|
| |
ความจริงส่วนหนึ่งของวงการแพทย์
โดย ชเนษฎ์ ศรีสุโข นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่4 โรงพยาบาลราชวิถี
ท่านบรรณาธิการได้ขอให้ข้าพเจ้าเขียนเรื่องเกี่ยวกับบรรดาคุณหมอที่มีชื่อเสียงในสังคม ที่มีบทบาททางการเมือง ทางสังคม ของประเทศไทยเรา... ข้าพเจ้าจะขอเขียนเป็นบทความเชิงเปรียบเทียบ เพื่อไม่พาดพิงใครจนเกินไปครับ ขอทำความเข้าใจ ในบทความนี้จะใช้คำว่า แพทย์ ซึ่งหมายถึง คุณหมอ นั่นเอง
ในขนบธรรมเนียมทางการแพทย์นั้น มีลักษณะเป็นระบบอาวุโสมาตั้งแต่สมัยอดีต ผู้น้อยเคารพผู้ใหญ่ ในสถาบันเก่าแก่บางแห่ง ระบบอาวุโสนั้นเคร่งครัดมาก แพทย์ผู้น้อยห้ามเถียง ห้ามต่อปากต่อคำกับอาจารย์แพทย์ผู้ใหญ่เป็นอันขาด รุ่นน้องห้ามเถียงรุ่นพี่ รุ่นพี่ใช้ทำงาน สั่งงานอะไร ต้องรับใช้โดยไม่ขัดขืน โดยรุ่นพี่รุ่นน้อง ตอนเรียนนับกันตามปีเข้า ไม่นับอายุ ดังนั้น สมมติว่านักศึกษาแพทย์ปี1 อายุ 25ปี ก็ห้ามขัดขืน-แข็งข้อ-ไม่เคารพ ต่อรุ่นพี่ปี 2 ที่อายุ 21ปี ระบบอาวุโสนี้ในหลายสถาบันยังสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน ยิ่งถ้าเป็นของแพทย์ทหารด้วยแล้ว ยิ่งเคร่งครัดมากกว่าแพทย์ทั่วไป
ดูเหมือนแพทย์มีความคล้ายคลึงกับระบบทหารอยู่ แต่จริงๆแล้วก็มีความแตกต่างกันอยู่มาก ในทางการแพทย์นั้น ระบบอาวุโสที่ว่านี้ ไม่ได้เลวร้าย ขนาดสั่งใครให้ฆ่าใคร หรือสั่งใครให้ทำผิดคุณธรรม จริยธรรม สั่งใครให้ปฏิวัติ สั่งใครให้ช่วยคอรัปชันค่ารถถัง ค่าปืน ค่าเสื้อเกราะ เพราะผู้ที่จะเป็นแพทย์ได้ ในสมัยก่อน แพทย์ส่วนใหญ่ ล้วนผ่านการคัดกรองเป็นอย่างดี ทั้งด้านสมอง และคุณธรรม จริยธรรม แพทย์เมื่อผ่านการเรียนมาสูง ผ่านการดูแลผู้ป่วย การตัดสินใจช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยในยามคับขัน ต่างๆเหล่านี้ล้วนหล่อหลอมให้แพทย์มีความมั่นใจ เชื่อมั่นในความคิดของตนเองสูง
ดังนั้น การสั่งการใดใดที่เป็นพิษ เป็นภัยต่อผู้ป่วย ต่อสังคม ด้วยจรรยาบรรณแพทย์แล้ว แพทย์เราจะไม่ทำกัน (มีอาจารย์แพทย์ท่านหนึ่งบอกว่า ถ้าบุคคลนามสกุล ชิน... มารักษาด้วย แพทย์ก็แค่ขอใช้สิทธิไม่รักษาเท่านั้นเอง ไปทำร้ายแอบฉีดยาเบื่อไม่ได้นะครับ) ยุคปัจจุบัน หลายๆสิ่ง หลายๆอย่างเปลี่ยนแปลงไป ในหลายสถาบันแพทย์ หรือโรงเรียนแพทย์ทุกวันนี้ ประสบปัญหา เรื่องระบบอาวุโสมาก อาจารย์แพทย์หลายท่าน เล่าให้ข้าพเจ้าฟัง ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น พอขาดระบบอาวุโสไปแล้วมีปัญหาอย่างไร
กล่าวคือ ในบางสถาบันที่มีชื่อเสียงด้านวิชาการมาก จะมีปัญหาในการหาทีมทำงาน แม้ว่าจะเป็นแพทย์รุ่นอาวุโสขนาดไหน เป็นระดับศาสตราจารย์ แพทย์รุ่นน้องในสถาบันก็ไม่ค่อยเคารพ และเมื่อเวลาหาทีมแพทย์ไปช่วยงานต่างๆ หรือช่วยทำงานวิจัย ก็หาได้ยากขึ้น เพราะระบบอาวุโสที่น้อยลงนั่นเอง ในภาควิชาหนึ่งๆ แพทย์ผู้น้อง ก็ตะโกนวิจารณ์แพทย์หัวหน้าภาคได้เป็นเรื่องปกติ นี่อาจถือว่าเป็นประชาธิปไตยที่แสดงให้เห็นถึงข้อดี คือสิทธิ เสรีภาพ แต่ข้อเสีย คือความด้อยพัฒนา เมื่อขาดความเคารพยำเกรง การให้เกียรติ ผู้ใหญ่ ที่ผ่านประสบการณ์มาก่อน
โลกทุนนิยมมีส่วนสำคัญมากขึ้น เมื่อแพทย์ที่มาเรียนเพื่อหวังผลตอบแทนทางการเงิน หรือผลประโยชน์ต่างๆนั้น ก็จะยิ่งมองเห็นระบบอาวุโสเป็นเรื่องไร้สาระ คิดมองแต่จุดยืนของตน โดยไม่สนใจความคิดบุคคลรอบข้าง ผู้ร่วมวิชาชีพ ไม่เข้าใจความเป็น ทีมเวิร์ค เพราะแพทย์นั้น รักษาผู้ป่วยด้วยทีม ทำงานร่วมกับแพทย์อีกจำนวนมาก และทำงานกับอีกหลายวิชาชีพอื่นที่สำคัญ ทั้งพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล คนงาน แม่บ้านผู้ทำความสะอาด
จริงๆแล้ว ข้าพเจ้าต้องกล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นแพทย์หรือไม่ หากผู้ใดขาดความนอบน้อมถ่อมตน ขาดความเคารพสิทธิ เสรีภาพ ขาดความเคารพในความคิดของผู้อื่น คนผู้นั้นก็ย่อมไม่เป็นที่รัก ที่ต้องการของใครใครและถ้าเปรียบในทางนักการเมืองก็เช่นกัน ย่อมไม่เป็นที่ต้องการของประชาชน จึงต้องชุมนุมขับไล่กันต่อไป (มิได้พาดพิงหัวหน้ารัฐบาลที่ขาดความสุภาพนอบน้อมนะครับ)
มีกรณีศึกษาหลายกรณีที่ชี้ให้เห็นถึงความเสื่อมมากขึ้นของวงการแพทย์ จะเล่าให้ฟังดังนี้ครับ
มีคนที่ข้าพเจ้ารู้จักคนหนึ่ง เป็นบุคคลหัวรุนแรง ปัจจุบันเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปี 4 ในสถาบันแพทย์เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่ง ทำตัวก้าวร้าวกับรุ่นพี่มาตั้งแต่อยู่ปี1 ก่อวีรกรรมระดับตำนานความต่ำ(ช้าสามานย์) อาทิเช่น ยกนิ้วกลางให้ท่านนายกสโมสรนักศึกษาสมัยนั้น(เป็นรุ่นพี่ปี5), โวยวายเรื่องการเลือกตั้งประธานหอพักที่ตนเองแพ้การเลือกตั้งว่าไม่โปร่งใส(แพ้เขาเป็นร้อยเสียง), วาจาด่ากราดคนเขาไปทั่ว, ก่อวีรกรรมไม่จ่ายเงินแท็กซี่เพราะหาว่าแท็กซี่พาขับอ้อม และชักมีดขู่แท็กซี่, ด้วยความตัวใหญ่และบ้าพลัง เรียน รด.ถึง5ปี (ปกติคนเขาเรียน3ปีเพื่อให้ไม่ต้องไปเกณฑ์ทหาร) ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าจะบอกว่าเรียน รด.ไม่ดี เพียงแต่ว่า บุคคลนี้เรียนเพราะต้องการอำนาจบาตรใหญ่
ที่เล่ามานี้ ผู้อ่านคงสงสัยว่านักศึกษาแพทย์ผู้นี้มีปัญหาทางจิตหรือไม่ ก็นับว่าใช่เลย แต่ที่เล่ามา สะท้อนให้เห็นถึงระบบคัดกรองของสถาบันว่ายังมีจุดด้อยอยู่ และเป็นความเสื่อมที่คนผู้นี้จะต้องถูกสังคมจัดการในอนาคต
ไม่ต้องห่วงครับ สถาบันเก่าแก่แห่งนี้ ก็เคยมีนักศึกษาแพทย์ที่กระทำตัวไม่ดี เป็นอันตรายต่อสังคม มานับต่อนับ ซึ่งทางผู้บริหาร อาจารย์แพทย์ เมื่อตรวจพบ ส่วนใหญ่ก็จะไม่ให้นักศึกษาแพทย์คนดังกล่าวเรียนจบ นับว่าโชคดีไป
ในขณะที่หากกล่าวถึงสถาบันแพทย์อีกแห่ง อันนี้ควรไปสืบกันดูเอง สถาบันแห่งนี้ เคยปล่อยให้มีอาชญากรปลอมแปลงประวัติเข้ามาศึกษาเป็นนักศึกษาแพทย์ และมอมยา ขโมยทรัพย์สินผู้อื่นไปมาก ระบบรับเข้า ให้มีเส้นสายได้เกิน 50% ของจำนวนนักศึกษาแพทย์รับเข้า โดยค่าใช้จ่ายต่อปีสูงมากเป็นล้านบาท และถ้ามีเงินมาก สามารถจ่ายใต้โต๊ะให้อธิการบดีไม่ต่ำกว่าสองล้านบาทก็สามารถเข้าเรียนแพทย์ได้เลย
เคยมีประวัตินักศึกษาแพทย์ของสถาบันแห่งนี้ฟ้องร้องอาจารย์แพทย์ เรื่องที่ลืมผ้าก็อซเอาไว้ในท้องมารดาของเขา ให้เสื่อมเสีย เรื่องนี้อาจารย์แพทย์ผิดจริงแต่น่าเสียดายที่สังคมยังไม่เข้าใจความจริงทั้งหมด เพราะสื่อลงข่าวประณามอาจารย์ผ้าก็อซอย่างมาก จนประชาชนลืมมองถึงนักศึกษาแพทย์คนนั้นที่เรียนไม่ดี ตกรุ่นซ้ำซ้อนหลายปี และหวังทรัพย์สมบัติจำนวนมาก
ในทางการแพทย์ มีปัญหาระหว่างแพทย์กันเองมามากครับ แต่ด้วยความเป็นวิชาชีพ เราจะพูดคุยกันภายในและตกลงกันได้ เพราะเข้าใจความจริงร่วมกันที่ว่า แพทย์เป็นคน คนทำผิดพลาดได้ คนทำดีมาร้อยครั้ง ทำผิดพลาดครั้งเดียว ก็ไม่ใช่จะต้องไปทำลายล้างชีวิตครอบครัวของเขา ออกสื่อประจานให้เสียหายจนหมดอนาคตทางชีวิต
โดยรวม ที่ยกตัวอย่างมา แสดงให้เห็นว่า สถาบันหรือโรงเรียนแพทย์ มีความสำคัญในการสอนสั่งจริยธรรม คุณธรรม ให้แก่นักศึกษาแพทย์ และที่สำคัญคือตัวนักศึกษาแพทย์เอง ที่จะมีเจตคติที่ดีต่อความเป็นแพทย์ จนจบออกมารักษาดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างดี เข้าใจผู้คนรอบข้าง
ดังนั้น จึงเชื่อมโยงกับเรื่องที่ท่านบรรณาธิการขอมาครับ
แพทย์ที่มีบทบาทในสังคมทุกวันนี้ ที่มีชื่อเสียง มีหน้าตาในสังคม ก็ล้วนมีหลายท่านด้วยกัน วงการแพทย์เองก็ไม่ได้ใหญ่โตมากมายจนเกินไป ดังนั้นส่วนใหญ่จะรู้จักมักคุ้นกันทั้งสิ้น
ท่านอาจารย์แพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี, ท่านอาจารย์แพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส, ท่านอาจารย์แพทย์อำพล จินดาวัฒนะ ผู้ยิ่งใหญ่แห่งแพทย์ชนบทและ สช.(สุขภาวะแห่งชาติ) ทั้งหมดนี้ ถ้าจะกล่าวไป ล้วนเป็นสายคุณธรรม ที่มีจุดมุ่งหมายสำคัญในการช่วยเหลือประชาชน ทั้งในแง่อุดมคติ และนโยบายโครงการปฏิบัติเท่าที่จะเป็นไปได้
มีท่านอาจารย์แพทย์หลายท่านที่เข้าไปอยู่ในแวดวงนักการเมือง เป็น สส. เป็น สว. และส่วนใหญ่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่รักษาผู้ป่วยแล้ว อาทิเช่น ท่านอาจารย์แพทย์มาลินี สุขเวชวรกิจ เป็นต้น
นอกจากนี้ ถ้านับในกลุ่มรัฐบาลและคนชอบรัฐบาลแล้ว จะมี เช่นนายแพทย์เหวง โตจิราการ แกนนำ นปก. และพลพรรครักทักษิณ, นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นต้น
มีแพทย์อยู่ท่านหนึ่งเช่นกัน ที่เป็น ผู้สมัคร สส. แล้วถูกตัดสินจำคุกกรณีซื้อเสียง ในจังหวัดถิ่นจระเข้ อันนี้ต้องไปสืบเอาเองครับ
จะเล่าให้ฟังว่า มีแพทย์อยู่บางท่าน อดีตแกนนำตุลาฯ ที่เมื่อเข้าสังกัดพรรคๆหนึ่งแล้ว ด้วยพฤติกรรมที่เข้าข้าง เอื้อผลประโยชน์แก่เจ้าของพรรค โดยไม่สนใจประโยชน์ประเทศชาตินั้น แม้ตอนหลังจะได้ดีเป็นรัฐมนตรีคลัง แต่ทุกวันนี้ ท่านไม่มีหน้าไปพบคนในวงการแพทย์เลย งานเลี้ยงศิษย์เก่าของสถาบันที่จบมา ก็ไม่กล้าไป กล่าวได้ว่า ไม่มีคนคบนั่นเอง
แพทย์ที่ช่วยเหลือสังคมมักจะเกี่ยวข้องกับวงการเมืองอย่างยิ่ง เช่น พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ซึ่งตอนหลังเข้าสายการเมืองทำงานในกระทรวงยุติธรรม มากขึ้น, วงการแพทย์ชนบท ที่เข้าไปเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในกระทรวงฯ
แพทย์วิทยากร หรือแพทย์ที่ให้ความรู้แก่ประชาชนก็เป็นที่รู้จักกันอยู่มาก ทั้งทางรายการชูรักชูรส, รายการให้ความรู้ประชาชนต่างๆ ของเครือ WATCH DOG , หลายท่านแม้มีชื่อเสียง พรรคการเมืองพยายามไปเชิญให้มาทำงานร่วมกัน ก็ปฏิเสธ มีเหตุผลไม่ขอลงไปคลุกกับวงการที่มีแต่เรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวยังมีแพทย์ที่มีชื่อเสียงอยู่ในทางธุรกิจ เช่น วุฒิศักดิ์คลินิก, นิติพลคลินิก เป็นทางด้านธุรกิจ หรือด้านบันเทิง เช่นหมอเอิ้น พิยะดา นักแต่งเพลง-นักร้อง หรือ หมอโอ๊ค สมิทธิ์ นักร้องหนุ่มขวัญใจสาวๆในปัจจุบัน
แพทย์หลายท่านที่เป็นใหญ่เป็นโตในกระทรวงสาธารณสุข หรือกรมต่างๆ, อยู่เงียบๆ ตามระบบราชการ ก็มีอยู่มาก แต่สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะใหญ่เทียมฟ้า สุดท้ายพอหมดเวลา ก็จากไป หมดตำแหน่งก็จบกัน ลาภ ยศ สรรเสริญเป็นสิ่งไม่คงทน ได้มาไม่นานก็เสียไป
เหลือไว้เพียงผลงานที่ได้ทำ... ว่าจะให้ผู้คนสรรเสริญ ยกย่อง... หรือให้สาปแช่ง ไปชั่วลูกชั่วหลาน... | โดย: https://mat.or.th/news_detail.p [11 ก.ย. 51 9:10] ( IP A:58.8.8.154 X: ) |  |
 |
|
|