ปฏิวัติประชาธิปไตย
   การปฏิวัติประชาธิปไตยโดยคนไทยทั้งมวล






นายแพทย์ประเวศ วะสี เสนอบทความเรื่อง "การปฏิวัติประชาธิปไตยโดยคนไทยทั้งมวล" ความว่า

"การปฏิวัติประชาธิปไตยโดยคนไทยทั้งมวล

ประเวศ วะสี

คำว่า “ปฏิวัติ” โดยรูปศัพท์แปลว่าการหมุนกลับ ในทางพระพุทธศาสนาใช้ในความหมายไม่ดี คือในท้ายปฐมเทศนาหรือธัมมจักกัปวตนสูตรมีความว่า เมื่อพระศาสดาได้กลิ้งพระธรรมจักรให้หมุนไปสู่มวลมนุษย์แล้ว ไม่มีใครจะหมุนกลับ (ปฏิวัติ)ได้ การปฏิวัติฝรั่งเศสกับการปฏิวัติรัสเซียหมายถึงการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองอย่างทันทีทันใด การปฏิวัติรัฐประหารของไทยหมายถึงกองทัพยึดอำนาจทางการเมืองล้มล้างรัฐบาลเก่า หลายคนไม่ยอมเรียกการรัฐประหารว่า เป็นการปฏิวัติ เพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลงวิถีคิดและระบบคุณค่า เป็นเพียงเปลี่ยนกลุ่มบุคคลผู้ยึดกุมอำนาจรัฐเท่านั้น

ประเทศไทยพยายามเป็นประชาธิปไตยมาตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ แต่ไม่สำเร็จ เพราะทำกันแต่ “รูปแบบ” โดยไม่ได้ “ปฏิวัติจิตสำนึกประชาธิปไตย” จิตสำนึกอันคับแคบ+ “รูปแบบ” ได้นำการเมืองไทยสู่สภาวะวิกฤตในปัจจุบัน

จิตอันคับแคบคือจิตที่มากอยู่ด้วยตัณหา มานะ ทิฎฐิ

ตัณหาคืออยากเป็นอยากเอา

มานะคือการใช้อำนาจเหนือคนอื่น

ทิฏฐิคือการเอาความเห็นของตัวเป็นใหญ่

นี้คือสัตว์ร้ายสามตัวในตัวมนุษย์ ที่ไม่ใช่จิตสำนึกประชาธิปไตย เราเห็นสัตว์ร้ายสามตัวนี้ครองโลกการเมืองไทย เมื่อมีคนมีตัณหาในทรัพย์สินเงินทองมากแสวงหาความร่ำรวยสุด ๆ แล้วเอาเงินทองอันมากมายนั้นมาสนองการใช้อำนาจเหนือคนอื่น (มานะ) และการเอาความเห็นของตัวเป็นใหญ่ (ทิฏฐิ) ความเลวร้ายทางการเมืองก็เกิดขึ้นสุดๆ “รูปแบบ” คือการเลือกตั้งก็กลายเป็นเพียงเครื่องมือที่กลุ่มคนที่มีจิตสำนึกอันคับแคบใช้ในการเข้าไปสู่การยึดกุมอำนาจรัฐรวมศูนย์ ซึ่งไม่ใช่ประชาธิปไตยโดยสาระ ความไม่เป็นธรรมจึงเกิดขึ้นทั่วไป บ้านเมืองระส่ำระสาย แก้ปัญหาไม่ได้ ขัดแย้ง แตกแยก และเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงนองเลือด เคลื่อนเข้าสู่มิคสัญญีกลียุคมากขึ้นเรื่อย ๆ

จึงจำเป็นต้องมีปฏิวัติประชาธิปไตย

และถ้าเป็นการปฏิวัติโดยคนไทยทั้งมวล ไม่ใช่โดยฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด การปฏิวัติก็จะเป็นไปด้วยสันติวิธี โปรดสังเกตว่าความรุนแรงอาจไม่ใช่การปฏิวัติ แต่สันติวิธีก็เป็นการปฏิวัติได้ ถ้ามีการเปลี่ยนจิตสำนึก เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนระบบคุณค่า เปลี่ยนระบบการปกครอง

คนไทยและประเทศไทยลำบากมามากพอแล้ว ถึงเวลาที่คนไทยทั้งมวลทุกหมู่เหล่า ทุกองค์กร ทุกสถาบัน จะรวมตัวกันปฏิวัติประชาธิปไตย คนไทยทั้งมวลควรมีความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะปฏิวัติประชาธิปไตย

เมื่อมีความมุ่งมั่นร่วมกันแล้ว ขั้นต่อไปคือทำความเข้าใจหลักการร่วมกันอย่างกว้างขวางอย่าเพิ่งรีบด่วนเข้าไปสู่รูปแบบ รูปแบบที่ปราศจากหลักการที่ถูกต้องรองรับจะไม่แข็งแรง และพาไปสู่การทะเลาะกันได้ง่าย

หลักการปฏิวัติประชาธิปไตย

๑. ปฏิวัติจิตสำนึกประชาธิปไตย จิตสำนึกประชาธิปไตยเป็นจิตใหญ่ที่เคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เคารพสิทธิมนุษยชน เคารพความสุจริต ยุติธรรม เคารพประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว มีขันติธรรม มีอหิงสธรรม มีการใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหา มีส่วนร่วมในกิจการของส่วนรวมและทั้งบ้านเมืองด้วยความปรารถนาความถูกต้องเป็นธรรม

จิตสำนึกประชาธิปไตยเป็นรากฐานของประชาธิปไตย กลไกและกิจกรรมทุกอย่างต้องเป็นไปเพื่อการปฏิวัติจิตสำนึกประชาธิปไตย

๒. การกระจายอำนาจอย่างทั่วถึง ประชาธิปไตยคือการกระจายอำนาจ เผด็จการคือการรวมศูนย์อำนาจ ระบบการปกครองของไทยคือระบบอำนาจรัฐรวมศูนย์ ในระบบอย่างนี้การเลือกตั้งกลายเป็นพิธีกรรมใช้เงินเป็นอาวุธเพื่อเข้ามาใช้อำนาจรัฐรวมศูนย์ จึงเป็นระบบเผด็จการที่มีการเลือกตั้ง หาใช่ประชาธิปไตยไม่ อำนาจรัฐรวมศูนย์มีความสามารถต่ำในการแก้ปัญหาจึงแก้ปัญหาต่าง ๆ ไม่ได้ เช่น ปัญหาความยากจน ปัญหาความอยุติธรรม ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากไร้ประสิทธิภาพแล้ว อำนาจรัฐรวมศูนย์ยังก่อให้เกิดความขัดแย้งทั่วไป

การปฏิวัติประชาธิปไตย ต้องกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง ถ้าชุมชนท้องถิ่นมีสิทธิในการปกครองตนเองและป้องกันการเอารัดเอาเปรียบและการจำกัดสิทธิจากส่วนบน ประชาชนจะพ้นจากความยากจนโดยรวดเร็ว และมีความเจริญที่แท้จริงทุกด้าน ในการปฏิวัติประชาธิปไตยจะต้องนำไปสู่ประชาธิปไตยของชุมชนท้องถิ่นให้ได้ เมื่อมีการกระจายไปหมดแล้วก็จะยึดอำนาจไม่ได้ ทั้งโดยกองทัพหรือโดยทุนขนาดใหญ่ การกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่นจะช่วยแก้ปัญหาความรุนแรงที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ด้วย

๓. สิทธิในการสื่อสารโดยประชาชน ช่วยกันสนใจตรงนี้ให้ดี ๆ เพราะนี่คือการปฏิวัติประชาธิปไตย ทุกวันนี้ประชาชนตกเป็นผู้รับสารที่สื่อมาจากภาครัฐและภาคธุรกิจ ทั้งอำนาจรัฐและอำนาจเงินกำหนดการรับรู้ของประชาชน ประชาชนต้องเป็นผู้สื่อสารเองโดยทุก ๆ ทาง ทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ อินเตอร์เนต สิ่งพิมพ์ ที่ด่วนที่สุดคือเครือข่ายวิทยุชุมชนที่ประชาชนทั้งประเทศเป็นผู้สื่อ ควรมีสถานีวิทยุที่เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายครอบคลุมทุกตารางนิ้วของแผนดินไทย รับการสื่อที่ประชาชนจะสื่อเข้ามาด้วยโทรศัพท์มือถือ วันหนึ่ง ๆ ประชาชนจะสื่อสารเข้ามาเป็นแสน ๆ ครั้ง เป็นเรื่องร้องทุกข์ที่ถูกกดขี่โดยกลไกของรัฐบ้าง ของนายทุนบ้าง เป็นเรื่องตัวอย่างที่ดี ๆ ที่เกิดขึ้นบ้าง เป็นเรื่องข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ฯลฯ มีการสังเคราะห์การสื่อสารของประชาชนแล้วนำไปใช้ในทางที่เหมาะสม นี้เท่ากับเป็นการเปิดบทบาทของประชาชนทั้งประเทศ เป็นการปฏิวัติประชาธิปไตย ความชั่วต่างๆ ก็ทำได้ยากขึ้น ความดีก็มีโอกาสงอกงามขึ้นอย่างกว้างขวาง การมีโทรทัศน์ชุมชนจะปลดปล่อยศักยภาพของผู้คนในชุมชน สร้างการรู้ทั่วและความโปร่งใสเช่นเดียวกัน ควรมีอินเตอร์เนตที่ประชาชนใช้สื่อสารได้ ชุมชนควรสามารถทำหนังสือพิมพ์ชุมนุมได้เอง จำนวนไม่มากก็ไม่เป็นไร แต่เป็นการเปิดพื้นที่ที่คนในชุมชนเป็นผู้สื่อสารเอง สื่อระดับชาติมาเชื่อมต่อกับหนังสือพิมพ์ชุมชน เพื่อรับเอาสิ่งที่มีประโยชน์ไปเผยแพร่ในวงกว้าง

ด้วยการมีระบบสื่อสารโดยประชาชนอย่างทั่วถึง จะเป็นการเปิดพื้นที่ทางสังคม พื้นที่ทางปัญญาอย่างกว้างขวาง ในระบบเผด็จการพื้นที่นี้ปิด การเปิดพื้นที่ทางสังคม พื้นที่ทางปัญญาอย่างกว้างขวาง จึงเป็นการปฏิวัติประชาธิปไตย

๔. การมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจทางนโยบายในโครงการพัฒนาและในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๗ คือการเมืองภาคพลเมือง ประชาชนมีความชอบธรรมและชอบด้วยกฎหมายที่จะรวมตัวกันที่จะมีสิทธิมีเสียงในเรื่องนโยบาย เรื่องโครงการพัฒนา และเรื่องตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ

ในบางชุมชนของไทยมีประชาธิปไตยโดยตรงที่ไม่ได้ใช้การเลือกตั้งกล่าว คือมีสภาผู้นำชุมชนที่มาจากผู้นำตามธรรมชาติของกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน สภาผู้นำชุมชนต้องการรวบรวมข้อมูลชุมชนแล้วทำแผนพัฒนาชุมชนโดยให้ที่ประชุมของคนทั้งหมู่บ้านที่เรียกว่าสภาประชาชน เป็นผู้รับรู้และมีส่วนร่วม อันเป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง และมีคุณธรรมอย่างยิ่ง เกิดผลดีต่อการพัฒนาอันเป็นที่น่าพอใจของทุกฝ่าย รูปแบบนี้ควรขยายตัวทั้งทางกว้างและในการขึ้นมาสู่ระดับบน สภาผู้นำชุมชนสามารถเลือกตัวแทนจากระดับล่างสุดขึ้นมาเป็นสภาผู้นำชุมชนระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และระดับชาติ โดยมีข้อกำหนดให้องค์กรที่มีอำนาจนำข้อเสนอแนะจากสภาผู้นำชุมชนไปพิจารณา ตั้งแต่ อบต. ไปจนถึง ครม.

ในทำนองเดียวกันอาจมีสภาผู้นำของกลุ่มคนอื่น ๆ เช่น สภาผู้นำกรรมกร สภาผู้นำคนพิการ ฯลฯ ที่ควรมีสิทธิมีเสียงในเรื่องนโยบายการพัฒนาและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ สภาผู้นำกลุ่มต่าง ๆ อาจรวมตัวกันเป็นสภาประชาชนที่ทำการเสนอแนะทางนโยบายและทิศทางการพัฒนาประเทศปีละครั้งหรือสองปีครั้ง ที่ฝ่ายบริหารจะต้องเข้าร่วมประชุมรับฟัง อะไรดีและพร้อมก็นำไปปฏิบัติ

๕.ระบบความยุติธรรมที่อิสระและเข้มแข็ง คือเครื่องมือของประชาธิปไตยทุกฝ่ายในสังคมต้องร่วมกันสนับสนุนค้ำจุนให้ระบบความยุติธรรมมีความเป็นอิสระ มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ

๖. เสรีภาพของสื่อมวลชน เสรีภาพของสื่อมวลชนเป็นเครื่องมือของประชาธิปไตย เผด็จการพยายามแทรกแซงเสรีภาพของสื่อมวลชนหรือพยายามซื้อให้เป็นพวก ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่สื่อต้องอาศัยการโฆษณา นายทุนนักการเมืองสามารถกลั่นแกล้งแทรกแซงสื่อมวลชนด้วยวิธีทางธุรกิจได้อย่างไม่สู้ยากนัก ในประเทศที่เจริญ การมีหนังสือพิมพ์แบบสืบสวน (Investigative journalism) เป็นเครื่องมือที่หยุดยั้งคอรัปชั่นได้อย่างชงัด การต่อสู้จากภาคประชาสังคมและวิชาการจนสามารถมีสถานีโทรทัศน์สาธารณะที่เป็นอิสระน่าจะเป็นกำลังใจให้ช่วยกันพัฒนาระบบสื่อมวลชนที่มีเสรีภาพและคุณภาพ เสรีภาพและคุณภาพของสื่อมวลชนเป็นเครื่องมือของประชาธิปไตย

๗. กลไกการตรวจสอบและการคานอำนาจฝ่ายบริหาร องค์กรอิสระเพื่อการตรวจสอบและคานอำนาจฝ่ายบริหารตามที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ ถ้าเป็นอิสระและมีคุณภาพจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่พัฒนาคุณภาพการเมือง แต่อาจถูกแทรกแซงได้โดยเฉพาะจากอำนาจเงินมหาศาล ควรพัฒนากลไกการตรวจสอบและการคานอำนาจให้ดียิ่งขึ้นโดยบัญญัติการได้มาซึ่งกรรมการในองค์กรอิสระให้รัดกุมขึ้น กฎหมายการจัดตั้งโทรทัศน์สาธารณะเขียนอย่างรัดกุมมากจนนักการเมืองที่อยากแทรกแซงก็เกือบแทรกแซงไม่ได้เลย อัยการตามปกติดำเนินคดีกับผู้ดำรงตำแหน่งในระดับสูงไม่ได้ แม้ในสหรัฐอเมริกาเคยต้องตั้งอัยการพิเศษ (Special Counsel) ซึ่งก็ยังใช้ไม่ได้ ต้องตั้งอัยการอิสระ (Independent Counsel) ขึ้นมาดำเนินคดีเมื่อประธานาธิบดีตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา เรื่องนี้ต้องการผู้รู้จริงเข้ามาช่วยวางระบบที่จะดำเนินคดีเอาผิดผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงทางการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเมืองภาคพลเมืองที่เข้มแข็งจะช่วยให้การทำงานขององค์กรอิสระได้ผลยิ่งขึ้น ควรมีผู้รู้รวมกันเป็น ปปช. ภาคประชาชน

๘. คุณภาพของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เรื่องนี้เป็นปัญหามากที่สุดอิทธิพลของเงินขนาดใหญ่หรือธนกิจการเมืองเป็นปัจจัยทำลายระบบการเมืองมากที่สุด ทำให้เราได้ผู้ที่มาดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ขาดความรู้ความสามารถ ทำงานไม่เป็น เป็นคนทุจริตเห็นแก่ได้ ทำให้บ้านเมืองปั่นป่วน วุ่นวาย เศร้าหมอง และวิกฤต ในขณะที่การเลือกตั้งเป็นของจำเป็นในระบอบประชาธิปไตย ต้องหาทางขจัดอำนาจเงินที่เข้ามาสู่การเลือกตั้งทุกวิถีทางและต้องไม่ให้อำนาจที่ได้มาจาการเลือกตั้งเป็นอำนาจเดี่ยวและเป็นอำนาจที่ไม่รับผิดชอบ

ในสหรัฐอเมริกา แม้ประธานาธิบดีจะได้รับเลือกมาจากคนทั้งประเทศ ไม่ใช่จะสามารถแต่งตั้งคนที่จะดำรงตำแหน่งได้โดยอำเภอใจ ตำแหน่งสำคัญ ๆ เช่น รัฐมนตรีหรือผู้พิพากษาศาลสูงจะต้องผ่านการตรวจสอบในที่สาธารณะอย่างละเอียด ผู้เคยทำความผิดเพียงนิดเดียวก็ไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้ เราจะต้องเลิกแนวคิดว่าเป็นสิทธิของนักการเมืองที่จะดำรงตำแหน่งหรือให้ใครดำรงตำแหน่งก็ได้ แล้วก็เอาคนขี้ริ้วขี้เหร่ต่าง ๆ เอาลูก เอาเมีย เอาพ่อ เอานายทุน เอาคนรับใช้ประจำตัว มาเป็นรัฐมนตรีโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติ จะต้องปฏิวัติความคิดตรงนี้ใหม่ว่าเป็นสิทธิของประเทศที่จะได้คนดีที่สุดมาบริหารประเทศ ซึ่งควรต้องผ่านกลไกการตรวจสอบ ในประเทศจีนเขามีกลไกคัดสรรผู้นำทางการเมืองที่ต้องผ่านการทดลองงานเป็นเวลานานและพิสูจน์ความสามารถและความสุจริตให้เป็นที่ประจักษ์มาก่อน ของเราปุ๊บปั๊ปปรู๊ดปร๊าด มีเงินมาก ๆ ก็เข้ามาดำรงตำแหน่งโดยไม่ประจักษ์ความสามารถและความสุจริต เรื่องคุณภาพของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังเป็นเรื่องที่ต้องการการพัฒนาอีกมาก

9. การเมืองภาคประชาชน ระบบการเมืองของเราจมปลักอยู่ในความไม่ถูกต้องอย่างเหนียวแน่นอย่างยากที่จะสลัดตัวออกมาได้ เร็วๆ นี้มีปัจจัย 2 ประการ ที่เขย่าระบบการเมืองที่ไม่ถูกต้องอย่างแรง ประการหนึ่งคือการที่พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสกระตุ้นให้ตุลาการทำงานอย่างเข้มแข็งถูกต้องเที่ยงธรรมเพื่อแก้วิกฤตของบ้านเมือง อีกประการหนึ่งคือการเมืองภาคประชาชนที่รวมตัวเคลื่อนไหวประท้วงต่อต้านความไม่ถูกต้องด้วยสันติวิธีและด้วยอาริยะขัดขืน การต่อต้านและขัดขืนด้วยสันติวิธีแบบที่มหาตมะคานธีใช้ในการต่อต้านอำนาจที่ไม่ชอบธรรมของอังกฤษ และที่เนลสัน แมนเดลาใช้ที่แอฟริกาใต้ เป็นวิธีการต่อสู่ที่ทรงพลังและได้ผลมากในการต่อสู่กับอำนาจเผด็จการอันมหึมาที่ทำกับประชาชนเจ้าของประเทศ

เวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกลายเป็นเครื่องมือที่ให้การศึกษาทางการเมืองอย่างกว้างขวางอย่างไม่เคยมีมาก่อน คณะรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ไม่เคยสามารถให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชนได้ถึงขนาดนี้ จริงอยู่พันธมิตรอาจจะมีผิดบ้างถูกบ้าง แต่ภาพใหญ่คือการให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง การปฏิวัติประชาธิปไตยจะเป็นไปได้ต่อเมื่อประชาชนมีจิตสำนึกและมีการศึกษาทางการเมืองโดยการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง

การเมืองภาคประชาชนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของการปฏิวัติประชาธิปไตย ควรทำให้การเมืองภาคประชาชนมีความเป็นสถาบัน นั่นคือมีคุณค่า เป็นที่ยอมรับของสังคม โดยการคิดชอบ พูดชอบ ทำชอบ แสวงหาความรู้และให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่สังคม ต้องไม่เข้าไปสู่การมีอำนาจเสียเอง แต่เป็นผู้กำกับให้ผู้มีอำนาจใช้อำนาจอย่างถูกต้องเป็นธรรม เหมือนกรรมการมวยต้องไม่เข้าไปชกแทนนักมวย

การต่อสู้ทางการเมืองได้ดำเนินมานานพอสมควรจนบ้านเมืองบอบช้ำและไม่สามารถหาจุดลงตัวได้ เกิดสภาวะเสี่ยงที่จะเกิดมิคสัญญีกลียุค คนไทยทั้งมวลทุกหมู่เหล่า องค์กร และสถาบัน ทั้งนักวิชาการ ทหาร และพลเรือน ตลอดจนพรรคการเมืองต่าง ๆ ควรหันมาร่วมกันปฏิวัติประชาธิปไตย เป็นการปฏิวัติด้วยสันติวิธี ไม่มีใครตาย ที่จะตายคือความไม่ถูกต้อง คนไทยเป็นคนดี มีน้ำใจ อยู่ในภูมิประเทศที่มีทรัพยากรมาก ไม่ควรจะลำบากถึงเพียงนี้ ควรจะได้อยู่ในสังคมที่มีความพอเพียง เจริญ และสันติ สังคมจะพอเพียง เจริญ และสันติได้ จะต้องมีความถูกต้องเป็นธรรม ประชาธิปไตยไม่ใช่เป็นเพียงกลไกและกลไกเท่านั้น แต่ต้องเป็นระบบที่มีความถูกต้องเป็นธรรม เราต้องร่วมกันปฏิวัติประชาธิปไตยให้ระบบการเมืองมีความถูกต้องเป็นธรรม การเมืองจึงจะไปสู่จุดลงตัวใหม่ เป็นปัจจัยให้ประเทศไทยเกิดความเจริญอย่างแท้จริงและมีศานติสุข"

โดย: ปฏิวัติวงการแพทย์ [21 ก.ค. 51 21:51] ( IP A:58.8.7.155 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
ความคิดเห็นที่ 1
   https://www.komchadluek.net/2008/07/21/x_scoo_p001_212287.php?news_id=212287
โดย: จากคมชัดลึก [21 ก.ค. 51 21:52] ( IP A:58.8.7.155 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
   หลักเดียวกัน
โดย: พื้นๆ FLOOR FLOOR [21 ก.ค. 51 21:53] ( IP A:58.8.7.155 X: )
ความคิดเห็นที่ 3
   รัฐบาลอย่างหนา 5 ห่วงฉันใด
แพทยสภายุคนี้ก็ฉันนั้น
โดย: 10 ห่วงคูณ 10 [21 ก.ค. 51 22:45] ( IP A:58.9.193.221 X: )
ความคิดเห็นที่ 4
    สังคมจะพอเพียง เจริญ และสันติได้ จะต้องมีความถูกต้องเป็นธรรม
โดย: aa [22 ก.ค. 51 20:55] ( IP A:58.8.10.51 X: )
ความคิดเห็นที่ 5
   ตอนนี้ใน สธ. พึ่งหน่วยงานไหนได้บ้าง

แพทยสภา หอกหัก
กองประกอบ สุนัขรับใช้รพ.เอกชน
ปลัดกระทรวง ชอบเลียไข่รัฐมนตรี
โดย: พึ่งไม่ได้เลย [22 ก.ค. 51 22:57] ( IP A:58.9.220.124 X: )
ความคิดเห็นที่ 6
   การรวมตัวของคนไข้ การมีส่วนร่วมของคนไข้ และสื่อที่ดี จะปฏิวัติวงการแพทย์ ได้แบบเดียวกับปฏิวัติประชาธิปไตย
แพทย์เองมีผลประโยชน์ทับซ้อน แก้ปัญหาไม่ได้
ประชาชนต้องมีกลไกตรวจสอบ ไม่งั้นวงการแพทย์ก็จะดิ่งเหว เพราะไม่ถูกตรวจสอบ
หวังว่าคงไม่ต้องโดนตุลาการภิวัฒน์ แพ้คดีบ่อยๆแบบนักการเมือง
หลักเดียวกัน
โดย: ฟฟ [23 ก.ค. 51 4:50] ( IP A:58.8.10.51 X: )
ความคิดเห็นที่ 7
    ต้องพาไปวัดนั่งวิปัสสนาสัก 1 เดือน จะได้รู้ว่า ผิด - ถูก ตายไปแล้วจะเป็นไง สำหรับคนโกงชาติบ้านเมือง และเห็นแก่ได้ เห็นแก่ตัว

ไม่รู้ว่า 1 เดือนจะช่วยได้ไหม ชาตินี้ ?
โดย: GN [28 ก.ค. 51 12:15] ( IP A:117.47.229.189 X: )

คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน