ความคิดเห็นที่ 1 ในช่วงปี 1801-1805 เป็นช่วงที่เขาไม่ได้ปรากฎตัวต่อสาธารณชนเลยเชื่อกันว่าเขาได้พักฟื้นตัวอยู่ที่ปราสาทของหญิงผู้สูงศักดิ์ท่านหนึ่งแห่งแค้วนทัสคานี่ ในช่วงนี้เขาได้อุทิศเวลาให้กับการเล่นและแต่งเพลงสำหรับกีตาร์ แต่ในปี 1805 เขาได้กลับมาเล่นคอนเสิร์ทอีกครั้ง ได้รับความสำเร็จตลอดปีนั้นเลยทีเดียว ต่อมาเขาได้รับการว่าจ้างจากเจ้าหญิง Elisa Bacciocchi แห่งเมือง Lucca น้องสาวของจักพรรดินโปเลียนเพื่อเป็นนักเดี่ยวไวโอลินประจำราชสำนัก ณ ที่นี้เองที่เขาได้ทุ่มเทคิดค้นเทคนิคการเล่นไวโอลินแบบแปลก ๆ เช่นปรับสายไวโอลินสายใดสายหนึ่งให้สูงกว่าครึ่งเสียง เทคนิคดับเบิ้ลสต็อป การเล่นพิซซิคาโตด้วยมือซ้ายและการเล่นไวโอลินด้วยสายน้อยกว่า 4 สายด้วยเทคนิคฮาร์โมนิคและยังได้แต่งเพลงโซนาต้าโดยใช้สาย G เพียงสายเดียวอีกด้วย เขาทำงานอยู่ในราชสำนักจนกระทั่งถึงปี 1813 ช่วง 2-3 ปีต่อมาเขาได้ตระเวนแสดงคอนเสิร์ททั่วอิตาลี ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าเขาคือนักไวโอลินเอกแห่งยุคโดยแท้จริง แต่เนื่องจากสุขภาพที่ย่ำแย่ทำให้เขาไม่สามารถเดินทางไปเล่นคอนเสิร์ทที่ต่างประเทศได้อยู่หลายปีทีเดียว ในปี 1828 หลังจากที่เขาพักรักษาตัวที่ชิซิลีอยู่หลายปี สุขภาพของเขาก็แข็งแรงขึ้นหลังจากนั้นได้เดินทางไปเวียนนาซึ่งชื่อเสียงของเขาโด่งดังมากแล้ว เสื้อผ้า อาหาร สิ่งของต่าง ๆ ล้วนตั้งชื่อตามเขาทั้งสิ้น ภาพเขาในอริยาบทกำลังถือไม้เท้าและกล่องยานัตถุ์เป็นภาพที่ชาวเวียนนาเห็นกันจนชินตา ในปี 1831 ชื่อเสียงของเขาขจรขจายจากเวียนนาไปถึงปารีส Franz List นักเปียโนชื่อดังชาวฮังกาเรียนได้บรรยายถึงความชื่นชมของผู้คนที่มีต่อเขาเป็นอันมากในความมหัศจรรย์และเทคนิคการเล่นไวโอลินที่แสดงออกอย่างเข้าถึงอารมณ์ทั้งความโศกเศร้าและความไพเราะ บ่อยครั้งทีเดียวที่เขาสามารถเรียกน้ำตาจากผู้ชมได้เช่นเดียวกับการเล่นที่เปี่ยมด้วยพลังและความรวดเร็ว
ในช่วงนี้เองที่ชื่อของเขาได้กลายเป็นตำนานแห่งวงการดนตรี ไม่เพียงแต่เทคนิคการเล่นที่สร้างความตื่นตะลึงให้กับผู้ชมเท่านั้นแต่ยังรวมถึงภาพลัษณ์ด้วยหน้าตาที่ซีดขาวคล้ายศพเดินได้รวมถึงเรื่องราวเกี่ยวกับปีศาจในตัวเขา หนังสือพิมพ์ Castil-Blaze ในปี 1831 ได้บรรยายถึงบุคลิกของเขาไว้ว่า สูงราว 5 ฟุต 5 นิ้ว รูปร่างที่ดูผอมเพรียว ใบหน้าเรียวยาวขาวซีดแต่คมชัด จมูกที่ยื่น ตาที่เหมือนเหยี่ยว ผมหยักศกยาวประบ่าและลำคอที่เล็กมาก ๆ เส้นจมลึกที่โหนกแก้มดูคล้ายกับตัว f ของไวโอลิน รอยยิ้มที่คล้ายกับรอยยิ้มของซาตาน แววตาที่ยิ้มของเขาคล้ายกับถ่านไฟที่ลุกโชน ทำให้ผู้คนต่างพากันร่ำลือกันว่าเขาเป็นทายาทของปีศาจจริง ๆ ถ้าใครบังเอิญไปถูกตัวเขาเข้าจะต้องทำสัญญลักษณ์ไม้กางเขนทันทีเพราะความกลัวอาถรรพ์ร้าย มีอยู่ครั้งหนึ่ง มารดาปากานินี่ถูกบังคับให้เขียนจดหมายเพื่อรับรองว่าเขาเป็นลูกแท้ ๆ แต่ไม่ว่าอย่างไรผู้คนก็ยังหวาดกลัวเขาอยู่ดี ที่ปารีสเขามีฉายาว่า Cagliostro ในไอร์แลนด์เขามีฉายาว่ายิวพเนจร (Wandering Jew) และในฮอลแลนด์ผู้คนกล่าวกันว่าเขาเดินทางมาถึงที่นั่นด้วยเรือเหาะในตำนานชาวดัทช์คือ Flying Dutchman
ปากานินี่ยังคงตระเวณแสดงคอนเสิร์ทของเขาโดยไม่สนใจสุขภาพของตัวเองนักซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงเหมือนเช่นเคย ในปี 1836 เขาได้ลงทุนเปิดบ่อนคาสิโนขึ้นชื่อว่า Casino Paganini" ในกรุงปารีสเพื่อเป็นรีสอร์ทคาสิโนและเป็นที่แสดงคอนเสิร์ทของเขาเอง แต่กิจการกลับประสบความล้มเหลวขาดทุนมหาศาล ทำให้อาการป่วยของเขาทรุดหนักลงอีก หลังจากนั้นเขาได้เดินทางไปยังเมืองมาร์กเซย์และนีซเพื่อพักผ่อนฟื้นฟูสภาพจิตใจ แต่โชคร้ายที่อาการป่วยของเขากลับทรุดหนักลง ไม่สามารถใช้เสียงได้อีกต่อไป เขาถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 1840
2-3 วันก่อนการสียชีวิตของเขา พระบิชอปแห่งเมืองนีซได้ถูกเชิญมาเพื่อรับศีลแต่เขาปฏิเสธที่จะพบเพราะเชื่อว่าตนเองยังไม่ตาย ดังนั้นเมื่อเขาเสียชีวิตลงโดยไม่ได้รับศีลครั้งสุดท้าย ทางโบสถ์จึงปฏิเสธที่จะทำพิธีฝังศพให้เขา ศพของเขาได้เก็บไว้ที่โรงพยาบาลเมืองนีซเป็นเวลานาน หลังจากนั้นจึงได้ย้ายไปที่หมุ่บ้านแห่งหนึ่งในฝรั่งเศส จนกระทั่ง 5 ปีต่อมาบุตรชายของเขาจึงได้ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อองค์พระสันตปาปาเพื่อขอให้มีพิธีฝังศพเขาที่โบสถ์แห่งหนึ่งใกล้ ๆ กับเมืองเจนัว
ตลอดชีวิตของเขาต้องทรมานกับโรคไข้ประสาทมาโดยตลอด ทำให้เขาต้องใช้ชีวิตด้วยการเดินทาง ต่อมาอาการของโรคได้กำเริบหนักขึ้นจนเขาไม่สามารถเล่นดนตรีได้อยู่นาน และเพราะสุขภาพที่ย่ำแย่นี่เองทำให้เขาต้องควบคุมอาหารอย่างเข้มงวด ในแต่ละวันเขารับประทานเพียงแค่ซุป 1 ถ้วย ช็อคโกแล็ตและน้ำชาดอกคาโมมายล์อย่างละ 1 แก้วเท่านั้น นอกนั้นเขาจะใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการนอนพักผ่อน | โดย: - [20 ม.ค. 49 13:18] ( IP A:202.12.74.7 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 2 ประสาทหูของเขาไม่ปกตินักแม้ว่าจะเป็นนักดนตรีที่ยิ่งใหญ่ก็ตาม เขาสามารถได้ยินเสียงกระซิบเบาๆ ที่อยู่ไกลๆ ได้ ดังนั้นถ้ามีเสียงดังๆ จะทำให้เขาเจ็บปวดและทรมานมาก แม้ว่าเขาจะเป็นคนเอาแต่ใจตัวเองและไร้ระเบียบวินัยโดยสิ้นเชิงไม่ว่าจะเป็นการปรากฎตัวสาธารณชนหรือแม้แต่ที่บ้านของเขาเอง แต่เพื่อน ๆ ของเขากล่าวว่าปกติเขาเป็นคนที่เงียบขรึมไม่ค่อยพูดจา แต่เมื่อเป็นเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแล้วเขาจะกลายเป็นคนโลภทันที
Robert Schumann นักประพันธ์เพลงที่มีความชื่นชมในตัวปากานินี่มาก เขากล่าวว่าดนตรีของ Paganini นั้นเต็มไปด้วยความบริสุทธิ์และคุณค่าที่ยอดเยี่ยม เช่นเดียวกับ Hector Berlioz ที่กล่าวถึงผลงานของ Paganini ว่า ผลงานของเขาได้แสดงถึงจินตนาการและความสร้างสรรค์ที่แหวกแนวแต่เปี่ยมด้วยความสามารถ ด้วยแบบแผนทางดนตรีที่สง่างามและยิ่งใหญ่ การเรียบเรียงเสียงประสานที่ไม่เคยมีมาก่อนในยุคนั้น บทประพันธ์ของเขาทำให้ดนตรีอิตาเลียนเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง เพลงของเขาเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์อย่างหาได้ยากในนักดนตรีอิตาเลี่ยนด้วยกัน ดนตรีของเขาชัดเจน เรียบง่าย แต่ไม่ธรรมดา เต็มไปด้วยความสดใสและเปี่ยมด้วยพลังที่ไม่โฉ่งฉ่างจนเกินไป
แน่นอนว่าผลงานที่ยอดเยี่ยมของเขานั้นก็คือบทเพลงเกี่ยวกับไวโอลินที่เขาได้สร้างขึ้นจากอัจฉริยะภาพที่ทำให้ที่นักไวโอลินอื่น ๆ ต้องศึกษาผลงานของเขา ผลงานที่ถือว่ามีชื่อเสียงที่สุดของเขาก็คือบทเพลง 24 Caprices สำหรับเดี่ยวไวโอลิน ถือเป็นเพลงแม่บทของนักไวโอลินทั้งหลาย เป็นบทเพลงที่ประกอบด้วยจินตนาการและความโรแมนติคที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถที่เป็นเลิศทั้งทางด้านไวโอลินและการประพันธ์เพลง เขายังได้ประพันธ์บทเพลงที่ท้าทายความสามารถนักดนตรีรุ่นหลังอีกเช่น 12 Sonatas for violin and guitar ผลงาน Violin concerto อีก 6 บท และ 6 Quartet for violin, viola, cello และ guitar
ทั้ง List และ Schumann ต่างก็ได้เรียบเรียง 24 Caprices ขึ้นใหม่สำหรับบรรเลงด้วยเปียโน ส่วน Johannes Brahms นั้นได้แต่ง Variations บทต่างๆ สำหรับเปียโนไว้ด้วยเช่นเดียวกับ Sergei Rachmaninov
| โดย: - [20 ม.ค. 49 13:19] ( IP A:202.12.74.6 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 3 นักไวโอลินหรือปีศาจ สาธารณชนเริ่มรู้จักปากานินี่เริ่มในฉายาว่า "Hexensohn หรือทายาทปีศาจ ชื่อเสียงด้านผีสางและความลึกลับของเขาได้แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว พรสวรรค์และความสามารถของเขาเชื่อกันว่าได้รับมาจากซาตาน
ปากานินี่เริ่มออกแสดงดนตรีทั่วยุโรปเมื่อตอนที่เขาอายุได้ 40 เศษ ๆ ในช่วงเวลานั้นยังไม่เคยมีใครได้ฟังดนตรีหรือได้เห็นใครที่เหมือนกับเขามาก่อน ปากานินี่จึงอาศัยข่าวลือเกี่ยวกับตัวเขาเรื่องพลังลึกลับให้เป็นประโยชน์ เป็นเรื่องปกติสำหรับเขาทีเดียวสำหรับเดินทางไปแสดงคอนเสิร์ทด้วยรถเทียมม้าและม้าสีดำ ปกติตัวเขาเองก็นิยมใส่ชุดดำอยู่แล้ว เขามักจะปรากฎตัวบนเวทีช้ากว่าปกติเล็กน้อยคล้าย ๆ กับการปรากฎตัวของวิญญาณหลังจากนั้นจึงโค้งให้กับผู้ชม การปรากฎตัวบนเวทีแบบพิสดารของเขายิ่งทำให้ข่าวลือเรื่องอำนาจมืดของเขาน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น เรื่องที่กล่าวถึงกันมากเรื่องหนึ่งคือการเล่นไวโอลินด้วยการตัดสาย 3 สายบนทิ้งทีละสายเหลือเพียงสาย G เพียงสายเดียว แม้ว่าในภายหลังปากานินี่พยายามที่จะลบล้างข่าวลือเรื่องลึกลับต่างๆ ที่เกี่ยวกับตัวเขา แต่ก็ดูเหมือนว่าจะสายเกินไปเสียแล้ว ชื่อเสียงของเขาจึงเป็นที่รู้จักในฐานะ "Technical wizard
เทคนิคการเล่นของเขานั้นโดดเด่นและผิดธรรมดามาก แต่สาเหตุให้ผู้คนหลั่งไหลมาชมการแสดงของเขาคงเป็นเพราะเรื่องราวลึกลับเกี่ยวกับปีศาจนี่เอง มีผู้กล่าวไว้ว่าสิ่งที่ดึงดูดผู้คนให้สนใจมีมากกว่าเทคนิคการเล่นดนตรีที่มหัศจรรย์ แต่มันคือพลังของปีศาจที่แฝงอยู่ในบทเพลงที่เขาบรรเลงออกมา ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงเทคนิคอันเยี่ยมยอดของเขาที่พาให้ผู้คนพากันเข้าใจผิดว่าเป็นพลังเหนือธรรมชาตินั่นคือการ 'ดวล' ระหว่าง Lafont นักไวโอลินชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นกับปากานินี่ ทั้งที่จริงแล้ว Lafont ต้องการเพียงแค่ร่วมแสดงในคอนเสิร์ทของเขาเท่านั้น แต่สาธารณชนต้องการชมการประลองกันมากกว่าซึ่งปากานินี่เป็นผู้ชนะอย่างไม่เป็นทางการ กล่าวกันว่าปากานินี่ชนะโดยการโชว์การเล่นอิมโพรไวส์คู่แปด ขั้นคู่สามและขั้นคู่หก ตัวเขาเองก็มีความกระตือรือร้นที่จะโชว์เทคนิคแปลก ๆ อยู่เสมอ ในคอนเสิร์ทของเขาครั้งหนึ่งที่กรุงปารีส ปี 1832 ในขณะที่เขากำลังบรรเลงบทเพลง Sonata a movement peretual ด้วยเทคนิคสุดมหัศจรรย์ในอัตรา 12 ตัวโน้ตใน 1 วินาที สำหรับผู้ชมแล้วมันเป็นการยากที่จะเชื่อว่าจะมีใครทำได้เช่นนั้น ในเวลาเท่า ๆ กันที่ปากานินี่เล่นโน้ต 12 ตัวแต่นักดนตรีอื่น ๆ แค่อ่านก็แทบจะไม่ทันแล้ว ความสามารถของเขานั้นพัฒนาถึงขั้นไร้ขีดจำกัดทางด้านเทคนิคใด ๆ ทั้งสิ้น | โดย: - [20 ม.ค. 49 13:20] ( IP A:202.12.74.8 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 4 ปากานินี่นั้นถือเป็นผู้คิดค้นเทคนิคการเล่นไวโอลินสมัยใหม่ ความแปลกพิสดารที่ทำให้ชื่อเสียงของเขาเริ่มเป็นที่กล่าวถึงคือ นักไวโอลินในยุคก่อนหน้าปากานินี่นั้นมักจะมีดนตรีเล่นประกอบการแสดง แต่ปากานินี่นั้นตรงกันข้าม เขาจะเดินออกมาหน้าเวทีด้วยความมั่นใจพร้อมกับสบัดเส้นผมที่เรียวยาวดำสลวยไปข้างหลัง บรรจงวางไวโอลินไว้ใต้คางและเริ่มบรรเลงโดยไม่ต้องมีดนตรีอื่นใดประกอบเลย สร้างความตื่นตะลึงให้แก่ผู้ชมเป็นอย่างมาก พวกเขาต่างพากันประหลาดใจกับผู้ชายและไวโอลินเพียงตัวเดียวที่สามารถสร้างความประทับใจได้ตลอดการแสดงคอนเสิร์ท อีกเรื่องราวที่ยังเป็นที่กล่าวขวัญก็คือความสามารถในการเล่นไวโอลินที่เหนือธรรมดาของเขา ในต้นปี 1829 นักไวโอลินชาวเยอรมัน Guhr Schwarz ได้สรุปทฤษฎีการเล่นไวโอลินของปากานินี่ไว้ 6 ข้อดังนี้
- Scordatura การตั้งสายไวโอลินให้ผิดไปจากปกติ ซึ่งทำให้เขาสามารถเล่นคีย์อื่น ๆ ได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนโพสิชั่นเลย (สรีระร่างกายของปากานินี่นั้นแตกต่างจากคนปกติคือมีช่วงขาและช่วงแขนที่ยาวกว่าปกติ เฉพาะมือนั้นยาวเกือบถึงหัวเข่าเลยทีเดียว เขามีนิ้วมือที่เรียวยาวมาก ว่ากันว่าเขาสามารถวางตำแหน่งนิ้วโป้งของมือซ้ายที่โพสิชั่น 1 แต่สามารถเลื่อนนิ้วชี้ขึ้นมาเล่นในโพสิชั่น 3 โดยที่นิ้วโป้งซ้ายยังอยู่ที่โพสิชั่นเดิมถ้าจะมีใครเล่นไวโอลินด้วยเทคนิคเดียวกับปากานินี่อาจจะต้องเปลี่ยนไปใช้ไวโอลินที่มีขนาดเล็กกว่าปกติหรือมิฉะนั้นก็ต้องเรียบเรียงใหม่เพื่อให้เล่นได้ง่ายขึ้น (นักไวโอลินเอกอย่าง Jascha Heifetz ก็ไม่นิยมเล่นผลงานของปากานินี่เท่าใดนัก) - เทคนิคการใช้คันชักที่แปลกพิสดารเช่น การใช้คันชักกระแทกสาย (bouncing) เป็นต้น - เทคนิคการ Pizzicato ด้วยมือซ้าย ทำให้นักไวลินสามารถเล่นเทคนิคนี้ได้โดยไม่ต้องใช้มือขวาที่ถือคันชักเลย - การใช้เทคนิคฮาร์โมนิคได้อย่างไร้ขอบเขต - การใช้สาย G เพียงสายเดียวบรรเลงทั้งบทเพลง - เทคนิคการวางนิ้วที่แปลกประหลาดกว่านักไวโอลินทั่วไป
เทคนิคดังกล่าวข้างบนถือเป็นสิ่งใหม่ ให้สุ้มเสียงไวโอลินที่ไม่เคยมีมาก่อนในยุคนั้น ปากานินี่ต้องการสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ชมที่เข้ามาชมการแสดงของเขา แม้ว่าทุกคนจะคิดว่าเขาถูกซาตานเข้าสิงก็ตาม ผมที่ดำสลวยตัดกับใบหน้าที่ขาวซีดดูเหมือนมีรังสีประหลาดแผ่อยู่รอบตัว ในปี 1828 ฟันหน้าเขาร่วงยิ่งทำให้ใบหน้าของเขาตอบลึกลงไปอีกทำให้ภาพลักษณ์ของปีศาจดูเด่นชัดมากขึ้น ในบางคอนเสิร์ทของเขาสามารถตรึงผู้ชมให้อยู่กับที่โดยไม่มีใครกล้าลุกไปไหนเลย Boerne กวีชาวเยอรมันได้เขียนแสดงความประทับใจในคอนเสิร์ทของเขาไว้ว่าราวกับทั้งสวรรค์และนรกที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อนเลยทีเดียว ความสามารถของเขาเป็นที่กล่าวขวัญถึงเสมอๆ เช่นเดียวกับหน้าตาและเทคนิคที่มหัศจรรย์ แม้ว่าเขาจะเสียชีวิตในวันที่ 27 พฤษภาคม 1840 แล้วก็ตาม นับตั้งแต่เขาปฏิเสธพิธีรับศีลครั้งสุดท้ายทำให้เขาไม่สามารถประกอบพิธีฝังศพตามประเพณีได้ ศพของเขาถูกเก็บไว้ในห้องใต้ดินนานถึง 5 ปีจนกระทั่งครอบครัวเขาได้ยื่นคำร้องต่อทางโบสถ์เพื่อขอประกอบพิธีทางศาสนาให้แก่เขา ผู้คนต่างโจษจันถึงเหตุผลในการปฏิเสธของทางศาสนจักร บ้างก็เชื่อว่าเขายังไม่ตายและมีคนเชื่อว่าเขาเป็นพวกนอกรีตและการที่เขาปฏิเสธการรับศีลครั้งสุดท้ายยิ่งทำให้ข่าวลือเรื่องที่มาของเขากลับมาเป็นร่ำลือกันยิ่งขึ้น
ปากานินี่นั้นไม่ใช่ปีศาจดังที่หลาย ๆ คนเชื่อกัน ความสำเร็จของเขามาจากการฝึกซ้อมอย่างหนัก บวกกับพรสวรรค์ในการสร้างสรรค์ดนตรีที่งดงามและเพื่อสร้างสรรค์ความบันเทิงให้กับผู้ชม ในช่วงที่เขารุ่งเรืองถึงขีดสุดนั้นตั๋วคอนเสิร์ทของเขาขายหมดเกลี้ยงทุกรอบ แม้ว่าในบั้นปลายอาชีพของเขาจะไม่รุ่งโรจน์นักก็ตาม ก่อนการเสียชีวิตเพียง 2-3 ปีเขาก็ไม่ได้สร้างภาพลักษณ์เหมือนเมื่อก่อน แต่ไม่ว่าจะมีข่าวลืออย่างไรก็ตาม ต้องถือว่าปากานินี่ได้สร้างสรรค์เอกลักษณ์ทางดนตรีที่ยังคงอยู่จวบจนทุกวันนี้ | โดย: - [20 ม.ค. 49 13:20] ( IP A:202.12.74.6 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 5 ไวโอลินของปากานินี่ หลายปีต่อมาปากานินี่ได้เซ็นสัญญาเป็นครั้งแรกกับ Neapolitan ผู้ผลิตสายและคันชักไวโอลิน ต่อมาเขาได้รับการว่าจ้างให้ออกแบบคันชักเพื่อผลิตขาย โดยความช่วยเหลือของเพื่อนและผู้จัดการชาวเจนัว Luigi Guglielmo Germi แต่คันชักที่เขาใช้ประจำไม่เคยเปลี่ยนเลยสร้างโดย Tartini ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าคันชักในปัจจุบัน
สำหรับปากานินี่แล้วไวโอลิน Guarneri ถือเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายและของชีวิตเขาเลยทีเดียว ในช่วงที่เขาป่วยหนักจนไม่สามารถเล่นไวโอลินได้เขาเคยเขียนบันทึกไว้ว่าไวโอลินคงโกรธเขามาก "The violin was very angry with me" ในปี 1828 ที่เมืองเวียนนานั้นเองปากานินี่ได้ว่าจ้าง C.Nickolaus Sawicki ช่างทำไวโอลินให้เปลี่ยนฟิงเกอร์บอร์ดไวโอลินคู่ใจเพราะเชื่อว่าจะทำให้เสียงดีขึ้นและรองรับต่อเทคนิคการเล่นที่โลดโผนของเขาได้ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ประสบผลสำเร็จด้วยดี
ในช่วงต้นดือนพฤศจิกายน 1833 ที่กรุงปารีส ปากานินี่ได้มอบให้ Vuillaume เป็นผู้ซ่อมไวโอลิน Guarneri ของเขา การซ่อมแซมในครั้งที่ 2 นี้ประสบผลสำเร็จเช่นกัน เมื่อการซ่อมเสร็จสิ้นลงปากานินี่ต้องการนำไวโอลินของเขาออกแสดงคอนเสิร์ทเพื่อทดสอบ ในโอกาสนี้เอง Vuillaume ได้สร้างไวโอลินเลียนแบบจาก Guarneri ต้นแบบทุกประการ ปากานินี่ได้ซื้อไปในราคา 500 ฟรังก์ หลังจากนั้นเขาได้มอบให้กับ Camillo Sivori ลูกศิษย์ของเขา ซึ่งต่อมาได้บริจาคคืนให้กับทางสภาเมืองเจนัว ไวโอลินทั้ง 2 ตัวจึงได้ถูกนำมาจัดแสดงไว้คู่กัน
ในปี 1834 ไวโอลิน Guaneri มีอายุ 92 และปากานินี่ 52 ปี แม้ว่าเขาตัดสินใจที่จะเกษียณแล้วก็ตามแต่ก็ยังตระเวณแสดงคอนเสิร์ทอยู่ในประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และเบลเยี่ยมแม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จมากนักก็ตาม
หลังจากนั้นไม่กี่ปีเสียงของ 'The Cannone' เริ่มเพี้ยนไปเช่นเดียวกับเสียงของเขา ในที่สุดเขาก็ไม่สามารถใช้เสียงได้อีกเนื่องจากอาการหลอดลมอักเสบที่ทรมานเขามานาน เมื่อเขาถึงแก่กรรมลงในปี 1840 ที่เมืองนีซประเทศฝรั่งเศส ไวโอลิน Guarneri และบรรดาเครื่องสายฝีมือช่างที่มีชื่อเสียงรวมทั้งไวโอลินของ Sradivari ได้ตกเป็นของ Achille บุตรชายของเขา แต่ในพินัยกรรมที่เขียนขึ้นในปี 1837 ระบุไว้ว่าไวโอลิน 'The Cannone' ของ Guarneri นั้นมอบให้กับสภาเมืองเจนัวเพื่อเก็บรักษาไว้ แต่ด้วยปัจจัยต่าง ๆ มากมายทั้งจากทางศาสนจักร ข้อกฎหมายต่างๆ และจากทางทางราชการ พิธีการรับมอบไวโอลินตัวนี้จึงมีขึ้นเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 1851 ต่อมาในปี 1937 ไวโอลินตัวนี้ได้รับการบูรณะอีกครั้งหนึ่งโดยช่างฝีมือชาวเจนัว Cesare Candi ปัจจุบันไวโอลินของ Guarneri "The Cannone เก็บรักษาไว้ในตู้โชว์คู่กับตัวที่ทำโดย Vuillaume ที่ Palazzo Tursi (ศาลากลางเมืองเจนัว) จวบจนปัจจุบัน | โดย: - [20 ม.ค. 49 13:21] ( IP A:202.12.74.8 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 9 Niccolo Paganini นักไวโอลินชาวอิตาลีผู้เป็นตำนาน เขาเกิดเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 1782 ที่เมืองเจนัว และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 1840 ที่เมือง Nice ประเทศฝรั่งเศส
พ่อของเขาเป็นคนงานอู่ต่อเรือฐานะยากจน ซึ่งได้สอนให้เขาหัดเล่นแมนโดลินและไวโอลิน หลังจากนั้นเขาได้เรียนกับ Giovanni Servetto นักไวโอลินในวงดนตรีมหรสพ ในช่วงวัยหนุ่มนั้น Paganini เริ่มแต่งเพลงไว้บ้างแล้ว และยังได้ศึกษาด้านการเรียบเรียงเสียงประสานกับ Francesco Gnecco และเรียนไวโอลินกับ Giacomo Costa ซึ่งได้จัดการให้เขาได้เล่นดนตรีในโบสถ์ท้องถิ่นแห่งหนึ่ง เอกสารฉบับแรกที่กล่าวถึงเขาเป็นบันทึกไว้เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 1794 เป็นเอกสารของโบสถ์ S. Filippo Neri ที่กล่าวถึง Auguste Frederic Durand (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น Duranowski) ยอดนักไวโอลินเชื้อสาย Franco-Polish ซึ่งมีความประทับใจในฝีมือของ Paganini เป็นอย่างมาก เขากล่าวยกย่อง Paganini ว่าเป็นนักดนตรีที่มีพรสวรรค์ การเรียนของเขาก้าวหน้าอย่างน่าอัศจรรย์ เขาถูกส่งไปยังเมืองปาร์มาในปี 1795 เพื่อเรียนกับ Alessandro Rolla
เขาได้แสดงคอนเสิร์ทครั้งพิเศษที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 1795 เพื่อหาค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เมื่อเขาเดินทางไปถึงปาร์มานั้น Rolla ได้เขียนจดหมายบอกกับว่า Paganini ว่าไม่มีอะไรจะสอนเขาได้อีกแล้ว และแนะนำให้เขาไปเรียนการประพันธ์เพลงกับ Paer แทน แต่ Paer กลับส่งเขาไปเรียนกับ Gasparo Ghiretti อาจารย์ของเขาเองอีกที หลังจากศึกษากับทั้ง Ghiretti และ Paer จนจบแล้ว Paganini ได้เดินทางกลับไปยังเมืองเจนัวในปี 1796 เขาออกแสดงดนตรีในฐานะนักเดี่ยวไวโอลินในคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นเป็นส่วนตัว และเมื่อ Napoleon ยกกองทัพเข้ารุกรานอิตาลี ครอบครัวของเขาได้อพยพไปยังเมือง Ramairone
ในช่วงในปี 1800 เขาอาศัยอยู่กับพี่ชายที่เมือง Livorno เขาออกแสดงคอนเสิร์ตอยู่หลายครั้ง และยังเดินทางไปแสดงที่เมือง Modena อีกด้วย เขาเดินทางกลับไปยังเมืองเจนัวในปี 1801 โดยร่วมแสดงกับ Carlo พี่ชายของเขาซึ่งเป็นนักไวโอลินเช่นกัน และเดินทางไปยังเมือง Lucca ในปีเดียวกันนั้นเอง เพื่อเล่นดนตรีในงานเทศกาล Festival of Santa Croce การแสดงของเขามีขึ้นในวันที่ 14 กันยายน 1801 เป็นการแสดงที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง เขาพำนักอยู่ที่นั่นและได้รับตำแหน่งหัวหน้าวงดนตรีของวง National Orchestra
| โดย: - [23 ม.ค. 49 23:26] ( IP A:203.156.118.110 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 10 Paganini สร้างความตื่นตะลึงให้กับผู้ชมด้วยการเล่นอันน่าตื่นตาของเขา ในการแสดงครั้งหนึ่งที่ Livorno เขาได้สร้างความประทับใจเป็นอย่างมากให้กับพ่อค้าผู้มั่งคั่งชาวฝรั่งเศส ซึ่งได้มอบรางวัลไวโอลินอันล้ำค่าให้แก่ Paganini
การเสด็จมาถึงของเจ้าหญิง Elisa Baciocchi ผู้ปกครองเมือง Lucca (ในปี 1805) และเป็นพระขนิษฐาของจักรพรรดิ Napoleon วงการดนตรีได้ถูกเปลี่ยนแปลงเสียใหม่ วงออร์เคสตร้าสำคัญ 2 วงค่อยๆ ถูกยุบวงและถูกแทนที่ด้วยวงแชมเบอร์ออร์เคสตร้า Paganini ได้รับตำแหน่งเป็นนักไวโอลิน 2 ในวง หลังจากนั้นในปี 1807 เขาได้รับตำแหน่งเป็นนักเดี่ยวไวโอลินของราชสำนัก และในวันที่ 1 มกราคม 1808 หลังจากที่วงแชมเบอร์ออร์เคสตร้าถูกยุบวง เขาได้เป็นนักดนตรีของวง String quartet ของราชสำนักและยังรับหน้าที่เป็นครูสอนไวโอลินให้กับเจ้าชาย Felix Baciocchi อีกด้วย
เขาลาออกจากตำแหน่งในราชสำนักเมื่อเดือนธันวาคม 1809 เพราะไม่พอใจในตำแหน่งนี้ และหันมาเอาดีในการเป็นนักเดี่ยวไวโอลิน ชื่อเสียงของเขาเริ่มโด่งดังเป็นที่รู้จักทั่วอิตาลีในช่วงปี 1813 คอนเสิร์ตต่างๆ ของเขาในมิลานประสบผลสำเร็จเป็นที่กล่าวขวัญถึง หลังจากนั้นเขาได้ออกแสดงคอนเสิร์ตทั่วอิตาลี ชื่อเสียงของเขาค่อยๆ เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ปีแล้วปีเล่า เทคนิคอันหลากหลายของเขาค่อยๆ พัฒนาจนสมบูรณ์ และชื่อเสียงของเขายิ่งขจรขจายยิ่งขึ้นเมื่อเขาสามารถเอาชนะคู่แข่งได้อย่างง่ายดาย ทั้ง Lafont นักไวโอลินฝรั่งเศสที่ Milan ในปี 1816 และ Lipinski ที่เมือง Piacenza ในปี 1818 ในปี 1824 เขาได้พบกับนักร้องสาว Antonia Bianchi ซึ่งได้กลายมาเป็นภรรยาลับๆ ของเขา และได้ให้กำเนิดลูกชายแก่เขาชื่อ Achilles ในปี 1825 Paganini ได้จดทะเบียนรับรองบุตรในปี 1837 ก่อนหน้านั้นในปี 1827 เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอัศวิน (Knight of the Golden Spur) จากพระสันตปาปา Leo XII
เขาออกเดินทางทัวร์คอนเสิร์ตนอกประเทศอิตาลีครั้งแรกในปี 1828 คอนเสิร์ทเปิดตัวของเขาที่กรุงเวียนนาเมื่อวันที่ 29 เดือนมีนาคมได้รับความสำเร็จในทันที ในช่วงที่พำนักอยู่ในเวียนนานั้นเขาออกแสดงคอนเสิร์ทถึง 14 ครั้ง และได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติจากจักรพรรดิและได้รับรางวัล (Medal of St. Salvator) จากสภาเมือง นอกจากนั้นเขายังออกแสดงครั้งแรกที่เบอร์ลินเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 1829 รวมถึงที่ Frankfurt, Main, Darmstadt, Mannheim และ Leipzig ต่อมาในปี 1831 เขาออกแสดงครั้งแรกที่ปารีสเมื่อวันที่ 9 มีนาคม และที่ลอนดอนเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ตามมาด้วยการออกแสดงทั่วสหราชาณาจักรในช่วงปี 1831-1833
แต่อาชีพที่รุ่งโรจน์ของเขาเริ่มถดถอยลงในปี 1834 เนื่องมาจากปัญหาด้านสุขภาพที่เรื้อรังของเขาเริ่มทรุดหนักลง แต่เขาวางแผนที่จะรักษาชื่อเสียงและสุขภาพของเขาเอาไว้ ในช่วงหลายปีหลังจากนั้นเขายังออกแสดงคอนเสิร์ตอยู่บ้างเป็นครั้งคราว แต่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่วิลล่าในเมืองปาร์มา และเดินทางไปปารีสเป็นครั้งคราว อาการป่วยของเขากำเริบหนักขึ้นในเดือนตุลาคม ปี 1838 เขาไม่มีเสียงพูดได้อีกเลย หลังจากนั้นในปี 1839 เขาเดินทางไปยังเมือง Nice เพื่อพักฟื้น และเสียชีวิตในฤดูใบไม้ผลิปีถัดมา
การควบคุมเทคนิคและพลังอันเยี่ยมยอด รวมทั้งความโรแมนติกอันร่านร้อนและพลังอันล้นเหลือในตัวเขา ทำให้ชื่อเสียงของเขาเป็นที่พิศวงในยุคนั้น ไม่เพียงแต่การข้ามข้อจำกัดทางเทคนิคการเล่นที่ไร้พรมแดนของเขา เช่น การตั้งสายไวโอลินสาย A ลดลงครึ่งเสียง (Semitone) หรือการเล่นเพลง "Witches" Dance" บนเวทีต่อหน้าผู้ชมด้วยสายไวโอลินเพียงสายเดียวหลังจากที่ตัดสายทั้ง 3 ออกทีละเส้นด้วยกรรไกร เขายังเป็นคีตกวีที่ประพันธ์บทเพลงสำหรับไวโอลินออกมาเป็นจำนวนมาก และมักจะนำผลงานของตนเองออกแสดงในคอนเสิร์ตของตนเองอยู่เสมอ ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี หนึ่งในผลงานการประพันธ์ที่มีชื่อเสียงของเขาคือ 24 Caprices บทเพลงสำหรับเดี่ยวไวโอลิน "Moto perpetuo" สำหรับไวโอลินและวงออร์เคสตร้า นอกจากนั้นยังมีบทประพันธ์ไวโอลินคอนแชร์โตอีกหลายบท | โดย: - [23 ม.ค. 49 23:34] ( IP A:203.156.118.110 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 12 'The Cannone' ฝีมือของ Giuseppe Guarnerius 'del Gesu' 
| โดย: - [15 เม.ย. 50 13:44] ( IP A:58.137.47.54 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 13 
| โดย: - [15 เม.ย. 50 13:48] ( IP A:58.137.47.54 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 14 
| โดย: - [15 เม.ย. 50 13:48] ( IP A:58.137.47.54 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 15 
| โดย: - [15 เม.ย. 50 13:49] ( IP A:58.137.47.54 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 16 
| โดย: - [15 เม.ย. 50 13:49] ( IP A:58.137.47.54 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 17 
| โดย: - [15 เม.ย. 50 13:49] ( IP A:58.137.47.54 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 18 
| โดย: - [15 เม.ย. 50 13:50] ( IP A:58.137.47.54 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 19 
| โดย: - [15 เม.ย. 50 13:50] ( IP A:58.137.47.54 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 20 
| โดย: - [15 เม.ย. 50 13:51] ( IP A:58.137.47.54 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 21 
| โดย: - [15 เม.ย. 50 13:51] ( IP A:58.137.47.54 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 22 
| โดย: - [15 เม.ย. 50 13:52] ( IP A:58.137.47.54 X: ) |  |
|