เราสูญเสียกำลังเงินมหาศาลไปกับสิ่งที่ “ป้องกันได้”
   **

วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2552 เวลา 10:11:24 น. มติชนออนไลน์


วิกฤติอุบัติเหตุ...คนไทยแก้ไขได้

โดย นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ประธาน สอจร. และรอง ผอ.รพ.ศูนย์ขอนแก่น


"เทียบให้เห็นๆ คือ การตายของคนไทยจากอุบัติเหตุ เท่ากับเครื่องบินโบอิ้งตกถึง 40 ลำ ใช้หนี้เงินกู้ประเทศไทยได้เกือบครึ่งหนึ่งจากที่กู้มากว่า 4 แสนล้านบาท "


ช่วงเวลายิ่งใกล้เทศกาลปีใหม่ หน่วยงานที่ดูแลป้องกันอุบัติเหตุก็เริ่มขยับตัวกันอย่างต่อเนื่องไม่เว้นแต่ละวัน เพราะมีผลการศึกษาชี้ชัดว่า เป็นช่วงเวลาของความสูงสุดในทุกด้าน ตั้งแต่การเดินทางสัญจรสูงสุด การเฉลิมฉลองมากสุด ตามมาด้วยการดื่มสุราเพื่อเติมเต็มความรู้สึกอยากส่งลาปีเก่ากันเต็มที และรับศักราชใหม่อย่างสูงสุด ทำให้หน่วยงานที่มีทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) กระทรวงสาธารณสุข กรมทางหลวง กรมการขนส่งทางบก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะทำงานสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.) และเครือข่ายป้องกันอุบัติเหตุจากทุกแห่งร่วมกันรณรงค์เพื่อป้องกันความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินในช่วงปีใหม่กันอย่างเต็มที่


แต่ถ้าถามว่า “แล้วหลังเทศกาลไป ใครคือ ผู้ที่จะมาช่วยดูแลชีวิตของผู้ใช้รถใช้ถนนในเวลากว่า 350 วันที่เหลืออยู่” กำลังเป็นคำถามที่ส่งให้หลายภาคส่วนช่วยกันคิด เพราะถ้าการป้องกันช่วงเทศกาลเป็นเรื่องที่จำเป็น การป้องกันการเกิดอุบัติเหตุตลอดทั้งปี ยิ่งน่าคิดกว่า เนื่องจากประเทศไทยมีสถิติแสดงให้เห็นชัดว่า การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรในช่วงเทศกาลปีใหม่หรือสงกรานต์อยู่ที่ 1 พันกว่าคนต่อปี


แต่คนที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุระหว่างปีมีอีก 12,000 คน เฉลี่ยแล้วเราตายกันวันละ 37-40 คน ต่อวัน รวมกับยอดคนบาดเจ็บสาหัสพิการอีกปีละกว่า 1 ล้านคน


ผลการสำรวจของกระทรวงคมนาคมเมื่อปี 2550 พบว่า ความสูญเสียทั้งหมดจากอุบัติเหตุจราจรทางถนนคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 2.4 แสนล้านบาท หรือ 2.81% ของ GDP


เทียบให้เห็นๆ คือ การตายของคนไทยจากอุบัติเหตุ เท่ากับเครื่องบินโบอิ้งตกถึง 40 ลำ ใช้หนี้เงินกู้ประเทศไทยได้เกือบครึ่งหนึ่งจากที่กู้มากว่า 4 แสนล้านบาท


การเทียบเคียงเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า เราสูญเสียกำลังเงินมหาศาลไปกับสิ่งที่ “ป้องกันได้” แม้ในระดับนานาชาติก็ยังคุยเป็นเสียงเดียวกันว่า “อุบัติเหตุไม่ใช่เรื่องของโชคชะตา แต่เป็นสิ่งที่ป้องกันได้” ยกตัวอย่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศสที่มีทั้งประชากรและพื้นที่ใกล้เคียงกันแต่คนฝรั่งเศสตายด้วยอุบัติเหตุจราจรน้อยกว่าคนไทยถึง 3 เท่า (เฉลี่ยปีละ 4,000 คน) ซึ่งถ้าคนไทยยังโทษโชคชะตาฟ้าคุ้มครองก็แปลว่า เทวดาและฟ้าคุ้มครองคนฝรั่งเศสมากกว่าคนไทยเสียอีก!!


โจทย์การป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและลดผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บของไทย จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะล่าสุดผลจากการประชุมระดับรัฐมนตรีที่องค์การอนามัยโลก (WH) และองค์การสหประชาชาติ (UN) จัดให้มีขึ้นช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อดึงให้นานาชาติร่วมกันลงนามในปฏิญญา



พร้อมตั้งเป้าลดผู้เสียชีวิตลงครึ่งหนึ่งในทศวรรษหน้า โดยจะผลักดันให้ปี 2010-20 เป็น “ทศวรรษความปลอดภัยทางถนน” (Decade of Action for Road Safety: 2010-20) ซึ่งก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีการผลักดันให้อุบัติเหตุทางถนนเป็น “วาระแห่งชาติ” โดย ครม.มีมติเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2552 เห็นชอบแผนแม่บท พร้อมสั่งการให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน นำแผนแม่บท (2552-2555) ลงสู่แผนปฏิบัติ โดยกำหนดให้อุบัติเหตุทางถนนเป็นตัวชี้วัดร่วม 3 กระทรวง (มหาดไทย คมนาคม และ สตช.)


หมายความว่าถ้าประเทศไทยจะทำยอดให้ได้ตามที่ลงปฏิญญากันไว้ เราต้องลดการเสียชีวิตลงเหลือ 10.10 / ปชก.แสนคน ในปี 2559 (ปัจจุบัน 17.77/แสน) เป็นครึ่งทางแรก แล้วถ้าทำได้มากไปกว่านั้นอีกถือเป็นความสำเร็จสูงสุดของประเทศไปโดยปริยาย


หนทางแก้ไขตามปฏิญญาสากลที่นานาประเทศลงนามร่วมกันไว้ และประเทศไทยเองก็ต้องทำประกอบด้วย


(1) เรียกร้องให้รัฐบาลมีบทบาทนำในการแก้ไขปัญหาความปลอดภัยทางถนน


(2) กำหนดเป้าหมายที่สูงและทำได้ในทางปฏิบัติเพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตโดยโยงกับการลงทุนทางถนนกับแผนปฏิบัติการและระดมทรัพยากรที่จำเป็น


(3) ให้ความสำคัญเป็นการเฉพาะกับการกำหนดนโยบายและแผนในการปกป้องคนใช้ถนนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง


(4) จัดให้มีระบบขนส่งมวลชนที่ปลอดภัยและส่งเสริมการใช้ให้มากขึ้น


(5) ปรับปรุงระบบความปลอดภัยทางถนนและยานยนตร์ให้สอดคล้องกับระบบสากล


(6) บังคับใช้ กม.จราจรอย่างเข้มงวด รวมถึงปรับปรุง กม.ให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล


(7) ปรับปรุงระบบฐานข้อมูลอุบัติเหตุให้เชื่อถือได้



(8) เสริมสร้างระบบการรักษาผู้บาดเจ็บฉุกเฉิน (Emergency Medical Service : EMS) รวมถึงบริการฟื้นฟูผู้ป่วยและการปรับตัวเข้าสู่สังคม


(9) กระตุ้นให้ภาคส่วนต่างๆ ที่อยู่ในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาเข้ามามีส่วนร่วมมือกันดำเนินโครงการถนนปลอดภัยให้มากขึ้น


(10) เรียกร้องให้ United Nation General Assembly (UNGA) ประกาศปี ค.ศ. 2011-2020 เป็นทศวรรษของการดำเนินการเพื่อความปลอดภัยทางถนน


ปฏิญญา 10 ข้อหลัก เป็นวาระที่หนักไม่ใช่น้อยสำหรับฝักฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แล้วหน่วยงานทั้งหลายที่กำลังควบคุมดูแลด้านนี้ให้กับประเทศอยู่จะเตรียมตัวกันอย่างไรสำหรับปี 2553 หรือ 2010 จะนิ่งไม่ขับเคลื่อนคงจะไม่ได้


แต่ถ้าขยับก็ต้องจับมือไปพร้อมๆ กัน เพื่อช่วยให้อีก 350 วันธรรมดาของคนไทยได้อยู่อย่างไทยอยู่อย่างสงบสุขเพราะปราศจากอุบัติเหตุไปตลอดปีตลอดกาลด้วยคาถาขลังๆว่า “อุบัติเหตุ...คนไทยป้องกันได้”.
โดย: แล้วความผิดพลาดทางการแพทย์ละ [14 ธ.ค. 52 21:43] ( IP A:58.8.240.250 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
ความคิดเห็นที่ 1
   ป้องกันคนไข้กลุ่มนี้ได้ ก็คนไข้กลุ่มนี้ลดลง หมายถึงมา รพ น้อยลง ความผิดพลาดก็ลด(เพราะไม่มีคนไข้ ก็ไม่มีความผิดพลาด) เพราะความผิดพลาดของแพทย์ส่วนใหญ่อยู่ที่ห้องฉุกเฉิน สมัยเรียน อาจารย์สอนว่า คนไข้ห้องฉุกเฉิน 1ใน3 จะ miss diag อีก 1ใน3 จะ inadequate treatment แปลว่า คนไข้ที่มาห้องฉุกเฉินจะผิดพลาดถึง สองในสาม ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก แต่ถ้าเราช่วยกัน จนลดเหตุได้ ไม่มีคนไข้มาห้องฉุกเฉิน ก็จะช่วยลดความผิดพลาดได้ และในทางที่ต่เนื่องกัน สามารถใช้เวลาดูแลคนไข้ซึ่งเจ็บป่วยจากโรคจริง ได้ถี่ถ้วนด้วย เป็นลูกโซ่กัน ...
โดย: คุณว่าดีทุกฝ่ายไหม [14 ธ.ค. 52 22:49] ( IP A:125.26.111.70 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
   ผมว่าก็ดีนะ ที่มีคุณหมอมาช่วยรณรงค์ทางอ้อมเตือนคนเรื่อง อุบัติเหตุที่ก่อความเจ็บความตาย ที่สามารถป้องกันได้ หากผู้ใช้รถใช้ถนน จะมีสำนึก เรื่องความปลอดภัย แต่ทั้งหมดนั่น ทั้งนี้แหละทั้งนั้น มันเรื่อง อ้อมๆ มันเป็น เรื่องอยู่นอกโรงพยาบาล มันเป็นเรื่องที่ หมอไม่ได้มีหน้าที่ ไม่ได้มีอำนาจ จัดการใดๆได้โดยตรงเลยจริงไหมครับ ???????

แล้วเรื่องที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลล่ะ เรื่องความผิดพลาดทางการแพทย์ที่สามารถป้องกันได้ในโรงพยาบาลของประเทศไทยเรานี้หล่ะ??????

ทำไมไม่รณรงค์ ทำไมไม่เอาออกมาบอกเล่า มาช่วยกันเตือนช่วยกันป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นล่ะ????

ความเสียหายตรงนี้ เป็นตัวเลขคนตาย คนเจ็บ คนพิการ คนที่ชิบหายต่อเนื่องจากเหตุนี้ เป็นตัวเงินเท่าไหร่???? แล้วที่ตีค่าเป็นตัวเงินไม่ได้อีกมากมายแค่ไหนกัน???

เราไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้ข่าว ไม่ว่าจาก ส.ธ. จาก ส.ป.ส.ช. จากแพทยสภา ไม่มีข่าวในเรื่องนี้หลุดออกมาให้เราได้รับรู้เลย

แต่เรามีกรณีผู้เสียหายทางการแพทย์ ที่เจ็บมั่ง ตายมั่ง ชิบหายต่อเนื่องไปให้กับลูกเมีย/พ่อแม่/ญาติพี่น้อง ให้ต้องออกมาเรียกร้องต่อสู่ป่าวประกาศกันริมถนน ตามสื่อสารมวลชน

แต่เรากลับมี หมอโจรๆระดับอาจารย์ อยู่ในหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง ที่กินเงินเดือนจากภาษีที่เก็บจากประชาชนไปโดยตรงเพื่อทำหน้าที่นี้ แต่กลับโกหกตอแหล กลับฉ้อฉลในการปฏิบัติหน้าที่ กลับไปเรียนเนติฯมาเรียนกฎหมายมา เพื่อตั้งแง่ตั้งป้อมตั้งพวกยำ ยำ และ ยำ กระบวนการกฎหมายและตัวกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ทางการฉ้อฉลให้กับหมอด้วยกันเองแล้วมาสู้คดีกับคนไข้ผู้เสียหายทางการแพทย์ เรามีหมอที่ไปร่ำเรียนวิชาการหนังสือพิมพ์ขั้นสูง ไปทำตัวตีสนิทกับสมาคมนักหนังสือพิมพ์ ไปตีสนิทกับสภาการหนังสือพิมพ์ เพื่อมาวางแนวทางประชาสัมพันธ์ "สร้างภาพบิดเบือน" หลอกให้สาธารณชนรับรู้แต่ด้านดีของวงการ ขณะเดียวกันก็ปิดบังหรือเบี่ยงเบนด้านที่สกปรกโสมมของวงการแพทย์ออกไปจากการับรู้ของมวลชน

เฮ้อ ทั้งหมดนี้ พูดง่ายๆ ก็คือ

เรื่องที่เป็นหน้าที่โดยตรง ทั้งที่เป็นเรื่องที่สมควรทำ และต้องทำ

กลับไม่ไปทำ

แต่ดั้นไปจับไปทำแต่เรื่องที่ "ส่งเสริมการรับรู้ของสาธารณชนว่า" วงการแพทย์มีแต่การโกง การทำงานลูบหน้าปะจมูก การประพฤติปฏิบัติที่เหยียดและย่ำความเป็นคนของคนไข้ไทยที่เป็นผู้เสียหายอยู่แล้ว ทั้งเป็นแหล่งหนูทดลองเพื่อฝึกงานและเรียนรู้วิชา "ที่มีชีวิตเลือดเนื้อ" ให้กับวงการแพทย์

ทั้งหมดนี้ ผมสรุปได้ด้วยคำบางคำสำหรับวงการแพทย์ส่วนหนึ่งคือ

หน้าไหว้หลังหลอก ดูดีมีสง่าแต่แฝงความโสมม เฮ้อ

ดูอย่างอเมริกาที่ประเทศใหญ่โตและมีวิทยาการและมาตรฐานทางการแพทย์ชั้นสูงของโลก ประธานาธิบดีบารัค โอบามายังออกมายอมรับว่า คนอเมริกันเอง เฉพาะที่ตายจากความผิดพลาดทางการแพทย์ที่ป้องกันได้ปีหนึ่งๆ เลยแสนคน ย้ำ เลยแสนคน แล้วนี่เลย ตอนหนึ่งของสุนทรพจน์ของโอบาม่าที่สมาคมแพทย์อเมริกันเมื่อไม่เดือนก่อนนี้เอง คัดลอกมาจากกระทู้ที่ 686 และมีฉบับแปลไทยแล้วที่ กระทู้ 697

*****************************

That will not only mean less paper pushing and lower administrative costs, saving taxpayers billions of dollars. It will also make it easier for physicians to do their jobs. It will tell you, the doctors, what drugs a patient is taking so you can avoid prescribing a medication that could cause a harmful interaction. It will help prevent the wrong dosages from going to a patient. And it will reduce medical errors that lead to 100,000 lives lost unnecessarily in our hospitals every year.

*****************************
โดย: คนรู้ทัน ไม่รู้จริง [18 ธ.ค. 52 8:53] ( IP A:58.8.99.144 X: )
ความคิดเห็นที่ 3
   ทุกข์ สมุหทัย นิโรจ มรรค จะดับทุกข์ต้องดับเหตุ

หน้่าที่ของแพทย์คือ ส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟู

การลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดคือ ส่งเสริมและป้องกัน หรือการทำให้ผู้ที่ยังไม่ป่วย ให้ไม่เจ็บป่วย ซึ่งทำได้ยากแต่ใช้งบน้อยและผลออกมาคุ้มค่ามาก เรียกว่าปฏิบัติการเชิงรุก

การรักษาและฟื้นฟูคือปฏิบัติการเชิงรับ ซึ่งใช้ต้นทุนมหาศาล และผลออกมาไม่คุ้มค่า เพราะยังไงก็ต้องมีคนเจ็บพิการอยู่ดี

การทำงานเชิงรับคุณคิว่าใช้ต้นทุนเท่าไหร่ หมอพยาบาลน้อย เอ้า ผลิตเพิ่ม อุปกรณ์เครืองมือน้อย เอ้าซื้อเพิ่ม คนไข้เสียหาย เอ้าชดเชย คิดว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่ สมมุติว่า เคสที่ผิดพลาดปีนึงมีหมื่นเคส ได้รับการชดเชย เคสละ 1 ล้าน ปีนึงก็ หมื่นล้าน นี่ก็เท่ากับ หนึ่งในสิบของงบ สธ แล้ว
ซึ่งยังไงความเสียหายก็เกิด แต่ถ้าจะป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายในการดูแลคนไข้ ก็ต้องอัดเม็ดเงิน เพิ่มคน เพิ่มอุปกรณ์ คิดว่าปีละหมื่นล้านก้ไม่น่าจะพอ

ในทางกลับกัน ถ้าลงทุนในการส่งเสริมม ป้องกัน คิดว่าคงใช้ทุนไม่เท่าไหร่ ทำให้ ไม่มีคนไข้ ไม่มีคนไข้ก็ไม่มีการรักษา ไม่มีการรักษาก็ไม่มีความผิดพลาด ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำยากยิ่ง แต่ก็น่าทำ ก็ควรทำให้ได้มาที่สุด ลดปริมาณคนไข้ให้มากเท่าที่ทำได้
เรื่องพวกนี้ อเมริกา แคนาดากับออสเตเลีย เค้าเป็นผู้นำในการใช้แนวคิดนี้มาใช้
โดย: จะดับทุกข์ต้องดับเหตุไม่ใช่ปลายเหตุ [18 ธ.ค. 52 12:46] ( IP A:125.26.110.32 X: )
ความคิดเห็นที่ 4
   ต้นทุนต่ำก็ทำได้แต่ต้องไม่กลัวเสียหน้า
เอาเคสหมอชุ่ยทั้งหลายออกมารวมเป็นสถิติ
เอาเคสตาย พิการซ้ำซากลากออกมาเปิดให้หมอทุกคนตระหนักว่ามีวิธิป้องกันได้แค่ไหนอย่างไร
ไม่ต้องใช้เงินมากมายแบบที่ชอบจัดกันในโรงแรมหรูๆ มีแต่คำพูดหรูๆ (แต่กีดกันคนเจ็บ พิการไม่ยอมให้ไปร่วมงาน)
เอาแค่จัดในห้องประชุมกระทรวงนั่นแหละ ข้าวน้ำหากินกันเอง เอาหมอดีดี คนเสียหายที่ดีดี มาถกกันในทางสร้างสรรค์
ไม่ใช่เอาแต่สุมหัวกันกลบร่องรอยแบบปัจจุบัน
ขยันตรวจสอบความรู้หมอทั้งหลายว่าอัพเดทวิชาการกันปีละกี่รอบ
ยังไม่ต้องลงทุนบ้าบอคอแตกทางเครื่องมือนั่นหรอก
เอาแค่นี้กล้าทำก็จะช่วยให้แผ่นดินสูงขึ้นอีกหลายเซนต์
เมื่อไหร่ใครจัดผมจะไปกราบงามๆเลย
โดย: เจ้าบ้าน [18 ธ.ค. 52 23:39] ( IP A:124.122.26.146 X: )
ความคิดเห็นที่ 5
   ถูกต้อง แค่เผยตัวเลขผู้เสียหาย มันก็ใช้เงินไม่เท่าไหร่ ถามเจ้าบ้านแล้วค่าชดเชยละ มันเท่าไหร่ หมื่นเคส เคสละล้าน(อาจไม่พอ น่าจะสิบล้านขึ้น บางเคส 50 ล้าน รวมปีนึง แสนล้าน มากกว่างบ สธ ทั้งปีอีก)

เว้นเสียแต่จะไม่เอาค่าชดเชยซักบาท เอาแต่คำขอโทษที่ทุุกๆท่านอยากได้ก็พอ

ไม่มีคนไข้ ไม่มีการรักษา ไม่มีความผิดพลาด ไม่ดีกว่าหรือ(หรือมีให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้)
ถ้าให้ขอโทษโดยไม่เอาตังค์ ให้ผมกราบงามๆ เคสละ สิบครั้งก็ได้ กราบแทนคนทั้งประเทศด้วยยังได้
โดย: มาให้ผมกราบขอโทษม่ะ แล้วหายกันนะ [19 ธ.ค. 52 13:40] ( IP A:114.128.126.99 X: )
ความคิดเห็นที่ 6
   โอ้โฮ!!! ท่านจ้าวบ้าน ไปกินดีหมี หัวใจเสือ ที่ไหนมาเนี่ย???

ดุเดือด ส่งท้ายปีเก่าเลยนะ
โดย: คนรู้ทัน ไม่รู้จริง [21 ธ.ค. 52 8:40] ( IP A:58.8.106.216 X: )
คลิก เพื่อเปลี่ยนกลับไปแสดงความคิดเห็นแบบเดิม

ชื่อไฟล์รูปห้ามมีอักขระพิเศษ เช่น (#),(<),(>),(&) เป็นต้นค่ะ
ชื่อ / e-mail :    แทรกไอคอนน่ารักๆในข้อความ
e-mail :
ส่งอีเมลทุกครั้งที่มีการตอบกระทู้       (ใส่ Email เมื่อต้องการให้ส่ง Email เมื่อมีคนมาโพสในกระทู้)


CAPTCHA code



คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน