consumer.pantown.com
Thai Iatrogenic Network รวมกระทู้เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ <<
กลับไปหน้าแรก
มาตรา41ก.ม.ชูศีลธรรม เฉลี่ยทุกข์ผู้โชคร้ายทางการแพทย์
มาตรา41ก.ม.ชูศีลธรรม เฉลี่ยทุกข์ผู้โชคร้ายทางการแพทย์
เดลินิวส์
วันที่ 8 กันยายน 2551
เรื่องฟ้องแพทย์มีทีท่าว่าจะเป็นกระแสที่คงอยู่แบบข้ามปี เป็นหัวข้อที่ขาดไม่ได้ในวงสนทนาของแพทย์ ตั้งแต่มีข่าวกรณี คุณดลพร ล้อเสริมวัฒนา ฟ้องโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งจนถึงกรณี ดอกรัก ฟ้องสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
หรือกรณีล่าสุดของน้อง โฟร์โมสต์ ด.ช.ทวินันท์ อินาวัง อายุ 1 ขวบ 8 เดือน ที่จบ ชีวิตจากคลินิกเปรมประชาการแพทย์จากการมีอาการเป็นไข้ ตัวร้อน หายใจติดขัด และผู้ปกครองนำส่งรพ.ภูมิพลแต่สายเกินไปที่จะยื้อชีวิตน้องโฟร์โมสต์ไว้ได้ เบื้องต้นพ่อและแม่ปักใจเชื่อว่าเกิดจากการรักษาที่ผิด พลาดของหมอที่คลินิกต้นสังกัดแต่แรกที่ไม่ยอมส่งต่อไปยังรพ.ที่มีศักยภาพรักษาสูงกว่า พร้อมกับร่ำไห้ร้องหาความรับผิดชอบจากแพทย์ผู้รักษาว่าวินิจฉัยผิดพลาด
ไม่ว่าจะเกิดจากเหตุใด แต่กลายเป็นว่าสังคมให้ความสนใจกับการตอบคำถามคล้าย ๆ กันว่า ใครผิด ที่ต้องหาคำตอบด้วยการฟ้องร้อง
แต่ประสบการณ์จากต่างประเทศ ได้ให้บทเรียนแล้วว่าการตัดสินหรือชี้ขาดโดย กระบวนการยุติธรรมนั้น ก่อให้เกิดวิกฤติศรัทธาในระบบความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย
ชนิดที่เรียกได้ว่าต่างคนต่างไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันและยังมีผลข้างเคียงต่อระบบการเก็บข้อมูลความเจ็บป่วยของผู้ป่วยอีกด้วย เช่น มีการปกปิดข้อมูล เพราะกลัวว่าข้อมูลต่าง ๆ จะถูกนำไปใช้ในศาล อีกทั้งทำให้เกิดการปิดกั้นไม่ให้เกิดการยอมรับในความผิดพลาดและเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาหรือเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
มาตรา 41 เป็นหนึ่งในกระบวนทัศน์ใหม่ที่จะเปลี่ยนค่านิยมในสังคมจากการให้ความสำคัญเรื่องการตัดสินถูก-ผิด โดยใช้กลไกการช่วยเหลือผู้เสียหายโดยไม่มีการพิสูจน์ถูกผิด แนวทางการชดเชยผู้เสียหายโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิดในประเทศไทย ซึ่งกำหนดไว้ในมาตรา 41 ของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545
เริ่มต้นขึ้นโดยการมองอนาคตว่า หากปล่อยให้มาตรการทางกฎหมายมาควบคุมหรือป้องกันความ ผิดพลาดในการรักษาจะก่อให้เกิดการเผชิญ หน้ามากขึ้น ระบบกฎหมายจะนำไปสู่การล่มสลายของระบบบริการมากขึ้น ประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น ท้ายที่สุดแล้วบริการจะหายากมากขึ้นเนื่องจากแพทย์ป้องกันตนเองมากขึ้น หรือไม่สามารถที่จะมีเงินจ่ายค่าประกันความผิดพลาดในการประกอบวิชาชีพ
นายแพทย์ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีกลไกในการบรรเทาปัญหาและเยียวยาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น โดยมาตรา 41 กำหนดให้มีการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการ ที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าเป็นคนไข้บัตรทอง ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) โดยยังไม่มีการตัดสินว่าคนไข้หรือหมอเป็นฝ่ายผิดหรือถูก โดยแบ่งความเสียหายเป็น 3 ประเภทได้แก่ ความเสียหาย เสียชีวิต ทุพพลภาพถาวร จ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 200,000 บาท สูญเสียอวัยวะหรือพิการ จ่ายเงินช่วยเหลือได้ไม่เกิน 120,000 บาท และประเภทที่ 3 บาดเจ็บต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 50,000 บาท
รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการนั้นไม่ได้หมายความว่า การรักษาไม่มีคุณภาพหรือไม่ ได้มาตรฐาน แต่เป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับคนไข้ โดยมีคณะอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิรวมถึงผู้มีบทบาทสำคัญของท้องถิ่น เช่น ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้ท้องถิ่นร่วมพิจารณาคนไข้ที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นกรณีไป ตามความเหมาะสม โดยต้องการให้ผู้เสียหายได้รับเงินช่วยเหลือเร็วที่สุด
เป็นมาตรการทางศีลธรรมถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่ใช่ไปหาว่าใครผิดใครถูก คิดว่าจะช่วยแก้ปัญหาเผชิญหน้าได้บ้าง ทุกวันนี้เราปล่อยให้บริการทาง การแพทย์เข้าตลาดหุ้น หนีไม่พ้นการฟ้องร้อง คนไข้จ่ายแพงต้องคาดหวังสูง แม้บางคนจะมองว่าเงินเหล่านี้จะเป็นเงินตั้งต้นจ้างทนายฟ้องหมอ แต่ข้อเท็จจริงของสังคมไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น นายแพทย์ประทีปย้ำถึงวัตถุประสงค์ของมาตรา 41
...อย่างไรก็ตามมาตรา 41 ไม่ได้ปิดกั้นคนไข้สามารถฟ้องแพทย์โดยกระบวนการยุติธรรมต่อไปได้
นับตั้งแต่ประกาศใช้มาตรการนี้เป็นต้นมาในปีงบประมาณ 2547-มิ.ย. 2551 สปสช.ได้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไปแล้ว 151 ล้านบาทจากงบประมาณ 289 ล้านบาท ซึ่งเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา มีผลการพิจารณาที่เข้าเกณฑ์ทั้งหมด 1,450 เรื่อง ส่วนใหญ่จะเป็นความเสียหายด้านคลอดบุตร เนื่องจากเราเข้าใจว่าคนไปคลอดลูกคือคนปกติไม่ใช่คนป่วย จึงเต็มไปด้วยความคาดหวัง
กรณีการคลอดบุตร สามารถเกิดจากความผิดปกติทางพยาธิของสภาพร่างกายได้ เช่น แม่เป็นเบาหวาน ลูกคลอดมาตัวโต โอกาสคลอดมีปัญหาสูง หรือบริการของรัฐ โรงพยาบาลอยู่ห่างไกลชุมชน อีกทั้งข้อจำกัดของโรงพยาบาลรัฐที่ต้องทำนอกเวลา เหล่านี้หากมีการชี้แจง ได้รับข้อมูลเพียงพอ ส่วนใหญ่จะเข้าใจ
5 ปีของการปฏิบัติการตามมาตรา 41 นอกจากเฉลี่ยทุกข์ให้กับผู้โชคร้ายทางการแพทย์แล้ว ยังก่อเกิดผลตามมาว่า มาตรานี้จะถูกขยายผลไปสู่การชดเชยความเสียหายได้ด้วย ซึ่งมีแนวโน้มจะครอบคลุมระบบประกันสุขภาพทุกระบบในสังคม ทั้งระบบประกันสังคม และสวัสดิการรักษาพยาบาล ข้าราชการ
ที่ผ่านมาทุกฝ่ายเห็นผลช่วยลดความกังวลของแพทย์ในการรักษารวมถึงคนไข้เอง เรากำลังขยายมาตรการนี้ไปสู่การชดเชยความเสียหาย ภายใต้ชื่อร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการใช้บริการสาธารณสุข ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนคณะกรรมการกฤษฎีกาดูรายละเอียด หมอประทีปบอกถึงผลสำเร็จ และว่าทั้งแพทยสภา และแพทย์สมาคมให้ขยายมาตรการนี้ แทนที่จะดูแลเฉพาะคนไข้บัตรทอง 30 บาท ในเบื้องต้นคิดว่าจะนำเงินกองทุนของระบบสุขภาพแต่ละกองทุนมาจ่ายเป็นเงินชดเชยความเสียหาย
หากกางดูระบบประกันสุขภาพที่มาจากเงินภาษีของประชาชน พบว่ากลุ่มใช้เงินในการรักษาพยาบาลสูงสุด คือระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการในปีนี้ใช้เงินเกือบ 45,000 ล้านบาท กับจำนวนข้าราชการ 6 ล้านคน ทั่วประเทศเฉลี่ยหัวละ 10,000 บาทต่อคนต่อปี ขณะที่ประกันสังคมเฉลี่ย 2,200 บาท บัตรทองเฉลี่ย 2,000 บาท ต่อคนต่อปีเช่นกัน
นั่นเพราะระบบบริการทางการแพทย์ที่ฟรีทุกอย่างในการเข้ารับการรักษาโรงพยาบาลของรัฐ คนไข้ที่เป็นข้าราชการ เลือกใช้โรงพยาบาลของรัฐที่มีหมอดี ยกตัวอย่าง เช่น อาจใช้หมอไม่ตรงกับโรค หมอผ่าตัดหัวใจอาจต้องไปรักษาคนไข้ป่วยเป็นไข้หวัด อีกทั้งยาดี ยาแพง ใช้กับคนไข้ข้าราชการมากกว่าคนไข้ในโรงพยาบาลเอกชนด้วยซ้ำ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการจึงใช้เงินสูงกว่าระบบ อื่น ๆ และดูเหมือนจะรื้อระบบยากเพราะแรงต้านสูงพอกัน
ถึงวันนี้ไม่ว่าประชาชนคนไทยจะสังกัดระบบประกันสุขภาพแบบไหน อย่างน้อยก็เริ่มอุ่นใจได้ว่าระบบการแพทย์กับสังคมไทยยังอยู่ในวังวนของระบบ ยาขอ หมอวาน แม้จะลดน้อยลงไปบ้างก็ตามที.
บัตรทอง 30 บาทเจ็บป่วยฉุกเฉินเข้าได้ทุกรพ.
นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากการที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีมติให้ยกเลิกการจำกัดความคุ้มครองการเจ็บป่วยฉุกเฉิน จากเดิมไม่เกินปีละ 2 ครั้งเปลี่ยนเป็นผู้ป่วยสามารถใช้บริการนอกหน่วยบริการที่กำหนดได้ตามความจำเป็นไม่จำกัดจำนวนครั้ง ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2551 เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างแท้จริง ซึ่งผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถใช้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินจากหน่วยบริการอื่นได้ โดยคำนึงถึงความสะดวกและความจำเป็นของผู้มีสิทธิตามบัตรซึ่งเข้าใช้บริการจากหน่วยบริการที่ใกล้ที่สุดไม่จำเป็นต้องระบุตามบัตรได้
เลขาธิการสปสช. กล่าวต่อว่า การวินิจฉัยว่าเจ็บป่วยฉุกเฉิน ต้องมีข้อบ่งชี้ดังนี้ โรคหรืออาการของโรคที่มีลักษณะรุนแรง ต้องรักษาเป็นการเร่งด่วน รวมถึงโรคที่ต้องผ่าตัดด่วนหากปล่อยไว้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต หรือทุพพลภาพ หรือเป็นอันตรายต่อผู้อื่น ซึ่งมีสิ่งที่ต้องพิจารณาประกอบด้วยความดันโลหิต ชีพจร อาการของโรค การวินิจฉัยโรค แนวทางการรักษา รวมทั้งคำนึงถึงการรับรู้ของผู้รับบริการที่มีต่ออาการป่วยด้วย โดยสปสช.รับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยบริการในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินนี้ ซึ่งการใช้บริการนั้น กรณีที่ใช้บริการในหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนกับสปสช. ผู้รับบริการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ส่วนกรณีใช้บริการที่สถานบริการอื่นซึ่งไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสปสช.ผู้รับบริการต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเฉพาะส่วนที่เกินจากที่สปสช. จ่ายให้ โดยสถานบริการดังกล่าวจะต้องแจ้งผู้ป่วยและญาติทราบก่อนทุกครั้ง
ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยจากเรื่องดังกล่าว ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาความเข้าใจคลาดเคลื่อน ระหว่างหน่วยบริการและผู้รับบริการสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนบัตรทอง โทร. 1330 ตลอดเวลา.
พรประไพ เสือเขียว
โดย: เดลินิวส์ [10 ก.ย. 51 8:31] ( IP A:58.9.190.20 X: )
ความคิดเห็นที่ 1
ก็รัฐบาลให้ค่าแรงงานเหมือนต่างประเทศซิ คนจนจะได้จ่ายเงินเองได้ทุกกรณี ค่าแรงงานโคตรถูก โคตรจน จะเอาเงินที่ไหนไปหาหมอ
แค่ค่ารถก็ไม่มีปัญญาแล้วบางคน ไม่ต้องพูดถึงค่ารักษา
จะมาบ่นทำซากอะไร ให้ค่าแรงคนจนมาเยอะๆซิต่อวัน
ทีโกงชาติกันเป็นหมื่นล้านพันล้านไม่พูดถึง มาพูดถึงเรื่องเล็กๆน้อยๆ
คนไข้ฟ้องหมอแค่ไม่กี่คน ทำเป็นเรื่องใหญ่
ทีทำเขาตายฟรีไปเป็นหมื่นๆคน ทำไมไม่คิด
ตายแบบไม่ควรตายด้วยซ้ำ บางกรณี
เซ็งเนอะ สังคมไทยได้เท่านี้แหล่ะ
โดย: GN+ [10 ก.ย. 51 9:35] ( IP A:117.47.45.194 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
ที่ผ่านมาทุกฝ่ายเห็นผลช่วยลดความกังวลของแพทย์ในการรักษารวมถึงคนไข้เอง เรากำลังขยายมาตรการนี้ไปสู่การชดเชยความเสียหาย ภายใต้ชื่อร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการใช้บริการสาธารณสุข ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนคณะกรรมการกฤษฎีกาดูรายละเอียด
ได้ข่าวว่ากฤษฎีกาเอง ก็เอียงๆเข้าข้างแพทยสภา ซะแล้ว ตัวชื่อของร่าง พ.ร.บ. เหมือนเดิม แต่ไส้ในทั้งหมดดูเหมือนจะถูกรื๊อทิ้ง แล้วเอาระบบไกล่เกลี่ยแฝงกลไกปิดปาก+ห้ามฟ้องร้องต่อ "เสียบเข้าไปแทนที่" แบบมัดมือชก กำหนดวงเงินเพดานจ่ายชดเชยไว้ แต่ห้ามฟ้อง ห้ามร้องต่อ
หากกางดูระบบประกันสุขภาพที่มาจากเงินภาษีของประชาชน พบว่ากลุ่มใช้เงินในการรักษาพยาบาลสูงสุด คือระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการในปีนี้ใช้เงินเกือบ 45,000 ล้านบาท กับจำนวนข้าราชการ 6 ล้านคน
เงินภาษีน่ะ เก็บจากทั้ง 63 ล้านคนนะครับ แต่ส่วนใหญ่แค่ 6 ล้านคนเท่านั้นที่ได้เข้าถึงเงินก้อนนี้เท่านั้น ที่เหลือก็ไปเสี่ยงเอากับการมีสภาพเหมือนขอทานเวลาเกิดความเสียหายขึ้น
หมอประทีปบอกถึงผลสำเร็จ และว่าทั้งแพทยสภา และแพทย์สมาคมให้ขยายมาตรการนี้ แทนที่จะดูแลเฉพาะคนไข้บัตรทอง 30 บาท ในเบื้องต้นคิดว่าจะนำเงินกองทุนของระบบสุขภาพแต่ละกองทุนมาจ่ายเป็นเงินชดเชยความเสียหาย
มาตรการนี้ ใช้เงินภาษีของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่ภาษีที่มาจากหมอที่แพทยสภาหรือแพทยสมาคม แล้วทำไมต้องไปถามแพทยสภา+แพทยสมาคม??????? หรือนี่เป็นเกมส์เบี่ยงให้ไม่ต้องตั้งกองทุนชดเชยผู้เสียหายทางการแพทย์ ผลักความเสียหายทางการแพทย์ทั้งหลายในภาคหมอเอกชนที่มีกรรมการแพทยสภาและสมาชิกแพทยสมาคมเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้กับภาษีประชาชนเป็นคนแบกไปเอง
แหม สูตรสำเร็จ ดีดลูกคิดรางแก้วเลยนะ ท่านหมอเฒ่าทุนนิยมสามานทั้งหลาย ทางหนึ่งก็วิ่งเต้นเปลี่ยนร่างพ.ร.บ. ที่กฤษฎีกา อีกทางก็มายำเงินกองทุน สปสช แบกค่าเสียหายไป จะได้ไม่ต้องควักกระเป๋าจ่ายจากเงินของโรงพยาบาลตัวเอง
เฮ้อ
โดย: คนรู้ทัน ไม่รู้จริง [10 ก.ย. 51 10:02] ( IP A:58.8.104.60 X: )
ความคิดเห็นที่ 3
ใจเย็นๆเน่อ
โดย: medicine cmu [10 ก.ย. 51 10:28] ( IP A:61.19.199.142 X: )
ความคิดเห็นที่ 4
สุดท้ายก็มาตกที่ภาษีของประชาชนอยู่ดี
โดย: ลอยตัว [10 ก.ย. 51 17:18] ( IP A:124.120.81.91 X: )
ความคิดเห็นที่ 5
โดย: เจ้ย [31 ส.ค. 52 22:00] ( IP A:112.142.234.145 X: )
ความคิดเห็นที่ 6
เมื่อไหร่จะมีเทวดาลงมาช่วยคนส่วนใหญ่ของประเทศตาดำๆบ้างหนอ
โดย: เจ้ย [31 ส.ค. 52 22:01] ( IP A:112.142.234.145 X: )
คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน