซึ่งก็ทำให้ผมรู้สึกว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่เราคุ้นเคย เหมือนไม่มีใครเป็นเพื่อนเรา

ผมได้มีโอกาสได้ไปเปิดโลกกิจกรรม ของมหาวิทยาลัย ก็ได้ไปเดินเล่นและก็พบว่าชมรมค่ายอาสาสมัครเป็นชมรมที่น่าสนใจ เริ่มต้นก็ไปคลุกคลีกับพี่ๆ ร้องเพลงเพื่อชีวิตบ้าง แสงดาวแห่งศรัทธา อะไรประมาณนั้น แล้วก็เริ่มเรียนรู้สิ่งที่ไม่เคยรู้ในชีวิต ได้มีโอกาสไปออกค่าย ไปพบชีวิตชนบท ซึ่งคนในเมืองอย่างผมไม่เคยได้พบเจอ เราก็แค่เคยนั่งรถเมล์ผ่านชนบท แต่ไม่เคยสัมผัสอย่างแท้จริง ผมจำได้ว่าค่ายแรกๆ ที่ผมไปเมื่อตอนอยู่ปี 3 เราไปออกค่ายกัน สิ่งที่นักศึกษาแพทย์อย่างผมทำเป็นก็คือ ดูไข่พยาธิ

พยาธิเรียนมา แล้วไม่ยาก หิ้วกล้อง จุลทรรศน์ไปแล้วไปดูไข่พยาธิกันนัดชาวบ้านไปรวมกันที่ศาลาวัด ชาวบ้าน ก็มากันเยอะแยะ พกอุจจาระมากันคนละกระปุก แล้วก็มาตรวจไข่พยาธิ ก็มาให้ความรู้กัน ว่ามีพยาธิปากขอ อยากให้ชาวบ้านใส่รองเท้า จะป้องกันพยาธิปากขอได้ ตามทฤษฎี

หลังจากคุยกับชาวบ้านเสร็จ ฝนตกหนัก เราก็รอให้ฝนหยุดกันที่ศาลาวัด พอฝนหยุดคนก็เดินทางกลับหมู่บ้าน จะเดินบนถนนดินแดงก็ไกล ต้องเดินลัดทุ่งนา ชาวบ้านเดินกันไปแค่พ้นบันไดก็ถอดรองเท้ากันเรียบร้อย ที่เราคุยไว้สอนไว้อย่างดีไม่ได้เป็นเช่นนั้น เราเดินไปได้ยี่สิบก้าวก็เหมือนกัน เดินต่อไปไม่ได้เพราะรองเท้ามันติดโคลน ต้องถอดรองเท้าเดินตามชาวบ้านถึงหมู่บ้านอย่างมีความสุข กินลาบก้อยลาบอะไรตามประสาที่ชาวบ้านช่วยทำให้เราได้กินกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าวิชาความรู้ในตำราที่เรียนมาแตกต่างอย่างสิ้นเชิง ในวิถีชีวิตของชาวบ้าน

เราเรียนรู้หลายอย่าง ผมคิดว่าสิ่งที่ น่าสนใจที่สุด คือการที่แพทย์อาสาได้เปิด มุมมองใหม่ให้กับผมได้ไปคุยกับเด็กในสลัม ได้ไปคุยกับเด็กในกองขยะ ได้ไปฟังเสวนา

"หมอจุ๊ก" บอกว่า 3 ปีที่ได้เข้าสู่โลกแห่งการทำค่ายกิจกรรมอาสาทำให้แนวคิดและตัวตนเปลี่ยนแปลงไป

ตอน จบก็ตั้งใจแล้วครับว่าจะกลับบ้าน เพราะว่าบ้านก็อยู่หาดใหญ่ แถวสงขลาก็มีโรงพยาบาลชุมชนที่เราทำงานได้ จะได้กลับไปดูแลพ่อแม่ด้วย และก็ไปตั้งฐานที่มั่น ตอนนั้น

ได้ไปอยู่ที่โรงพยาบาลสะบ้าย้อย ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีความเป็นชุมชนสูง คือเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ไกลมาก เจ้าหน้าที่ทุกคนก็จะอยู่กันในโรงพยาบาล ไม่ค่อยมีใครกลับบ้านกันเหมือนโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้เมือง ตอนเย็นก็กินข้าวกัน เล่นกีฬา ช่วยกันพัฒนาโรงพยาบาล เป็นรั้วรอบที่มีความสุขอยู่ภายใน ก็ไม่ได้คิดที่จะกลับไปทำงานประท้วงอะไรอีก จะทำงานเป็นหมอให้ดีที่สุด จริงๆ แล้วหมอจบใหม่นั้นยังต้องเรียนรู้ อีกมาก ที่สะบ้าย้อยสมัยนั้นมีกันแค่ 2 คน เพราะฉะนั้นถ้าใครจะหนีไปประชุม ไปอบรม หรือว่าลาพักผ่อน สิ่งที่ต้องทำ คือไปตรวจคนไข้ในตึกผู้ป่วยในให้เสร็จก่อนแล้วถึงจะไป เพื่อนอีกคนนั่งตรวจที่ตึกผู้ป่วยนอก เป็นต้น ก็เป็นอยู่อย่างนี้ประมาณ 2 ปี

ในช่วงนั้นเอง ผมได้เรียนรู้สิ่งที่เป็นปัญหาชาวบ้าน เพราะชาวบ้านเป็นมุสลิมส่วนใหญ่ พูดไทยได้น้อยมาก ก็พยายามเรียนรู้วัฒนธรรม สิ่งแรกที่สำคัญคือภาษา เพราะว่าการสื่อสารเป็นเรื่องที่สำคัญมาก พยาบาลที่นั่นซึ่งเป็นมุสลิม ก็สอนผมว่า ขอให้หมอพูดภาษายาวีได้คำหนึ่งเป็นอย่างน้อยก็พอ คำนั้นคือคำว่า "ตาอิตี" ถ้าชาวบ้านพูดมาเป็นฉากๆ ให้หมอพูดว่า "ตาอิตี" แปลว่า "ไม่รู้เรื่อง" (ฮา)

พูดแค่นี้เขาก็จะเปลี่ยนภาษา มาพยายามพูดไทยกับเรา หรือไม่ก็จะไปกวักมือเรียกล่ามมาให้ช่วยกันคุย ผมก็ใช้ตาอิตีอยู่นาน แล้วก็ค่อยๆ ฝึกคำอื่นๆ เพิ่ม และพบว่าการที่เราพยายามปรับตัวเข้ากับชุมชนให้เข้ากับอีกวิถีหนึ่งของ วัฒนธรรม เป็นสิ่งที่ดีมาก ชาวบ้านไม่ได้ต้องการให้ผมพูดภาษายาวีได้เป็นฉากๆ เขาต้องการให้ผมพูดได้ไม่กี่คำเขาก็มีความสุขแล้ว เพราะแสดงถึงความอ่อนน้อมของเรา อ่อนน้อมเข้าหาวัฒนธรรมของเขา เช่นเดียวกัน เขาก็พยายามปรับตัวมาพูดไทยกับเรา ก็เป็นการเรียนรู้ที่สำคัญ ได้ทำสิ่งที่ไม่เคยทำในชีวิต

อยู่มหาวิทยาลัยเคยแต่เห็นอาจารย์ทำ เห็นรุ่นพี่ทำ เกิดมาไม่เคยล้วงรก คลอดลูกแล้วรกค้างต้องล้วงรก ไม่เคยทำ ในรัศมี 25 กิโลเมตร ไม่มีใคร มีแต่เราใหญ่ที่สุด เพราะอยู่คนเดียวเสาร์ อาทิตย์ ก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำก็ต้องส่งต่อ ซึ่งระยะทางไกลมาก อาจจะเสียเลือดมาก ไม่ทัน ก็เปิดตำราทำ ก็ทำสำเร็จ ซึ่งก็เป็นความรู้สึกที่ดีใจ ภูมิใจ

อยู่ในรั้วโรงพยาบาลที่อบอุ่น ได้พักใหญ่ หลังจากนั้นไม่ทราบเป็นอย่างไร เริ่มมีรุ่นพี่เอ็นจีโอบางคนมาเยี่ยม ชวนไปสะบ้าย้อย ว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัดคิดจะตัดถนนผ่านป่าซึ่งเป็นต้นน้ำเทพา เพื่อจะเชื่อมถนนกับประเทศมาเลเซีย ตามโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ ไทย-อินโดนีเซีย-มาเลเซีย ก็ไปเยี่ยมเยียนชาวบ้านเข้าไปในพื้นที่ พบว่าสิ่งที่ชาวบ้านทำในตอนนั้นคือลาดตระเวน เพื่อที่จะดูว่ามีการตัดไม้ทำลายป่าหรือไม่ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุด คือก่อนตัดถนนต้องตัดป่าให้เสื่อมโทรมก่อน เพื่อเป็นความชอบธรรมในการตัดถนน

หมอ จุ๊กเล่าว่า การเข้าไปในป่าครั้งนั้นได้ประสบการณ์ที่ทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของการ ต่อสู้กับอำนาจรัฐมากยิ่งขึ้นและเข้าใจความหมายของเพลงเพื่อชีวิตที่ร้องมา ยาวนาน "ใกล้ตา ไกลตีน" ว่าเห็นอยู่ใกล้ๆ แต่เดินไปไม่ถึงสักที

ต่อ การต่อสู้เพื่อรักษาทรัพยากร ธรรมชาติของ "หมอจุ๊ก" และชาวบ้านจากกรณีตัดถนนและการวางท่อก๊าซ ทำให้หมอจุ๊กถูกรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ขณะนั้น) เรียกให้เข้ากรุงเทพฯเพื่อมาชี้แจง และยังมีความพยายามที่จะย้ายให้หมอจุ๊ก ออกนอกพื้นที่

"จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ถนนก็ยังไม่ถูกตัด ไม่ใช่เป็นเพราะภาคประชาสังคมเพียงอย่างเดียว แต่ต้องขอบคุณกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบด้วย ที่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติแห่งนั้นยังคงอุดมสมบูรณ์ เพราะคนนอกไม่กล้าเข้าไป" หมอจุ๊กสรุปและว่า

ถ้าคนเล็กๆ กล้าที่จะออกมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล แม้การเปลี่ยนแปลงจะต้องใช้เวลา แต่ก็ชี้ให้เห็นว่าต้องมีคนเริ่ม เริ่มด้วยสิ่งที่เราเห็นและกล้าเผชิญกับสิ่งที่จะเป็น แน่นอนว่าเมื่อออกมาเผชิญกับอำนาจรัฐ คุณก็จะถูกตอบโต้ได้เป็นธรรมดา

แต่ ว่าแพทย์ชนบทนั้นมีข้อดีอยู่หลายประการ ที่สำคัญที่สุดคือมีฐานที่มั่นอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน ไกล ไม่มีใครอยากไปอยู่ จะย้ายไปไหนอีกล่ะ จะย้ายผมไปไหนอีก เพราะอยู่ไกลพอสมควรแล้ว โอกาสที่จะถูกย้ายก็น้อย ฐานมวลชนก็พอจะมี เพราะเราดูแลคนไข้ทุกวัน เป็นเวลาหลายปี ดังนั้นจึงเป็นฐานที่มั่นที่สำคัญมาก ที่จะมีอิสรภาพ มีพลัง ที่จะทำในสิ่งที่ต่อสู้กับอำนาจรัฐได้

เรายึดหลักยุทธศาสตร์สามก๊ก ในโครงสร้างการเมือง คือก๊กการเมือง รัฐมนตรีเป็นใหญ่ ก๊กราชการ นำโดยปลัดกระทรวง ซึ่งมีฐานอำนาจมาก ไม่มีรัฐมนตรีกระทรวงก็สามารถเดินได้ เดินแบบมีนโยบาย เพราะนโยบายเกือบทั้งหมดถูกชงด้วยข้าราชการ ผมไม่เคยเห็นความจำเป็นของการมีรัฐมนตรีเท่าไร ในขณะที่การรวมกันของภาควิชาชีพองค์กรทางสังคมก็สำคัญ ในกรณีแพทย์ชนบท รวมกันเป็นก๊กที่สาม พร้อมที่จะเคียงข้างก๊กใดก๊กหนึ่งที่ใหญ่กว่า เพื่อที่จะไปต่อสู้ในสิ่งที่ถูกต้อง หรืออาจจะรบกับทั้งสองก๊ก แต่ถ้ารบกับทั้งสองก๊ก เราคงลำบาก เพราะใหญ่ทั้งคู่ ในเชิงยุทธศาสตร์ก็ต้องสมานฉันท์หนึ่งก๊ก เพราะทั้งสองกลุ่มนี้ โอกาสที่จะสมานฉันท์น้อยอยู่แล้ว

เราเชื่อมั่นในพลังของคนไม่กี่คน พลังเล็กๆ บทเรียนจากแพทย์ชนบท คือเราคนเล็กๆ สามารถเคลื่อนไหวทางสังคมได้ แม้ว่าอาจจะไม่ได้สำเร็จ แต่ว่าจะเป็นหนึ่งในพลังที่ช่วยกันทำให้อุณหภูมิของน้ำร้อนขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อความร้อนถึงระดับหนึ่ง พลังอีกไม่มากเมื่อใส่ไปอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนสถานะของน้ำจากของเหลวกลาย เป็นก๊าซ เกิดการเปลี่ยนแปลงสถานะของอำนาจของโครงการได้

คนตัวเล็กๆ อย่าง "หมอจุ๊ก" น.พ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ จึงคู่ควรแก่การยกย่องให้เป็นบุคคลของมูลนิธิโกมลคีมทองในปี 2552 ด้วยประการทั้งปวง
โดย: Adalat [23 มิ.ย. 54 13:38] ( IP A:202.29.9.12 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
ความคิดเห็นที่ 1
   อยู่มหาวิทยาลัยเคยแต่เห็นอาจารย์ทำ เห็นรุ่นพี่ทำ เกิดมาไม่เคยล้วงรก คลอดลูกแล้วรกค้างต้องล้วงรก ไม่เคยทำ ในรัศมี 25 กิโลเมตร ไม่มีใคร มีแต่เราใหญ่ที่สุด เพราะอยู่คนเดียวเสาร์ อาทิตย์ ก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำก็ต้องส่งต่อ ซึ่งระยะทางไกลมาก อาจจะเสียเลือดมาก ไม่ทัน ก็เปิดตำราทำ ก็ทำสำเร็จ ซึ่งก็เป็นความรู้สึกที่ดีใจ ภูมิใจ

แบบนี้เขาเรียกว่าไม่งอมืองอเท้า.....ใช่หรือเปล่าครับท่าน....ฟฟ
โดย: Adalat [23 มิ.ย. 54 13:43] ( IP A:202.29.9.12 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
   เอารูปคุณหมอจุ๊ก...มาให้ดูกัน คนตัวเล็กแต่ใจใหญ่

โดย: Adalat [23 มิ.ย. 54 13:52] ( IP A:202.29.9.12 X: )
ความคิดเห็นที่ 3
   ด้วยความนับถือ
โดย: เครือข่ายฯ [23 มิ.ย. 54 17:49] ( IP A:58.9.12.252 X: )
ความคิดเห็นที่ 4
   อยู่มหาวิทยาลัยเคยแต่เห็นอาจารย์ทำ เห็นรุ่นพี่ทำ เกิดมาไม่เคยล้วงรก คลอดลูกแล้วรกค้างต้องล้วงรก ไม่เคยทำ ในรัศมี 25 กิโลเมตร ไม่มีใคร มีแต่เราใหญ่ที่สุด เพราะอยู่คนเดียวเสาร์ อาทิตย์ ก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำก็ต้องส่งต่อ ซึ่งระยะทางไกลมาก อาจจะเสียเลือดมาก ไม่ทัน ก็เปิดตำราทำ ก็ทำสำเร็จ ซึ่งก็เป็นความรู้สึกที่ดีใจ ภูมิใจ

แบบนี้เขาเรียกว่าไม่งอมืองอเท้า.....ใช่หรือเปล่าครับท่าน....ฟฟ

หากทำแล้วตกเลือดตาย จะมีคนถามไหมว่าทำไมไม่ส่งไปที่พร้อมกว่า ระยะทาง 25 กม รถวิ่งแค่ 15 นาทีเท่านั้น
โดย: อนันต์ [24 มิ.ย. 54 19:27] ( IP A:61.7.240.140 X: )
ความคิดเห็นที่ 5
   คนถามนะมีแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าคนทำทำตามตำราแล้วหรือไม่ ถ้าไม่ขัดตำราศาลไหนก็ลงโทษหมอไม่ได้
โดย: เจ้าบ้าน [27 มิ.ย. 54 22:27] ( IP A:110.168.62.86 X: )
ความคิดเห็นที่ 6
   ผมก็เห็นด้วยกับท่านจ้าวบ้านนะ ตะหงิดหน่อยๆตรงที่

ในพื้นที่เสี่ยงภัยก่อการร้ายแบบนี้ เสียเวลาส่งคนไข้ต่อไป เสี่ยงชีวิตคนไข้หนึ่งคนแล้วว่าจะรอดข้ามเวลาจากอาการเจ็บป่วยไปทันมือหมอที่ปลายทางหรือเปล่า?????? แล้วยังต้องนับเสี่ยงชีวิตหนึ่งพยาบาล หนึ่งคนขับ และรถอีกคันไปด้วยกับกับละเบิดและกระสุน

มองอย่างนี้ ภาพรวมสำหรับคนไข้อย่างผม ไม่รู้ว่าเสี่ยงรอดชีวิต หรือ

เสี่ยงตาย ก็ชักไม่แน่ใจเหมือนกัน ?????

อ้อ ยังไงก็ต้องขอเปิดหมวกคาราวะงามๆให้กับคุณหมอจุ๊กอีกคนด้วยครับ ขอให้บุญกุศลและคุณพระคุ้มครองให้แข็งแรงปลอดภัยด้วยครับ
โดย: คนรู้ทัน ไม่รู้จริง(เรื่องหมอ) [28 มิ.ย. 54 10:19] ( IP A:58.8.229.87 X: )
คลิก เพื่อเปลี่ยนกลับไปแสดงความคิดเห็นแบบเดิม

ชื่อไฟล์รูปห้ามมีอักขระพิเศษ เช่น (#),(<),(>),(&) เป็นต้นค่ะ
ชื่อ / e-mail :    แทรกไอคอนน่ารักๆในข้อความ
e-mail :
ส่งอีเมลทุกครั้งที่มีการตอบกระทู้       (ใส่ Email เมื่อต้องการให้ส่ง Email เมื่อมีคนมาโพสในกระทู้)


CAPTCHA code



คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน