การดูแลรักษาคันชัก
    การดูแลรักษาคันชัก

1. การดูแลรักษาโดยผู้เล่น

การถือคันชัก
สิ่งที่ควรจำในการจับคันชักก็คือ ปลายคันชักค่อนข้างเปราะบางมาก ผู้เล่นควรหลีกเลี่ยงการเพิ่มแรงกดที่ไม่จำเป็นให้กับคันชัก เช่น ทำตกพื้นหรือถือตรงส่วนปลายคันชัก นำคันชักไปเคาะกับแสตนด์ตั้งโน้ตเพื่อแสดงความยินดี และนำไปเล่นฟันดาบเหมือนที่เด็กนักเรียนชอบทำ

การทำความสะอาด
คำแนะนำในการทำความสะอาดก็คือให้ใช้ผ้านุ่มๆ ในการขจัดคราบยางสน คราบน้ำมัน และสิ่งสกปรกจากด้ามคันชักทันทีหลังจากเล่นเสร็จทุกครั้ง ก่อนที่มันจะฝังลงไปในในผิวเคลือบของด้ามคันชัก คุณอาจจะซื้อผ้าแบบไม่เคลือบน้ำยาเพื่อทำความสะอาดไวโอลินและคันชักโดยเฉพาะ แต่ถ้าใช้ผ้าแบบเคลือบน้ำยาควรระวังไม่ให้ไปสัมผัสกับหางม้า และอาจจะใช้ผ้าชนิดอื่นๆ ได้ แต่ต้องมีความนุ่ม ไม่มีฝุ่นละออง และไม่ทำให้เนื้อไม้เป็นรอย

มีน้ำยาเคลือบเงาและน้ำยาทำความสะอาดเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายอยู่หลายชนิดที่อาจใช้กับคันชักได้เช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าคันชักได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาเหล่านี้บ่อยนัก ก่อนจะใช้น้ำยาเคลือบเงาและน้ำยาทำความสะอาดควรจะทดสอบก่อนว่ามีผลกับผิวเคลือบหรือไม่ ให้ทดลองใช้ในพื้นที่เล็กๆ ที่ไม่เด่นนักก่อน และพยายามอย่าให้น้ำยาสัมผัสกับตัวหางม้า และห้ามใช้น้ำยาทำความสะอาดทั่วๆ ไปทำความสะอาดใกล้ๆ กับเครื่องดนตรีหรือคันชักเป็นอันขาด เพราะบางทีไอระเหยของน้ำยาเหล่านี้อาจทำความเสียหายให้กับเครื่องดนตรีและคันชักของคุณได้

อุปกรณ์ประดับคันชักที่ทำจากเงินหรือนิคเกิ้ลที่ติดอยู่กับ Frog และ Screw button หรือปลายคันชักมักจะทำปฏิกิริยากับอากาศหลังจากที่ใช้งานไปนานๆ ในขณะที่รอยหมองคล้ำที่เป็นมากๆ นั้นควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของช่างที่ชำนาญ แต่สามารถป้องกันได้อย่างง่ายๆ ได้โดยการทำความสะอาด Frog, Screw button และปลายคันชักทุกๆ วันด้วยผ้าสะอาดๆ แบบไม่เคลือบน้ำยา เมื่อคันชักถูกใช้งานไปสักพัก บริเวณโคนหางม้าอาจจะมีคราบดำๆ ที่เกิดจากคราบน้ำมันและยางสน เมื่อคราบสีดำเริ่มเด่นชัดขึ้น วิธีที่ดีและปลอดภัยที่สุดคือการเปลี่ยนหางม้าชุดใหม่ ซึ่งดีกว่าที่จะพยายามทำความสะอาดหางม้าด้วยเครื่องมือหรือน้ำยาเคมีใดๆ

ความชื้น (Humidity)
การควบคุมอุณหภูมิมีความสำคัญกับคันชักพอๆ กับไวโอลินเลยทีเดียว ความชื้นที่มากหรือน้อยเกินไปอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ไม้เกิดการบิดตัว แตก และมีผลต่อแรงดึงของหางม้าได้ ความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมสำหรับไวโอลินและคันชักอยู่ระหว่าง 40 ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ (ความชื้นสัมพัทธ์สูงสุดไม่ควรเกิน 50 เปอร์เซ็นต์) ในแถบภูมิประเทศที่มีอุณหภูมิของฤดูกาลที่แตกต่างกันและมีความชื้นสัมพัทธ์ที่เปลี่ยนแปลงบ่อย การควบคุมความชื้นให้คงที่อาจจะเป็นงานที่ยากทีเดียว ปัจจุบันมีกล่องใส่และอุปกรณ์ควบคุมความชื้น (Humidifier) ให้ได้เลือกใช้ สถานที่เก็บไวโอลินหรือคันชักควรจะมีการควบคุมความชื้นหรือปรับลดวามชื้นตลอดเวลา

สิ่งสำคัญที่ควรจำก็คืออุปกรณ์ควบคุมความชื้นที่ใช้ในกล่องหรือตัวไวโอลินจะมีผลก็ต่อเมื่อปิดกล่องเท่านั้น แต่เมื่อเปิดกล่องความชื้นทั้งหมดจะหายไปอย่างรวดเร็ว ระดับความชื้นสามารถวัดได้ง่ายโดยใช้เครื่องตรวจวัดความชื้น (Hygrometer) แบบติดผนังซึ่งติดอยู่บนผนังห้องเก็บเครื่องดนตรีชิ้นนั้นๆ นอกจากนั้นยังมีเครื่องตรวจวัดความชื้นขนาดเล็กเช่นกัน แต่อาจจะอ่านค่าได้ไม่ละเอียดนัก ส่วนการเก็บคันชักควรจะเก็บรักษาในสภาพความชื้นที่เหมาะสมเช่นเดียวกันเพื่อให้พร้อมเล่นได้ในเวลาที่ต้องการ ซึ่งอาจทำได้โดยไม่ทำให้เกิดความเสียหายกับคันชักตราบใดที่คุณนำคันชักกลับมาเก็บไว้สภาพความชื้นที่เหมาะสมก่อนที่ไม้และหางม้าจะรับเอาความชื้นที่ไม่ต้องการมากจนเกินไป

อุณหภูมิ (Temperature)
นอกจากความเสียหายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงความชื้นของอากาศอย่างรุนแรงแล้ว คันชักยังอาจจะเกิดความเสียหายในแบบเดียวกันจากอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในภูมิประเทศที่มีอากาศเย็นนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้คันชักมีอุณหภูมิที่ต่ำลง สิ่งสำคัญก็คือการทำให้อุณหภูมิค่อยๆ ลดลงช้าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งทำได้โดยเก็บคันชักและไวโอลินไว้ในกล่องให้อบอุ่นที่อุณหภูมิห้อง

ความร้อนที่สูงจนเกินไปอาจจะทำให้ผิวเคลือบอ่อนตัว อาจจะทำให้เกิดรอยจากผ้าบุข้างในกล่องไวโอลิน และถ้าแย่กว่านั้นอาจจะคันชักไปเกาะติดกับด้านในกล่องได้ ความร้อนที่สูงเกินไปสามารถเกิดได้ในทุกฤดูกาล ส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากการทิ้งกล่องไวโอลินไว้กลางแดด วางไว้ใกล้เครื่องทำความร้อน หรือวางไว้ในที่นั่งผู้โดยสารหรือช่องเก็บกระเป๋าของรถยนต์โดยไม่ได้ตั้งใจการดูแลรักษาคันชัก

โดย: - [0 3] ( IP A:202.12.74.6 X )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
ความคิดเห็นที่ 1
    ยางสน (Rosin)
คำถามส่วนใหญ่เกี่ยวกับยางสนก็คือ ความเหนียวและวิธีการฝนยางสน ควรจะถูยางสนบ่อยแค่ไหน และวิธีทำความสะอาดคราบยางสนที่ถูกวิธี ยางสนที่มีจำหน่ายในท้องตลาดมีรูปร่าง บรรจุภัณฑ์ สีสัน เกรด ส่วนผสมพิเศษ และใช้กับเครื่องสายที่ต่างชนิดกัน ยางสนไวโอลิน วิโอล่า และเชลโลจะมีความต่างกันในเรื่องความเหนียว ซึ่งยางสนสีเข้มจะยึดเกาะสายได้ดีกว่ายางสนสีอ่อน ยางสนที่ไม่เกาะสายมากนักมักจะเป็นที่นิยมใช้ในกลุ่มนักไวโอลินหรือในภูมิประเทศที่อากาศร้อนและมีความชื้นสูง ส่วนยางสนที่เกาะสายได้ดีๆ จะเหมาะกับนักเชลโล หรือในภูมิประเทศที่มีอุณหภูมิต่ำและมีความชื้นไม่สูงมากนัก

ในขณะที่ยางสนไวโอลิน วิโอล่า เชลโล อาจจะค่อนข้างคล้ายคลึงกัน แต่ยางสนดับเบิ้ลเบส ค่อนข้างจะอ่อนกว่าเมื่อเทียบกัน ให้การเกาะสายที่ดีกว่าเพื่อทำให้สายเสียงต่ำที่มีความหนากว่าเกิดการสั่นสะเทือน ในขณะที่ฝนยางสนไปมานั้น จุดมุ่งหมายก็คือให้ยางสนเกาะหางม้าอย่างทั่วถึงด้วยปริมาณที่เหมาะสมเพื่อให้เกาะสายได้ดี และต้องไม่ให้มากจนเกินไปจนผงยางสนส่วนเกินไปเกาะติดกับเครื่องดนตรีและคันชักอย่างรวดเร็ว

ให้ทดสอบการฝนยางสนคันชักไวโอลิน วิโอล่า เชลโลด้วยการลากคันชักยาวๆ อย่างช้าๆ ขึ้นและลงตลอดความยาวของคันชัก หางม้าที่ต้องการยางสนมากจะกินลงไปในก้อนยางสน ในขณะที่หางม้าที่รับยางสนพอเพียงแล้วจะไถลไปบนก้อนยางสนที่มีผงยางสนติดอยู่ด้านบน

คันชักดับเบิ้ลเบสมักจะฝนยางสนโดยการลากคันชักยาวๆ จากโคนจรดปลายอย่างรวดเร็ว เนื่องจากยางสนของดับเบิ้ลเบสมักจะอ่อนมาก ทำให้การลากคันชักขึ้น-ลงบนก้อนยางสนทำได้ง่าย ก้อนยางสนที่ไม่ได้บรรจุในกล่องไม้หรือพลาสติก เวลาฝนยางสนควรจะเปลี่ยนไปหลายๆ ด้านเพื่อรักษาผิวหน้าของมันให้เรียบอยู่เสมอเพื่อให้ได้ผิวสัมผัสกับหางม้าที่ดีที่สุด และยังป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดกับด้านข้างคันชักที่ไปเสียดสีกับร่องบนยางสนที่ลึกจนเกินไป

ความถี่ในการฝนยางสนเป็นเรื่องของความชอบส่วนตัว ชนิดของเครื่องดนตรีที่เล่น ยี่ห้อและเกรดของยางสนที่ใช้ อุณหภูมิ ความชื้น และระยะเวลาที่เล่น นักดนตรีบางคนอาจจะชอบฝนยางสนในทุกโอกาส มีตั้งแต่ประเภทที่ฝนยางสนทุกๆ 2-3 ชั่วโมงไปจนถึง 2-3 วันจึงจะฝนสักครั้งหนึ่ง

ตามที่ได้กล่าวเอาไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าหลังการเล่นทุกครั้งให้ใช้ผ้าแห้งๆ สะอาดๆ ปราศจากฝุ่นละอองเช็ดทำความสะอาดคราบยางสนจากคันชักและผิวของเครื่องดนตรีก่อนที่มันจะจมลงไปในผิวของวานิช นอกจากนั้นยังควรจะใช้ผ้าแห้งๆ สะอาดๆ เช็ดเพื่อขจัดคราบยางสนที่เกาะอยู่บนสายบ้าง ถ้าปล่อยให้ยางสนเกาะสะสมบนสายมากจนเกินไปจะมีผลเสียต่อน้ำเสียงและการเล่นของเครื่องดนตรีตัวนั้น

นอกจากนั้นนักดนตรีควรจะสร้างสมนิสัยในการตรวจสอบคันชักของตนเองอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งเพื่อตรวจดูว่าการขันสกรู (Screw button) ปรับความตึงหางม้าติดขัดหรือไม่ หรือความตึงของหางม้าหย่อนเกินไปหรือเปล่า และสำรวจความเสียหายบริเวณปลายคันชักและ Frog ซึ่งปัญหาเหล่านี้ควรจะปรึกษากับช่างผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาวิธีซ่อมแซมที่เหมาะสมต่อไป

โดย: - [30 ม.ค. 49 15:27] ( IP A:202.12.74.6 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
    2.การดูแลรักษาโดยช่างผู้ชี่ยวชาญ

การขึ้นหางม้า
ไม่ว่าหางม้าจะดีแค่ไหนก็ตาม แต่เมื่อหางม้าเริ่มเสื่อมสภาพก็ควรจะเปลี่ยนหางม้าโดยช่างที่ชำนาญ สภาพอากาศที่มีความชื้นและอุณหภูมิที่สูงอาจทำให้ความยาวของหางม้าเปลี่ยนไป ทำให้ปรับความตึงและหย่อนได้ยาก และพอใช้ไปนานๆ อาจเกิดความมันและหางม้าเกาะยางสนได้ไม่ดีนัก หางม้าที่ตึงจะค่อยๆ สูญเสียความยืดหยุ่น เปราะ และขาดง่าย โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในมือของนักดนตรีที่มือหนักๆ นอกจากนั้นหางม้าอาจจะขาดเนื่องจากรอยสึกที่เกิดจากการเสียดสีของการเล่น ดังนั้นผู้เล่นควรจะเปลี่ยนหางม้าอย่างน้อยปีละครั้ง ซึ่งขึ้นอยู่กับการใช้งานและสภาพอากาศ

การทำความสะอาดและเคลือบเงา
น้ำยาทำความสะอาดคราบสกปรกและคราบยางสนฝังแน่นอย่างได้ผลนั้น อาจจะเป็นอันตรายทั้งต่อผิวเคลือบของคันชักและต่อสุขภาพของผู้เล่นด้วยเช่นกัน ดังนั้นการทำความสะอาดคราบยางสนฝังแน่นที่เกาะผิวเคลือบของคันชักควรจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญในการหาวิธีทำความสะอาดอย่างปลอดภัย

ปัญหาเรื่องการขันสกรู (Screw button)
ปัญหาเรื่องความฝืดในการปรับสกรูของหางม้านั้นอาจจะเกิดจากปัญหาเช่น หางม้าหลุดและเสื่อมสภาพ เกลียวร้อยสกรู (Eyelet) และตำแหน่งของ Frog หรือ Button ที่ไม่เหมาะสม ในขณะที่นักดนตรีเก่งๆ มักจะรู้ว่าปัญหาของคันชักอยู่ตรงไหน แต่การซ่อมที่ดีที่สุดก็คือควรส่งให้ช่างที่เชี่ยวชาญเป็นผู้ดำเนินการ

รอยหักและรอยแตก
การซ่อมรอยแตกและรอยปริใดๆ ก็ตาม หรืออาจจะเป็นรอยแตกบริเวณปลายและด้ามคันชัก Frog และสกรู (Screw button) ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของช่างผู้ชำนาญ ช่างซ่อมมือสมัครเล่นที่มีแต่ใจมักจะทำให้เกิดปัญหาและความเสียหายมากขึ้น ทำให้มูลค่าของคันชักลดลงอย่างน่าเสียดาย

โดย: - [30 ม.ค. 49 15:32] ( IP A:202.12.74.5 X: )
ความคิดเห็นที่ 4
    การดูแลรักษาคันชักไวโอลิน
- ผ่อนหางม้าทุกครั้งหลังเลิกเล่นทุกครั้ง ความโค้งของด้ามคันชักเกิดจากการดัดด้วยความร้อน ถ้าไม่ผ่อนความตึงของหางม้าอาจทำให้ความโค้งของด้ามคันชักคืนตัวได้

- อย่าเก็บคันชักไว้ในกล่องที่ไม่ได้เปิดนานเกินไป ถ้าปล่อยไว้นานอาจพบว่าหางม้าอาจขาดได้ เนื่องจากไข่แมลงของแมลงที่ฝังตัวอยู่ตามผ้าบุจะไปทำลายหางม้า นอกจากนั้นไข่แมลงพวกนี้ยังไปทำลาย Frog ที่ทำจากกระดองเต่าและกระดูกปลาวาฬอีกด้วย ถ้าจะเก็บไวโอลินและคันชักทิ้งไว้ในกล่องนานๆ ให้หาการบูรสักก้อนทิ้งไว้ในช่องใส่ของในกล่องไวโอลิน

- เวลาเก็บคันชักในกล่องให้สลับด้านคันชักบ้าง ฝากล่องไวโอลินบางรุ่นจะมีแรงกดลงมาบนด้ามคันชัก ซึ่งจะทำให้คันชักบิดไปทางซ้ายหรือขวาได้

- หมั่นเปลี่ยนหางม้าบ่อยๆ อย่าปล่อยให้หางม้าหลุดมากเกินไป เพราะแรงดึงที่ไม่สมดุลอาจทำให้ด้ามคันชักงอได้

- ถ้ารู้สึกว่าหางม้าสั้นหรือยาวเกินไปอย่าไปตำหนิช่างเปลี่ยนหางม้า หางม้าจะหดและยืดตัวเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

- มอบหน้าที่การซ่อมคันชักและหางม้าให้เป็นงานของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น อย่าลงมือทำเองโดยเด็ดขาด

- อย่าเปลี่ยนสกรูหรือ Frog คันชักของคุณ นอกเสียจากว่าจำเป็นจริงๆ เท่านั้น เพราะคุณภาพการเล่นที่ดีของคันชักอาจเสียไปเนื่องจากการเปลี่ยนชิ้นส่วนที่ไม่จำเป็น

- อย่าแสดงความดีใจกับเพื่อนร่วมวงหรือโซโล่อิสท์ด้วยการเคาะด้ามคันชักกับแสตนด์ตั้งโน้ต

- ห้ามทำคันชักตรงพื้นโดยเด็ดขาด

- อย่าเหวี่ยงคนชักไปมาเพื่อให้ผงยางสนส่วนเกินหลุดออก เพาะปลายคันชักอาจหักได้

- เวลาฝนอย่างสนอย่าฝนจนหางม้าเป็นฝุ่นขาวไปหมด เพราะสิ่งที่จะได้คือฝุ่นยางสนทั้งนั้น จำไว้ว่าหนามของหางม้าจะเสื่อมสภาพลงจากการใช้งานเท่านั้น

- อย่าปล่อยให้แผ่นหุ้มปลายคันชักที่เป็นงาช้าง (Ivory tip) แตกหรือหลุดออก เพราะอาจทำให้ปลายคันชักได้รับความเสียหายได้ หมั่นตรวจดูให้แน่ว่าแผ่นหุ้มปลายคันชักอยู่ในสภาพดีไม่แตกออกเป็นชิ้นๆ

คำแนะนำข้างบนอาจจะเป็นเรื่องที่นักดนตรีทุกคนทราบดีแล้ว แต่ก็มีหลายคนที่ลืมพื้นฐานสำคัญเรื่องการดูแลรักษาเครื่องดนตรีอันนี้ไป นักดนตรีที่ดีควรรู้จักหมั่นดูแลรักษาเครื่องดนตรีของตนให้อยู่ในสภาพดีเสมอ
โดย: - [26 ต.ค. 49 23:46] ( IP A:202.12.74.5 X: )
ความคิดเห็นที่ 6
    การดูแลรักษาคันชัก
- ค่อย ๆ หมุนสกรูที่โคนคั้นชักเพื่อขึ้นหางม้า แต่อย่าให้ตึงจนเกินไปนัก ให้มีระยะช่องห่างระหว่างหางม้ากับด้ามคันชักขนาดที่สามารถสอดด้ามดินสอได้พอดี

- ก่อนเล่นให้ฝนอย่างสนแต่พอประมาณ ให้ถือยางสนไว้ในมือซ้าย ถือคันชักไว้มือขวา วางหางม้าให้ขนานไปกับยางสนในแนวระนาบกับพื้น ค่อยๆ ฝนยางสนขึ้นลงอย่างช้าๆ และควรเลือกใช้ยางสนที่มีคุณภาพดี

- หลังจากการเล่นก็ให้ทำความสะอาดสายและไวโอลินโดยการเช็ดคราบเหงื่อไคล สิ่งสกปรก ยางสน ที่ตกค้าง และอย่าลืมทำความสะอาดคันชักด้วย ใช้ผ้าสะอาดเนื้อนุ่มๆ หรือหนังชามัวส์เช็ดทำความสะอาดเช่นเดียวกัน พยายามอย่าให้นิ้วมือไปสัมผัสกับหางม้า เพราะไขมันจะไปเกาะทำให้เวลาสีแล้วไม่ค่อยกินสาย

- ไม่ควรสัมผัสไวโอลินโดยตรง ทั้งแผ่นหน้า ด้านข้าง และแผ่นหลังของไวโอลินโดยตรง เพราะไขมันและเหงื่ออาจจะไปจับตัวกับยางสนที่สะสมอยู่บนไวโอลินกลายเป้นคราบเหนียวๆ ทำความสะอาดได้ยาก และยังมีผลต่อการสั่นสะเทือนของเสียงด้วย ควรจับบริเวณคอ (ตรงที่ไม่ได้ทาสี) กับบริเวณหางม้าและเหล็กยึดที่รองคาง

- การวางไวโอลินในขณะที่ไม่ได้เล่นให้เก็บไว้ในกล่องเป็นดีที่สุด ถ้าวางไว้บนพื้นหรือเก้าอี้อาจจะมีใครเผลอไปเหยียบหรือนั่งทับเข้า

- หลังการเล่นทุกครั้งให้คลายหางม้าก่อนเก็บในกล่อง

- ไม่ควรเก็บไวโอลินไว้ใกล้ ๆ กับที่ ๆ เย็นจัดหรือร้อนจัด เพราะจะมีผลต่อกาว ทำให้กาวเสื่อมคุณภาพและเกิดการปริตามรอยต่อของไม้ได้
โดย: - [5 พ.ย. 49 9:29] ( IP A:202.12.74.5 X: )

คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน