Goldberg Variations BWV 988
    Goldberg Variations BWV 988
Goldberg Variations เป็นเพลงแปรเปลี่ยนท่วงทำนอง (Variation) จำนวน 30 เพลงสำหรับฮาร์พสิคอร์ด ประพันธ์โดย Johann Sebastian Bach ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1741 เป็นผลงานลำดับที่ 4 ของงานเพลงชุดที่ชื่อว่า Clavier-Ubung, (Keyboard practice) ผลงานชุดนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในงานเพลงที่สำคัญที่สุดของคีตลักษณ์แบบ Variation form โดยตั้งชื่อตาม Gottlieb Goldberg ซึ่งอาจเป็นนักดนตรีคนแรกที่นำผลงานชุดนี้มาบรรเลง

ประวัติของเพลง
ประวัติของเพลง Variation ชุดนี้ มาจากหนังสือชีวประวัติของ Bach ที่เขียนโดย Johann Nikolaus Forkel ซึ่งบันทึกไว้ว่า “การแต่งเพลงเพลงชุดนี้ เราต้องขอขอบคุณคำแนะนำของท่านฑูตรัสเซียคนก่อนแห่งราชสำนัก Saxony นั่นคือท่านเคานท์ Count Kaiserling ซึ่งมักจะแวะมาที่ Leipzig พร้อมกับ Goldberg เพื่อมารับคำแนะนำด้านดนตรีจาก Bach ท่านเคานท์มักจะป่วยอยู่เสมอๆ และนอนไม่ค่อยหลับในเวลากลางคืน และในเวลาเช่นนี้เอง Goldberg ซึ่งอาศัยอยู่ในบ้านจะเล่นดนตรีขับกล่อมในเวลาที่ท่านนอนไม่หลับ อยู่มาวันหนึ่ง ท่านเคานท์ได้กล่าวกับ Bach ว่าอยากได้เพลงสำหรับเครื่องดนตรีคลาเวียร์ สำหรับให้ Goldberg เล่น และควรเป็นเพลงที่นุมนวลมีชีวิตชีวา เพื่อที่จะทำให้ท่านรู้สึกดีขึ้นในคืนที่นอนไม่หลับ

Bach คิดว่าตัวเองคือคนที่เหมาะสมที่สุดที่จะเติมเต็มความปรารถนาอันนั้นด้วยเพลง Variation ต่างๆ แม้สิ่งที่เขาเขียนขึ้นในช่วงนั้นจะถือเป็นเพลงที่น่าเบื่อ เป็นเพียงการใช้ทำนองซ้ำไปซ้ำมาเท่านั้น แต่เมื่องานของเขาได้กลายเป็นต้นแบบทางศิลปะดนตรี ซึ่งรวมถึงเพลง Variation ชิ้นนี้ แม้จะเป็น Variation เพียงชิ้นเดียวที่เขาเขียนขึ้นก็ตาม หลังจากนั้นท่านเคานท์จะเรียกหาเพลง Variation ของท่านอยู่เสมอ ท่านไม่เคยเบื่อที่จะฟังเพลงนี้เลย และในค่ำคืนที่นอนไม่หลับนั้น ท่านกล่าวว่า “Goldberg ที่รัก โปรดเล่นเพลง Variation ของฉันสักเพลงเถิด” และดูเหมือนว่า Bach จะไม่เคยได้รับรางวัลจากผลงานของเขามากเท่านี้มาก่อนเลย ท่านเคานท์ได้มอบแก้วเหล้าทองคำที่บรรจุเหรียญทอง 100 เหรียญ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม แม้ว่าเขาจะได้รับรางวัลมากกว่านี้สักพันเท่าก็ตาม แต่คุณค่าทางศิลปะของมันมีมากกว่าจนไม่สามารถหาสิ่งได้มาตอบแทนได้”
โดย: palm [18 เม.ย. 52 8:00] ( IP A:202.12.73.18 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
ความคิดเห็นที่ 1
   Forkel เขียนชีวประวัติของ Bach ในปี 1802 แต่หลังจากที่ผ่านไป 60 กว่าปี คำถามถึงความถูกต้องในข้อมูลดังกล่าวจึงเกิดขึ้น ความน่าสงสัยในคำอุทิศที่อยู่บนแผ่นหน้าของโน้ตเพลงซึ่งเขียนว่า "Aria with Diverse Variations" ยิ่งมีส่วนทำให้เรื่องนี้น่าสงสัยยิ่งขึ้น เพราะถ้าเป็นผลงานของ Bach จริง อายุของ Goldberg ในช่วงที่เพลงนี้ถูกตีพิมพ์จะมีอายุเพียง 14 ปีเท่านั้น ซึ่งเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เป็นข้อสงสัยในงานเขียนของ Forkel แม้ว่าเขาจะเป็นที่รู้จักในฐานะนักคีย์บอร์ดที่มีชื่อเสียงก็ตาม และผลการศึกษาวิจัยล่าสุดโดย Peter Williams นักคีย์บอร์ดและผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติของ Bach ได้โต้แย้งว่า งานเขียนของ Forkel เป็นของปลอมทั้งหมด

เพลง Aria ที่นำทำนองหลักมาดัดแปลงเป็น Variation ต่างๆ นั้น Arnold Schering กล่าวว่า ผลงานชิ้นนี้ไม่ได้เป็นงานเขียนของ Bach แต่ผลการศึกษาล่าสุด เช่นงานวิจัยของ Christoph Wolff นักดนตรีวิทยาชาวเยอรมัน กล่าวว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะมาตั้งข้อสงสัยในงานของ Bach ชิ้นนี้

โดย: palm [18 เม.ย. 52 8:06] ( IP A:202.12.73.18 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
    การตีพิมพ์
เพลง Goldberg variations เป็นงานที่ต่างจากผลงานอื่นๆ ของ Bach เพราะเป็นหนึ่งในผลงานเพลงจำนวนไม่มากนักที่ได้รับการตีพิมพ์ในช่วงที่ Bach ยังมีชีวิตอยู่ ได้รับการพิมพ์เผยแพร่ในปี 1741 ผู้ที่ตีพิมพ์คือ Balthasar Schmid แห่ง Nuremberg เพื่อนของเขานั่นเอง Schmid ตีพิมพ์งานชิ้นนี้โดยใช้แม่พิมพ์โลหะทองแดงแทนการใช้แม่พิมพ์แบบตัวเรียงพิมพ์ ดังนั้นโน้ตที่ตีพิมพ์ในครั้งแรกจึงเป็นลายมือของเขาเอง ซึ่งมีหลายจุดที่พิมพ์ผิด ใบปะหน้า มีข้อความเป็นภาษาเยอรมันดังนี้

Clavier Ubung / bestehend / in einer ARIA / mit verschiedenen Veraenderungen / vors Clavicimbal / mit 2 Manualen. / Denen Liebhabern zur Gemuths- / Ergetzung verfertiget von / Johann Sebastian Bach / Konigl. Pohl. u. Churfl. Saechs. Hoff- / Compositeur, Capellmeister, u. Directore / Chori Musici in Leipzig. / Nurnberg in Verlegung / Balthasar Schmids

หมายถึง “แบบฝึกหัดคีย์บอร์ด ประกอบด้วยเพลง ARIA ที่มี Variation ต่างๆ ของฮาร์พสิคอร์ดและ Manual (คีย์บอร์ดแบบ 2 ชั้น ไม่มี Pedal) ประพันธ์ขึ้นสำหรับนักดนตรีในระดับสูง เพื่อกระตุ้นจิตวิญญาณของพวกเขาให้เบิกบาน เป็นผลงานที่ประพันธ์โดย Johann Sebastian Bach คีตกวีแห่งราชสำนักโปแลนด์ และราชสำนัก Electoral court of Saxony ผู้เป็น Kapellmeister (ผู้ดูแลการสร้างสรรค์ดนตรี) และผู้จัดการดนตรีวงขับร้องประสานเสียง Choral Music แห่งเมือง Leipzig โดยมี Balthasar Schmid แห่งเมือง Nuremberg เป็นผู้ตีพิมพ์”

คำขึ้นต้นที่เขียนว่า "Clavier Ubung" (ปัจจุบันจะเขียนว่า "Klavier Ubung") Bach เขียนไว้นั้น มีบางคนเชื่อว่า Bach ต้องการจะให้ Variation เหล่านี้เป็นลำดับที่ 4 ซึ่งเป็นสำดับสุดท้ายในชุดงานเพลงสำหรับคลาเวียร์ (Clavier) ออร์แกน และฮาร์พสิคอร์ด (งานชุดแรกคือ Partita 6 บท ชุดที่ 2 เป็น Italian Concerto และ French Overture และชุดที่ 3 เป็น Chorale prelude สำหรับออร์แกนที่อยู่ในรูปของ Prelude and fugue in E-flat major) แต่เนื่องจาก Bach ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนไว้ว่าต้องการให้เพลง Variation ชุดนี้เป็นผลงานในลำดับที่ 4 ของชุด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันต่อไป

ปัจจุบันโน้ตเพลงชุดนี้ตกทอดมาจนถึงปัจจุบันจำนวน 19 ชุด ชุดที่มีค่าที่สุดคือชุดที่มีชื่อว่า "Handexemplar" ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่ Bibliotheque nationale de France กรุงปารีส ที่มีลายมือแก้ไขและอรรถาธิบายโดยตัวคีตกวีเอง รวมทั้งภาคผนวก และ Canon จำนวน 14 บทที่ดัดแปลงจากโน้ตเบส 8 ตัวแรกของท่อน Aria ในผลงานลำดับที่ BWV 1087

สำเนาโน้ตเพลงเหล่านี้ให้ข้อมูลที่ประโยชน์อย่างแท้จริงต่อนักดนตรีในรุ่นหลังที่ต้องการศึกษาเจตนาของ Bach แม้ว่าโน้ตที่เป็นลายมือต้นฉบับจะสูญหายไปแล้วก็ตาม แต่มีการค้นพบโน้ตท่อน Aria ที่ Anna Magdalena Bach ทำการคัดลอกไว้ในสมุดบันทึกปี 1725 ของเธอ ซึ่ง Christoph Wolff ได้ศึกษาจากลายมือของ Anna แล้วพบว่า เธอคัดลอกมาจากโน้ตเพลงต้นฉบับที่เป็นลายมือของ Bach เองในช่วงราวๆ ปี 1740 ซึ่ง 2 หน้าที่อยู่ก่อนหน้านั้นเป็นหน้าเปล่าๆ ไม่มีโน้ต
โดย: palm [18 เม.ย. 52 8:09] ( IP A:202.12.73.18 X: )
ความคิดเห็นที่ 4
    คีตลักษณ์
ตามที่ได้กล่าวถึงเพลง Aria นี้ว่า มีด้วยกันทั้งหมด 30 Variation ซึ่งแต่ละบทต่างๆ มีท่วงทำนองที่ไม่ได้อาศัยทำนองหลักของ Aria แต่จะใช้แนวเบส (Bass) และ Chord progression เนื่องจากมักจะกล่าวกันว่าเพลงชุดนี้เป็นการประพันธ์แบบ Chaconne ความแตกต่างก็คือทำนองหลักของ Chaconne มักจะใช้เพียงท่วงทำนองที่ยาวถึง 4 ห้อง ในขณะที่เพลง Aria ของ Bach แบ่งเป็น 2 ส่วน มี 16 ห้อง และเล่นซ้ำอีกรอบหนึ่ง Ralph Kirkpatrick ได้เขียนหมายเหตุในท่วงทำนองเบสเอาไว้ดังนี้

โดย: palm [28 เม.ย. 52 12:28] ( IP A:202.12.73.18 X: )
ความคิดเห็นที่ 6
   ตัวเลขเหนือตัวโน้ตแสดงถึงคอร์ดในระบบ Figured bass ที่สัมพันธ์กับโน้ตเบส ระบบ Figured bass มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ Basso continuo เป็นการบรรเลงดนตรีประกอบ (Accompaniment) นิยมใช้ในดนตรียุค Baroque ทุกประเภท แต่พบน้อยมากในดนตรีสมัยใหม่ (Modern music) ซึ่งแยกตัวเลขโดยเครื่องหมายจุลภาค (ลูกน้ำ) เพื่อแสดงถึงทางเลือกในการแปรเปลี่ยนท่วงทำนองที่แตกต่างออกไป

Goldberg Variations เป็นผลงานเพลงเดี่ยวขั้นสูงสำหรับคีย์บอร์ด ซึ่งในสมัยนั้นใช้ฮาร์พซิคอร์ด ประกอบด้วยทำนองหลัก และการแปรทำนอง 30 ครั้ง ซึ่งถูกจัดเป็น10 กลุ่มๆ ละ 3 ชุด โดยการแปรชุดสุดท้ายของแต่ละกลุ่มจะเป็นแคนอน (Canon) ที่มีรูปแบบท่วงทำนองที่วิ่งไปหาโน้ตที่สูงขึ้น ซึ่ง Variation 3 ก็คือ Canon ที่เป็น Unison ส่วน Variation 6 เป็น Canon ในคู่ 2 (Major second) ใน Variation 9 เป็น Canon คู่ 3 (Minor third) และดำเนินเรื่อยไปจนถึง Variation 27 ซึ่งเป็น Canon ในคู่ 9 (Major sixth) ส่วน Variation สุดท้ายนั้น แทนที่จะเป็น Canon คู่ 10 (Minor seventh) แต่กลับเป็น Quodlibet (เพลงที่ประกอบด้วยท่วงทำนองที่หลากหลาย)

สำหรับช่วงทำนองหลักของ Goldberg Variations อยู่ในสังคีตลักษณ์สองตอนแบบธรรมดา ท่อน A ( ห้องที่ 1-16 ) และท่อน B ( ห้องที่ 17-23 ) ยาว 16 ห้องเท่ากัน สัดส่วนสมดุลกัน โครงสร้างของเสียงประสานก็เป็นไปตามหลักของสังคีตลักษณ์สองตอน กล่าวคือ ในตอน A เริ่มด้วยกุญแจเสียง Tonic และเปลี่ยนเป็นกุญแจเสียง Dominant ในช่วงท้ายของตอน A เมื่อเข้าสู่ตอน B กุญแจเสียงจะเปลี่ยนไปเป็นกุญแจเสียงสัมพันธ์ จนกระทั่งถึงช่วงใกล้จบตอน B กุญแจเสียงจึงกลับเข้าสู่กุญแจเสียง Tonic นอกจากนี้ในแต่ละตอนยังมีเครื่องหมายซ้ำซึ่งเป็นลักษณะปกติของสังคีตลักษณ์สองตอน

บทประพันธ์เพลง Goldberg Variations อยู่ในกุญแจเสียง G major ในตอน A ของช่วงทำนองหลักเริ่มจากกุญแจเสียง G major ซึ่งเป็นกุญแจเสียงโทนิก แล้วเข้าสู่กุญแจเสียง D major ซึ่งเป็น Dominant ในช่วงท้ายของตอน A โดยเริ่มมีการเตรียมการเปลี่ยนกุญแจเสียงตั้งแต่ห้องที่ 9 สังเกตได้จากโน้ต C# ที่เริ่มเข้ามามีบทบาท และเมื่อจบตอนแรกจะได้ยินเคเดนซ์ปิดแบบสมบูรณ์อย่างชัดเจนในกุญแจเสียง D เมเจอร์ หลังจากเครื่องหมายซ้ำ ตอน B ก็เริ่มด้วยกุญแจเสียง Dominant D major และก่อนที่จะกลับเข้าสู่กุญแจเสียง G major มีการเปลี่ยนกุญแจเสียงเป็น E minor ในห้องที่ 19 และ A minor ในห้องที่ 25 ความสัมพันธ์ระหว่างกุญแจเสียงทั้งสองก็คือ E minor เป็น Dominant ของ A minor การใช้ A minor ซึ่งเป็นกุญแจเสียง Supertonic ของ G major

หากพิจารณาทำนองเพลงจะพบว่า หน่วยทำนองย่อยเอกมีโครงสร้างลักษณะจังหวะที่คล้ายคลึงกันโดยตลอด กล่าวคือ มีการใช้โน้ตประจุดและการแปรรูปลักษณะจังหวะของโน้ตประจุดซึ่งได้ยินชัดเจน โครงสร้างของทำนองในช่วงทุก 2 ห้องอยู่ในรูปของขั้นคู่เพอร์เฟค จากการที่รูปประโยคมีโครงสร้างทำนองเป็นขั้นคู่เพอร์เฟคเช่นนี้จึงอาจวิเคราะห์ได้ว่าประโยคเพลงมีความยาว 2 ห้องโดยตลอดเช่นกัน ดังนั้นเพลงนี้ซึ่งประกอบด้วย 32 ห้อง จึงมี 16 ประโยคๆ ละ 2 ห้อง
ในแง่ของเนื้อดนตรีจะพบว่า เนื้อดนตรีเริ่มจากบางๆ และหนาขึ้นตามลำดับ

การที่ Bach วางแนวความคิดไว้เช่นนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เพลงดำเนินไปข้างหน้า โดยเฉพาะในช่วง 3 ประโยคสุดท้าย (ห้องที่ 27-32) นอกจากจะมีการเพิ่มความหนาของเนื้อดนตรีแล้วยังใช้การประสานเสียงด้วยวงจรคู่ห้าซึ่งทำให้เพลงน่าสนใจมากขึ้น

ตามที่ Ralph Kirkpatrick ได้กล่าวไว้นั้น ท่อน Variation ที่คั่นด้วย Canon ต่างๆ ถูกเรียบเรียงขึ้นเป็นแบบแผน ถ้าเรานำตอนต้นและตอนจบของเพลงออก (โดยเฉพาะ Aria ท่อน Variation 2 บทแรก Quodlibet และท่อน Aria da Capo) ส่วนที่เหลือจะถูกเขียนขึ้นดังต่อไปนี้คือ Variation ต่างๆ ที่อยู่ถัดจาก Canon ถูกเขียนขึ้นตามแบบแผนของเพลงในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เช่น เป็นเพลงเต้นรำยุค Baroque 3 เพลง (Variation ที่ 4, 7, 19) เพลง Fughetta (Variation ที่ 10) เพลง French overture (Variation ที่ 16) และเพลง Ornate aria สำหรับมือขวา (Variation ที่ 13, 25) ซึ่ง Variation ต่างๆ จะถูกวางไว้ 2 เพลงหลัง Canon 1 เพลง (Variation ที่ 5, 8, 11, 14, 17, 20, 23, 26, 29) ซึ่ง Kirkpatrick เรียกว่า "Arabesques" ที่มีการแปรเปลี่ยนในเรื่องของความเร็ว (Tempo) ด้วยการเน้นการเล่นไขว้มือ การจัดเรียงรูปแบบดังกล่าวคือ Canon - เพลงประเภทต่างๆ - Arabesques ซึ่งจะมีการซ้ำทั้งหมด 9 ครั้งจนกระทั่งปิดท้ายด้วย Quodlibet

ในท่อนจบของ Variation 30 Bach ได้เขียน Aria da Capo e fine ซึ่งหมายถึงให้นักดนตรีย้อนกลับไปเล่นตอนต้นใหม่ ("da capo") และเล่น Aria ซ้ำอีกครั้งก่อนจบเพลง
โดย: palm [28 เม.ย. 52 12:53] ( IP A:202.12.73.18 X: )
ความคิดเห็นที่ 7
    The Variations
Aria
Aria บทนี้มีลีลาแบบ Sarabande (เพลงเต้นรำในจังหวะ 3/4) และมีท่วงทำนองที่เน้นลูกเล่นแพรวพราว

สีสันของเพลงในแบบฝรั่งเศสทำให้ลูกเล่นเหล่านี้ดูจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของทำนอง แต่นักดนตรีบางคน เช่น Wilhelm Kempff ซึ่งบรรเลงโดยใช้เปียโน ละเว้นลูกเล่นบางส่วนหรือทั้งหมดของเพลง แต่นำเสนอเพลง Aria โดยปราศจากลูกเล่นใดๆ

Peter Williams กล่าวถึง Goldberg Variations ของ Bach ไว้ว่า Aria เพลงนี้ไม่ใช่ทำนองหลักของ Variation แต่อย่างใด แต่เป็น Variation บทแรก โดยมองว่าแนวความคิดของเพลงนี้มีลีลาแบบ Chaconne มากกว่าที่จะเป็นรูปแบบของ Variation form

โดย: palm [28 เม.ย. 52 12:57] ( IP A:202.12.73.18 X: )
ความคิดเห็นที่ 8
    Variatio 1. a 1 Clav.
Variation ที่สนุกสนานบทนี้มีความแตกต่างกับท่อนช้าของทำนองหลัก จังหวะของมือขวาจะเน้นจังหวะที่ 2 (Syncopation) ตั้งแต่ห้องที่ 1 – 7 การเล่นไขว้มือในห้องที่ 13 จากโน้ตเสียงสู่โน้ตเสียงต่ำ Syncopation กลับมาอีกครั้งใน 2 ห้องถัดมา ส่วน 2 ห้องแรกของทำนอง B นั้น จังหวะจะเล่นล้อตอนต้นของทำนอง A แต่ต่อจากนั้นได้เปลี่ยนไปใช้เทคนิคการประพันธ์อื่นๆ แทน

Peter Williams มองว่านี่คือรูปแบบของ Polonaise ลักษณะจังหวะของมือซ้าย ซึ่งพบในเพลง Partita No. 3 for solo violin ของ Bach เช่นกัน และท่อน Prelude ในบันไดเสียง A-flat major จาก The Well-Tempered Clavier Book I รวมทั้ง Prelude ในบันไดเสียง D minor ใน The Well-Tempered Clavier Book II อีกด้วย

Variatio 2. a 1 Clav.
เป็นเพลงง่ายๆ ที่มี 3 ท่อนที่แตกต่างกันในจังหวะ 2/4 โดยเสียงสองเสียงจะดำเนินไปอย่างสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอเหนือแนวเบสที่ดำเนินอย่างต่อเนื่อง ตัวเพลงเกือบจะเป็นฉันทลักษณ์แบบ Canon แต่ละส่วนมีท่อนจบที่แตกต่างกันหลังจากเล่นซ้ำครั้งแรกและครั้งที่สอง

Variatio 3. a 1 Clav. Canone all’ Unisono
เป็น Canon บทแรกของ Variation ชุดนี้ และเป็น Canon ที่ใช้ระดับเสียงเดียวกัน ทำนองที่เล่นตามเริ่มด้วยโน้ตตัวเดียวกับทำนองที่เล่นนำ โดยเล่นตามหลัง 1 ห้อง ซึ่ง Canon ทุกบทใน Variation ชุดนี้ (ยกเว้น Variation เพลงที่ 27 ซึ่งเป็น Canon เพลงที่ 9) จะมีโน้ตทำนองเบสบรรเลงคลอ เพลงนี้แต่งในจังหวะ 12/8 และมีการใช้กลุ่มโน้ต 3 พยางค์ (Triplet note) หลายชุดที่ชวนให้นึกเพลงเต้นรำแบบง่ายๆ
โดย: palm [28 เม.ย. 52 12:58] ( IP A:202.12.73.18 X: )
ความคิดเห็นที่ 9
    Variatio 4. a 1 Clav.
เพลงนี้มีท่วงทำนองแบบ Passepied (เพลงเต้นรำในยุค Baroque) แต่งในจังหวะ 3/8 โดยเน้นจังหวะโน้ตเขบ็จ ซึ่ง Bach จะทำให้ใกล้เคียงแต่ไม่ใช่การเลียนแบบเสียทีเดียว โดยรูปแบบทางดนตรีในแต่ละท่อนจะปรากฎขึ้นในอีก 1 ห้องถัดมาในรูปแบบที่ต่างกัน การซ้ำในแต่ละท่อนจะมีตอนจบที่แตกต่างกันในการซ้ำรอบแรกหรือรอบที่สอง

โดย: palm [28 เม.ย. 52 13:00] ( IP A:202.12.73.18 X: )
ความคิดเห็นที่ 10
    Variatio 5. a 1 o vero 2 Clav.
เป็นเพลงแรกที่มีการเล่นไขว้มือ มี 2 ทำนองประสานกัน (Two-part variations) ในจังหวะ 3/4 ซึ่งทำนองที่เร็วจะเขียนให้เด่นกว่าเป็นโน้ตเขบ็จ 2 ชั้น บรรเลงประสานโดยอีกทำนองหนึ่งซึ่งใช้โน้ตที่มีอัตราจังหวะยาวกว่าที่มีลักษณะกระโดดไปมา เทคนิคการเล่นการไขว้มือแบบอิตาเลียนถูกนำมาใช้ในเพลงนี้ โดยที่มือข้างหนึ่งจะเคลื่อนไปมาระหว่างโน้ตเสียงสูงและเสียงต่ำ ส่วนมืออีกข้างหนึ่งจะอยู่ตรงกลางๆ ของคีย์บอร์ดเพื่อเล่นทำนองที่เร็ว

โดย: palm [28 เม.ย. 52 13:02] ( IP A:202.12.73.18 X: )
ความคิดเห็นที่ 13
    Variatio 6. a 1 Clav. Canone alla Seconda
Variation ลำดับที่ 6 มีฉันทลักษณ์แบบ Canon (เป็น Canon เพลงที่ 2) โดยทำนองที่ตามมาจะเริ่มด้วยคู่เสียง Major second ที่สูงกว่าทำนองแรก แต่งโดยใช้บันไดเสียงที่ไล่ลง เพลงนี้อยู่ในจังหวะ 3/8

Ralph Kirkpatrick นักฮาร์พสิคอร์ดกล่าวว่า “เพลงนี้ให้อารมณ์ของความคิดถึงที่อ่อนโยนเป็นอย่างมาก” แต่ละท่อนมีตอนจบที่ต่างกันในการซ้ำเที่ยวแรกและเที่ยวที่สอง

Variatio 7. a 1 ô vero 2 Clav. al tempo di Giga
ในโน้ตเพลง Goldberg Variations ของ Bach เอง เขาได้ระบุว่าเป็นเพลงเต้นรำในจังหวะ 6/8 ที่ควรเล่นในจังหวะ al tempo di Giga (เพลงเต้นรำในยุค Baroque) ที่มีชีวิตชีวา เมื่อมีการค้นพบโน้ตต้นฉบับของ Bach ในปี 1974 แผ่นเสียงในยุคแรกๆ ที่เคยบันทึกเพลงนี้ด้วยจังหวะที่ช้า แบบ Loure (เพลงเต้นรำยุค Baroque แบบฝรั่งเศสในจังหวะช้า) หรือ Siciliana (เพลงเต้นรำยุค Baroque ในจังหวะ 6/8 หรือ 12/8 มักแต่งในบันไดเสียงไมเนอร์) จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ซึ่งยังพบในแผ่นเสียงที่บันทึกหลังปี 1974 ที่เล่นโดย Glenn Gould, Wilhelm Kempff และ Angela Hewitt ฯลฯ

รูปแบบจังหวะโน้ตประจุดของ Variation เพลงนี้ ค่อนข้างคล้ายคลึงกับ ท่อน Gigue ในเพลง French suite เพลงที่ 2 ของ Bach และท่อน Gigue ในเพลง French Overture ซึ่งทั้งสองเพลงนั้น แนวทำนองเบสและทำนองหลักจะมีสีสันและลูกเล่นมากมาย

โดย: palm [28 เม.ย. 52 13:10] ( IP A:202.12.73.18 X: )
ความคิดเห็นที่ 14
    Variatio 8. a 2 Clav.
เพลง Variation 2 แนวเล่นไขว้มืออีกเพลงหนึ่ง อยู่ในจังหวะ 3/4 การไขว้มือในแบบฝรั่งเศสถูกนำมาใช้ในเพลงนี้ โดยทั้ง 2 แนวจะเล่นในระดับเสียงเดียวกัน มือข้างหนึ่งจะเล่นอยู่ด้านบน ส่วนอีกมือหนึ่งจะเล่นอยู่ด้านล่าง ถ้าเล่นด้วยฮาร์พสิคอร์ด 2 ตอนจะง่ายกว่า แต่ถ้าเล่นด้วยเปียโนจะค่อนข้างยาก

เกือบทั้งเพลงจะประกอบด้วยทั้งรูปแบบของโน้ตเขบ็จ 2 ชั้น 11 ตัวและตัวหยุดโน้ตเขบ็จ 1 ตัว หรือโน้ตเขบ็จ 2 ชั้น 10 ตัวและโน้ตเขบ็จ 1 ชั้น 1 ตัว นอกจะนั้นจะเห็นการกระโดดของโน้ตได้อย่างชัดเจน เช่น ในห้องที่ 9 – 11 ในโน้ต B ที่ต่ำกว่า Middle C ในห้องที่ 9 และจากโน้ต A เหนือ Middle C ไปยังโน้ตตัว A ที่สูงกว่า 1 ขั้นคู่เสียงในห้องที่ 10 และจากโน้ตตัว G เหนือ Middle C ไปยังโน้ตตัว G ที่สูงกว่า 1 ขั้นคู่เสียงในห้องที่ 11โน้ตเพลงทั้ง 2 ท่อนจะจบด้วยโน้ตเขบ็จ 3 ชั้นที่ไล่เสียงลง

Variatio 9. Canone alla Terza. a 1 Clav.
นี่คือ Canon เพลงที่ 3 ในจังหวะ 4/4 โน้ตเบสที่เล่นคลออยู่ค่อนข้างจะมีสีสันกว่า Canon 2 บทที่ผ่านมาเล็กน้อย Variation ที่สั้นๆ บทนี้มีเพียง 16 ห้อง (16 bars) ซึ่งมักจะเล่นด้วยจังหวะช้า

Variatio 10. Fughetta a 1 Clav.
Variation ที่ 10 เป็น Fughetta (เพลงที่ประกอบด้วยหลายท่วงทำนอง) 4 แนว ซึ่งมีอยู่ 4 ห้องที่เน้นการ Ornament (การใส่สีสันและลูกเล่นของเพลง ไม่จำเป็นต้องใช้ทั้งทำนองหลักหรือทำนองประสาน แต่ทำหน้าที่เพียงการประดับประดาแนวทำนอง ลูกเล่นและสีสันบางอย่างจะเล่น “โน้ตเร็ว” รอบๆ โน้ตตัวหลัก) ที่ค่อนข้างชวนให้นึกถึงท่วงทำนองของเพลง Aria ที่เป็นเพลงเปิด

ท่อนแรกของ Variation ที่ 10 การเปิดตัวจะใช้ท่อนแรกของ Variation นี้ทั้งหมด ทำนองหลักในช่วงแรกจะเริ่มต้นด้วยแนวเบส ด้วยโน้ตตัว G ที่ต่ำกว่า Middle C ท่วงทำนองที่สอดรับ (เสียง Tenor) เริ่มเข้ามาตั้งแต่ห้องที่ 5 แต่เป็นการสอดรับในเรื่องระดับเสียง แต่ขั้นคู่เสียงบางคู่มีการเปลี่ยนแปลงไป เสียง Soprano จะเข้ามาในห้องที่ 9 แต่แนวเสียงนี้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเพียง 2 ห้องเท่านั้น ส่วนที่เหลือมีการเปลี่ยนแปลง เสียงสุดท้ายที่เพิ่มเข้ามาคือเสียง Alto ในห้องที่ 13 โดยไม่มีท่วงทำนองที่ต่างกันใน Fugue บทนี้

ในท่อนที่สองมีการพัฒนาโดยการใช้ทำนองหลักของเดิมแต่มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ซึ่งดูคล้ายกับการใช้ทำนองที่ต่างกัน โดยเสียงที่เพิ่มเข้ามาจะเข้ามาทีละเสียง แนวเสียงทั้งหมดจะเริ่มต้นด้วยแนวทำนองของตนเอง (บางครั้งมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเช่นเดียวกับในท่อนแรก) ในท่อนที่สองจะเริ่มต้นแนวทำนองเดิมให้ได้ยินอีกครั้ง โดยแนวเสียง Soprano จะบรรเลงคลอด้วยแนวเบสที่กระฉับกระเฉง การใช้แนวเสียงเบสจะเริ่มต้นตั้งแต่ห้องที่ 25

โดย: palm [28 เม.ย. 52 13:12] ( IP A:202.12.73.18 X: )
ความคิดเห็นที่ 15
    Variatio 11. a 2 Clav.
นี่คือท่อน Toccata ประสานกัน 2 ทำนอง (Two-part toccata) ที่ยอดเยี่ยม ในอัตราจังหวะ 12/16 แต่งขึ้นโดยเฉพาะสำหรับคีย์บอร์ด 2 แนว มีการใช้บันไดเสียง Arpeggio และการ Trill ที่หลากหลาย และยังประกอบด้วยเทคนิคการเล่นไขว้มือหลายรูปแบบ

Variatio 12. Canone alla Quarta. a 1 Clav.
เป็น Canon เพลงที่ 4 ในจังหวะ 3/4 ที่มีการแปรเปลี่ยนท่วงทำนองอย่างหลากหลาย โดยทำนองที่เล่นตามจะเริ่มต้นในห้องที่ 2 ในทิศทางตรงกันข้ามกับทำนองหลัก และทำนองที่เล่นตามจะสลับกันในห้องที่ 2 ในท่อนแรกนั้น มือซ้ายจะเล่นคลอด้วยทำนองเบสที่เขียนซ้ำด้วยโน้ตตัวดำในห้องที่ 1, 2, 3, 5, 6 และ 7 การซ้ำของโน้ตในลักษณะนี้ยังปรากฎในห้องแรกของท่อนที่ 2 (ห้องที่ 17 โน้ตตัว D 2 ตัวและโน้ตตัว C) และมีการเปลี่ยนท่วงทำนองเล็กน้อยในห้องที่ 22 และ 23 ในท่อนที่สองนั้น Bach ได้เปลี่ยนอารฒณ์เพลงเล็กน้อย โดยการเน้นโน้ตบางตัว (ห้องที่ 19 และ 20) และเทคนิคการพรมนิ้ว (ห้องที่ 29 และ 30)

Variatio 13. a 2 Clav.
Variation เพลงนี้มีจังหวะช้า นุ่มนวล ในลีลาแบบ Sarabande (เพลงเต้นรำ) เพลงนี้อยู่ในจังหวะ 3/4 ที่เต็มไปด้วยลูกเล่นและสีสัน ทำนองส่วนใหญ่จะเขียนด้วยโน้ตเขบ็จ 3 ชั้น และเพิ่มเติมลูกเล่นด้วยจังหวะเน้น (โดยเฉพาะในท่อนที่ 2 ที่มีการใช้มากขึ้น) และเทคนิค Mordent (การเล่นโน้ตสลับไปมาอย่างรวดเร็วด้วยโน้ตตัวที่สูงหรือต่ำกว่า คล้ายเทคนิคการ Trill) ตลอดทั้งเพลงนั้น ทำนองเพลงจะมีระดับเสียงเดียว และในเพลงห้องที่ 16 และ 24 มีสิ่งที่น่าสนใจที่เกิดจากการใช้เสียงที่เพิ่มสอดแทรกเข้ามา ในภาพคือห้องที่ 15 และ 16 ซึ่งเป็นตอนจบของท่อนแรก (ห้องที่ 24 มีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน)

โดย: palm [28 เม.ย. 52 13:14] ( IP A:202.12.73.18 X: )
ความคิดเห็นที่ 18
    Variatio 14. a 2 Clav.
เพลงนี้แต่งในลีลาแบบ Toccata 2 ทำนองที่เล่นด้วยเทคนิคการไขว้มืออย่างรวดเร็ว แต่งขึ้นในจังหวะ 3/4 มีเทคนิคการ Trill อยู่มากมาย รวมถึงลูกเล่นอื่นๆ เพลงนี้แต่งขึ้นสำหรับคีย์บอร์ด 2 แนวโดยเฉพาะ มีการกระโดดข้ามไปมาระหว่างโน้ต ซึ่งเทคนิคทั้ง 2 แบบในเพลงนี้ (ลูกเล่นและการกระโดดไปมาของท่วงทำนอง) ปรากฎให้เห็นในห้องแรกของเพลง โดยเพลงจะเริ่มต้นด้วยการเชื่อมผ่านระหว่างโน้ต G ที่ต่ำกว่าโน้ต C 2 ขั้นคู่เสียง โดยเล่นการรัวนิ้วแบบ Mordent กับโน้ตตัวที่เสียงต่ำกว่า โดยโน้ตตัว G ที่สูงกว่าจะเล่นด้วยเทคนิค Trill ที่ต่างจากตอนต้น

Variatio 15. Canone alla Quinta. a 1 Clav.
Variation บทนี้คือ Canon เพลงที่ 5 ในจังหวะ 2/4 มีท่วงทำนองและทิศทางที่ขัดกับทำนองหลักเช่นเดียวกับ Variation ที่ 12 และดูเหมือนว่าจะมีการสลับทำนองกันในห้องที่ 2 และเป็นหนึ่งใน Variation ในบันไดเสียง G minor อารมณ์ที่เศร้าสร้อยของเพลงตัดกันอย่างสิ้นเชิงกับความสนุกสนานของ Variation ก่อนหน้านี้

นักเปียโน Angela Hewitt กล่าวว่า “มีผลลัพธ์ที่มหัศจรรย์บางอย่างในตอนใกล้จบของ Variation เพลงนี้ มือทั้ง 2 ข้างจะเคลื่อนออกจากกัน โดยที่มือขวาจะลอยๆ อยู่กลางอากาศเพื่อเล่นคู่ 5 การเล่นที่ค่อยๆ เบาลงและหายไปแบบนี้ทำให้รู้สึกเกรงขามอยู่บ้าง แต่ก็พร้อมที่จะเล่นต่อไป ซึ่งเป็นตอนจบเหมาะกับครึ่งแรกของเพลงเป็นอย่างมาก”

Glenn Gould กล่าวถึง Variation บทนี้ว่า “มันคือ Canon ที่ให้ความรู้สึกที่รุนแรงและหนักแน่น เป็นความรุนแรงและความงดงามที่สุดที่ผมเคยรู้จัก Canon บทนี้มีการสลับเป็นคู่ 5 ท่วงทำนองของเพลงมีการเคลื่อนที่อยู่ตลอด เปี่ยมไปด้วยความเจ็บปวดและความรู้สึกเบิกบานในเวลาเดียวกัน ซึ่งมันไม่ควรจะอยู่ในเพลงอื่นนอกจากเพลง St. Matthew’s Passion แต่ถ้าจะกล่าวอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ผมเชื่ออยู่เสมอว่า Variation ที่ 15 ว่าเป็นวันศุกร์ที่สมบูรณ์แบบและมีเสน่ห์ที่สุด”

Variatio 16. Ouverture. a 1 Clav.
จะเห็นได้ว่าเพลง Variation ชุดนี้แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คั่นด้วย French overture อย่างเห็นได้ชัดเจน เริ่มต้นด้วยการเน้นคอร์ดเปิดและปิด เพลงนี้ประกอบด้วยท่อน Prelude ที่เล่นอย่างช้าๆ ด้วยโน้ตประจุด ตามมาด้วยท่อน Fugue ที่มีท่วงทำนองแตกต่างกัน

Variatio 17. a 2 Clav.
Variation เป็น Toccata 2 แนวที่ยอดเยี่ยมอีกเพลงหนึ่ง ซึ่ง Peter Williams สัมผัสถึงกลิ่นอายของ Antonio Vivaldi และ Domenico Scarlatti ในเพลงนี้ เพลงนี้แต่งขึ้นสำหรับคีย์บอร์ด 2 แนวโดยเฉพาะ ในเพลงประกอบด้วยการเล่นไขว้มือ ในจังหวะ 3/4 และมักจะเล่นในจังหวะเร็วปานกลาง

Rosalyn Tureck เป็นหนึ่งในนักดนตรีเพียงไม่กี่คนที่เล่นเพลงนี้อัดแผ่นในจังหวะช้า ในการบันทึกเสียงผลงาน Goldberg Variations ครั้งที่สองในปี 1981 ของ Glenn Gould เขาตัดสินใจที่จะเล่นเพลงบทนี้ในจังหวะช้า เพื่อรักษาความต่อเนื่องของจังหวะใน Variation บทที่ 16 ก่อนหน้านั้น แต่การตัดสินใจไม่ได้เป็นเพราะ “Variation 17 เป็นเพลงที่ค่อนข้างสนุกสนานมีลูกเล่น และค่อนข้างเป็นเพลงที่เขียนแบบไม่ต้องคิดอะไร เต็มไปด้วยสเกลและ Arpeggio ซึ่ง Bach ทำตามใจตนเองโดยไม่เขียนตามกฎอย่างการแต่ง Fugue หรือ Canon และผม (Glenn Gould) เห็นว่าไม่ใช่สาระสำคัญที่จะมาคำนึงถึงวิธีการ เจตนาของผู้ประพันธ์ หรือการใช้จังหวะแบบเยอรมัน”

Variatio 18. Canone alla Sexta. a 1 Clav.
นี่คือ Canon เพลงที่ 6 ในจังหวะ 2/2 โดยที่ท่วงทำนองดังกล่าวมีบทบาทซึ่งกันและกันในแนวเสียงสูง และมีการใช้ Suspension (ทำนองประสานเปลี่ยนจากคอร์ดหนึ่งไปยังอีกคอร์ดหนึ่ง แต่โน้ตหนึ่งตัวหรือมากกว่าในคอร์ดแรกยังเล่นต่อเนื่องไปยังคอร์ดที่สองโดยเป็นโน้ตแบบ Nonchord มากมาย

ข้อสังเกตในโคงสร้างของ Canon ใน Goldberg Variations ชุดนี้นั้น Glenn Gould กล่าวว่า Variation บทนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของ “การใช้คู่เสียงที่เน้นการเน้นการเคลื่อนไหว....เสียงประสานแบบ Canon ถูกใช้เพื่อสนับสนุนบทบาทของ Passacaille (คีตลักษณ์ทางดนตรีในศตวรรษที่ 17 ถือกำเนิดขึ้นในสเปน มักมีท่วงทำนองที่โศกเศร้า เขียนในจังหวะ 3/4) ซึ่งมักจะไม่ค่อยสนใจทำนองเบส”

Glenn Gould กล่าวถึงความรักใน Canon บทนี้ว่า “ผมหลงใหลในบทเพลงนี้เป็นอย่างมาก มันคืออัญมณีอย่างแท้จริง จริงๆ แล้วผมหลงใหล Canon ทุกบทอย่างจริงจัง แต่นี่คือหนึ่งในเพลงโปรดของผมอย่างแน่นอน”

Variatio 19. a 1 Clav.
เพลงนี้มี 3 ช่วง มีท่วงทำนองคล้ายกับเพลงเต้นรำ อยู่ในจังหวะ 3/8 มีการใช้โน้ตเขบ็จ 2 ชั้น อย่างต่อเนื่อง และเปลี่ยนแปลงท่วงทำนองที่หลากหลายของเสียงทั้ง 3
โดย: palm [28 เม.ย. 52 13:20] ( IP A:202.12.73.18 X: )
ความคิดเห็นที่ 19
    Variatio 20. a 2 Clav.
Variation บทนี้เป็น Toccata 2 แนวที่ยอดเยี่ยม ในจังหวะ 3/4 แต่งขึ้นสำหรับคีย์บอร์ด 2 แนว เน้นการไขว้มือที่รวดเร็ว เพลงบทนี้ส่วนใหญ่จะประกอบด้วยการแปรเปลี่ยนท่วงทำนองของทำนองหลักในช่วง 8 ห้องแรก โดยที่มือข้างหนึ่งจะเล่นโน้ตเขบ็จ 1 จังหวะ ส่วนมืออีกข้างจะเล่นคลอโดยการเล่นโน้ตเขบ็จ 2 ชั้น ต่อจากการเล่นโน้ตเขบ็จ 1 ชั้นทุกครั้ง จากภาพประกอบจะเห็น 2 ห้องแรกของท่อนแรก

โดย: palm [28 เม.ย. 52 13:20] ( IP A:202.12.73.18 X: )
ความคิดเห็นที่ 20
    Variatio 21. Canone alla Settima. a 1 Clav.
เป็น Variation เพลงที่ 2 ที่แต่งในบันไดเสียงแบบไมเนอร์ และเป็น Canon เพลงที่ 7 อยู่ในจังหวะ 4 /4 ซึ่ง Kenneth Gilbert นักฮาร์พสิคอร์ดชาวแคนาดามองว่าเพลงนี้เป็นเพลงในลีลาแบบ Allemande (การเต้นรำในยุค Baroque ที่มีจังหวะช้า) ทำนองเบสจะเริ่มต้นด้วยโน้ตเสียงต่ำ ดำเนินไปในท่วงทำนองที่ช้าด้วยเสียงแบบครึ่งเสียง (Chromatic) ที่ไล่จากโน้ตเสียงสูงลงมา และมีการใช้เสียง Canonic voices (การประพันธ์ที่มีการซ้ำของท่วงทำนองเดิมที่เล่นโดยเว้นระยะห่าง) ในห้องที่ 3

โดย: palm [28 เม.ย. 52 13:22] ( IP A:202.12.73.18 X: )
ความคิดเห็นที่ 21
    Variatio 22. a 1 Clav. alla breve
Variation บทนี้ประกอบด้วยแนวทำนอง 4 แนวที่ใช้การซ้ำของทำนองและมีการพัฒนาทำนองหลักทุกแนว แต่ทำนองเบสค่อนข้างเหมือนกับ Fugue (เพลงที่ประกอบด้วยหลายท่วงทำนอง) การใส่ลูกเล่นมีเพียงจุดเดียวคือเทคนิคการ Trill ที่เล่นในจังหวะโน้ตตัวกลม ซึ่งเล่นยาวถึง 2 ห้อง (ห้องที่ 11 และ 12)

การแต่งทำนองเบสหลักของเพลง Variation ในชุดนี้ทุกเพลงนั้น ดูเหมือนว่าเพลงนี้จะได้ยินชัดเจนมากที่สุด (รวมถึง Variation ที่ 30 - Variatio 30. Quodlibet. a 1 Clav.) เนื่องจากทำนองเบสที่เรียบง่าย

Variatio 23. a 2 Clav.
เป็น Variation 2 แนวสำหรับคีย์บอร์ด 2 แนวที่ยอดเยี่ยมอีกบทหนึ่ง แต่งขึ้นในจังหวะ 3/4 เริ่มต้นด้วยเทคนิคการเล่นที่มือหนึ่งเล่นไล่อีกมือหนึ่งที่เป็นแนวทำนองหลัก เริ่มต้นด้วยมือซ้ายที่เล่นโน้ต G เหนือ Middle C อย่างหนักแน่น หลังจากนั้นจึงไล่ลงจากโน้ต D ที่เหนือ A สอดรับด้วยการเล่นของมือขวาที่เลียนแบบท่วงทำนองของมือซ้ายในเสียงระดับเสียงเดียวกัน แต่เล่นช้ากว่าในอัตราจังหวะโน้ตเขบ็จ 1 ตัวใน 3 ห้องแรก และจบด้วยลูกเล่นเล็กน้อยในห้องที่ 4

4 ห้องแรกของ Variation ที่ 23 มีรูปแบบการซ้ำในห้องที่ 5-8 โดยมือซ้ายจะเล่นล้อทำนองมือขวาโดยใช้การไล่บันไดเสียงขึ้น ไม่มีการไล่เสียงลง หลังจากนั้นเป็นการเล่นสลับมือที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันในช่วงสั้นๆ เขียนขึ้นด้วยโน้ตสั้นๆ จนจบ 3 ห้องสุดท้ายของท่อนแรก

ในท่อนที่สองจะเริ่มต้นด้วยการแปรเปลี่ยนทำนองที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันคล้ายในท่อนแรกอีกครั้ง หลังจากนั้นจึงเข้าสู่ท่วงทำนองที่ตื่นเต้นเร้าใจของการเปลี่ยนสู่ทำนองที่ 3 ของทั้งสองมือ Peter Williams กล่าวว่า ความน่าพิศวงอารมณ์ของที่หลากหลายในบทเพลงนี้ ถ้าจะถามว่า “เพลงนี้สามารถเป็นการแปรเปลี่ยนทำนองของทำนองหลักเดียวกันที่แฝงอยู่ในลีลาแบบ Adagio ของ Variation ที่ 25 ได้หรือไม่?

โดย: palm [28 เม.ย. 52 13:25] ( IP A:202.12.73.18 X: )
ความคิดเห็นที่ 22
    Variatio 24. Canone all'Ottava. a 1 Clav.
Variation บทนี้มีคีตลักษณ์แบบ Canon ที่ห่างกัน 1 ขั้นคู่เสียง ในจังหวะ 9/8 โดยทำนองหลักจะตอบโต้กับทั้งขั้นคู่เสียงที่สูงกว่าและขั้นคู่เสียงที่ต่ำกว่า และนี่คือ Canon เพียงบทเดียวในชุดนี้ ที่ทำนองหลักจะมีการสลับกันในช่วงกลางเพลง

Variatio 25. a 2 Clav.
Variation ที่ 25 เป็น Variationที่ 3 และเป็น Variation สุดท้ายในบันไดเสียง G minor ที่ประกอบด้วยเสียงประสาน 3 แนว จากโน้ตลายมือต้นฉบับของ Bach ระบุไว้ว่าเป็นลีลาแบบ Adagio ในจังหวะ 3/4 ท่วงทำนองจะเขียนโดยเน้นโน้ตเขบ็จ 2 ชั้นและเขบ็จ 3 ชั้นที่เต็มไปด้วยเสียงแบบ Chromatic Variation บทนี้มีความยาวกว่าเพลงอื่นๆ ในชุด

เพลงนี้มีชื่อเรียกที่รู้จักกันดีว่า "Black pearl" โดย Wanda Landowska ซึ่ง Peter Williams กล่าวไว้ว่า “ความงดงามและความน่าหลงใหลใน Variation เพลงนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าอารมณ์จะขึ้นถึงจุดสูงสุดไปตามบทเพลง” ส่วน Glenn Gould กล่าวว่า “ความโหยหาที่ปรากฎ ท่วงทำนองที่ดำเนินไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง คือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในเชิงจิตวิทยา”

ในการสัมภาษณ์ Glenn Gould นั้น Tim Page กล่าวว่า Variation บทนี้มี “โครงสร้างแบบ Chromatic ที่พิเศษ” ซึ่ง Gould ก็เห็นด้วย และกล่าวว่า “ผมไม่คิดว่ามีความสัมพันธ์ในเรื่อง Enharmonic (ตัวโน้ตที่มีระดับเสียงเท่ากันแต่เป็นเป็นโน้ตคนละตัว) ที่มากจนเกินไประหว่าง Gesualdo da Venosa (คีตกวีชาวอิตาเลียนในยุค Late Renaissance นิยมประพันธ์เพลงด้วยเสียง Chromatic) และ Richard Wagner (คีตกวีชาวเยอรมัน นิยมประพันธ์เพลงด้วยเสียง Chromatic เช่นกัน)" อัลบั้มของ Gould ที่บันทึกเสียงผลงานชุดนี้ในปี 1955 ถูกนำไปใช้เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Slaughterhouse ภาค 5 ในฉากที่เป็นการเผาเมือง Dresden

Variatio 26. a 2 Clav.
Variation ต่างๆ ก่อนหน้านี้มีการตัดกันอย่างชัดเจนของอารมณ์ครุ่นคิดภายในและความปรารถนาอันน่าหลงใหล เพลงบทนี้เป็น Toccata อีกเพลงหนึ่งที่เปี่ยมไปด้วยความร่าเริงและท่วงทำนองที่รวดเร็ว Variation บทนี้เป็น Sarabande อย่างง่ายๆ ภายใต้ลีลาแบบ Arabesques ที่รวดเร็ว มีการใช้อัตราจังหวะ 2 แบบคือ 18/16 สำหรับทำนองที่เดินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเขียนเป็นโน้ตเขบ็จ 2 ชั้น และอัตราจังหวะ 3/4 สำหรับทำนองประกอบที่เขียนเป็นโน้ตเขบ็จ 1 ชั้นและ 2 ชั้น แต่ในช่วง 5 ห้องสุดท้ายนั้น ทั้ง 2 มือจะเล่นในจังหวะ 18/16

Variatio 27. Canone alla Nona. a 2 Clav.
Variation 27 เป็น Canon บทสุดท้ายของเพลงในชุดนี้ และเป็น Canon เพลงที่ 9 แต่งในจังหวะ 6/8 เป็น Canon ที่แต่งขึ้นสำหรับคีย์บอร์ด 2 แนวโดยเฉพาะ (ไม่ได้เป็นเพราะความยากในการเล่นไขว้มือ) และยังเป็น Canon แท้ๆ เพลงเดียว เนื่องจากไม่มีทำนองเบสประกอบ

Variatio 28. a 2 Clav.
Variation บทนี้เป็น Toccata 2 แนว ในจังหวะ 3/4 ที่มีการใช้เทคนิคการไขว้มืออยู่มาก การพรมนิ้วเขียนขึ้นในอัตราโน้ตเขบ็จ 3 ชั้น และปรากฎอยู่เกือบทุกๆ ห้อง เริ่มต้นเพลงด้วยรูปแบบที่มือแต่ละข้างจะเล่นทำนองอย่างต่อเนื่องในขณะที่เล่น Trill ไปด้วย ตามมาด้วยท่อนที่ทั้ง 2 มือเล่นท่วงทำนองของที่ขัดกันด้วยโน้ตเขบ็จ 2 ชั้น (ห้องที่ 9 และ 12) ตอนจบของท่อนแรกใช้เทคนิคการ Trill ของทั้ง 2 มืออีกครั้งแต่เล่นสลับกัน

ในท่อนที่สองจะเริ่มต้นด้วยท่วงทำนองที่เกือบจะขัดกัน ซึ่งทำนองที่ต่างกันนี้จะเห็นได้ในห้องที่ 9 –12 ส่วนใหญ่แล้วในตอนจบของแต่ละห้องจะใช้เทคนิคการ Trill ด้วยมือข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองมือ

โดย: palm [28 เม.ย. 52 13:29] ( IP A:202.12.73.18 X: )
ความคิดเห็นที่ 23
    Variatio 29. a 1 o vero 2 Clav.
Variation บทนี้จะประกอบด้วยเทคนิคการสลับคอร์ดเป็นส่วนใหญ่ และมีช่วงที่เล่น Arpeggio อย่างแพรวพราวของมือทั้ง 2 ข้าง เพลงนี้แต่งขึ้นในจังหวะ 3/4 เป็น Variation ที่ค่อนข้างสง่างาม ผสมผสานความนุ่มนวลเข้าไปหลังจากที่ Variation บทที่แล้ว (Variatio 28. a 2 Clav.) เปี่ยมไปด้วยท่วงทำนองที่สดใสร่าเริง

Glenn Gould กล่าวว่า Variation ที่ 28 และ 29 นำเสนอเพียง “การประสานท่วงทำนองที่เคลื่อนไหว หรือความต่อเนื่องระหว่าง Variation ทั้งสอง”

Variatio 30. Quodlibet. a 1 Clav.
Quodlibet บทนี้ (เพลงที่ประกอบด้วยทำนองที่แตกต่างกัน มักจะเป็นทำนองที่ติดหู ใน Counterpoint มักจะให้ความรู้สึกรื่นรมย์และแฝงอารณ์ขัน) ได้แรงบันดาลใจมาจากเพลงพื้นบ้านของเยอรมัน ซึ่ง 2 เพลงในนั้นคือ Ich bin solang nicht bei dir g'west, ruck her, ruck her ("I have so long been away from you, come closer, come closer") และเพลง Kraut und Ruben haben mich vertrieben, hatt mein' Mutter Fleisch gekocht, war ich langer blieben ("Cabbage and turnips have driven me away, had my mother cooked meat, I'd have opted to stay") ส่วนเพลงที่เหลือไม่ทราบชื่อ

Johann Nicolaus Forkel ผู้เขียนชีวประวัติของ Bach กล่าวถึง Quodlibet บทนี้ไว้ว่า การรวมตัวกันของสมาชิกในครอบครัวของ Bach เป็นที่จับตามอง (ญาติของ Bach ส่วนใหญ่เป็นนักดนตรี) และทันทีที่พวกเขารวมตัวกันได้เกิดกลุ่มนักร้องประสานเสียง Chorale (เพลงสวดที่ร้องโดยกลุ่มนักร้องประสานเสียง) ขึ้น

จากนักดนตรีผู้เคร่งศาสนาในตอนต้น พวกเขาได้สร้างดนตรีที่ตลกขบขันขึ้น ซึ่งมักจะมีท่วงทำนองที่ตัดกันอย่างชัดเจน หลังจากนั้นพวกเขาได้หันมาร้องเพลงสมัยนิยม บางส่วนเป็นเพลงที่มีเนื้อหาตลกขบขัน และบางส่วนมีเนื้อหาออกแนวทะลึ่งตึงตัง นำมาผสมผสานกันตามกระแสนิยมในยุคนั้น

พวกเขาเรียกการผสมผสานปฏิภาณดนตรีชนิดนี้ว่า Quodlibet ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างเสียงหัวเราะเบิกบานใจให้พวกเขาเท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้ที่ได้ฟังอดหัวเราะไม่ได้อีกด้วย”

จากชีวประวัติของ Bach ที่ Forkel เขียนขึ้น (ซึ่งดูแล้วน่าจะเป็นความจริง กล่าวไว้ว่า เขามีโอกาสได้สัมภาษณ์ลูกชายของ Bach โดยตรง) Forkel เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า Bach ต้องการให้ Quodlibet บทนี้เป็นเพลงตลกขบขัน
โดย: palm [28 เม.ย. 52 13:33] ( IP A:202.12.73.18 X: )
ความคิดเห็นที่ 24
    Aria da Capo
เป็นการเล่นซ้ำเพลง Aria ในตอนต้นแทบจะทุกโน้ต Peter Williams กล่าวถึงเพลงนี้ว่า “ความงามที่ยากจะอธิบาย...ที่เสริมด้วยการกลับมาของเพลง Aria...ไม่มีการเล่นซ้ำใดๆ ที่จะให้ความรู้สึก Affekt (สุนทรียะทางดนตรี) ได้เท่านี้ ท่วงทำนองของมันถูกสร้างขึ้นให้โดดเด่นกว่า 5 Variation สุดท้าย และดูเหมือนว่าจะมีความโหยหาหรือความคิดคำนึง ความสงบเงียบหรือความเศร้าปรากฎให้ได้ยินพร้อมกับการกลับมาของมัน เหมือนกับบางสิ่งที่กำลังจะจบลง เป็นโน้ตตัวเดิมที่บัดนี้กำลังจะจบลง”

โดย: palm [28 เม.ย. 52 13:35] ( IP A:202.12.73.18 X: )

คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน