บทความเรื่องการเยียวยา “เหตุสุดวิสัย” ทางการแพทย์ โดย ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง (ที่ไปร่วมประชุมที่ ส.นักข่
   การเยียวยา “เหตุสุดวิสัย” ทางการแพทย์

16 สิงหาคม 2548 16:44 น.
ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง

กรณีที่ศาลตัดสินให้กระทรวงสาธารณสุขชดใช้ค่าเสียหายให้กับคุณดอกรัก เพชรประเสริฐ ซึ่งตาบอดจากอาการที่เรียกว่า “สตีเว่น จอห์นสัน ซินโดรม” กลายมาเป็นเรื่องใหญ่ในวงการแพทย์ โดยแพทย์จำนวนหนึ่งเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขยื่นอุทธรณ์เรื่องนี้ต่อศาล และมีข่าวปรากฏทางหน้าหนังสือพิมพ์ว่านายกแพทยสภาบอกว่าถ้า กระทรวงสาธารณสุขไม่ยื่นอุทธรณ์เรื่องนี้ต่อศาลแล้ว อาจมีแพทย์ถึงร้อยละ 80 ที่ลาออกจากราชการ

สาเหตุหนึ่งที่แพทย์เหล่านี้ออกมาเรียกร้องก็เพราะเชื่อว่าการที่คุณดอกรักตาบอดไม่ใช่ความผิดของแพทย์ แต่เป็นเหตุสุดวิสัยที่สามารถเกิดได้ ผมเองยังไม่ทราบรายละเอียดลึกๆ ของกรณีนี้ และยังไม่มีโอกาสอ่านคำพิพากษา อีกทั้งไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้มากพอที่จะตัดสินได้ว่าแพทย์ที่วินิจฉัยและให้การรักษาเมื่อทราบว่าเป็นโรคนี้แล้วนั้น ได้ให้การรักษาครบตามมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้ ในวงการแพทย์เองก็ยังถกเถียงกันอยู่เหมือนกัน

แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า มีกรณีการเจ็บป่วยจำนวนมากที่ถึงแม้ว่าแพทย์จะได้ให้การรักษาอย่างเต็มที่และถูกหลักวิชาการแล้วก็ยังสามารถเกิด “เหตุสุดวิสัย” ขึ้นได้

จริงๆ แล้ว อาการที่เรียกว่า “สตีเว่น จอห์นสัน ซินโดรม” (ซึ่งทำให้คุณดอกรักตาบอด) เป็นกรณีที่ผมมักจะยกมาเป็นตัวอย่างของ “เหตุสุดวิสัย” ในการอภิปรายในที่ต่างๆ อยู่บ่อยๆ เพราะอาการนี้มักเกิดจากการแพ้ยา และเป็นการแพ้ยาแบบที่คนไทยหลายจะเรียกว่าเป็นความ “โชคร้าย” เพราะโอกาสที่จะเกิดการแพ้ยาจนเป็นโรคนี้นั้นมีน้อยมาก เทียบได้กับโอกาสถูกล๊อตเตอรี่รางวัลใหญ่ๆ ซักรางวัล

บางท่านอาจจะถามว่า ทำไมหมอไม่เลิกใช้ยาตัวที่รู้ว่าเคยทำให้คนแพ้หรือเสียชีวิตมาก่อน ที่จริงแล้วประเด็นนี้เป็นสิ่งที่วงการแพทย์ควรให้ความสนใจมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาก็มีการศึกษาอยู่บ้างเหมือนกันว่ายาตัวไหนมีอัตราเสี่ยงมากน้อยเพียงใด และถ้ามียาตัวอื่นที่มีคุณภาพใกล้เคียงกัน แต่มีความเสี่ยงน้อยกว่า และราคาไม่แพงหูฉี่แบบที่จะทำให้ผู้ป่วยหรือประเทศชาติล่มจม ก็ควรจะเลิกใช้กันไป และในความเป็นจริงหมอจำนวนไม่น้อยก็หลีกเลี่ยงการจ่ายยาที่เคยได้ยินว่าทำให้เกิดการแพ้แบบนี้อยู่แล้ว

แต่การที่จะเลิกใช้ยาที่เคยทำให้เกิดการแพ้แบบนี้ทั้งหมดเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เช่นกัน เพราะเมื่อผมลองไปค้นดูจริงๆ พบว่ามียาจำนวนมากกว่าสิบกลุ่ม และเป็นร้อยๆ ตัวที่มีประวัติว่าทำให้เกิดการแพ้แบบนี้ และยาที่ยังไม่ค่อยมีประวัติเองก็ใช่ว่าจะรับประกันได้ว่าจะไม่ทำให้เกิดการแพ้นี้ เพราะยาเหล่านั้นมักเป็นยาใหม่ ซึ่งนอกจากจะมีราคาแพงแล้ว ในอดีตเราก็พบอยู่เรื่อยๆ ว่ายาใหม่ที่บริษัทยาต่างก็คุยว่าดีกว่ายาเก่านั้น เมื่อมีการใช้กันมากเข้า ก็พบปัญหาตามมาเช่นกัน หลายตัวมีความเสี่ยงต่อผู้ป่วยมากกว่าการแพ้ยาจนต้องถูกห้ามขายไปแล้ว

แต่เมื่อเกิดเหตุสุดวิสัยประเภทนี้ขึ้นแล้ว ผู้ที่ได้รับความเสียหายคือผู้ป่วย และในหลายๆ กรณี ความเสียหายที่เกิดขึ้นมักจะรุนแรง เช่น ตาบอด (หรือแพ้ยาแล้วช็อคจนเสียชีวิต) คนไข้เหล่านี้ก็รู้สึกเหมือนกับว่าไม่ใช่ความผิดของเขา จะผิดบ้างก็คือการเจ็บป่วย ที่ทำให้ต้องมารักษาแล้วเกิดปัญหาทำนองนี้ขึ้น ในขณะที่คนไข้อีกเป็นพันเป็นหมื่นที่ป่วยด้วยโรคเดียวกันก็ไม่ต้องประสบกับเคราะห์กรรมเช่นนี้

ผมเชื่อว่าเมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้น แพทย์ทุกคนต่างก็เห็นใจคนไข้ และให้ความช่วยเหลือตามกำลังของตน แต่ในขณะเดียวกันแพทย์จำนวนไม่น้อยก็คิดว่าต้องหาทางปกป้องตัวเองเอาไว้ก่อน เพราะห่วงว่าคนไข้และญาติจะคิดว่าความผิดของตนและอาจจะนำไปสู่การฟ้องร้อง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะคนไข้และญาติที่เจอกับเหตุการณ์เหล่านี้ก็มักจะมีข้อกังขาอยู่ในใจว่าเป็นเหตุที่เกิดจากความผิดพลาดของแพทย์หรือไม่

ถ้าเรายอมรับกันว่า ไม่ว่าแพทย์จะใช้ความระมัดระวังสักเพียงใด ก็จะไม่สามารถทำให้ปัญหานี้หมดไปได้ และในหลายกรณีความเสียหายนี้มีความรุนแรงเกินกว่าที่ผู้เสียหายจะสามารถแบกรับได้ วิธีแก้ปัญหาที่น่าจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายก็คือการตั้งกองทุนเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากเหตุสุดวิสัยทางการรักษาพยาบาล เพราะถ้ามีกองทุนนี้แล้ว เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นมา แพทย์ก็จะได้ใช้สติปัญญาช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างเต็มที่ รวมทั้งช่วยชี้แนะช่องทางให้ผู้ป่วยไปรับความช่วยเหลือเยียวยาต่อไป แทนที่จะต้องมาคิดหาวิธีปกป้องตัวเองเอาไว้ก่อนก่อน (จนมีกรณีที่มาอ้างกันข้างๆ คูๆ ว่าไม่สามารถให้ผู้ป่วยดูเวชระเบียนเพราะเป็นทรัพย์สินของทางราชการหรือโรงพยาบาล ซึ่งตรงนี้ก็น่าจะหมดปัญหาไปนานแล้วเพราะแพทยสภาและสภาวิชาชีพทุกแห่งรวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขต่างก็ประกาศรับรองสิทธิผู้ป่วย รวมถึงสิทธิการเข้าถึงเวชระเบียนและสิ่งตรวจต่างๆ ของคนไข้ตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อนแล้ว)

ในเรื่องนี้ ผมต้องขอชมเชยกลุ่มแพทย์และองค์กรภาคประชาชนที่ผลักดันให้เกิดโครงการ 30 บาท ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มานานแล้ว และผลักดันจนเกิด มาตรา 41 ใน พรบ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งกำหนดให้มีการจัดสรรเงินจากกองทุน 30 บาทมาไว้เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นสำหรับความเสียหายที่เกิดจากการรักษาพยาบาล ทั้งในกรณีที่มีและไม่มีผู้ผิด

เท่าที่ผมเคยติดตามเรื่องนี้ กลุ่มแพทย์ที่ริเริ่มเรื่องนี้ต้องการให้มีกองทุนสำหรับเยียวยาความเสียหายโดยไม่ต้องสนใจว่าใครผิด (no-fault compensation) แต่เมื่อจะร่างขึ้นมาเป็นกฎหมาย ก็มีผู้แย้งว่าจะต้องเขียนให้ครอบคลุมกรณีที่มีผู้กระทำผิดด้วย อีกทั้งกองทุนที่เป็น “เงินหลวง” จะต้อง “สงวนสิทธิ์” ในการไล่เบี้ยจากผู้กระทำผิดด้วย ซึ่งเป็นที่มาของมาตรา 42 ที่ทำให้กระบวนการร่าง พรบ. นี้กลายมาเป็นสนามรบของวิชาชีพแพทย์ แพทย์บางกลุ่ม (ซึ่งหลายท่านได้ใช้ประเด็นนี้หาเสียงและได้รับการเลือกเข้าไปในแพทยสภา) ก็ได้พยายามจำกัดบทบาทของมาตรา 41 ตั้งแต่การผลักดันให้กำหนดเพดานวงเงินชดเชยเอาไว้ไม่เกิน 20,000-80,000 บาท และกำหนดระเบียบที่จะไม่ให้มีการจ่ายในกรณีที่เกิดจาก “เหตุแทรกซ้อนที่เป็นผลจากการวินิจฉัยตามปกติหรือรักษาโรคตามมาตรฐาน” ซึ่งถ้าตีความตามระเบียบนี้ตรงๆ แล้ว ก็จะไม่สามารถจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีแพ้ยาได้ (แต่ที่ผ่านมา ผมพบว่าในบางจังหวัดผู้ที่เกี่ยวข้องก็ใช้เหตุผลเชิงมนุษยธรรมตีความเลี่ยงข้อห้ามประการเหล่านี้)

ในความเห็นของผมนั้น ในระหว่างที่ยังไม่มีกองทุนเยียวยาระดับชาตินั้น สิ่งที่โครงการ 30 บาท ควรทำต่อไปคือแก้ไขระเบียบข้างต้นเสีย เพื่อให้ครอบคลุมกรณีเหตุสุดวิสัย และในขั้นต่อไปควรยกเลิกหรือปรับเพิ่มเพดานเงินชดเชยเพื่อให้สามารถชดเชยในระดับที่บรรเทาความเสียหายได้อย่างสมเหตุสมผล และในขณะเดียวกันก็แก้ พรบ. กำหนดให้ผู้ที่รับเงินชดเชยไปแล้ว ไม่สามารถไปฟ้องร้องทางแพ่งอีก ซึ่งก็จะช่วยแก้ความหนักใจของแพทย์ที่กลัวว่าผู้ป่วยจะนำการตัดสินให้เงินชดเชยมาเป็นมูลเหตุผลในการฟ้องร้องต่อไป (ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนั้นปัญหาการฟ้องร้องแพทย์ในสถานพยาบาลของรัฐยังไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายที่กำหนดให้ผู้เสียหายฟ้องได้แต่เฉพาะหน่วยงานเท่านั้น เช่น กรณีคุณดอกรักที่ฟ้องกระทรวงสาธารณสุข)

สำหรับในขั้นต่อไปนั้น ควรมีการตั้งกองทุนเยียวยาระดับชาติขึ้นมาแทน โดยมีที่มาของเงินจากกองทุนสุขภาพทุกกองทุน และเก็บเบี้ยประกันเพิ่มเติมจากสถานพยาบาลนอกระบบกองทุนเหล่านี้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ ซึ่งวิธีนี้อาจทำให้ค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลเหล่านี้แพงขึ้นบ้าง แต่ก็คงจะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการเยียวยาความเสียหายจากเหตุสุดวิสัย พร้อมกับช่วยเปลี่ยนความหวาดระแวงและการเผชิญหน้าของทั้งแพทย์กับผู้ป่วยและญาติที่กำลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ให้กลายเป็นความสมานฉันท์ขึ้นมาแทน

แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ ไม่ว่ากองทุนดังกล่าวจะอยู่ใน พรบ.หลักประกันสุขภาพ หรือ พรบ. อื่นใด กองทุนนี้จะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ทั้งผู้บริหารจากกองทุน ผู้ป่วย/ผู้บริโภค ผู้ให้บริการทั้งในภาครัฐและเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิที่สังคมยอมรับ จึงจะทำให้การดำเนินการของกองทุนนี้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และก่อให้เกิดความสมานฉันท์ขึ้นมาได้จริง
โดย: จากเว็บกรุงเทพธุรกิจ [23 ส.ค. 48 19:03] ( IP A:61.19.59.213 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
ความคิดเห็นที่ 1
   ยาทุกชนิดมีพิษทั้งสิ้น ตามที่ตำราเภสัชวิทยาเขาบอกไว้
การใช้ยาด้วย ความระมัดระวัง โดยผู้ชำนาญการเท่า นั้น จึงจะรักษาโรคได้โดยไม่เิกิดพิษภัย

.
โดย: เจ้าบ้าน [23 ส.ค. 48 20:46] ( IP A:61.91.163.241 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
   ผมแน่ใจว่า
.
\\"ความระมัดระวัง โดยผู้ชำนาญการเท่า นั้น\\"
.
เป็นสิ่งที่ดีมาก ถูกต้อง
.
แต่ยากความระมัดระวังเราอาจจะเพิ่มได้ในทันทีทันใด แต่ผู้ชำนาญเพิ่มยาก และต้องใช้เวลาเป็นอย่างยิ่ง ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจะต้องมีแน่นอน
.
แต่มีโอกาสเป็นไปได้อีก ในกรณีที่มีการตีความว่า \\"ผู้ชำนาญการคือใคร\\"
.
หมอเฉพาะทางด้านนั้นๆ หรือว่าหมอเฉพาะทางของหมอเฉพาะทาง(subboard) อีกที หรือ เภสัช
.
ยิ่งพูดยิ่งยาก
โดย: . [23 ส.ค. 48 21:26] ( IP A:61.19.25.2 X: )
ความคิดเห็นที่ 3
   เห็นด้วยครับ ควรมีกองทุนไว้คอยทดแทนกับผู้ได้รับผลกระทบจากการรักษาการเจ็บป่วยทางการแพทย์ เพื่อที่จะได้เป็นหน่วยงานคอยคัดกรองในหลายด้าน เช่น ผู้ป่วยเจ็บป่วยด้วยโรครุนแรง เข้ามาถึง รพ.ปุปปับก็เสียชีวิต ผู้ป่วยเจ็บป่วยด้วยอาการทุกขเวทนา เช่น sjs อย่างคุณดอกรัก ถ้าเป็นแล้วต้องตาบอด ผู้ป่วยไขสันหลังอักเสบ ป่วยแล้วมักลงท้ายด้วยอัมพาต ผู้ป่วยเอดส์ มักตาบอดด้วย cmv retinitis
หรือผู้ป่วยแพ้ยา โดยเหตุสุดวิสัย เช่นผู้ป่วยก็ไม่รู้มาก่อน หมอก็ไม่รู้มาก่อนว่าแพ้ยา ปุ๊ปปั๊บ เสียชีวิตเลย มีออกบ่อยไป
หรือ ผู้ป่วย hemophilia ได้ ffp ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีการตรวจคัดกรอง เอดส์จากการบริจาคเลือด

เยอะไปหมด
เรียกว่า ใครคิดว่าตัวเองควรได้รับเงินชดเชยก็มาร้องขอได้ที่กองทุนนี้
หมอ คนไข้ ก็ไม่ต้องคอยมาระแวงกัน ผลประโยชน์โดยรวมน่าจะตกอยู่กับประเทศชาติมากกว่า
โดย: ลุงแก่ [23 ส.ค. 48 21:33] ( IP A:203.188.38.78 X: )
ความคิดเห็นที่ 4
   ครับ เห็นด้วยมากที่สุดกับลุงหมอ

จะมีน้ำหนักมากถ้าแพทย์และผู้ป่วยช่วยกันผลักดันให้สำเร็จ บนพื้นฐานของความโปร่งใสด้วย

แน่นอนพวกเหลือบปรสิตสังคมก็จ้องหาประโยชน์อยู่ แต่ในที่สุดแล้วผมว่าพลังบริสุทธิ์จะทำให้มันแพ้ภัยตัวเอง กรรมสมัยนี้มันเร็วยิ่งกว่าแสงอีก

ถ้าคนดีไม่กล้าออกหน้า คนชั่วมันจะออกหน้าแทนครับ
โดย: LEX ( เจ้าบ้าน) (เจ้าบ้าน ) [23 ส.ค. 48 22:01] ( IP A:61.91.161.23 X: )
ความคิดเห็นที่ 5
   บางอย่างเหมือนเส้นผมบังภูเขา เราปล่อยให้ผู้ได้รับความเสียหายทนเจ็บปวดจากการไม่ได้รับการเยียวยามานาน ถ้าผู้ป่วยได้รับความช่วยเหลือทั้งทางร่างกาย สภาพจิตใจ และโอกาสทางเศรษฐกิจสังคมโดยมีกองทุนนี้ตั้งแต่ต้น คิดว่าคงไม่เกิดปัญหากับผู้ป่วยและแพทย์เองอย่างทุกวันนี้
โดย: หมอเราก็ขอสนับสนุน [23 ส.ค. 48 23:04] ( IP A:203.170.228.172 X: )
ความคิดเห็นที่ 6
   เมื่อก่อนทำงานหนักเกินหน้าที่ ทั้งที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านแต่ก็มีประสบการณ์พอ ผ่าตัดไส้ติ่งมามากมาย ผ่าท้องทำคลอดกรณีฉุกเฉิน เคยผ่าผู้ป่วยกระเพาะรั่ว เคยผ่าตัดล้างข้อคนไข้ที่มีแผลแตกเข้าข้อ เคยเจาะช่องปอดคนไข้เพื่อระบายเลือดลมออกจากปอดรอดมามากมาย เคยช่วยคนคลอดโดยใช้เครื่องดูดสูญญากาศ เคยล้วงรกคนไข้ตกเลือดมาจากสถานีอนามัยไกลๆ ทำหมันคนไข้หลังคลอด ทำหมันชาย ทั้งที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน คนไข้ยากจนมากมายไม่มีโอกาสเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญ แต่ก็รอดมามากมาย
แต่เดี๋ยวนี้เลิกแล้วครับ พร้อมจะส่งต่อผู้เชี่ยวชาญรพ.ศูนย์อย่างเดียว สงสารคนไข้เหมือนกันแต่สงสารครอบครัวตัวเองและพ่อแม่ที่เริ่มแก่แล้วถ้าเราโดนฟ้องทั้งๆที่ช่วยเหลือคนไข้รอดตายมามากมาย
โดย: หมอชนบทคนหนึ่งจริงๆ [23 ส.ค. 48 23:22] ( IP A:203.154.138.2 X: )
ความคิดเห็นที่ 7
   ส่งต่อก็ดีแล้วครับ เดี๋ยวนี้การคมนาคมสะดวก เขาจะได้รับบริการที่ดีกว่า
โดย: เห็นด้วยส่งต่อ อย่ามั่วต่อเลย [24 ส.ค. 48 1:02] ( IP A:61.90.95.161 X: )
ความคิดเห็นที่ 8
   ส่งต่อสบายดีครับไม่ต้องไปเสี่ยง
ก็ลองไปดูที่รพ.จังหวัดและรพ.ศูนย์ดู
แล้วจะรู้ว่าคนไข้มันแน่นเป็นปลากระป๋องยังไง
โดย: แน่ใจหรือว่าจะได้บริการที่ดีกว่า [24 ส.ค. 48 1:58] ( IP A:203.151.140.116 X: )
ความคิดเห็นที่ 9
   คนไข้แน่นเป็นปลากระป๋องก็แสดงว่าการจัดการไม่ดี คนทำงานขี้เกียจก็ได้ หรือบุคคลากรไม่พอ(อ้างได้ทุกครั้ง) ดูเอกชนเขาสิ แน่นเท่าไหร่ก็ไม่มีปัญหา
ประสิทธิภาพการทำงานราชการห่วยแค่ไหนก็รู้ รอยาเป็นชั่วโมง ทำบัตรก็เป็นชั่วโมง เจาะเลือดก็เป็นชั่วโมง แค่นี้ก็แก้ไม่ได้ แก้ตรงนี้ก่อนเถอะ เรื่องหมอเอาไว้ปลายเหตุ
โดย: jjxyz [24 ส.ค. 48 11:04] ( IP A:61.90.95.140 X: )
ความคิดเห็นที่ 10
   ใช่ๆส่งต่อสบายดี

คนไข้เสียค่าเหมารถหลายพันบาท
เวลาไปเฝ้าก็ต้องนอนนอกตึกเพราะให้เฝ้าทีละคน บางที่ก็ไม่ให้เฝ้า
เสียตังค์ค่าอาหารเพราะขี่มอไซค์ไปกินที่บ้านไม่ได้

หมอรพ ชุมชนสบายดี
ไม่ต้องกลัวโดนฟ้อง
บางอย่างเคยทำเอง เดี๋ยวนี้ไม่ทำแล้ว
กลัวโดนข้อหา ทำทั้งๆที่ไม่มีความชำนาญ
โดย: เราก็เบื่อเหมือนกัน [24 ส.ค. 48 11:23] ( IP A:203.151.140.116 X: )
ความคิดเห็นที่ 11
   เรียนคุณ คห.10 พูดนะมันง่าย คนทำคนคิดนะสิมันยาก และกระทบกระเทือนไปทุกหัวระแหง เอาง่ายๆดีกว่านะครับ เช้าหนึ่ง 8:30-12 น. 3 ชั่วโมงครึ่ง หรือ 210 นาที แพทย์มีภาระที่จะต้องตรวจผู้ป่วยราว 100 คน จะให้เหลือ 2 คนอย่างในต่างประเทศเขา จะต้องเพิ่มหมอขึ้นมา 50 เท่า หรือลดผู้ป่วยลง 50 เท่า หรือพยายามทำฝ่ายละ 25 เท่า ที่พยายามทำกันมาโดยตลอดคือเพิ่มฝ่ายแพทย์ แต่ไม่มีทางพอหรอกครับ เพราะต้องใช้งบประมาณมาก ที่ผลิตออกมาก็ชิงกันลาออกเพราะทนงานหนักไม่ไหว ก็ได้พยายามเพิ่มกันอย่างสุดความสามารถ การตั้ง รร.แพทย์ใช้งบนับพันล้านบาท ที่ง่ายกว่านั้นและได้ผลดีคือ ลดการป่วยของประชากร พูดง่ายแต่ทำยากครับ โรคส่วนใหญ่เป็นโรคง่ายๆ ป้องกันง่ายๆ แต่ทำยากครับ เช่นอุบัติเหตุ เมาแล้วขับ มอไซด์ล้มหัวฟาดจากไม่ใส่หมวกกันน๊อค เบาหวาน ความดัน จากขาดการออกกำลังกาย ถุงลมโป่งพอง หลอดลมอักเสบ จากสูบบุหรี่
ผมขอเสนอดังนี้ ถ้าทำได้โรงพยาบาลโล่ง หมอ พยาบาล ตกงานแน่ ลองดูนะครับ
ขึ้นภาษีบุหรี่ บุหรี่ถูกสุดซองละ 500 บาท
เบียร์ช้างจาก 3 ขวด 100 เป็น 3 ขวด 1000
ของมึนเมา ราคาเพิ่มขึ้นกว่าเดิม อย่างน้อย 10 เท่า ร้านเหล้า มีได้จำกัด และมีค่าใบอนุญาตแสนแพง เมืองนอก 2 แสนเหรียญ บ้านเราเอาสัก 4 ล้านบาทก็พอ จะให้มีมากน้อยคงได้ไม่เกินเมืองละ แห่ง 2 แห่ง ใครเมาแล้วขับ จำคุกจริง 6 เดือน ปรับ 1 แสนบาท ไม่มีรอลงอาญา
ใครไม่ออกกำลังกาย เสียภาษีแพงกว่าปกติ 10 เท่า ทำงานบริการสังคม เดือนละ 24 ชั่วโมง เจ็บป่วย จ่ายแพงกว่าปกติ 10 เท่า ประกันห้ามจ่ายแทน และเจ้าหน้าที่มีสิทธิเรียกตัวมาวิ่งจ๊อกกิ้ง หรือออกกำลังกายโดยวิธีอื่น สัปดาห์ละ 4 วัน วันละ ครึ่งชั่วโมง ใครไม่ทำตาม3 เดือนติดต่อกัน อาจจำคุกได้
ใครไม่สวมหมวกกันน๊อค ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ห้ามขับ 1 ปี นั่งได้แต่แทกซี่ รถเมล์ หรือรถโดยสาร และเสียค่าปรับ เดือนละ 1000 บาท เป็นเวลา 1 ปี
บ้านใครเพาะลูกน้ำยุงลาย ต้องเสียค่าปรับแพงมาก เหมือนในสิงคโปร์

จะเห็นว่าโจทย์มันไม่ได้ง่ายๆ แบบ 1+1 =?
ปัจจัยแวดล้อมตัวแปรและผลกระทบมันเยอะมาก เรื่องมันไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะ ใน รพ.เท่านั้น เอกชนเขาแก้ปัญหาได้เพราะเขาใข้เงินแก้ปั้ญหา แต่ รพ.รัฐจะเอางบที่ใหน หรือต้องขูดรีดภาษีจากพวกคุณนั่นแหละ แต่รัฐบาลนี้ก็ได้เริ่มแล้ว โดยขั้นต้น รณรงค์ให้ออกกำลังกายก่อน ถ้าไม่ได้ผล ออก กม.แน่
โดย: ลุงแก่ [24 ส.ค. 48 19:24] ( IP A:203.188.42.55 X: )
ความคิดเห็นที่ 12
   จากความเห็นของคุณลุงแก่น่าสนใจนะ แต่อาจจะปฏิบัติยากสักหน่อย คงไม่ใครอยากยอมเป็นแน่เพราะทุกคนก็นึกถึงแต่ตัวเอง อย่างสินค้าบาปกลุ่มนายทุนคงไม่ยอมเสียลูกค้า(งานนี้หมดตัวแน่) แต่สำหรับคนเมาแล้วขับ ไม่ใส่หมวกกันน๊อค ไม่คาดเข็มขัด ( ให้ปรับเยอะๆ ลงโทษให้เข็ด) พอเป็นรูปธรรมที่น่าจะปฏิบัติได้จริง ในขณะที่กม.บังคับออกกำลังกายนี่ดูท่าจะอยากหน่อย

จริงๆแล้ว การยกเลิก 30บาท ให้คนไข้รู้จักรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง(พูดไปแล้ว 30 บาท แทนที่จะเป็นการส่งเสริมสุขภาพ แต่กลับทำให้ผลมันสวนทางกัน ซึ่งไม่ได้เป็นผลดีต่อผู้รับและผู้ให้บริการในแง่ระบบสาธารณสุขเลย ) โรคง่ายเช่นหวัดเพิ่มค่ารักษา โรคที่เกิดจากความประมาทโดยตัวผู้ป่วยเองเช่น ศีรษะแตกไม่ใส่กันน๊อค เมาแล้วขับรถเกิดอุบัติเหตุ ต้องชาร์จมากๆจะได้หลาบจำ รับรองคนต้องหันมาใส่ใจตัวเองมากขึ้น รพ.ก็จะเหลือแต่คนไข้ที่มีความจำเป็นจริงๆที่ต้องให้การรักษา ส่วนคนไข้ยากจนโรคจากการไม่รู้จักป้องกันตัวเองก็ชาร์จเท่ากัน แต่โรคที่เกิดโดยสุดวิสัยก็อยากให้รัฐได้ดูแลรักษาฟรี มันถึงจะเป็นธรรมจริงทั้งกลุ่มประชาชนและกลุ่มผู้ให้บริการทางการแพทย์
โดย: กระจกหกด้าน [24 ส.ค. 48 19:56] ( IP A:203.170.228.172 X: )
ความคิดเห็นที่ 13
   ผมยกตัวอย่างแบบสุดโต่งนะครับ ผมเองก็ทราบดีว่าทำไม่ได้หรอก แต่ถ้าทำได้ หมอ พยาบาล คงตกงานแน่ๆ จะได้เป็น แนวทางให้ว่า ทางแก้นะมันมี แต่มันทำยาก ไอ้วิธีเร่งผลิตหมอนะ ประเทศเราจนขนาดนี้ ผมว่าอย่าหวังเลย ประเทศร่ำรวย ยังต้องใช้วิธีนำเข้าหมอเลย
อเมริกา คนไข้เขาพบหมอกันคนละ 1.5-2 ชั่วโมง บ้านเรา 2 นาทีก็เต็มที่แล้ว
ปัญหาผู้ป่วย ล้น รพ.นะ แก้ไม่ยากหรอก แต่ทำไม่ได้ต่างหาก ไม่กล้าทำด้วย ขืนออกกฏหมายให้คนออกกำลังกาย มีหวัง รัฐบาล สอบตกสมัยหน้าแน่นอน

คราวนี้ท่านพอจะเข้าใจหรือยัง ว่าบริหารจัดการสุขภาพนะ ผู้ป่วยมาก หมอน้อย นะ มันไม่ใช่เรื่องหมูๆ ถ้าง่ายๆ เขาทำสำเร็จมา 30 ปีก่อนแล้วละ
โดย: ลุงแก่ [24 ส.ค. 48 23:41] ( IP A:203.188.30.89 X: )

คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน