ความคิดเห็นที่ 2 แพทย์ มข. แจงผู้ป่วยตาบอดไม่ได้เป็นต้อกระจก
อีกทั้งยังเข้ารักษาที่ รพ.อำนาจเจริญ ก่อนถูกส่งมารักษาต่อ เผยติดเชื้อไวรัสที่จอตาเมื่อมารักษาอาการดีขึ้น แต่คนไข้ไม่ได้รับยาต่อ....
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (9 ม.ค.) นายวินัย ใจขาน รองอธิการบดีฝ่ายสังคมและชุมชนสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) พร้อม ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ มข., รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล ผอ.โรงพยาบาลศรีนครินทร์ และ ศ.นพ.ยศอนันต์ ยศไพบูลย์ รอง ผอ.โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ได้แถลงชี้แจงเกี่ยวกับข้อเท็จจริง กรณีที่มีการนำเสนอข่าวว่า นางนงคราญ สวาสุด อายุ 48 ปี ชาวจังหวัดอำนาจเจริญ ผู้ป่วยตาต้อกระจกได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ แล้วเกิดการติดเชื้อในระหว่างการรักษา ทำให้ตาบอดสนิทนั้น
ผู้สื่อ ข่าวรายงานต่อว่า ความคืบหน้าล่าสุด ทางทีมแพทย์ รพ.ศรีนครินทร์ ยืนยันว่า ผู้ป่วยรายดังกล่าว ไม่ได้ป่วยเป็นต้อกระจกแต่อย่างใด แต่มีอาการจอตาซ้ายอักเสบ จากการติดเชื้อไวรัส โดยผู้ป่วยดังกล่าวได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอำนาจเจริญ ก่อนที่จะถูกส่งตัวมารักษาต่อที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ที่ภายหลังการผ่าตัดรักษาแล้วพบว่า ตาซ้ายของผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ไม่ได้แย่ลงตามที่ปรากฏในสื่อแต่อย่างใด
นพ.ภิเศก กล่าวว่า จากข้อเท็จจริงกรณีที่มีการนำเสนอข่าว เด็กหญิงยอดกตัญญู ที่มีผลการเรียนดี ในจังหวัดอำนาจเจริญ จำเป็นต้องหยุดเรียนมาเพื่อดูแลแม่ (นางนงคราญ สวาสุด) ที่ตาบอดจากการเข้ารับการรักษาต้อกระจกที่ รพ.ศรีนครินทร์ นั้น ทางแพทย์ขอยืนยันว่า กรณีนางนงคราญ สวาสุด นั้น ถูกส่งตัวไปรับการรักษาโรคตาอักเสบที่ รพ.อำนาจเจริญ ไม่ใช่ รพ.ศรีนครินทร์ โดยทางแพทย์ รพ.อำนาจเจริญ ตรวจพบว่า ตาข้างซ้ายของนางนงคราญมีอาการจอตาอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส ชื่อ ไซโตเมกาโล ไวรัส (Cytomegalo Virus) หรือ CMV
คณบดีคณะแพทย์ ศาสตร์ มข. กล่าวว่า นอกจากนี้ยังพบว่า ม่านตาอักเสบรุนแรง ควบคู่ไป ทำให้ความดันลูกตาสูงขึ้น จึงเกิดเป็นต้อหินแทรกซ้อนในที่สุด ภายหลังการตรวจรักษาเบื้องต้นทาง รพ.อำนาจเจริญ ได้ส่งตัวผู้ป่วยดังกล่าวมารักษาต่อที่ รพ.ศรีนครินทร์ เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2552 ดังนั้น การนำเสนอข่าวว่ามีผู้ป่วยตาต้อกระจกเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรี นครินทร์ แล้วเกิดการติดเชื้อในระหว่างการรักษา ทำให้ตาบอดสนิทนั้น จึงเป็นการนำเสนอข่าวที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง จึงเรียนมาให้ทราบและเข้าใจตรงกัน
ด้าน นพ.ชาญชัย กล่าวว่า ภายหลังการรับตัวผู้ป่วยมา ทีมแพทย์ รพ.ศรีนครินทร์ ตรวจพบว่า ตาข้างซ้ายของนางนงคราญ มีอาการมัว มองเห็นแค่แสงไฟที่ส่องเข้าไปเท่านั้น อีกทั้งยังมีอาการม่านตาข้างซ้ายอักเสบรุนแรง มีต้อหินแทรกซ้อน จึงทำการรักษาด้วยการผ่าตัด พร้อมฉีดยาต้านไวรัสเข้าที่ตาข้างซ้าย เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2552 ซึ่งใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 30 นาที และไม่พบอาการปวดหลังการผ่าตัดแต่อย่างใด กระทั่ง 2 สัปดาห์ต่อมา ตาข้างซ้ายของนางนงคราญ มีอาการดีขึ้น สามารถมองเห็นมือที่โบกไปมาได้ แต่หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน พบว่า ตาซ้ายมีอาการทรุดลง จึงกลับมารักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์อีกครั้ง ก็พบว่า ไวรัส ได้ลุกลามไปยังตาข้างขวาด้วย ทีมแพทย์จึงฉีดยาต้านไวรัส พร้อมทั้งจ่ายยาต้านไวรัสให้กับผู้ป่วยดังกล่าว
ผอ.โรงพยาบาลศรี นครินทร์ กล่าวต่อว่า จากนั้นประมาณวันที่ 10 ต.ค. 52 นางนงคราญ ได้กลับมารักษาอีกครั้ง เนื่องจากตาข้างซ้ายมองไม่เห็นแล้ว และตาข้างขวามัว ทีมแพทย์ตรวจพบว่า ตาทั้งสองข้างมีอาการอักเสบ และต้อหินได้ลุกลามไปยังตาข้างขวาด้วย นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า ขั้วประสาทตาฝ่อจากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส โดยในกรณีนี้ทีมแพทย์ลงความเห็นว่า ถึงแม้จะผ่าตัดอีกครั้งก็ไม่คิดว่าอาการจะดีขึ้น จึงต้องรักษาด้วยการฉีดวัคซีนต้านไวรัส และจ่ายยาให้ผู้ป่วยไปรับประทาน แต่หลังจากช่วงเดือนพฤศจิกายน ผู้ป่วยก็ไม่ได้กลับมารับยาอีกเลย จนมาพบอีกครั้งเมื่อปรากฏตามสื่อ
ส่วน นพ.ยศอนันต์ กล่าวว่า เชื้อไซโตเมกาโล ไวรัส (Cytomegalo Virus) หรือ CMV นั้น พบได้ในคนที่เป็นพาหะ โดยจะแสดงอาการต่อเมื่อคนผู้นั้นมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือ อ่อนแอก็จะกำเริบขึ้นมา ไวรัสจะกระจายไปตามอวัยวะต่างๆ ที่มีเลือดไปหล่อเลี้ยง ขณะนี้ วงการแพทย์ ก็ไม่สามารถค้นคว้าวิจัยตัวยาที่สามารถฆ่าไวรัสได้ อย่างดีสุดทำได้แค่ยาต้านไวรัสเท่านั้น การรักษาจึงสามารถทำได้เพียงการฉีดยาต้านไวรัส, การกินยาต้านไวรัส และสำหรับกรณีผู้ป่วยรายนี้คือ ต้องฉีดเข้าที่วุ้นตา เพื่อให้ตัวยาต้านไวรัสทำงานได้มีประสิทธิภาพที่สุด
https://www.thairath.co.th/content/region/57793 |