ช่างทำเชลโลที่มีชื่อเสียงของอิตาลี
|
ความคิดเห็นที่ 1 ช่างทำเชลโลที่มีชื่อเสียงของอิตาลีในยุคแรกๆ ช่างทำเชลโลในยุคแรกๆ คือ Andrea Amati, Gasparo da Salo และ Paolo Maggini ซึ่งมีชีวิตอยู่ก่อนยุคของ Stradivari ผลงานของช่างเหล่านี้มีความแตกต่างกับเชลโลของ Stradivari ค่อนข้างมาก ผลงานบางชิ้นมีการแกะสลักและการตกแต่งที่ปราณีตสวยงาม เช่น "The King" ฝีมือของ Andrea Amati ที่สร้างขึ้นตามพระประสงค์ของกษัตริย์ Charles IX แห่งฝรั่งเศส เชลโลตัวนี้ประดับประดาด้วยการเขียนลวดลายต่างๆ คำขวัญ และตราประจำพระองค์ ด้านหลังเป็นรูปมงกุฏและตราประจำพระองค์
หลายคนเชื่อว่าการสร้างสรรค์ผลงานของช่างทำเครื่องสายในยุคแรกๆ รวมถึงเชลโล เป็นทำงานแบบปัจเจกบุคคล แต่ก็ยังเป็นระบบครอบครัว คือมีการถ่ายทอดฝีมือจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง เชื่อกันว่า Nicolo เป็นช่างที่เก่งที่สุดในตระกูล Amati และ Stradivari คือลูกศิษย์ที่ดีที่สุดของเขา ต่อมาเขาได้กลายเป็นช่างทำไวโอลินและเชลโลที่เก่งที่สุดในบรรดาช่างทั้งมวล
ไม้ที่นิยมใช้ทำเชลโลคือ เมเปิ้ล (Maple) ไม้สปรู๊ซ (Spruce) หรือไม้สน (Pine) โดยเฉพาะไม้จากยุโรปซึ่งให้คุณภาพของเสียงที่ดีกว่าไม้จากอเมริกา ชิ้นส่วนต่างๆ ของเชลโลที่มองเห็นได้จากภายนอก เช่น ไม้แผ่นหน้า (top) ไม้แผ่นหลัง (back) ด้านข้าง (side) คอ (neck) หัวซอ (scroll) ลูกบิด (peg) สะพานวางนิ้ว (fingerboard) หางปลา (tailpiece) หมุด (end pin) สาย (string) หย่อง (bridge) ปุ่มปรับเสียง (fine tuner) รวมถึงชิ้นส่วนภายในอีกหลายชิ้น
ไม้แผ่นหน้าและหลังของเชลโลนิยมทำจากไม้ 2 แผ่นประกบกัน เนื่องจากการหาไม้แผ่นใหญ่ๆ ที่มีคุณภาพดีเพียงชิ้นเดียวสำหรับทำเชลโลได้ค่อนข้างยาก ความหนาโดยเฉลี่ยของไม้แผ่นหน้าอยู่ที่ 3/16" ถึง 9/64" ด้านข้าง (side หรือ rib) มีขนาดค่อนข้างบางกว่า ประกอบด้วยแผ่นไม้จำนวน 6 ชิ้นยึดติดกับไม้แผ่นหน้าและหลังด้วยกาว และฝังด้วยไม้เส้นเล็กๆ โดยรอบลำตัวหรือที่เรียกว่า Purfling ประโยชน์ของมันประการแรกก็คือ ช่วยป้องกันไม่ให้ขอบเชลโลแตกหรือบิ่นและประการที่สองก็คือเพื่อความสวยงาม โดยจะฝังลงไปตามร่องเล็กๆ ของไม้แผ่นหน้าและหลัง อีกชิ้นส่วนที่มองเห็นได้ค่อนข้างยากหน่อยก็คือ Button ทำจากไม้กลมๆ เพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับรอยต่อส่วนคอและไม้แผ่นหลัง
ช่องรูปตัว f บนไม้แผ่นหน้าก็คือช่องเสียง หรือที่เรยกว่า f-holes เนื่องจากรูปร่างของมันที่คล้ายตัว f เสียงของเชลโลจะผ่านออกมาทางช่องนี้นี่เอง ภายในเชลโลจะมีแถบไม้สนบางๆ จำนวน 12 ชิ้นซึ่งยึดติดกับขอบของไม้แผ่นข้าง (rib) ด้วยกาวเพื่อยึดไม้แผ่นบนและหลังเข้าด้วยกัน
เชลโลที่ประกอบเสร็จสมบูรณ์แล้วจะมีไม้แท่งกลมชิ้นเล็กๆ ค้ำไว้ภายในระหว่างไม้แผ่นหน้าและหลัง หรือที่เรียกกันว่า Sound post หน้าที่ของมันก็คือการถ่ายทอดเสียงจากไม้แผ่นหน้าไปยังไม้แผ่นหลัง Sound post ควรจะวางอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องเพื่อให้เสียงของเชลโลออกมาดีที่สุด
ชิ้นส่วนอื่นๆ ที่มีความสำคัญไม่แพ้กันก็คือ หย่อง (bridge) ไม้รูปโค้งที่ทำจากไม้เมเปิ้ล ซึ่งบากไม้เป็นร่องสำหรับสายแต่ละสายและเพื่อให้สายลอยอยู่เหนือสะพานวางนิ้ว (fingerboard) หางปลา (Tailpiece) นิยมทำจากไม้ Ebony เช่นเดียวกับสะพานวางนิ้ว (fingerboard) และลูกบิด (peg) ช่องส่วนปลายสุดของเชลโลเรียกว่า Plug มีไว้สำหรับใส่หมุด (end pin) และสำหรับคล้องเอ็นยึดหางปลา โดยส่วนปลายสุดของหมุด (end pin) จะวางอยู่บนพื้นเพื่อให้นักดนตรีสามารถวางเชลโลในแนวตั้งได้ บางชนิดสามารถถอดออกได้ แต่ส่วนใหญ่สามารถเลื่อนเก็บไว้ภายในได้เมื่อไม่ใช้งาน
ส่วนปลายสุดของเชลโลคือหัวซอ หัวซอ (scroll) ช่องใส่ลูกบิด (peg box) ลูกบิด (peg) คอ (neck) ซึ่งสายเชลโลจะพันอยู่รอบลูกบิด (peg) เพื่อตั้งสายให้ตึงหรือหย่อน ส่วนบนสุดของสะพานวางนิ้ว (fingerboard) คือ Nut ไม้ Ebony ชิ้นเล็กๆ ทำหน้าที่แยกสายทั้ง 4 ที่ส่วนบนของเชลโล
| โดย: - [8 เม.ย. 49 8:15] ( IP A:202.12.74.7 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 2 คันชักเครื่องสายในตระกูลไวโอลิน นอกจากเทคนิคการใช้นิ้วดีด (Pizzicato) เพื่อให้เกิดเสียงแล้ว สิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยทำให้เกิดเสียงก็คือคันชัก (Bow) การใช้คันชักนั้นมีใช้กันมานานแล้วในอารยธรรมดั้งเดิมหลายๆ แห่งทั่วโลก แต่เริ่มแพร่พรายเข้าสู่ทวีปยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 11 ที่ผ่านมานี้เอง คันชักในสมัยก่อนจะโค้งออกซึ่งตรงข้ามกับคันชักในปัจจุบัน และลักมีษณะคล้ายๆ กับคันธนู ไม่มีหมุดสำหรับปรับความตึงของหางม้า ปัจจุบันคันชักจะมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป
รูปแบบของคันชักไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงมากนักจนกระทั่งช่วงกลางศตวรรษที่ 17 ภายหลังที่ไวโอลินได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปทรงโดยสิ้นเชิง มีการเพิ่มส่วน Frog เพื่อปรับความตึงของหางม้า รวมทั้ง Button และ Screw ก็มีการพัฒนาขึ้นเช่นเดียวกัน ในช่วงทศวรรษที่ 1700 ไม้ที่นิยมใช้ทำคันชักคือไม้ Iron wood และ Snakewood แต่ปัจจุบันนิยมใช้ไม้ Pernambuco ซึ่งนำเข้ามาจากบราซิล
คันชักที่โค้งออกนิยมใช้กันมาจนถึงช่วงปลายศตวรรษที่ 18 จนกระทั่งนักไวโอลินและคีตกวีชาวอิตาลี Viotti ได้เดินทางมายังปารีส เขามีความสนิทสนมกับตระกูล Tourte ทั้งสองคนได้ช่วยกันออกแบบคันชักขึ้นใหม่และได้กลายเป็นมาตรฐานสำหรับคันชักในยุคปัจจุบัน เนื่องจากนักดนตรีได้เริ่มผันตนเองออกจากราชสำนักและห้องแสดงดนตรีเล็กๆ สู่คอนเสิร์ทฮอล์ลขนาดใหญ่ นักดนตรีเหล่านั้นจึงต้องการเสียงของเครื่องดนตรีที่มีพลังและดังกังวานยิ่งขึ้น ซึ่งคันชักของ Tourte สามารถตอบสนองความต้องการนี้ได้เป็นอย่างดี เครื่องดนตรีในตระกูลไวโอลินจึงสามารถถ่ายทอดน้ำเสียงที่กังวานและช่วงเสียงที่กว้างขึ้น
Francois Xavier Tourte คือช่างทำคันชักที่มีชื่อเสียงที่สุดในตระกูล เขาเป็นคนแรกที่ทำคันชักด้วยไม้ Pernambuco ไม้ที่มีคุณสมบัติผสมผสานระหว่างความแข็งแรงและความยืดหยุ่นเหมาะสำหรับทำคันชักคุณภาพดี นอกจากนั้นเขายังเป็นผู้กำหนดขนาดและสัดส่วนที่เหมาะสมของคันชักที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันอีกด้วย องค์ประกอบของคันชักอีกอย่างหนึ่งก็คือ หางม้า ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน คุณภาพของหางม้าก็ขึ้นอยู่กับพันธุ์ม้าชนิดนั้นๆ หางม้าที่ใช้ทำคันชักได้มาจากม้าพันธุ์ Siberian, Mongolian, Manchurian, Polish และ Argentinian แต่พันธุ์ Siberian จะเป็นที่นิยมมากที่สุด หางม้าที่ได้จากแถบภูมิภาคทางตอนเหนือจะมีความแข็งแรงกว่าในภูมิประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะตัวผู้จะเป็นที่นิยมมากกว่าตัวเมียเพราะสะอาดมากกว่าเนื่องจากหางม้าตัวเมียมักจะมีคราบรอยเปื้อนของปัสสาวะ หางม้าสีขาวจะให้ผิวสัมผัสที่ดีนิยมใช้ทำคันชักไวโอลินและวิโอล่า แต่ก็มีนักนักเชลโลหรือดับเบิ้ลเบสที่นิยมหางม้าสีดำมากกว่าเพราะเชื่อว่า เกาะ สายได้ดีกว่า หางม้าที่เป็นเส้นตรงจะมีราคาสูงกว่าหางม้าชนิดอื่นๆ เพราะเล่นง่ายและให้น้ำเสียงที่สม่ำเสมอ
หางม้าส่วนใหญ่ได้มาจากโรงฆ่าสัตว์ น้อยรายนักที่จะได้มาจากม้าที่ยังมีชีวิตอยู่ หลังจากนั้นจะนำไปทำความสะอาดด้วยสบู่อ่อนๆ ขั้นตอนต่อมาคือการคัดแยกคุณภาพและแบ่งตามความยาวเเพื่อให้หางม้ามีขนาดเท่าๆ กัน ผู้ที่ทำหน้าที่เลือกหางม้าจะเลือกอย่างพิถีพิถัน ถือเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมาก หางม้าแต่ละขดจะถูกทดสอบความตรง ความเหนียวและความยืดหยุ่น หางม้าที่แตกปลายย่อมมีโอกาสที่จะขาดได้ง่ายกว่า ดังที่ได้กล่าวไว้แล้ววว่า คุณภาพของหางม้ามีผลต่อเสียงที่เกิดขึ้น เมื่อหางม้าถูกส่งไปยังร้านทำคันชักก็มักจะถูกตรวจสอบโดยช่างทำคันชักที่ชำนาญอีกครั้งหนึ่งเช่นเดียวกัน
การเลือกชนิดของหางม้าสำหรับทำคันชักนั้น ขึ้นอยู่กับความชอบส่วนตัวของนักดนตรีแต่ละคน บางคนชอบให้หางม้า กิน สายมากกว่าปกติเล็กน้อย ถ้ามีน้ำมันในหางม้ามากจนเกินไปยางสนจะไม่ค่อยเกาะหางม้าเท่าที่ควร แต่ถ้ามีน้ำมันน้อยเกินไปหางม้าก็จะแห้งและขาดง่าย
| โดย: - [8 เม.ย. 49 8:16] ( IP A:202.12.74.8 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 3 ช่างทำเชลโลที่มีชื่อเสียงชาวอิตาลีในยุคแรกๆ
เมืองเครโมนาและเบรสชา เครโมนาถือเป็นศูนย์กลางของการทำไวโอลินและเชลโลตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา Andrea Amati คือช่างคนแรกแห่งเมืองเครโมนาที่ได้มีการบันทึกเอาไว้ ตระกูล Amati ได้สืบทอดศิลปะการทำเครื่องดนตรีที่มีชื่อเสียงของเมืองเครโมนามาถึง 4 รุ่น ผลงานของเขามีความสง่างามโดยอาศัยหลักเกณฑ์ทางเรขาคณิตในการออกแบบอย่างลงตัว เปี่ยมไปด้วยความละเอียดและประณีต ไม่ว่าจะเป็นวงของก้นหอยบนหัวซอหรือแม้แต่ช่องเสียงรูปตัว f เครื่องดนตรีที่ทำให้กับกษัตริย์ชารลส์ที่ 9 (Charles IX) แห่งฝรั่งเศส ประดับด้วยลวดลายและสีสันต่างๆ และตราประจำพระองค์ มีความสวยงามน่าประทับใจเป้นอย่างมาก เชลโลที่เก่าแก่ที่สุดที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบันระบุปีการผลิตเอาไว้คือ 1572 แต่น่าเสียดายที่ช่างซ่อมเชลโลในสมัยก่อนคือตระกูล Philistine ได้ปรับลดขนาดของมันลงลงตามมาตรฐานของเชลโลสมัยใหม่ เป็นการทำลายน้ำเสียงและความสมบูรณ์ของมันลงอย่างน่าเสียดาย ลักษณะพิเศษของเชลโลตัวนี้คือ Peg box ทำขึ้นสำหรับ 3 สายเท่านั้น เช่นภาพเขียนที่เขียนขึ้นในปี 1535 ของ Ferrari การเพิ่มสาย 4 เข้ามาอาจจะเป็นการคิดค้นของ Andrea เองก็เป็นได้ เชลโลของเขาที่ทำในช่วงหลังแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าออกแบบมาสำหรับลูกบิด 4 สาย
Andrea และสมาชิกในครอบครัวของเขาล้วนแล้วแต่เป็นทำช่างไวโอลินทั้งสิ้น บุตรชายทั้ง 2 ของเขา Antonius (1540-?) และ Hieronymus (1561-1630) ทั้ง 2 คนพัฒนารูปทรงของไวโอลินแตกต่างกันออกไป แต่ต่างก็ใช้วานิชสีน้ำตาลทองที่สวยงามตามแบบของผู้เป็นบิดา ซึ่งอาจจะถือเป็นสมบัติที่มีค่าที่สุดของสกุลช่างไวโอลินแห่งเครโมนาเลยทีเดียว สิ่งที่น่าสังเกตก็คือช่องเสียง f ส่วนปลายของวงกลมจะเล็กและส่วนปลายแหลมหรือ 'wings ที่กว้าง
เราอาจจะถือได้ว่า Nicolo Amati (1596-1684) ซึ่งเป็นบุตรชายของ Hieronymus คือช่างที่มีชื่อเสียงที่สุดของตระกูล แม้ว่าเชลโลของเขาอาจจะไม่สามารถเทียบได้กับผู้เป็นบิดาและลุงก็ตาม แต่บุตรชายของเขา Hieronymus II (1649-1740) ได้ผลิตเชลโลขนาดใหญ่ที่สวยงามออกมาหลายตัว
ช่างทำเชลโลที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ของเชลโลอีกคนหนึ่งก็คือ Francesco Rugeri (ราวๆ ปี1620-1695) ในปี 1630 กาฬโรคได้แพร่ระบาดที่เมืองเครโมนา และได้คร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก Nicolo Amati ไม่มีทายาทผู้สืบทอดโดยตรงจึงจำเป็นต้องเสาะหาผู้สืบทอดจากภายนอกวงศ์ตระกูล Rugeri ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความช่างคิดและความสามารถในการเป็นช่างทำเชลโลของเขา แผ่นหน้าเชลโลที่โค้งมนได้อิทธิพล มาจากแบบของ Amati แต่ก็มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง เขานิยมทำเชลโลด้วยไม้ป๊อปล่าร์ที่มีลวดลายเรียบๆ บางครั้งก็ทำด้วยไม้เมเปิ้ลที่มีลวดลายสวยงามและมีชีวิตชีวิาด้วยสีสันของน้ำมันวานิชที่สดใส และที่สำคัญกว่านั้นคือ Rugeri เป็นผู้ริเริ่มลดความยาวขนาดเชลโลลงเหลือ 75 ซม. ภายหลังการเปลี่ยนแปลงไปราวๆ หนึ่งศตวรรษจึงได้กลายเป็นมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในอีก 50 ปีต่อมา | โดย: - [8 เม.ย. 49 8:17] ( IP A:202.12.74.7 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 5 เชลโลที่ทำขึ้นในปี 1624 ฝีมือของ Antonio & Hieronymous Amati 
| โดย: - [8 เม.ย. 49 8:22] ( IP A:202.12.74.5 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 6 ลูกศิษย์อีกคนหนึ่งของ Nicolo Amati ก็คือ Andrea Guarneri (1626-98) เขาทำเชลโลขนาดเดียวกันตลอดช่วงอาชีพตามแบบของเขาเอง เชลโลของเขามีช่วงล่าง (Upper bout) ที่ค่อนข้างกว้างและช่วงบน (Upper bout) ที่ค่อนข้างกลม ไม้แผ่นหน้าและหลังที่ค่อนข้างป่องโค้ง แต่ก็เป็นแบบที่ยอดเยี่ยมแสดงให้เห็นถึงฝีมือที่เป็นเลิศของเขา ผลงานของเขาในช่วงหลัง ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นฝีมือของบุตรชายคือ Giuseppe Guarneri (1666-1739) ซึ่งผลิตเชลโลตามแบบเล็กที่สวยงาม มีช่องเสียง f ที่เพรียวได้ส่วน แต่ใช้ไม้ที่หลากหลายและคุณภาพไม่ค่อยดีนัก ทั้งไม้บีชและป็อปล่าร์ และบางครั้งก็ใช้วานิชสีน้ำตาลเข้มที่คุณภาพต่ำ
ชื่อเสียงของ Guarneri อยู่ภายใต้ร่มเงาของ Antonio Stradivari (1644-1737) มาโดยตลอด ทั้งคู่อาจจะเป็นลูกศิษย์ของ Nicolo Amati ด้วยเช่นกัน แต่พรสวรรค์และชื่อเสียงของ Stradivari ยิ่งใหญ่กว่านักไวโอลินทั้งมวล เชลโลในยุคแรกๆ ของเขาทำขึ้นในปี 1667 ยังคงสภาพเดิมเป็นอย่างดี ฝีมือที่ไร้ที่ติของเขาไม่เคยตกลงไปเลยตลอด 70 ปีของการเป็นช่างทำไวโอลิน ทำให้เขามีสมาธิในการทุ่มเทพลังทั้งหมดเพื่อสร้างสรรค์และพัฒนาเครื่องดนตรีอย่างไม่หยุดยั้ง เขาเริ่มต้นอาชีพด้วยการฝึกงานกับ Nicolo Amati พร้อมๆ กับการพัฒนารูปแบบเครื่องดนตรีของตนเองให้มีความสมบูรณ์แบบ ทั้งในด้านคุณภาพและน้ำเสียงที่ไพเราะ
การคิดค้นที่สำคัญของเขาสำหรับเชลโลแบบใหญ่คือ การลดความโค้งของไม้แผ่นหน้าและหลังลงแต่มีความแข็งแรงมากขึ้น และการค่อยๆ ลดความหนาของไม้ลงตามแบบแผนใหม่ที่เขาคิดค้นขึ้น การเพิ่มช่องเสียง f ให้ยาวขึ้นแต่ลดความโค้งลง ส่วนหัวซอที่สวยงามเหนือกว่าช่างทำไวโอลินในยุคก่อนๆ นอกจากนั้น Stradivari ยังเป็นผู้ที่ริเริ่มนำรงควัตถุสีแดงมาผสมในวานิชอีกด้วย ทำให้สีสันของเครื่องดนตรีดูมีมิติและความลึกอย่างไม่สิ้นสุด แม้ว่าผลงานในช่วงแรกๆ ของเขาส่วนใหญ่จะคล้ายคลึงกับตระกูล Amati แต่ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนโดยการลดขนาดความยาวของลำตัวลง ผลงานชั้นเยี่ยมบางส่วนที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน เช่น 'Medici' (1690) 'Castelbarco' (1697) และ 'Servais' (1701)
ในช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 18 Stradivari เริ่มการทดลองกับเชลโล ผลลัพธ์ที่ได้คือเชลโลแบบ 'B' ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขา แบบร่างต้นฉบับยังคงเก็บรักษาไว้อย่างดีที่พิพิธภัณฑ์ Stradivari Museum ที่เมืองเครโมนา ประเทศอิตาลี โดยลดขนาดความยาวของลำตัวลงเหลือ 75 ซม. และเป็นแม่แบบของเชลโลชั้นเยี่ยมที่มีชื่อเสียง เช่น 'Gore-Booth (1710) 'Duport' (1711) Davidoff (1712) และ 'Batta' (1714) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอัจฉริยะภาพและฝีมือที่ยังคงเป็นเลิศในการทำเชลโล มีความงดงามจับตาและสามารถถ่ายทอดน้ำเสียงที่ชัดเจนแจ่มใส ผ่านมือของนักเชลโลชั้นนำนับตั้งแต่ Servais, Piatti, Du Pre จนถึง Rostropovich และ Yo-Yo Ma
แต่ Stradivari ไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านั้น ในปี 1730 แม้ว่าเขาจะมีอายุถึง 76 ปีแล้วก็ตาม เขาได้สร้างเชลโลแบบใหม่ขึ้น โดยลดความยาวลงประมาณ 2-3 ซม. รวมถึงลดความกว้างลงด้วย เช่น เชลโลที่ชื่อ 'De Munck' ที่ระบุว่าทำขึ้นในปี 1730 เมื่อพิจารณาจากฝีมือแล้วเชื่อว่าเป็นผลงานของเขาในยุคหลังๆ และก็อาจเป็นไปได้ว่าในช่วงบั้นปลายแห่งอาชีพนั้นเขาได้มอบแบบโครงสร้างของเครื่องดนตรีส่วนใหญ่ให้กับ Francesco (1671-1743) บุตรชายของเขา
ภายหลังมรณกรรมของ Stradivari ก็ไม่มีเชลโลจากสำนักของเครโมนาอีกเลย จนกระทั่งมีผลงานของช่างฝีมือระดับรองๆ ลงไปอย่าง Lorenzo Storioni (ประมาณปี1751-1800) ที่ทำให้เมืองนี้ยังคงเป็นศูนย์กลางของการทำเครื่องดนตรีที่ทรงอิทธิพลอยู่ และเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ผลิตช่างทำไวโอลินที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันมากมายหลายคน ช่างฝีมือของเครโมนาไม่เคยขาดแคลนในการหาตลาดเพื่อจำหน่ายผลงานของพวกเขา แม้ว่าจะมีความขัดแย้งมาตลอดศตวรรษที่ผ่านมาก็ตาม | โดย: - [8 เม.ย. 49 8:23] ( IP A:202.12.74.8 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 7 Andrea Guarneri เชลโลปี 1699 เคลือบวานิชสีแดงเข้ม 
| โดย: - [8 เม.ย. 49 8:25] ( IP A:202.12.74.5 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 9 ' Bonjour ' ผลงานของ Antonio Stradivari ที่ทำขึ้นในราวๆ ปี 1696 ข้อความบนฉลาก - Antonius Stradivari Cremonensis Faciebat Anno 168* (ความยาวของลำตัว 76.2 ซม.) 
| โดย: - [8 เม.ย. 49 8:31] ( IP A:202.12.74.7 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 10 Feuermann, De Munck ผลงานของ Antonio Stradivari ที่ทำขึ้นในราวๆ ปี 1730 - ความยาวของลำตัว 74.6 ซม. - Upper Bout: 32.7 ซม. - Lower Bout: 41.9 ซม. เชลโลหนึ่งในผลงาน 70 ถึง 80 ตัวที่เขาสร้างขึ้น มีสัดส่วนของรูปทรงที่ยาวและความแคบที่สัมพันธ์กัน ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1930 มันได้อยู่ในครอบครองของนักเชลโลที่ยิ่งใหญ่ของโลกคนหนึ่งคือ Emmanuel Feuermann (1902-1942) เขาได้นำเชลโลตัวนี้ออกแสดงไปทั่วโลก
| โดย: - [8 เม.ย. 49 8:32] ( IP A:202.12.74.7 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 11 เมืองที่เป็นคู่แข่งกับเมืองเครโมนาในการทำเชลโลก็คือเมืองเบรสชา ซึ่งมีชื่อเสียงและเอกลักษณ์ของตนเองอยู่แล้วในช่วงศตวรรษที่ 16 และอยู่ไม่ไกลจากเครโมนานัก ช่างทำเชลโลคนแรกที่มีการบันทึกเอาไว้คือ Gasparo da Salo (1540-1609) ผลงานของเขาแม้ว่าจะมีไม่มากนักก็ตาม เชลโลของเขามีผิวสัมผัสที่หยาบแต่ก็มีสเน่ห์ แตกต่างจากเชลโลของตระกูล Amati แห่งเครโมนาที่อยู่ในยุคเดียวกันค่อนข้างมาก ทั้ง 2 เมืองต่างก็ทำเชลโลทั้ง 2 ขนาดคือ ขนาดใหญ่ที่มีความยาวมากกว่า 76 ซม. และขนาดเล็กที่มีความยาวเพียง 71 ซม. เหมาะกับการบรรเลงบทประพันธ์สมัยใหม่มากกว่า Bassetti เครื่องดนตรีของช่างแห่งเครโมนาในยุคแรกๆ ที่มีขนาดค่อนข้างเทอะทะ
เชลโลของ da Salo มีลักษณะเฉพาะตัวคือ แผ่นหน้าและหลังที่ค่อนข้างแบน ขอบมุมไวโอลินที่ไม่คมชัดจนเกินไป ให้น้ำเสียงที่หนักแน่น รายละเอียดอื่นๆ เช่น การฝังเส้นขอบ (Purfling) ของ Da Salo แม้ว่าติดจะหยาบอยู่บ้าง บางครั้งก็ฝังเป็นเส้นคู่หรือมีการเขียนลวดลายบนไม้แผ่นหลัง เชลโลของเขาที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบันมีเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้นที่ส่วนหัวซอยังคงเป็นของเดิม ในตอนนี้คงยากที่จะเดาว่าส่วนคอที่เปลี่ยนเข้าไปมีความแตกต่างจากของเดิมอย่างไร แต่ก็เป็นไปได้ว่าสร้างขึ้นมาสำหรับใส่สายเพียง 3 สายเท่านั้น
ผู้ที่สืบทอดการทำไวโอลินต่อจาก Da Salo ในเบรสชาคือลูกศิษย์ของเขา Paolo Maggini (1581-1632) ผลงานของเขาในช่วงแรกๆ ของเขาคล้ายคลึงกับผู้เป็นอาจารย์เป็นอย่างมาก และดูเหมือนว่า Maggini จะทราบถึงฝีมือและความสามารถที่สูงส่งของช่างเครโมนาเป็นอย่างดี และพยายามที่พัฒนาไปถึงระดับนั้นให้ได้ แม้ว่าความสำเร็จที่ได้รับจะไม่มากเท่าก็ตาม กาฬโรคที่ระบาดไปทั่วอิตาลีได้พรากชีวิต Maggini ลง ร้านทำไวโอลินต่างๆ ในเบรสชาเกือบจะต้องปิดกิจการถาวรเลยทีเดียว จนกระทั่งการมาถึงของคู่แข่งคนสำคัญจากเครโมนาในราวๆ ปี 1675 Giovanni Baptista Rogeri (ผลงานของเขาอยู่ในช่วงปี 1670-1705) ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของ Nicolo Amati เช่นเดียวกัน ในที่สุด Rogeri ได้ตัดสินใจเดินทางไปยังเบรสชาเนื่องจากหมดยุคของ Maggini แล้ว เขาเป็นหนึ่งในช่างทำไวโอลินชั้นยอดที่เกิดจากการขัดเกลาของ Amati เช่นเดียวกับอีกหลายๆ คน
Rogeri ได้นำเอาเอกลักษณ์ของไวโอลินเมืองเบรสชามาผสมผสานในผลงานของเขา และได้สร้างเชลโลขนาดเล็กตามแบบศิลปะเบรสชาขึ้น มีความยาวลำตัว 71 ซม. แต่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือค่อนข้างกว้างและไม่ป่องมากนัก มีความโค้งที่คล้ายคลึงกับแบบของ da Salo ชาวเมืองเบรสชาเชื่อกันว่าเชลโลของ Rogeri มีความทัดเทียมกับ Stradivari แห่งเครโมนา เขาผสมผสานน้ำเสียงแบบเครโมนาและพลังของเสียงแบบเบรสชาเข้าด้วยกัน ในบางครั้ง Rogeri ก็ติดจะขี้เกียจอยู่เหมือนกัน แม้ว่าเขาสามารถที่จะหาไม้คุณภาพดีได้ไม่ยากก็ตาม แต่ก็ละเลยที่จะฝังเส้นขอบ (Purfling) บนไม้แผ่นหลัง อย่างมากก็แค่ใช้เหล็กแหลมขูดเป็นเส้นสีดำ 2 เส้นแทน | โดย: - [8 เม.ย. 49 8:35] ( IP A:202.12.74.6 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 13 เชลโลที่ทำขึ้นในราวๆ ปี 1700 ผลงานของ Giovanni Baptista Rogeri ไม้แผ่นหน้าทำจากไม้สปรู๊ซ ด้านหลังเป็นไม้บีช ส่วนด้านข้างเป็นไม้วิลโลว์ เคลือบวานิชสีทอง 
| โดย: - [8 เม.ย. 49 8:38] ( IP A:202.12.74.6 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 14 เมืองเวนิส เวนิสเป็นเมืองที่มีความสำคัญในการพัฒนาเชลโลถัดจากเบรสชา ช่างทำเชลโลที่มีชี่อเสียงในระดับแถวหน้าคือ Matteo Goffiller (1659-1742) เขาได้พัฒนาศิลปะการทำเครื่องดนตรีของตนขึ้นมาทัดเทียมกับเครโมนาที่มีชื่อเสียงอยู่ก่อนแล้ว เขาเริ่มเรียนรู้การทำเครื่องดนตรีจากช่างชาว Tyrol ที่ชื่อ Martin Kaiser ต้องถือว่า Goffiller เป็นผู้วางรากฐานศิลปะการทำเครื่องดนตรีตามแบบเวนิสขึ้น เอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขาก็คือใช้วานิชสีแดงเข้ม ปัจจุบันเครื่องดนตรีของเขาจะมีรอยแตกและรอยย่นปรากฎบนผิววานิชให้เห็นอย่างเด่นชัด ผลงานของเขาเป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะสกุลช่างเบรสชาและเครโมนา แต่ก็มีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัว โดยเฉพาะการแกะสลักส่วนหัวซอ (scroll) ที่ค่อนข้างเล็ก เขานำแบบเชลโลที่สวยงามหลายๆ แบบมาใช้นับตั้งแต่ แบบเล็ก ที่มีความยาว71 ซม. จนถึง Bassetto ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ภายหลังผลงานเหล่านี้ถูกดัดแปลงให้มีสัดส่วนที่เล็กลง เชลโลของเขามีความโค้งที่ไม่มากนัก มีน้ำเสียงที่ดีเยี่ยมและทรงพลัง ถึงแม้ว่าฝีมือบุตรชายของเขา Francesco (เกิดในราวๆ ปี 1692-1740) จะไม่สามารถทัดเทียมกับผู้เป็นบิดาได้เลย แต่ก็ประสบความสำเร็จในการเป็นช่างทำเครื่องดนตรีเช่นกัน แม้แต่ Pablo Casals ก็ใช้เชลโลของเขาในการแสดงแสดงคอนเสิร์ทเช่นกัน
ส่วนลูกศิษย์ของเขา Domenico Montagnana (1687-1750) ได้สร้างปรากฎการณ์ครั้งสำคัญที่สุดในฐานะช่างทำเชลโล 'The Mighty Venetian' คือฉายาของเขาที่รู้จักกันดี เชลโลของเขามีรูปทรงสวยงามเช่นเดียวกับน้ำเสียงของมัน ถ้าจะว่ากันจริงๆ แล้วมีเขาเพียงคนเดียวเท่านั้นที่มีชื่อเสียงพอที่จะนำไปเปรียบเทียบกับ Stradivari ได้อย่างทัดเทียมแม้ว่าผลงานของเขาจะมีสไตล์ที่แตกต่างจาก Stradivari ก็ตาม เชลโลของเขาค่อนข้างกว้างและไม่ค่อยลงตัวนัก บางครั้งก็เล่นได้ยาก แต่เมื่ออยู่ในมือของนักเชลโลฝีมือดีๆ แล้ว ก็สามารถที่จะแสดงอานุภาพและน้ำเสียงที่เปี่ยมเสน่ห์ได้อย่างง่ายดาย เชลโลของเขามีเส้นสายความโค้งของเส้นรอบนอกที่ไม่ค่อยเป็นระเบียบนัก บางครั้งรูปร่างของไม้แผ่นหลังก็ไม่กลมกลืนกับไม้แผ่นหน้า และมีความโค้งป่องไม่มากนักแต่ก็มีความแข็งแรงและบริเวณรอบๆ ขอบมุมทั้ง 4 ที่ค่อนข้างลึก ส่วนหัวซอที่ค่อนข้างโค้งแต่ดูแปลกตา ผลงานของเขาเคลือบด้วยวานิชสีแดงอำพันเข้มที่หนาหลายชั้นและค่อนข้างแข็ง
ผู้ช่วยคนแรกของเขาคือ Pietro Guarneri (1695-1762) ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นคู่แข่งคนสำคัญ เป็นบุตรชายของ Andrea Guarneri แห่งเครโมนา Pietro เดินทางมาถึงเวนิสเมื่อปี 1717 เขานำเอาเอกลักษณ์ของเครโมนามาประยุกต์เข้ากับสไตล์เวนิสเช่นเดียวกับ Rogeri เมื่อ Pietro ได้เห็นผลงานของ Montagnana ทำให้เขาผสมผสานการออกแบบที่เป็นอิสระและฝีมือที่ดีเยี่ยมอยู่แล้วเข้าด้วยกัน แต่ใช้วานิชที่มีสีสันแบบเวนิส แม้ว่าเชลโลของเขาพอที่จะเทียบชั้นกับ Montagnana ได้บ้าง แต่นั่นก็ทำให้ชื่อเสียงของเขาเป็นรอง Montagnana มาโดยตลอด
เวนิสมีช่างทำเชลโลคนที่มีชื่อเสียงอยู่หลายคน และอาจจะมากกว่าที่อื่นๆ ด้วยซ้ำ เช่น Carlo Tononi (1675-1730) Francesco Gobetti (1675-1723) และ Sanctus Serafin (1699-1758) ดูเหมือนว่าช่างทำเชลโลแห่งเมืองเวนิสจะพัฒนาเชลโลอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้ความสำเร็จและชื่อเสียงของพวกเขายืนยงตราบจนกระทั่งปลายศตวรรษที่ 18 | โดย: - [8 เม.ย. 49 8:40] ( IP A:202.12.74.7 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 15 Matteo Goffriller เชลโลที่ทำขึ้นเมื่อประมาณปี 1700 ข้อความบนฉลาก - Nicolaus Amatus Cremonen. Hieronymi fil. ac antonij Nepos fecit 1677 เคลือบวานิชสีน้ำตาลทอง
| โดย: - [8 เม.ย. 49 8:44] ( IP A:202.12.74.7 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 17 เชลโลปี 1725 ผลงานของ Pietro Guarneri แห่งเวนิส ข้อความบนฉลาก - Petrus Guarnerius Cremonensi Filii Josef fecit Venetis Anno 1725 เคลือบวานิชสีน้ำตาลแดง
| โดย: - [8 เม.ย. 49 8:46] ( IP A:202.12.74.6 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 19 แหล่งผลิตเชลโลเมืองอื่นๆ ในอิตาลี เมืองอื่นๆ ในอิตาลีที่เป็นแหล่งผลิตเชลโล เช่น โรม ซึ่งมีช่างชาวเยอรมันที่มีชื่อเสียงคือ David Tecchler (เกิดเมื่อประมาณปี 1666-เสียชีวิตเมื่อประมาณปี1747) เขาผลิตเชลโลออกมาเป็นจำนวนมากตามสไตล์เยอรมัน ไม้แผ่นหน้าและหลังมีความโค้งค่อนข้างมาก บริเวณใกล้มุมทั้ง 4 จะลึก ผลงานของเขาแสดงถึงความสามารถที่ดีเยี่ยมเช่นเดียวกับช่างอิตาลี นิยมใช้วานิชสีอ่อนแต่มีรอยแตกลายงาปรากฎชัดเจน และเลือกใช้ไม้คุณภาพที่หลากหลายแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่มักจะเป็นไม้ในท้องถิ่น เขานิยมสร้าง Bassetto ขนาดใหญ่ แม้ว่าผลงานส่วนใหญ่ที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันจะถูดดัดแปลงให้มีขนาดเล็กลง แต่ยังคงสัดส่วนเดิมและน้ำเสียงที่ดีเยี่ยม
ฟลอเรนซ์เป็นแหล่งผลิตช่างทำเชลโลที่มีชื่อเสียงหลายๆ คน เช่น Bartolomeo Cristofori (1655-1731) Giovanni Gabbrielli (มีผลงานในช่วงปี 1740-70) และพี่น้องตระกูล Carcassi คือ Lorenzo และ Tomasso (มีผลงานที่ผลิตขึ้นในช่วงปี 1750-80) Cristofori เป็นลูกศิษย์ของ Nicolo Amati ผลงานของเขาถือว่าดีเยี่ยม โดยเฉพาะเชลโลที่สร้างตาม 'แบบใหญ่' ตามแบบเครโมนา อย่างไรก็ตาม ช่างทำเชลโลในรุ่นต่อมาคือ Gabbrielli และพี่น้อง Carcassi ได้หันไปสร้างเชลโลตามแบบเยอรมันซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น รวมถึงช่างทำเชลโลส่วนใหญ่ในยุคกลางศตวรรษที่ 18 พร้อมๆ กับความสำเร็จของพวกเขาที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ Gabbrielli พยายามพัฒนารูปแบบที่แหวกแนวออกไปเรื่อยๆ แต่พี่น้องตระกูล Carcassi ยังคงสร้างสรรค์ผลงานตามสไตล์ดั้งเดิม | โดย: - [8 เม.ย. 49 8:51] ( IP A:202.12.74.7 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 20 เชลโลที่ทำขึ้นในราวๆ ปี 1740 ฝีมือของ Lorenzo Carcassi ไม้แผ่นหลังและข้างทำจากไม้ป้อปล่าร์ 
| โดย: - [8 เม.ย. 49 8:52] ( IP A:202.12.74.8 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 21 ช่างทำเชลโลชาวมิลานได้สร้างผลงานที่มีคุณภาพหลากหลายระดับ เชลโลที่ดีที่สุดมาจากสตูดิโอของ Giovanni Grancino (ผลงานของเขาอยู่ในช่วงปี 1685-1726) นิยมใช้วานิชสีเหลืองใสหรือสีน้ำตาลอ่อนๆ ที่ดูนุ่มนวลและมีผิวสัมผัสที่สวยงาม
แบบเชลโลของเขาได้รับอิทธิพลอย่างสูงจาก Nicolo Amati แต่ความโค้งป่องของไม้แผ่นหน้าและหลังของข้างเรียบ (แม้ว่าจะเป็นแบบที่ไม่ค่อยดีนักก็ตาม) ผสมผสานกับรูปทรงที่เพรียวตามแบบของ Antonio Stradivari ผลงานส่วนใหญ่ของเขาสร้างขึ้นตาม แบบใหญ่ ให้น้ำเสียงที่สะอาดและชัดเจน หนักแน่น และคุณภาพแบบอิตาลีอย่างแท้จริง นอกขากนั้นยังมีช่างทำเชลโลที่มีชื่อเสียงคนอื่นๆ คือ สมาชิกในตระกูล Testore เช่น Carlo Giuseppe (ผลงานของเขาอยู่ในช่วงปี 1720-60) เขาเป็นช่างฝีมือดี แต่น่าเสียดายว่าทักษะและฝีมือของผู้สืบทอดต่อจากเขาในรุ่นหลังๆ เสื่อมถอยลงไปมาก แต่ก็ยังสามารถผลิตผลงานบางส่วนซึ่งมีน้ำเสียงที่ดีเยี่ยม
ช่างทำเชลโลที่ถือว่ามีฝีมือพอจะเทียบได้กับ Stradivari และ Montagnana คือ Alessandro Gagliano แห่งเนเปิ้ลส์ (ผลงานของเขาอยู่ในช่วงปี 1700-1735) Gagliano ได้สร้างสรรค์เชลโลชั้นยอดเยี่ยมที่สุดออกมาจำนวนไม่มากนัก ทั้งในด้านฝีมือที่เป็นเลิศ แม้จะสร้างตามแบบใหญ่แต่ก็มีสัดส่วนที่สวยงาม เคลือบด้วยน้ำมันวานิชสีแดงที่สวยงามมาก แต่น่าเสียดายว่าสไตล์ของเขาได้ตายไปพร้อมกับตัวเขา สมาชิกในครอบครัวของเขาแม้จะเป็นครอบครัวใหญ่ที่ยังคงอาศัยอยู่ในเนเปิ้ลส์ สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพแตกต่างกันตั้งแต่ดีเยี่ยมไปจนถึงระดับที่ธรรมดามากๆ
ก่อนการเสียชีวิตของ Antonio Stradivari ในปี 1737 Omobono Stradivari (บุตรชายของ Antonio Stradivari) ยังคงอยู่ในเมืองนี้ และอาจจะจะมีผลต่อต่อสไตล์ที่เปลี่ยนไปของ Nicolo และ Gennaro บุตรชายของ Alessandro อย่างเห็นได้ชัดเจน ทั้งคู่สร้างสรรค์ผลงานตามสไตล์ของ Stradivari แต่มีข้อเสียคือการเลือกใช้น้ำมันวานิชคุณภาพต่ำ แต่ก็ยังให้น้ำเสียงที่ดีตามมาตรฐานของช่างมิลานโดยทั่วไป ตระกูล Gagliano ได้สร้างสรรค์เครื่องดนตรีซึ่งมีน้ำเสียงที่ยอดเยี่ยมให้กับนักดนตรีทั้งหลาย แม้ว่าผลงานของพวกเขาจะไม่ได้ถูกจัดอยู่ในลำดับต้นๆ ก็ตาม
บางที Giovanni Battista Guadagnini อาจจะเป็นช่างอิตาลีคนสุดท้ายที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับช่างทำเครื่องดนตรีรุ่นหลังๆ ก็เป็นได้ เขาใช้แบบเชลโลที่มีลักษณะเฉพาะตัวคือ มีความยาว 71 ซม. แต่มีความกว้างและลึกและช่วงของสายที่ยาว ให้น้ำเสียงที่ดีเยี่ยมและเล่นได้ง่ายกว่า วานิชที่เขาใช้มีหลากหลายสีสัน ในช่วงที่เขาพเนจรไปยังเมืองต่างๆ ทั่วอิตาลี ตั้งแต่ปิอาเชนซ่าซึ่งเป็นบ้านเกิดไปจนถึงมิลาน เครโมนา ปาร์มา และที่สุดท้ายคือเมืองตูริน และเป็นช่วงที่เขาติดต่อกับนายหน้าและผู้เชี่ยวชาญด้านไวโอลินคือเคาท์ Cozio di Salabue ซึ่งเป็นคนแรกที่พยายามรวบรวมศิลปะการทำเครื่องดนตรีของอิตาลีที่กระจัดกระจายเข้าด้วยกัน ผู้ที่สืบทอดผลงานของ Guadagnini ในตูรินคือ Giuseppe Rocca (1807-1865) หนึ่งในช่างทำเครื่องดนตรีรุ่นใหม่ของศตวรรษที่ 19 ผู้ซึ่งไม่สนใจต่อแนวคิดการทำเครื่องดนตรีสมัยใหม่ในยุคนั้น และประสบความสำเร็จในการทำเชลโลเลียนแบบผลงานของ Stradivari แต่ผลงานที่ยอดเยี่ยมเหล่านี้มีจำนวนไม่มากนัก | โดย: - [8 เม.ย. 49 8:53] ( IP A:202.12.74.5 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 22 Alessandro Gagliano เชลโลปี 1709 ข้อความบนฉลาก - Alexander Gaglianus Fecit Neap. 1709 ความยาวลำตัวเชลโล 72.8 ซม. จะเห็นฝีมือลวดลายแกะบนส่วนหัว (Scroll) ที่สวยงามมาก
| โดย: - [8 เม.ย. 49 8:54] ( IP A:202.12.74.7 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 23 Giovanni Battista Guadagnini เชลโลปี 1744 ข้อความบนฉลาก - Joannes Baptista filius Laurentji Guadagnini fecit Placentia 1744 ความยาวลำตัว 71.9 ซม.
| โดย: - [8 เม.ย. 49 8:55] ( IP A:202.12.74.5 X: ) |  |
|