อ่านเรื่องนี้กันดีกว่า ประเทืองปัญญากว่าเยอะ
   ทัศนะ : มาตรฐานการลงโทษ ขรก. กรณีทุจริตยา ส่งต่อให้เพื่อน พิมพ์หน้านี้
ข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ 30 ต.ค. 46 [อ่าน:398|ตอบ:0>

ทีมงานวิชาการ ชมรมแพทย์ชนบท doctorshig@yahoo.com
คดีทุจริตยา 1,400 ล้าน เมื่อ ก.ค. 2541 ได้สร้างตำนานการเปิดโปง การทุจริตประพฤติมิชอบ โดยข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขกลุ่มหนึ่ง ซึ่งรวมตัวกัน เป็นชมรมแพทย์ชนบท ร่วมกับภาคประชาชน จนนำไปสู่การพิพากษา นักการเมืองต้องจำคุกถึง 2 คน


คนหนึ่งเป็นถึง รมว.สาธารณสุข (รักเกียรติ สุขธนะ) อีกคนเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี (จิรายุ จรัสเสถียร) นอกจากนี้ข้าราชการประจำต้องถูกลงโทษไล่ออกไปถึง 7 คน แต่ระบบราชการได้แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางในระบบ ทำให้เกิดมาตรฐานในการลงโทษที่แตกต่างกันอย่างมาก

แตกต่างอย่างไรลองพิจารณาดูข้อมูลข้างล่างนี้

1.ผู้บริหารระดับสูงส่วนกลางที่สัมผัสกับนักการเมืองที่ทุจริตโดยตรง

1.1 ระดับ 11 (ปลัด สธ. น.พ.ปรากรม วุฒิพงศ์) โดยหลักการถือเป็นข้าราชการระดับสูงสุดที่สัมผัสกับนายรักเกียรติ มากที่สุด หลังเริ่มมีข่าวการเปิดโปงการทุจริตผ่านสื่อมวลชน มีการสั่งให้ผู้ตรวจราชการตรวจสอบ และสรุปผลวันที่ 24 ส.ค. 2541ว่า ไม่พบว่ามีการทุจริตแต่อย่างใด และให้สัมภาษณ์ในวันที่ 4 ก.ย. 2541 ว่า การที่ชมรมแพทย์ชนบทออกมาเคลื่อนไหวเนื่องจากสูญเสียผลประโยชน์จากค่าคอมมิชชั่น 10%

ต่อมานายกฯ ชวน สั่งสำรองราชการ น.พ.ปรากรม ไปประจำสำนักนายกฯ เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2541

ต่อมา นายกร ทัพพะรังสี (รมว.สาธารณสุขขณะนั้น) ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง แต่น.พ.ปรากรม ร้องทุกข์ต่อ อ.ก.พ.ในทางเทคนิคเกี่ยวกับขั้นตอนการสอบสวน

สุดท้ายนายกฯ ชวนแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ชุด พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ ข้อสรุปที่ได้คือ ไม่มีความผิดแต่อย่างใด

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2543 (น.พ.ปรากรม ลาออกไปสมัคร ส.ว.สตูล เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2542) ท่ามกลางข้อกังขาว่า รมว.สธ.ถูกตัดสินผิด 3 คดี ถูกยึดทรัพย์ ติดคุก และห้ามเล่นการเมือง แต่ปลัดกระทรวงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลยหรือ?

1.2 ระดับ 10 (รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข)

(1) น.พ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา (รองปลัด สธ. ที่ดูแลกองโรงพยาบาลภูมิภาค-ดูแล รพ. ทั่วไปและโรงพยาบาลศูนย์) ได้เสนอให้นายรักเกียรติ ลงนามยกเลิกราคากลางยา ซึ่งเป็นระเบียบของสำนักนายกในวันที่ 15 ธ.ค. 2540 ทั้งที่นายรักเกียรติ (เพิ่งรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2540) ไม่มีอำนาจในการลงนาม และการยกเลิกดังกล่าวไม่มีราคากลางใหม่ทดแทน ซึ่งสาธารณชนส่วนใหญ่เชื่อว่า หากไม่มีการยกเลิกราคากลางดังกล่าวเชื่อว่าการทุจริตยาคงไม่สามารถดำเนินการได้อย่างกว้างขวางและรุนแรงดังที่ปรากฏ

แต่น่าแปลกที่สำนักงาน ป.ป.ป. ขณะนั้น กลับสรุปว่า การยกเลิกราคากลางยาดังกล่าว มิใช่กระบวนการแรกของการทุจริตจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ รวมทั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยของกระทรวงสาธารณสุขที่มี น.พ.เฉลิมชัย ชูเมือง เป็นประธาน ก็สรุปว่า ไม่มีความผิดทางแพ่ง เนื่องจากตรวจสอบแล้วไม่มีความเสียหายต่อทางราชการจึงไม่เป็นการละเมิด

และเนื่องจากไม่มีการทุจริตต่อหน้าที่ราชการจึงไม่มีความผิดทางอาญา การลงโทษทางวินัย คือให้ว่ากล่าวตักเตือนด้วยวาจา จึงเป็นข้ออ้างมาโดยตลอดว่า คดีนี้จบลงแล้ว

น.พ.ณรงค์ศักดิ์ เติบโตในตำแหน่งหน้าที่มาตามลำดับ จากรองปลัด สธ. ขยับขึ้นเป็นอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ล่าสุดเป็นอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และรักษาการรองปลัดสธ. cluster อีกหนึ่งตำแหน่งในสมัยคุณสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นรมว. และสมัย น.พ.วัลลภ ไทยเหนือ เป็นปลัด สธ.

แต่เมื่อคำพิพากษาคดีนายรักเกียรติ กรณีการทุจริตต่อหน้าที่ราชการเมื่อวันที่ 28 ต.ค.2546 จนถูกตัดสินจำคุก 15 ปี นั้นกลับพบว่า มูลเหตุของการทุจริตมาจากการยกเลิกราคากลาง

คำถามในใจสาธารณชนจึงมีว่า กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ ป.ป.ช. จะต้องติดตามดำเนินการเรื่องนี้ให้หมดจดหรือไม่ เพราะเป็นไปได้หรือที่นักการเมืองเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งเพียง 1 เดือน จะสามารถเข้าใจกระบวนการและวิธีการอันทุจริตได้อย่างเฉียบแหลมเช่นนี้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากข้าราชการระดับสูงที่รู้ระเบียบและช่องทางเป็นอย่างดี

หรือจะเพียงสรุปว่า การยกเลิกราคากลางมิใช่กระบวนการแรกในการทุจริต แล้วก็พ้นผิดได้เลย แสดงว่า กระบวนการที่สอง สาม...ไม่นับว่าเป็นการทุจริตหรือ?

(2) น.พ.ธวัช สุนทราจารย์ (รองปลัด สธ.ที่ดูแลกองสาธารณสุขภูมิภาค-ดูแลน.พ.สสจ. โรงพยาบาลชุมชน สถานีอนามัย) ถูกกล่าวหาควบคู่กับน.พ.ปรากรม มาโดยตลอด ประกอบกับถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงหมวดงบประมาณและแก้ไขใบจัดสรรเงินของสำนักงบประมาณให้ใช้ได้กว้างขวางและรวมศูนย์การทุจริตได้ง่ายขึ้น

ในขณะเกิดเหตุน.พ.ธวัช ถูกนายกร ปลดจากรองปลัดกระทรวงฯ เป็นผู้ตรวจราชการ ต่อมา ได้กลับมาทำหน้าที่รองปลัดกระทรวงฯ cluster พร้อมกับน.พ.ณรงค์ศักดิ์ ในยุคเดียวกัน และล่าสุดเพิ่งเข้าสู่ตำแหน่งรองปลัดฯ cluster อย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนต.ค. 2546 ใกล้ๆ กับตอนที่คุณสุดารัตน์ สั่งยกเลิกการสอบสวนวินัยร้ายแรงที่ตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยนายกร

เช่นเดียวกัน คงมีคำถามว่าผลการตัดสินคดีนายรักเกียรติ ทั้ง 3 คดี ไม่มีผลเกี่ยวข้องกับการดำเนินการของรองปลัดท่านนี้เลยหรือ?

(3)น.พ.วัลลภ ไทยเหนือ (หัวหน้าสำนักตรวจราชการฯ) ขณะนั้นเป็นผู้ตรวจราชการร่วม แต่ออกมาสรุปว่า ไม่พบการทุจริต และยังเป็นคณะกรรมการชุดที่ออกมาโต้แย้งกับคณะกรรมการชุด น.พ.วิชัย โชควิวัฒน ในการสอบองค์การเภสัชกรรม และผู้บริหาร 34 จังหวัด

ซึ่งผลสอบออกมาชัดเจนว่า เป็นการช่วยปกป้องผู้กระทำผิดทั้งเกี่ยวกับหน้าที่ในการตรึงราคายาขององค์การเภสัช และกำหนดราคามาตรฐานเพื่อเทียบว่าการจัดซื้อยาแพงหรือไม่แพง โดยใช้ราคากลางปี 2536+25.29% ทำให้ตัดรายการยาที่แพงไปได้มาก ค่อนข้างชัดเจนว่า เอียงไปในทางปกป้องข้าราชการที่กระทำผิดและทำให้มองได้ว่า ความเสียหายน้อยกว่าที่คณะกรรมการชุด น.พ.วิชัย ประมาณการไว้ จนนายกร สรุปไว้ในสรุปผลการสอบของชุด น.พ.วัลลภ ว่า "เอียงและลอยเกินไป"

และที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งบรรทัดฐานในการลงโทษช่วยผู้ใต้บังคับบัญชาโดยไม่สนใจบรรทัดฐาน ในกรณีของน.พ.อนันต์ อริยชัยพานิช ซึ่งเป็น น.พ.สสจ.สุรินทร์ หนึ่งใน 34 จังหวัด และขณะสรุปผลการของ อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งช่วยลดโทษเหลือเพียงว่ากล่าวตักเตือน ซึ่งขณะนั้น น.พ.อนันต์ ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมอนามัย ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของ น.พ.วัลลภ กลับสั่งให้ยุติเรื่อง โดยไม่ต้องลงโทษใดๆ เลย

น.พ.วัลลภ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมอนามัย อธิบดีกรมควบคุมโรค และล่าสุดเป็นปลัด สธ. ทั้งที่ก่อนได้รับตำแหน่งต่อต้านนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคมาโดยตลอด และทิศทางการจัดการค่อนข้างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับโครงการประชานิยมของรัฐบาล ดังนั้นหากจะหวังให้น.พ.วัลลภ จัดการเรื่องกรณีทุจริตยา หรือรื้อฟื้นบางกรณีขึ้นใหม่จึงเป็นไปได้ยาก

1.3 ระดับ 9 สองท่านคือ น.พ.ยิ่งเกียรติ ไพศาลอัชพงษ์ และ น.พ.วรยุทธ เจียรสถาวงศ์ ผอ.กองสาธารณสุขภูมิภาค ซึ่งถูกให้ออกจากราชการเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2542

2.ผู้บริหารระดับสูงส่วนภูมิภาคระดับจังหวัด (นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผอ. รพ.ศูนย์/ทั่วไป)

2.1 กรณี 5 จังหวัดแรก (นราธิวาส พังงา ฉะเชิงเทรา นครปฐมและอยุธยา) ข้อมูลบ่งชี้ว่ากระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าช่วยเหลือผู้กระทำผิดโดยนำข้าราชการระดับล่างมาเป็น "โล่มนุษย์" เพื่อลดโทษให้ข้าราชการระดับสูง (น.พ.สสจ.) โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 7 ชุด และมีชุดน.พ.เฉลิมชัย ชูเมืองเป็นประธานรวมอีก 1 ชุด ผลสรุปให้

(1) ตัดเงินเดือน 5% เป็นเวลา 2 เดือน น.พ.สสจ.พิษณุโลก (น.พ.บุญเลิศ ลิ้มทองกุล) ต่อมาให้ลดหย่อนเป็นภาคทัณฑ์ และ (2) ว่ากล่าวตักเตือน-ทำหนังสือกำชับที่เหลือทั้งหมด

ขณะที่ชุดน.พ.วิชัย และน.พ.จักรธรรม เสนอให้

(1)สอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม 2 จังหวัดคือ จ.สุโขทัย (น.พ.สมชาย โรจนรัตนางกูร) และจ.อำนาจเจริญ (น.พ.สัญชัย ปิยะพงษ์กุล) เนื่องจากมีการสั่งซื้อและยกเลิกภายหลัง และได้มีการจ่ายเงินไปบ้างแล้ว หรือเป็นกรณีที่ไม่ได้สอบสวนมาก่อนว่า แพงหรือไม่ มีเจตนาหรือไม่

(2)ให้สอบสวนวินัยร้ายแรง 2 จังหวัด คือ จ.พิษณุโลก (น.พ.บุญเลิศ ลิ้มทองกุล) และจ.ร้อยเอ็ด (น.พ.คำรณ ไชยศิริ) เนื่องจากข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า มีการซื้อแพง

(3) ว่ากล่าวตักเตือนในส่วนที่เหลือ เนื่องจากข้อเท็จจริงเป็นการยุติว่าซื้อแพง และดูพฤติการณ์อื่นๆ ประกอบแล้วเห็นว่าไม่มีเจตนา และมีราคาแพงเล็กน้อย

แต่อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุขประชุมเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2544 ที่มีคุณสุดารัตน์ เป็นประธานลงมติ 5:4 ให้สรุปตามชุด น.พ.เฉลิมชัย คือ ลงโทษภาคทัณฑ์-ตักเตือน ( 5 เสียงประกอบด้วย น.พ.ยุทธ โพธารามิก นายวิศิษฐ์ จิตต์แจ้ง น.พ.ธีระ พิทักษ์ ประเวช น.พ.เสรี ตู้จินดาและน.พ.วัลลภ ไทยเหนือ โดย 3 ท่านหลัง เคยเป็นผู้ตรวจที่สรุปในช่วงเดือนส.ค. 2541 ว่า ไม่มีการทุจริตเลย)

โดยนางสุดารัตน์ งดออกเสียง หากนางสุดารัตน์ออกเสียงจะกลายเป็น 5:5 เสียง และประธานมีสิทธิออกเสียงเพิ่มอีก 1 เสียง แต่คุณสุดารัตน์เลือกที่จะไม่ทำ ?

สรุปได้ว่า น.พ.สสจ.ทั้ง 34 คน ที่มีพฤติกรรมคล้ายกัน แต่อาจต่างกันที่ระดับความรุนแรงถูกลงโทษดังนี้

(1) ภาคทัณฑ์ น.พ.สสจ.พิษณุโลก (น.พ.บุญเลิศ ลิ้มทองกุล) ปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งเป็นรองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการ

(2) ว่ากล่าวตักเตือน-ทำหนังสือกำชับที่เหลือทั้งหมด ยกเว้น น.พ.สสจ.สุรินทร์ (น.พ.อนันต์ อริยชัยพานิช)

(3) ไม่ถูกลงโทษใดๆ เลย (ยุติเรื่อง) คือ น.พ.อนันต์ อริยชัยพานิช (น.พ.สสจ.สุรินทร์) ขณะที่อ.ก.พ.สาธารณสุขพิจารณาเป็นรองอธิบดีกรมอนามัย และน.พ.วัลลภ ไทยเหนือ อธิบดีกรมอนามัยขณะนั้นสั่งยุติเรื่อง จนมีโทษน้อยกว่า ผอ.รพช. และเภสัชกรในจังหวัดสุรินทร์เสียอีก นอกจากนี้ น.พ.อนันต์ ก็ได้เลื่อนตำแหน่งโดยตลอด โดยต่อมาเป็นรองอธิบดีกรมควบคุมโรคและเป็นรองปลัดอันดับ 1 ในปัจจุบัน

ขณะที่ น.พ.ยุทธนา ศิลปรัศมี น.พ.สสจ.นครศรีธรรมราช ในขณะนั้นถูกลงโทษว่ากล่าวตักเตือน และผลของการที่ น.พ.ยุทธนา ไปให้การเป็นพยานจนทำให้นายจิรายุ ถูกจำคุกจนนำมาสู่การพิพากษาจำคุกนายรักเกียรติ กลับถูกกลั่นแกล้ง และถูกโยกย้ายโดยไม่เต็มใจ ทำให้ต้องตัดสินใจลาออกจากราชการก่อนเกษียณ

3.ผู้บริหารระดับต้น เจ้าหน้าที่พัสดุ ระดับอำเภอ (ผอ.โรงพยาบาลชุมชน เภสัชกร จนท.พัสดุฯ) 256 คน ถูกนำมาเป็นโล่มนุษย์ ถูกลงโทษว่ากล่าวตักเตือน-ภาคทัณฑ์

4.ข้าราชการที่ให้การเป็นพยานในระดับ รพช. ถูกตั้งกรรมการสอบ หรือถูกเข้าไปขุดคุ้ยอย่างเลือกปฏิบัติ และคุกคาม ข่มขู่ กดดัน

เช่นกรณี ผอ.โรงพยาบาลชุมชนใน จ.นครศรีธรรมราช ออกมาปกป้อง น.พ.ยุทธนา ศิลปรัศมี ที่ถูกโยกย้ายอย่างไม่เป็นธรรม จนต้องออกมาแสดงสปิริตขอลาออกจากตำแหน่ง ผอ.โรงพยาบาล ก็ถูกกลั่นแกล้งไม่ให้กลับเข้าสู่ตำแหน่ง เมื่อใดที่จะมีการเปิดประเด็นการทุจริตยาครั้งใดก็จะนำประเด็นนี้มาข่มขู่คุกคามทุกครั้ง

นอกจากนี้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับสูงก็ถูกคุกคามและกลั่นแกล้งเช่น

1.น.พ.วิชัย โชควิวัฒน เลขาธิการอย. ถูกปลดมาอยู่กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ และอาจต้องถูกปลดจากตำแหน่งอธิบดีเมื่อโอกาสอำนวย

2.น.พ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ ถูกปลดจากรองปลัด สธ. เป็นผู้ตรวจราชการไม่ถึงสัปดาห์ก็ถูกปลดไปสำนักวิชาการ เมื่ออุทธรณ์ร้องทุกข์ไปที่ก.พ. และก.พ.สรุปว่า ปลัดกระทรวงสาธารณสุขใช้อำนาจโดยมิชอบ กลับยังไม่ยอมคืนตำแหน่งให้

3.น.พ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ รองปลัดสธ. เอาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาบีบจนต้องออกจากตำแหน่งนักวิชาการระดับ 10

นับเป็นโอกาสดีที่จะได้พิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ต่อการเป็นปฏิปักษ์ต่อการทุจริต คอรัปชั่น เพราะไม่ต้องไปควานหาใบเสร็จใดๆ ให้ลำบาก เพราะมีคนหามาให้กว่า 5 ปีแล้ว และที่สำคัญผู้พิพากษาหลายคณะได้พิสูจน์ให้ดูแล้วว่า เป็นใบเสร็จของจริง ไม่ใช่ statement ปลอม

รีบจัดการเถอะครับ ทั้งนักการเมืองและข้าราชการประจำที่กระผิดหรือแชเชือนเพิกเฉย คนหาใบเสร็จจะได้มีกำลังใจในการค้นหาใบเสร็จ เพราะหากปัญหาการทุจริตยังมีอยู่ต่อให้ 10 ทักษิณ ก็แก้ปัญหาสังคม เศรษฐกิจของประเทศไม่ได้อย่างแน่นอน ครับท่านนายกฯ





ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/2003/10/30/comment/index.php?news=col4.html
หมวดข่าว: ยารักษาโรค, นโยบายและกฎหมาย
คำสำคัญ: การแพทย์,สถานีอนามัย,หวัด,โค,นม,กรมควบคุมโรค,กรมอนามัย,กระทรวงสาธารณสุข,การทุจริต,แพทย์ชนบท,การแพทย์,พยาบาล,สถานีอนามัย,กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์,การแพทย์,การซื้อ,เงินเดือน,ราคา,เศรษฐกิจ,สื่อ
โดย: เครือข่ายฯ [22 พ.ย. 48 7:41] ( IP A:61.90.14.85 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live

คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน