ความคิดเห็นที่ 1 แพทย์พิษณุโลกวิกฤตแห่ลาออก วงการแพทย์เมืองสองแควสั่นสะเทือน หลังพบว่าตัวเลขแพทย์โรงพยาบาลชุมชนปี 49 แห่ ตบเท้าเหลือเฝ้าโรงพยาบาลตามอำเภอทั้ง 8 แห่ง ไม่ถึง 50% เผยรพ.บางอำเภอจะเหลือหมอประจำเพื่อตรวจรักษาชาวบ้านแค่ 1 คน นายแพทย์ธวัชชัย กมลธรรม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า จากการประชุมเพื่อตรวจสอบกำลังแพทย์และความต้องการของแพทย์ประจำโรงพยาบาลชุ มชน หรือโรงพยาบาลประจำอำเภอต่างๆ ทั้ง 8 อำเภอในจังหวัดพิษณุโลก ประจำปี 2549 โดยในปีนี้จะมีแพทย์ที่มีความประสงค์ยื่นหนังสือขอลาออก ลาเพื่อไปศึกษาต่อและขอย้ายไปประจำโรงพยาบาลแห่งอื่นจำนวน 20 คน ในขณะที่อัตรากำลังความต้องการแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนทั้ง 8 อำเภอ มีอยู่ทั้งสิ้น 44 ตำแหน่ง แต่ขณะนี้มีแพทย์ที่ทำงานประจำอยู่ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ จำนวน 37 คน ยังคงขาดอีกถึง 7 ตำแหน่ง ซึ่งในปี 2549 มีแพทย์ที่ยื่นใบลาออก ลาไปศึกษาต่อและขอย้ายออกไปอีกรวม 20 คน จะทำให้มีแพทย์เหลือประจำอยู่ในโรงพยาบาลแค่เพียง 17 คนเท่านั้น ส่วนการคาดการณ์จะมีแพทย์ที่จะย้ายเข้าไปใหม่แค่เพียง 5 คน ทำให้แนวโน้มในปี 2549 แพทย์ประจำโรงพยาบาลชุมชนจะขาดแคลนมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ นายแพทย์ธวัชชัย กล่าวว่า จากข้อมูลการสำรวจความต้องการแพทย์ประจำโรงพยาบาลชุมชน จังหวัดพิษณุโลก ณ วันที่ 22 ธันวาคม 2548 โรงพยาบาลบางกระทุ่ม ต้องการแพทย์ประจำอยู่ 6 คน แต่ในปี 2549 มีแพทย์ที่คาดว่าจะลา ออก ลาไปเรียนต่อ และย้ายออกไป จำนวน 5 คน คงเหลือแพทย์ประจำคอยรักษาคนไข้แค่เพียง 1 คนเท่านั้น โรงพยาบาลบางระกำ ต้องการแพทย์ 6 คน ในปี 2549 จะเหลือแพทย์อยู่ 2 คน โรงพยาบาลนครไทย ต้องการแพทย์ 7 คน เหลืออยู่เพียง 2 คน โรงพยาบาลพรหมพิราม ต้องการ 6 คน เหลือแพทย์ประจำ 2 คน โรงพยาบาลวังทอง ต้องการแพทย์ 7 คน จะเหลือแพทย์อยู่ 4 คน โรงพยาบาลชาติตระการ และโรงพยาบาลเนินมะปราง ต้องการแพทย์แห่งละ 4 คน แต่จะมีแพทย์ประจำอยู่ 3 คน มีเพียงโรงพยาบาลวัดโบสถ์ที่คาดว่าจะมีแพทย์เกินอัตราไป 1 คนเท่านั้น สำหรับสาเหตุสำคัญในการเกิดวิกฤติการณ์ขาดแคลนแพทย์ ที่ต้องให้การดูแลรักษาและเฝ้าตรวจสุขภาพประชาชนในแต่ละพื้นที่ เนื่องมาจากในปัจจุบันแพทย์ต้องทำงานหนักมากขึ้น ในขณะที่เงินเดือนที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลยังคงน้อย แพทย์ที่จบใหม่ได้รับเงินเดือนแค่เพียง 9,000 บาทเศษเท่านั้น เมื่อเทียบกับปริมาณงานและความ รับผิดชอบที่สูงกว่าอาชีพอื่น ๆ ที่สำคัญการเรียนที่หนักและต้องเรียนนานถึง 5-6 ปี ทำให้ในปัจจุบันมีเยาวชนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเข้าศึกษาต่อน้อยลงไปมาก ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้แพทย์ขอลาออกไป เช่น ออกไปเป็นอาจารย์สอนในคณะแพทย์และพยาบาลศาสตร์ โอกาสเปิดให้ไปศึกษาต่อในวิชาชีพเฉพาะทางและจากการที่แพทย์หลาย ๆ คน ได้ถูกกระแสสังคมกดดัน ปัญหาการถูกร้องเรียนที่เกิดขึ้นแทบทุกวัน จึงทำให้แพทย์หมดขวัญและกำลังใจในการทำงาน ทำให้ผู้ที่มีโอกาสหรือมีทางเลือกที่ดีกว่า จึงต่างพากันยื่นหนังสือเพื่อลาออกไปทำงานด้านอื่น ๆ แทน "ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก ไม่ได้นิ่งนอนใจในปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น จากวิกฤติการขาดแคลนแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนต่าง ๆ เพราะจะส่งผลกระทบต่อการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนในอำเภอต่าง ๆ อย่างแน่นอน จึงได้ทำเรื่องเพื่อขอแพทย์เข้าบรรจุเพิ่มเติมอีก 22 ตำแหน่ง เพื่อให้ได้แพทย์ครบตามอัตรากำลังที่ต้องการคือ 44 ตำแหน่ง แต่คงเป็นไปได้ยากเพราะการสร้างบุคลากรทางการแพทย์ไม่ใช่สร้างกันขึ้นมาได้ง ่าย ๆ ผิดกับวิชาชีพอื่น ๆ" สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก กล่าว ด้านนายแพทย์ชูศักดิ์ เอื้อวิจิตรพจนา รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลพุทธชินราช ฝ่ายการแพทย์ กล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนแพทย์เป็นปัญหาใหญ่ของโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ และมีแนวโน้มเข้าขั้นวิกฤติเข้าไปในทุกปี โดยเฉพาะแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถหรือแพทย์เฉพาะทาง ในส่วนของโรงพยาบาลพุทธชินราช เป็นโรงพยาบาลศูนย์กลางทางการแพทย์ของภาคเหนือตอนล่าง รับผิดชอบผู้ป่วยรวมแล้วจำนวนกว่า 600,000 ราย ในขณะที่ทางโรงพยาบาลยังต้องรับผู้ที่ถือบัตรประกันสังคม เข้าอยู่ในความรับผิดชอบเพิ่มอีกกว่า 50,000 ราย ในปี 2549 ทำให้แพทย์และพยาบาลรวมไปถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้องต้องทำงานหนักกันมากขึ้น เห็นได้จากจำนวนเตียงผู้ป่วยที่มีอยู่กว่า 900 เตียงเศษ แต่ในขณะนี้เตียงผู้ป่วยได้เปิดรองรับเพื่อรักษาผู้ป่วยจนเต็มหมดทุกเตียง จำเป็นต้องเพิ่มเตียงเสริมเพื่อให้การรักษาคนไข้อาการหนักและรุนแรงไปแล้วกว ่า 100 เตียง "หากโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดพิษณุโลกอีก 8 แห่ง ซึ่งถือว่าเป็นสถานพยาบาลแห่งแรกในชุมชน ที่จะสามารถแบ่งภาระและคัดกรองผู้ป่วยขั้นต้น มีแพทย์ประจำอยู่ไม่เพียงพอและไม่สามารถให้การรักษาได้ทัน โรงพยาบาลทั้ง 8 แห่งจำเป็นต้องส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลพุทธชินราช นั่นหมายถึงจำนวนผู้ป่วยที่โรงพยาบาลศูนย์แห่งนี้ต้องรับเพิ่มมากขึ้น ผลกระทบที่ตามมาคือ มาตรฐานในการรักษาพยาบาลและคุณภาพคงจะดีขึ้นไปได้ยาก ที่สำคัญแพทย์หรือพยาบาลก็ยังคงเป็นมนุษย์ปุถุชนทั่วไป ย่อมจะมีความเหนื่อยล้า ความอ่อนเพลีย จนอาจทำให้เกิดความผิดพลาดในการตรวจรักษาขึ้นได้ทุกเมื่อ" นายแพทย์ชูศักดิ์ กล่าว |