แพทย์กับผู้ป่วย ความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไป
   https://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01act03130948&day=2005/09/13

แพทย์กับผู้ป่วย ความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไป
โดย นายแพทย์เกษม ตันติผลาชีวะ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา

ในปัจจุบันพบว่ามีข่าวเกี่ยวกับผู้ป่วยกล่าวหาแพทย์ที่สงสัยว่าจะให้การรักษาพยาบาลไม่ถูกต้องปรากฏบ่อยขึ้น ในกรณีที่พบว่ามีการรักษาโดยไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์

เมื่อมีการสอบสวนแล้วแพทยสภาก็มักมีการลงโทษแพทย์ที่ให้การรักษาพยาบาลไม่ได้มาตรฐานนั้นตามความเหมาะสมแก่กรณี ในรายที่กระทำผิดร้ายแรงอาจถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมไปเลย

ความสูญเสียที่เกิดขึ้นแก่ผู้ป่วยที่มารับบริการทางการแพทย์นั้นถือว่ายิ่งใหญ่มาก เพราะชีวิตคนนั้นไม่อาจประเมินค่าเป็นเงินตราได้ ชีวิตผู้ป่วยและญาติมิตรอันเป็นที่รักจึงมีค่าเหนือสิ่งอื่นใด และแพทย์ทุกคนได้รับการสั่งสอนมาให้สำเหนียกในความจริงข้อนี้เสมอ

ในการปฏิบัติงานนั้นแพทย์ส่วนใหญ่ก็พยายามใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ทุกขณะจิต เพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วยให้รอดพ้นจากความเจ็บไข้และทุกข์ทรมาน

ความเสียหายที่เกิดจากการรักษาพยาบาลนั้น หากวิเคราะห์ดูจะเห็นว่ามีส่วนน้อยมากที่เกิดจากการกระทำผิดโดยเจตนาหรือความโลภ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักเกิดในกรณีของการรักษาที่ไม่จำเป็นทั้งหลาย

บางกรณีความเสียหายอาจเกิดจากการขาดความรู้และประสบการณ์ของแพทย์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับวงการอื่นๆ ซึ่งต้องมีความบกพร่องที่เกิดจากคนเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วยเสมอ แม้แต่กระสวยอวกาศที่ใช้คนเก่งๆ ช่วยกันทำงานยังตกมาแล้วถึงสองลำ

กรณีแบบนี้จะยิ่งพบมากเมื่อเร่งผลิตแพทย์โดยคำนึงถึงปริมาณมากกว่าคุณภาพ และไม่สนใจรักษาแพทย์ที่มีประสบการณ์สูงไว้ในระบบ เพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้แพทย์รุ่นใหม่ที่ยังมีประสบการณ์น้อยอยู่

ปัจจัยหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครทราบและแม้แต่แพทย์เองบางทีก็ลืมนึกถึงคือความอ่อนล้าจากการทำงาน อันอาจมีส่วนทำให้ใช้สมาธิและสมองในการทำงานไม่ได้เต็มที่ รวมทั้งอาจทำให้การตัดสินใจไม่ดีเท่าที่ควร

เป็นเรื่องเหลือเชื่อหากเปิดเผยข้อมูลว่าแพทย์แต่ละคนที่ปฏิบัติงานบริการผู้ป่วยนั้นมีชั่วโมงทำงานมากเพียงใดในแต่ละสัปดาห์

แพทย์ที่รับราชการต้องปฏิบัติงานตามเวลาราชการเช่นเดียวกับข้าราชการทั้งหลาย วันหยุดก็ยังต้องมาตรวจผู้ป่วยที่รับไว้ในหอผู้ป่วย

นอกเหนือจากนั้นยังต้องอยู่เวรนอกเวลาราชการทั้งในตอนกลางคืนและวันหยุดราชการ โดยไม่ได้หยุดชดเชยในวันรุ่งขึ้น

ความถี่ของการอยู่เวรขึ้นอยู่กับจำนวนแพทย์ที่มีอยู่ในแต่ละโรงพยาบาล และความหนักเบาของงานขึ้นกับจำนวนผู้ป่วยที่โรงพยาบาลนั้นมี

แพทย์บางคนต้องทำการตรวจรักษารวมทั้งผ่าตัดผู้ป่วยหลายวันติดต่อกันโดยไม่มีเวลานอนเลย

สิ่งเหล่านี้แพทย์ปฏิบัติกันมานานโดยไม่ปริปากบ่น และทำโดยไม่มีค่าตอบแทนกันมาตลอดตั้งแต่โบราณกาล จนกระทั่งระยะหลังจึงเริ่มมีการจ่ายค่าเวรกันเล็กน้อย

นับได้ว่าแพทย์ในระบบราชการไทยได้รับค่าจ้างน้อยกว่าข้าราชการอื่นๆ เมื่อนับชั่วโมงทำงาน เงินเดือนเริ่มต้นก็มิได้แตกต่างจากข้าราชการทั่วไป แต่คงไม่สามารถไปเรียกร้องอะไรย้อนหลังได้เหมือนท่านผู้ทรงเกียรติทั้งหลาย

หากพิจารณาให้ถ่องแท้จะเห็นได้ว่าแพทย์แต่ละคนต้องเรียนนาน ทำงานหนัก ความรับผิดชอบสูง เพราะต้องรับผิดชอบต่อความเป็นความตายของคน ผลตอบแทนเป็นตัวเงินน้อย แต่แพทย์ก็ยอมทนเพราะอย่างน้อยก็ได้รับเกียรติและความเคารพนับถือจากผู้ป่วยเสมอมา เรื่องเงินทองก็สู้บากบั่นไปทำงานพิเศษนอกเวลาราชการ จนสังขารทรุดโทรม และมักตายเร็วกว่าประชากรทั่วไปในวัยเดียวกัน

สิ่งหนึ่งที่บั่นทอนขวัญและกำลังใจของแพทย์มากก็คือ การถูกกล่าวโทษจากผู้ป่วยในกรณีที่มีความสูญเสียหรือความตายเกิดขึ้นจากเหตุสุดวิสัย เช่น กรณีของการแพ้ยาอันไม่อาจคาดการณ์ได้ล่วงหน้า หรือในกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคร้ายแรงอยู่แล้วหรือเป็นโรคพิสดารที่พบน้อยมาก หรือเป็นโรคที่วินิจฉัยและรักษายาก

ในสมัยก่อนผู้ป่วยที่ไปรับการรักษาจากโรงพยาบาลของรัฐต้องจ่ายเงินเอง แต่กลับมีสัมพันธภาพที่ดีกับแพทย์มากกว่าในปัจจุบัน และไม่ค่อยสงสัยเคลือบแคลงเจตนาของแพทย์มากเหมือนในปัจจุบัน ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาโรงพยาบาลก็มักมีระบบสังคมสงเคราะห์พิจารณาความจำเป็นที่จะต้องให้ความช่วยเหลือ และนำรายได้ที่เก็บจากผู้ป่วยรายอื่นมาสนับสนุน ซึ่งแสดงว่ามีการกระจายอำนาจการพิจารณาสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยให้แก่โรงพยาบาล และรัฐบาลก็ไม่ต้องใช้งบประมาณมาก เพราะคนส่วนใหญ่จ่ายเงินค่ารักษาเอง

ในสมัยต่อมามีการออกบัตรสงเคราะห์ค่ารักษาพยาบาลผู้มีรายได้น้อยให้แก่ประชาชน โดยดึงอำนาจการพิจารณาไปอยู่ที่ฝ่ายมหาดไทย เป็นการเริ่มต้นที่ฝ่ายผู้รักษาไม่มีสิทธิพิจารณาผู้ป่วยว่าจนจริงหรือไม่ และบ่อยครั้งก็จำเป็นต้องให้การรักษาฟรีทั้งที่เห็นอยู่ชัดเจนว่าผู้ป่วยไม่จนจริง ส่วนรายที่จนจริงแต่ไม่มีบัตรก็ยังคงตกเป็นภาระของโรงพยาบาลอยู่ต่อไป

ในยุคปัจจุบันมีการดึงอำนาจเบ็ดเสร็จไปอยู่ที่รัฐบาล โดยการออกบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้แก่ประชาชนทั้งหมด ยกเว้นกลุ่มข้าราชการซึ่งมีสวัสดิการอยู่แล้ว และกลุ่มผู้ประกันสังคมซึ่งเป็นกลุ่มคนที่น่าสงสารที่สุด เพราะต้องจ่ายเงินเป็นเบี้ยประกันและยังได้รับสิทธิค่ารักษาพยาบาลต่ำกว่าพวกที่มีบัตรฟรีอีก จะขอเอาบัตรทองมาใช้เพื่อเสริมให้ครอบคลุมโรคที่ไม่ได้รับสิทธิก็กลับไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งแสดงว่าได้รับสิทธิต่ำกว่าประชาชนทั่วไป

เรื่องนี้น่าจะให้ผู้รู้ดีความว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

ในยุค 30 บาทรักษาทุกโรคและห่างไกลโรคนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคที่ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยตกต่ำที่สุด ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้ามักระแวงสงสัยว่าแพทย์ไม่ได้รักษาเต็มที่ หรือให้ยาที่ไม่ดีแก่ตน

บางครั้งเมื่อเรียกร้องให้แพทย์ส่งตรวจวินิจฉัยทางห้องทดลอง เช่น เอ็กซเรย์หรือการตรวจพิเศษอื่น และแพทย์เห็นว่าไม่มีความจำเป็นก็มักไม่พอใจ บางรายก็ด่าว่าแพทย์เสียๆ หายๆ จนแพทย์บางคนอยากเลิกอาชีพไปเลย

ในยุคบัตรทองผ่องอำไพนี้ รัฐบาลจึงเป็นใหญ่ที่สุดในแผ่นดินเพียงผู้เดียว โดยเป็นผู้เอาเงินภาษีอากรมาให้หรือแจกแก่ประชาชน ซึ่งเป็นผู้รับแจกของสมนาคุณ เป็นการตอบแทนที่ให้มาเป็นรัฐบาล ส่วนแพทย์เป็นเพียงผู้ที่รัฐบาลจ้างมาเพื่อให้บริการแก่ประชาชน จึงไม่จำเป็นที่ผู้ป่วยจะต้องเชื่อฟังคำแนะนำของแพทย์อีกต่อไป หากบริการไม่ถูกใจหรือระแวงสงสัยสิ่งใดก็ต้องฟ้องไว้ก่อน

เป็นที่น่าห่วงว่าอนาคตของวงการแพทย์ไทยจะเป็นอย่างไร และประชาชนจะได้รับผลกระทบอย่างไรจากการเปลี่ยนแปลงนี้ ในปัจจุบันเด็กที่เรียนเก่งๆ ก็ไม่ค่อยสนใจจะเรียนแพทย์กันแล้ว แต่หันไปเรียนสาขาอื่นที่ทำงานง่ายกว่าและให้ผลตอบแทนดีกว่า

ในอนาคตเราจะมีแพทย์แบบใดและมีคุณภาพเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับรากฐานที่เราวางไว้ในวันนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรต่อไปอีก ก็ขึ้นกับการรับรู้ปัญหาและการแก้ไขในตอนนี้ ซึ่งอาจช่วยไม่ให้เราต้องมีการฟ้องร้องแพทย์กันมากมายเหมือนในบางประเทศที่มีนักกฎหมายเรียนจบมากจนไม่มีงานทำ จึงหันมายุให้ฟ้องร้องแพทย์เป็นงานหลัก จนแพทย์บางคนในประเทศนั้นไม่ยอมรักษาทนายความก็มี

สิ่งที่ตามมาจากการฟ้องร้องกันมากก็คือ แพทย์ต้องจ่ายเบี้ยประกันการฟ้องร้อง ผลร้ายก็ตกอยู่แก่ระบบการรักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายค่าแพทย์แพงขึ้นโดยที่แพทย์ไม่ได้รับแต่บริษัทประกันรับไปแทน

อาชีพแพทย์อยู่ได้ก็เพราะศรัทธาและความไว้วางใจของผู้ป่วย อันเป็นรากฐานของความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย หากสังคมเห็นความสำคัญก็น่าจะช่วยกันรักษาแพทย์ให้คงความน่าเชื่อถือไว้ โดยเริ่มจากการสอนในโรงเรียนแพทย์ โดยอาจารย์แพทย์ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี

ส่วนค่าตอบแทนก็ควรพิจารณาให้เหมาะสม อย่างน้อยก็ควรให้พออยู่พอกินได้อย่างมีเกียรติและมีศักดิ์ศรี จะได้ไม่ต้องไปทำอะไรที่น่าเกลียดหรือปล่อยให้ภาคธุรกิจอย่างเช่นบริษัทยามาซื้อตัวซื้อใจไป
โดย: เครือข่ายฯ [5 ม.ค. 49 6:39] ( IP A:61.90.14.137 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
ความคิดเห็นที่ 1
   ผลพวงจาก 30 บาทรักษาทุกโรค และโฆษณา สร้างความคาดหวังแก่ประชาชนมากเกินไป ขณะที่งบประมาณให้มาไม่พอแก่ภาระหน้าที่ ผู้ป่วยมาใช้บริการมากขึ้น บุคลากรเท่าเดิมหรือน้อยลงจากการลาออกไปอยู่ภาคเอกชน ผู้ป่วยบางท่านค่อนข้างต้องการมากเกินความจำเป็น ปัญหาความไม่เข้าใจระหว่างแพทย์และผู้ป่วยย่อมมากขึ้นแน่นอน เหล่านี้เป็นปัญหาสาธารณสุขที่รัฐมนตรีต้องแก้ไข ไม่ใช่เข้ามาเพื่อสร้างปัญหาแก่วงการสาธารณสุขมากขึ้น
โดย: sungchai_ang@yahoo.com [5 ม.ค. 49 7:53] ( IP A:203.121.160.61 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
   อาจารย์เกษม ตันติพลาชีวะ .... พยานผู้เชี่ยวชาญในคดีศาลปกครองคดีหนึ่ง .. กล่าวว่า การแต่งเติมเวชระเบียนภายหลังของแพทย์ เป็นสิ่งที่กระทำได้โดยไม่ผิด ..

ผมรู้สึกเศร้าใจ ที่ได้อ่านคำให้การของท่าน
โดย: LEX [5 ม.ค. 49 9:59] ( IP A:210.86.181.20 X: )
ความคิดเห็นที่ 3
    การที่คนกลางไม่ยอมตำหนิคนที่ละเมิดจริยธรรม ทำให้ความสัมพันธ์มันเลวลงจริงๆ
โดย: LEX [5 ม.ค. 49 10:02] ( IP A:210.86.181.20 X: )

คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน