ข่าวแห่งปีของเครือข่ายฯ
   copy จากเดลินิวส์มาให้อ่านกัน

ข่าวแห่งปี : ประชาชนชั้นสองประกาศชัย

อีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า ปีระกา พ.ศ. 2548 จะผ่านพ้นไปกลายเป็นอดีต และปีจอ พ.ศ. 2549 ที่เคยเป็นอนาคตกำลังจะก้าวเข้ามาเป็นปัจจุบัน

มีคนกล่าวไว้ว่า “ปัจจุบัน” เป็นผลมาจาก “อดีต” และ “ปัจจุบัน” ยังเป็นตัวกำหนด “อนาคต” อีกด้วย ฉะนั้นเมื่อมองย้อนกลับไป 365 วันในปี 2548 จะเห็นว่ามีเหตุการณ์หลากหลายเกิดขึ้นในเมืองไทยและบนโลกกลม ๆ ใบนี้ และเชื่อว่าจะเป็นเครื่องสะท้อนถึงอนาคตในปี 2549

เช่นเดียวกับอารมณ์ของข่าวหน้า 1 เดลินิวส์มีทั้งเรื่องสุขเศร้าเคล้าน้ำตาสลับกันไป แต่เรื่องราวที่สร้างความตื่นตัวให้กับคนไทยเห็น จะหนีไม่พ้นกระแสของการคุ้มครองผู้บริโภค อาจเรียกได้ว่าเป็นปีทองอีกก้าวหนึ่งของผู้บริโภค

เป็นชัยชนะของประชาชนคนไทยที่ภาครัฐและระบบทุนนิยมมองว่าเป็น “ประชาชนชั้นสอง” มาตลอดก็ว่าได้

ปี 2547 ที่ผ่านมาน้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก ยายไฮ ขันจันทา ชาวนาจาก จ.อุบลราชธานี ที่อดทนเรียกร้องที่ดินคืนจากรัฐจนสำเร็จ รวมถึง นางรัตนา สัจจเทพ กับบ้านทาวน์เฮาส์หลังเล็ก ๆ ที่ถูกนายทุนและเจ้าหน้าที่รัฐรังแกอย่างต่อเนื่องและยาวนานนับสิบปี เป็นตัวกระตุ้นกระแสคุ้มครองผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี และท้ายที่สุดผลของการต่อสู้อันยาวนาน 11 ปี เธอได้รับการเยียวยากว่า 12 ล้านบาทเป็นของขวัญปีใหม่ในช่วงสิ้นปี 2548

เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2548 ข่าวความใจถึงของ น.ส.เดือนเพ็ญ ศิลาเกษ แม่ค้าขายเสื้อผ้า ที่นำรถยนต์ฮอนด้า รุ่นซีอาร์วี ป้ายแดง ราคา 1.3 ล้านบาท มาทุบบริเวณหน้าอาคารชินวัตร 3 (ที่ทำการพรรคไทยรักไทยในเวลานั้น) กลายเป็นที่สนใจของคนทั้งประเทศ และเป็นข่าวดังไปทั่วโลกอีกด้วย

เฟืองท้ายเสียงดัง สตาร์ตไม่ติด พวงมาลัยเอียงซ้าย ศูนย์ถ่วงเสีย ฯลฯ เป็นปัญหาที่เธอเจอหลังจากกำเงินสด ๆ ไปถอยรถป้ายแดงจากศูนย์บริการ แต่เมื่อพนักงานบริษัทแห่งนี้ ปฏิเสธที่จะเปลี่ยนรถคันใหม่ให้ พร้อมกับบอกเธอว่า รถ 100 คันจะมีปัญหาแค่คันเดียวเท่านั้น ทำให้ น.ส.เดือนเพ็ญ รับไม่ได้ และนำรถมาทุบเพื่อประจานความชุ่ยของบริษัทฮอนด้า ทั้ง ๆ ที่มีใจรักรถรุ่นนี้และสู้อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบเพื่อซื้อรถในดวงใจคันนี้

รถซีอาร์วีพังยับดังไปทั่วโลกด้วยค้อนปอนด์ของผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง ทำให้ผู้บริหารบริษัทแม่ของฮอนด้าถึงขนาดบินด่วนมาจากญี่ปุ่นเพื่อแก้ปัญหานี้ด้วยตัวเอง และสุดท้ายจบลงตรงที่ยอมคืนเงินจำนวน 1.3 ล้านบาทให้แก่แม่ค้าเสื้อผ้าใจเด็ด เพื่อกอบกู้ภาพลักษณ์ที่เสียหายให้กลับคืนมา ขณะที่ น.ส.เดือนเพ็ญ นำเงินดังกล่าวไปซื้อรถป้ายแดงของบริษัทโตโยต้าคู่แข่งฮอนด้าด้วยความสะใจ

กรณีของ น.ส.เดือนเพ็ญ ดูเหมือนช่วยจุดประกายให้บรรดาเจ้าของรถที่คับแค้นใจกับรถที่ไม่ได้มาตรฐานอีกหลายสิบรายต่างพาเหรดนำรถออกมาทุบ-เผาประจานบริษัทรถทั้งหลาย อาทิ นาวาอากาศโทนรเศรษฐ์ รุ่นประพันธ์ ที่ทุบรถโตโยต้า รุ่นครุยเซอร์ ด้วยความโมโหที่หน้าทำเนียบรัฐบาล นายอนงค์ จุลเจือ เจ้าของบริษัทยาม ธนภัทรเซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด ราดน้ำมันแล้วจุดไฟเผารถเก๋งนิสสัน เซฟิโร่ รุ่น A33 ที่ซื้อมาใช้ได้แค่ 2 เดือนแล้วจู่ ๆ ดันเกิดมีไฟ ลุกไหม้ห้องเครื่อง แต่บริษัทปฏิเสธว่าไม่ใช่ความบกพร่องของเครื่องยนต์จึงไม่รับผิดชอบใด ๆ

รายต่อมา นายปรีชา สันติจิระกุล วิศวกรรับเหมาก่อสร้าง ซื้อรถโตโยต้า รุ่นฟอร์จูนเนอร์ มาขับวิ่งได้ไม่ถึง 10,000 กม. เกิดมีปัญหาที่ผ้าเบรกแตกร้าวทำให้รถเบรกไม่อยู่ เลยเรียกร้องให้บริษัทออกมารับผิดชอบ แต่ทางบริษัทยืนยันว่าอุปกรณ์ของบริษัทมีมาตรฐาน แถมโยนบาปให้ลูกค้าอีกว่า ที่มีอาการนี้ เพราะไปเปลี่ยนยางหรือเปลี่ยนล้อให้ใหญ่ขึ้น เลยทำให้ผ้าเบรกร้อนจัดจนแตกร้าวส่งผลให้เบรกไม่อยู่

รวมถึงดารานักแสดงอีกหลายคน เช่น เขตต์ ฐานทัพ, ติว-ศิวัส นฤภัย 2 พระเอกจากช่อง 7 ที่เจออุบัติเหตุแล้วถุงลมนิรภัยหรือแอร์แบ๊กไม่ทำงาน แต่การประท้วงของรายอื่น ๆ มักไม่ได้รับการตอบสนองจาก บริษัทรถยุโรปเท่าที่ควร มีเพียงรายของ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ที่บริษัทเชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ยอมซ่อมแซมรถรุ่นออฟ ตร้าให้แม้ว่าจะหมดระยะประกันไปแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ดี อานิสงส์ของ น.ส.เดือนเพ็ญ ทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมตื่นตัวแก้ปัญหารถราคาแพง แต่คุณภาพห่วย เช่น ตั้งกรรมการร่วมเพื่อกำหนดมาตรฐาน “เยียวยา” ผู้ซื้อรถ ตั้งแต่ระดับเบาะ ๆ เช่น ซ่อม เปลี่ยนอุปกรณ์ ไปจนถึงการชดใช้เงิน หรือแม้แต่เปลี่ยนคันใหม่ให้ รวมไปถึงการแก้ไขกฎหมายเพื่อลงโทษผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน

ชัยชนะของผู้บริโภคเรื่องต่อมาต้องยกให้ นางดอกรัก เพ็ชร ประเสริฐ อดีตพนักงานทำความสะอาด เมื่อศาลจังหวัดนนทบุรีอ่านคำพิพากษาให้กระทรวงสาธารณสุข ชดใช้เงินค่าเสียหายจำนวน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2542 หลังจากที่นางดอกรักเข้ารับการรักษาโรคไข้หวัดที่ รพ.สวรรค์ประชารักษ์ จ.นคร สวรรค์ แต่แพทย์ฉีดยาจนทำให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงที่เรียกว่า “โรคสตีเวนส์ จอห์นสัน ซินโดรม” ส่งผลให้ตาบอดสนิททั้งสองข้างในเวลาต่อมา

หลังศาลตัดสิน ทางผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขมีท่าทีจะอุทธรณ์คดี แต่ด้วยกระแสสังคมกดดันทำให้กระทรวงสาธารณสุขยกเลิกแนวคิดสู้คดี และยอมจ่ายค่าชดเชยตามคำสั่งศาลโดยดี อีกทั้งยังนำนางดอกรัก เข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาดวงตาและมีโอกาสมองเห็นโลกได้อีกครั้ง

อีก 1 เดือนต่อมาศาลจังหวัดนนทบุรีได้อ่านคำพิพากษาให้กระทรวงสาธารณสุขจ่ายค่าชดเชยแก่ญาติคนไข้อีก 1 ราย ครั้งนี้เป็นรายของ น.ส.ศิริมาศ แก้วคงจันทร์ ที่สูญเสีย นางสมควร แก้วคงจันทร์ มารดา หลังเข้ารับการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบที่ รพ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช โดยศาลสั่งให้จ่ายค่าเสียหายจำนวน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันยื่นฟ้อง

2 คดีนี้เป็นเพียงส่วนน้อยที่ได้รับการเยียวยาจากความเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างการรักษาพยาบาลผ่านทางกระบวนการของศาล ยังมีคนไข้อีกจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่ประสบปัญหาในลักษณะเดียวกันและยอมรับเงินทุเลาความเสียหายตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แลกกับการไม่ฟ้องร้องทางแพ่งและอาญา

และไม่กี่วันที่ผ่านมาเราเพิ่งได้ยินคำขอโทษจากรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก นายพินิจ จารุสมบัติ รมว.สาธารณสุข เอ่ยปากขอโทษบิดาและมารดาของ “น้องเซน” ด.ช.พิรชัช ชนะราวี วัยขวบเศษ ที่เสียชีวิตหลังหมอ รพ.สมุทรปราการ ปฏิเสธรับ ด.ช. เคราะห์ร้ายรายนี้ไว้รักษาตัว

“ผมอยากเปลี่ยนคำขอโทษ คำที่หมอถูกตำหนิ เป็นการรักษาคนอื่นด้วยความจริงใจ” เป็นคำพูดทิ้งท้ายของนายนักรบ ชนะราวี ที่กินความหมายลึกซึ้งและไม่จำเป็นต้องมีคำอธิบายเพิ่มเติม

ในความเป็นจริงเชื่อว่าไม่มีหมอคนไหนในโลกที่ตั้งใจรักษาคนไข้ให้ตาย ยกเว้นมีเหตุไม่คาดฝันหรืออาการแทรกซ้อนที่ยากจะช่วยเหลือได้ทันท่วงที ขึ้นอยู่กับทั้งสองฝ่ายได้ทำความเข้าใจและยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นหรือไม่ เพราะหากตั้งตนเป็นศัตรูกันแล้วเชื่อว่าคงไม่เป็นผลดีต่อทั้งฝ่ายคนรักษาและคนรับการรักษา

ถัดมาเป็นเรื่องของบริษัทเงินด่วนอย่าง บริษัทอีซี่บาย ที่ถูกลูกค้าเงินกู้รวมตัวร้องตำรวจกองปราบฯแจ้งความว่าคิดดอกเบี้ยเกินจริง เพราะเมื่อคิดคำนวณดอกเบี้ยดูแล้ว แทบต้องตกตะลึง เพราะบริษัทคิดดอกเบี้ยพวกเขาเกินกว่าร้อยละ 50 ต่อปี เกินกว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ห้ามคิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 28 ต่อปี โดยให้ทุกบริษัทดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 1 ก.ค. 49 ล่าสุดบริษัทอีซี่บาย เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยยอมลดดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ทุกคน ตามที่ ธปท.กำหนด ทั้งลูกหนี้เก่าและลูกหนี้ใหม่

แต่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้โต้แย้งประกาศ ธปท. ฉบับนี้ว่าไม่เป็นธรรม เพราะอัตราดอกเบี้ยของบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงินจะคิดได้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปีเท่านั้น พร้อมทั้งเตรียมจะฟ้องศาลปกครองอีกด้วย และยังเปิด ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค โทร. 0-2952-5060-2 ไว้ช่วยเหลือลูกหนี้ดอกมหาโหดอีกด้วย

ปัญหาการร้องเรียนของผู้บริโภคยังมีอีกนับไม่ถ้วน เมื่อดูสถิติจำนวนผู้ร้องเรียนผ่าน สคบ. ในปีงบประมาณ 2548 (1 ต.ค. 47-30 ต.ค. 48) มีจำนวนถึง 3,778 ราย ร้องเรียนเกี่ยวกับ โทรศัพท์มีมากที่สุด 627 ราย รองลงมา รถยนต์ 611 ราย บริการธนาคาร 75 ราย สินค้าและบริการ 56 ราย น้ำดื่ม 51 ราย และร้องเรียนเรื่องอื่น ๆ เช่น ประกันชีวิต ประกันภัย ความชำรุดของสินค้า ผิดสัญญาจอง รวมอีก 2,358 ราย

ขณะเดียวกันเรายังได้เห็นพลังของประชาชนที่นำโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ชุมนุมคัดค้านไม่ให้บริษัทไทยเบฟฯ เจ้าของผลิตภัณฑ์เบียร์ช้างเข้าตลาดหุ้นจนเป็นผลสำเร็จ หรือผลงานอันยิ่งใหญ่ (ยกแรก) ของเครือข่ายผู้บริโภคที่รวมตัวกันและยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อคัดค้านมิให้นำ บริษัทการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำกัด (มหาชน) เข้าตลาดหุ้น ซึ่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้บริษัท กฟผ. ระงับการกระจายหุ้นชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

ชัยชนะของ น.ส.เดือนเพ็ญ นางรัตนา และ นางดอกรัก รวมทั้งใครอีกหลายคน เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงความยุติธรรมในสังคม ไทย แม้ว่าปัญหาของอีกหลายคนยังไม่มีข้อยุติ แต่เราได้เห็นการรวมตัวของกลุ่มผู้ประสบปัญหาเพื่อเรียกร้องความรับผิดชอบ เราเห็นรัฐบาลกระตือรือร้น (เฉพาะช่วงที่เป็นข่าว) ลงมาแก้ปัญหา และเราหวังว่าปี 2549 จะเป็นปีที่ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองและได้รับความยุติธรรมมาก ยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก.
โดย: เครือข่ายฯ [14 ม.ค. 49 9:12] ( IP A:61.90.10.170 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
ความคิดเห็นที่ 1
   ปลื้ม....มาก
โดย: ไก่ [14 ม.ค. 49 11:37] ( IP A:125.24.31.181 X: )

คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน