นักกฎหมายดีเด่นรางวัล "สัญญา ธรรมศักดิ์"
   วันที่ 06 เมษายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10253

อักขราทร จุฬารัตน ฝนทิพย์ ถนอมพงษ์พันธ์ 2 นักกฎหมายดีเด่นรางวัล "สัญญา ธรรมศักดิ์"

ศิวพร อ่องศรี

ก่อนจะถึงแก่อนิจกรรม ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ปูชนียบุคคลของชาวนิติศาสตร์ หรือที่บรรดาลูกศิษย์ชาวธรรมศาสตร์มักเรียกติดปาก อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้ตั้งกองทุนชื่อ "กองทุนศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์"

สั่งเสียมอบหมายให้กองทุนดังกล่าวทำหน้าที่สรรหา และคัดเลือกนักกฎหมายดีเด่น 1 คน และนักศึกษากฎหมายดีเด่น 1 คน ที่พร้อมด้วยคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และอุทิศตนเป็นประโยชน์ต่อสังคม เข้ารับรางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อเป็นแบบอย่างแก่นักกฎหมายทั่วไป

สำหรับปี 2549 นายศุภชัย ภู่งาม ประธานกรรมการรางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ แถลงชื่อผู้ได้รับเกียรติเข้ารับรางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2549 จำนวน 2 คน คือ

*ดร.อักขราทร จุฬารัตน* เป็นนักกฎหมายดีเด่น ประจำปี 2549 และ

*นางสาวฝนทิพย์ ถนอมพงษ์พันธ์* เป็นนักศึกษากฎหมายดีเด่นของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2549

สำหรับ *ดร.อักขราทร จุฬารัตน* เกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2493 ที่จังหวัดปทุมธานี บิดาชื่อนายเลิศ มารดาชื่อนางบุปผา ปัจจุบันแต่งงานแล้วภรรยาชื่อ นางสมจิต

ด้านการศึกษา สำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี พ.ศ.2502 แล้วสอบเข้าเนติบัณฑิต สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2503 จากนั้นสอบได้ทุนรัฐบาลไทยเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอิตาลี กระทั่งสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกทางกฎหมาย มหาวิทยาลัยโรม ประเทศอิตาลี ปี พ.ศ.2511

เมื่อกลับถึงเมืองไทยเข้าทำงานเป็นเลขานุการกรรมการร่างกฎหมาย ปี 2512 เคยทำงานผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พนักงานผู้รับผิดชอบสำนวนในคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ผู้อำนวยการกองยกร่างกฎหมาย และยังเคยเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2517 เป็นกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 และยังเคยเป็นที่ปรึกษากฎหมายของนายกรัฐมนตรีระหว่างปี 2514-2524 ด้วย

ต่อมาเป็นอาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2535 จนถึงปี 2543 ได้รับปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดร.อักขราทรได้เดินทางไปดูงานต่างประเทศ เป็นการประชุมใหญ่สมาคมศาลปกครองสูงสุดระหว่างประเทศ (Congress of The International Association of Supreme Administrative Jurisdictions) ที่ประเทศอิตาลี ประเทศโปรตุเกส ประเทศเซเนกัล และ ประเทศสเปนตามลำดับ
ดร.อักขราทร จุฬารัตน-ฝนทิพย์ ถนอมพงษ์พันธ์




เดินทางไปดูงานด้านศาลปกครองที่ประเทศฝรั่งเศส เบลเยียม สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และ อิตาลี ไปดูงานด้านการกำกับดูแลตลาดทุนที่ประเทศสเปน และ ฝรั่งเศส และยังได้เข้าร่วมประชุมในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารสมาคมศาลปกครองสูงสุดระหว่างประเทศ (President of International Association of Supreme Administrative Jurisdictions) ที่สาธารณรัฐฮังการี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด

นอกจากนี้ยังมีผลงานทางวิชาการด้านกฎหมายอีกหลากหลาย อาทิ บทความเรื่องหลักทั่วไปของการตีความในกฎหมายอิตาเลียน จัดพิมพ์ในวารสารนิติศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเดือนธันวาคม 2512

บทความเรื่องระบบศาลและผู้พิพากษาในประเทศอิตาลี จัดพิมพ์ในวารสารกฎหมายปกครอง เมื่อเดือนเมษายน 2525 เอกสารวิจัยเสนอต่อวิทยาลัยปกครอง เรื่อง "การจัดตั้งศาลปกครองกับการแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน" เอกสารวิจัยเสนอต่อวิทยาลัยกองทัพบก สถาบันวิชาการทหารบกชั้นสูง เรื่อง "คณะกรรมการกฤษฎีกากับการบริหารราชการแผ่นดิน" จัดพิมพ์เมื่อเดือนกันยายน 2531 และหนังสือ

"ประมวลกฎหมายปกครอง" จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2546-2549 และยังทำหน้าที่ผู้บรรยายวิชาหลักการให้ความเห็นทางกฎหมายในโครงการอบรมการยกร่างกฎหมาย และการให้ความเห็นทางกฎหมายแก่ข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. 2549

การได้รับรางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ ครั้งนี้ ดร.อักขราทรนับเป็นเกียรติประวัติของชีวิต

"เพราะอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนักกฎหมายเป็นที่ประชาชนนิยมในผลงานของท่าน และผมเองได้ยึดท่านเป็นแบบอย่าง ตั้งใจจะทำงานเป็นนักกฎหมายต่อไปจนกว่าจะเกษียณอายุราชการ"

ดร.อักขราทรยังพูดแนะแนวทางสำหรับผู้ที่อยากเดินเส้นทางนักกฎหมายว่า ผู้ที่จะเข้ามาในอาชีพนี้จะต้องมีความรู้ความสามารถ มีความซื่อสัตย์ในการทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของจรรณยาบรรณ คุณธรรม และจริยธรรม

"คุณธรรมและจริยธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการเป็นนักกฎหมายที่ดี นักกฎหมายถ้าไม่มีคุณธรรมจริยธรรมแล้วก็จะทำในสิ่งที่เสียหาย ส่งผลให้เกิดความเลวร้ายยิ่งกว่าโจรหรือมหาโจร"

ดร.อักขราทรยังบอกด้วยว่า ต้นแบบของการเป็นนักกฎหมายที่ดีนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ครอบครัว พ่อแม่จะต้องเป็นคนดี และคอยดูแลลูกปลูกฝังให้ความคิดที่ดีกับลูก ซึ่งก็ต้องเป็นความคิดในเรื่องที่ดี

"การให้ความยุติธรรมคน ถือว่าเป็นการทำบุญกุศล เพราะการให้ความยุติธรรมด้วยความถูกต้องและความซื่อสัตย์สุจริตนั้น นับว่าได้บุญอย่างใหญ่หลวงในชีวิต"



ด้านนักศึกษากฎหมายดีเด่น *ฝนทิพย์ ถนอมพงษ์พันธ์* สาวน้อยวัย 22 ปี เกิดวันที่ 28 สิงหาคม 2527 พื้นเพเป็นคนกรุงเทพฯ เพราะคุณพ่อคือ *พีระพงศ์ ถนอมพงษ์พันธ์* นักธุรกิจและนักการเมือง ส่วนคุณแม่ชื่อ *อุษา ถนอมพงษ์พันธ์*

เริ่มการศึกษาชั้นประถมและมัธยมที่โรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน ตามลำดับ จากนั้นสอบเข้าเตรียมอุดมศึกษา (ศิลป์-เยอรมัน) ก่อนจะเข้าเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กระทั่งจบปริญญาตรีเป็น

นิติศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับสอง ในปี 2547

การเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฝนทิพย์ไม่ใช่นักศึกษาที่รู้แต่เรื่องในตำราเท่านั้น เธอยังเข้าร่วมกิจกรรมของมหาวิทยาลัย เป็นสมาชิกโครงการค่าย "เหลาดินสอหล่อตราชู" ที่ ค่ายฉิมกุล จังหวัดสระบุรี เป็นพี่เลี้ยงโครงการค่าย "สานเพื่อ (น) Law รอเพื่อนสาน" ที่ ค่ายนวภพ จังหวัดสระบุรี กรรมการโครงการค่าย "หลอมตัวตน ค้นความฝัน สรรค์ตราชู" ที่ค่ายชัยพฤกษ์ จังหวัดนครราชสีมา และโครงการค่ายกึ่งสร้างกึ่งชุมชนสัมพันธ์ "ค่ายพู่กันแต้มสี ความดีแต้มสังคม" ที่โรงเรียนบ้านกาเกาะ จังหวัดสุรินทร์ และยังได้ถือป้ายนำขบวนนกสันติภาพในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 61 ด้วย

เคยไปฝึกงานที่บริษัท PricewaterhouseCoopers ฝ่ายกฎหมาย เมื่อยังเป็นนักศึกษาในปี 2547 และเข้าทำงานที่บริษัท Baker & McKenzie ในโครงการจัดทำข้อมูลการจดทะเบียนสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาในต่างประเทศ (The Intellectual Property Right Protection Overseas Project)

ฝนทิพย์จึงนับเป็นเป็นผู้มีวิริยะอุตสาหะในการศึกษา มีความประพฤติเรียบร้อยและสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เป็นผู้สามารถนำความรู้ด้านกฎหมายไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคม

ปัจจุบันฝนทิพย์เป็นนิติกรโครงการศึกษาระบบบริหารจัดการคดีในศาลสูง (ศาลฎีกา) สำนักวิชาการศาลยุติธรรม สำนักงานศาล

สาวน้อยคนนี้กล่าวอย่างตื่นเต้นถึงรางวัลที่ได้รับว่า ดีใจและภูมิใจมากที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ เพราะคนที่ได้รับรางวัลนี้จะต้องมีคุณสมบัติ 3 อย่าง คือ ทำกิจกรรมของมหาวิทยาลัย มีคุณธรรมและเรียนได้เกียรตินิยม

ปัจจุบันหลังจากเรียนจบได้เป็นนิติกรประจำอยู่ที่ศาลฎีกา ส่วนแรงบันดาลใจในการเรียนกฎหมาย กระทั่งมาเป็นนักกฎหมายนั้น เพราะได้รับอิทธิพลจากผู้เป็นแม่

"ในช่วงที่คุณแม่เป็นผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัว จังหวัดระยอง ก็จะตามคุณแม่ไปในช่วงปิดเทอม จึงคุ้นเคยกับศาลมาตั้งแต่เด็กๆ จนเมื่อจะสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย จึงเลือกเรียนคณะนิติศาสตร์ ตั้งใจว่าอยากเป็นผู้พิพากษาในอนาคต เพราะอาชีพผู้พิพากษาสามารถช่วยเหลือคนอื่น และได้พบปะผู้คนมากมายหลากหลายอาชีพ ที่สำคัญคือการได้ช่วยคน"

ฝนทิพย์ยังบอกว่า ผู้พิพากษาที่ดีควรเรียนรู้รอบด้านในศาสตร์ทุกแขนง เพราะผู้พิพากษาต้องใช้ดุลยพินิจในการประสาทความยุติธรรมให้กับทุกคน ที่แตกต่างด้วยชาติกำเนิด เพศ ฐานะ การศึกษา และอาชีพ ซึ่งทุกคนต้องได้รับอย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ต้องได้รับการยอมรับอย่างเสมอภาค

"ในอนาคตก็ยังอยากทำงานด้านกฎหมายให้มีประสบการณ์มากกว่านี้ เพื่อเป็นผู้พิพากษาที่ดีในวันข้างหน้า ส่วนนักกฎหมายในดวงใจก็คือ อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ นับเป็นบุคคลต้นแบบให้เดินตามรอยบนเส้นทางของนักกฎหมายอย่างแท้จริง"
โดย: jjxyz [6 เม.ย. 49 18:49] ( IP A:58.8.10.57 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
ความคิดเห็นที่ 1
   ฟังไว้เป็นตัวอย่าง
.....ดร.อักขราทรยังบอกด้วยว่า ต้นแบบของการเป็นนักกฎหมายที่ดีนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ครอบครัว พ่อแม่จะต้องเป็นคนดี และคอยดูแลลูกปลูกฝังให้ความคิดที่ดีกับลูก ซึ่งก็ต้องเป็นความคิดในเรื่องที่ดี

"การให้ความยุติธรรมคน ถือว่าเป็นการทำบุญกุศล เพราะการให้ความยุติธรรมด้วยความถูกต้องและความซื่อสัตย์สุจริตนั้น นับว่าได้บุญอย่างใหญ่หลวงในชีวิต".......
ผมก็หวังว่าจะเป็นจริงอย่างที่อาจารย์ว่า ไม่งั้นผมคงตกนรกหมกไหม้ เพราะมีคนทั้งแช่งทั้งด่าผมไว้มากมาย
โดย: jjxyz [6 เม.ย. 49 18:52] ( IP A:58.8.10.57 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
   หวังว่าตอนที่ท่านว่าความ คงไม่เคยส่งคนดีเข้าซังเต
โดย: seg [6 เม.ย. 49 22:22] ( IP A:203.157.14.247 X: )
ความคิดเห็นที่ 3
   ด้วยความถูกต้องและซื่อสัตย์สุจริต
พอดีไม่ได้รับว่าความ
โดย: jjxyz [6 เม.ย. 49 23:12] ( IP A:58.8.10.57 X: )
ความคิดเห็นที่ 4
   พระราชดำรัสของในหลวง
"คนแม้จะความรู้น้อย แต่มีความซื่อสัตย์ สุจริต ก็สามารถทำประโยชน์ให้ประเทศชาติบ้านเมือง ได้มากกว่าคนที่มีความรู้มาก
แต่ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตใจ"
โดย: ทำนองเดียวกัน [8 เม.ย. 49 1:43] ( IP A:58.9.186.123 X: )

คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน