III. ประวัติศาสตร์และอารยธรรมยุโรป ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 – 18 (ตอนที่ 1)
    (1) อิตาลี

ในดินแดนที่เป็นประเทศอิตาลีในปัจจุบันนี้นั้น ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของอู่อารยธรรมของยุโรปตะวันตกในสมัยใหม่ โดยในทางประวัติศาสตร์นั้น ได้ถือเอาจุด ณ ปี ค.ศ.1453 อันเป็นปีแห่งการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันออก หรือ จักรวรรดิไบแซนไทน์ ( Byzantine Empire ) เป็นจุดสิ้นสุดยุคกลาง ( Medieval Age ) และเข้าสู่ยุคแห่งการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ( Renaissance Era ) ซึ่งความเจริญในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการนี้ จะเป็นอิทธิพลส่งผลต่อความเจริญก้าวหน้าต่อศาสตร์ทุกแขนง รวมถึงศาสตร์ในด้านดนตรีด้วย

ในช่วงเวลานั้น ดินแดนอิตาลียังมิได้รวมกันเป็นปึกแผ่นดังเช่นที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้ หากแต่แบ่งแยกออกเป็นรัฐเล็กแคว้นน้อย โดยแต่ละรัฐจะมีอธิปไตยของตนเอง หรือไม่ก็ตกอยู่ฐานะดินแดนในปกครองของรัฐมหาอำนาจอื่น โดยรัฐสำคัญ ๆ ที่จะขอกล่าวถึงประวัติความเป็นมาโดยสังเขป ได้แก่…

ภาพ : แผนที่แสดงรัฐต่าง ๆ ในคาบสมุทรอิตาลี ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16
เพลง : Antonio Vivaldi's Concerto for Double Mandolins in G Major, RV 532 ,performed by I Solisti Veneti

โดย: Barrister-at-Law [25 ม.ค. 49 7:01] ( IP A:203.185.152.152 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
ความคิดเห็นที่ 1
    1. สาธารณรัฐเวนิซ ( The Republic of Venice)

ปกครองในระบอบอภิชนาธิปไตย ( Aristocracy) โดยมี ด็อจ (Doge) เป็นประมุข มาจากการเลือกตั้ง มีเมืองหลวงอยู่ที่ เมืองเวนิซ ครอบคลุมอาณาเขต ของเมืองเวเนเชีย , ปาดัว , เวโรน่า , เบรสกา ในช่วงก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 16 อาณาเขตได้รวมไปจนถึงเกาะไซปรัส และมณฑลดัลมาเชีย (ปัจจุบันคือประเทศโครเอเชีย) แต่ต่อมาก็เสียให้แก่จักรวรรดิออตโตมัน-เตอร์ก หรือ ตุรกี

สาธารณรัฐเวนิซเป็นรัฐที่มีอิทธิพลทางการค้ามายาวนานนับตั้งแต่สมัยยุคกลาง นับแต่พวกมุสลิมสามารถยึดครองดินแดนแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลางได้ทั้งหมด เส้นทางการค้าจากจีนและอินเดียจึงถูกตัดขาดจากยุโรป ซึ่งมีแต่เพียงชาวเวนิซเท่านั้นที่สามารถเจรจาการค้ากับชาวมุสลิมได้ นับแต่นั้นชาวเวนิซจึงตั้งตัวเป็นพ่อค้าคนกลางรับซื้อสินค้าจากตะวันออกไปขายในยุโรป สร้างความมั่งคั่งมหาศาลให้แก่ตระกูลพ่อค้า ประกอบกับชาวเวนิซเป็นนักต่อเรือที่มีความเชี่ยวชาญมาก ดังนั้นในช่วงยุคกลาง – ยุคเรอแนสซองส์ รัฐเวนิซจึงความมั่นคงทางการทหารในฐานะรัฐที่มีแสนยานุภาพในทะเลเมดิเตอเรเนียนมากที่สุด และเป็นรัฐแรกในโลกที่รับจ้างต่อเรือรบให้แก่รัฐต่าง ๆ และมีอำนาจต่อรองสูงในเวทีการเมืองกับรัฐมหาอำนาจอื่น ๆ เช่น ฝรั่งเศส หรือ สเปน เมื่อเวนิซเป็นรัฐที่ร่ำรวยมั่งคั่ง พวกขุนนางและเศรษฐีจึงสามารถมีเงินทองมาสนับสนุนพวกศิลปิน นักปราชญ์ นักประพันธ์ และนักดนตรี ให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของรัฐ จึงมีอิทธิพลต่อคุณภาพและความเจริญก้าวหน้าทางด้านศิลปะเป็นอย่างสูง

โดย: Barrister-at-Law [25 ม.ค. 49 7:06] ( IP A:203.185.152.152 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
    2. รัฐของพระสันตะปาปา ( The Papal States )

ปกครองโดยมี สมเด็จพระสันตะปาปา (Pope) เป็นประมุขทั้งในทางโลกและทางธรรม มีเมืองหลวงอยู่ที่ กรุงโรม ครอบคลุมอาณาเขต ของเมืองละติอุม , อุมเบรีย , ราเวนน่า , ทิโวลี่ , โบโลญญ่า , เปรูเกีย และแอสซิซี่ รวมถึงมีดินแดนในเขตรัฐอื่น ( Exclave ) คือ ดินแดนกอมตาต์ เวแนสแซ็ง ในแคว้นอาวิญญง ของฝรั่งเศส และดินแดนเบเนเวนโต้ ในเขตของราชอาณาจักรนาโปลี ก็เป็นรัฐในความปกครองของสมเด็จพระสันตะปาปาโดยตรง

ในฐานะที่พระองค์ทรงปกครองรัฐเสมือนกษัตริย์พระองค์หนึ่ง ซึ่งทรงทำได้แม้กระทั่งการส่งกองทัพของพระองค์ไปโจมตีรัฐอื่น ๆ และทรงมีอำนาจที่เหนือยิ่งไปกว่ากษัตริย์องค์อื่น ๆ ก็คือ ทรงมีอำนาจในการสั่งบรรพาชนียกรรม (Excommunication) คือ การขับไล่ผู้ที่ไม่เชื่อฟังพระองค์ออกจากพระศาสนจักร ซึ่งแม้แต่กษัตริย์พระองค์อื่น ๆ ในยุโรปก็ยังต้องเกรงกลัวอำนาจนี้

โดยนับตั้งแต่สมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ( Pope Alexander VI ) เป็นต้นมา ทรงวางนโยบายการฟื้นฟู และสร้างให้กรุงโรมเป็นศูนย์กลางของความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปะวิทยาการอีกครั้งเช่นในสมัยโรมัน เริ่มตั้งแต่การสร้าง อัครมหาวิหารบาซิลิก้า (Basilica – St.Peter) และนครวาติกัน ปราสาทราชวังส่วนพระองค์ในดินแดนต่าง ๆ ทรงรวบรวมผลงานทางศิลปะชั้นยอดจากอัครศิลปินทุกสารทิศ เช่น ดาวินชี่ (Da Vinci), มิเคลันเจโล่ (Michelangelo) ,ราฟาเอล (Raphael), คาราวักโจ้ (Caravaggio) , บรามันเต้ (Bramante), แบร์นินี่ ( Bernini ) ฯลฯ และทรงชุบเลี้ยงศิลปินจำนวนมากไว้เพื่อสร้างสรรค์งานศิลปะ ทั้งศิลปะในทางโลก และศิลปะเพื่อเทิดเกียรติพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งผลที่เราเห็นในปัจจุบันนี้ก็คือ นครวาติกัน ซึ่งนับได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ทางศิลปะที่ใหญ่ที่สุดในโลก

แต่ปัญหาสำหรับพระสันตะปาปา คือ เมื่อพระองค์ทรงมีโครงการที่ฟุ่มเฟือยเช่นนี้ พระองค์จะต้องใช้เงินจำนวนมากมายเท่าใดในการสร้างกรุงโรมให้กลายเป็นศูนย์กลางทางศิลปวัฒนธรรมของโลก และที่สำคัญคือพระองค์จะหาเงินจำนวนมากนี้ ได้จากที่ไหน ?

พระสันตะปาปาในฐานะเจ้าผู้ปกครอง ทรงมีภาษีที่ได้มาจากโดยตรง คือ ภาษีที่เก็บจากดินแดนในปกครองของพระองค์ และภาษีทางอ้อม คือ การบริจาคของประชาชนทั่วยุโรปผ่านทางโบสถ์ของพระศาสนจักรต่าง ๆ แต่แหล่งรายได้ที่สำคัญที่สุดของพระศาสนจักร ก็คือ การขายตำแหน่งสมณศักดิ์ ให้แก่พระสงฆ์ที่ต้องการเลื่อนสมณศักดิ์ และการหาเงินในวิธีการที่ร้ายที่สุดในเวลาต่อมา ก็คือ การขายใบล้างบาป อันเป็นชนวนให้เกิดสังฆเภท อันนำไปสู่การแยกออกเป็นนิกายโปรแตสแตนท์ ที่นำโดย มาร์ติน ลูเธอร์ ( Martin Luther ) ใน ค.ศ.1521 และนำไปสู่การเกิดสงคราม 30 ปี (The Thirty Years War) ในค.ศ.1618-1648 ซึ่งทำให้ต้องสูญเสียประชากรยุโรปถึง 1 ใน 3 ดังนั้น แม้ว่าเราจะปฏิเสธไม่ได้ว่างานศิลปะที่พระสันตะปาปาแต่ละพระองค์ทรงสะสมไว้เป็นสมบัติของโลกนั้น มีคุณค่าแก่โลกมากมายแค่ไหน แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า งานศิลปะเหล่านั้นได้มาบนวิถีทางแห่งความทุกข์ยากของประชาชนจำนวนมากมายเพียงไร

โดย: Barrister-at-Law [25 ม.ค. 49 7:38] ( IP A:203.185.152.152 X: )
ความคิดเห็นที่ 3
    3. ดุชชี่แห่งซาวอย ( The Duchy of Savoy )

ปกครองในระบบฟิวดัล (Feudalism) โดย ท่านดุ๊คแห่งซาวอย มีเมืองหลวงอยู่ที่ เมืองตูริน ครอบคลุมอาณาเขต ของเมืองตูริน และแคว้นปิเอมองต์ ซึ่งต่อมาใน ปี ค.ศ.1714 ภายหลังสงครามชิงราชสมบัติสเปน ( The War of Spainish Succesion ) ท่านดุ๊ค วิตโตริโอ อมาเดโอ ที่ 2 แห่งซาวอย ( Vittorio Amadeo II, Duke of Savoy) อยู่ในฐานะฝ่ายผู้ชนะสงคราม จึงได้รับรางวัล ด้วยการได้รับการรับรองจากนานาประเทศให้ดำรงฐานะเป็น พระมหากษัตริย์ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น ราชอาณาจักรปิเอมองต์ ( The Kingdom of Piedmont ) ต่อมาปี ค.ศ.1720 ทรงได้รับมรดกจากพระราชมารดา ซึ่งเป็นเจ้าหญิงรัชทายาทแห่งราชอาณาจักรซิซิลี ( The Kingdom of Sicily) แต่ในเวลาต่อมา พระองค์ทรงทำสัญญากับสเปน เพื่อขอแลกเปลี่ยนเกาะซิซิลี กับ เกาะซาร์ดิเนีย (ซึ่งเป็นของสเปน) จึงทรงรวมดินแดนตั้งขึ้นใหม่เป็น ราชอาณาจักรซาร์ดิเนีย ( The Kingdom of Sardinia )

โดย: Barrister-at-Law [25 ม.ค. 49 7:51] ( IP A:203.185.152.152 X: )
ความคิดเห็นที่ 4
    4. ดุชชี่แห่งมิลาโน่ ( The Duchy of Milano )

ปกครองในระบบฟิวดัล โดยท่านดุ๊คแห่งมิลาน แห่งตระกูลวิสคอนตี (Visconti) และต่อมาก็ถูกครอบงำโดยตระกูล สฟอร์ซา (Sforza) มีเมืองหลวงอยู่ที่ เมืองมิลาน ครอบคลุมอาณาเขตเมืองมิลาน , โลดี้ , แบร์กาโม่ , ปาเวีย และ เครโมน่า ซึ่งนับได้ว่ารัฐมิลาโน่เป็นศูนย์กลางหรือคลังแห่งความเจริญทางศิลปวิทยาที่สำคัญแห่งหนึ่ง

ในช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 16 มิลานอยู่ภายใต้การยึดครองของฝรั่งเศส แต่ต่อมาในภายหลังสงครามชิงราชสมบัติสเปน ( The War of Spanish Succession ) ค.ศ.1713 ฝรั่งเศสในฐานะผู้แพ้สงคราม ถูกบีบบังคับให้มอบ ดุชชี่แห่งมิลาน ให้แก่ออสเตรีย นับแต่นั้นมา มิลานจึงอยู่ในความครองครองของออสเตรีย จนกระทั่งนโปเลียน แห่งฝรั่งเศส ไปปลดแอกมิลานจากออสเตรีย และจัดตั้งเป็น สาธารณรัฐซิซัลไพน์ ( The Republic of Cisalpine ) ในช่วง ปี ค.ศ.1798-1802

โดย: Barrister-at-Law [25 ม.ค. 49 8:05] ( IP A:203.185.152.152 X: )
ความคิดเห็นที่ 5
    5. ดุชชี่แห่งฟลอเรนซ์ ( The Duchy of Florence )

หรือบางครั้งก็เรียกว่า ดุชชี่แห่งทัสกานี ( The Duchy of Tuscany) ปกครองโดย ท่านดุ๊คแห่งตระกูลเมดิชี่ ( Medici) มีเมืองหลวงอยู่ที่ เมืองฟลอเรนซ์ มีอาณาเขตครอบคลุม แคว้นทัสกานี , เมืองฟิเร็นเซ่ , ปิซ่า และ อะเร็สซ่า

รัฐฟลอเรนซ์ เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาได้โดยบุคคลผู้มีอิทธิพลสูงที่สุดในยุคเรอแนสซ็องส์ คือ ลอเร็นโซ่ ดิ เมดิชี่ ( Lorenzo di Medici) หรือ สมญาที่เรียกว่า ลอเร็นโซ่ ผู้ประเสริฐ ( Lorenzo the Magnificence ) ซึ่งได้สร้างรากฐานความก้าวหน้าของตระกูลมาจากการค้าขาย และการออกเงินกู้ให้แก่ขุนนางไปจนถึงกษัตริย์ต่าง ๆ ทั้งเงินกู้เพื่อไปลงทุนทางธุรกิจ สร้างปราสาท ไปจนถึงเงินกู้เพื่อการทำสงคราม ไม่ว่าใครก็ต้องมากู้เงินจากตระกูลเมดิชี่ ทำให้ตระกูลเมดิชี่มีแต้มต่อทางการเมืองในยุโรปสูงมาก จนสามารถส่งบุตรสาว บุตรชายไปอภิเษกสมรสกับทายาทของราชตระกูลต่าง ๆ ทั่วยุโรป เช่น ส่ง คาทรีน ดิ เมดิชี่ ไปเป็นพระมเหสีของพระเจ้าอองรีที่ 2 แห่งฝรั่งเศส เป็นต้น

ความร่ำรวยและความมั่งคั่งของตระกูลเมดิชี่ ประกอบกับนิสัยของ ลอเร็นโซ่ ที่นิยมชมชอบศิลปะ จึงทำให้เขาเริ่มสร้าง “ค่านิยม” ของชนชั้นสูงในยุคนั้น คือ การอุปถัมภ์นักปราชญ์ กวี นักประพันธ์ ศิลปิน นักดนตรี นักวิทยาศาสตร์ โดยจ้างบุคคลเหล่านี้ไว้ในตำหนักของตนเอง ให้ทั้งอาหาร ที่อยู่อาศัย ข้าวของเงินทอง เพื่อให้คิด ประดิษฐ์ สร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะและวิทยาการอย่างเดียว โดยไม่ต้องทำงานอะไรอย่างอื่นอีก โดยที่เมื่อมีผลงานอะไรออกมา ก็จะถือเป็นหน้าเป็นตาของผู้ให้การสนับสนุนคนนั้น ดังนั้นพวกศิลปินจึงมีเวลาที่จะสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกังวลว่าวันนี้จะทำมาหารับประทานยังไง จนกลายเป็นค่านิยมของชนชั้นสูงทั้งมวลในยุคนั้น และต่อมาจนสิ้นสุดลงในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่ง “ระบบอุปถัมภ์” นี้มีทั้งขุนนางประเภทที่ให้การสนับสนุนด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพราะความชื่นชมในศิลปะอย่างแท้จริง และประเภทที่สนับสนุนเพื่อรักษาหน้าตาของตนเองในสังคม

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ผลก็คือ ทำให้ศิลปวิทยาการในคาบสมุทรอิตาลี ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 นั้น เจริญรุดหน้าไปอย่างมาก และเมื่อแพร่หลายไปสู่ประเทศอื่น ๆ ความเจริญก้าวหน้าด้านศิลปะก็ยิ่งเพิ่มพูนเสมือนดอกไม้บานในฤดูใบไม้ผลิ ถึงแม้ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว จะเป็นช่วงที่ยังไม่มีความมั่นคงทางการเมืองระหว่างประเทศ คือ ยังคงมีภาวะสงครามระหว่างรัฐอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งล้วนแต่เป็นตัวเร่งเร้าให้ยุโรปเกิดพัฒนาการที่ไม่หยุดยั้ง และนำหน้ามหาอำนาจเดิมทางด้านซีกโลกตะวันออก อย่างเช่น จีน และ อินเดีย จนกระทั่งนำไปสู่กระบวนการโลกาภิวัฒน์ (Globalization) ที่รวมโลกเข้าสู่หนึ่งเดียวกัน

โดย: Barrister-at-Law [25 ม.ค. 49 8:09] ( IP A:203.185.152.152 X: )
ความคิดเห็นที่ 6
    6. ราชอาณาจักรนาโปลี ( The Kingdom of Neapoli )

ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ราชอาณาจักรนาโปลี หรือ เนเปิ้ลส์ (Naples)อยู่ภายใต้การปกครองโดยกษัตริย์ราชวงศ์อ็องเจอแว็ง (Angevin) ต่อมาในปี ค.ศ.1441 พระเจ้าอัลฟองโซ ที่ 5 แห่งอะราก็อน , กษัตริย์แห่งสเปน ( King Alfonso V of Aragon ) ทรงนำกองทัพมายึดครองได้สำเร็จ ดังนั้น ราชอาณาจักรนาโปลี จึงเป็นดินแดนภายใต้การปกครองของสเปน โดยมี อุปราช (Viceroy) ชาวสเปนปกครองดูแลอยู่

ต่อมาในปี ค.ศ.1647 ได้มีการก่อรัฐประหาร ภายใต้การนำของ อองรี เดอ ลอร์แรนน์ , ดุ๊ค เดอ กีส ( Henri de Lorraine , Duc de Guise ) ซึ่งอ้างตัวว่าเป็นเชื้อสายของราชวงศ์อ็องเจอแว็ง ล้มล้างการปกครองของสเปน และก่อตั้ง ราชสาธารณรัฐของชาวนาโปลี ( The Royal Republic of Neapolitans) ซึ่งมีอายุสั้นเพียง 1 ปี ก่อนที่ในปีต่อมา กองทัพสเปนจะเข้าบุกยึด และปกครองโดยอุปราชชาวสเปนเช่นเดิม ต่อมา ในปี ค.ศ.1735 พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งราชวงศ์บูร์บ็องส์ ,กษัตริย์แห่งสเปน ( King Charles III of Bourbons) ทรงได้เกาะซิซิลี มาจากราชอาณาจักรซาวอย เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับเกาะซาร์ดิเนีย ดังนั้น จึงทรงรวมดินแดนนาโปลี และ ซิซิลีเข้าด้วยกัน และเรียกว่า ราชอาณาจักรแห่งซิซิลีทั้งสอง ( The Kingdom of the Two Sicilies )

ราชอาณาจักรนาโปลี มีอาณาบริเวณครอบคลุมตอนใต้ของอิตาลีทั้งหมด เป็นบ้านเกิดของศิลปินที่มีชื่อเสียงหลายคน อาทิเช่น คาราวักโจ้ (Caravaggio) , แบร์นินี่ ( Bernini ) เป็นต้น

โดย: Barrister-at-Law [25 ม.ค. 49 8:13] ( IP A:203.185.152.152 X: )
ความคิดเห็นที่ 7
    7. ดุชชี่แห่งเจโนว่า ( The Duchy of Genova )

ปกครองโดย ท่านดุ๊คแห่งตระกูลวิสคอนตี ( Visconti) แต่เดิมในช่วงยุคกลาง-ต้นยุคฟื้นฟูศิลปวิทยการนั้น รัฐเจนัว เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ และเป็นคู่แข่งขันทางการค้ากับเวนิซ ในฐานะพ่อค้าคนกลาง ที่รับสินค้าจากตะวันออกไกล จีน อินเดีย เปอร์เซีย และอาหรับ มาขายต่อให้แก่ตลาดยุโรป และมีเรื่องขัดแย้งทางธรุกิจกันกับเวนิซ จนถึงขั้นทำสงครามช็อกเจีย ( The War of Chioggia ค.ศ.1378-1381) ซึ่งปรากฏว่าเวนิซ เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ ในเวลาต่อมา เจนัวก็เสื่อมอำนาจลงเรื่อย ๆ และสูญเสียดินแดนให้แก่รัฐอื่น ๆ เช่น เสียเกาะซาร์ดิเนียให้แก่สเปน และเสียอาณานิคมในอาหรับ และแอฟริกาเหนือให้แก่ตุรกี ประกอบกับการที่สเปนค้นพบเส้นทางเดินเรือไปถึงเอเชีย ทำให้ยุโรปไม่ต้องพึ่งพาเจนัวในฐานะพ่อค้าคนกลางอีกต่อไป เศรษฐกิจและความมั่งคั่งของเจนัวจึงลดต่ำลง ครั้นมาถึง คริสต์ศตวรรษที่ 17-18 เจนัวจึงกลายเป็นรัฐที่ไม่มีความสำคัญอะไรมากนัก และมักถูกรัฐอื่นเข้ามายึดครองบ่อยครั้ง

โดย: Barrister-at-Law [25 ม.ค. 49 8:33] ( IP A:203.185.152.152 X: )

คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน