ประยุกต์ใช้ได้กับทุกวงการ รวมทั้งวงการแพทย์
   *“หมอประเวศ” แนะไม่ต้องรีบแก้ รธน. ชู 5 แนวทางพาชาติร่มเย็น หยุดความรุนแรง

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 14 พฤษภาคม 2552 16:49 น.



ศ.นพ.ประเวศ วะสี


“หมอประเวศ” แนะคณะกรรมการสมานฉันท์ไม่ต้องรีบแก้รัฐธรรมนูญ แต่ควรเริ่มจากประเด็นร่วมไม่ใช่ขัดแย้ง ดึงประชาชน ชุมชนมีส่วนร่วมหาทางออก เสนอกำหนดเป้าหมายสร้างชาติร่มเย็นเป็นสุข ชี้ 5 แนวทางทำได้จริง หยุดความรุนแรง เปิดช่องใช้สื่อรัฐแจงด้วยเหตุผล สร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง เกิดกลุ่มประชาสังคม เจริญสติ เชื่อช่วยไทยพ้นวิกฤต

วันนี้ (14 พ.ค.) ที่อิมแพค เมืองทองธานี ในงานมหกรรมระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กองทุน อบต./เทศบาล) ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวภายหลังการบรรยายพิเศษ เรื่อง “เสริมศักยภาพท้องถิ่นสร้างสุขภาพชุมชนให้ยั่งยืน” ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่สิ่งที่คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องทำเป็นอันดับแรก เพราะประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมา 18 ฉบับ ก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา ทั้งนี้ การทำงานของคณะกรรมการฯ ไม่ควรเริ่มจากประเด็นที่มีความขัดแย้ง แต่ควรกำหนดเป้าหมายที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกันที่สูงกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ การสร้างความร่มเย็นเป็นสุขในบ้านเมือง เชื่อว่าเป็นเป้าหมายที่ทุกฝ่าย ทุกคน ทุกพรรคมีความประสงค์ร่วมกัน

ศ.นพ.ประเวศ กล่าวต่อว่า จากนั้นคนไทยทุกคนต้องร่วมคิดและตีโจทย์ว่าจะมีแนวทางสร้างความร่มเย็นเป็นสุขในประเทศได้อย่างไร ส่วนตัวเห็นว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าควรดำเนินการใน 5 ข้อ คือ 1.การป้องกันความรุนแรง รัฐต้องป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงโดยยึดตามหลักกฎหมาย อย่าให้มีการสูญเสียชีวิต ทุกฝ่ายต้องช่วยกันป้องกันความรุนแรง อย่าพยายามสร้างความรุนแรง เพราะสังคมไม่ต้องการความรุนแรง และต้องให้โอกาสและเวลาประเทศไทย เนื่องจากปัญหาสั่งสมมามาก

2.ยุทธศาสตร์การสื่อสาร โดยรัฐต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่ขัดแย้งใช้สื่อของรัฐสื่อสิ่งที่ต้องการสื่อถึงประชาชนออกไปทั้งประเทศ แม้ความเห็นจะไม่เหมือนกันไม่เป็นไร ขอให้แสดงความคิดเห็นโดยใช้ความรู้และเหตุผล ไม่ใช่ยุยงให้เกิดความปั่นป่วน จากนั้นนักวิชาการต่างๆเข้ามาให้ความคิดเห็นว่าสิ่งที่แต่ละฝ่ายเสนอเป็นอย่างไรแล้วให้คนในสังคมทั้งหมดเป็นผู้ตัดสิน สิ่งนี้จะทำให้สังคมไทยพัฒนาสู่สังคมความรู้และเหตุผล ไม่ใช่ใช้กำลัง ความรุนแรง

“ความขัดแย้งของประชาชนเกิดจากนักการเมืองที่เป็นผู้ยุยง หาพรรคหาพวกจนทำให้ประชาชนต้องแตกแยกกัน โดยไม่สนใจว่าประชาชนที่เข้าไปเป็นพรรคพวกจะเป็นอย่างไร ยกตัวอย่าง เรื่องสามก๊กที่โจโฉพาประชาชน 8 แสนกว่าคนไปสู้รบทางเรือจนเสียชีวิตเกือบหมด เหลือรอดเพียง 30 คน ซึ่งโจโฉก็เหมือนนักการเมืองที่พาประชาชนไปสู้รบกันจนตาย ทั้งที่ประชาชนอาจไม่ได้ต้องการสู้รบกันเลย เพราะฉะนั้นประชาชนต้องรู้เท่าทัน”ศ.นพ.ประเวศกล่าว

3.ต้องกระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่น ต้องให้ชุมชนได้ร่วมคิดร่วมแก้ปัญหาชุมชนเอง โดยชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศและนายกรัฐมนตรีจะต้องร่วมกันประกาศทศวรรษของชุมชนท้องถิ่น ไม่ใช่ให้นายกรัฐมนตรีประกาศคนเดียว หากสามารถทำให้ชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศเข้มแข็งได้ ภายใน 10 ปี ประเทศไทยจะรอดพ้นวิกฤติ และอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน เพราะหัวใจของการแก้วิกฤติประเทศ คือ ความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ที่มีเอกลักษณ์ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตนเอง

ศ.นพ.ประเวศ กล่าวด้วยว่า ปัญหาใหญ่ของประเทศไทย คือ อำนาจรัฐที่รวมศูนย์ ทุกกระทรวงแผ่อำนาจไปทั่วประเทศ ทำให้เกิดปัญหามากมาย แม้ว่าประเทศไทยพัฒนาประชาธิปไตยมากว่า 70 ปี แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยระดับชาติ ไม่ได้มองถึงประชาธิปไตยระดับท้องถิ่น ขณะที่ชุมชนแต่ละแห่งมีความหลากหลายที่ไม่เหมือนกัน จึงต้องการพัฒนาชุมชนเขาตามวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของท้องถิ่น เมื่ออำนาจจากส่วนกลางลงไป ส่งผลให้ชุมชนหมดศักดิ์ศรีและไร้เกียรติ จึงแก้ปัญหาทั้งเรื่องความยากจนและความขัดแย้งไม่ได้

“อำนาจแบบรวมศูนย์ดึงให้นักการเมืองอยากเข้ามามีอำนาจ จึงพร้อมที่จะใช้เงินทุ่มในการเข้าสู่อำนาจ นักการเมืองจึงถือเป็นปัญหาประเทศ เป็นผู้ที่เข้ามาใช้อำนาจ อย่างทุกวันนี้นักการเมืองก็ไม่ได้ใช้ความรู้พัฒนาบ้านเมืองอย่างแท้จริงเพราะฉะนั้นการเมืองต้องมีความถูกต้อง เมื่อไม่มีความถูกต้องจึงกระเทือนไปทั้งประเทศ ซึ่งนักการเมืองรุ่นแรกๆ เป็นผู้มีความซื่อสัตย์ สุจริต แต่ในช่วงหลังมีเงินเข้ามาในระบบการเมือง ควบคู่กับการที่นายทุนขนาดใหญ่ร่วมทุนกันแล้วเข้าสู่การเมือง จึงทำให้การเมืองล้ม นักการเมืองทั้งหมดต้องร่วมกันทำให้การเมืองมีความเป็นธรรมและถูกต้อง แต่หากมีการกระจายอำนาจไปให้ถึงชุมชน สังคมชุมชนก็จะเกิดความเข้มแข็ง ส.ส.ก็จะไม่อยากเข้ามา เพราะโกงกินยาก” ศ.นพ.ประเวศกล่าว

ศ.นพ.ประเวศ กล่าวต่อว่า นักการเมืองจะต้องร่วมกันสร้างวีรกรรมว่าจะสร้างระบบการเมืองไทยอย่างไรให้ถูกต้องแล้วการเมืองไทยจะดีขึ้น ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าต้องขจัดอิทธิพลของเงินที่เข้าสู่วงการเมือง ถ้าขจัดไม่ได้การเมืองก็ไม่ดีขึ้น โดยเริ่มจากการเลิกบังคับให้ผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง ต้องเปิดโอกาสให้สามารถลงสมัครได้ในนามของผู้สมัครอิสระ เพราะการกำหนดให้ต้องสังกัดพรรคการเมือง ทำให้ต้องเกิดการระดมทุนเข้าสู่พรรคการเมือง เงินที่จะเข้าสู่ระบบการเมืองก็จะไม่ถูกขจัดออกไป

“ส่วนการตั้งพรรคการเมืองตั้งได้แต่จะต้องไม่บังคับผู้ลงสมัครส.ส.ให้ต้องสังกัดพรรคการเมือง ต้องปล่อยให้ ส.ส.เป็นตัวของตัวเอง มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีความรู้ เมื่อมีการอภิปรายในรัฐสภา สามารถโหวตลงคะแนนได้ตามความคิดเห็นของตนเอง ไม่ใช่แห่โหวตกันเป็นฝูง คุณภาพก็ไม่มี ส่วนรัฐบาลนี้จะอยู่นานหรือไม่ ถ้าทำไรดีๆ ตั้งตัวดีและชอบ ประชาชนก็จะสนับสนุนและอยู่นาน โดยเฉพาะผู้นำรัฐบาล ถ้านายกรัฐมนตรีไม่โกงกินก็จะอยู่นาน แต่หากนายกรัฐมนตรีโกงกินก็จะอยู่ไม่นาน”ศ.นพ.ประเวศกล่าว

ศ.นพ.ประเวศ กล่าวต่อว่า 4.ส่งเสริมให้คนรวมตัวเป็นประชาสังคมร่วมคิดร่วมทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ หากทำได้ประเทศไทยจะมีพลัง เศรษฐกิจ การเมืองและศีลธรรมก็จะดี และ5.รัฐบาลควรส่งเสริมให้มีการเจริญสติทั้งประเทศ โดยทำการสำรวจและจัดทำเป็นแผนที่ว่ามีครูในพื้นที่ใดบ้างที่สอนเกี่ยวกับการเจริญสติ นอกจากนี้ต้องกำหนดให้วัด โรงเรียน และมหาวิทยาลัยต้องมีการสอนการเจริญสติในวิชาจิตปัญญาศึกษา เพราะการเจริญสติจะช่วยให้พบกับความสุขที่ไม่เคยพบมาก่อนแล้วทุกอย่าง ทั้งสติปัญญา สุขภาพและสัมพันธภาพระหว่างคนในสังคมจะดีขึ้น ซึ่งทั้ง 5 ข้อสามารถกำหนดเป็นนโยบายเพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาได้จริง
โดย: อยากได้เกมแก้โกงทลายซ่องโจร [14 พ.ค. 52 17:56] ( IP A:58.8.18.57 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
ความคิดเห็นที่ 1
   แนวคิดอ.ประเวศดีมาก ๆ ถ้าทำได้
แม้แต่เรื่องหมอกับคนไข้ แต่ทำยาก
หรือทำแทบไม่ได้ กล้าฝัน แต่ไม่รู้จะเป็นนจริงเมื่อไหร่
กว่าจะทำได้จริง มันโกงจนเหลือแต่กกน.แล้ว
โดย: แด่คนช่างฝัน [14 พ.ค. 52 22:48] ( IP A:58.9.221.72 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
   เป็นแนวทางแบบ "ริบบิ้นสีขาว หาความสมานฉันท์"

ผมเปรียบเทียบอย่างนี้

คล้ายๆกับการรบสมัยโบราณ ที่นายทหารใหญ่เป็นระดับผู้นำกองใหญ่จะนำกำลังเข้าตีค่ายศัตรู แต่เลียบๆเคียง "ขี่ม้าเลียบค่าย" ไม่กล้าเข้าตีซะที เพราะกลัว "ฝุ่นตลบ เกิดความวุ่นวายสับสน" ทั้งที่ตัวเองก็เป็นทหารและมีหน้าที่ต้องป้องกันดินแดนของพวกพ้อง

อย่างนี้พอเปรียบได้จะใกล้เคียงไหมน๊อ????
โดย: คนรู้ทัน ไม่รู้จริง [18 พ.ค. 52 7:52] ( IP A:58.8.106.215 X: )

คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน