สิทธิมนุษยชนไม่มีอายุความ อภิปรายนอกสภาโดย
   สิทธิมนุษยชนไม่มีอายุความ สิบเจ็ดปีที่ยังรอคอยของ นางปรียานันท์(ดลพร) ล้อเสริมวัฒนา (อภิปรายนอกสภา)



เมื่อวันพุธ 10 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรใช้เวลาถึง 4 ชั่วโมงพิจารณารายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เกี่ยวกับกรณีวิบากกรรมอันยาวนานของนางปรียานันท์ (ดลพร) ล้อเสริมวัฒนา ผู้กระเตงลูกชายคนเดียวเรียกร้องหาสิทธิมนุษยธรรมเป็นเวลาถึง 17 ปี ตั้งแต่เป็นทารกแรกเกิดจนเป็นเด็กหนุ่มพิการอยู่ในวันนี้ แต่ถูกปฏิเสธเพราะต่อสู้มายาวนานเกินไปจนคดีขาดอายุความ

เหตุเกิดตั้งแต่ปีพ.ศ.2534 นางปรียานันท์ ล้อเสริมวัฒนา ได้ไปฝากครรภ์ท้องแรกที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง โดยได้ไปพบแพทย์ทุกครั้งตามนัดหมาย จนครบกำหนดคลอดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2534 แพทย์ผู้ทำการคลอดไม่ได้ทำการตรวจท่าทางเด็กในครรภ์ ไม่ได้ตรวจสอบน้ำหนักตัวแม่เด็กและน้ำหนักลูก ไม่ได้มีการตรวจสอบวินิจฉัยก่อนคลอดให้ละเอียด พอปากมดลูกเปิดพบว่าเด็กอยู่ในท่าผิดปกติก็พยายามใช้เครื่องดูดระบบสุญญากาศหนีบศีรษะเด็กเพื่อพยายามดึงออกมา แต่ไม่สามารถเอาเด็กออกจากช่องคลอดได้ จึงใช้วิธผ่าตัดเอาเด็กออกทางหน้าท้อง โดยไม่มีรายงานปรากฏว่า ทำไมจึงไม่ใช้วิธีผ่าตัดตั้งแต่แรก

ผลการพยายามใช้เครื่องดูดทำให้ศีรษะเด็กช้ำบวม เมื่อเด็กคลอดมาได้ 1 วันเริ่มตัวเหลืองและเหลืองเพิ่มขึ้นในวันต่อๆมา วันที่ 2 เมษายน ต้องนำเด็กเข้าฉายแสงหรือส่องไฟ วันที่ 3 เมษายน มีการเจาะเลือดนับเม็ดโลหิต วันที่ 4 เมษายน ต้องถ่ายเลือดทางสะดือ วันถัดมาสายสะดือเด็กแฉะและมีของเหลวสีเหลืองออกมา แพทย์เอาสายพลาสติกแยงสะดือออก น้ำหนักเด็กลดลงตามลำดับ มีไข้ขึ้นสูงต่อเนื่องหลายวัน วันที่ 8 เมษายน หรือหลังคลอดได้ 8 วันเด็กร้องไห้กวนเป็นพักๆต่อเนื่องถึงวันรุ่งขึ้น แพทย์ได้เจาะเลือดนับเม็ดโลหิตขาวอีกครั้ง ปรากฎว่า เม็ดโลหิตขาวมีจำนวนเพิ่มขึ้น มีไข้ต่ำลง

วันที่ 8 เมษายน 2534 รอยบวมบริเวณหัวทุยยุบลง แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ โดยบอกว่าแขนข้างซ้ายเด็กยังไม่แข็งแรงให้ทำกายภาพบำบัดและมาตรวจเช็คที่โรงพยาบาลอีก เมื่อกลับบ้านเด็กร้องไห้อย่างหนัก ผู้ร้องจึงโทรศัพท์สอบถามทางโรงพยาบาลได้รับคำตอบว่าไม่เป็นไรเด็กร้องโดลิค (ร้องปวดท้องธรรมดา) ครั้นเมื่อพาบุตรชายไปโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2534 ตามนัด ผู้ร้องบอกแพทย์ว่าขาลูกชายไม่ยอมกางและบวมแดง แพทย์ได้หิ้วเด็กให้ลองยืน แต่ขาข้างซ้ายของเด็กไม่ยอมแตะพื้น แพทย์บอกให้ไปทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลใดก็ได้ที่สะดวก

นางปรียานันท์ฯกระเตงลูกน้อยตระเวนไปขอพึ่งพาโรงพยาบาลเอกชนอีกหลายแห่ง พบรอยการใช้เครื่องสุญญากาศดูดเด็กที่ศีรษะ ขาซ้ายไม่เคลื่อนไหว แต่แขนซ้ายขยับเขยื้อนได้บ้าง X-ray พบมีหนองอยู่ในบริเวณข้อสะโพกข้างซ้าย อันเกิดจากการติดเชื้อในกระแสเลือด ต้องดูดเจาะหนองออก ผู้ร้องได้พาบุตรไปร้องขอให้โรงพยาบาลที่ทำคลอดให้ช่วยเหลือหลายครั้ง โรงพยาบาลผู้ทำคลอดปฏิเสธความรับผิดชอบ อ้างว่าการติดเชื้ออาจจะติดจากที่ไหนก็ได้ตลอดเวลาแม้กระทั่งจากทางอากาศ เดือนธันวาคมพบว่าหนองได้กัดกินกระดูกข้อสะโพกซ้ายจนหมด เป็นเหตุให้ขาข้างซ้ายเจริญเติบโตไม่เท่าขาขวา ลีบเล็กลง ต้องผ่าตัดถึง 2 ครั้งแต่ก็ไม่สามารถแก้ไขได้ ภายหลังเด็กเกิดอาการแทรกซ้อนมีความผิดปกติที่แขนขา การติดเชื้อที่กระดูกมากขึ้นอีก โดยมีหนองเป็นแอ่งที่ข้อสะโพกซ้าย กลับไปหาโรงพยาบาลที่ทำคลอดเพื่อถามสาเหตุของอาการแทรกซ้อน แพทย์กลับบ่ายเบี่ยงโดยอ้างว่าไม่มีบันทึกอาการแทรกซ้อนในส่วนนี้ตั้งแต่แรกเกิดจนเด็กมีอายุ 3 ปี 5 เดือนอาการก็ยังไม่ดีขึ้นอยู่ในสภาพพิการ ต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา

นางปรียนันท์ฯ เข้าร้องต่อแพทยสภา ที่ประชุมแพทยสภามีความเห็นเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2539 มีมติให้ยกข้อกล่าวโทษแพทย์ผู้ทำคลอด อีก 6 ปีต่อมาเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2545 นางปรียานันท์ฯได้ขอให้แพทยสภาพิจารณาใหม่ โดยส่งสำเนาเวชระเบียนของโรงพยาบาลและแพทย์ผู้ทำคลอดจำนวน 55 แผ่นเพื่อประกอบการพิจารณา แพทยสภายกคำร้องอ้างว่าไม่มีประเด็นใหม่ ผู้ร้องได้ร้องขอเข้าชี้แจง ข้ออ้างที่ว่าในเวชระเบียนตั้งแต่ต้น ไม่ได้บันทึกเรื่องขาไว้เลย เป็นเพราะแพทย์ไม่บันทึกไว้เอง

ผู้ร้องได้เข้าร้องต่อมูลนิธิเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค หัวหน้าศูนย์เรื่องร้องเรียนมีความเห็นว่า คนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน เพราะต้องการบริการที่ดีและรอบคอบ จึงยอมจ่ายค่ารักษาพยาบาลแพงๆ กรณีนี้ไม่มีการวัดช่องคลอด การคะเนน้ำหนักเด็กตั้งแต่ต้น ไม่มีในใบฝากครรภ์ ไม่มีการบันทึกตรวจครรภ์ ไม่มีบันทึกน้ำหนักของแม่และเด็ก และไม่มีหลักฐานอีกหลายอย่างที่จำเป็นต้องมีตามมาตรฐานของแพทย์ ข้อมูลไม่เด่นชัดก่อนการวินิจฉัยตัดสินใจ การพบเม็ดเลือดขาวถึงสองหมื่นกว่าตัว ไม่น่าจะปล่อยให้ผู้ป่วยกลับบ้าน แต่แพทยสภาก็มีมติเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2545 ไม่รับรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่

นางปรียานันท์เข้าร้องต่อคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ยื่นฏีกากราบถวายบังคมทูลขอพระราชทานความเป็นธรรม พยายามให้มีการเจรจากับโรงพยาบาลเอกชนผู้ทำคลอดให้รับผิดชอบช่วยเหลือ แต่ไร้ผล จึงได้ฟ้องคดีโรงพยาบาลและแพทย์ผู้ทำคลอดต่อศาลแพ่งเมื่อปี 2539 ศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องเพราะเหตุเกิดตั้งแต่ปี 2534 ผู้ร้องฟ้องคดีเมื่อเกิน 1 ปีนับจากวันเกิดเหตุ คดีขาดอายุความ

ผู้ร้องยื่นฟ้องอุทธรณ์และฎีกา ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกามีคำพิพากษายืนให้ยกฟ้องเพราะคดีขาดอายุความ ผู้ร้องได้ไปยกป้ายประท้วงที่หน้าโรงพยาบาลผู้ทำคลอด ผู้ร้องให้สัมภาษณ์ออกรายการวิทยุและรายการโทรทัศน์พูดถึงเหตุการณ์ความทุกข์ที่เกิดขึ้นหลายสถานที่ แต่ก็ไม่ได้รับการเหลียวแลจากทางโรงพยาบาล กลับถูกทางโรงพยาบาลฟ้องร้องเป็นจำเลยทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาฐานหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากนางปรียนันท์ผู้ร้องจำนวนหลายร้อยล้านบาท แต่ลดให้เหลือหนึ่งล้านบาท

ผลทางคดีศาลชั้นต้นยกฟ้องโรงพยาบาลผู้ทำคลอดที่ฟ้องนางปรียานันท์เป็นจำเลยทั้งสองคดี แต่ทางโรงพยาบาลยังอุทธรณ์ ขณะนี้คดียังอยู่ในการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ นางปรียานันท์สู้คดีและติดตามร้องเรียนขอความเป็นธรรมในที่ต่างๆจนหมดเนื้อหมดตัว มีหนี้สินจนบ้านที่อยู่ปัจจุบันถูกยึดบังคับคดีใช้หนี้

นางปรีนานันท์ฯผู้ร้อง ได้เข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2545 และติดตามเรื่องราวตลอดมาจนถึงปี 2550 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้พยายามประสานงานขอให้โรงพยาบาลผู้ทำคลอดมาตกลงประนีประนอมช่วยเหลือนางปรียานันท์ฯ แต่ทางโรงพยาบาลปฏิเสธตลอดมา จึงไม่อาจกระทำได้

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจึงมีมติเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2550 เห็นว่าแพทย์ผู้ทำคลอดและกุมารแพทย์ของโรงพยาบาลผู้ทำคลอดประมาทเลินเล่อ รวมทั้งโรงพยาบาลไม่มีมาตรการแก้ไขเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย จึงก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ส่วนกระบวนการตรวจสอบของแพทยสภาไม่เป็นธรรมต่อผู้ร้อง

มาตรการแก้ไขปัญหา"ให้โรงพยาบาลช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตั้งแต่เมื่อบุตรชายของผู้ร้องเริ่มมีอาการพิการจนถึงปัจจุบันและให้ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานทางการแพทย์ให้แก่บุตรชายผู้ร้องจนกว่าจะหายจากอาการพิการ ให้แพทยสภารื้อฟื้นเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาใหม่ ให้กระทรวงสาธารณสุขวางมาตรฐานในการตรวจรักษาพยาบาลผู้ป่วย หรือผู้มารับบริการของโรงพยาบาลให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการบันทึกการตรวจรักษาของแพทย์ในเวชระเบียน ต้องมีรายละเอียดพอสมควร และต้องชัดเจนตามข้อเท็จจริงและสมุห์ฐานของอาการอย่างแท้จริง ให้สามารถตรวจสอบได้ตามหลักธรรมาภิบาล"

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้มีหนังสือลงวันที่ 10 เมษายน 2551 กราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหา แต่จนปัจจุบันยังไม่ได้รับแจ้งผลการดำเนินการฯ จากนายกรัฐมนตรี หรือจากหน่วยงานที่นายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาแต่อย่างไร จึงรายงานเรื่องนี้มายังรัฐสภาเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

เรื่องจึงได้สู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรใช้เวลาถึงประมาณ 4ชั่วโมงดังกล่าวข้างต้น สุดท้ายก็ยังไม่มีการยืนยันความช่วยเหลือใดๆที่ชัดเจนจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขผู้มารับทราบรายงานและชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรในนามของรัฐบาล คำตอบดูเหมือนอ้อมแอ้มอยู่กับประเด็นที่ว่า เรื่องนี้เป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับโรงพยาบาลเอกชน นอกเหนือวิสัยที่รัฐบาลจะเข้าไปแทรกแซงได้

การต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมด้วยความอดทนเป็นเวลายาวนานถึง 17 ปี ของนางปรียานันท์ (ดลพร) ล้อเสริมวัฒนา มนุษยชนคนนี้ จะจบสิ้นเพียงแค่การรับทราบของสภาผู้แทนราษฎรเช่นนี้หรือ ?

เรื่องนี้แน่นอนที่สุด นางปรียานันท์ ล้อเสริมวัฒนา และบุตรพิการเป็นผู้เสียหาย

โรงพยาบาลและแพทย์เป็นผู้ต้องรับผิดต่อนางปรียานันท์ฯ ทั้งทางอาญา ทางแพ่งและทางจรรยาแพทย์

แพทยสภาเป็นผู้ต้องรับผิดต่อนางปรียานันท์ฯ ในฐานะที่เป็นผู้วางระเบียบและควบคุมจรรยาบรรณแพทย์

กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ต้องรับผิดต่อนางปรียานันท์ฯ ในฐานะเป็นผู้ให้ใบอนุญาตและควบคุมการประกอบการของโรงพยาบาลเอกชน

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบต่อนางปรียานันท์ฯ ในเรื่องสิทธิมนุษยชน

รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบต่อประชาราษฎร์ทุกคนในฐานะเป็นผู้บริหารประเทศและธรรมาภิบาล ไม่ว่าจะเป็นนิติธรรม คุณธรรม เมตตาธรรม ยุติธรรม และมนุษยธรรม

ความรับผิดทางแพ่งของโรงพยาบาลและแพทย์ผู้ทำคลอดถูกศาลยกฟ้องเพราะคดีขาดอายุความ

ความรับผิดของแพทยสภาอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จะขาดอายุความหรือไม่เป็นเรื่องที่จะปรากฏโดยคำพิพากษาภายหลัง

แต่ความรับผิดในธรรมาภิบาลของรัฐบาลผู้บริหารประเทศไม่มีอายุความ

การล่วงละเมิดในสิทธิมนุษยชนไม่มีอายุความ

การถูกล่วงละเมิดยาวนานเสียหายทุกข์ทรมานยิ่งกว่าการละเมิดในช่วงเวลาสั้นๆ ที่ยังอยู่ในอายุความ

ภารกิจการต่อสู้เพื่อมนุษยธรรมของมนุษยชนทุกผู้ทุกนาม ยิ่งนานยิ่งศักดิ์สิทธิ์

รัฐบาลใดก็ตามที่จะมาบริหารประเทศต่อไปนี้จะละเลยเรื่องเช่นนี้ไม่ได้

ค่าเยียวยารักษาและชดใช้ความเสียหายให้แก่นางปรียานันท์ ล้อเสริมวัฒนา น้อยนิดเหลือเกินเมื่อเทียบกับงบประมาณที่กำลังเตรียมซื้ออาวุธให้กองทัพ

ศักดิ์สิทธิ์และสง่างามยิ่งกว่างบประมาณสร้างรัฐสภาให้ยิ่งใหญ่โอฬาร

(ผู้เขียนขออภัยที่ไม่ได้อภิปรายแสดงความเห็นใจต่อคุณปรียานันท์ ผู้ไปนั่งฟังการประชุมอยู่บนชั้นสองของสภาฯด้วย ขอแสดงความเห็นใจและชื่นชมความกล้าหาญในการต่อสู้ยาวนานถึง 17 ปีด้วย "อภิปรายนอกสภา")


"พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล"

วันที่ 13/9/2008
โดย: \"พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล\" [13 ก.ย. 51 19:46] ( IP A:58.8.16.142 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
ความคิดเห็นที่ 1
   https://www.naewna.com/news.asp?ID=122921
โดย: แนวหนา [13 ก.ย. 51 19:47] ( IP A:58.8.16.142 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
   "Human error is inevitable," said Sir Liam Donaldson, chief medical officer of the British Department of Health and chair of the WHO coalition on patient safety, By raising awareness of the issue, Donaldson said, "we can reduce error, but most importantly, we can reduce its impact."
https://www.usatoday.com/news/health/2004-10-27-who-mistakes_x.htm
โดย: ใช้ได้ทุกที่ [13 ก.ย. 51 21:16] ( IP A:58.8.16.142 X: )
ความคิดเห็นที่ 3
   การถูกล่วงละเมิดยาวนาน
เสียหายทุกข์ทรมานยิ่งกว่า
การละเมิดในช่วงเวลาสั้นๆ ที่ยังอยู่ในอายุความ

โดย: ทุกข์ทรมานแทบไม่เป็นผู้เป็นคน [13 ก.ย. 51 21:23] ( IP A:58.9.198.105 X: )
ความคิดเห็นที่ 4
   17 ปี ไม่ใช่ 17 วัน ไม่ใช่ 17 เดือน
ใครไม่เคยถูกกระทำ จะไม่มีวันรู้สึก
ถึงการถูกย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

โดย: ความเป็นธรรมอยู่ไหน..? [13 ก.ย. 51 21:26] ( IP A:58.9.198.105 X: )
ความคิดเห็นที่ 5
   เพราะว่า นางปรียานันท์ ล้อเสริมวัฒนา เป็นคนไทยธรรมดาคนหนึ่งค่ะ
เรื่องราวจึงยาวนานถึง 17 ปี

ถ้านางปรียานันท์ ล้อเสริมวัฒนา เป็นลูกหลานเจ้าใหญ่นายโต เรื่องก็คงเป็นธรรมไปนานแล้ว ตอนนี้ก็คงไม่ต้องมานั่งทำงานเป็นประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์หรอกค่ะ

มองโลกในแงดีนะคะ ว่า ถ้าไม่มีการต่อสู้เกิดขึ้น พวกเราชาวบ้านจะไม่มีทางรู้เลยว่าเรามีสิทธิ์อะไรบ้าง ในการเป็นคนไทยเข้าไปรับการรักษาที่ รพ. รัฐ หรือว่า รพ.เอกชน เราไม่มีทางรู้เลยว่าสาเหตุการตายที่แท้จริงเป็นเช่นไร
นางปรียานันท์ ล้อเสริมวัฒนา เป็นนางปีศาจในสายตาหมอ แต่นางปรียานันท์ ล้อเสริมวัฒนา เป็น Hero ในใจของคนไข้ผู้เสียหายทางการแพทย์

ข้าพเจ้าคนหนึ่งที่ได้รับความช่วยเหลือจากเครือข่ายฯ โดยที่ตลอดระยะเวลา ทางเครือข่ายฯให้ความช่วยเหลือด้วยดีมาตลอด ไม่เคยยุยงให้ไปฟ้องหมอ ไม่เคยชี้แนะให้ไปเอาเรื่องหมอ มีแต่บอกให้ไปขอความเป็นธรรมและประนีประนอม สาเหตุใหญ่ที่เราฟ้องหมอกันตอนนี้เพราะหมอปกปิดความจริงกับเราและหมอให้ร้ายเราเสียๆหายๆ
จนทำให้ความอดทนที่มีอยู่ค่อนข้างจำกัดในจิตใจมนุษย์ จนทำให้มีการฟ้องร้องเกิดขึ้น


อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าก็จะรอความเป็นธรรมที่จะเกิดขึ้นกับประธานเครือข่ายฯ และสมาชิกผู้เสียหายทุกคน ไม่ว่ามันจะนานแสนนานก็ตาม

โลกเราจะจารึกไว้
แม้ตายความหมายคงอยู่
ประกาศให้ชาวโลกรับรู้
นักสู้คนดีของแผ่นดิน
มาสรรเสริญคนเป็น
ถ้าไม่อยากเห็นคนตาย
ต้องฟูมฟายเสียดายคนดีๆ
ไม่ต้องการอนุสาวรีย์
ไม่ต้องการที่จะกลายเป็นผี
ขอเพียงวันนี้ สดุดีคนเป็น
โดย: สมาชิกเครือข่ายฯ GN+ [14 ก.ย. 51 7:59] ( IP A:117.47.222.121 X: )
ความคิดเห็นที่ 6
   ขอเป็นกำลังใจให้ประธานและสมาชิกเครือข่ายทุกคน

รวมถึงคุณหมอทุกท่านที่มีวิญญาณความเป็นหมอด้วยค่ะ
โดย: 666 [14 ก.ย. 51 9:17] ( IP A:124.120.73.228 X: )
ความคิดเห็นที่ 7
   เดิมโรงพยาบาลพญาไท 1 เจ้าของคือดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์
ขณะที่เกิดเรื่องขึ้น ดร.อาทิตย์ดำรงตำแหน่ง รมว.สธ.

หลังจากขอความเมตตาหลายครั้งให้ช่วยเหลือไม่คิดฟ้องร้อง
นางปรียนันท์ไม่เคยไปแจ้งความเพื่อเอาความทางอาญา
แต่รพ.กลับท้าให้ฟ้อง วันที่ไปขอเวชระเบียนเพื่อนำลูกไปรักษา
ที่เยอรมัน

เมื่อฟ้องรพ.พญาไท 1 ดร.อาทิตย์ย้ายไปเป็นรมว.ยุตฺธรรม
ต่อมาดร.ทักษิณ เข้าไปครอบครองรพ.พญาไท 1 ยังมีเรื่อง
ฟ้องร้องกันกับดร.อาทิตย์คาศาลกันอยู่

นายวิชัย ทองแตง ทนายความคดีซุกหุ้นของดร.ทักษิณ สั่ง
ฟ้องนางปรียนันท์ทั้งแพ่งและอาญา

ผู้คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ล้วนแต่อยู่ในระบอบทักษิณทั้งสิ้น
นางปรียนันท์โดนความอยุติธรรมทำร้ายครั้งแล้วครั้งเล่า

จนแม้กระทั่งล่าสุด พี่สาวนายสมัคร-อดีตนายกรัฐมนตรี
ก็ยังเป็นกรรมการแพทยสภาชุดที่นางปรียนันท์ฟ้องอีก

อดีตชาติ นางปรียนันท์ คงมีเวรกรรมกับคนเหล่านี้มาก่อน
ชาตินี้คนเหล่านี้จึงออกมากระทำกับนางปรียนันท์และบุตรชาย
ต่อกันเป็นทอด ๆ เหมือนวิ่งผลัด 4x100 และเป็นการวิ่งระยะยาว
ยาวนานต่อเนื่องถึง 17 ปี
โดย: วันนี้มันจะสิ้นสุดหรือไม่ [14 ก.ย. 51 11:02] ( IP A:58.9.196.28 X: )
ความคิดเห็นที่ 8
   เหมือนวิ่งผลัด 4x100 และเป็นการวิ่งระยะยาว
ยาวนานต่อเนื่องถึง 17 ปี

ทุกการเริ่มต้นต้องมีการสิ้นสุด การวิ่งครั้งนี้ต้องเรียกว่า วิ่งมาราทอน
มากกว่าค่ะ เป็นมาราทอนที่ต้องมีเส้นชัย เพราะมันเป็นการสิ้นสุดของการแข่งขัน
เป็นกำลังใจให้ค่ะ เชื่อว่ามีเส้นชัยรออยู่ข้างหน้าค่ะ
โดย: GN+ [14 ก.ย. 51 11:30] ( IP A:222.123.17.147 X: )
ความคิดเห็นที่ 9
   ชะตากรรมเดียวกัน
'ยายไฮ' ผู้ทลายเขื่อน


น้อยครั้ง ที่คนระดับรากหญ้า จะได้ปรากฏตัว ต่อหน้าสื่ออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ คนที่กล้าหาญ ลุกขึ้นมาต่อกร กับภาครัฐ กรณีของ 'ยายไฮ ขันจันทา' แห่งห้วยละห้า จ.อุบลราชธานี ถือเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่ง ที่ยืนยันได้ดีว่า คนตัวเล็กๆ ก็เป็นผู้พลิกเปลี่ยนแผ่นดินได้ แม้จะใช้เวลานานนับสิบๆ ปีก็ตาม คนอง ชุมทอก ลำดับภาพ ของหญิงชราผู้ทรงพลัง และความเป็นอยู่ ในทุกวันนี้ว่า เปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

ปี พ.ศ.2519 รัฐบาลได้ออกไปทำการสำรวจพื้นที่ขาดแคลนน้ำใช้อุปโภค บริโภคในกิ่งอ.นาตาล จ.อุบลราชธานี พบว่ามีพื้นที่อยู่ 3 หมู่บ้านคือบ้านนาตาล หมู่ที่ 1 บ้านนานคร หมู่ที่ 16 บ้านโนนตาล หมู่ที่ 10 และหมู่บ้านนาสตัง ม.7 ต.นาตาล กิ่ง อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี ชาวบ้านกว่า 700 ครอบครัว เกือบ 3,500 ชีวิต ตกอยู่ในสภาวะขาดแคลนน้ำใช้ในชีวิตประจำวัน

จากปัญหาดังกล่าวนั้น รัฐบาลจึงได้เสนอทางเลือกให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ 3 หมู่บ้าน คือ การเสียสละพื้นที่ไร่นาที่ใช้ทำกินบางส่วนมาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเนื้อที่กว่า 400 ไร่ เพื่อแลกกับการมีน้ำฝนเอาไว้ใช้สอยตลอดทั้งปี โดยตั้งชื่ออ่างเก็บน้ำว่า 'อ่างเก็บน้ำห้วยละห้า' รัฐบาลจึงเสนอทางออกให้ชาวบ้านที่สูญเสียที่ไร่นาโดยสัญญาว่า จะหาผืนนาแห่งใหม่มาทดแทนให้ ก่อนที่จะมีการดำเนินการเซ็นสัญญาข้อตกลงก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยละห้า

พื้นที่กำหนดให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยละห้าก็คือบ้านโนนตาล ม.10 ต.นาตาล กิ่ง อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี เนื่องจากมีลักษณะเป็นที่ลุ่มเหมาะแก่การเก็บกักน้ำเอาไว้ใช้ เนื้อที่กว่า 400 ไร่ที่สร้างอ่างเก็บน้ำนั้นครอบคลุมไร่นาของชาวบ้านในหมู่บ้านนาตาล จำนวน 13 ครอบครัว เจ้าของที่ดิน 10 รายยินดีเซ็นอนุมัติให้กรมชลประทาน จ.อุบลราชธานี สร้างเขื่อนแต่โดยดี เพื่อแลกกับความสะดวกสบายในการใช้น้ำแต่ยังเหลือเจ้าของที่ดินอีก 3 ราย ที่ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ เนื่องจากเห็นว่าที่ดินผืนดังกล่าวนั้นมีความอุดมสมบูรณ์เป็นมรดกที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษลูกหลานทุกคนต้องเก็บรักษาเอาไว้เยี่ยงชีวิต

ตำนานยายไฮ

เจ้าของที่ดินทั้ง 3 รายประกอบด้วย ไฮ ขันจันทา มีที่ดิน 30 ไร่ คำพอง ขันจันทา มีที่ดิน 30 ไร่ และ เสือ เคนงาม มีที่ดิน 44 ไร่ รวมเป็นที่ทั้งหมด 105 ไร่ ที่ไม่ยินยอมให้กรมชลประทาน จ.อุบลราชธานี ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแต่อย่างใด จึงทำให้ทั้ง 3 ออกมาคัดค้านการก่องสร้างเขื่อนทุกวิถีทาง แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งได้ เนื่องจากพวกเขาเป็นเพียงเสียงข้างน้อยเท่านั้น

เขื่อนห้วยละห้าจึงเริ่มต้นก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2520 จนไปสิ้นสุดเมื่อปีพ.ศ.2522 ปัจจุบันยายไฮ ขันจันทา อายุได้ 75 ปี อาศัยอยู่กินกับตาคำฟอง ขันจันทา ผู้เป็นสามี ที่บ้านเลขที่ 43 หมู่ 10 ต.นาตาล กิ่งอ.นาตาล จ.อุบลราชธานี โดยมี เข็มพร บุตรสาวคนที่ 8 ในจำนวนลูก 10 คน เป็นผู้ดูแลปรนนิบัติมาโดยตลอด

ยายไฮเล่าถึงอดีตชีวิตที่เคยสุขสบายก่อนที่จะมีการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยละห้าให้ฟังว่า กำพร้าพ่อตั้งแต่อายุได้ 4 ขวบ ซึ่งจำหน้าพ่อไม่ได้แล้ว รู้เพียงแต่ชื่อว่า นายคำภา เคนงาม ขณะนั้นก็มีเพียงแม่คือ นางคูณ เคนงาม คอยเลี้ยงดูและอบรมสั่งสอนให้รู้จักทำไร่ทำนา จนเมื่ออายุได้ 20 ปี ครอบครัวก็จับให้แต่งงานกันคำฟอง ขันจันทา ชายหนุ่มวัย 23 ปี จากหมู่บ้านดอนงิ้ว ต.นาตาล ฐานะของครอบครัวในตอนนั้นถือว่าร่ำรวยติดอันดับผู้มีอันจะกินในหมู่บ้านละแวกนั้น

?จนเมื่อปีพ.ศ.2522 นางคูณ เคนงาม ได้เสียชีวิตลง ทิ้งเพียงมรดกที่ดินเอาไว้ให้ฉันและพี่สาวคือนางไส เคนงาม ปัจจุบันอายุ 78 ปี แบ่งกันคนละครึ่งเอาไว้ใช้เพาะปลูกข้าว พืชไร่ และพืชสวนเลี้ยงครอบครัว ที่นาของฉันและสามีรวมกันก็มีทั้งหมด 61 ไร่ ที่ไร่ติดริมฝั่งแม่น้ำโขงอีก 27 ไร่ และที่สวนใกล้บ้านอีก 6 ไร่? ยายไฮ บอกเล่า

นอกจากนั้นครอบครัวยังเลี้ยงวัวจำนวน 106 ตัว *** 12 ตัว ม้า 4 ตัว และลิง อีก 4 ตัว มีกิจการโรงสีข้าวด้วยอีก 1 แห่ง เงินทองสะดวกมากในอดีต จึงทำให้เธอและสามี มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 10 คน คือ นายคำพันธ์ นายบัวพัน นางกองแก้ว นายบุญโฮม นางอาภรณ์ นางบัวสอน นางมอญ นางเข็มพร นายชิตณรงค์ และนางเพชร ตามลำดับ ถึงแม้ว่าจะมีลูกมากแต่ครอบครัวก็ไม่ได้ลำบากอะไร

จนกระทั่งมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยละห้าแล้วเสร็จ น้ำได้ท่วมที่นาที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของเธอและสามีทั้งหมดจำนวน 61 ไร่ เหลือเพียง 6 ไร่ที่อยู่เหนือน้ำ แต่ก็ไม่สามารถปลูกข้าวพอเลี้ยงครอบครัวได้ ชีวิตครอบครัวเริ่มลำบากมาตั้งแต่เริ่มก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ที่ดินไม่สามารถปลูกข้าวได้ จำเป็นต้องหันมาขายสัตว์เลี้ยงและมรดกที่มีทั้งหมด เพื่อนำเงินไปซื้อข้าวเลี้ยงลูกและครอบครัว วัว *** ขายทอดตลาดตัวละ 50 บาท ส่วนม้านั้นตัวละ 300 บาท ทยอยขายทีละ 2-3 ตัวไม่นานสัตว์เลี้ยงที่มีก็หมดคอก

?ยังคงเหลือที่ไร่ติดริมแม่น้ำโขงจำนวน 27 ไร่ ที่เอาไว้ปลูกพืชผักสวนครัวจำพวก พริก ต้นหอม ข้าวโพด ถั่วลิสง ไม่วายต้องแบ่งขายไร่ละ 250 บาท ปัจจุบันเพียง 11 ไร่เท่านั้น ทนลำบากอย่างนี้มานานกว่า 27 ปี ไม่มีใครเหลียวแลสักคน ชาวบ้านเขาก็ไม่สนใจนับญาติ หาว่าเราเป็นพวกถ่วงความเจริญ พูดง่ายๆ ตอนนี้มีที่ดินที่ไม่ถูกน้ำท่วมก็ทั้งหมด 17 ไร่ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าผืนที่ถูกน้ำท่วม? ยายไฮ รำพึง

ยายวัย 76 เล่าต่อไปว่า ?มองไปทางไหนก็เห็นผืนนาของชาวบ้านเต็มไปด้วยต้นข้าวเขียวขจี แต่พอหันมามองที่นาตนเองก็ขาวโพลนเต็มไปด้วยน้ำที่ไม่สามารถทำอะไรได้ สัตว์น้ำก็เริ่มลดน้อยลง เพราะมีคนมาจับเยอะ ในอดีตตั้งแต่สร้างอ่างเก็บน้ำพี่น้องทุกคนลำบากมาก พ่อแม่ไม่มีเงินส่งเสียให้ลูกได้เรียนสูง ลูกทุกคนจึงจบแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เวลาไปโรงเรียนฉันไม่เคยได้เงินซื้อขนมสักบาท แตกต่างจากเพื่อนร่วมชั้นที่ได้กินขนม และไอศกรีมทุกวัน"

ส่วนคนรอบข้างอย่างลูกสาว ก็อดสงสารผู้เป็นแม่ไม่ได้ มอญ ขันจันทา อายุ 39 ปี ลูกสาวคนที่ 7 ของยายไฮ บอกความรู้สึกว่า "แต่ก็ไม่น้อยใจหรอก อดทนสู้ เอาเวลาเลิกเรียนก็ไปรับจ้างหาบน้ำ หาเก็บ ปู เก็บผักบุ้งไปขายแลกกับเศษสตางค์ไปซื้อขนมกินจนเรียนจบ ก่อนที่จะตัดสินใจไปหางานทำในตัวเมือง จ.อุบลราชธานีและกรุงเทพมหานคร จนมีครอบครัวมีลูก 2 คน นึกย้อนอดีตแล้วช่างขมขื่นยิ่งนัก มาเห็นแม่ต่อสู้เพื่อจะเอาที่ดินที่เป็นมรดกตกทอดมากว่า 20 ปีคืน ใจหนึ่งก็สงสารแม่เพราะแกอายุมากแล้ว ส่วนอีกใจหนึ่งเราก็ต้องช่วยแม่คัดค้าน เพราะถ้าไม่ทำก็เปรียบเสมือนเป็นลูกอกตัญญู?

นางมอญ บอกอีกว่า ที่ดินที่รัฐบาลบอกว่าจะจัดสรรมาทดแทนให้แม่นั้น เวลาผ่านไปกว่า 27 ปี ก็ยังไม่เห็นว่าจะมีวี่แววว่าจะได้รับเลย สมาชิกทุกคนในครอบครัวหารือกัน ว่าจะไม่เอาที่แปลงใหม่แล้วจะเอาที่ดินแปลงเดิม ถึงแม้ว่าจะต้องปล่อยน้ำออกจากอ่างให้หมดก็ตาม ชาวบ้านจะว่าเราอย่างไรก็ช่างเพราะทุกวันนี้สายตาทุกคนไม่มีใครมองครอบครัวเราดีสักอย่าง ดังคำโบราณที่ว่าเอาไว้ ?ทุกข์เขาว่าไม่ดี มีเขาค่อยว่าพี่น้อง ลุงป้าเขาถึงเรียกว่าหลาน?จริงๆ

ในขณะที่ คำฟอง ขันจันทา อายุ 78 ปี สามีคู่ทุกคู่ยากของยายไฮ เล่าถึงอดีตที่ทุกข์ยากลำบากแสนเข็ญให้ฟังว่า ตั้งแต่น้ำท่วมที่ไร่นาตนในฐานะหัวหน้าครอบครัวต้องออกไปทำงานหาเงินมาซื้อข้าวสาร และสิ่งของจำเป็นต่างๆ คิดดูลูกตั้ง 10 คน จะต้องใช้เงินวันละกี่บาทถึงจะพอยาไส้แต่ละคน ความลำบากกับตนทุกวันนี้เป็นของคู่กันไปแล้ว รับจ้างทำงานทุกอย่างแบบไม่เกียจคร้าน ไม่ว่าจะเป็นเก็บฝืนขาย ขนขี้ *** ใส่ไร่นาชาวบ้าน ถอนต้นกล้า เกี่ยวข้าว หรือสร้างบ้าน งานที่ใช้แรงทุกอย่างตนทำหมดไม่มีเลือก ขอให้ได้เงินมาใช้เท่านั้นเป็นพอ

ส่วนภรรยาก็ช่วยอีกแรงหนึ่งเลี้ยงตัวหม่อนขายเส้นไหมและขายยาสุมนไพร เพราะมีความรู้เรื่องการรักษาแผนโบราณ แถมยังเป็นหมอตำแยประจำหมู่บ้านด้วย สมัยก่อนไม่มีความเจริญ ใครตั้งท้องต้องใช้วิธีการคลอดแบบดั้งเดิม

?ที่ดินที่ถูกน้ำท่วมไม่สามารถปลูกข้าวได้ผมต้องไปขอเช่าไร่นาเพื่อนบ้านที่อยู่บนที่ราบสูง ไม่มีความอุดมสมบูรณ์ จำนวน 50 ไร่ ปลูกข้าวกินเอง ส่วนค่าเช่าจ่ายเป็นข้าวเปลือก 180 ถัง เหลือเข้ายุ้งตัวเองไม่กี่สิบถังแต่ก็ต้องทำเพราะหากซื้อข้าวกินตลอดปีคงไม่มีปัญญาทำแน่ มีอยู่วันหนึ่งผมคิดจะฆ่าตัวตายด้วยการเดินลงไปในผืนนาที่ถูกน้ำท่วมให้จมน้ำตายแต่ภรรยามาพบเสียก่อนจึงได้เตือนสติผมเอาไว้ทัน พร้อมกับปลอบใจว่า ต้องสู้ทนช่วยกันและฆ่าตัวเองตายหนีปัญหาตัดช่องน้อยแต่พอตัวคนเดียวได้อย่างไร ลูกที่เกิดมาเขาเลี้ยงคนเดียวไม่ได้หรอก"

ถ้อยคำดังกล่าวนี้ทำให้คำฟองกลับมามีสติและฮึดสู้ขึ้นมาอีกครั้ง และตั้งหน้าตั้งตาทำงานแบบไม่คิดชีวิตเลย เขายังจำได้ดีว่า ได้บอกกับยายไฮว่า จะสู้ให้ถึงที่สุด

ชุมชนไม่เข้าใจ

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ยายไฮออกมาเรียกร้องต่อสาธารณะ ในวันนี้ เหตุการณ์ความไม่สงบของอ่างเก็บน้ำห้วยละห้า กิ่ง อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี ยังมีเสียงชาวบ้านส่วนใหญ่จาก 4 หมู่บ้านที่ต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของครอบครัวนางไฮ ขันจันทา ว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวสร้างความลำบากเดือดร้อนให้กับชาวบ้านที่ใช้น้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยละห้า

?ฉันเข้าใจอยู่ว่าที่ดินส่วนหนึ่งที่นำมาสร้างอ่างเก็บน้ำนั้นเป็นของเขา แต่การที่จะมาปล่อยน้ำออกจากอ่างทั้งหมดเพื่อหวังที่จะให้ที่ดินของตัวเองโผล่แล้วน้ำไม่เหลือพอที่ เครื่องสูบน้ำจะดึงน้ำขึ้นมาทำประปาให้ชาวบ้านให้ได้นั้น ก็ถือเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ต้องมองความเดือดร้อนและความต้องการจากเพื่อนบ้านเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่จะมาเห็นแก่ตัว เช่นนี้ คิดดูถ้านางไฮปล่อยน้ำออกจริง ประชาชนกว่า 700 ครัว จำนวน 3,500 คน จาก 4 หมู่บ้านในตำบลนาตาล จะใช้น้ำจากไหน ทุกคนทุกครอบครัวต้องไปหาบน้ำจากบ่ออื่นที่มีระยะทางไกลถึง 10 กิโลเมตร คงลำบากน่าดู แล้วถ้าเป็นยิ่งผู้เฒ่าผู้แก่เขาจะทำอย่างไร? สุวิไล โพธิ์เอก อายุ 53 ปี ชาวบ้านนาตาลที่ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยละห้า เปรียบเทียบ

สมัยก่อนไม่มีอ่างเก็บน้ำชาวบ้านต้องรองน้ำฝนใส่ตุ่มเอาไว้ใช้อุปโภคบริโภค เข้าหน้าแล้งน้ำก็หมดตุ่มแล้ว ต้องไปนั่งรอน้ำจากบ่อดินที่ขุดขึ้นได้น้ำกันไปคนละไม่กี่ถังเทียบกับทุกวันนี้แล้วสะดวกสบายขึ้นเยอะ จึงทำให้เสียงชาวบ้านทั้ง 4 หมู่บ้าน 90 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของยายไฮและครอบครัว

?หลายครั้งต่อหลายครั้งที่เขาแอบปล่อยน้ำและเข็นแพเครื่องสูบน้ำออกจากอ่าง ทำให้น้ำไม่ไหลหลายวัน ไม่รู้ว่าเขาจะเช่นนั้นไปทำไม สู้มานั่งจับเข่าคุยกันและหาทางออกร่วมกันโดยที่ไม่กระทบต่อคนส่วนใหญ่จะไม่ดีกว่าหรือ จะมาให้ชาวบ้านนั่งลุ้นว่าวันไหนเขาจะปล่อยน้ำอีกแบบนี้ก็ไม่ไหว คงต้องเตรียมซื้อไม้คานและถังน้ำเอาไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ แล้ว เพราะรู้สึกว่าเขาคงไม่ยอมแน่ ประกอบกับทางภาครัฐก็ยังหาทางออกที่เหมาะสมไม่ได้เช่นกัน? สุวิไล บอก

ยายไฮเป็นแค่เหยื่อ

หากใครไม่ทันได้สืบสาวราวเรื่องก็คงคิดว่า การกระทำของยายไฮสร้างผลกระทบกับคนจำนวนหนึ่งในชุมชน จนเป็นลูกโซ่แห่งความเดือดร้อนไม่จบสิ้น ซึ่งความเป็นจริงแล้ว หญิงชราวัย 76 เป็นเพียงเหยื่อและปลายทางของความล้มเหลวในการจัดการน้ำของภาครัฐ เป็นความล้มเหลวทั้งในเรื่องการกักเก็บน้ำ รวมถึงการละเมิดสิทธิของมนุษยชนที่คิดต่างออกไป

คำถามในวันนี้จึงไม่ได้อยู่ที่ยายไฮเลย เพราะหญิงชราคนนี้พูดออกมาจนหมดแล้ว แต่น่าจะอยู่ที่ว่า ภาครัฐจริงใจกับการแก้ปัญหาอย่างไร และกล้าพอไหมที่จะลงมาคุยกับผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนี้ ที่ยืนรอคอยอยู่ด้วยความหวัง

เหมือนอย่างที่ สุรสีห์ โกศลนาวิน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้กล่าวไว้ในวันที่เดินทางไปดูข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายเมื่อเร็วๆ นี้ว่า

"ทุกฝ่ายก็ต้องเห็นใจฝ่ายที่ได้รับผลกระทบด้วย อย่างน้อยเรื่องนี้ทำให้ทุกฝ่ายได้เข้ามามองปัญหาร่วมกัน ซึ่งก็จะหาทางออกให้ทางออกให้เร็วที่สุด ซึ่งแม้ว่าทางฝ่ายผู้เดือดร้อนจะยื่นคำขาดให้ทางการภายใน 3 วันแต่เชื่อว่าทุกอย่างก็หาทางออกได้เพราะทุกคนต่างก็เป็นพี่น้องกัน และผมคิดว่าสังคมไทยคงจะเข้าใจกันเพียงแต่ว่าต้องเจรจาต่อรอง เราต้องให้ความเห็นใจเหมือนกันเพราะสู้มา 27 ปี แต่ฝ่ายในพื้นที่ที่ไม่เห็นด้วยเราก็ต้องเข้าใจด้วย เราไม่ได้บอกว่าทุกฝ่ายทุกๆ คนเป็นมนุษย์ทุกคนมีข้อมูลเหมือนๆ กัน คือถ้าเรามองว่าอันนี้ผิดอันนี้ถูกจะมีปัญหาเราต้องให้ทุกฝ่ายช่วยกันเข้ามาแก้ปัญหา"

เพราะที่ผ่านมา คงต้องยอมรับความจริงว่า บ่อยครั้งที่ภาครัฐละเลยความคิดความรู้สึกของประชาชน และปล่อยให้ประชาชนคนระดับล่างต้องเผชิญชะตากรรมอย่างโดดเดี่ยว โดยโยนความผิดว่า 'เป็นพวกที่เรียกร้องไม่รู้จักจบสิ้น' เพียงเพื่อเลี่ยงความรับผิดชอบ และสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองเสมอมา ผลที่ตามมาคือ คนอื่นๆ ในชุมชนที่เห็นด้วยกับเขื่อนมองยายไฮเป็นตัวร้าย ด้วยภาพเดียวกันที่รัฐโยนให้เธอคือ 'เรียกร้องไม่จบสิ้น'

นี่คือผลสะท้อนอีกครั้งว่า เขื่อนทำให้ชุมชนแตกแยก และต้องอยู่กันอย่างหวาดระแวง เพียงเพราะว่า คนๆ หนึ่งกล้าพอที่จะคัดค้านโครงการของรัฐ และไม่ยอมรับความอยุติธรรมที่ภาครัฐมอบให้

ไม่ว่ากรณีของยายไฮจะลงเอยอย่างไร วันนี้เธอก็ได้ทำหน้าที่บอกกล่าวกับสังคมว่า อีกด้านหนึ่งของเขื่อนกักเก็บน้ำนั้น ต้องแลกมาด้วยคราบน้ำตา และชีวิตทั้งชีวิตของประชาชนผู้ต่ำต้อยในสังคม
โดย: ยุติธรรมต้องแลกด้วยน้ำตา ที่นายกแพทยสภาชอบพูดว่า บีบน้ำตาเรียกคะแนนสงสาร [14 ก.ย. 51 23:13] ( IP A:58.9.184.137 X: )
ความคิดเห็นที่ 10
    สู้ต่อไปครับ
โดย: เจ้าบ้าน [15 ก.ย. 51] ( IP A:124.121.135.40 X: )
ความคิดเห็นที่ 11
    ไม่เป็นใครก็ไม่รู้ ไม่เกิดกับใครก็ไม่รู้สึก
สามัญสำนึก กับความเป็นคนดี สำคัญที่สุด
ทำไมต้องตั้งเงื่อนเรื่อง อายุความ ตลกสิ้นดี
คนจะทำผิด ก็หนีให้หมดอายุความก็ได้
เอ่อดีนะ กฎหมาย น่าจะปรับอะไรได้บ้าง
วิวัฒนาการไปถึงไหนแล้ว
โดย: อย่าทำกรรม [16 ก.ย. 51 20:38] ( IP A:202.91.19.205 X: )
ความคิดเห็นที่ 12
   ปัญหาเก่าก็ยังไม่เคยแก้ไข
ปัญหาใหม่ก็ไม่เคยคิดทำอะไร
นอกจากโทษเครือข่ายฯ ทำให้หมอลาออก
ฟ้องหมอมาก ๆ เดี๋ยวหมอไม่รักษา
แต่ทีทำคนตาย ทำคนพิการ
ไม่เคยมีแม้แต่คำขอโทษ

ขอโทษ พวกคุณ(บางคน)ก็ไม่ต่างไปจากตำรวจ (บางคน)
ที่ชาวบ้านเขาจะเกรงกลัวต่อเมื่อตำรวจพกอาวุธปืน
หากไม่มีชุดชาว และวีชาชีพที่ชาวบ้านต้องง้อ
พวกคุณก็จับคนไข้เป็นตัวประกันไม่ได้หรอก
โดย: พวกไม่เคยแก้ป้ญหา [17 ก.ย. 51] ( IP A:61.90.86.168 X: )
ความคิดเห็นที่ 13
    รู้ซึ้งวันนี้ว่าทำไมประธานเครือข่ายสู้มาได้ 17 ปี
เพราะเจอกับตัวเอง และไม่รู้ว่าจะสู้ไปอีกกี่ปีเช่นกัน
แต่ก็จะ สู้ เพื่อเห็นความเป็นธรรม
โดย: ให้กำลังใจ จขกท ค่ะ [17 ก.ย. 51 11:47] ( IP A:117.47.216.242 X: )
ความคิดเห็นที่ 14
   วันนี้วุฒิสภาจะนำเรื่องนี้เข้าเป็นวาระการประชุม
ของวุฒิสภา เวลา 9.30 น.
โดย: เครือข่ายฯ [19 ก.ย. 51 6:16] ( IP A:58.9.187.23 X: )
ความคิดเห็นที่ 15
   เป็นกำลังใจให้เสมอค่ะ...
ถ้าไปไหนมาไหนสะดวก
ถ้าไม่ต้องนั่งรถเข็น
ถ้าไม่เป็นภาระและเป็นที่น่าเบื่อหน่ายของพวกแท็กซี่
ที่มันชอบปฏิเสธคนพิการ
ก็อยากจะไปร่วมเป็นกำลังใจให้กับพี่อุ้ยค่ะ

รักพี่อุ้ยเสมอ

โดย: น้องสาว... [19 ก.ย. 51 8:40] ( IP A:58.9.112.152 X: )
ความคิดเห็นที่ 16
   การถูกล่วงละเมิดยาวนานเสียหายทุกข์ทรมานยิ่งกว่าการละเมิดในช่วงเวลาสั้นๆ ที่ยังอยู่ในอายุความ

ใช่...ยิ่งนานวันยิ่งทุกข์ทรมาน
ทรมานจากการเห็นใครก็ทำอะไรไม่ได้ยิ่งเจ็บปวดกว่าหลายเท่านัก
โดย: ทุกข์ทรมาน [19 ก.ย. 51 20:03] ( IP A:58.9.191.221 X: )
ความคิดเห็นที่ 17
    เอาความถูกต้องมาต่อสู้กันดีกว่า
อย่าเอาอายุความมาสู้เลย
สู้กันอย่างสมศักดิ์ศรีดีกว่าหนี
ไม่ได้ว่าใครนะ ไม่ได้เอ่ยชื่อนะ
พูดถึง
โดย: ล้อเล่น555 [20 ก.ย. 51 21:49] ( IP A:202.91.18.192 X: )
ความคิดเห็นที่ 18
   ศุกร์ที่ 19 กันยายน 51
วุฒิสภา บรรจุรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นวาระแจ้งเพื่อทราบ

หมายเหตุ
วาระแจ้งเพื่อทราบหมายถึงทราบเฉย ๆ
วาระเพื่อพิจารณาหมายถึงสมาชิกวุฒิสภาต้องช่วยกันอภิปรายและต้องมีมติร่วมกันว่าจะเอาอย่างไร

เรื่องราว 17 ปีกลายเป็นวาระแจ้งเพื่อทราบ มีสมาชิกวุฒิสภา
บางท่านตั้งข้อสังเกตว่าทไมไม่เป็นวาระเพื่อพิจารณา

บางท่านเสนอให้ผลักเรื่องกลับไปที่คณะกรรมาธิการยุติธรรม,
กรรมาธิการสิทธิมนุษยชน, กรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค

นพ.วิรัต อดีตกรรมการแพทยสภา เดี๋ยวนี้เป็นสมาชิกวุฒนิสภา
ตั้งข้อสังเกตทำนองว่าไม่เห็นด้วยที่จะนำมาพิจารณา เนื่องจาก
เป็นคดีความกันอยู่ที่ศาล และคดีสิ้นสุดแล้ว ฯลฯ

บรรยากาศในที่ประชุมวุฒิสภา ต่างจากสภาผู้แทนราษฎร
เนื่องจาก สมาชิกทุกท่านใจจดใจจ่อกับวาระที่อยู่ถัดไป
คือวาระเรื่องงบประมาน เรื่องของนางปรียนันท์เลยกลาย
เป็นเรื่องเล็กที่ไม่ค่อยมีใครสนใจ

ก็อยากบอกสมาชิกเครือข่ายฯ ทุกท่านทราบว่า
การต่อสู้นั้น โดยเฉพาะสู้กับคนมีอำนาจเหนือกว่า
นั้นยากที่จะได้รับความเป็นธรรม
โดย: เครือข่ายฯ [21 ก.ย. 51 2:16] ( IP A:58.9.184.2 X: )
ความคิดเห็นที่ 19
   อย่าท้อแท้นะคะ
ชีวิตคือการต่อสู้
แต่สู้กับคนมีอำนาจ...มันก็เหนื่อยทั้งกายและใจอย่างนี้
เวรกรรมมันมีจริงค่ะ
ใครที่ทำอะไรกับเราไว้
สักวันหนึ่ง...พระเจ้าจะต้องลงโทษพวกเขา

พี่อุ้ยไม่ได้เกิดมาเพื่อแพ้ค่ะ
แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของพี่อุ้ย
คงเป็นเพราะเขาลิขิตให้ชีวิตพี่อุ้ยต้องเป็นแบบนี้
เพื่อที่พี่อุ้ยจะได้ลุกขึ้นมาต่อสู้และก่อเกิดเป็นเครือข่ายฯ ขึ้นมา
พี่อุ้ยคงเกิดมาเพื่อจะเป็นแบบนี้...
สู้ต่อไปนะคะ...
ขอเป็นกำลังใจให้เสมอค่ะ

โดย: บางแค [21 ก.ย. 51 8:06] ( IP A:58.9.112.173 X: )
ความคิดเห็นที่ 20
    กฎหมายมีช่องโหว่

แต่เวรกรรมตามติดทุกผู้กระทำ

โดย: รั้วสีขาว [21 ก.ย. 51 11:47] ( IP A:124.121.240.43 X: )
ความคิดเห็นที่ 21
    วันนี้ไปปลูกป่าชายเลน
ไม่เครียด ไม่สับสน
ปิดโทรศัพท์ ไม่ติดต่อใคร
พักหัวใจ พักสมอง

กลับถึงบ้านปุ๊บ...เปิดโทรศัพท์
สายผู้เสียหายค้างนับสิบสาย

เฮ้อ....

ดูภาพคลายเครียดกันก่อนดีกว่า

โดย: เฮ้อ..... [21 ก.ย. 51 17:06] ( IP A:58.9.217.81 X: )
ความคิดเห็นที่ 22
    ไม่มีการทำร้ายกัน
มีแต่ความสุข มีแต่การสร้างโลก

โดย: ความสุขเล็ก ๆ [21 ก.ย. 51 17:07] ( IP A:58.9.217.81 X: )
ความคิดเห็นที่ 23
    พวกเราเปรียบได้ดั่งมดแดง สู้กับช้างเกเรา
เรากัดหู กัดหาง กัดตา ให้มันรำคาญ
วันหนึ่งเราจะล้มช้าง

โดย: โถ...มดแดง อุตส่าห์แอบแฝงพวงมะม่วง [21 ก.ย. 51 17:09] ( IP A:58.9.217.81 X: )
ความคิดเห็นที่ 24
    โลกใบนี้ เราเลือกที่จะสุขก็ได้
เลือกที่จะทุกข์ก็ได้ แต่บางครั้ง
เราก็สลัดทุกข์ที่เราไม่ได้ก่อไม่ออกเสียที

โดย: ปลูกป่าชายเลน [21 ก.ย. 51 17:12] ( IP A:58.9.217.81 X: )
ความคิดเห็นที่ 25
    ภาพนี้มอบแด่แพทยสภา
กระทรวงสาธารณสุข,
และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

หากท่านสามารถเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนได้
ท่านก็จะเปรียบเหมือนไม้ใหญ่ ที่ให้ร่มเงา
ให้ผู้คนได้หลบพักร้อน ร่มเย็น

โดย: เมื่อไหร่แพทยสภาจะเปลี่ยนเสียที [21 ก.ย. 51 17:15] ( IP A:58.9.217.81 X: )
ความคิดเห็นที่ 26
    ทุกวันนี้ ทำอย่างไรก็พึ่งไม่ได้
นี่เลย มอบนี่ให้เลย...รับไปเลยยยยยยย...!

โดย: เอาไปเลย...เอาไปเลย.. [21 ก.ย. 51 17:16] ( IP A:58.9.217.81 X: )
ความคิดเห็นที่ 27
    เห็นด้วยอย่างยิ่ง...กับ คห.ที่30
แต่หนูว่ามันอันเล็กไปหรือเปล่า
สำหรับแพทยสภามันต้องเบิ้ม ๆ กว่านี้
เพราะพวกมันทำตัวใหญ่คับฟ้า
แค่นี้มันไม่สลดหรอก
เพราะ...พวกมัน..
อย่างหนา...!!!!

โดย: เห็นด้วย..เห็นด้วย...!!!! [21 ก.ย. 51 18:43] ( IP A:58.9.112.73 X: )
ความคิดเห็นที่ 28
    นั่นก็ปืนใหญ่แล้ว
ปืนครกด้วย
ใครมีปรมานู..น่าจะเหมาะกว่า
โดย: สำหรับแพทยสภาต้องปรมานู [22 ก.ย. 51 12:28] ( IP A:58.9.200.109 X: )

คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน