การเปรียบเทียบเสียงไวโอลิน Stradivari และ Guarneri
|
ความคิดเห็นที่ 1 คำศัพท์ที่ใช้อธิบายเรื่องเสียง ความกว้างของช่วงเสียง คำศัพท์ที่ใช้อธิบายหรือเปรียบเทียบความแตกต่างเรื่องคุณภาพน้ำเสียงของไวโอลินชั้นยอดนั้น ต้องขยายความคำว่า สดใส และ ทุ้มลึก ให้ไกลเกินกว่าตามความหมายโดยทั่วไปของมัน ซึ่งโดยปกติแล้วจะเรียกไวโอลินของ Stradivari ว่า Silvery และเรียกไวโอลินของ Guarneri ว่า Golden แม้ว่าอาจเกิดปัญหาในเรื่องความหมายของคำ เช่น นักดนตรี 2 คนอาจมีความประทับใจไวโอลินแบบเดียวกัน แต่ใช้คำพูดที่ต่างกันเพื่ออธิบายความคิดเดียวกัน โดยทั่วไปแล้วไวโอลินของ Stradivari มักถูกให้คำจำกัดความในเรื่องของเสียงว่า มีน้ำเสียงที่ออกไปทางโซปราโน ในขณะที่ไวโอลิน Guarneri มีน้ำเสียงที่ออกไปทางเสียงเบส แต่คำอธิบายเหล่านี้ยังห่างไกลเกินไปที่จะนำมาอธิบายความซับซ้อนเรื่องเสียงในผลงานของพวกเขาได้
นอกจากนั้น เนื่องจากเสียงพื้นฐานที่มีลักษณะต่างๆ มากมาย คุณภาพเสียงไวโอลินของ Stradivari และ Guarneri ไม่ว่าจะเป็นโซปราโนหรือเบสก็ตาม สามารถอธิบายได้ว่าเป็น เสียงคม เสียงสดใส เสียงเป็นประกาย ชัดเจน เสียงแหลม เสียงใสเป็นแก้ว หรือเสียงดุ คำคุณศัพท์เหล่านี้เน้นการอธิบายความหมายของเสียงซึ่งมีอยู่ในเครื่องดนตรีชั้นเยี่ยม ซึ่งมักจะตอบสนองต่อคันชักและการกดโน้ตต่างๆ ได้เร็ว ช่วยให้ถ่ายทอดน้ำเสียงในห้องแสดงคอนเสิร์ทใหญ่ๆ ทำได้ดี ผสมผสานกับความตื่นเต้นจากการแสดงอันน่าตื่นใจของนักเดี่ยวไวโอลิน ไวโอลินที่ปราศจากเสียงที่คมชัดหรือสดใส มักจะถูกเรียกว่าไวโอลินที่เสียงนุ่มนวล เสียงฉ่ำหรือเสียงทึบ เครื่องดนตรีที่ขาดการปรับแต่งมักจะสูญเสียความสดใสไปจนกว่าจะมีการปรับแต่งอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ
เครื่องดนตรีของ Stradivari และ Guarneri มีช่วงเสียงสูงที่สดใส เสียงโปร่งและชัดเจน และมีเสียงต่ำที่นุ่มนวล ช่วงเสียงกว้างและกังวาน เสียงไม่กลวงหรือกระด้าง โดยทั่วไปแล้วเสียงไวโอลินของ Guarneri มักจะมีน้ำเสียงที่สดใส ในย่านความถี่เสียงสูงๆ จะมีความคมชัด ในย่านความถี่เสียงต่ำๆ มีช่วงเสียงที่กว้างกว่าและทุ้มลึก ส่วนไวโอลิน Stradivari น้ำเสียงมีความสดใส ชัดเจน ในย่านความถี่เสียงสูงๆ เสียงจะกังวานเหมือนระฆัง หนักแน่น ในย่านความถี่เสียงต่ำๆ มีช่วงเสียงที่เข้มข้นแต่ยังมีสุ้มเสียงที่ชัดเจน ส่วนการเล่น Double stop และ Chord นั้น ไวโอลิน Guarneri มักจะมีความกังวานกว่า และมี้นำเสียงเหมือนออร์แกน ในขณะที่ไวโอลิน Stradivari ช่วงเสียงจะไม่กว้างเท่า แต่จะเข้มข้นกว่า
| โดย: - [21 ก.พ. 50 18:32] ( IP A:202.12.74.6 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 3 ประสบการณ์กับไวโอลินชั้นยอด นักไวโอลินและนักเรียนไวโอลินหลายๆ คนที่ไม่มีไวโอลินดีๆ แต่มีโอกาสที่ได้ลองไวโอลินเหล่านั้น พวกเขามักจะต้องประหลาดใจกับน้ำเสียงที่ชัดเจนของมัน ในตอนแรกพวกเขาอาจจะยังไม่เชื่อหูตัวเอง แต่เมื่อได้สั่งสมประสบการณ์จากการลองเล่นไวโอลินชั้นยอดหลายๆ ตัวเป็นเวลานานเข้าๆ พวกเขาก็จะได้เรียนรู้ว่าไวโอลินชั้นยอดทุกตัวมีความพิเศษเหล่านี้อยู่
คันชักไวโอลินที่ดี คันชักไวโอลินที่ดีๆ มีผลเป็นอย่างมากต่อคุณภาพเสียงของไวโอลิน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเสียงที่นุ่มนวล สดใส เสียงแน่นขึ้นหรือกว้างขึ้นก็ตาม มีนักไวโอลินชั้นยอดเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่กล่าวว่าให้ความสำคัญกับการเลือกคุณภาพคันชักดีๆ ว่ามีความสำคัญเทียบเท่ากับการเลือกเครื่องดนตรีดีๆ เลยทีเดียว นักไวโอลินหลายๆ คนจะยังไม่เริ่มมองหาคันชักดีๆ จนกว่าจะหาไวโอลินดีๆ ได้แล้ว เพราะว่าพวกเขาต้องการได้ทั้ง 2 ส่วนที่เข้ากันได้อย่างสมบูรณ์แบบ คันชักชั้นเยี่ยมนั้น มักจะสามารถดึงเอาเสียงที่ดีที่สุดออกมาจากไวโอลินแต่ละตัวได้ การเลือกคันชักดีๆ สำหรับไวโอลินชั้นยอดจึงมีความสำคัญมาก
คุณภาพเสียงกับยางสน ลักษณะของเสียง หรือเสียงของยางสนที่ลากผ่านสายไวโอลินในจุดต่างๆ นั้น สามารถแบ่งออกได้ตั้งแต่ เสียงที่หนักแน่น เสียงที่ดุดันไปจนถึงเสียงที่นุ่มนวล เสียงละเอียดหรือชัดเจน หลายๆ คนที่มีโอกาสได้ชมการแสดงสดของ Jascha Heifetz อย่างใกล้ชิด หรือฟังจากแผ่นเสียงของเขา จะสังเกตได้ถึงเสียงที่หนักแน่น ดุดันและห้าวจากเสียงไวโอลินของเขา ซึ่งคุณภาพเสียงอันนี้เกิดจากเสียงของยางสนในจุดที่คันชักสัมผัสกับสาย และการเน้นเสียงโดยเล่นใกล้กับหย่องไวโอลิน Ex-David ปี 1742 ของเขา ฝีมือของ Guarneri ที่สร้างขึ้นในช่วงปลายๆ
น้ำหนักและตำแหน่งการวางคันชัก โดยปกติแล้วการตอบสนองของไวโอลิน Stradivari และ Guarneri จะแตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่ง Stradivari จะเปล่งเสียงได้เร็วกว่าแม้จะลากคันชักอย่างแผ่วเบาที่สุด หลังจากนั้นเมื่อกดโน้ตต่างๆ แล้ว รายละเอียดต่างๆ ของเสียงจะพรั่งพรูออกมาโดยไม่ต้องออกแรงมากมาย ใช้คันชักโดยออกแรงกดให้น้อยที่สุด เพื่อให้ได้เสียงที่เต็มอิ่มและไพเราะที่สุด
ส่วนไวโอลิน Guarneri โดยเฉพาะงานในยุคปลายของเขานั้น โดยปกติแล้วจะต้องใช้ความพยายามและการออกแรงกดคันชักมากกว่า ซึ่งเรียกกันว่า การเล่นในสาย (Playing into the string) ควบคู่ไปกับการลากคันชักที่ช้ากว่า นักไวโอลินที่ลากคันชักแผ่วเบาและเร็ว หรือใช้คันชักโดยไม่ออกแรงกดมากนั้น จะเหมาะกับไวโอลิน Stradivari ในขณะที่พวกมือหนัก ออกแรงกดมากหรือเล่นแบบหนักหน่วงจะเหมาะกับไวโอลิน del Gesu มากกว่า
ตำแหน่งการวางคันชักก็มีผลต่อความคมชัดของเสียงเช่นเดียวกัน สำหรับไวโอลินในยุคปลายๆ Guarneri นั้น มักจะต้องเล่นให้ใกล้ๆ กับหย่องมากกว่าไวโอลินของ Stradivari เป็นเทคนิคที่ควบคุมไม่ให้เกิดเสียงขาดช่วงได้ยาก ทำให้การสร้างน้ำเสียงที่สม่ำเสมอและชัดเจนทำได้ไม่ง่ายนัก
| โดย: - [21 ก.พ. 50 18:59] ( IP A:202.12.74.6 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 4 การปรับแต่งไวโอลิน ถ้าต้องการเสียงที่กว้าง ชัดเจนและเต็มอิ่มที่สุดจากไวโอลินของ Guarneri ที่ทำขึ้นในช่วงปลายๆ ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่า สาย Dominant แบบแรงดึงสูงซึ่งทำจากวัสดุสังเคราะห์ที่คล้ายกับเอ็น (Gut) มีความเหมาะสมที่สุด เป็นสายไวโอลินรุ่นใหม่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด มีจุดเด่นคือ ให้พลังเสียงที่หนักแน่นและสดใสเมื่อใช้กับคันชักที่ค่อนข้างแข็งและหนัก แรงดึงที่เพิ่มขึ้นจะช่วยทำให้โครงสร้างไวโอลินในช่วงปลายๆ ของ Guarneri ที่ค่อนข้างหนามีการสั่นสะเทือนได้ดีขึ้น สายชนิดเดียวกันนี้ยังใช้ได้ดีกับไวโอลินของ Stradivari อีกด้วย แต่เลือกใช้แบบแรงดึงปานกลางจะเหมาะสมกว่า
การใช้สายสังเคราะห์ได้รับความนิยมมากในทศวรรษที่ 1980 ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญครั้งที่ 2 ในรอบ 200 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญครั้งแรกเกิดขึ้นในตอนต้นศตวรรษที่ 19 เมื่อคอไวโอลินและเบสบาร์ (โครงสร้างไม้ที่วิ่งขนานไปเกือบสุดความยาวของลำตัวไวโอลิน อยู่ข้างใต้ไม้แผ่นหน้าฝั่งสายเสียงต่ำ) ถูกยืดออกให้ยาวขึ้น ซึ่งคอไวโอลินที่ยาวเพิ่มขึ้นจะให้ช่วงเสียงที่กว้างขึ้น ส่วนเบสบาร์ที่ยาวขึ้นจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้มากขึ้น ช่วยเพิ่มพลังการถ่ายทอดน้ำเสียง (Projection) ได้ดีขึ้น การเปลี่ยนแปลงเรื่องความยาวและความหนาของเบสบาร์ยังเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะต้องรับแรงกดบนไม้แผ่นหน้าไวโอลินที่เพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากความยาวและองศาของคอที่เปลี่ยนไป
พัฒนาการทำไวโอลิน ทั้ง Stradivari และ Guarneri ต่างสร้างไวโอลินที่มีขนาดใหญ่ขึ้นหรือเล็กกว่าปกติเล็กน้อยไว้หลายๆ แบบ ซึ่งมีผลต่อการถ่ายทอดน้ำเสียงและสีสันของเสียง ไวโอลินที่มีขนาดใหญ่จะให้น้ำเสียงที่ลึกกว่า มีพลังและมีความกังวานมากกว่า ในขณะที่แบบเล็กจะให้เสียงที่สดใสกว่า และมักจะมีน้ำเสียงแบบโซปราโน
เครื่องดนตรีของ Stradivari ที่ทำขึ้นในช่วงที่เขายังอยู่ในวัยหนุ่มและในช่วงปลายๆ นั้น มักจะมีน้ำเสียงที่ทุ้มลึก ให้เสียงออกไปทางเสียงเบสมากกว่า ส่วนงานของ Guarneri ที่ทำขึ้นในยุคกลางของเขาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1730 เป็นต้นมา มักจะมีน้ำเสียงแบบโซปราโน และตอบสนองได้เร็ว ซึ่งไวโอลินจะตอบสนองคันชักได้เร็วแม้ว่าจะออกแรงกดคันชักเพียงเล็กน้อยก็ตาม ไวโอลินของ Guarneri ในช่วงปลายบางตัวมีน้ำเสียงที่ทุมลึกจนเกือบๆ จะมีน้ำเสียงเหมือนวิโอล่าเลยทีเดียว โดยเฉพาะในสายเสียงต่ำ
มีการสันนิษฐานว่าผลงานในช่วงปลายของทั้ง Stradivari และ Guarneri ที่ต่างมีน้ำเสียงทุ้มลึกก็เนื่องมาจากอายุขัยของทั้ง 2 คนที่มากขึ้น ซึ่งความคิดสร้างสรรค์เชิงศิลปะของทั้ง 2 คนได้สะท้อนภาพการเดินทางอันยาวนานของชีวิต ทั้งด้านกายภาพและอารมณ์ของทั้งคู่ ความเป็นไปได้อีกทางก็คือ ทั้ง Stradivari และ Guarneri ทำงานตามความต้องการของผู้สนับสนุนพวกเขา ที่ต้องการน้ำเสียงไวโอลินที่ทุ้มลึก
บทสรุปก็คือ มันมีจิตวิญญาณบางอย่าง หรือมนต์พิเศษที่ลึกลับในเรื่องการเล่นเครื่องดนตรีชั้นเยี่ยมของช่างทำไวโอลินทั้ง 2 คนที่อยู่เหนือคำอธิบายหรือนิยามใดๆ และเมื่อคุณสามารถหลอมรวมเครื่องดนตรีชั้นยอดเข้ากับศิลปะอันสูงส่ง สิ่งที่ได้คือบูรณาการของทั้ง 2 สิ่ง คือจิตวิญญาณที่อยู่เหนือคำกล่าวใดๆ เป็นการสร้างเสียงดนตรีที่เหนือคำพูดหรือการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ใดๆ อย่างแท้จริง และนั่นคือความมหัศจรรย์ของ Stradivari และ Guarneri
เรียบเรียงจาก: The Miracle Makers 
| โดย: - [21 ก.พ. 50 19:00] ( IP A:202.12.74.7 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 7 ยอดนักไวโอลินเปรียบเทียบ Stradivari กับ Guarneri ไวโอลิน Guarneri สามารถถ่ายทอดน้ำเสียงของมันออกมาจากทุกอณูของเนื้อไม้ ด้วยน้ำเสียงที่ล้ำลึกที่ชวนให้นึกถึงสีแดงของกระจกสเตนกลาสที่โบสถ์ Sainte-Chapelle เมื่อมนุษย์เผยธรรมชาติเดิมที่เป็นตัวตนออกมาแล้ว ไม่มีใครที่อยู่เหนือกว่าใคร"
ไม่มีใครทรยศไวโอลิน Stradivari ได้ มันปฏิเสธการเล่นที่หนักหน่วงหรือรุนแรงเกินไป Stradivari เป็นยอดฝีมือในทางของเขาเหมือนกับที่ Michelangelo เป็น
มีเส้นแบ่งระหว่างไสยศาสตร์และวิทยาศาสตร์ สิ่งที่เป็นตัวกำหนดการเลือกไวโอลินตัวหนึ่งหรือตัวอื่นๆ ก็คือการสนทนาอย่างเงียบๆ ระหว่างพวกเขากับไวโอลิน ถ้ายิ่งใกล้ชิดกันมากก็ยิ่งสื่อสารกันได้เข้าใจยิ่งขึ้น และต้องไม่ถูกกำหนดโดยดนตรี ร่างกายหรือจิตวิญญาณให้ต้องเล่น
| โดย: - [23 ก.พ. 50 13:18] ( IP A:202.12.74.8 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 9 Ruggiero Ricci ไวโอลิน Stradivari เหมาะสำหรับนักไวโอลินคลาสสิกที่เล่นเพลงของ Bach, Beethoven หรือ Mozart ส่วนไวโอลินของ Guarneri เหมาะกับนักไวโอลินชั้นยอดและการเล่นบทประพันธ์ร่วมสมัยและเพลงของ Paganini ไวโอลิน Stradivari คล้ายกับผู้หญิง ที่คุณต้องปฏิบัติต่อเธออย่างนุ่มนวล ด้วยช่อดอกไม้ แต่ไวโอลิน Guarneri จะเชิญชวนให้เล่นหนักๆ ในอีกแบบหนึ่ง เสียงจะกัดๆ และมีพลังกว่า
Ricci กล่าวว่า ไวโอลินของ Guarneri เปรียบเสมือนสิ่งเสพย์ติดที่ขาดไม่ได้ของนักไวโอลินหลายๆ คน ไม่ว่าจะเป็น Paganini, Spohr, Lipinski, Vieuxtemps, Wieniawski, Ysaye, Kreiler, Huberman, Heifetz, Menuhin, Szeryng, Stern, Grumiaux, Kogan, Rosand, Rabin, Ughi, Perlman, Kremer, Chung และอีกมากมาย
ไวโอลิน Ex-Huberman เป็นไวโอลินคู่ใจของ Ricci มาตั้งแต่ปี 1957 เอกลักษณ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้าของมันคือ น้ำเสียงที่ชัดเจน ดังกังวานหนักแน่น ให้น้ำเสียงที่ชัดเจนแจ่มใสในทุกวลีของบทเพลง ให้เสียงสูงแบบโซปราโนที่ชัดเจนบนสายเสียงสูงๆ รวมถึงเสียงเบสของสาย G
| โดย: - [23 ก.พ. 50 13:34] ( IP A:202.12.74.5 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 10 Elmar Oliveira ทำไมต้องเปรียบเทียบ Stradivari และ Guarneri ก็เพื่อให้ทราบถึงความแตกต่างและความยิ่งใหญ่ที่เป็นเอกลักษณ์ของช่างทั้ง 2 คน คงไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าช่างคนไหนเก่งกว่ากัน เช่นเดียวกับการเปรียบเทียบ Beethoven กับ Mozart เมื่อเครื่องดนตรีถูกเล่นโดยนักเล่น จิตวิญญาณของเขาจะเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องดนตรีไปด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับเครื่องดนตรีก็เหมือนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นย่อมให้สิ่งที่แตกต่างกัน มันเป็นเรื่องยากที่จะให้นิยามของทั้ง Stradivari และ Guarneri ไวโอลินของช่างทั้ง 2 ล้วนมีคุณสมบัติเฉพาะตัว ขึ้นอยู่กับว่านักเล่นคนนั้นกำลังแสวงหาอะไร
ไวโอลิน Guarneri ให้เสียงต่ำที่ทุ้มลึก และมากให้เสียงสูงที่โปร่ง น้ำเสียงมีความกังวานในทุกจุด คุณต้องทำอะไรกับมันมากกว่าไวโอลิน-v Stradivari เพื่อให้มันตอบสนองกับการเปลี่ยนความเร็วของคันชักหรือเปลี่ยนวิธีสร้างเสียงเสียงใหม่ มันมีเอกลักษณ์ของเสียงที่หนักแน่นมาก แม้ไม่ใช่เสียงที่สะอาดสดใสโดยสมบูรณ์แบบ แต่แน่นอนว่าเป็นคุณภาพเสียงที่คมชัดหนักแน่น
ฝีมือการทำไวโอลินของ Stradivari มีความประณีตมาก เสียงไวโอลินของเขามีความเข้มข้นและสะอาดสดใส คุณไม่จำเป็นต้องเล่นอย่างเอาใจใส่เท่ากับไวโอลินของ Guarneri เนื่องจากคุณภาพเสียงที่ได้และการตอบสนองทำได้ง่ายกว่ามากนัก
| โดย: - [23 ก.พ. 50 13:57] ( IP A:202.12.74.7 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 11 ประวัติของ Stradivari และ Guarneri del Gesu Antonio Stradivari (1644-1737) และ Giuseppe Guarneri del Gesu (1698-1744) คือช่างทำไวโอลินที่มีชื่อเสียงที่สุดตลอดกาล ทั้งคู่ต่างสร้างสรรค์ผลงานอยู่ในเมืองเล็กๆ ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี ที่ซึ่งทั้งสองได้ฝากมรดกทางดนตรีที่ไม่มีใครทาบได้เอาไว้
แม้ว่าพัฒนาการของไวโอลินก้าวขึ้นจุดสูงสุดในยุคของ Stradivari และ Giuseppe Guarneri ก็ตาม แต่วิวัฒนาการของไวโอลินเริ่มขึ้นก่อนหน้านั้นมาก Andrea Amati (1505-1577) คือช่างทำไวโอลินคนแรกสุดเท่าที่ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ และน่าจะเป็นผู้ที่ประดิษฐ์ไวโอลินขึ้นด้วย ภายหลังจากที่เขาเสียชีวิตลงนั้น บุตรชายของเขาคือ Antonio และ Girolamo หรือที่มักเรียกกันว่าพี่น้องตระกูล Amati เป็นผู้รับช่วงกิจการต่อ แต่ Nicolo Amati คือช่างที่มีชื่อเสียงที่สุดของตระกูล เขาเกิดเมื่อปี 1596 เป็นบุตรชายของ Girolamo เขาเข้ารับช่วงกิจการของตระกูลในปี 1630
เป็นเวลาหลายศตวรรษที่นักดนตรีและผู้เชี่ยวชาญต่างยกย่องไวโอลินของ Nicolo Amati ว่ามีฝีมือการทำที่ยอดยี่ยมและมีน้ำเสียงที่ไพเราะมาก ในช่วงศตวรรษที่ 17 นั้น ชื่อของ Amati มีค่าเท่ากับไวโอลินดีๆ เลยทีเดียว ความสำคัญของ Nicolo Amati ในฐานะช่างทำไวโอลินนั้น อาจจะถือได้ว่าเขาคือสัญลักษณ์ของความสำเร็จและความสมบูรณ์แบบของไวโอลินทั้งในฐานะของครูและแรงบันดาลใจ ลูกศิษย์ของเขาและช่างรุ่นหลังๆ และไวโอลินเกือบทั้งหมดที่ทำขึ้นในศตวรรษที่ 17 ล้วนใช้แบบของเขาเกือบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นลูกศิษย์สายตรงที่ใกล้ชิดและช่างที่เลียนแบบไวโอลินของเขา รวมถึง Stradivari และ Guarneri ต่างสืบทอดศิลปะการทำไวโอลินตามแบบแผนของ Amati ที่เครโมนา
| โดย: - [23 ก.พ. 50 15:20] ( IP A:202.12.74.7 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 12 Antonio Stradivari จากหลักฐานในปัจจุบันระบุว่า ไวโอลินฝีมือของ Antonio Stradivari ตัวแรกสุดที่ติดฉลากของตนเองเป็นไวโอลินที่ทำขึ้นในปี 1666 ซึ่งข้อความบนฉลากนั้น Stradivari อ้างว่าตนเองเป็นลูกศิษย์ของ Nicolo Amati และฉลากอันนี้เป็นหลักฐานเพียงอันเดียว (หลังจากนั้นไม่พบฉลากที่มีข้อความแบบนี้ในเครื่องดนตรีชิ้นอื่นอีก) นอกนั้นแล้วไม่มีเอกสารใดๆ เลยที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ของเขากับ Nicolo Amati อีกเลย
ในช่วงแรกๆ ของการทำงานนั้น (ช่วงปี 1666 ถึงราวๆ ปี 1680) Stradivari สร้างสรรค์ผลงานของตนตามแบบอย่างของ Amati ในช่วงนี้เขาทำไวโอลินไม่มากนัก ทำให้เชื่อกันว่าเขาอาจจะทำการค้าขายอื่นๆ หรือกำลังทำเครื่องดนตรีอื่นอยู่ แม้ว่าในช่วงนี้จะมีไวโอลินของเขาอยู่ไม่มากนัก แต่ไวโอลิน Hellier ที่ทำขึ้นในปี 1679 ได้แสดงให้เห็นว่า Stradivari ไม่ได้เป็นแค่เพียงช่างทำไวโอลินชั้นยอดเท่านั้น แต่ฝีมือการออกแบบและเขียนลวดลายของเขายังเหนือกว่าช่างทำไวโอลินคนอื่นๆ ในยุคเดียวกันอีกด้วย
ในช่วงทศวรรษ 1680 เป็นต้นมา ไวโอลินของเขามีความหนักแน่นมากขึ้น ทั้งรูปลักษณ์และน้ำเสียง ในขณะที่เขายังคงใช้วิธีการทำไวโอลินตามแบบของ Amati อยู่ แต่ได้พัฒนาแบบไวโอลินของต้นเองขึ้นมาด้วย ซึ่งจะเห็นได้จากไวโอลิน Auer ปี 1690 หลังจากปี 1690 เป็นต้นมา Stradivari ได้เปลี่ยนรูปแบบไวโอลินใหม่ โดยเพิ่มความยาวลำตัวไวโอลินขึ้นอีกเล็กน้อย ซึ่งเขาใช้อยู่จนเกือบถึงปี 1700 ผลงานในยุคแรกๆ ของทั้ง Stradivari และ Amati นั้น ทั้งคู่จะใช้น้ำมันวานิชสีทองไล่เฉดสีอย่างสวยงาม แต่ในช่วงทศวรรษที่ 1690 เขาได้พัฒนาสูตรน้ำมันวานิชขึ้นมาใหม่ เป็นวานิชสีส้มอมแดงเข้มซึ่งได้กลายมาเป็นวานิชสูตรมาตรฐานของเขา
และนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา Stradivari ไก้ก้าวเข้าสู่ยุคที่เรียกว่ายุคทองของเขา (Golden Period) ซึ่งยืนยาวไปถึงทศวรรษที่ 1720 ในช่วงนี้เองที่เขาพัฒนาแบบและรูปทรงไวโอลินที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองจนสมบูรณ์แบบ และได้กลายเป็นมาตรฐานของช่างทำไวโอลินรุ่นต่อๆ มา ลำตัวไวโอลินของเขาจะความกว้าง ความป่องของลำตัวค่อนข้างแบน และช่วงกลางลำตัว (C-bout) ที่เป็นเหลี่ยมยิ่งขึ้น ในยุคนี้เขาจะใช้ไม้เมเปิ้ลคุณภาพดีที่สุดเท่านั้น และใช้น้ำมันวานิชสีส้มอมแดงที่สดใสคุณภาพเยี่ยมอย่างหาใครทาบได้ยาก
Francesco (1671-1743) และ Omobono (1679-1742) บุตรชายของเขา เริ่มเข้ามาช่วยกิจการของบิดาตั้งแต่ราวๆ ปี 1700 เพื่อคอยช่วยเขาผลิตผลงานชั้นยอดทั้งไวโอลิน วิโอล่า และเชลโล ซึ่งในบางครั้งมีผู้สังเกตเห็นร่องรอยฝีมือของบุตรชายทั้ง 2 คนปรากฏอยู่ในไวโอลินหลายๆ ตัวที่บิดาของเขาทำขึ้นในยุคทอง เห็นได้ชัดว่ายังมีงานมากมายสำหรับช่างมือใหม่ที่ยังไม่ชำนาญงาน และหน้าที่อีกหลายอย่างในร้านไวโอลินของศตวรรษที่ 18 ให้ทั้งคู่ทำ ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1720 และ 1730 ฝีมือของบุตรชายทั้ง 2 คนเริ่มปรากฏให้เห็นชัดขึ้นในงานของเขาบางชิ้น และมีผลงานบางตัว เช่น ไวโอลิน Rawlins ที่มีฉลากพิเศษระบุว่าทำโดยช่างคนอื่นๆ ภายใต้คำแนะนำของ Antonio Stradivari
ในช่วงหลังทศวรรษที่ 1720 เป็นต้นมา Stradivari ยังคงทำเครื่องดนตรีชั้นยอดอย่างสม่ำเสมอจนกระทั่งเขาเสียชีวิตลงในปี 1737 ซึ่งเครื่องดนตรีในช่วงปลายๆ นั้น แม้ว่าจะขาดความประณีตเช่นเดียวกับผลงานของเขาในยุคแรกๆ แต่ก็ยังเป็นเครื่องดนตรีที่เยี่ยมยอดตามมาตรฐานของมัน นักเดี่ยวไวโอลินหลายๆ คนเลือกไวโอลินในช่วงปลายๆ ของเขาเพราะน้ำเสียงที่ดีเยี่ยมและพลังเสียงของมัน
| โดย: - [23 ก.พ. 50 17:07] ( IP A:202.12.74.8 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 13 Giuseppe Guarneri del Gesu ตระกูล Andrea เริ่มต้นจาก Andrea Guarneri (ราวๆ ปี 1624-1698) เขาเข้าไปอยู่เวิร์คช้อปของ Amati ในฐานะเด็กฝึกงานในราวๆ ทศวรรษที่ 1640 และออกจากร้านในทศวรรษถัดมาเพื่อเปิดร้านของตนเอง บุตรชายคนโตของ Andrea คือ Pietro (1655-1720) ออกไปเปิดร้านของตนเองที่เมือง Mautua โดยปล่อยให้ Giuseppe (1666-1740) น้องชายคนเล็กของเขาเป็นผู้รับช่วงกิจการต่อจากบิดา แต่บุตรชายของ Giuseppe Guarneri ที่ชื่อ Bartolomeo Giuseppe Guarneri ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในฉายา Joseph Guarnerius del Gesu
การฝึกงานในสมัยก่อนจะเริ่มทำกันตั้งแต่ยังเด็กอายุประมาณ 11 ขวบ ซึ่งเราพอสันนิษฐานได้ว่า Giuseppe Guarneri del Gesu พร้อมที่จะเรียนรู้ฝีมือช่างของตระกูลในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 แล้ว แม้ว่าเครื่องดนตรีที่ทำขึ้นในช่วงนี้จะยังติดฉลากชื่อบิดาของเขาอยู่ก็ตาม ในช่วงทศวรรษที่ 1720 เครื่องดนตรีที่มาจากเวิร์คช้อปของ Guarneri ได้รับการยอมรับว่าดีกว่าเครื่องดนตรีของร้านที่เคยทำๆ มาก่อนหน้านั้น ทั้งในเรื่องของเสียงและรูปลักษณ์ ผลงานของร้านในช่วงนี้มีผู้สังเกตได้ถึงฝีมือของ Guarneri del Gesu ที่เปี่ยมพลังกว่ามาก อย่างน้อยก็บางส่วนหรือทั้งหมดของตัวงาน
ในราวปี 1731 Guarneri del Gesu ได้เปิดร้านของตนเองขึ้น และเริ่มติดฉลากชื่อของตนเอง และในช่วงทศวรรษนี้เองที่เขาพัฒนารูปแบบไวโอลินที่สง่างามและแตกต่างเป็นเอกลักษณ์อย่างแท้จริง สามารถทัดเทียมกับแบบไวโอลินที่ Antonio Stradivari ใช้อยู่ได้ ไวโอลินที่เขาทำขึ้นในช่วงนี้มีความสวยงามมาก
จนกระทั่งถึงปลายทศวรรษที่ 1730 รูปลักษณ์ไวโอลินของเขาเริ่มขาดความสละสลวยลง ในช่วงทศวรรษที่ 1740 ซึ่งเป็นยุคบั้นปลายของเขา Guarneri ได้พัฒนาความคิดไปจนถึงจุดสูงสุด ในช่วงชีวิต 2-3 ปีสุดท้ายของเขานั้น Guarneri ได้สร้างไวโอลินขึ้นจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นต้นแบบที่ไม่มีใครเทียบได้ เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังทั้งรูปลักษณ์และโทนเสียง
ไวโอลินที่ Guarneri del Gesu ทำขึ้นในช่วงแรกมีหลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบันไม่มากนัก เพียงไม่เกิน 25 ตัวเท่านั้น ตั้งแต่ปี 1731 จนถึงปี 1744 ที่เขาเสียชีวิตนั้น มีเครื่องดนตรีของเขาหลงเหลืออยู่ประมาณ 110 ตัวเท่านั้น จำนวนผลงานทั้งหมดของเขาจึงอยู่ในราว 135 ตัว (ทั้งหมดเป็นไวโอลิน ไม่นับเชลโลอีก 1 ตัว) เมื่อเทียบกันแล้ว ผลงานทั้งหมดของ Stradivari ที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 650 ตัว ส่วนใหญ่เป็นไวโอลิน เชลโล 50 ตัว วิโอล่าประมาณ 12 ตัว กีตาร์ 3 ตัว และเครื่องดนตรีอื่นๆ อีกเพียงไม่กี่ชิ้น Stradivari มีอายุขัยยืนยาวกว่า Guarneri del Gesu ประมาณ 2 เท่า
| โดย: - [23 ก.พ. 50 19:13] ( IP A:202.12.74.7 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 15 ช่างทำไวโอลินทุกคนที่ฝึกฝนมาจากสกุลช่างเครโมนาในช่วงปี 1550 ถึงปี 1750 ล้วนสร้างสรรค์ผลงานที่ดีเลิศทุกคน มีระบบการออกแบบ โครงสร้างและสูตรน้ำมันวานิชที่ถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งเหนือกว่าช่างทำไวโอลินสกุลช่างอื่นๆ และสามารถรับประกันได้ถึงผลงานที่ออกมา ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เชื่อว่าน้ำมันวานิชมีผลต่อเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ของมัน สูตรน้ำมันวานิชที่ใช้ในยุครุ่งเรืองของสกุลช่างทำเครโมนาได้สูญหายไปในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 และไม่สามารถสร้างใหม่ได้อีกเลย แม้ว่าจะมีผู้อ้างว่าทำได้เพียงบางส่วนก็ตาม
ทั้ง Stradivari และ Guarneri ไม่ได้เป็นช่างทำไวโอลินเพียงสองคนของยุคนั้นที่สามารถคิดค้นสูตรวานิชที่ดีเยี่ยมได้เพียงอย่างเดียว แต่ทั้งคู่ยังเหนือกว่าช่างร่วมสมัยคนอื่นๆ ด้วยความคิดที่เยี่ยมยอดและแบบไวโอลินที่สามารถสร้างการคุณภาพของเสียง ความกังวานและการตอบสนอง เพื่อให้เหมาะกับการแสดงดนตรีในอีกหลายศตวรรษต่อจากนั้น ทั้ง Stradivari และ Guarneri del Gesu ต่างได้สร้างสรรค์ผลงานตามแบบแผนอันยาวนาน ซึ่งทั้งคู่ต่างก็ได้อุทิศความเป็นอัจฉริยะเพื่อยกระดับโวโอลินของพวกเขาให้เป็นงานศิลปะ เป็นผลงานชิ้นเอกที่กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในระดับสูงสุดของการแสดงดนตรีตะวันตก
| โดย: - [23 ก.พ. 50 19:46] ( IP A:202.12.74.8 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 16 ฉลากไวโอลิน ช่างทำไวโอลินมักจะติดฉลากระบุปีเอาไว้ด้านในเครื่องดนตรีของพวกเขา ซึ่งสามารถมองเห็นได้เมื่อมองผ่านจากช่องเสียง โดยปกติแล้วช่างทำไวโอลินจะใช้ฉลากที่พิมพ์จากแม่พิมพ์ และใช้ชื่อของพวกเขาเป็นภาษาละติน ชื่อของ Giuseppe Guarneri จึงกลายเป็น Joseph Guarnerius del Gesu และชื่อ Antonio Stradivari จึงกลายเป็น Antonius Stradivarius
Stradivari จะเขียนเลขปี ค.ศ. 2 ตัวสุดท้ายด้วยปากกา และประทับตราสัญลักษณ์ของเขาบนฉลาก รูปแบบฉลากที่เขาใช้ในแต่ละช่วงมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก
ส่วนฉลากของ Giuseppe Guarneri จะมีไม้กางเขนและอักษรย่อ IHS ซึ่งเป็นสัญลักษณ์โบราณอันเป็นพระนามของพระเยซู ( IHSOUS มาจากภาษากรีกและเป็นสัญลักษณ์ที่โบสถ์หลายๆ แห่งใช้กันมานาน) บนฉลากไวโอลินของเขา แต่บนฉลากไวโอลินของ Giuseppe Guarneri ของผู้เป็นบิดานั้นจะใช้ชื่อเดียวกัน แต่จะกล่าวถึง Saint Teresa บนฉลากแทน นั่นดูเหมือนว่า Giuseppe Guarneri พยายามสร้างความแตกต่างจากบิดาโดยเติมคำว่า IHS และไม้กางเขนลงบนฉลากของเขา ส่วนคำว่า del Gesu (แปลว่า of Jesus ในภาษาอิตาเลียน เริ่มใช้กันในราวๆ ปี 1800
ไวโอลินโรงงานหลายตัวที่ผลิตขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 นอกประเทศอิตาลี จะติดฉลากเลียนแบบฉลากของ Stradivari และ Guarneri ในไวโอลินราคาถูกของพวกเขา มากกว่าที่จะใช้ชื่อของโรงงานที่ผลิตขึ้น แต่เดิมนั้นไวโอลินนักเรียนหรือไวโอลินโรงงานเหล่านี้ขายกันในราคาไม่แพง ซึ่งไวโอลินเหล่านี้ดูไม่ใกล้เคียงกับของจริงเลยแม้แต่น้อยเมื่อมองผ่านสายตาของผู้เชี่ยวชาญแม้ว่าจะใช้ฉลากปลอมก็ตาม ไวโอลิน Stradivari และ Guarneri del Gesu ของแม้นั้น มีมูลค่าสูงมานานหลายร้อยปีแล้ว การค้นหาไวโอลิน Stradivari หรือ Guarneri del Gesu ของแท้ที่ไม่ได้จดบันทึกไว้นั้น ยิ่งกว่าการค้นหาเพชร 10 กะรัตที่ไร้ตำหนิในห้องใต้หลังคาของคุณปู่เสียอีก
| โดย: - [23 ก.พ. 50 20:53] ( IP A:202.12.74.5 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 18 ฉลากไวโอลินของ Guarneri del Gesu มีข้อความบนฉลากที่แปลว่า " ทำโดย Giuseppe Guarneri ที่เมืองเมืองเครโมนา ในปี 1729 " 
| โดย: - [23 ก.พ. 50 21:06] ( IP A:202.12.74.7 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 19 ฉลากไวโอลินของ Antonio Stradivari มีข้อความบนฉลากที่แปลว่า " ทำโดย Antonio Stradivari, ชาวเมืองเครโมนา, ในปี 1717 " 
| โดย: - [23 ก.พ. 50 21:07] ( IP A:202.12.74.8 X: ) |  |
|