ประวัติชีวิตและผลงานของ Antonio Vivaldi
   Antonio Lucio Vivaldi
อันโทนิโอ ลูซิโอ วิวาลดี

อันโทนิโอ วิวาลดี เกิดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ.1678 ที่เมืองเวนิซ ประเทศอิตาลี เป็นบุตรของ จิโอวานนี แบ๊ปติสตา วิวาลดี (Giovanni Baptista Vivaldi) นักไวโอลินมือหนึ่งและหัวหน้าคณะนักดนตรีประจำมหาวิหารซาน มาร์โค แห่งเมืองเวนิซ และเป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อตั้งสมาคม นักดนตรีแห่งซานตา เซซิเลีย ซึ่งเป็นสมาคมนักดนตรีที่ดีที่สุดของเวนิซจนกระทั่งปัจจุบันนี้

ในวันที่วิวาลดีเกิดนั้น เมืองเวนิซประสบกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง และช่วงสัปดาห์แรกหลังการคลอดนั้น วิวาลดี เกือบเอาชีวิตไม่รอด เพราะมีไข้สูงตลอด มารดาของวิวาลดีเล็งเห็นว่านี่คงเป็นลางร้ายอะไรสักอย่างเกี่ยวกับบุตรของตน จึงได้ตั้งใจมั่นที่จะให้วิวาลดีบวชเป็นพระสงฆ์ เพราะคิดว่าอย่างน้อยที่สุดก็อาจจะช่วยผ่อนโชคร้ายของบุตรตนจากหนักให้เป็นเบาได้ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ผลของการที่วิวาลดีป่วยเป็นไข้ตั้งแต่เกิดนั้น ส่งผลให้เขามีสุขภาพที่ไม่แข็งแรงไปตลอดชีวิต

วิวาลดี เริ่มชีวิตการเป็นพระเมื่อเขามีอายุได้ 15 ปี วันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ.1693 วิวาลดีบวชเป็นสามเณร จนกระทั่งวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ.1703 วิวาลดีก็รับศีลบวชเป็นพระอย่างเต็มตัว เพราะการที่วิวาลดีมีผมสีแดง และคนทั่วไปก็มักจะเห็นเขาใส่เสื้อคลุมพระสีแดง ทำให้คนทั่วไปชอบเรียกวิวาลดีว่า “ Il Prete Rosso ” หรือ พระแดง จนกลายเป็นฉายาของวิวาลดีที่รู้จักกันไปทั่ว แต่อย่างไรก็ดี การบวชเป็นพระก็ไม่ได้ทำให้วิวาลดีหายป่วย แต่กลับยิ่งแย่กว่าเดิม วิวาลดีป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ หอบหืดและหลอดลมอักเสบ มีอาการเจ็บหน้าอกและไออยู่ตลอดเวลา จึงไม่สามารถประกอบพิธีมิสซาได้

โดย: นิติกรฯ [3 ก.พ. 49 18:26] ( IP A:202.12.74.5 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
ความคิดเห็นที่ 1
   ชีวิตการดนตรีของวิวาลดีนั้น ไม่แน่ชัดว่าเขาเริ่มเรียนจากที่ใด แต่ก็พอสันนิษฐานได้ว่าเขาคงได้รับอิทธิพลและมีพื้นฐานการเล่นไวโอลินจากบิดามามากพอสมควร เพราะไม่นานหลังจากที่วิวาลดีรับศีลบวช ในปี ค.ศ.1703 เขาก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นครูสอนไวโอลินที่สถานเลี้ยงเด็กหญิง Ospedale della Pieta ซึ่ง ณ สถานที่แห่งนี้ วิวาลดีได้สร้างสรรค์ผลงานดนตรีมากมาย ทั้งเพื่อการฝึกสอนและที่เป็นวรรณกรรมดนตรีโดยแท้ ผลงานชิ้นแรกที่วิวาลดีประพันธ์ขึ้นในปี ค.ศ. 1705 คือ Sonate da camera a tre (Opus 1) จำนวน 1 ชุด 12 บท ต่อมาในปี ค.ศ.1709 ประพันธ์ Sonate a Violino e Basso (Opus 2) สำหรับจำนวน 1 ชุด 12 บท เช่นเดียวกัน ผลงานทั้งสองชุดตีพิมพ์ขึ้นในโรงพิมพ์ของ เอสเชียน โรเจอร์ ( Estienne Roger ) กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

ในยุคบาโรคนั้น กรุงอัมสเตอร์ดัมเป็นแหล่งการตีพิมพ์และตลาดซื้อขายโน้ตเพลงที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป นักประพันธ์เพลงคนไหนอยากมีชื่อเสียง ก็ต้องลงทุนตีพิมพ์ผลงานของตนเองก่อน และนำออกจำหน่ายแก่ผู้สนใจและวงดนตรีทั่วไปเป็นการเปิดตลาดชิมลาง ถ้าผลงานเพลงดีและได้รับความนิยม คนอื่น ๆ หรือคณะดนตรีที่สนใจก็จะมียอดสั่งซื้อเพื่อให้โรงพิมพ์ตีพิมพ์โน้ตเพลงเพิ่มขึ้น ยอดที่มีการสั่งตีพิมพ์เพิ่มมากขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งก็จะกลายเป็นค่าลิขสิทธิ์ที่จ่ายเพิ่มให้แก่คีตกวี ส่วนที่เหลือจะเป็นกำไรของโรงพิมพ์ เพราะฉะนั้น การเป็นคีตกวีสมัยก่อน ถ้าไม่มีฝีมือดีจริง ๆ หรือไม่มีชื่อเสียงโด่งดังจริง ก็เป็นเรื่องที่เสี่ยงต่อการประสบภาวะล้มละลายหรือไส้แห้งตายอยู่มาก และก็ไม่มีใครที่สามารถอยู่ได้ด้วยการเป็นคีตกวีที่แต่งเพลงขายเท่านั้น ดังนั้นคีตกวีสมัยก่อนจึงต้องรับจ้างเป็นนักดนตรีประจำอยู่ ณ สถาบันหรือโบสถ์แห่งใดแห่งหนึ่ง หรือถ้าโชคดีก็อาจได้เป็นคีตกวีในอุปถัมภ์ของขุนนางหรือเจ้านายราชนิกูลที่ให้ทั้งเวลาและเงินทอง เพื่อที่จะให้คีตกวีสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องหาเลี้ยงปากท้องตนเองและครอบครัว แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่แน่นอนตายตัวเสมอไป เพราะการเป็นคีตกวีราชสำนักก็ต้องเสี่ยงอยู่กับอารมณ์ของเจ้านายที่บางคนก็ขึ้น ๆ ลง ๆ หรือบางคนก็เบื่อง่ายและต้องการแนวเพลงใหม่ ๆ เสมอ หรือบางคนก็ชอบแนวเพลงตายตัว ทำให้คีตกวีไม่สามารถคิดสร้างผลงานรูปแบบแปลก ๆ ใหม่ ๆ ได้ เพราะอาจไม่ถูกใจเจ้านาย เป็นต้น ทำให้ในยุคบาโรคนั้น จึงเป็นยุคของดนตรีแห่งการรับใช้ ไม่ใช่ดนตรีเพื่อความสุนทรีทางอารมณ์อย่างแท้จริง อย่างที่จะมีพัฒนาการต่อมาในช่วงปลายยุคคลาสสิกและโรแมนติก ซึ่งวิวาลดีเองก็ต้องตกอยู่ในกระแสวังวนนี้เช่นกัน ดังนั้นผลงานเพลงของวิวาลดี ส่วนใหญ่จึงเป็นไปเพื่อการอุทิศถวายแด่เจ้านายขุนนางเพื่อตอบแทนอุปการคุณ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ผลงานของวิวาลดีก็ไม่ได้เป็นไปตามใบสั่งของใครไปเสียทั้งหมด ดังจะเห็นได้จากผลงานการประพันธ์เพลง ก็จะมีลักษณะเฉพาะตัวของวิวาลดีเองแทบทั้งสิ้น

โดย: นิติกรฯ [3 ก.พ. 49 18:27] ( IP A:202.12.74.7 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
   ตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.1703 – 1730 วิวาลดีรับทำงานให้แก่สถาบันหลายแห่งในเมืองเวนิซ ตำแหน่งที่เป็นทางการจริง ๆ ก็คือ หัวหน้านักไวโอลินประจำวงดนตรีแห่งมหาวิหารซาน มาร์โค อาชีพรองก็เป็นครูสอนไวโอลินของสถาบันเลี้ยงเด็กกำพร้าอีก 4 แห่ง คือ Ospedale della Pieta , Ospedaletto , Incurabili และ Dei Mendicanti นอกจากนี้ยังเริ่มรับจ้างเป็นนักประพันธ์บทเพลงสำหรับโอเปร่าให้แก่โรงละครต่าง ๆ ด้วย ที่สำคัญ คือ Teatro Sant’Angelo และ Teatro San Cassiano ผลงานโอเปร่าเรื่องแรกของวิวาลดี คือ Ottone in Villa แสดงรอบปฐมทัศน์เมื่อวันที่ 30 เมษายน ค.ศ.1713 ณ โรงละคร Teatro Sant’Angelo ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก ต่อมาในปี ค.ศ.1713-1714 วิวาลดีประพันธ์ละครเพลงเรื่อง Orlando Furioso และในปี ค.ศ.1715 วิวาลดีประพันธ์โอเปร่าเรื่อง Orlando finto pazzo และในที่สุด วิวาลดีก็ได้กลายเป็นหุ้นส่วนและผู้กำกับการแสดงของโรงละคร Teatro Sant’Angelo และได้รับส่วนแบ่งกำไรทุกครั้งที่มีการแสดง แต่วิวาลดีก็มิใช่คนที่คอยแต่นั่งลุ้นนับจำนวนคนที่เข้าชม และนั่งนับเงินเหมือนนักธุรกิจที่เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ แต่เขามักจะขึ้นแสดงเป็นไวโอลินโซโลแทบทุกครั้งที่มีการแสดงโอเปร่า และก็ได้รับความชื่นชมจากผู้ชมอยู่เสมอ จนแทบเรียกได้ว่าการแสดงโซโลไวโอลินของวิวาลดี เป็นสิ่งที่เรียกผู้ชมให้เข้าโรงละครได้มากพอกับการแสดงโอเปร่าเลยทีเดียว ดังเช่นที่ ฟอน อุฟเฟ่นบาค (J.F.A.von Uffenbach) ผู้ที่ได้เคยเข้าชมการแสดงของวิวาลดีได้บันทึกไว้ว่า

“ วิวาลดีโซโลไวโอลินได้อย่างอัศจรรย์ใจเหลือเชื่อมาก เขาจบบทเพลงด้วยการอิมโพรไวส์ซึ่งประทับใจข้าพเจ้าอย่างยิ่ง ช่วงที่เขาเล่นคาเด็นซานั้นมันแทบเป็นไปไม่ได้เลย ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นใครเล่นอย่างนี้มาก่อนและก็คงจะไม่ได้ยินจากที่ไหนอีกเป็นแน่ นิ้วมือซ้ายของเขานั้นเล่นเลื่อนเข้ามาจนแทบจะแตะกับหย่อง และมีเนื้อที่สำหรับคันชักสีได้เพียงนิดเดียวเท่านั้น เขาเล่นพร้อมกันทีเดียวทั้งสี่สายด้วยความเร็วอันน่าพิศวง ซึ่งไม่ว่าใครที่ได้เห็นการแสดงของเขาในวันนี้คงไม่มีวันลืมเป็นแน่ ”

อิตาเลี่ยนโอเปร่าในช่วงสมัยของวิวาลดีนั้น กำลังอยู่ในช่วงที่ควันสงครามระหว่างกลุ่ม นักประพันธ์หัวสมัยเก่าและหัวสมัยใหม่กำลังโหมกระพือ โดยผู้นำของนักประพันธ์หัวสมัยเก่า คือ เบเนเด็ตโต มาร์เชลโล ( Benedetto Marcello ; 1686-1739) ได้แต่งหนังสือ Il Teatro alla Moda โจมตีรูปแบบและวิธีการนำเสนอโอเปร่าของนักประพันธ์หัวสมัยใหม่ - ซึ่งเป้าหมายของการโจมตีจากมาร์เชลโลนั่นก็คงจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากวิวาลดีนั่นเอง เพราะในช่วงเวลานั้น โอเปร่าของวิวาลดีเป็นที่กล่าวขวัญกันมาก ในเรื่องของความรวดเร็วฉับไว ทันอกทันใจ มีการใช้บทร้องประกอบการแสดงเดี่ยวเครื่องดนตรี เน้นการร้องเดี่ยวแทนกลุ่มนักร้องประสานเสียง และเนื้อหาที่ไม่หนักมากจนเกินไป เป็นที่ถูกใจผู้ชมชนชั้นกลางที่เบื่อหน่ายกับการแสดงโอเปร่ารุ่นเก่าที่ใช้เทคนิคชั้นสูง เยิ่นเย้อ และเนื้อหาหนักมากเกินกว่าจะเป็นเครื่องหย่อนอารมณ์ แต่การออกมาโจมตีของมาร์เชลโลในครั้งนี้ ก็ไม่ได้ทำให้โอเปร่าของวิวาลดีได้รับผลกระทบแต่อย่างใด และในเวลาต่อมาอิตาเลี่ยนโอเปร่าแบบสมัยใหม่ก็ครองตลาดทั่วทั้งอิตาลี และแพร่หลายกลายเป็นแบบฉบับของโอเปร่าชั้นสูงไปทั่วทั้งยุโรป (ยกเว้นประเทศฝรั่งเศสที่มีโอเปร่าสไตล์ฝรั่งเศสเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง- ดูประวัติของ ฌอง-แบ๊ปติสต์ ลุลลี)
โดย: นิติกรฯ [3 ก.พ. 49 18:28] ( IP A:202.12.74.6 X: )
ความคิดเห็นที่ 3
    ภาพล้อ Vivaldi ฝีมือของPier Leone Ghezzi, 1723

โดย: นิติกรฯ [3 ก.พ. 49 18:28] ( IP A:202.12.74.8 X: )
ความคิดเห็นที่ 4
   นอกจากวิวาลดีจะได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำของอิตาเลี่ยนโอเปร่าสมัยใหม่แล้ว วิวาลดียังมีชื่อเสียงในฐานะผู้บุกเบิกงานเพลงประเภทโซโลคอนแชร์โต (Solo Concerto) คือ คอนแชร์โตที่ประชันระหว่างเครื่องดนตรีเดี่ยวเพียงชิ้นเดียวกับวงออร์เคสตรา เพราะในช่วงเวลานั้น ผลงานประเภทคอนแชร์โตที่มีอิทธิพลอยู่ในอิตาลี คือ คอนแชร์โต กรอซโซ ( Concerto Grosso ) ซึ่งเป็นผลงานการบุกเบิกของ อาร์คานเญโล คอเรลลี ( Arcangelo Corelli ; 1653-1713 ) นักไวโอลินและคีตกวีชาวอิตาลีที่มีชื่อเสียงมากในกรุงโรม เป็นคีตกวีคนแรกที่สร้างแบบแผนของคอนแชร์โต ว่าคือการประชันกันระหว่างกลุ่มเครื่องดนตรีตั้งแต่สองกลุ่มขึ้นไป

ความแตกต่างระหว่างคอนแชร์โต กรอซโซของคอเรลลี กับโซโล คอนแชร์โตของวิวาลดี คือ 1.) จำนวนเครื่องดนตรี คอเรลลีเป็นคีตกวีคนแรกที่แยกวงออร์เคสตราออกเป็นสองส่วน คือกลุ่มแรก เรียกว่า คอนแชร์ติโน ( Concertino ) ประกอบด้วยไวโอลินสองคันและเชลโลหนึ่งคัน อีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่า ทุตตี ( Tutti ) คือ วงเครื่องสายที่เหลือทั้งหมด คอเรลลีเน้นการประสานท่วงทำนองระหว่างสองกลุ่มนี้มากกว่าจะให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเด่นเพียงกลุ่มเดียว แม้ว่าคอนแชร์ติโนอาจมีการโชว์เทคนิคบ้าง แต่ต้องไม่สำคัญเหนือกว่าทำนองหลัก แต่โซโล คอนแชร์โตของวิวาลดีนั้น แน่นอนว่าประพันธ์ขึ้นเพื่อโชว์ความสามารถชั้นสูงของผู้โซโลโดยตรง ดังนั้นบทบาทของเครื่องดนตรีที่โซโลนั้นโดดเด่นมาก และออร์เคสตราที่เหลือนั้นจะมีหน้าที่ทั้งช่วยเล่นเสริมทำนองหลัก และสร้างความแตกต่างระหว่างเสียงหนัก-เบา, ดัง-ค่อย เพื่อให้ผู้โซโลนั้นโดดเด่นมากยิ่งขึ้น
2.) จำนวนท่อน (Movement) คอนแชร์โต กรอซโซของคอเรลลีมีหลายท่อน ตามทำนองแบบเพลงชุดเต้นรำ ( Dance Suite ) มีบทนำ มีท่อนช้าสลับเร็ว ไม่มีจำนวนท่อนที่ตายตัว คอนแชร์โตบทหนึ่งอาจมีตั้งแต่ 4-6 ท่อน แต่โซโล คอนแชร์โตของวิวาลดีค่อนข้างชัดเจนว่ามีประมาณ 3 ท่อน คือ เร็ว-ช้า-เร็ว ตามทำนองแบบบทเพลงโหมโรงโอเปร่าในยุคนั้น (Sinfonia) และในที่สุดก็ได้กลายเป็นแบบแผนตายตัวของคอนแชร์โตในยุคต่อ ๆ มาว่ามี 3 ท่อน คือ เร็ว-ช้า-เร็ว

แต่ถึงกระนั้นก็ดี มิใช่ว่าวิวาลดีจะละเลยคอนแชร์โต กรอซโซ เพราะวิวาลดีเองก็ประพันธ์คอนแชร์โต กรอซโซไว้จำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานการประพันธ์คอนแชร์โตชุดแรกในชีวิตของวิวาลดี คือ L’Estro Armonico (Opus 3) ซึ่งประพันธ์ในปี ค.ศ.1711 ก็เป็นคอนแชร์โต กรอซโซ และที่น่าสังเกต คือ ในยุคนั้น โซโล คอนแชร์โตของวิวาลดียังเป็นของใหม่อยู่ ดังนั้น คีตกวีร่วมสมัยกับวิวาลดี ก็ยังคงประพันธ์ผลงานที่ได้รับอิทธิพลแบบคอนแชร์โต กรอซโซของคอเรลลีอยู่มาก อาทิเช่น จิอุเซ็ปเป ทอเรลลี ( Giuseppe Torelli ) แต่โซโล คอนแชร์โตของวิวาลดี กลับมีอิทธิพลต่อผลงานของคีตกวีอื่น ๆ ในช่วงหลังต่อมา อาทิเช่น โทมาโซ อัลบิโนนี (Tomaso Albinoni) หรือ โยฮัน เซบาสเตียน บาค (Johann Sebastian Bach) เป็นต้น และจากบันทึกต่าง ๆ ก็ปรากฏว่าคนทั่วไปมักเรียกวิวาลดีด้วยความยกย่องว่า “Maestro di Concerti” ซึ่งก็คงจะเป็นสิ่งยืนยันว่า ในยุคนั้นวิวาลดีเป็นผู้มีชื่อเสียงด้านคอนแชร์โตจริง ๆ

โดย: นิติกรฯ [3 ก.พ. 49 18:29] ( IP A:202.12.74.7 X: )
ความคิดเห็นที่ 5
   ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1716 วิวาลดีประพันธ์โอราโทริโอเรื่องที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเขา คือ Juditha Triumphans devicta Holofernis ซึ่งได้จัดการแสดงขึ้นที่ Ospedale della Pieta เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสที่กองทัพเรือเวนิซได้ชัยชนะเหนือกองทัพเรือตุรกี เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ.1716

ช่วงปลายปี ค.ศ.1717 วิวาลดีเดินทางไปรับตำแหน่งหัวหน้าคณะนักดนตรี (Kapellmeister) ของท่าน แลนด์กราฟ ฟิลิป ฟาน เฮซเซ่น-ดาร์มสตั๊ดช์ (Landgrave Philip van Hessen-Darmstadt ที่เมืองมานทัว ณ ที่แห่งนี้ วิวาลดีได้ผลิตผลงานบทเพลงสำหรับโอเปร่าหลายชิ้น รวมถึงคอนแชร์โตเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อใช้เป็นแชมเบอร์มิวสิคจำนวนมาก และที่สำคัญคือ วิวาลดีได้เริ่มต้นมีความสัมพันธ์ กับ อันนา กิโร่ (Anna Giraud) นักร้องโอเปร่าหญิง ซึ่งจะคอยอยู่และติดตามวิวาลดีไปในทุกที่จนถึงวันที่วิวาลดีเสียชีวิต ซึ่งเธอและวิวาลดีไม่ได้มีอะไรกันเกินเลยมากไปกว่าการเป็นเพื่อนสนิทกัน และวิวาลดีพยายามสนับสนุนให้กิโร่ รับบทเด่นในโอเปร่าทุกเรื่องที่เขาประพันธ์เอง

ปีค.ศ.1720 วิวาลดีย้ายกลับมายังเวนิซ เพื่อเปิดการแสดงโอเปร่าเรื่องใหม่ “La Candace o siano Liveri amici” ที่ Treatro Sant’ Angelo จากนั้น ปี ค.ศ.1721 เขาก็เดินทางไปยังเมืองมิลานเพื่อเปิดการแสดงละครประกอบดนตรี เรื่อง “La Silvia” นับได้ว่าในยุคนั้นวิวาลดีประสบความสำเร็จอย่างมาก มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันไปทั่วในฐานะผู้นำของนักประพันธ์อิตาเลียนโอเปร่า นอกจากนี้ยังน่าจะสันนิษฐานได้ว่าในขณะนั้นวิวาลดีน่าจะมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วยุโรปด้วย เพราะนอกจาก วิวาลดีจะประพันธ์โอเปร่าให้แก่โรงละครต่าง ๆ ทั่วอิตาลีแล้ว วิวาลดียังมีผลงานเพลงตามคำสั่งของผู้ว่าจ้างที่เป็นถึงระดับพระมหากษัตริย์ประเทศต่าง ๆ ด้วย อาทิเช่น ในปีค.ศ.1720 พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศสทรงจ้างวิวาลดีให้ประพันธ์ Serenade “ La Sena Festeggiante ” หรือ ลำนำเทศกาลแม่น้ำแซนน์ หรือขณะที่วิวาลดีเดินทางไปยังกรุงโรม วิวาลดียังได้รับคำสั่งจากสมเด็จพระสันตะปาปาเคลมองต์ที่ 11 และสมเด็จพระราชินีคริสตินาแห่งสวีเดน ให้เล่นไวโอลินคอนแชร์โตถวายเฉพาะพระพักตร์อีกด้วย

โดย: นิติกรฯ [3 ก.พ. 49 18:29] ( IP A:202.12.74.6 X: )
ความคิดเห็นที่ 6
   นอกจากวิวาลดีจะมีชื่อเสียงในเรื่องผลงานโอเปร่า และคอนแชร์โตที่ได้รับความนิยมอย่างสูงแล้ว วิวาลดียังมีชื่อในเรื่องความสามารถในการประพันธ์เพลงได้อย่างรวดเร็วมาก ชาร์ลส์ เดอ โบรสส์ ( Charles de Brosses ) ข้าราชการชาวฝรั่งเศสบันทึกไว้ว่า “วิวาลดีชอบคุยโม้ให้ผมฟัง บ่อย ๆ ว่าเขาแต่งเพลงได้เร็วกว่านักลอกโน้ตจะลอกเสร็จเสียอีก....” ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เราคงเห็นว่าเป็นความจริงหรือไม่ ได้จากจำนวนบทเพลงที่วิวาลดีขายได้ในช่วงทศวรรษที่1720 วิวาลดีเขียนคอนแชร์โตส่งให้ Ospedale della pieta ได้เฉลี่ยราว 2 บทต่อเดือน พร้อม ๆ กันนั้นเขาก็สามารถเขียนโอเปร่าส่งให้โรงละครต่าง ๆ ได้เฉลี่ยเดือนละ 1 เรื่องอีกด้วย และเนื่องจากวิวาลดีเป็นผู้ที่มีชื่อเสียง ใคร ๆ ต่างก็รอคอยและต้องการเห็นผลงานใหม่ของวิวาลดี ดังนั้นวิวาลดีจึงสามารถเรียกราคาค่าลิขสิทธิ์เพลงจากสถาบัน โรงพิมพ์และโรงละครได้ในราคาที่ค่อนข้างสูง คือ ประมาณ 1 Ducat ต่อคอนแชร์โต 1 บท และ 1 Guinea ต่อโอเปร่า 1 เรื่อง แต่ก็เป็นราคาที่ผู้ประกอบการทั่วไปยินดีจ่าย เพราะรู้ว่าผลงานของวิวาลดีนั้นสามารถขายดีได้อย่างแน่นอน

ในปี ค.ศ.1725 ผลงานชิ้นสำคัญที่สร้างชื่อเสียงแก่วิวาลดี คือ Il Cimento dell’Armonia e dell’Invenzione (Opus 8) ได้รับการตีพิมพ์ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ไวโอลินคอนแชร์โต 1 ชุด 12 บท มี 4 บทแรกเป็นที่รู้จักกันในนามของ “ I Quattro Stagioni” (The Four Seasons) บรรยายถึงสี่ฤดู –ฤดูใบไม้ผลิ , ฤดูร้อน, ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว ที่มีบรรยากาศแตกต่างกันโดยใช้ไวโอลินโซโลเป็นสื่อนำจินตนาการของผู้ฟัง ผลงานชิ้นนี้ทำให้วิวาลดีได้รับการกล่าวขวัญกันมากในวงการดนตรีนับตั้งแต่แรกตีพิมพ์ใน ปี 1725 แม้จะถูกกระแสแห่งกาลเวลาเลือนหายไปช่วงหนึ่ง แต่ก็มีการรื้อฟื้นใหม่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และก็ได้รับความนิยมมาจนในปัจจุบันนี้ นับเป็นผลงานชิ้นเอกของบทเพลงในยุคบาโรคที่หลุดพ้นจากกรอบแคบ ๆ ของแบบฟอร์มต่าง ๆ ที่ซ้ำซากตายตัว กลายมาเป็นบทเพลงบรรยายเรื่องราวที่มีลีลาหลากหลาย ทั้งอ่อนหวาน นุ่มนวล ผาดโผน ตื่นเต้น เร้าใจ ทำให้ผู้ฟังประทับใจตั้งแต่ต้นจนจบ ผลงานชิ้นนี้ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจแก่คีตกวีหลายท่านให้สร้างสรรค์งานในลักษณะเดียวกัน อาทิเช่น ฟรานซ์ โยเซฟ ไฮเดิน (Franz Joseph Haydn) ประพันธ์คอนแชร์โต “The Day” โดยบรรยายถึงช่วงเวลาต่าง ๆ ของวัน ได้แก่ Morning ,Noon, Night หรือ ฌอง-ฌาคส์ รุสโซ (Jean-Jacques Russeau) ได้แปลง The Four Seasons ของวิวาลดี ให้บรรเลงด้วยฟลุ๊ต เป็นต้น นอกจากนี้ พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศส ก็ทรงโปรดปรานบทเพลงของวิวาลดีชิ้นนี้มากเช่นกัน ทรงสั่งให้วงดนตรีหลวงบรรเลงเพลงนี้ในเวอร์ชั่นแปลก ๆ ยิ่งไปกว่านั้น เพราะผลงานชิ้นนี้ ทำให้วิวาลดีได้รับการว่าจ้างให้ประพันธ์เพลงส่งราชสำนักแวร์ซายส์เสมอ ๆ อีกด้วย

ไม่เพียงแต่พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 เท่านั้น ที่เป็นแฟนผลงานการประพันธ์ของวิวาลดี ในซีกยุโรปตะวันออก สมเด็จพระจักรพรรดิชาร์ลส์ที่ 6 แห่งออสเตรีย ก็ทรงเป็นที่รู้จักกันดีว่าทรงโปรดปรานการดนตรีมาก และก็นับได้ว่าแฟนผลงานการประพันธ์เพลงของวิวาลดีเช่นเดียวกัน วิวาลดีคงจะทราบดี และคงจะต้องการหาผู้สนับสนุนตนเองที่มีความยิ่งใหญ่ในระดับพระมหากษัตริย์ ด้วย ดังนั้นในปี ค.ศ.1727 วิวาลดีจึงประพันธ์ La Cetra ( Opus 9 ) ไวโอลินคอนแชร์โต 1 ชุด 12 บท ซึ่งนับได้ว่าเป็นชุดไวโอลินคอนแชร์โตขนาดใหญ่ชุดสุดท้ายในชีวิตของวิวาลดี โดยหน้าปกโน้ตเพลงที่ตีพิมพ์นั้น เขียนว่าทูลเกล้าฯ อุทิศถวายแด่สมเด็จพระจักรพรรดิชาร์ลส์ที่ 6 ซึ่งผลแห่งความจงรักภักดีที่วิวาลดีมีแด่พระจักรพรรดินี้ ก็ได้รับผลตอบรับอย่างดียิ่ง เมื่อความทราบถึงพระเนตรพระกรรณ พระองค์โปรดให้เรียกวิวาลดีมาเข้าเฝ้าฯ พระองค์ ณ เมืองทริสเต เพื่อที่พระองค์จะได้ทรงขอบใจ ในบันทึกระบุไว้ว่าพระจักรพรรดิได้พระราชทานเหรียญเงินและทองคำมูลค่าถึง 50,000 Ducats , สร้อยทองคำ รวมถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์และบรรดาศักดิ์ชั้น Don หรือขั้นอัศวินให้แก่วิวาลดี นอกจากนี้ แอบบ๊อต กงตี (Abbot Conti ) ได้บันทึกไว้ว่า “...แม้เพียงระยะเวลา 15 วันที่พระองค์ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับวิวาลดีในเรื่องการดนตรีเป็นการส่วนพระองค์นั้น แต่พระองค์ได้ใช้เวลาไปมากกว่าที่พระองค์ทรงงานราชการกับบรรดารัฐมนตรีตลอดระยะเวลา 2 ปีเสียอีก...” ซึ่งจากบันทึกนี้คงทำให้เราเห็นได้ว่า สัมพันธภาพระหว่างวิวาลดีและราชสำนักออสเตรียมีความมั่นคงเป็นอย่างมาก และในช่วงเวลานั้น วิวาลดีมีชื่อเสียงและเกียรติยศสูงส่งเพียงไร
โดย: นิติกรฯ [3 ก.พ. 49 18:31] ( IP A:202.12.74.6 X: )
ความคิดเห็นที่ 7
   ในปี ค.ศ.1729-1730 วิวาลดีประพันธ์คอนแชร์โตสำหรับฟลุ๊ต คือ Flute Concerti ( Opus 10 ) คอนแชร์โต 6 บท เนื่องจากในช่วงเวลานั้น ฟลุ๊ตเป็นเครื่องดนตรีที่เริ่มได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย หลังจากที่ส่งผลงานชิ้นนี้ขายให้แก่โรงพิมพ์ที่อัมสเตอร์ดัมได้ไม่นาน วิวาลดีก็ได้รับคำสั่งจากบิดาให้เดินทางไปยังกรุงปร๊าก (ซึ่งในเวลานั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสเตรีย) ซึ่งที่กรุงปร๊ากนี้วิวาลดีได้ประพันธ์ผลงานประเภทโอเปร่าและแชมเบอร์มิวสิคหลายบท เพื่อเป็นอุปการคุณแด่ขุนนางออสเตรียหลายท่าน ต่อมาในปี ค.ศ.1731 วิวาลดีย้ายกลับมายังเวนิซ และวิวาลดีก็ยังคงทำงานให้แก่ Ospedale della Pieta อยู่ โดยตั้งแต่ปี ค.ศ.1735 เป็นต้นมา วิวาลดีได้รับค่าจ้างตายตัวจากสถาบันแห่งนี้เป็นเงิน 100 ducats ต่อปี

ในปี ค.ศ.1736 วิวาลดีเดินทางมาเปิดการแสดงโอเปร่าที่เมืองแฟร์ราร่า โดยการเชิญชวนและการอุปถัมภ์ของ มาร์ควิส กุยโด ดารากอญา เบนติโวกลิโอ (Marquis Guido d’Aragona Bentivoglio) วิวาลดีรู้จักกับมาร์ควิสท่านนี้ที่กรุงโรม เมื่อปี ค.ศ.1723 ท่านมาร์ควิสเป็นผู้ชื่นชอบการเล่นแมนโดลิน วิวาลดีจึงได้ประพันธ์แมนโดลินคอนแชร์โตจำนวนหนึ่ง อุทิศให้แด่ท่าน ทำให้ท่านมาร์ควิสชื่นชมวิวาลดีมาก จึงได้เชิญชวนวิวาลดีให้มาเปิดการแสดงโอเปร่า ในโรงละครที่เป็นธุรกิจของตระกูลของท่านในเมืองแฟร์ราร่า ซึ่งสถานการณ์ก็น่าจะไปได้ด้วยดี แต่ทว่าปัญหาใหญ่ที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อ พระคาร์ดินัล ทอมมาสโซ รูฟโฟ อาร์คบิชอปแห่งแฟร์ราร่า ( Cardinal Tommasso Ruffo , Archbishop of Ferrara ) ทราบว่าวิวาลดี ซึ่งยังคงมีสถานะเป็นพระสงฆ์อยู่ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ประกอบพิธีมิสซา และมีความสัมพันธ์ที่คลุมเครือกับนักร้องโอเปร่าสาว อันนา กิโร่ ท่านจึงมีบัญชาให้วิวาลดีปฏิบัติกิจของพระสงฆ์และตัดความสัมพันธ์กับอันนา กิโร่ เมื่อวิวาลดีไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ท่านพระคาร์ดินัลก็มีคำสั่งขับวิวาลดีออกจากเมือง ห้ามเข้าเมืองแฟร์ราร่าอีกต่อไป และให้ยกเลิกการแสดงโอเปร่าของวิวาลดีทุกเรื่องที่แสดงในเมืองแฟร์ราร่า

วิวาลดีอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว โดยในจดหมายที่มีไปยังท่านมาร์ควิส วิวาลดีได้บรรยายร้องทุกข์ว่า... “ ...ข้าแต่ ฯพณฯ ที่เคารพ ข้าพเจ้ามิได้ประประกอบพิธีได้ มิใช่ว่าเพราะข้าพเจ้าชราเกินไปหรือข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ต้องหาทุราจาร แต่เป็นเพราะสุขภาพของข้าพเจ้าที่ไม่แข็งแรงตั้งแต่เกิด ทำให้ข้าพเจ้าหายใจติดขัดไม่สะดวก ตอนที่ข้าพเจ้าบวชใหม่ ๆ ข้าพเจ้าเคยประกอบพิธีมิสซาอยู่เพียงปีเดียว และหลังจากนั้นก็ไม่ได้ทำอีกเลย เพราะมีถึงสามครั้งที่ข้าพเจ้าต้องละไปจากพระแท่นทั้ง ๆ ที่ยังไม่เสร็จพิธี เพราะข้าพเจ้าไออย่างรุนแรงและหายใจไม่ออกจนทนไม่ไหว ถึงแม้เวลาขณะนี้ที่ข้าพเจ้าจะเดินทางจากบ้านพักไปที่ไหน ๆ ความทุกข์ทรมานนี้ก็ทำให้ข้าพเจ้าไม่สามารถเดินได้ด้วยตนเอง ถ้าไม่เดินทางด้วยเรือก็ต้องอาศัยรถม้าหรือนั่งเกี้ยว นั่นล่ะคือเหตุผลที่ข้าพเจ้าไม่สามารถประกอบพิธีมิสซาได้...”

โดย: นิติกรฯ [3 ก.พ. 49 18:32] ( IP A:202.12.74.7 X: )
ความคิดเห็นที่ 8
   แต่อย่างไรก็ดี คำอุทธรณ์นี้ก็ไม่มีผลที่ดีขึ้น ...เพราะท่านมาร์ควิสไม่ได้นำคำร้องทุกข์นี้ไปเสนอต่อพระคาร์ดินัลแต่อย่างไร และท่านมาร์ควิสก็ถือโอกาสนี้ยกเลิกการสนับสนุนเงินทุนในการแสดงโอเปร่าของวิวาลดีในเมืองแฟร์ราร่า แต่สายสัมพันธ์ระหว่างวิวาลดีกับท่านมาร์ควิสก็ยังคงดีอยู่ และโอเปร่าของวิวาลดีสองเรื่อง คือ Siroe และ Farnace ก็ยังคงเปิดแสดงอยู่ จนกระทั่งเดือนมกราคม ค.ศ.1739 วิวาลดีมีจดหมายถึงท่านมาร์ควิสเพื่อตำหนิ “นักเล่นฮาร์ปซิคอร์ดห่วย ๆ” ที่มาจากสำนักดนตรีของท่านมาร์ควิสที่ทำให้การแสดงโอเปร่าของวิวาลดีเละไม่เป็นท่า เนื้อหาในจดหมายนั้นรุนแรงมากและเป็นการตัดสัมพันธ์ระหว่างวิวาลดีและท่านมาร์ควิสโดยสิ้นเชิง และ วิวาลดีไม่เดินทางไปยังเมืองแฟร์ราร่าอีกเลย

ในเดือนเมษายน ปี ค.ศ.1740 วิวาลดีตัดสินใจลาออกจากทุกตำแหน่งใน Ospedale della Pieta เพื่อเดินทางไปปักหลักยังกรุงเวียนนา ออสเตรีย พร้อมกับอันนา กิโร่ เหตุผลที่ทำให้วิวาลดีตัดสินใจไปเริ่มชีวิตใหม่ที่กรุงเวียนนา คือ

1.) ชื่อเสียงของวิวาลดีในเวนิซค่อนข้างอยู่ในช่วงขาลง มีนักดนตรีรุ่นใหม่ ๆ และโอเปร่าเรื่องใหม่ ๆ มาตีตลาดผลงานของวิวาลดีอยู่เรื่อย ๆ

2.) วิวาลดีคิดว่า สัมพันธภาพที่ดีในฐานะที่เขาได้รับความชื่นชมจากสมเด็จพระจักรพรรดิชาร์ลส์ที่ 6 มาโดยตลอด พระองค์น่าจะช่วยสนับสนุนเขาในเรื่องเงินและตำแหน่งคีตกรหลวงในราชสำนักออสเตรียได้และเขาคิดว่าน่าจะเป็นโอกาสอันดีที่จะได้สร้างคะแนนนิยมต่อองค์รัชทายาท คือ เจ้าหญิงมาเรีย เทเรซา และ เจ้าชาย ฟรานซ์ สเตฟาน ดุ๊คแห่งลอร์แรน เพื่อที่เขาจะได้มีที่พึ่งพิงในช่วงบั้นปลายชีวิต และ

3.) กรุงเวียนนาในเวลานั้น ได้กลายเป็นศูนย์กลางความเจริญของอิตาเลียนโอเปร่า มีนักประพันธ์ชาวอิตาเลียนหลายคนไปได้ดิบได้ดีในราชสำนักออสเตรีย

แต่โชคไม่ดีเลย เพราะในช่วงเวลานั้น ออสเตรียต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำเช่นเดียวกับหลายประเทศในยุโรป ทำให้การแต่งตั้งตำแหน่งใหม่ ๆ ในราชสำนักต้องถูกเลื่อนไปก่อน และในเดือนตุลาคม ค.ศ.1740 พระจักรพรรดิชาร์ลส์ที่ 6 ผู้เป็นความหวังเดียวของวิวาลดี เสด็จสวรรคตโดยกะทันหัน และองค์รัชทายาท พระนางมาเรีย เทเรซา ก็ไม่สนพระทัยในการดนตรีมากเท่าพระบิดา เพราะขณะนั้นพระองค์กำลังยุ่งอยู่กับปัญหาสงครามกับฝรั่งเศสและเยอรมัน ขณะนั้นวิวาลดีเองก็ค่อนข้างมีอายุมากแล้ว และไม่ได้ทำตัวให้พระองค์สนพระทัยมากสักเท่าไรนัก ดังนั้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ.1741 เมื่อตำแหน่งหัวหน้าคีตกรราชสำนักว่างลง พระนางจึงแต่งตั้งรองหัวหน้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคีตกรแทนทันที ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้วิวาลดีผิดหวังมาก
โดย: นิติกรฯ [3 ก.พ. 49 18:33] ( IP A:202.12.74.6 X: )
ความคิดเห็นที่ 9
    โน้ตเพลง "Juditha triumphans" ของ Vivaldi ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก

โดย: นิติกรฯ [3 ก.พ. 49 18:33] ( IP A:202.12.74.6 X: )
ความคิดเห็นที่ 10
   ขณะที่วิวาลดีพำนักอยู่ในกรุงเวียนนานั้น สุขภาพของเขาเริ่มเสื่อมโทรมลงมาก แต่เขาก็ยังคงรับจ้างพวกขุนนางชาวออสเตรียประพันธ์เพลงอยู่ และวิวาลดีคงไม่ทราบด้วยว่าตนเองใกล้ถึงวันสุดท้ายของชีวิตแล้ว เพราะจากบันทึกของเขาแสดงให้เห็นว่า วิวาลดียังคงมีนัดต้องพบกับ ขุนนางหลาย ๆ ท่านอยู่ในอีกหลายวัน เขายังประพันธ์เพลงค้างอยู่ และมีหลักฐานว่าเขากำลังเก็บเงินก้อนจำนวนหนึ่งเพื่อเตรียมจะย้ายออกจากรุงเวียนนา แต่ถึงอย่างไรก็ดี ในวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ.1741 วิวาลดีก็ถึงแก่กรรมโดยสงบ และได้รับการฝังที่สุสาน Spitaler Gottsacker กรุงเวียนนา พิธีฝังศพเป็นไปอย่างค่อนข้างเงียบเหงาและอนาถา ไม่มีใครมาร่วมงานนอกจากแม่บ้าน และอันนา กิโร่ ค่าใช้จ่ายในพิธีศพของ วิวาลดีเป็นเงิน 19 Florins 45 Kreutzens ในขณะที่พิธีศพของขุนนาง อย่างน้อยต้องใช้เงินราว 100 Florins !!!

ถึงแม้ว่าในช่วงที่มีชื่อเสียง วิวาลดีจะได้รับเงินค่าจ้างมากมายจากผลงานเพลง ก็ใช่ว่าเขาจะมั่งคั่งร่ำรวย เพราะวิวาลดีมีค่าใช้จ่ายสูงมาก หลัก ๆ ก็ได้แก่ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเปิดการแสดงโอเปร่าทั่วอิตาลี และบางครั้งต้องไปไกลถึงต่างประเทศ ทั้งกรุงอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ , กรุงปร๊าก , กรุงเวียนนา ออสเตรีย , ค่าเช่าที่พักเวลาไปค้างแรมต่างบ้านต่างเมืองเป็นปี ๆ และรวมถึงค่าจ้างแม่บ้านสองคน , ค่าจ้างแพทย์ประจำตัวและค่ายารักษาโรคประจำตัวของวิวาลดีที่เขาต้องทนทรมานตลอดทั้งชีวิต แค่นี้ก็มากพอที่จะทำให้เราเข้าใจได้ว่าทำไมบุคคลที่ครั้งหนึ่งเคยมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วยุโรป ได้รับการยกย่องจากพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของยุโรป เป็นเพื่อนกับบรรดาขุนนางและนักธุรกิจโรงละครมากมาย และมีเงินรายได้จำนวนไม่น้อย จึงได้สิ้นชีวิตลงอย่างอนาถาเยี่ยงนี้
โดย: นิติกรฯ [3 ก.พ. 49 18:33] ( IP A:202.12.74.8 X: )
ความคิดเห็นที่ 11
    ผลงานการประพันธ์ที่สำคัญของวิวาลดี

I. Instumental Works
- Sonate da Camera a tre , Opus 1
( 12 Sonatas for Duo Violins and Basso Continuo )
- Sonate a Violino e Basso per il Cembalo ,Opus 2
( 12 Sonatas for Solo Violin and Basso Continuo )
- L’Estro Armonico , Opus 3
( 12 Concerti Grossi for 1 or 2 or 4 Violins and Violoncello and Orchestra )
- La Stravaganza , Opus 4
( 12 Concerti for Solo Violin and Orchestra )
- Sonate a Solo Violino o Due Violini e Basso , Opus 5
( 6 Sonatas for Solo or Duo Violins and Basso Continuo )
- Violino Concerti , Opus 6
( 6 Concerti for Solo Violin and Orchestra )
- Concerti a cinque stromenti , Opus 7
( 12 Concerti for Solo Violin or Oboe and Orchestra )
- Il Cimento dell’Armonia e dell’Invenzione , Opus 8
( 12 Concerti for Solo Violin and Orchestra ; No.1-4 called “I Quattro Stagioni -The Four Seasons )
- Le Cetra , Opus 9
( 12 Concerti for Solo Violin and Orchestra )
- Concerti a Flauto Traverso , Opus 10
( 6 Concerti for Solo Flute and Orchestra )
- Violino Concerti , Opus 11
( 6 Concerti for Solo Violin and Orchestra )
- Violino Concerti , Opus 12
( 6 Concerti for Solo Violin and Orchestra )
- Il Pastor Fido , Opus 13
( 6 Sonatas for Solo Flute and Basso Continuo )

II. Sacred Music
- Magnificat , RV 610
- Beatus Vir , RV 597
- Gloria , RV 589
- Dixit Dominus , RV 594
- Juditha Triumphans devicta Holofernis , RV 644

III Opera
- Ottone in Villa , RV 729
- Orlando Furioso , RV 728
- Orlando Finto Passo , RV 727
- La Fida Ninfa , RV 714
- Griselda , RV 718
- L’Olimpiade , RV 725
- La Sena Festeggiante , RV 693.
โดย: นิติกรฯ [3 ก.พ. 49 18:34] ( IP A:202.12.74.5 X: )
ความคิดเห็นที่ 12
    ลายมือต้นฉบับของ Vivaldi จากเพลงร้อง (Aria) สำหรับนักร้องและวงเครื่องสาย

โดย: นิติกรฯ [3 ก.พ. 49 18:35] ( IP A:202.12.74.5 X: )
ความคิดเห็นที่ 13
    ลายมือต้นฉบับเพลง Concerto RV 120 ของ Vivaldi

โดย: นิติกรฯ [3 ก.พ. 49 18:35] ( IP A:202.12.74.8 X: )
ความคิดเห็นที่ 14
    ลายมือต้นฉบับเพลง "Giustino"

โดย: นิติกรฯ [3 ก.พ. 49 18:36] ( IP A:202.12.74.5 X: )
ความคิดเห็นที่ 16
    THE FOUR SEASONS (Le Quarttro Stagioni)
1. La Primavera : Spring
2. L’ estate : Summer
3. L’autunno : Autumn
4. L’inverno: Winter

ในศตวรรษที่ 18 นักดนตรีและนักแต่งเพลงผู้สามารถสะกดผู้ชมด้วยความสามารถที่ยอดเยี่ยมหนึ่งในนั้นนั่นคืออันโตนิโอ วิวัลดี คอเรลลี่ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น ‘บิดาแห่งคอนแชร์โต’ ได้กล่าวถึงวิวัลดีว่า‘ เมื่อเขาเล่นดนตรีใบหน้าจะบิดเบี้ยวนัยน์ตาจะกลายเป็นสีแดงดั่งเปลวเพลิง’ คอนแชร์โตบทนี้ประกอบด้วยเทคนิคที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งไม่เคยมีนักแต่งเพลงเพลงคนไหนเคยทำมาก่อนสำหรับไวโอลินคอนแชร์โต

ในบท La Primavera ซึ่งเป็นจุดเริ่มวัฎจักรแห่งฤดูกาลเมื่อฤดูใบไม้ผลิมาถึง เสียงนกที่ร้องเจื้อยแจ้วและเสียงน้ำไหล จนกระทั่งเมื่อพายุมาพร้อมกับเสียงฟ้าร้องระรัว บรรยากาศแบบชนบทหวนกลับคืนมาอีกครั้งด้วยเสียงเห่าของสุนัขเลี้ยงแกะอย่างช้าๆ และเสียงปี่พื้นเมือง Bagpipes จากบรรดาเด็กเลี้ยงแกะที่บรรเลงบทเพลงอย่างเพลิดเพลิน

L’ estate เริ่มต้นฤดูร้อนด้วยความอ่อนล้าจากแสงอาทิตย์ที่แรงกล้า และบรรเลงต่อเนื่องจนจบด้วยพายุฤดูร้อนที่พัดกระหน่ำอย่างรวดเร็ว ฤดูกาลของผลไม้ต่างๆ เริ่มต้นด้วยการเฉลิมฉลองด้วยไวน์ผลไม้ ก่อนจะล่องลอยเข้าสู่บรรยากาศแห่งความฝัน ที่ผู้มาร่วมฉลองต่างพักผ่อนก่อนที่จะออกล่าสัตว์ในตอนเช้าตรู่ รอยเท้าต่างๆ และเสียงฟันกระทบกันเนื่องจากความหนาว การนั่งรอบกองไฟ การลื่นล้มบนพื้นน้ำแข็ง สิ่งที่วิวัลดีได้ถ่ายทอดออกมาเหล่านี้คือบรรยากาศของความสนุกสนานในฤดูหนาวถ่ายทอดผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ ที่สร้างสรรค์ผ่านเสียงเพลงแห่งฤดูทั้งสี่ หรือ The Four Seasons

โดย: นิติกรฯ [3 ก.พ. 49 18:38] ( IP A:202.12.74.8 X: )
ความคิดเห็นที่ 17
    La Primavera

Giunt’e la primavera e festosetti
La salutan gl’augei con lieto canto,
e ifonti allo spirar de’zeffiretti
con dolce mormorio scorrono intanto.

Vengon’coprendo l’aer di nero ammanto
e lempi e tuoni ad annunziarla eletti;
indi tacendo questi, gl’augelletti
tornam di nuovo al lor canoro incanto.

E quindi sul fiorito ameno prato
al caro mormorio di fronde e piante
dorme’l caprai col fido can’a lato.

Di pastoral zampogna al suon festante
danzan nimfe e pastor nel tetto amato
di primavera all’apparir brilliante.

ฤดูใบไม้ผลิ

(Allegro)
ครั้นเมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิ
แสนปิติเหล่านกน้อยร้องเริงร่า
หิมะละลายลำธารไหลสายธารา
ช่างชุ่มชื่นชื้นอุราพาเย็นใจ

แม้จะมีอสุนีบาตและวายุ
เมฆดำคุคำรามพัดยอดไม้ไหว
แต่ก็เพียงผ่านมาและผ่านไป
เสียงใสใสเหล่าสกุณากลับร่าเริง

(Largo)
ทุ่งดอกไม้แสนอบอุ่นและหอมหวล
เหมือนเชิญชวนให้พักผ่อนใต้ร่มไม้
คนเลี้ยงแกะนอนเหยียดยาวดูหย่อนใจ
ข้างเขาไซร้มีสุนัขคอยเฝ้ารักและภักดี

(Allegro Pastorale)
แว่วเสียงปี่สก๊อตงานเทศกาล
ของชาวบ้านผู้เลี้ยงแกะน่าสนุกสนาน
เหล่าสาวงามเต้นร้องรำใจเบิกบาน
สุขสำราญฤดูใบไม้ผลิดีเหลือเกิน
โดย: นิติกรฯ [3 ก.พ. 49 18:39] ( IP A:202.12.74.7 X: )
ความคิดเห็นที่ 18
    L’Estate

Sotto dura staggioni dal sole accesa
lanque l’huom , lanque’ l gregge ed arde il pino,
scioglie il cucco la voce , e tosto intesa
canta la tortorella e ’l gardellino.

Zeffiro dolce spira , ma contesa
muove Borea improvvisa al suo vicino;
e piange il pastorel , perche sospesa
teme fiera borasca e ’l suo destino.
Toglie alle membra lasse il suo riposo
il timor de’lampi , e tuoni fieri
e de mosche e mosconi il stuol furioso!

Ah , che purtroppo i suoi timor son veri;
tuona e fulmina il ciel e grandinoso
tronca il capo alle spiche e a’ grani alteri.

ฤดูร้อน

(Allero non molto)
ฤดูร้อนช่างแสนน่าเบื่อหน่าย
แดดยามบ่ายร้อนอบอ้าวจนเหงื่อไหล
ชาวนาทำงานจนเพลียละเหี่ยใจ
ลมพัดใบสนสะบัดยอดโอนเอน

นกดุเหว่าร่ำร้องทำนองเพราะ
ฟังเสนาะหูนักรักสดใส
นกเขาคูร้องทักมาแต่ไกล
นกกระจิบไม้ร่วมร้องเพลงบรรเลงกัน

แต่ทันใดลมพายุโหมกระหน่ำ
ท้องฟ้าคล้ำพื้นเจิ่งน้ำฝนหลั่งไหล
ชาวเลี้ยงแกะหวาดผวากลัวจับใจ
แรงทำลายของพายุช่างน่ากลัว

(Adagio)
ชาวเลี้ยงแกะผูกเชือกสัตว์ไว้ให้แน่น
เพราะแสนกลัวลมพายุที่พัดผ่าน
ฟ้าผ่าร้องก้องเปรี้ยงเสียงสะท้าน
ครืนครั่นนานเนื่องอื้ออึงดั่งผึ้งรัง

(Presto)
อ้า...ดั่งที่กลัวไว้ว่าจะมีพายุ
ฟ้าทะลุด้วยแรงฝนชลหลั่งไหล
ฟ้าร้องแลบแปลบปลาบหวาบหวั่นใจ
ข้าวโพดในไร่โอนเอนเบนสู้ลม
โดย: นิติกรฯ [3 ก.พ. 49 18:40] ( IP A:202.12.74.8 X: )
ความคิดเห็นที่ 19
    L’Autunno

Celebra il villanel con balli e canti
del felice raccolto il bel piacere ,
e del liquor di Bacco accesi tanti
finiscono col sonno il lor godere.

Fa ch’ognuno tralasci e balli e canti
l’aria che temperata da piacere
e la staggioni che invita tanti e tanti
d’un dolcissimo sonno al bel godere.

i cacciator alla nov’alba a caccia
con corni , schioppi e cani escono fuore;
fugge la belva e seguono la traccia.

Gia sbigottita e lassa al gran rumore
de’ schioppi e cani , ferita minaccia
languida di fuggir , ma oppressa muore.

ฤดูใบไม้ร่วง

(Allegro)
พวกชาวนาพากันร้องรำทำเพลง
เมาครื้นเครงเก็บเกี่ยวดีมีพืชผล
พรแห่งเทพแบคคุสช่วยบันดล
ทั่วทุกคนต่างหลับใหลให้ฝันดี

(Adagio)
อากาศเย็นสบายแสนสดชื่น
หลับลืมตื่นคืนแห่งฝันช่างหอมหวาน
อยากนอนหลับสบายอย่างนี้อีกนานนาน
ลืมวันวานแห่งความหลังที่ฝังใจ

(Allegro)
อรุณรุ่งวันใหม่ไปล่าสัตว์
พากันนัดไปร่วมแรงกันดีไหม
อย่าลืมแตร ปืนและสุนัขคู่ใจ
ภาวนาไว้ให้ไล่ล่าหาสัตว์เจอ

ทำให้มันกลัวด้วยเสียงปืนและสุนัข
ไม่นานนักมันจะเพลียและเหนื่อยอ่อน
เมื่อมันล้าถ้ามันหนีเราคอยต้อน
และแน่นอนเราจะได้สัตว์สมดังใจ
โดย: นิติกรฯ [3 ก.พ. 49 18:40] ( IP A:202.12.74.5 X: )
ความคิดเห็นที่ 20
    L’Inverno

Agghiacciato tremar tra nevi algenti
al severo spirar d’orrido vento ,
corror battendo i piedi ogni momento
e per soverchio gel batter i denti;

passar al foco i di quieti e contenti
mentre la pioggia fuor bagna ben cento.
Camminar sopra’ l ghiaccio e a passo lento
Per timo di cader girsene intenti

Gir forte, sdrucciolar , cader a terra ,
Di nuovo ir sopra’ l ghiaccio e correr forte
sin ch’il ghiaccio si rompe e si dissera;

sentir uscir dalle ferrate porte
Sirocco , Borea e tutti i venti in guerra.
Quest’e l’inverno , ma tal che gioia apporte.

ฤดูหนาว

(Allegro non molto)
เย็นยะเยือกเกล็ดหิมะปลิวโปรยปราย
จนร่างกายสั่นสะท้านด้วยลมหนาว
เราต้องวิ่งรีบวิ่งไปก้าวยาวยาว
หนีลมหนาวเย็นจนฟันกระทบกัน

(Largo)
พอหมดวันฉันมานั่งหน้าเตาผิง
แสนสุขจริงนิ่งสงบเหมือนพบฝัน
ข้างนอกบ้านหิมะปรายเหมือนสายธาร
สุขสำราญเย็นชุ่มชื่นชื้นหัวใจ

(Allegro)
วันนี้ต้องเดินข้ามผ่านธารน้ำแข็ง
อย่าเดินแรงอาจลื่นล้มก้นจ้ำเบ้า
ถ้าวิ่งก็ลื่นกองกับพื้นได้นะเรา
เดินเบาเบาลุกขึ้นใหม่ใจเย็นเย็น

เวลาเดินระวังแผ่นน้ำแข็งแยก
เสียงเปรี๊ยะแตกห่างออกไปไม่ไกลหนา
ลมซิรอคโค ,โบเรีย พัดแรงมา
จากฟากฟ้านี่แหละหนาฤดูหนาวเอย
โดย: นิติกรฯ [3 ก.พ. 49 18:41] ( IP A:202.12.74.7 X: )
ความคิดเห็นที่ 21
   สุดยอดครับ
โดย: Dr.Violin [3 ก.พ. 49 18:41] ( IP A:202.12.74.7 X: )
ความคิดเห็นที่ 24
   บทประพันธ์ ฤดูทั้งสี่ (The Four Seasons) จัดเป็นเพลงคอนแชร์โต้สำหรับไวโอลินที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของ ANtonio Vivaldi เป็นผลงานลำดับที่ 8 (Opus 8-1725) ที่เขียนขึ้นตามคำกลอน Sonnet

บทประพันธ์ฤดูทั้งสี่ (The Four Seasons) ของดุริยกวีชาวอิตาเลี่ยน Vivaldi นั้นมีความไพเราะและเป็นเพลงคลาสสิกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวโดดเด่นชั้นดีเยี่ยม มีด้วยกัน 4 บท 4 ฤดูกาล แต่ละฤดูกาลจะกล่าวถึงเรื่องราวต่างๆ คือ

1. ฤดูใบไม้ผลิ Spring (La Primavera)
- Allegro เมื่อฤดูใบไม้ผลิมาถึง เสียงนก เสียงแมลงแสดงถึงความตื่นเต้น ดีใจ ร่าเริง สลับด้วยเสียงฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ให้เห็นถึงการตื่นตัวของธรรมชาติโดยมีเสียงน้ำไหลเอื่อยๆ ในลำธาร ประกอบชั่วขณะหนึ่งก็มีพายุมาทำลายความเงียบสงบนี้ หลังจากนั้นไม่นานพายุก็ผ่านพ้นไปและนกก็เริ่มร้องเพลงอีกครั้ง
- Largo เสียงเพลงบรรยายให้นึกถึงภาพดอกไม้บาน คนเลี้ยงแกะกำลังนอนหลับในบ้าน และได้ยินเสียงเห่าของสุนัขผู้ซื่อสัตย์ของเขา ที่เฝ้าบ้านและคอยระวังฝูงแกะ
- Allegro (Danza pastorale) เสียงแหบของปี่สก๊อต การร้องรำทำเพลงของคนเลี้ยงแกะชายและหญิง เพื่อต้อนรับฤดูใบไม้ผลิที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้านี้

2. ฤดูร้อน Summer (L’ estate)
- Allegro non molto เสียงเพลงเริ่มต้นด้วยความอิดโรยและอ่อนล้าของฤดูกาล ความร้อนใต้แสงอาทิตย์ ต่อมาจึงถูกปลุกให้ตื่นขึ้นด้วยเสียงนกคุกคู (นกกาเหว่า) ตามมาด้วยเสียงนกเขา และเสียงลมตะวันตก ลมเหนือที่พัดโชย ซึ่งถูกขัดขึ้นมาด้วยเสียงที่รุนแรง กระแสลมได้อ่อนตัวลงและเราได้ยินเสียงคร่ำครวญของคนเลี้ยงแกะ
- Adagio-Presto-Adagio ในช่วงจังหวะช้านี้นำมาซึ่งความสงบแต่ก็มีเสียงฟ้าร้อง ฟ้าผ่าอันน่ากลัวและคลอเคล้ากับเสียงอื้ออึงของเหล่าแมลงต่าง ๆ มากมายทั้งมดและตัวหนอน
- Presto (Tempo impettuoso d’ estate) ความกลัวเริ่มจางหายไป ข้าวโพดพืชผักต่าง ๆ งอกงาม ลีลาในช่วงนี้นำมาซึ่งพายุฤดูร้อนที่กำลังจะพัดมาถึง

3. ฤดูใบไม้ร่วง Autumn (L’autunno)
- Allegro (Ballo, e canto de’ villanelli) เสียงเพลงบรรยายด้วยเพลงเต้นรำชนบท เพื่อเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวพืชผลที่สุกใหม่ มีการกินเลี้ยงกันอย่างมากมาย การเต้นรำร้องเพลงของขี้เมา ความสุขจบลงจนหลับ
- Adagio molto (Ubriachi dormienti) ทุกคนสนุกสนาน ร้องเพลงเต้นรำจนหมดแรงและผลอยหลับไปด้วยความสุข
- Allegro (La caccia) การออกล่าสัตว์ยามรุ่งอรุณ เสียงแตรจากคนล่าสัตว์ เสียงเห่าของสุนัขของคนล่าสัตว์และเสียงปืน เสียงของแนวไวโอลินในช่วงเดี่ยวนี้ใช้เป็นตัวแทนของสัตว์ที่ถูกล่า ซึ่งวิ่งหนีด้วยความกลัวและตายลงด้วยความเหนื่อยอ่อนจากความตื่นตระหนก

4. ฤดูหนาว Winter (L’ inverno)
- Allegro non molto เปิดแนวทำนองด้วยความหนาวเย็นยะเยือกของสายลมแห่งฤดูหนาวมาเยือน หิมะจับตัวเป็นน้ำแข็ง ลมหนาวพัดผ่านหนาวจากเท้าสู่ศีรษะ
- Largo บรรยายบรรยากาศอันอบอุ่นรอบเตาผิงที่อยู่กันอย่างสงบสุข มองไปยังภายนอกก็ยังคงมีสายฝนตกอยู่อย่างไม่ขาดสาย
- Allegro ลีลาของเพลงในช่วงนี้แสดงถึงความร่าเริงเบิกบานและความกลัวอันตรายจากการเดินฝ่าไปบนน้ำแข็งด้วยความระมัดระวังกลัวลื่นหกล้ม ก็ยังพลาดล้มลง แต่ก็ได้พยายามลุกขึ้นเดินใหม่ได้ และสามารถวิ่งได้อย่างรวดเร็ว จนกระทั่งน้ำแข็งแตก เราได้ยินเสียงลมมาจากทุกทิศทุกทาง โหมกระหน่ำ ความสว่างจากหิมะสะท้อนท้องฟ้านำมาซึ่งความสุขในฤดูหนาวนี้

ที่มา :
https://manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9520000099792
โดย: - [2 ก.ย. 52 8:36] ( IP A:202.29.144.2 X: )
ความคิดเห็นที่ 25
    Antonio Vivaldi
https://www.pantown.com/board.php?id=13220&area=4&name=board3&topic=31&action=view
โดย: - [2 ก.ย. 52 8:37] ( IP A:202.29.144.2 X: )

คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน