|
| |
บัตรทอง 30 บาท
ใครมีสิทธิ์ได้รับบัตรทอง ประชาชนคนไทยทุกคนได้รับหมด ยกเว้นผู้ที่ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลตามกฎหมายหรือระเบียบอื่น ๆที่รัฐกำหนดอยู่ก่อนแล้ว ดังนี้ - ข้าราชการและลูกจ้างประจำของรัฐ พนักงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งบิดา มารดา คู่สมรสและบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมาย - บุคคลผู้มีสิทธิตามพระราชบัญญัติประกันสังคม
บัตรทองมี 2 ประเภท 1. บัตรทองสำหรับประชาชนทั่วไป ผู้ถือบัตรจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเมื่อมารับบริการครั้งละ 30 บาท 2. บัตรทองประเภท ท ผู้ถือบัตรไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ได้แก่ ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ผู้พิการ พระภิกษุ ผู้นำศาสนาทุกศาสนา ผู้นำชุมชน ทหารผ่านศึก ผู้มีรายได้น้อยกว่าเดือนละ 3,000 บาท
เมื่อท่านประสบอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยฉุกเฉินจะทำอย่างไร ท่านที่มีบัตรทอง ไม่ว่าจะมีชื่อสถานพยาบาลใด สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลกับสถานบริการของรัฐหรือเอกชนที่เข้าร่วมโครงการได้ทุกแห่ง
ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้างเมื่อมารับการรักษาพยาบาล เมื่อมารับบริการที่สถานพยาบาล ขอให้นำบัตรประชาชนของผู้รับบริการมาแสดงพร้อมบัตรทอง
ท่านที่มีบัตรทองระบุชื่อสถานพยาบาลอื่น เมื่อเจ็บป่วยจะทำอย่างไร ขอให้ท่านไปรับบริการกับสถานพยาบาลที่ระบุในบัตรทองเป็นอันดับแรก
สิทธิที่ผู้ถือบัตรทองพึงได้รับ โดยเสียค่าธรรมเนียมครั้งละ 30 บาท ดังนี้ - ตรวจรักษาโรค และได้รับยาที่จำเป็นตามบัญชียาหลักแห่งชาติ - ล้างแผล เย็บแผล ผ่าตัด - ฝากครรภ์ ทำคลอด ทำหมัน วางแผนครอบครัว - ฉีดเซรุ่ม - รับวัคซีนป้องกันโรคพื้นฐาน - รักษาโรคฟันต่าง ๆ ได้แก่ ขูนหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน เคลือบฟลูออไรด์ ทำฟันปลอมฐานพลาสติก - อวัยวะเทียมอุปกรณ์ที่ใช้ในการบำบัดรักษาโรคภายในร่างกาย ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด - ค่าห้องและค่าอาหารแบบผู้ป่วยสามัญ
การรักษาประเภทใดที่ผู้ถือบัตรทองต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง - การผ่าตัดเสริมสวย - การตกแต่งฟันเพื่อความสวยงาม - แว่นตา - อวัยวะเทียม / อุปกรณ์ที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ - การรักษาภาวะมีบุตรยาก การผสมเทียม - การเปลี่ยนเพศ - การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ - การรักษาที่อยู่ระหว่างการค้นคว้าทดลอง - วัคซีนป้องกันโรคที่ไม่ได้จัดเป็นบริการพื้นฐาน - การทำไตเทียมแบบฟอกเลือด (ไตวายเรื้อรัง) ยกเว้นกรณีไตวายเฉียบพลัน แต่ไม่เกิน 60 วัน - การรักษาโรคเอดส์ด้วยยาต้านเชื้อไวรัส ยกเว้นกรณีติดเชื้อแทรกซ้อน - การรักษากับแพทย์เฉพาะทาง โดยไม่ผ่านการส่งตัวจากสถานพยาบาลที่ระบุไว้ในบัตรทองค่ะ
คุณสามารถสอบถามได้ที่ โครงการ 30 บาท กระทรวงสาธารณสุข โทร. 02-5901574 Hot line 1330 ค่ะ
สำหรับในเรื่องบัตรประกันสังคม
ข้อควรปฏิบัติในการใช้สิทธิประกันสังคม การใช้บัตรรับรองสิทธิการรักษา 1. สถานที่สามารถใช้สิทธิ คือ โรงพยาบาลที่ระบุตามบัตรรับรองสิทธิ, คลินิกเครือข่าย ยกเว้นกรณีโรงพยาบาลหลักอนุญาตให้รักษาเป็นลายลักษณ์อักษร, 2. แสดงหลักฐานบัตรรับรองสิทธิ และบัตรประชาชน / บัตรอื่นที่ทางราชการออกให้และมีรูปถ่ายผู้ประกันตน 3. มิใช่เพื่อการตรวจสุขภาพ
กรณีประสบอุบัติเหตุ - ฉุกเฉิน 1. ผู้ประกันตนแจ้งสิทธิแก่โรงพยาบาลที่รักษาตัวภายใน 72 ชั่วโมง 2. โรงพยาบาลที่รับรักษาตัวครั้งแรก จะประสานกับโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ โดยทางโทรศัพท์ โทรสาร 3. โรงพยาบาลหลักแสดงความรับผิดชอบค่าใช้จ่าย โดยอาจจะส่งต่อมาที่โรงพยาบาลหรือรักษาต่อจนกว่าอาการจะดีขึ้น 4. กรณีเข้ารับการรักษา โรงพยาบาลของรัฐ สามารถเบิกค่ารักษาได้เต็มจำนวนตามความจำเป็นโรงพยาบาลเอกชน สามารถเบิกค่ารักษาได้ตามเงื่อนไข 5. กรณีอุบัติเหตุสามารถเข้ารับการรักษาได้ตลอด กรณีฉุกเฉิน 2 ครั้ง / ปี
กรณีผู้ประกันตนต้องสำรองจ่ายเงินก่อน 1. หลักฐานไม่ครบ (ขาดบัตรใดบัตรหนึ่ง หรือไม่แสดงบัตร) 2. หลักฐานไม่สามารถใช้สิทธิได้ (บัตรหมดอายุ, บัตรยังไม่ถึงวันที่ระบุการใช้สิทธิ) 3. โรคไม่คุ้มครอง 4. ไม่ผ่านความเห็นชอบของแพทย์ผู้ทำการรักษา 5. ผู้ประกันตนไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอื่นด้วยเหตุผลส่วนตัว
การขอรับเงินคืน เตรียมเอกสารดังนี้ 1. ใบเสร็จรับเงิน (ต้นฉบับ) 2. บัตรรับรองสิทธิการรักษา 3. บัตรประจำตัวประชาชน 4. หนังสือมอบอำนาจ (กรณีที่ผู้ประกันตนไม่สามารถไปรับด้วยตนเอง) 5. กรอกแบบฟอร์มที่โรงพยาบาลกำหนด 6. รับเงินคืนได้ที่ แผนกการเงิน ในวันเวลาทำการ
เมื่อผู้ประกันตนเจ็บป่วย
หลักฐานแสดงเมื่อเข้ารับการรักษา 1. บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรที่ทางราชการออกให้ 2. บัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาลที่ระบุสถานพยาบาล
กรณีเข้ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ ผู้ประกันตนจะได้รับการตรวจวินิจฉัย และรักษาพยาบาลตามมาตรฐานทางการแพทย์โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ
กรณีเข้ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลอื่นที่ไม่ระบุในบัตรรับรองสิทธิ 1. กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน คือ การเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน อาการค่อนข้างรุนแรงต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนมิเช่นนั้นอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต หรือพิการทุพพลภาพ (ใช้สิทธิได้ไม่เกินปีละ 2 ครั้ง) 2. กรณีอุบัติเหตุ คือ เหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดเป็นผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมภายนอก หรือเกิดขึ้นจากอาการของโรคประจำตัวของผู้ประกันตนเป็นเหตุแก่ร่างกาย (ใช้สิทธิไม่จำกัดจำนวนครั้ง)
ทั้ง 2 กรณีสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นภายใน 72 ชั่วโมงแรกนับตั้งแต่เข้ารับการรักษา ตามอัตราดังนี้
ประเภทผู้ป่วยนอก 1. จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น ไม่เกินครั้งละ 300 บาท 2. ค่าตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจเลือด / ปัสสาวะ, เอกซเรย์ เท่าที่จ่ายจริงไม่เกินครั้งละ 200 บาท 3. กรณีมีการรักษาด้วยหัตถการทางการแพทย์ เช่น ทำแผล, เย็บแผล ตามจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกินครั้งละ 200 บาท
ประเภทผู้ป่วยใน 1. จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลตามจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกินวันละ 1,500 บาท 2. ค่าห้อง ค่าอาหาร เบิกได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกินวันละ 700 บาท / ครั้ง 3. ค่าผ่าตัดใหญ่ไม่เกิน 2 ชั่วโมง เบิกได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 8,000 บาท / ครั้ง 4. ค่าผ่าตัดใหญ่เกิน 2 ชั่วโมง เบิกได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 14,000 บาท / ครั้ง 5. ค่ารักษาพยาบาลในห้อง ICU ไม่เกินวันละ 2,000 บาท 6. ค่าเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT SCAN หรือ MRI) ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไม่เกิน 4,000 บาท / ครั้ง 7. ค่ารถพยาบาลตามจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกิน 500 บาท / ครั้ง พาหนะรับจ้าง หรือพาหนะส่วนบุคคล ไม่เกิน 300 บาท / ครั้ง กรณีข้ามเขตจังหวัด เบิกเพิ่มได้อีกตามระยะทางกิโลเมตรละ 90 สตางค์
กลุ่มโรคยกเว้น และบริการที่ผู้ประกันตนไม่สามารถใช้สิทธิได้ 1. โรคจิต ยกเว้นกรณีเฉียบพลัน ซึ่งต้องทำการรักษาทันที และระยะเวลารักษาไม่เกิน 15 วัน 2. โรค หรือการประสบอันตรายอันเนื่องมาจากการใช้สารเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด 3. โรคเดียวกันที่ต้องใช้ระยะเวลารักษาตัวในโรงพยาบาลประเภทคนไข้ในเกิน 180 วันใน 1 ปี 4. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) ยกเว้น - กรณีไตวายเฉียบพลันที่มีระยะเวลารักษาไม่เกิน 60 วัน - กรณีเจ็บป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ให้มีสิทธิได้รับบริการทางการแพทย์ โดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตราการบริการทางการแพทย์ที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด 5. การกระทำใดๆ เพื่อความสวยงามโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ 6. การรักษาที่ยังอยู่ในระหว่างการค้นคว้าทดลอง 7. การรักษาภาวะการมีบุตรยาก 8. การตรวจเนื้อเยื่อ เพื่อการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ ยกเว้น การตรวจเนื้อเยื่อเพื่อการปลูกถ่ายไขกระดูกของผู้ประกันตน ให้จ่ายค่าตรวจเนื้อเยื่อเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 7,000 บาทต่อรายตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด 9. การตรวจใดๆ ที่เกินความจำเป็นในการรักษาโรคนั้น 10. การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ ยกเว้นการปลูกถ่ายไขกระดูก ให้จ่ายค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายในอัตรา 750,000 บาทต่อรายแก่สถานพยาบาลที่ให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนจนสิ้นสุดกระบวนการปลูกถ่ายไขกระดูก โดยจะต้องเป็นสถานพยาบาลที่คณะกรรมการการแพทย์รับรอง และได้ทำความตกลงไว้กับสำนักงานในการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตน กรณีการปลูกถ่ายไขกระดูก ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด 11. การเปลี่ยนเพศ 12. การผสมเทียม 13. การบริการระหว่างรักษาตัวแบบพักฟื้น 14. ทันตกรรม ยกเว้น การถอนฟัน การอุดฟัน และการขูดหินปูน ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกิน 200 บาท / ครั้ง และไม่เกิน 400 บาท / ปี 15. แว่นตา และเลนส์เทียม ยกเว้นการผ่าตัดใส่เลนส์เทียมในลูกตา ให้จ่ายเป็นค่าเลนส์เทียมในอัตราข้างละ 4,000 บาท
สามารถดูเพิ่มเติมได้จาก https://web.sso.go.th/FAQ/card.html ค่ะ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน 88/28 ถ.ติวานนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 โทร. 0 2956 2345 e-Mail : info@sso.go.th | โดย: ทองคำ ไม่ใช่ทองเค [14 พ.ค. 51 19:13] ( IP A:61.19.65.181 X: ) |  |
 |
|
|