คลอด 1000 คน ตาย 9 คน
   สธ.ไทยร่วมประชุมอนามัยโลกลดการตายแม่และเด็ก

กรุงเทพฯ 15 พ.ค.- “ศ.นพ.สุชัย” นำทีมผู้บริหาร นักวิชาการ เข้าร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลก ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในปีนี้เน้นแก้ปัญหาแม่และเด็ก ขณะนี้ทั่วโลกพบการตายนาทีละ 22 คน

โดยหญิงตั้งครรภ์ตายปีละกว่าครึ่งล้านคน เหตุเพราะตกเลือด ส่วนเด็กตายปีละ 11 ล้านคน โดยไทยจะโชว์ความสำเร็จด้านการลดการติดเชื้อเอดส์จากแม่สู่ลูก และประกาศความพร้อมการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมการส่งเสริมสุขภาพโลกที่ไทยปีนี้ด้วย

ศ.นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ระหว่างวันที่ 15-19 พฤษภาคมนี้ องค์การอนามัยโลกได้จัดประชุมสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 58 ที่นครเจนีวา

ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ การประชุมครั้งนี้มีผู้นำระดับรัฐมนตรีสาธารณสุข นักวิชาการสาขาต่างๆจากประเทศสมาชิก 192 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งไทยด้วย เข้าร่วมประชุมกว่า 2,000 คน ในการประชุมครั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้ให้เกียรติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทย เป็นผู้แทนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือเซียโร (SEARO) ซึ่งมี 11 ประเทศ นับว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ให้ทำหน้าที่เป็นรองประธานการประชุมใหญ่ครั้งนี้ ซึ่งมีทั้งหมด 6 คนด้วยกัน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจากประเทศสเปนทำหน้าที่ประธานการประชุม สำหรับประเด็นหลักที่องค์การอนามัยโลกมุ่งเน้นให้ทุกประเทศเร่งแก้ไขในปีนี้ คือ เรื่องอนามัยแม่และเด็ก เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชากรทั่วโลก และเป็น 1 ใน 8 ประเด็นที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดไว้ในแผนการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ( Millennium Development

Goals : MDG) ให้ทุกประเทศทั่วโลกดำเนินการแก้ปัญหาให้บรรลุก่อน พ.ศ.2558 โดยองค์การอนามัยโลกรายงานว่า ต่อปีจะมีหญิงทั่วโลกคลอดบุตร 136 ล้านคน ในจำนวนนี้เสียชีวิตระหว่างคลอดประมาณ 529,000 คน เฉลี่ยนาทีละ 1 คน ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะกลุ่มประเทศแถบแอฟริกา

ศ.นพ.สุชัย กล่าวว่า การตกเลือดหลังคลอดเป็นปัญหาสำคัญที่สุดพบประมาณร้อยละ 50-71 และอีกร้อยละ 20 เสียชีวิตมาจากสาเหตุอื่น เช่น โรคมาลาเรีย การติดเชื้อเอชไอวี ส่วนเด็กมีรายงานเสียชีวิตปีละ 11 ล้านคน เฉลี่ยนาทีละ 21 คน โดย 7 ล้านคนเสียชีวิตก่อนอายุ 5 ปี จึงเป็นปัญหาต่อการพัฒนาประชากรโลกเป็นอย่างมาก

“ในส่วนของประเทศไทย ล่าสุดในปี 2545 มีหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต 161 คน หรือพบได้ 23 คนในการเกิดมีชีพทุก 1 แสนคน และมีเด็กทารกเสียชีวิต 6,439 คน คิดเป็นอัตรา 9 คนต่อ 1,000 ของการเกิด โครงการแก้ปัญหาสุขภาพแม่และเด็กที่ไทยประสบผลสำเร็จมากที่สุด และโด่งดังไปทั่วโลกได้แก่การให้ยาต้านไวรัสเอดส์ในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งมีร้อยละ 1.37 ของหญิงตั้งครรภ์ สามารถลดการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกลงจากร้อยละ 30 ในปี 2533 เหลือเพียงร้อยละ 2 ในปี 2547 ในการประชุมครั้งนี้ก็จะได้นำประสบการณ์ไปแลกเปลี่ยนในที่ประชุมด้วย” ศ.นพ.สุชัย กล่าว

ศ.นพ.สุชัย กล่าวด้วยว่า ไทยตั้งเป้าหมาย ภายในปี 2549 จะลดอัตราตายแม่ให้เหลือ 18 ต่อการเกิดมีชีพทุก 1 แสนคน และแนวโน้มบรรลุผลมีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากขณะนี้คนไทยร้อยละ 95 มีหลักประกันสุขภาพ

ทางด้าน นพ.วิชัย เทียนถาวร ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการไปร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ไปจัดนิทรรศการแสดงความพร้อมการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมการส่งเสริมสุขภาพโลก ครั้งที่ 6 ในวันที่ 7-12 สิงหาคม 2548 ที่ กทม. ในที่ประชุมด้วย

และนำโปสเตอร์แผ่นพับไปแจกด้วย เพื่อเชิญชวนผู้นำประเทศ นักวิชาการต่างประเทศเข้าประชุม คาดว่าจะมีผู้ตอบรับเข้าประชุมประมาณ 2,000 คน.-

2005-05-15

ที่มา:สำนักข่าวไทย
โดย: เครือข่ายฯ [18 ก.พ. 49 8:57] ( IP A:61.90.21.137 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
ความคิดเห็นที่ 1
   คลอด 1000 คน ตาย 9 คน
คลอด 1000 คน ฟ้อง 9 คดี
โดย: ปสด. [19 ก.พ. 49] ( IP A:125.24.78.81 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
   ไอที่หมอช่วยให้รอดมาได้ แต่พิการมันก็จะฟ้องหวะ
รู้งี้ปล่อยให้ตายทั้งกลม
โดย: พลเมืองดีหนีหมด [19 ก.พ. 49 9:38] ( IP A:203.113.41.71 X: )
ความคิดเห็นที่ 3
   เวลาเกิดผลร้ายแรงอันไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น ควรที่จะรีบเยียวยาแก้ไข และรีบชี้แจงตามหลักวิชาว่าปัญหาเกิดจากอะไร เพื่อให้ชาวบ้านได้เข้าใจกันดีกว่าที่รีบออกมาปฏเสธความรับผิดกัน เชื่อว่าคนระดับชาวบ้านส่วนใหญ่มีภูมิปัญญาแยกแยะถูกผิดออก และชาวบ้านเองก็ไม่ควรมองแพทย์ผู้มีเจตนาดีในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เป็นอาชญากรไปเสียหมด เพราะเวลาเกิดเรื่องร้ายแรงขึ้นก็เชื่อว่าคงไม่มีหมอที่รักษาคนใดยิ้มกับผลงานอันไม่พึงประสงค์เช่นกัน
โดย: คนเขียนหนังสือ \"แพทย์กับกระบวนการยุติธรรม ฯ\" [11 เม.ย. 49 13:01] ( IP A:125.24.81.130 X: )

คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน