consumer.pantown.com
Thai Iatrogenic Network รวมกระทู้เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ <<
กลับไปหน้าแรก
ฟ้องแพทย์... ผิดสัญญา หรือ ละเมิด
https://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01act04270649&day=2006/06/27
ฟ้องแพทย์... ผิดสัญญา หรือ ละเมิด
โดย ชูชาติ กันภัย รองนายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยฝ่ายวิชาการ
ทุกวันนี้จะเห็นได้ว่า "แพทย์" ถูกฟ้องคดีปรากฏเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่ในอดีตเมื่อประมาณ 10-20 ปีก่อน เราแทบจะไม่เคยได้ยินว่าแพทย์ตกเป็นจำเลยถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายในกรณีที่คนไข้หรือญาติของคนไข้เป็นผู้ฟ้องคดีเท่าใดนัก
แต่ในปัจจุบันนี้ การที่แพทย์ตกเป็นจำเลยถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายในทางแพ่ง กลายเป็นเรื่องคุ้นหูหรือกลายเป็น "ลัทธิเอาอย่าง" กันมากขึ้นสำหรับประเทศไทยไปแล้ว
"ลัทธิเอาอย่าง" นี้ มิได้หมายความแต่เพียงว่าในประเทศไทยของเรา ผู้เสียหายเลียนแบบกันในการฟ้องแพทย์ เฉกเช่นกรณีแพทย์ฉีดยาให้เด็กแล้วเสียชีวิตทันที (ตายคาเข็ม) หรือกรณีแพทย์ทำคลอดให้กับสุภาพสตรีท่านหนึ่ง แต่เกิดความผิดพลาดในการวางยาสลบ ทำให้มารดาเด็กเสียชีวิต แต่เด็กรอดชีวิต ศาลพิพากษาให้แพทย์ท่านนั้นและโรงพยาบาลที่แพทย์ท่านนั้นเป็นแพทย์ประจำอยู่ในขณะเกิดเหตุร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินหลายล้านบาท (ปัจจุบันคดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์)
คดีนี้ทนายความได้ใช้ความสามารถมากพอสมควรในการอ่านเวชระเบียนศึกษาข้อมูลทางการแพทย์ วิธีการวางยาสลบว่าจะต้องทำอย่างไร (ในโอกาสหน้าผู้เขียนจะได้นำเสนอเป็นความรู้แก่ท่านผู้อ่านถึงข้อมูลทางการแพทย์อันเป็นความลับในวิธีการวางยาสลบอย่างเป็นขั้นเป็นตอนต่อไป)
และอาจเป็นความโชคดีที่สามีของสุภาพสตรีที่เสียชีวิตไปขอออกหนังสือรับรองการตายจากโรงพยาบาลนั้น เจ้าหน้าที่ให้ลงลายมือชื่อในเอกสารฉบับหนึ่งซึ่งมีข้อความว่า "ไม่ติดใจในสาเหตุการตาย" แต่สามีของผู้ตายไม่ยินยอมลงลายมือชื่อในเอกสารฉบับนั้น มิฉะนั้นแล้วคดีนี้ศาลคงต้องพิพากษายกฟ้องอย่างแน่นอน
อาจเทียบเคียงได้กับกรณีที่ว่า "ยินยอมให้ทำ เวรกรรมย่อมไม่มี" เพราะข้อแก้ตัวสำหรับความผิดของบุคคลในทางแพ่งประการหนึ่งที่ว่าถ้าผู้เสียหายยินยอม ผู้กระทำละเมิดไม่จำต้องรับผิด
แต่ "ลัทธิเอาอย่าง" ที่สำคัญมากทำให้แพทย์ในประเทศไทยถูกฟ้องคดีมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเพราะว่าในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่ใช้กฎหมายระบบคอมมอน ลอว์ เช่น อังกฤษ หรือสหรัฐอเมริกัน มีการฟ้องแพทย์ให้รับผิดทางแพ่งมากมาย
จนกระทั่งมีคนบางคนพูดว่า "แพทย์ กับ ทนายความ" เป็นอาชีพที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากันไปเสียแล้วในประเทศเหล่านี้
จากหัวข้อเรื่อง ฟ้องแพทย์...ผิดสัญญา หรือ ละเมิด? ที่จงใจตั้งชื่อเรื่องเช่นนี้ก็เพราะเหตุว่ามีหลายกรณีที่ศาลยกฟ้องเพราะ "ขาดอายุความ" เนื่องจากในการฟ้องคดีมีการตั้งเรื่อง และร่างฟ้องว่าเป็น "ละเมิด" เนื่องจากสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น สำหรับอายุความเรียกค่าเสียหายในกรณีทั่วไปย่อมขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่ง นับแต่วันผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด เว้นแต่อายุความเรียกค่าเสียหายในกรณีมีมูลความผิดทางอาญา หรือกรณีอื่นๆ อาจมีอายุความที่มากกว่าหนึ่งปีได้
แต่ในการฟ้องแพทย์เรามักจะรอผลในคดีอาญา ซึ่งเป็นความคิดที่ผู้เขียนค่อนข้างไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะส่วนใหญ่หากต้องดำเนินคดีอาญากับแพทย์ผู้ซึ่งทำการรักษาผิดพลาด ซึ่งเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลิ่นเล่อนั้น
เมื่อแพทยสภาลงความเห็นว่าแพทย์ท่านนั้นทำการรักษาถูกต้องตามหลักการแพทย์แล้ว พนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการมักมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง
ซึ่งกว่าแพทยสภาจะได้ประชุมครบองค์คณะและทำความเห็นดังกล่าวมักจะใช้ระยะเวลาเกินหนึ่งปี
ดังนั้น การฟ้องร้องในทางแพ่งควรดำเนินการก่อนที่คดีจะขาดอายุความ หากเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากแพทย์ ฐานแพทย์ทำผิดสัญญา มีอายุความถึง 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
ละเมิดและสัญญาต่างก็เป็นบ่อเกิดแห่งหนี้ด้วยกัน ที่ว่าละเมิดก่อให้เกิดหนี้เพราะกฎหมายบัญญัติให้บุคคลผู้เป็นเจ้าหนี้ ซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำหรือเหตุการณ์ใดที่บุคคลผู้เป็นลูกหนี้ต้องรับผิดชอบ
ส่วนสัญญานั้นได้แก่ข้อตกลงระหว่างบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงกันให้คู่สัญญาต้องมีความผูกพันอย่างใดอย่างหนึ่งต่อกัน...
ตัวอย่างคดีแรกเกิดขึ้นในปี 1975 โจทก์ปรึกษาจำเลยซึ่งเป็นแพทย์ว่าตนมีความประสงค์ว่าจะทำหมันด้วยวิธีผ่าตัดเอาหลอดอสุจิออก ในราคาค่าจ้าง 20 ปอนด์ จำเลยบอกโจทก์แต่เพียงว่าเมื่อตัดออกแล้วเอากลับคืนไม่ได้ แต่ไม่ได้บอกหรือเตือนโจทก์ว่าจะมีโอกาสมีลูกได้อีกหรือไม่ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าผิดสัญญา แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นเรื่องละเมิดเนื่องจากประมาทเลินเล่อในแง่ที่ว่าไม่ได้เตือนโจทก์เรื่องโอกาสที่จะมีลูกได้อีกหรือไม่
อีกคดีหนึ่งเกิดในปี 1976 โจทก์เป็นหญิงสาวอายุ 25 ปี ไปปรึกษาจำเลยซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมตกแต่ง โจทก์ตกลงจ้างศัลยกรรมเพื่อให้จมูกมีขนาดเล็กลง จำเลยตกลงรับทำโดยไม่ได้อธิบายถึงความเสี่ยงให้โจทก์ทราบ หลังผ่าตัดแล้วปรากฏว่าการเย็บแผลไม่ดีทำให้เกิดรอยแผลเป็นที่จมูกของโจทก์ โจทก์ฟ้องจำเลยละเมิดเรียกค่าเสียหาย แต่ศาลเห็นว่าเมื่อจำเลยรับเงินค่าบริการไปแล้วจำนวน 600 ดอลลาร์ จึงมีหน้าที่สำคัญที่จะต้องอธิบายถึงความเสี่ยงในการผ่าตัดแต่จำเลยมิได้อธิบายถึงความเสี่ยงนั้น ถือว่าผิดสัญญา มิใช่เป็นการละเมิด
สำหรับความเห็นของผู้เขียนถ้าเป็นกรณีที่ผู้ป่วยไปขอรับบริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาล ความผูกพันระหว่างแพทย์ผู้ทำการรักษาและผู้ป่วยมิใช่เป็นความผูกพันในแง่ของสัญญา เนื่องจากการที่คนไข้ไปรับบริการเช่นนี้ อาจจะมิได้จงใจในการกำหนดตัวแพทย์เฉพาะเจาะจงคนใดคนหนึ่งที่จะให้การรักษา ไม่ได้มีเจตนาที่จะผูกนิติสัมพันธ์แต่อย่างใด
แพทย์จึงมีหน้าที่ใช้ความระมัดระวังอย่างผู้มีวิชาชีพพึงกระทำ
ถ้าแพทย์จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้เกิดความเสียหายก็เป็นการละเมิดได้
แต่ในปัจจุบันธุรกิจเชิงแพทย์พานิชย์มีมากมายโดยเฉพาะธุรกิจเสริมความงาม การฝากครรภ์คลอดบุตร ฯลฯ ดังนั้น ก่อนที่ผู้ป่วยจะเข้าทำการรักษาก็มักจะมีการขอพบแพทย์เพื่อนัดวันทำการรักษามีการเลือกแพทย์ที่ตนเห็นว่าเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ก่อนทำการรักษา มีการตกลงค่าจ้างหรือค่าใช้จ่ายในการรักษา จึงเป็นการผูกนิติสัมพันธ์แล้ว
กรณีนี้หากเทียบเคียงกับคดีที่สองที่กล่าวมาข้างต้น ก็น่าจะเป็นสัญญาได้
ประเทศไทยในปัจจุบันนี้ ธุรกิจโรงพยาบาลได้มีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การแพทย์กำลังพัฒนาการไปสู่การแพทย์เชิงป้องกันเช่นเดียวกันกับประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งรายได้ของแพทย์และโรงพยาบาลร้อยละ 20 ถูกกันไว้เป็นค่าใช้จ่ายเมื่อถูกฟ้องร้องคดี
อันที่จริงการรักษาไม่ว่าจะเป็นวิธีใดย่อมมีความเสี่ยงทั้งสิ้น อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ของผู้ป่วยเรื่องการแพ้ยาหรือความผิดพลาดของบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้เกิดความประมาทเลินเล่อได้ตลอดเวลา
เมื่อเป็นเช่นนี้ โอกาสที่ผู้ป่วยจะพิการหรือเสียชีวิตจึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน
โดย: อ่านเจอพอดี [27 มิ.ย. 49 8:20] ( IP A:202.57.179.157 X: )
ความคิดเห็นที่ 1
นักกฎหมาย มักมีวิธีคิดที่สวนทางกับแพทย์เสมอ
แพทย์เขาเคยชินกับการพูดอะไรแล้วมีคนเชื่อ
แม้สิ่งที่พูดนั้นบางครั้งจะผิด หรือแพทย์ทำผิดพลาด
แล้วผู้ป่วยไม่สามารถรู้ได้ เพราะไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ
ดังนั้น เขาจึงยอมรับไม่ได้ที่จะให้แพทย์รับผิด
ยิ่งยอมรับไม่ได้ หากมีใครมองเขาผิดจากที่เคย
โดยเฉพาะมองว่าเขาไม่เก่ง เขาพลาด เขาผิด
สิ่งที่ยากที่สุดคือ การทำให้แพทย์รับผิด
ดังนั้น เมื่อคนไข้ที่เสียหายเลือกใช้กฎหมาย
แพทย์จึงเกลียดทั้งนักกฎหมายและคนไข้ที่เสียหาย
และมักมองอยู่กันคนละขั้ว
โดย: รู้เลย [28 มิ.ย. 49 20:55] ( IP A:58.9.197.248 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
แพทย์เป็นนักวิทยาศาสตร์ กระบวนการคิดอยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล นักกฏหมายกลับมองแบบตรรก ซึ่งขาดความเป็นเหตุเป็นผล ทนายคือกลุ่มคนที่เห็นแก่เงิน ไม่รู้ว่าส่งคนดีเข้าคุกไปกี่รายแล้ว ขอเพียงมีเงินจ้างทนายเท่านั้นเอง
โดย: พั [29 มิ.ย. 49 10:24] ( IP A:125.24.101.139 X: )
ความคิดเห็นที่ 3
เห็นด้วยครับ ทนายเฮี้ย ที่ช่วยสู้คดีให้นิสิตจุฬาสหแพทย์ที่โดนยัดยาบ้า จนหลุดจากคดี ทนายชื่อสมชาย นีละไพจิตร์ เฮี้ยมากๆๆๆเลย ถูกอุ้มหายไปเลย โสน้าน่า
โดย: เงินก็ไม่ได้ล่วย สม [29 มิ.ย. 49 16:21] ( IP A:58.8.3.42 X: )
ความคิดเห็นที่ 4
แหมทำเป็นพูดเหมือนคนดี ทนายเนี่ยนะ บอกได้เลยว่าแพทย์ทำผิดทำพลาดเยอะมาก แต่ก็ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดละครับ แต่ทนายที่ส่งคนดีเข้าคุก หรือส่งเข้าแดนประหารเนี่ยอย่างบอกนะว่าไม่ได้ตั้งใจว่าความให้คนเลวชนะ คนดีเข้าซังเต เช่น ขอโทษครับ ผมไม่ได้ตั้งใจว่าความให้ลูกความผมชนะเลย ทั้งที่ลูกความผมทำผิดจริง มีแต่จะไปฉลองกันหลังว่าความชนะทำผิดแล้วยังลอยหน้าลอยตาได้อีก
ทำไมทนายถึงเป็นไม้เบื่อไม้เมากับหมอ คห 2 พูดซะดิบดี ตอบให้ก็ได้ ยิ่งเมกา กะ ยุโรป ทำกันเยอะ ทำจนหมอต้องทำประกันการฟ้องร้องนั่นแหละ ก็คือ พวกทนายมือใหม่ มันก็ต้องทำมาหากินละครับ อันนี้ผมเข้าใจ แต่จำทำมาหากินกับใครละ ก็หมอไง ง่ายดี มีทุกที่ทั่วโลก ไม่ต้องทำอะไรมาก ก็แค่ให้ญาติไปขอเวชระเบียนมา เอามาวิเคราะห์หาข้อผิดพลาด แล้วก็ชวนญาติฟ้อง ถามว่า จะฟ้องไหม ถ้า ชนะ 60 40 หรือ 50 50 แล้วแต่ตกลง ถ้าแพ้ ญาติไม่ต้องเสียค่าทนาย อยู่ญาติก็เหมือนมีคนเอาเงินมาให้ แพ้ก็ไม่เสียอะไร ก็เงินนี่ครับ ทำไมจะไม่เอาละ ของเมืองไทยก็เริ่มมีมากขึ้น ทำเป็นพูดซะดิบดี ว่าความให้ฟรี คำว่าฟรีมันก็มีเงื่อนไขละครับ ก็เหมือนกับ โปรโมชั่นมือถือช่วงนี้และครับ แหมบุพเฟ่โทรฟรี 6 โมง ถึง 4 ทุ่ม แต่กดยังไงก้กดไม่ติด ผมเป็นหมอใหม่ต้องปรึกษาอาจารย์อีกเยอะ แม่งกดจนนิ้วชาก็ยังโทรไม่ติดเลย อีกอย่างนะแบบนี้ทนายมือเก่าๆ ที่มีชื่อไม่ค่อยทำกัน เพราะพวกนี้จะเล่นตัว ค่าตัวแพง ทำก็แต่ที่ดัง ๆ ส่วนทนายมือไหม่ก็หากินกับหมอ เป็นการทำมาหากิน และเป็นการสร้างชื่อสะสมประสบการณในตัว อย่างในไทย ก็เช่น คดีน้องเต๋ากับทันตะละมั้ง ไม่แน่ใจนะ ที่บอกว่า แพ้ไม่คิดตังว่าความให้ฟรี ถ้าชนะขอ 15 เปอรืเซน นี่ละครับโฉมหน้าผู้ใจบุญ
โดย: kanu [29 มิ.ย. 49 22:09] ( IP A:125.24.101.139 X: )
ความคิดเห็นที่ 5
ทุกวงการ มีทั้งคนดี และคน Hear
ไม่มีอาชีพไหนบริสุทธิ์ผุดผ่อง 100%
สำคัญตรงที่ ทำ Hear แล้วคนเขาจับได้
ต้องแอ่นอกยอมรับความผิดพลาดอย่างลูกผู้ชาย
นั่นคือคนจริง พวกทำผิดแล้วยังตะแบงตีหน้าซื่อใส
โกหก บิดเบือน เอาสีข้างเข้าถู แถมโทษว่าเป็นเพราะ
ทัศนคติคนไทยไม่เอาอ่าว นั่นคืออาชีพอะไรรู้กันอยู่
โดย: ขอโทษที่รู้ทัน [30 มิ.ย. 49 6:31] ( IP A:58.9.183.80 X: )
ความคิดเห็นที่ 6
คห 6 นี่คงเป็นโคตรพ่อพระละซิ เวลาด่าหมอ ด่าทั้งวงการ พอด่ากลับ ก็มาบอกว่าทุกวงการณ์มีทั้งคนดีและไม่ดี
โดย: แหมพ่อคนดีเหลือเกินนะเราน่ะ [30 มิ.ย. 49 9:40] ( IP A:125.24.101.139 X: )
ความคิดเห็นที่ 7
คห 6 นี่จะบอกว่าทุกวงการมีทั้งคนดีและคนไม่ดี แต่แพทย์ทำพลาดแล้วไม่ยอมรับ ใช่ไหมครับ แต่เชื่อเถอะ ไม่มีแพทย์คนไหนตั้งใจฆ่าคนไข้แน่นอน แต่ทนายนี่ละครับ รู้ว่าผิดแล้วยังทำ รู้ว่าคนนี้เลว ครู่กรณีไม่ผิด แต่ก็ว่าความสู้คดีให้ รู้ว่า คนดี ก็ยังส่งเข้าซังเต แพทย์ผิดพลาดแล้วไม่รับ เรียก ว่าไม่ใช่ลูกผู้ชาย หรือเอาสีข้างเข้าถูก็แล้วแต่ แต่ทนายรู้ว่าผิดแล้วยังทำขอให้ข้าได้เงิน ยังงีมันเรียกว่าอะไรครับ ช่วยหาศัพท์ให้หน่อย หรือเรียกว่า ข้าเลว แต่ข้าเลวอย่างลูกผู้ชาย
โดย: kanu ขอโทษที่โง่ รู้ไม่ทันคนอื่นหรอก [30 มิ.ย. 49 17:53] ( IP A:125.24.101.139 X: )
ความคิดเห็นที่ 8
เหตุผลที่หมอไม่ค่อยยอมรับผิดก็เพราะแรงกดดันจากสังคมละคับ ไม่ใช่อยากที่ คห 2 ว่ามาซะดีเดียว เพราะว่าสังคมจะคาดหวังให้คนไข้ตายไม่ได้ ผมจะลองแจงเหตุผลที่หมอไม่รับผิดให้ฟังนะ
1. ก็มันไม่ผิด จะให้รับได้ไง
2. กลัวการชดใช้ เงินเดือนไม่พอจ่ายนี่นา
3 ต้องย้ายภูมิลำเนา
4. อาจถึงขั้นต้องเปลี่ยนชื่อ แซ่ทีเดียว
ก็เพราะแรงกดดันจากสังคมที่ว่าหมอผิดพลาดไม่ได้ละครับ พอทำพลาดทีนี่ ก็ไม่มีใครอยากรักษาด้วย ยิ่งเปิดคลินิคแล้วก็ปิดไปเลย ผมเคยเห็นถึงขั้นเดินขบวนไล่หมอด้วยซ้ำ เบาก็มา รพ แล้วตรวจกับหมอที่เคยทำผิด ก็มีการขอตรวจกับหมอคนอื่น หรือรับยาแล้วก็ถือไปถามหมออีกคนว่าให้ถูกไหม แล้วเป็นคุณจะทนแรงกดดันได้ไหม มันก็ต้องย้าย ถ้าเป็นข่าวมันก็อาจต้องเปลี่ยนชื่อด้วยซ้ำ อาจารย์ผมเคยโดนขบวนไล่ด้วยเพราะทำคนไข้ตาย แต่แกมีคนรักเยอะ แกคลุกคลีกับชาวบ้านไปกินข้าวก็ใช้มือเปิบอาหารร่วมกับชาวบ้าน ตอนแกโดนเดินขบวนไล่ ก็มีชาวบ้านอีกครึ่ง เดินขบวนสู้ให้แกอยู่ต่อ ก็คล้าย การเมืองช่วงนี้แหละ หรือแม้กระทั่ง ไปตลาดนี่ แม้ค้าชอบเรียกมากินฟรี พอเกิดเรื่องแล้ว ไปตลาดก็โดนประนาม จ่ายราคา 2 เท่าแม้ค้ายังไม่เอาตังเลย ไม่เป็นเรา นายไม่รู้หรอ เคยเข้าใจสถานการณเราบ้างไหม
โดย: kanu [4 ก.ค. 49 9:47] ( IP A:125.24.101.146 X: )
ความคิดเห็นที่ 9
หมอมองความจริง ความจริงคือวิทยาศาสตร์ ทนายมองหลักฐาน เชื่อในหลักฐานไม่ว่าหลักฐานนั้นจะใช่ความจริงหรือเปล่า
โดย: กปด [11 ก.ค. 49 19:12] ( IP A:125.24.64.245 X: )
ความคิดเห็นที่ 10
หมออาจจะเลว ไม่ถึง 5 % ของทั้งหมด แต่ทนายน่าจะเลวถึง 50 % ของทั้งหมด
โดย: กด [15 ก.ค. 49 9:43] ( IP A:125.24.65.64 X: )
ความคิดเห็นที่ 11
ทนายมองว่าทำอย่างไรถึงจะชนะคดี ไม่ว่าลูกความจะผิดหรือถูก หมอมองทำอย่างไรคนไข้จะหายป่วย ไม่ว่าคนไข้จะดีหรือเลว
โดย: กด [27 ก.ค. 49 23:08] ( IP A:125.24.88.180 X: )
คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน