Antonio Stradivari: ผู้สร้างสรรค์ผลงานเพื่อถวายแด่พระผู้เป็นเจ้า
   ...พระเจ้าคือผู้สร้างสรรพสิ่งและความสมบูรณ์ทั้งมวล สิ่งใดๆ ก็ตามที่จะถวายแด่พระองค์ควรจะสมบูรณ์และหมดจด ดังเช่นที่ช่างทำไวโอลินชาวอิตาเลียนนาม Antonio Stradivarius ได้แสดงให้ประจักษ์แล้ว เขาใช้เวลาถึง 1 ปีต่อการสร้างสรรค์ไวโอลิน 1 ตัว แต่ทำอย่างสมบูรณ์และดีเลิศราวกับของที่จะถวายแด่พระองค์
ไม่ว่าจะพูด กระทำ หรือให้สิ่งใดๆ ก็ตาม สิ่งนั้นควรสมบูรณ์และดีพร้อม เพื่อให้พระองค์ทรงพอพระทัย เพราะพระองค์คือความสมบูรณ์และความดีงาม สิ่งใดๆ ก็ตามที่มอบแด่พระเจ้าควรจะสมบูรณ์แบบเช่นกัน Antonio ได้แสดงให้เห็นเเล้วว่า เขาได้สร้างสรรค์แต่ไวโอลินที่สมบูรณ์แบบที่สุดเท่านั้นเพื่อให้พระองค์ทรงพอพระทัย...

( Sathya Sai Baba )

โดย: - [4 ม.ค. 49 20:39] ( IP A:203.156.117.44 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
ความคิดเห็นที่ 1
    Antonio Stradivari
ชื่อของเขานั้นเป็นสัญลักษณ์ของไวโอลินเลยทีเดียว ผลงานที่เขาสร้างขึ้นนั้นมีความสวยงามและแสดงฝีมือเชิงช่างอย่างสูง “ Stradivarius ” (ชื่อที่ปรากฎบนฉลากในไวโอลินของเขาร่วมกับบุตรชายอีก 2 คนคือ Francesco และ Omobono) คือชื่อในภาษาละตินของตระกูล Stradivari ซึ่งนับย้อนไปถึงศตวรรษที่ 12 เลยทีเดียว

Antonio Stradivari ช่างทำไวโอลินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดานักทำไวโอลินทั้งมวล เขาเกิดในตระกูลชนชั้นสูงที่เก่าแก่แห่งเมืองเครโมนา ทางตอนเหนือของประเทศประเทศอิตาลี เครื่องสายในตระกูลไวโอลินได้พัฒนาถึงขีดสุดในยุคของ Amati, Guarneri และ Stradivari นี่เอง เป็นช่วงเวลาที่เครื่องสายได้รับความนิยมอย่างมากในยุโรป นำมาซึ่งความมั่งคั่งให้แก่เขาดังจะเห็นได้จากคำกล่าวที่ว่า "ขอให้ร่ำรวยอย่างสตราดิวารี" หรือ “ Rich as Stradivari ” ได้กลายเป็นคำพูดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในเมืองเครโมนา ชีวิตครอบครัวนั้นเขา ผ่านแต่งงาน 2 ครั้งมีบุตรทั้งหมด 11 คน บางคนก็ได้กลายเป็นช่างทำไวโอลินเช่นเดียวกัน

Stradivari เริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นเด็กฝึกงานกับ Nicolo Amati หลานชายของ Andrea Amati ผู้ริเริ่มศิลปะการทำไวโอลินแห่งเมืองเครโมนา หลังจากที่เรียนรู้การทำงานอยู่ประมาณ 7 ปี ในปีค.ศ. 1666 เขาได้ออกมาเปิดร้านเป็นของตนเองควบคู่ไปกับการทำงานที่ร้านของผู้เป็นอาจารย์ด้วย จนกระทั่งถึงปีค.ศ. 1684 เมื่อ Amati เสียชีวิตลง ในช่วงนี้เองที่เขาเริ่มผลิตผลงานภายใต้ชื่อของเขา ปัจจุบันมีราคาที่สูงมาก หลาย ๆ ชิ้นถือว่าเป็นผลงานที่ดีที่สุดของเขา ผลงานของเขาในช่วงนี้ยังคงยึดรูปแบบของ Amati อยู่บ้าง แต่ฝีมือของเขาในช่วงนี้ถือว่าเยี่ยมที่สุดในยุคนั้นเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามเขาไม่ต้องการที่จะใช้แบบของตระกูล Amati ที่พัฒนามากว่า 3 ชั่วอายุคนแล้ว เพราะรู้สึกว่ายังไม่สมบูรณ์เพียงพอ เขาค่อย ๆ ปรับปรุงแบบและรายละเอียดของไวโอลินตามแบบของเขา กว่า 40 ปีที่พัฒนาสร้างสรรค์ผลงานจนสมบูรณ์แบบและเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ในปีค.ศ. 1690 เขาได้ขยายแบบไวโอลินที่คล้ายคลึงกับแบบของช่างทำไวโอลินแห่งเมืองเบรสเชีย Giovanni Paolo Maggini ที่พัฒนาขึ้นในตอนต้นศตวรรษที่ 17

Stradivari เชื่อว่านักดนตรีต้องการไวโอลินที่ให้น้ำเสียงที่มีพลังยิ่งขึ้นกว่าเดิม เขาได้พัฒนาไวโอลินแบบ “ Amatise ” ขึ้น โดยยังคงความกว้างของลำตัวเอาไว้เช่นเดียวกับแบบที่เขาใช้ในยุคแรก ๆ แต่เพิ่มขนาดความยาวของลำตัวไวโอลินขึ้นและลดความป่องของไม้แผ่นหน้าและแผ่นหลังลง ปัจจุบันเรียกว่าไวโอลินแบบ “ Long Pattern ” (ความยาว 14 3/16” และมีความกว้าง 8”) เขาใช้แบบนี้อยู่เป็นเวลาสิบกว่าปีหลังจากนั้นจึงเลิกผลิต

Stradivari ได้ทดลองต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เช่น ลดขนาดลำตัวไวโอลินให้สั้นลงและปรับสัดส่วนต่าง ๆ ให้เหมาะสม ไวโอลินของเขาในยุคนี้จึงไม่เหมือนกันเลยซักตัวเดียว เขาลงมือทำไวโอลินในทุก ๆ รายละเอียดด้วยตัวเองเช่น ลูกบิด ฟิงเกอร์บอร์ด การขุดแต่งส่วนโค้งของลำตัว ผลงงานของเขาไม่มีรายละเอียดส่วนใดเลยที่ไม่ได้สัดส่วนที่สวยงาม ทดลองใช้ไม้ประเภทต่าง ๆ การวางลวดลายไม้ที่งดงาม รวมถึงน้ำมันวานิชที่หลากหลายสูตร ตั้งแต่โทนสีแดงเข้มไปจนถึงสีส้มสดใส ส่วนผสมน้ำมันวานิชที่เขาใช้ยังคงเป็นถกเถียงกันอยู่ปัจจุบันนี้ เชื่อกันว่า Stradivari ได้เขียนสูตรน้ำมันวานิชเก็บไว้ในคัมภีร์ไบเบิ้ลประจำตระกูลแต่ได้สูญหายไปและยังคงเป็นความลับต่อมาจนทุกวันนี้
ต่อมาในปี ค.ศ. 1700 เมื่อเขาอายุได้ 56 ปี ซึ่งถือเป็นยุคทองของเขาหรือที่เรียกว่า “ Golden Period ” (อยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1700-1725) กว่ายี่สิบปีที่เขาได้สร้างสรรค์ผลงานที่ดีที่สุด และเป็นต้นแบบให้กับช่างทำไวโอลินในยุคต่อ ๆ มา เขายังคงทำงานอย่างสม่ำเสมอแม้ขณะที่อายุ 75 ปีแล้วก็ตาม เครื่องดนตรีที่ทำขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1720 และในปีที่เขาเสียชีวิตคือ ค.ศ. 1737 มีฝีมือและความประณีตที่แทบจะไม่แตกต่างกันเลยแม้ว่าเขาจะมีอายุ 93 ปีแล้วก็ตาม

ไวโอลินตัวสุดท้ายที่เขาทำขึ้นเชื่อกันว่าอยู่ในปี ค.ศ. 1737 นั้นได้เขียนไว้บนฉลากว่า “ D.Anni 93, ” (ทำเมื่ออายุ 93 ปี) หรือรู้จักกันในชื่อ “ Swan ” คอนเสิร์ทไวโอลินตัวนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความสวยงามและฝีมือที่ยังคงเยี่ยมยอดของเขา ในยุคของ Stradivari ศิลปการทำไวโอลินได้พัฒนาถึงขีดสุด แต่หลังจากที่เขาเสียชีวิตแล้วไวโอลินแห่งเมืองเครโมนาก็ค่อย ๆ เสื่อมลงไป

โดย: - [24 มี.ค. 49 13:12] ( IP A:202.12.74.6 X: )
ความคิดเห็นที่ 4
   บุตรชายของเขาทั้ง 2 คนคือ Francesco (1671-1743) และ Omobono (1679-1742) ได้ดำเนินรอยตามบิดา แต่ไม่สามารถเทียบกับเขาได้เลย ทั้ง 2 คนเป็นผู้ช่วยในช่วงท้าย ๆ อาชีพของเขา และดูเหมือนว่าเขาจะมีลูกศิษย์เพียงคนเดียวคือ Carlo Bergonzi แต่มีช่างทำไวโอลินหลายคนที่อ้างว่าเป็นลูกศิษย์ที่เคยทำงานอยู่ในร้านของเขา บางคนได้อ้างไว้ในฉลากไวโอลินของพวกเขาทีเดียว แต่ก็ไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่จะยืนยันข้ออ้างเหล่านั้นได้เลยแม้ในปัจจุบัน ผลานทั้งหมดของ Stradivari ได้เคยตีพิมพ์ไว้ในหนังสือ Antonio Stradivari, His Life and Work เมื่อปี 1902 โดย W.E. Hill & Sons แห่งลอนดอน

ในช่วงศตวรรษที่ 17 ไวโอลินที่ผลิตโดยตระกูล Amati นั้น มีชื่อเสียงมากในยุโรปทั้งใน อิตาลี เสปน ฝรั่งเศส อังกฤษ และในประเทศยุโรปในแถบนั้น ช่างทำไวโอลินร่วมสมัยกับ Nicolo Amati คือ Jacobus Stainer (1621-1683) ซึ่งตั้งรกรากอยู่ที่ Absam เมือง Tyrol ไวโอลินของเขามีความสวยงามประณีตเช่นเดียวกัน แต่มีความป่องของแผ่นหน้าและหลังมากกว่า ไวโอลินของตระกูล Amati มีจุดเด่นในเรื่องของน้ำเสียงที่ไพเราะแจ่มใสมีน้ำเสียงที่กังวานพอสมควรซึ่งถือว่าดีที่สุดในยุคนั้น ส่วนไวโอลินของ Stainer มีคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน แต่เพราะความป่องที่มากกว่าจึงให้น้ำเสียงที่สดใสและตอบสนองต่อคันชักได้ดี

ไวโอลินทั้ง 2 แบบเป็นที่นิยมกันในนักดนตรียุคนั้น และเมื่อ Stradivari เริ่มพัฒนาไวโอลินแบบของเขาที่มีความป่องของแผ่นหน้าและแผ่นหลังที่แบนราบกว่า การตอบสนองของน้ำเสียงแม้จะน้อยกว่าแบบของ Stainer แต่ไวโอลินของเขายังไม่เป็นที่ยอมรับของนักไวโอลินหลาย ๆ คน ต้องถือว่าเป็นเพราะความชอบที่แตกต่างกันของนักดนตรีแต่ละคน ต่อมาไวโอลินที่มีน้ำเสียงสูงที่สดใสกว่าแบบโซปราโนจึงได้รับการยอมรับในบรรดานักไวโอลินจวบจนทุกวันนี้ ด้วยน้ำเสียงที่ไพเราะกังวานอันเป็นเอกลักษณ์ของไวโอลินแบบนี้ หลังจากนั้นไม่นานช่างทำไวโอลินทั้งหลายจึงยอมรับและยึดถือเป็นต้นแบบจวบจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ส่วนไวโอลินแบบอื่น ๆ นั้น ปัจจุบันไม่นิยมสร้างกันมากนัก

Stradivari นิยมทำเครื่องดนตรีเพื่อขายให้กับชนชั้นที่ร่ำรวย ผู้ที่สั่งซื้อผลงานของเขามีทั้งทางราชสำนัก ซึ่งครอบครองเครื่องดนตรีเหล่านั้นไว้อยู่หลายปีก่อนที่จะค่อย ๆ เปลี่ยนมือขึ้นไปอยู่ประเทศทางเหนือ เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ และยังมีผู้ที่นิยมสะสมเครื่องดนตรีที่มีค่าเหล่านี้ในเบลเยี่ยม ฮอลแลนด์ ออสเตรีย-ฮังการี เยอรมันนี และรัสเซีย
พ่อค้าคนกลางชาวอิตาเลียนคือ Luigi Tarisio ซึ่งแต่เดิมเป็นช่างไม้พเนจร เขาเริ่มต้นอาชีพอย่างสวยหรูในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านไวโอลินที่ชาญฉลาดคนหนึ่ง โดยนำไวโอลินชั้นยอดของช่างฝีมือแห่งอิตาลีอิตาลีไปขายยังฝรั่งเศสและอังกฤษ

เมื่อเขาเสียชีวิตลงพบว่ามีเครื่องดนตรีที่มีค่าจำนวนนับร้อย ๆ ตัว อยู่ในครอบครองของเขา รวมถึงไวโอลินที่ถือว่าดีที่สุดตัวหนึ่งของ Stradivari เลยทีเดียว รู้จักกันในชื่อว่า “ Salabue ” ทำขึ้นในปี ค.ศ. 1716 ชื่อนี้ได้มาเพราะว่ามันอยู่ในความครอบครองของท่านเคาท์ Cozio di Salabue เป็นเวลานาน ไวโอลินตัวนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า “ Le Messie ” เพราะ Tarisio มักจะกล่าวถึงไวโอลินตัวนี้ให้นายหน้าที่เขาติดต่อด้วยฟังบ่อย ๆ แต่ว่าเขาไม่เคยนำออกมาให้ใครได้เห็นเลย ไวโอลินที่มีค่าของ Stradivari นั้นอยู่ในความครอบครองของชาวยุโรปเป็นเวลานานทีเดียว มีผลงานที่เยี่ยมยอดเพียงไม่กี่ชิ้นเท่านั้นที่ตกไปถึงมือนักสะสมชาวอเมริกัน แท้จริงแล้วเจ้าของชาวยุโรปไม่ต้องการที่จะขายสมบัติเหล่านี้ออกไป แต่เมื่อมันถูกขายออกไปเท่ากับเปิดโอกาสให้มันได้แสดงคุณค่าของตัวเอง สภาพเศรษฐกิจหลังสงครามโลกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสถานะทางสังคมอย่างมาก ชนชั้นสูงที่กลายเป็นคนสิ้นเนื้อประดาตัวจำเป็นต้องขายผลงานศิลปต่าง ๆ ที่สะสมไว้รวมถึงไวโอลินที่มีชื่อเสียงเหล่านี้จึงเปลี่ยนมือไปอยู่ในครอบครองของนักสะสมในอเมริกา
โดย: - [24 มี.ค. 49 13:17] ( IP A:202.12.74.5 X: )
ความคิดเห็นที่ 5
   Stradivari ได้รับการยกย่องว่าเป็นช่างทำไวโอลินที่มีอัจฉริยะภาพสูง ตลอดช่วงชีวิตการทำงานนั้นเขาได้สร้างเครื่องดนตรีต่างๆ มากกว่า 1,100 ตัว เช่น ไวโอลิน วิโอล่า เชลโล่ ฮาร์พ และกีตาร์ ดังได้กล่าวไว้ในหนังสือ Antonio Stradivari, His Life and Work และได้รับการยอมรับว่าใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด ปัจจุบันผลงานของเขามีหลงเหลืออยู่เพียง 600 กว่าตัวเท่านั้น และอยู่ในอเมริกาประมาณ 300 ตัว

เครื่องดนตรีบางส่วนของเขาที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีเช่น ไวโอลิน 2 ตัวที่สร้างในปี 1690 แบบ “ Long Pattern ” ซึ่งเคยอยู่ในมือของ Leopold Auer และไวโอลิน “ Long Pattern ” อีกตัวที่สร้างในปี 1698 ของ Joseph Joachim และเคยเป็นคอนเสิร์ทไวโอลินของ Hugo Kortschak อยู่หลายปี

โดย: - [24 มี.ค. 49 13:18] ( IP A:202.12.74.6 X: )
ความคิดเห็นที่ 7
   ไวโอลิน “Betts” ผลงานที่ทำขึ้นปี 1704 ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่ห้องสมุดสภาคอนเกรส กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เช่นเดียวกับไวโอลินของเขาอีก 2 ตัว รวมถึงวิโอล่าปี 1727 ชื่อ “Casavetti” และเชลโล่ “Castelbarco” (ปี 1697) ไวโอลิน “Viotti” (ปี 1709) ตั้งชื่อตามเจ้าของเดิมซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ส่วน “Dolphin” (ปี 1714) มีที่มาจากน้ำมันวานิชที่แวววาวดังสีรุ้งของมัน ไวโอลินที่มีชื่อเสียงตัวอื่น ๆ เช่น “Cessol” (ปี 1716) - “Wilhelmj” (ปี 1725) - “Lamoureux” - “Swan” (ปี 1737)

วิโอล่าของเขาที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันมีทั้งสิ้น 10 ตัว ที่อยู่ในอเมริกาเช่น “Medici” ปี 1690 สันนิษฐานว่าเป็นหนึ่งในจำนวนผลงานชุดที่สร้างขึ้นเพื่อแกรนด์ดยุคแห่งแคว้นทัสคานีในปีนั้น “Macdonald” (ปี 1716) “Casavetti” ปี 1727 ที่กล่าวไปแล้ว และ “Gibson” ที่ทำขึ้นในปี 1728 เชลโล่ที่มีชื่อเสียงของเขาที่อยู่ในอเมริกาเช่น “Castelbarco” (ปี 1697) “Archinto” (ปี 1689) “Servais”(ปี 1701) “Duport” (ปี 1711) “Davidoff” (ปี 1712) “Vaslin” (ปี 1715) “Ben Venuto” (ปี 1730) “Ladenburg” (ปี 17336)

ไวโอลินของเขาที่ยังคงอยู่ในแผ่นดินยุโรปเช่น “Hellier” (ปี 1679) เป็นไวโอลินตัวที่ 2 ที่มีลวดลายที่เขาได้สร้างขึ้น “Alard” (ปี 1715) “Salabue” หรือ “Le Messie” (ปี 1716) “Tuscan” (ปี 1716) ปัจจุบันเก็บรักษาไว้คู่กับวิโอล่าและเชลโล่อย่างละ 1 ตัวที่สถาบันการดนตรีแห่งเมืองฟลอเรนซ์ ยังมีผลงานของเขาอีกหลาย ๆ ตัวที่แสดงให้เห็นถึงชื่อเสียงของช่างทำไวโอลินที่ยิ่งใหญ่ท่านนี้

เครื่องดนตรีแต่ละตัวของ Stradivari ต่างก็มีลักษณะเฉพาะตัวที่ทำให้จดจำได้ทันทีที่ได้เห็น มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากผลงานของ Amati และ Guarneri รวมทั้งช่างฝีมือคนอื่น ๆ แม้ว่าจะมีความคล้ายคลึงในรูปทรงและสัดส่วนต่าง ๆ ก็ตาม แต่ก็มีความแตกต่างในเรื่องของรายละเอียดอื่น ๆ คล้ายกับใบหน้าของมนุษย์ที่แม้จะมีความคล้ายกันแค่ไหนแต่ก็ไม่เหมือนกันแม้แต่คนเดียว

ไวโอลินของ Stradivari ให้น้ำเสียงโซปราโนที่สดใส ให้เสียงทุ้มต่ำที่กังวานเช่นเดียวกับไวโอลินของ Guarneri (del Gesu) และ Maggini มีโทนเสียงคอนทราลโต้ที่นุ่มนวล (เสียงต่ำที่สุดของผู้หญิง) เช่นเดียวกับไวโอลินของ Amati และมีน้ำเสียงที่ชัดเจนแจ่มใสเช่นเดียวกับไวโอลินของ Stainer โดยไม่มีเสียงเพี้ยนหรือแปร่งเลยไม่ว่าจะเล่นหรือกดลงในตำแหน่งใด ๆ ก็ตาม

ปัจจุบันไวโอลินของ Stradivari มีมูลค่ามหาศาลเพราะคุณค่าและความงามในตัวมันเองบวกกับฝีมือที่หาใครทาบได้ยาก ผลงานของเขาใช้วัสดุเพียงเกรดเดียวเท่านั้นคือดีที่สุด สมบูรณ์แบบในทุกรายละเอียดไม่ว่าภายนอกหรือภายในแม้แต่รายละเอียดจุดเล็ก ๆ ก็ตาม ผลงานของเขามีรูปทรงที่สวยงาม น้ำมันวานิชที่ไม่มีใครเทียบได้ ด้วยองค์ประกอบเหล่านี้เองที่ทำให้เกิดเสียงดนตรีที่มีความไพเราะและมีคุณค่าอย่างสูง เป็นที่ต้องการของนักดนตรีทั้งหลาย โดยเฉพาะเชลโล่และวิโอล่าที่เขาสร้างขึ้นจำนวนไม่มากนัก ในปัจจุบันมีวงสตริงควอเตทอยู่หลายวงที่ใช้เครื่องดนตรีของ “ Strad ” และมีนักดนตรีอยู่ไม่กี่คนนักที่จะมีโอกาสได้เล่นเครื่องดนตรีที่ดีเยี่ยมเช่นนี้

โดย: - [24 มี.ค. 49 13:21] ( IP A:202.12.74.6 X: )
ความคิดเห็นที่ 9
    Antonio Stradivari
ไม่มีผู้ใดที่ทราบถึงวันเดือนปีเกิดที่แน่นอนของ Antonio Stradivari เนื่องจากไม่พบหลักฐานที่ระบุถึงการเกิดของเขาเอาไว้ ส่วนการระบุปี 1644 นั้น อาศัยการพิจารณาจากตัวเลขที่ปรากฏอยู่บนฉลากไวโอลินตัวท้ายๆ ของเขาที่มีข้อความว่า " D'Anni " (อายุ) ตามด้วยเลข 91 ถึง 93 ไวโอลินตัวสุดท้ายระบุปี 1737 มีข้อความว่า " D'Anni 93 " ทำให้ได้ข้อสรุปว่า Stradivari มีอายุ 93 ปีตอนที่ทำเครื่องดนตรีเหล่านั้น ดังนั้นเขาจึงเกิดในปี 1644 โดยเชื่อกันว่า Stradivari เป็นผู้เขียนอายุของตนเองเอาไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความภาคภูมิใจ

แต่จากการทดสอบล่าสุดชี้ให้เห็นข้อมูลที่ว่า Stradivari ไม่ได้เป็นผู้ที่เขียนข้อความเหล่านั้นแต่อย่างใด แต่บางทีอาจจะเป็นฝีมือของ Cozio di Salabue ซึ่งได้เครื่องดนตรีเหล่านั้นมาจาก Paolo บุตรชายของ Stradivari ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็สันนิษฐานได้ว่า Paolo เป็นผู้บอกข้อมูลเรื่องอายุบิดาของเขาแก่ Cozio di Salabue ซึ่งวันเวลาเกิดของเขายังคงเป็นข้อมูงเดิม แต่ความน่าเชื่อถืออาจจะลดน้อยลงกว่าแต่ก่อน

ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่า Stradivari เรียนศิลปะการทำไวโอลินมาจากไหน ไวโอลินในยุคแรกๆ ของเขามีความคล้ายคลึงกับงานของ Nicolo Amati ทำให้เชื่อว่าเขาเคยเป็นเด็กฝึกงานอยู่ในเวิร์คช้อปของตระกูล Amati มาก่อน แต่ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันถึงสมมติฐานอันนี้

มีเพียงฉลากไวโอลินปี 1667 เพียงอันเดียวจากไวโอลินที่ชื่อ Alumnus Amati, Ashby, Ex-Silvestre ซึ่งมีฉลากไวโอลินของเดิมเขียนว่า Alumnus Amati, faciebat anno 1666 อันเป็นเอกสารเพียงชิ้นเดียวที่เชื่อมโยง Stradivari กับ Nicolo Amati เข้าด้วยกัน และนี่อาจเป็นไวโอลินตัวแรกที่เขาทำขึ้นและติดฉลากของตนเอง แต่ก็เป็นไปได้ว่า Stradivari อาจจะเขียนเพื่อต้องการจะบอกว่า Nicolo Amati คือแรงบันดาลใจของเขา ไม่ใช่ครูที่แท้จริง หรือคำอธิบายง่ายๆ ก็คือ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานของตนเอง

John Dilworth และผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคนกล่าวว่า เครื่องดนตรีของ Stradivari ไม่มีรอยหมุด (pin point) ที่ด้านในของไม้แผ่นหลัง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องดนตรีทุกชิ้นที่มาจากช่างในตระกูล Amati และช่างทำไวโอลินทุกคนที่เป็นลูกศิษย์ของ Nicolo Amati แต่ในงานวิจัยล่าสุดได้เปิดเผยข้อมูลที่กล่าวถึงความเป็นไปได้ว่า Stradivari อาจร่ำเรียนการทำไวโอลินมาจากช่างทำไวโอลินตระกูล Ruggeri

โดย: - [23 พ.ย. 49 10:18] ( IP A:202.12.74.7 X: )
ความคิดเห็นที่ 10
   แต่ไม่ว่าเขาจะร่ำเรียนมาจากที่ไหนก็ตาม ในช่วงปี เขาได้กลายเป็นช่างทำไวโอลินที่มีชื่อเสียงที่สุดใน Cremona และในอิตาลี การผสมผสานฝีมือศิลปะเชิงช่าง ความชาญฉลาดทางธุรกิจ และ ความขยันขันแข็งของเขาที่เหนือกว่าช่างคนอื่นๆ ในเครโมนา ซึ่งได้สร้างแรงกดดันทางการแข่งขันทางการค้าขึ้นอย่างรุนแรง ทำให้ช่างทำไวโอลินส่วนใหญ่จำเป็นต้องจากเมืองเครโมนาไปหากินที่อื่น เช่น Pietro Guarneri of Venice และ G.B. Rogeri หรือเลิกทำไวโอลินไปเลย เช่น Girolamo Amati II (บุตรชายของ Nicolo Amati) มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น เช่น Ruggeris และ Giuseppe Guarneri filius Andrea กับบุตรชายของเขาคือ Giuseppe del Gesu ที่ยังคงอยู่เพื่อผลิตผลงานเพื่อขายให้กับลูกค้าเพียงเศษเสี้ยวที่หลงเหลือมาจากร้านของ Stradivari

Hills ได้ประมาณการเครื่องดนตรีที่ Stradivari ได้สร้างขึ้นโดยมีผู้ช่วยคือ Francesco และOmobono และ Giovanni Battista Martino (ในช่วงสั้นๆ) ไว้ราวๆ 1,200 ตัวตลอดช่วงชีวิตอันยาวนานของเขา แต่มีตกทอดมาจนถึงปัจจุบันไม่ถึง 700 ชิ้น ไวโอลินของเขาแบ่งออกเป็น 4 ยุคคือ
- ผลงานในช่วงแรกๆ เรียกว่ายุค 'Amatese' ซึ่งเขาสร้างไวโอลินตามแบบของตระกูล Amati โดยทำอยู่จนถึงราวๆปลายทศวรรษที่ 1680
- ยุค 'Long Pattern Period' อยู่ในช่วงทศวรรษที่ 1690 เขาได้ทดลองทำไวโอลินที่มีขนาดยาวขึ้น ซึ่งมีเอกลักษณ์บางอย่างของสกุลช่างเบรสเชีย
- ยุค 'Golden Period' อยู่ในช่วงปี 1700-1720 เป็นช่วงที่เขาได้สร้างผลงานชั้นยอดของตนเองขึ้นเหนือกว่ายุคอื่นๆ
- และยุค 'Late Period' ซึ่งนับจากราวๆ ปี 1720 ขึ้นไปจนกระทั่งเขาเสียชีวิตลง เป็นช่วงที่ฝีมือของเขาเริ่มตกลง ผลงานของขาดรายละเอียดและความประณีตอย่างที่เคยเป็น
โดย: - [23 พ.ย. 49 10:24] ( IP A:202.12.74.5 X: )
ความคิดเห็นที่ 12
    Belle Skinner
ในภาพเป็นไวโอลินชื่อ “Belle Skinner" ขนาด ¾ ปี 1736 ฝีมือของ Stradivari ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีสะสมของมหาวิทยาลัย Yale ข้อความฉลากเขียนว่า Antonius Stradivarius Cremonensis / Facie- bat Anno 1736 เลขปี ค.ศ. 3 ตัวหลังเป็นลายมือเขียนของเขา ตามด้วยเครื่องหมายประจำตัวเป็นอักษรย่อ A.S. ขนาบข้างไม้กางเขน ไวโอลินตัวนี้เป็นหลักฐานที่มีสำคัญมากต่อ Stradivari 2 ประการคือ ข้อความที่ 2 ที่เขียนว่า at the age of 92 ที่เจ้าตัวเขียนต่อท้ายฉลากอย่างภาคภูมิใจด้วยลายมือของตัวเอง เป็นหนึ่งในเอกสารที่ระบุถึงปีเกิดของเขาเอาไว้ ความสำคัญข้อที่สองคือ เป็นไวโอลินชิ้นสำคัญในหลายๆ ตัวของ Stradivari ที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบันที่น้ำมันวานิชยังคงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์มาก

โดย: - [23 พ.ย. 49 10:29] ( IP A:202.12.74.5 X: )
ความคิดเห็นที่ 13
    Muntz
อีกตัวคือไวโอลิน “Muntz” ปี 1736 มีข้อความเขียนด้วยลายมือของเขาไว้ว่า 92 years old เป็นหนึ่งในผลงานชั้นเยี่ยมชิ้นท้ายๆ เพียงไม่กี่ชิ้นที่เขาสร้างขึ้น ตัวไวโอลินอยู่ในสภาพดี และมีชื่อเสียงมากในเรื่องน้ำเสียงที่ไพเราะ ไวโอลินตัวนี้ได้ชื่อมาจากเจ้าของซึ่งเป็นนักสะสมในช่วงศตวรรษที่ 18 ที่มีชื่อเสียงคือ H.M.Muntz ชาวเมืองเบอร์มิงแฮม

และไวโอลินปี 1737 ที่ชื่อ Swan, Chant du Cygne ซึ่งฉลากมีข้อความเขียนว่า Antonius Stradivarius Cremonensis / Faciebat Anno 1737 / D'Anno 93 เชื่อกันว่าเป็นไวโอลินฝีมือของ Stradivari ตัวสุดท้ายที่เขาทำขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายๆ คนกลับเชื่อว่าไวโอลิน Lord Norton ที่ทำขึ้นในปี 1737 เช่นกัน น่าจะเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของเขามากกว่าไวโอลิน Swan, Chant du Cygne

โดย: - [23 พ.ย. 49 10:32] ( IP A:202.12.74.5 X: )
ความคิดเห็นที่ 14
    ฉลากไวโอลินของ Antonio Stradivari

โดย: - [23 พ.ย. 49 10:34] ( IP A:202.12.74.5 X: )
ความคิดเห็นที่ 15
    ไวโอลินปี 1693 ฝีมือของ Antonio Stradivari
ไวโอลินมีความยาวรวม 23 1/4 นิ้ว (59.4 ซม.) กว้าง 7 3/4 นิ้ว (19.7 ซม.) ไวโอลินตัวนี้เป็นผลงานของ Stradivari เพียงตัวเดียวเท่านั้นที่ได้รับการบูรณะให้อยู่ในสภาพเดิมๆ แบบบาโร้ค (Baroque form) ต่างจากตัวอื่นๆ ที่ปรับแต่งเพื่อให้น้ำเสียงดังกังวานและสดใสขึ้น และเพื่อรองรับเทคนิคการเล่นของมือซ้ายในโพสิชั่นที่สูงๆ เอกลักษณ์ไวโอลินยุคบาโร้คคือ มีฟิงเกอร์บอร์ดสั้น ใช้สายเอ็น (Gut) องศาของคอจะเอนไปข้างหลังไม่มากนัก ปัจจุบันมีไวโอลินชั้นยอดเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้นที่ยังรักษาสภาพเดิมๆ เอาไว้

ฟังเสียงไวโอลินตัวนี้ได้ในบทเพลง Sonata KV. 376 in F Major ของ Mozart ผู้เดี่ยวไวโอลินคือ Sonya Monosoff และ Malcolm Bilson เล่นเปียโน

https://www.4shared.com/dir/951389/9a31a46f/Stradivari_1693.html

โดย: - [19 ธ.ค. 49 1:10] ( IP A:202.12.74.6 X: )
ความคิดเห็นที่ 17
    รูปปั้นของ Antonio Stradivari สร้างขึ้นในปี 1969 โดย Pietro Foglia งานประติมากรรมชิ้นนี้สร้างขึ้นตามจินตนาการของ Foglia เอง มากกว่ามาจากตัวของ Stradivari เนื่องจากไม่มีภาพของช่างทำไวโอลินผู้นี้หลงเหลืออยู่เลย

โดย: - [28 ม.ค. 50 22:43] ( IP A:202.12.74.8 X: )
ความคิดเห็นที่ 18
    ภาพเสกตช์ Stradivari ในเวิร์คช้อปของเขา

โดย: - [28 ม.ค. 50 22:45] ( IP A:202.12.74.6 X: )
ความคิดเห็นที่ 19
   

โดย: - [11 พ.ย. 50 12:07] ( IP A:202.12.74.76 X: )

คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน