จุดเริ่มต้นของเครือข่ายฯ
   เข้าไปค้นหาข่าวเก่า ๆ เมื่อปี 2545 เจอเอามาฝากเพื่อน ๆ

ข่าวจาก หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ
วันที่ 23 กันยายน 2545

• ตรวจละเอียด ต้านพรบ.สุขภาพ

การชุมนุมของแพทย์เพื่อคัดค้าน พ.ร.บ.หลัก ประกันสุขภาพแห่งชาติ ครั้งนี้ มีขึ้นเมื่อเช้า วันที่ 22 ก.ย. ที่โรงแรมริชมอนด์ อ.เมือง จ.นนทบุรี ชมรมแพทย์เพื่อวิชาชีพแพทย์ นำโดย นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ ประธานชมรมฯ ได้จัดประชุมโครงการสัมมนาผู้ให้บริการด้านสุขภาพ มีแพทย์และผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ทั่วประเทศประมาณ 300 คน เข้าร่วมประชุม รวมทั้ง นพ.วินัย วิริยะกิจจา ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสมาคม นายแก้วสรร อติโพธิ ส.ว.กทม. และนักวิชาการชื่อดังเข้าร่วมประชุมด้วย

ก่อนการประชุมเริ่มขึ้น นางดลพร ล้อเสริมวัฒนา ที่เป็นโจทก์ฟ้อง รพ.พญาไท 1 ด้วยข้อกล่าวหาว่า รพ.ทำให้ ลูกชายพิการ ได้มาชูป้ายสนับสนุน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และนางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว. สาธารณสุข ที่ทำเพื่อคนจน ทำให้แพทย์หลายคนให้ความสนใจกรณีนี้ ขณะที่แพทย์อีกหลายคนไม่พอใจที่นางดลพรมาสนับสนุน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ โดยกล่าวหาว่าเป็นการฉีกหน้างานสัมมนาครั้งนี้ และพยายามเข้าไปทำความเข้าใจกับนางดลพร โดยบอกว่านางดลพรไม่เข้าใจสิ่งที่กลุ่มแพทย์เรียกร้อง แต่นางดลพรกล่าวว่าเป็นสิทธิ์ที่จะมาเรียกร้องให้หมอหันมาสนใจคนไข้ คนไข้หลายรายต้องประสบชะตากรรมเหมือนตน โดยหมอไม่เคยดูแลคนไข้อย่างจริงจัง ไม่เคยยอมรับผิด เวลาผู้เสียหายไปฟ้องแพทยสภา ก็มักจะเข้าข้างกันเอง พร้อมกับป้ายสีว่าคนมาร้องเรียนเป็นคนผิด ทำให้หลายคนไม่กล้าออกมาต่อสู้

ในการสัมมนา นพ.วินัยกล่าวว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยึดความพึงพอใจของประชาชนเป็นหลัก ไม่ได้พูดถึงความสุขของคนทำงาน คือแพทย์และคนให้บริการทางการแพทย์ ได้คุยกับแพทยสมาคมและแพทยสภา เห็นพ้องต้องกันว่า ถ้าแพทย์ไม่มีความสุขในการทำงาน ก็จะส่งผลเสียต่อการรักษาให้แก่ประชาชน พ.ร.บ.ฉบับนี้ลอกเลียนมาจากสหรัฐฯ ที่เปิดให้คนไข้ สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อแพทย์ได้ แต่กลับไม่พูดถึงเบี้ยเลี้ยงของแพทย์ ปริมาณงานต่อหัวของแพทย์ ขณะนี้กำลังจะก่อตั้งกองทุนสำหรับการฟ้องร้องเพื่อปกป้องวิชาชีพแพทย์ ไม่ได้ต่อต้านรัฐบาล แต่ทำให้ รัฐบาลรู้ว่าแพทย์ไม่เห็นด้วยทั้งหมด ในวันที่ 27 ก.ย.นี้ได้นัดมอบงานให้แก่ปลัดสาธารณสุขคนใหม่ ที่วัดพุทธิปัญญา กทม. เพื่อที่จะบอกว่าอย่าเอาเศรษฐศาสตร์มานำคุณธรรม ถ้า พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมา หมอจะไม่กล้ารักษาคนไข้ เพราะกลัวการฟ้องร้อง สถานีอนามัยก็จะไม่กล้ารักษา จะทำให้สังคมยุ่งเหยิงไปหมด

ด้านนายแก้วสรร อติโพธิ ส.ว.กทม. กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้เกิดจากความคิดของคนกลุ่มหนึ่งที่จนถึงทุกวันนี้ยังไม่รู้ว่าใครเป็นคนร่างขึ้นมา ถามกระทรวงสาธารณสุขก็บอกว่าไม่ได้ร่าง แต่จุดสำคัญคือ ต่อไปนี้โรงพยาบาลจะมีปัญหาเรื่องเงิน ซึ่งจะส่งผลถึงปัญหาด้านคุณภาพต่อการให้บริการประชาชน เป็นระบบที่สร้างความขัดแย้งอย่างสูง คนจะมองหมออย่างหวาดระแวง เพราะ พ.ร.บ.ให้สิทธิ์คนไข้ฟ้องได้ แถมยังมีเปาบุ้นจิ้นคอยตรวจโรงพยาบาลในเรื่องของคุณภาพด้วย ขณะที่เรื่องงบประมาณมีจำกัด ส่วนที่นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว. สาธารณสุข บอกว่า มาตรา 44-45 ในร่าง พ.ร.บ.สามารถแก้ไขได้ ขอให้รู้ว่าหมอกำลังจะถูกหลอก พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบของสภาฯแล้ว ขอเรียกร้องให้หมอรวมตัวกันสู้ ทำให้ประชาชนได้รู้ว่าหมอไม่ได้เรียกร้องเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง เพราะในสายตาของประชาชนหมอคือเทพเจ้ากาลี หมอจะต้องหาผู้แทนเข้าไปคัดง้าง ตรวจสอบ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่ใช่ปล่อยให้ออกไปอย่างนี้

หลังจากนั้น ที่ประชุมได้เปิดให้มีการแสดงความคิดเห็น โดย นพ.เพิ่มบุญ จิรยศบุญศักดิ์ จาก รพ.สงขลา แกนนำกลุ่มแพทย์ 42 คน ที่ประกาศลาออก และขอมติที่ประชุม ซึ่งที่ประชุมได้คัดค้าน ในขณะที่ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการนัดหยุดงาน รวมทั้งการเฉื่อยงานเพื่อต่อรองกับรัฐบาล บางส่วนเรียกร้องให้มีการถวายฎีกา การประชุมใช้เวลา 5 ชม. นพ.ฐาปนวงศ์ได้แถลงมติที่ประชุมว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการจัดตั้งองค์กรแนวร่วมผู้ให้ บริการด้านสุขภาพเพื่อทำหน้าที่ประสานงาน และมีมาตรการ 2 ระดับ คือการล่ารายชื่อ 5 หมื่นรายชื่อเสนอต่อประธานวุฒิสภา และจะเริ่มการตรวจคนไข้อย่างละเอียดที่สุด ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. เป็นต้นไป ส่วนมาตรการขั้นต่อไปคือการหยุดงานและลาออกของแพทย์ทั่วประเทศ ซึ่งจะอยู่ที่การตัดสินใจของคณะกรรมการแนวร่วมฯดังกล่าว

สำหรับมติของแพทย์ที่เข้าร่วมประชุม ที่มีมติว่าจะเริ่มดีเดย์ตรวจคนไข้อย่างละเอียดที่สุด ผู้สื่อข่าวได้รับคำอธิบายจาก นพ.ฐาปนวงศ์ ว่า การตรวจละเอียดเป็นมาตรการที่จะตรวจคนไข้ทุกๆส่วน เช่น หากมีคนไข้ปวดหัวเมื่อมาหาแพทย์ ก็จะส่งตัวเข้าเอกซเรย์ สมอง และนำคนไข้มาตรวจทุกส่วนของร่างกายที่เกี่ยวเนื่องกับโรค หลังการตรวจเสร็จสิ้นก็จะให้คนไข้เซ็นว่าได้รับการตรวจละเอียดและยอมรับการตรวจครั้งนี้ เพื่อป้องกันการฟ้องร้อง โดยการตรวจละเอียดจะใช้เวลาเท่าใด ขึ้นอยู่กับแพทย์แต่ละคน แต่โดยเฉลี่ยประมาณคนละ ครึ่งชั่วโมงขึ้นไป เพราะต้องผ่านหลายขั้นตอน หรือคนไข้ ที่มีปัญหาเรื่องตาเป็นต้อ ก็ต้องตรวจตั้งแต่สายตา ประสาทตา สมอง ความแข็งแรงของร่างกาย จนกว่าคนไข้จะพึงพอใจ จึงเริ่มลงมือตรวจรักษา การตรวจละเอียดคนไข้ถือว่าเป็นการต่อต้านพ.ร.บ.ดังกล่าวที่ไม่ผิดกฎหมาย ถือว่าทำตามกระบวนการประเมินมาตรฐานที่รัฐบาลอยากจะให้ทำอยู่แล้ว ถ้าคนไข้ไม่พอใจก็ให้ไปร้องเรียนกับรัฐบาล ทั้งเรื่องการเสียเวลาและค่าใช้จ่าย
โดย: เครือข่ายฯ [1 ส.ค. 49 11:57] ( IP A:58.9.186.146 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
ความคิดเห็นที่ 1
   ความรู้สึก

โดย: คนรู้สึก [2 ส.ค. 49 9:21] ( IP A:58.9.187.104 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
   ไม่เห็นเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของเครือข่ายฯเลย เกี่ยวกับเรื่องที่พวกหมอเขาต่อต้านรัฐบาลมากกว่า
โดย: 555 [3 ส.ค. 49 20:21] ( IP A:203.156.49.7 X: )
ความคิดเห็นที่ 3
   วันนั้นแกนนำเครือข่าย ไปถือป้ายประท้วงกลุ่มหมอ
แล้วก็เกิดการรวมตัวกันตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
นี่คือจุดเริ่มต้นของเครือข่ายฯ เพราะเราเห็นว่า
หมอรวมตัวเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของหมอได้
ทำไมชาวบ้านไม่รวมตัวกันบ้าง เพื่อพิทักษ์สิทธิ์ของ
พวกเรากันเอง

จากวันนั้นถึงวันนี้ก็เกือบ 4 ปีแล้วนะ
โดย: รวมตัวกัน [7 ส.ค. 49 11:37] ( IP A:58.9.192.43 X: )

คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน