ความคิดเห็นที่ 4 จะลองอธิบายในหลายๆมุมนะครับ คือถ้ามองในมุมว่าใครเป็นคนสร้างไวโอลินแล้ว ผมคิดว่าราคา workshop violin ของจีนก็จะราคาประมาณใกล้ๆกันนี้ ซึ่งแปลว่าเราจะได้งานระดับ master violin ของไทย ในราคาระดับเดียวกับ workshop violin ของจีน แต่ก็มีมุมแตกออกมาได้อีกว่า อาจารย์อนุสิทธิ์นั้นทำไวโอลินโดยการฝึกฝนด้วยตนเอง ไม่ได้เรียนจากโรงเรียนแบบที่มีใบปริญญา ซึ่งมุมนี้ก็อาจทดแทนได้ด้วยความหายากของไวโอลิน คือการหาไวโอลินที่ผลิตจากช่างไทยนั้นหาได้ยากแน่นอนเพราะมีคนทำอยู่ไม่กี่คน ไวโอลินที่ทำโดยช่าง Cremona ที่จบมาจากโรงเรียนที่มีดีกรี อาจหาตามท้องตลาดได้ง่ายกว่าหลายเท่าด้วยซ้ำ และเมื่อตัวเปรียบเทียบเป็น workshop ไวโอลินของจีน ก็แปลว่าทำโดย ผู้ช่วย หรือ ลูกมือ ของ master ที่เรียนมาโดยตรงอีกที ซึ่งถ้าในจีนผมว่าผู้ช่วยหรือลูกมือน่าจะไม่ได้เรียนมาแบบมีดีกรี เดาว่าคงฝึกกันใน workshop นั้นเอง ไม่เหมือนที่ยุโรป แปลว่าก็ไม่ใช่ช่างมีดีกรีอยู่ดีแต่อยู่ภายใต้การดูแลของช่างมีดีกรีอีกที อีกมุมคือมองจากของมุมของวัตถุดิบ ก็อาจจะมองที่ตัว tone wood ไวโอลินของจีนเองก็มีแหล่งที่มาของ tone wood หลากหลาย และต้นทุนตกที่ tone wood หลายเปอร์เซ็นต์เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็น European tone wood ผมไม่แน่ใจว่าปัจจุบัน อาจารย์อนุสิทธิ์ ใช้ tone wood จากแหล่งไหน ส่วนในมุมของคิวที่ต้องรอผลิตนั้น maker ของต่างประเทศที่ดังๆ ก็อาการนี้ทั้งนั้น เช่น Zygmuntowicz , Burgess หรือคนดังอื่นๆ การรอคิวก็ดูจะเป็นเรื่องปรกติ ทั้งนี้สิ่งที่ต้องเสียไปเพื่อแลกกับการได้ไวโอลินจาก maker มีชื่อเสียงและต้องรอคิว ก็คือโอกาสที่จะได้เลือกไวโอลินจาก maker ที่ไม่มีชื่อเสียง ซึ่งที่ในงบประมาณตามที่เจ้าของกระทู้บอกมาจะมีให้เลือกให้ลองอยู่หลายสิบตัว กระจายๆกันตามร้านไวโอลินต่างๆ งงดีนะครับ … แต่ถ้าคิดบวก … ความงงเป็นเรื่องที่ดีครับเพราะแปลว่าเรื่องนี้มีจุดเปรียบเทียบและตัดสินใจหลายจุดให้แต่ละคนได้มีโอกาสเลือกตามบริบทของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมเป็นนักเรียนไวโอลินที่กำลังพัฒนาตัวเองเพื่อจะให้ทันสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปีหน้าและไวโอลินที่ใช้อยู่เป็น factory violin เสียงแข็งๆกระด้างๆ ทำ Dynamic ก็ไม่ออก ทำ Harmonic ก็ไม่ดัง ฯลฯ แบบนี้ผมก็ต้องตัดสินใจในบริบทที่ว่าตัวเองมีความจำเป็น(เร่งด่วน) ที่จะต้องมี instrument ที่ดีขึ้นเพื่อให้สามารถจะตอบสนองการพัฒนาในการเล่นของตัวเองให้ทัน เพราะเวลามันเหลืออีกปีเดียว แต่ในบริบทอื่นเช่น ถ้าผมเป็นนักไวโอลิน ที่มีไวโอลินใช้เป็นประจำอยู่แล้วทั้งเสียงและการตอบสนองก็พอใจอยู่แล้ว พอดีถูกสลากออมสินได้เงินมาหกหมื่นและคิดว่าอยากจะเอาเงินก้อนนี้ไปเปลี่ยนเป็นไวโอลินตัวที่สอง ในบริบทนี้ ผมก็จะมีมุมของการตัดสินใจที่ต่างออกไป เพราะไม่มีอะไรต้องรีบ เวลารอแค่ไหนก็ได้ รอแล้วได้มาไม่ถูกใจก็ยังไม่เป็นไรถ้ามั่นใจว่าขายต่อได้ไม่ขาดทุน (หรือแค่เปลี่ยนจากการถูกสลากออมสิน เป็นถูกสลากกินแบ่งรางวัลที่ 1 อันนี้บริบทก็เปลี่ยนไปอีกเยอะละ 555 ) สรุปว่าเรื่องแบบนี้ผมไม่คิดว่ามีคำตอบแบบฟันธง แต่จะมีบริบทของแต่ละคนเป็นตัวแปรหลักที่ต้องใช้ประกอบการตัดสินใจ และคิดว่าเรื่องเดียวที่ต้องระวังคืออย่าให้อารมณ์มารบกวนตรรกะเท่านั้นเอง อธิบายศัพท์ ผมไม่เคยมั่นใจว่าใช้ศัพท์แสงของวงการได้ถูกต้อง จึงขออธิบายศัพท์ที่ผมเขียนข้างบนไว้ตามนี้นะครับ ถูกผิดอย่างไรรบกวนท่านผู้รู้แก้ไขให้ด้วย Factory Violin : ไวโอลินที่ผลิตจากสายการผลิตในโรงงาน คนงานแต่ละคนทำเฉพาะส่วนที่ตัวเองรับผิดชอบ เช่น มีแผนกทำไม้แผ่นหน้าก็ตัดไม้แผ่นหน้าไป แผนกประกอบก็ทากาวประกอบไม้ไป ช่างแผนกวานิชก็ทาวานิชไป(ดีไม่ดีอาจจะใช้วิธีพ่นเหมือนพ่นสีทีละเป็นสิบๆตัวก็ได้) ฯลฯ ดังนั้นไวโอลินจะไม่ได้เสร็จเป็นตัวด้วยคนๆเดียว และคนงานก็อาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นช่างที่มีฝีมือ Workshop Violin : ไวโอลินที่ผลิตจาก workshop ซึ่งมักเป็น studio เล็กๆ มีคนทำอยู่ 3 - 5 คน โดยเป็นช่างระดับรองลงมาหน่อย แต่วิธีการผลิตจะไม่ได้ทำเป็นสายการผลิตแบบโรงงาน แต่จะยึดแนว Handmade คือช่างแต่ละคนจะทำไวโอลินแต่ละตัวตั้งแต่ต้นจนจบ ภายใต้การควบคุมของเจ้าของ workshop ที่เป็นช่างระดับอาจารย์(master)อีกที ไวโอลินแบบนี้เรียกได้ว่าเป็นไวโอลิน handmade เพียงแต่ทำโดยช่างระดับที่รองลงมาก Master Violin : ไวโอลินที่ทำโดยช่างระดับอาจารย์ ซึ่งบางคนก็มีเวิร์คช้อปบางคนก็เป็นศิลปินเดี่ยวตามอัธยาศัย |