บทความคุณหมออำพล
   ปัญหาความขัดแย้ง ระหว่างหมอกับคนไข้ ต้องแก้เชิงระบบ 3 เรื่อง

โดย อำพล จินดาวัฒนะ ผอ.สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ

@ เกริ่นนำ

ในชีวิตความเป็นแพทย์ทุกคน ต้องเคยเจอเหตุการณ์ที่คนไข้มีปัญหาหรืออาจเสียชีวิตในระหว่างการรักษากันทั้งนั้น ด้วยสาเหตุหลายประการ ได้แก่ ความบกพร่องของเครื่องมือเทคโนโลยี วิธีการ หยูกยา ระบบบริการ บางกรณีอาจเป็นเหตุสุดวิสัยที่คาดไม่ถึง บางกรณีอาจเกิดจากความผิดพลาดของหมอและทีมงาน แต่ในหลายกรณีไม่สามารถบอกสาเหตุได้แน่ชัด

เมื่อเกิดเรื่องขึ้นหมอก็ไม่เป็นสุข แต่คนไข้และญาติจะทุกข์มากกว่าเพราะอาจต้องพิการ เจ็บป่วยหนัก หรือต้องสูญเสียญาติมิตรที่ผูกพันกันมาก ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้น

สมัยผู้เขียนเป็นแพทย์อยู่โรงพยาบาลชุมชนในท่ามกลางความขาดแคลน ก็เคยรักษาคนไข้แล้วตายคามือ โดยไม่รู้ว่าคนไข้ตายเองหรือรักษาผิดพลาดอะไร

เคยรักษาคนไข้ถูกงูสามเหลี่ยมกัด โรงพยาบาลผมมีเซรุ่มไม่พอรักษา จึงส่งต่อไปโรงพยาบาลใหญ่พร้อมใบส่งตัว และส่งงูตัวที่กัดไปให้ดูด้วย แต่คนไข้ตายในวันรุ่งขึ้นเพราะหมอเวรไม่สั่งฉีดเซรุ่มต่อ (กรณีนี้ระบบบริการและหมอผิดพลาดแน่นอน)

แต่กรณีเหล่านั้นไม่เคยมีการฟ้องเรียกค่าเสียหาย ไม่เคยมีการฟ้องเอาผิดอาญากับหมอ เพราะเรามีสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน อยู่ทำงานใกล้ชิดชุมชน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเขา ไม่เคยมีปัจจัยเรื่องเงินเข้ามาเป็นตัวกลาง

เมื่อมีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้นเราก็พูดคุยกันอย่างเปิดเผยและจริงใจเรื่องหนักก็ผ่อนเป็นเบาได้ เพราะโดยทั่วไป ไม่มีคนไข้หรือญาติที่ไหนอยากมีเรื่องกับหมออยู่แล้ว

ปัจจุบันสถานการณ์ดูเปลี่ยนไปมาก มีกรณีคนไข้ฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงินมากๆ จากหมอจากโรงพยาบาล หลายรายฟ้องอาญาหมอราวกับว่าหมอเป็นอาชญากร

ความขัดแย้งระหว่างหมอกับคนไข้ดูว่าจะทวีความรุนแรงอย่างเห็นได้ชัด วงการหมอเกิดความทุกข์หนัก

ฟากประชาชนก็ดูจะไม่เป็นสุข ระแวงว่าอาจเกิดปัญหาเวลาไปหาหมอ สัมพันธภาพที่ดีระหว่างหมอกับคนไข้ดูจะสั่นคลอนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

สภาพการณ์เช่นนี้ ไม่เป็นผลดีกับใครเลย เพราะการดูแลรักษาโรคและสร้างเสริมให้เกิดสุขภาพดี จะเกิดขึ้นได้ต้องวางอยู่บนฐานของความเป็นกันเอง ศรัทธา ไว้วางใจ มีเยื่อใย เชื่อมั่นในศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์ของกันและกัน

เนื่องด้วยการแพทย์มิใช่มีแค่มิติทางวิทยาศาสตร์เท่านั้นแต่ต้องมีมิติทางมนุษย์และจิตวิญญาณควบคู่กันไป

@ สาเหตุของปัญหา

สังคมวันนี้สลับซับซ้อนกว่าอดีตมาก สภาพต่างคนต่างอยู่ สัมพันธ์กันอย่างผิวเผิน การคุยกันด้วยสิทธิเป็นหลัก ตัวใครตัวมัน ตาต่อตาฟันต่อฟันมากขึ้น

ระบบการแพทย์ก็เปลี่ยนไปมาก มีทั้งบริการของรัฐเพื่อมหาชน และการแพทย์เชิงธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ฝ่ายประชาชนก็เรียนรู้มากขึ้น คาดหวังต่อระบบทุกระบบมากขึ้น

อาจกล่าวโดยสรุปถึงสาเหตุความขัดแย้งระหว่างหมอกับคนไข้ที่มากและรุนแรงขึ้นมาจากปัจจัยอย่างน้อย 3 ประการ คือ

1.เวชศาสตร์แปลกหน้า ระบบบริการการแพทย์ของเราเป็นบริการแบบคนแปลกหน้าของกันและกัน หมอก็เป็นคนแปลกหน้าของคนไข้ คนไข้ก็เป็นคนแปลกหน้าของหมอ พบเจอกันเป็นรายๆ เป็นครั้งๆ แล้วก็จบกันไป สายสัมพันธ์เชิงมนุษย์ที่เป็นความใกล้ชิดผูกพันและต่อเนื่อง ลดน้อยลงไปมาก

ดังนั้น เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม การทำความเข้าใจร่วมกันบนพื้นฐานของความเชื่อมั่นไว้วางใจจึงเกิดขึ้นได้ยากตามไปด้วย

2.เวชศาสตร์เงินนำ ต้องยอมรับว่าการแพทย์ของไทยถูกสังคมอนุญาตให้ทำเป็นธุรกิจค้ากำไรเชิงธุรกิจไปแล้วโดยปริยาย และการแพทย์ส่วนนี้กำลังขยายปริมณฑลกว้างขึ้นอย่างรวดเร็วตามนโยบายเพิ่มตัวเลขด้านเศรษฐกิจของประเทศ

ด้านหนึ่งเป็นคุณแก่คนไทย คือทำให้บริการการแพทย์มีการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานบริการสูงขึ้น

แต่การแพทย์เชิงการค้า เช่นนี้ ทำให้มิติเชิงมนุษยธรรมย่อหย่อนลงไป ความสัมพันธ์ก็เปลี่ยนไป คนไข้กลายเป็น "ผู้ซื้อบริการ" หมอกลายเป็น "ผู้ขายบริการ" ค่าบริการก็แพงมากตามไปด้วย

และค่าบริการที่แพงมากนี้เอง ทำให้ประชาชนคาดหวังว่าผลลัพธ์จะต้องดีที่สุด ผิดพลาดไม่ได้เลย ถ้าผิดพลาดคลาดเคลื่อนขึ้นมา ก็ต้องเรียกร้องและเล่นงานกันอย่างสุดสุด แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน

3.เวชศาสตร์การเมือง ฝ่ายการเมืองได้กำหนดนโยบายสร้างหลักประกันให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงบริการการแพทย์ในราคาถูก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่การพยายามหาคะแนนเสียงมีผลทำให้ประชาชนคาดหวังสูงต่อคุณภาพและมาตรฐานบริการ ในขณะที่การพัฒนาระบบรองรับยังตามไม่ทันและทรัพยากรจำกัดจำเขี่ย จึงมีผลทำให้เกิดปัญหาขึ้นในระบบบริการแบบรายวัน

ความขัดแย้งและความตึงเครียดระหว่างหมอกับคนไข้ก่อตัวรุนแรงมากขึ้นตลอดเวลา และนโยบายทำไทยให้เป็นศูนย์กลางการแพทย์ในภูมิภาค ก็มีผลทำให้ปัจจัยในข้อ 2 ทวีความรุนแรงขึ้นไปอีกด้วย

@ ทางแก้ปัญหา

ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาเชิงระบบ ไม่ใช่ปัญหาที่แก้ง่ายๆ แค่ให้ความเห็นอกเห็นใจ หรือจับเข่าคุยกันหรือทางโน้นพูดที ทางนี้พูดที หรือตีโวหารกันไปเรื่อยๆ แต่ควรแก้เชิงระบบโดยใช้องค์ความรู้ทางวิชาการ ไตร่ตรองให้รอบคอบ แล้วทำอย่างรวดเร็ว จริงจัง จึงจะลดปัญหาได้อย่างได้ผลและส่งผลระยะยาว การแก้เชิงระบบ ควรทำอย่างน้อย 3 เรื่องคือ

1.สร้างระบบเวชศาสตร์ครอบครัว ใช้กลไกการเงินการคลังของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการและอื่นๆ กำหนดเป็นมาตรการให้เกิดระบบบริการปฐมภูมิ หรือสถานพยาบาลใกล้บ้านใกล้ใจ ให้คนไทยทุกคนมีหมอประจำตัว/ประจำครอบครัว (และชุมชน)

ระบบนี้จะทำให้หมอกับคนไข้มีสายใยความสัมพันธ์เชิงมนุษย์ต่อกัน รู้จักมักคุ้นใกล้ชิดกันร่วมทุกข์ร่วมสุขกันเหมือนญาติมิตร หมอเป็นส่วนหนึ่งของคนไข้และครอบครัว คนไข้และครอบครัวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตหมอ

ความสัมพันธ์แบบเวชศาสตร์แปลกหน้าจะคลี่คลายลงไป เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน สัมฤทธิผลการรักษาก็จะดี หากมีปัญหาใดเกิดขึ้นไม่ว่าหนักหรือเบาก็สามารถร่วมกันคลี่คลายได้อย่างสันติวิธี ปรากฏการณ์ตาต่อตาฟันต่อฟันก็จะลดน้อยลง

อย่างที่ รพ.อุ้มผาง จ.ตาก รพ.ด่านซ้าย จ.เลย รพ.น้ำพอง และ รพ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขาจัดระบบบริการในแนวนี้ แม้ว่าหากเกิดเรื่องร้ายแรงขนาดหมอทำคนไข้ตายคามือก็จะไม่มีการฟ้องร้องเอาเป็นเอาตายอย่างแน่นอน

ที่ประเทศอังกฤษ เขาใช้ระบบแบบนี้ การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายสูงๆ หรือฟ้องอาญาหมอเกิดขึ้นน้อย ตรงข้ามกับในอเมริกา ที่ใช้ระบบเวชศาสตร์แปลกหน้าและเวชศาสตร์เงินนำ ที่นั่นฟ้องกันอย่างสุดสุด จนหมอต้องทำประกันการประกอบวิชาชีพ และทำการตรวจรักษาแบบให้ครอบคลุมมากเข้าไว้ เพื่อป้องกันตนเอง (defensive medicine) แล้วมาคิดค่ารักษาแพงยิ่งขึ้น หมอก็ขาดความสุข ประชาชนก็เดือดร้อน ซึ่งเมืองไทยกำลังเดินตามแบบบ้านเขา

2.ตั้งกองทุนชดเชยความเสียหาย ควรรีบออกกฎหมายตั้งกองทุนชดเชยความเสียหายอันเนื่องมาจากบริการการแพทย์ โดยเก็บเงินในสัดส่วนเล็กน้อยจากบริการการแพทย์ ธุรกิจยาและเวชภัณฑ์ เป็นต้น มาตั้งเป็นกองทุน มีกรรมการบริหารกองทุนไว้พิจารณาจ่ายเงินชดเชยให้กับประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการการแพทย์ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดๆ หรือจาก รพ.ใดๆ โดยไม่ต้องเสียเวลาพิสูจน์ความถูกผิด

การจ่ายเงินชดเชยความเสียหายต้องมีอัตราจ่ายที่สูงมากพอสมควร เช่น กรณีเสียชีวิต อาจต้องจ่ายสัก 1-2 ล้านบาท แม้ไม่สามารถทดแทนชีวิตที่เสียไปได้แต่อย่างน้อยก็สามารถช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตได้ตามสมควร

เมื่อกองทุนจ่ายเงินให้แล้วญาติหรือคนไข้ต้องไม่มีสิทธิไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากหมอจากโรงพยาบาลซ้ำอีก แต่ถ้าไม่พอใจก็ไม่รับเงินจากกองทุน ไปฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมตามระบบปกติเอาเองได้

กรณีเช่นนี้ ผู้เสียหายและครอบครัว จะได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสมและโดยทันท่วงที ส่วนการค้นหาความผิดว่าเกิดจากอะไร ก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสภาวิชาชีพ หน่วยงานต้นสังกัดของโรงพยาบาลหรือผู้รักษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลนั้นๆ ดำเนินการกันไป ผู้เสียหายก็ไม่ต้องมาเสียเวลากับกระบวนการเหล่านั้นให้เกิดทุกข์ซ้ำซ้อน

ที่จริงภายใต้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มีกลไกชดเชยความเสียหายอยู่ด้วย แต่ครอบคลุมเฉพาะผู้อยู่ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพและสามารถชดเชยค่าเสียหายได้ต่ำ

ดังนั้น กองทุนนี้อาจพัฒนาต่อยอดจากส่วนนั้น หรือสร้างขึ้นใหม่เพื่อให้เป็นกลไกที่สมบูรณ์ก็ได้เรื่องนี้คุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการ สปสช. มีความเชี่ยวชาญอย่างมากอยู่แล้ว ถ้ารัฐบาลเอาจริง น่าจะทำเสร็จได้ในเวลาไม่นาน

3.ควบคุมทิศทางระบบบริการการแพทย์เชิงธุรกิจ มีไม่กี่ประเทศในโลกนี้ที่ยินยอมให้มีบริการการแพทย์ค้ากำไรเชิงธุรกิจ เพราะโดยปรัชญาพื้นฐานแล้ว การแพทย์เป็นบริการสาธารณะเป็นบริการเชิงมนุษยธรรม การแพทย์จึงควรเป็นการบริการที่ไม่หวังผลกำไร (แต่ต้องจัดบริการโดยคิดถึงกำไร-ขาดทุน เพื่อให้มีรายรับมาพัฒนาบริการต่อเนื่อง แต่ไม่ใช่หากำไรมาแบ่งเข้ากระเป๋าผู้ลงทุนเหมือนบริการทั่วไป)

การแพทย์ทิศทางนี้ ก่อให้เกิดสัมพันธภาพระหว่างหมอกับคนไข้ที่ผิดเพี้ยนไป และมีผลตามมาด้วยปรากฏการณ์ความขัดแย้งระหว่างกัน ทั้งที่แสดงออกมาเป็นการฟ้องร้องที่รุนแรง และทั้งที่เป็นความไม่พอใจแบบสะสมและซ้อนเร้น

สังคมไทยต้องร่วมกันทำความเข้าใจและร่วมกันคิดในประเด็นนี้ ภาครัฐต้องคิดวางระบบควบคุมกำกับที่เหมาะสม และไม่สร้างนโยบายที่กระตุ้นให้เกิดการเติบโตของบริการการแพทย์ในทิศทางนี้หนักข้อขึ้นไปอีก

@ สรุป

ปัญหาความขัดแย้งระหว่างหมอกับคนไข้ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นจนน่าวิตกไม่ส่งผลดีต่อใครเลย

การแก้ปัญหานี้ต้องแก้เชิงระบบที่มุ่งหวังผลการลดปัญหาในระยะยาว แม้ว่าบางเรื่องสังคมไทยปล่อยให้เลยเถิดไปมากแล้ว

แต่ก็ไม่มีอะไรสายเกินที่จะแก้ไขถ้าคนไทยทุกฝ่ายหันเข้ามาร่วมคิดร่วมแก้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงสาธารณสุข สภาวิชาชีพ และองค์กรหลักที่เกี่ยวข้องควรแสดงภาวะการนำ เข้ามาร่วมกันใช้องค์ความรู้และปัญญาดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาใหญ่นี้อย่างจริงจังโดยเร็ว
โดย: ลองพิจารณากันดู [27 ม.ค. 49 8:04] ( IP A:61.90.10.166 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
ความคิดเห็นที่ 1
   แต่กรณีเหล่านั้นไม่เคยมีการฟ้องเรียกค่าเสียหาย ไม่เคยมีการฟ้องเอาผิดอาญากับหมอ เพราะเรามีสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน อยู่ทำงานใกล้ชิดชุมชน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเขา ไม่เคยมีปัจจัยเรื่องเงินเข้ามาเป็นตัวกลาง
โดย: แบบนี้ดี หมอชอบ เคยตัว จึงทำให้คนโวยเป็ฯไอ้ *** [27 ม.ค. 49 12:40] ( IP A:61.90.95.180 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
   ปัญหาทุกอย่าง ถ้าไม่แก้ด้วยการยอมรับความจริง และปฏิบัติต่อกันแบบแฟร์ๆ แบบเปิดเผยตรวจสอบได้ และหาทางป้องกัน คงยากที่จะขจัดหรือบรรเทาเบาบางปัญหาลง
โดย: jjxyz [27 ม.ค. 49 13:11] ( IP A:61.90.95.180 X: )

คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน