เห็นเขาว่ากัน
   อัดแพทยสภาไม่รับฟังปัญหา ดีแต่ปกป้องแพทย์ "หมอหงวน" แนะตั้งระบบเยียวยาเรียกศรัทธาคืน

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 19 สิงหาคม 2548 18:53 น.


เสวนาหาแนวทางระบบการเยียวยาผู้เสียหายทางการแพทย์ไม่คืบหน้า ฝ่ายประชาชนชี้แพทยสภาไม่รับฟังปัญหา ดีแต่ปกป้องแพทย์ ขณะที่รองเลขาแพทยสภาแจงไม่มีอำนาจตัดสินใจ ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเสนอให้มีระบบการชดเชยเยียวยาผู้เสียหายที่ใช้กับคนไทยทุกคน เชื่อแก้ปัญหาได้ ด้าน “หมอหงวน” เผยหมอกับประชาชนเหมือนปลากับน้ำ ต้องอยู่ด้วยกัน เสนอพร้อมร่วมมือให้มีการตั้งระบบที่ชัดเจนในการเยียวยาเพื่อลดการฟ้องร้อง และเรียกศรัทธาสู่วงการแพทย์

วันนี้ (19 ส.ค.) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการเสวนา “จากดอกรัก…สู่ระบบการเยียวยาผู้ได้รับการเสียหายจากบริการทางการแพทย์” โดยมี น.พ.สมศักดิ์ เจริญชัยปิยกุล รองเลขาธิการแพทยสภา นางสาวสารี อ๋องสมหวัง กรรมการผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค น.พ.อุกฤษฏ์ มิลินทางกูร เลขาธิการมูลนิธิหมอชาวบ้าน น.พ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตลอดจนเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ร่วมเสวนาด้วย

นางสาวสารีกล่าวว่า จากกรณีของนางดอกรัก เพ็ชรประเสริฐ ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจในเรื่องของระบบการชดเชยดูแลผู้เสียหายจากการบริการทางการแพทย์ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีระบบใดๆ ที่ชดเชยความเสียหาย ถ้านางดอกรักไม่ฟ้องก็จะไม่ได้อะไรเลย คิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องคิดระบบขึ้นใหม่ที่ครอบคลุมชดเชยผู้เสียหายทุกระดับ และต้องมีรายละเอียดและมาตรฐานที่ชัดเจนถึงขอบเขตของผู้เสียหาย เช่น เมื่อพิการหรือเสียชีวิต และต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเยียวยาผู้ป่วยที่มากกว่าการช่วยเหลือแค่เบื้องต้น และต้องมีการช่วยเหลือทันทีเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น

“มีตัวอย่างหลายประเทศในโลกที่มีระบบการชดเชยให้กับผู้เสียหายทางการแพทย์ เช่น ประเทศในแถบสแกนดิเนเวียได้มีการชดเชยให้ผู้เสียหายไม่เพียงแต่เฉพาะแค่เหตุสุดวิสัย แต่ชดเชยครอบคลุมไปถึงความผิดพลาดของแพทย์ด้วย อยากเห็นการปรับปรุงในเชิงโครงสร้างของแพทยสภา ควรจะมีคนนอกที่ประกอบไปด้วยตัวแทนจากหลายภาคส่วน เช่น นักกฏหมาย นักวิชาการ หรือนักสังคมสงเคราะห์ เข้ามามีส่วนร่วม”

นางสาวสารีกล่าวต่อว่า ประเทศไทยจะต้องปรับปรุงระบบสุขภาพโดยรวม ขณะนี้เรามีระบบบริการหลักประกันสุขภาพที่เป็นระบบใหญ่ และจะทำอย่างไรจึงจะทำให้ผู้ได้รับการบริการและผู้ให้บริการเกิดปัญหาน้อยที่สุด รวมทั้งต้องมีการกระจายบุคลากรทางการแพทย์ กระจายทรัพยากรให้เพียงพอกับความต้องการในการบริการทางการแพทย์ต่อประชาชนด้วย

น.พ.สมศักดิ์ เจริญชัยปิยกุล กล่าวว่า คงตอบไม่ได้ว่าจะสามารถมีตัวแทนจากคนนอกเข้ามาเป็นกรรมการแพทยสภาได้หรือไม่ แต่ก็จะนำเรื่องเข้าในที่ประชุมรับทราบและให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณา สำหรับปัญหาในเรื่องของการเยียวยาผู้ป่วยนั้นอยากจะให้เกิดระบบที่สามารถเยียวยาผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายจากการบริการทางการแพทย์ ซึ่งทำอย่างไรจึงจะสามารถครอบคลุมกับประชาชนทุกระดับ ในกรณีของมาตรา 41 ยังไม่สามารถครอบคลุมประชาชนได้ทั้งประเทศ ดังนั้นจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะการตั้งกองทุนต่างๆ ขึ้นมา เช่น กองทุนผู้ป่วยที่เกิดจากโรคสตีเวน จอห์สัน ซินโดรม

น.พ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า คนไข้กับหมอก็เหมือนปลากับน้ำที่จะต้องพึ่งพาอาศัยกัน อยากให้กรณีของนางดอกรักเป็นกรณีตัวอย่าง ซึ่งถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ในวงการแพทย์ไทยว่าถ้าการจัดการในระบบไม่ดี อนาคตปลากับน้ำก็จะแยกกัน ต้องเรียกศรัทธาคืนมา เราต้องพยายามสร้างสะพานเชื่อมมากกว่าการสร้างกำแพง คำตอบไม่ใช่การไปศาล เพราะจะต้องมีฝ่ายที่ชนะและฝ่ายที่แพ้ และต้องมีการอุทธรณ์ ฎีกาจนถึงที่สุด นำมาซึ่งความเสียหายของทุกฝ่าย คุณดอกรักสู้มา 6 ปี วันที่ชนะคดีเหมือนความทุกข์ของตนเองได้ปลดเปลื้องไป แต่จะมีใครทราบหรือไม่ว่า 6 ปีที่ผ่านมาคุณดอกรักต้องเผชิญกับความทุกข์อะไรบ้าง เธอมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร ซึ่งสังคมไทยต้องดูกรณีของดอกรักไปศึกษาว่าเราจะแก้ปัญหาและจะสร้างระบบอย่างไรคนไข้ถึงจะได้รับความช่วยเหลือโดยไม่ต้องรอถึง 6 ปีหรือมากกว่านั้น

“ปัจจุบันกลไกการช่วยเหลือผู้เสียหายนั้นครอบคลุมเฉพาะผู้มีสิทธิ์ประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือผู้มีสิทธิ์ในโครงการ 30 บาทเท่านั้น แต่ยังไม่ครอบคลุมถึงข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจและครอบครัว รวมถึงผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมด้วย ซึ่งจะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้ได้รับการคุ้มครอง ผมคิดว่าน่าจะมีการตั้งเงินกองทุนชดเชย โดยเป็นความร่วมมือทั้งภาครัฐบาลและเอกชนรวมไปถึงคลีนิคด้วยซึ่งอาจจะใช้วิธิการรวมเงินลงขันจำนวนหนึ่งตั้งเป็นกองทุนชดเชยได้”

ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในมาตรา 41 ที่ช่วยเยียวยาผู้เสียหายนั้นยังมีปัญหาใหญ่ ก็คือไม่สามารถครอบคลุมเหตุที่เกิดจากการแทรกซ้อนที่เกิดจากการวินิจฉัยโรคตามมาตรฐาน ซึ่งในกรณีของโรคสตีเวน จอห์นสัน ซินโดรมก็ไม่เข้าข่าย จึงเหมือนการบังคับให้นางดอกรักต้องดำเนินการยื่นฟ้อง ซึ่งเราทราบว่ากรณีนี้ไม่มีใครผิดถูก แต่ระบบก็บังคับให้ต้องมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขตรงนี้ด้วย และเสนอว่าควรจะต้องกองทุนเพื่อชดเชยจากเหตุสุดวิสัยที่ครอบคลุมไปถึงการรักษาไที่ไม่ได้มาตรฐานหรือความบกพร่องของแพทย์ด้วย ในกรณีของแพทย์ที่บกพร่องในหน้าที่ไม่เอาใจใส่คนไข้ จำเป็นที่จะต้องมีความผิด ซึ่งอาจจะให้กองทุนมีคณะกรรมการที่คอยตรวจสอบตอดตามความผิดของแพทย์ด้วย

“สำหรับบทบาทของแพทยสภา เสนอว่าควรเป็นไปเพื่อสังคมส่วนรวมไม่ใช่ปกป้องแพทย์ ถ้าจะทำหน้าที่เพื่อการปกป้องแพทย์ ควรจะตั้งเป็นสมาคมวิชาชีพแพทย์แทน เป็นความผิดของวงการแพทย์ที่พยายามส่งแพทย์เข้าไปยึดกุมในแพทยสภาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของแพทย์ วันนี้ เมื่อแพทยสภาพูดอะไรออกมา สังคมไม่เชื่อ และเกิดการถกเถียง ต่างจากสภาวิศวกรรมที่เมื่อออกมาพูดเรื่องข่าวรันเวย์สนามบินหนองงูเห่าร้าวแล้ว สังคมเชื่อถือ ถึงเวลาที่แพทยสภาต้องปรับบทบาทครั้งใหญ่แล้ว” ดร.วิโรจน์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในการเสวนา กลุ่มเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ได้ประท้วงการดำเนินรายการที่ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้พูด กลับพูดถึงแต่ปัญหาของฝ่ายแพทย์ โดยนางดลพร ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือขายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า ไม่เคยมีเวทีไหนที่ให้ประชาชนได้พูด ทุกคนที่มาวันนี้มีปัญหา มีความเสียหาย อยากให้เแพทยสภาทบทวนบทบาทของตนเอง มีคนนอกเข้าไปเป็นกรรมการ ทั้งกล่าวถึงเรื่องเวชระเบียนว่า เสนอให้เวชระเบียนเป็นสิทธิของผู้ป่วย แพทย์จะอ้างว่าทำหายไม่ได้ ถ้าสูญหายหรือมีการแก้ไขผิดจากเดิมต้องมีโทษทางอาญา

อย่างไรก็ตามในการเสวนาไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์แสดงความเห็นว่าแพทยสภาไม่รับฟังปัญหาประชาชน อ้างแต่คดีไม่มีมูล เหตุสุดวิสัย ขณะที่รองเลขาธิการแพทยสภาระบุว่า เป็นเพียงแค่คณะกรรมการคนหนึ่งเท่านั้น ไม่มีอำนาจตัดสินใจ แต่จะนำเรื่องที่มีการเสนอในวันนี้เข้าสู่ที่ประชุมด้วย


แล้วแพทยสภาเห็นทีต้องพิจารณาตัวเองหรือเปล่า เห็นพฤติกรรมการทำงานมานานแล้ว ขอพูดทีเถอะ
โดย: นอนไม่หลับ [18 ก.พ. 49] ( IP A:61.90.96.50 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live

คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน