สกุลช่างทำไวโอลิน 6 สำนัก
|
ความคิดเห็นที่ 1 1. สกุลช่างเบรสเชีย (Brescian School: 1520 - 1620) สร้างสรรค์งานตามแนวทางของ Gaspard Duiffopruggar ที่ได้วางรากฐานไว้ สืบทอดผ่านทางช่างทำไวโอลินที่มีชื่อเสียงคือ Gasparo da Salo ซึ่งลูกศิษย์สายตรงของเขาคือ Paolo Maggini และยังมีอิทธิพลให้กับช่างหลายๆ คน เช่น Mariani, Venturino, Budiani, Matteo Bente, Peregrino Zanetto ฯลฯ
Giovanni Paolo Maggini (1590 - 1640) ช่างทำไวโอลินที่มีชื่อเสียงผู้นี้สร้างสรรค์งานตามแบบของ Gasparo da Salo และได้รับการยอมรับว่าเป็นลูกศิษย์ของเขา เครื่องดนตรีของเขามีการใช้วานิชทั้งสีน้ำตาลและสีเหลือง และไม่ต้องสงสัยเลยว่าเขาใช้ Spirit varnish ผลงานของเขาในยุคแรกๆ ของเขาจะฝังเส้นขอบ (Purfling) เพียงเส้นเดียว แต่ผลงานในช่วงหลังๆ เกือบทั้งหมดจะฝังเส้นขอบคู่ ซึ่งมักจะฝังในไม้แผ่นหลังของเครื่องดนตรีเพื่อตกแต่งให้สวยงาม ด้วยเหตุนี้เองทำให้ไวโอลินที่ฝังเส้นขอบคู่มักจะถูกทึกทักเอาว่าเป็นฝีมือของ Maggini ไปเสียทั้งหมด
Maggini จะใช้แบบไวโอลินที่ค่อนข้างกว้าง ซึ่งความป่องของจะเริ่มจากขอบของลำตัว โครงด้านข้างค่อนข้างแคบ ช่องเสียง (F-hole) ค่อนข้างยาว เป็นเหลี่ยมมุม และมีเอกลักษณ์ของตนเอง หัวไวโอลิน (Scroll) แกะสลักได้คมชัดสวยงาม ไวโอลินของเขามีน้ำเสียงที่หนักแน่นดีมาก มีคุณค่าที่เหมาะแก่การใช้แสดงเดี่ยวด้วยศักยภาพที่เหนือธรรมดาของมัน นักไวโอลินชั้นนำในยุคนั้นอย่าง De Beroit ก็ใช้ไวโอลินของ Maggini เป็นไวโอลินคู่ใจ ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตลงไม่นานนัก เขาได้สร้างปรากฎการณ์ครั้งใหญ่ด้วยการขายไวโอลินคู่ใจให้กับเจ้าชาย Prince de Chimay ด้วยราคาสูงถึง 15,000 ฟรังก์เลยทีเดียว
Pietro Santo Maggini (1630 - 1680) บุตรชายของ Paolo เป็นช่างทำไวโอลินเช่นเดียวกัน ไวโอลินของเขาทำออกมาได้ดี มีน้ำเสียงที่ไพเราะทัดเทียมกับงานของผู้เป็นบิดา มีการฝังเส้นของคู่และการประดับประดาที่คล้ายคลึงกัน เครื่องดนตรี Contra-bass ของเขาทำได้ยอดเยี่ยมมาก | โดย: - [15 ก.พ. 49 19:07] ( IP A:203.156.116.26 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 2 Giovanni Paolo Maggini ไวโอลินที่ทำขึ้นในราวๆ ปี 1620 มีข้อความบนฉลาก Gio . Paolo Maggini in Brescia ด้านหลังเป็นไม้แผ่นเดียวตัดแบบ Slab cut เดินเส้นขอบคู่ (Double-purfling) ลายไม้ด้านข้าง (Rib) คล้ายคลึงกับไม้แผ่นหลัง ลายไม้แผ่นหน้าสม่ำเสมอและถี่มาก เดินเส้นขอบคู่เช่นเดียวกัน
| โดย: - [15 ก.พ. 49 19:08] ( IP A:203.156.116.26 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 4 Gasparo da Salo เป็นชื่อของ Gasparo Bertoni (1542-1609) เขาเกิดที่เมือง Salo แถบทะเลสาบ Lake Grada เมืองเบรสเชีย ประเทศอิตาลี ถือเป็นช่างทำไวโอลินที่มีฝีมือประณีตคนหนึ่ง แต่เดิมนั้นเชื่อกันว่าเขาเป็นผู้พัฒนาไวโอลินตามแบบที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน แม้ว่าในปัจจุบันจะพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริงก็ตาม แต่ผลงานของเขาก็ได้รับการยอมรับและยกย่องอย่างสูง เขาได้รับการยอมรับเป็นผู้ก่อตั้งสกุลช่างทำไวโอลินแห่งเมืองเบรสเชีย
วิโอล่าของเขาได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพดีกว่าไวโอลิน และอาจจะมีจำนวนมากกว่าด้วยซ้ำไป Viola da Gamba ของเขาหลายตัว ถูกนำไปดัดแปลงเป็นเชลโลและได้รับการยอมรับอย่างสูง และ Bass Viol 6 สายอีกหลายตัวถูกนำมาดัดแปลงเป็นดับเบิ้ลเบส 3 และ 4 สาย ผลงานของเขากว่า 20 ตัวเท่านั้นที่ผ่านการยอมรับว่าเป็นของแท้
ความยาวไวโอลินของเขาอยู่ในราวๆ 13 7/8 ส่วนความยาวของวิโอล่าอยู่ที่ 16 5/16" น้ำมันวานิชเขาเลือกใช้สีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลทองออกแดงสดใสและมีผิวที่นุ่มนวล
| โดย: - [15 ก.พ. 49 19:12] ( IP A:203.156.116.26 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 5 2. สกุลช่างเครโมนา (Cremona School: 1550 - 1766) ถือเป็นสกุลช่างทำไวโอลินที่สำคัญที่สุด ผลงานของสกุลช่างเครโมนาเกิดจากการสร้างสรรค์ของช่างในตระกูล Amati, Stradivari, Guarneri, Bergonzi, Guadagnini ฯลฯ
ตระกูล Amati ตระกูล Amati เป็นช่างทำไวโอลินที่มีชื่อเสียงยุคแรกๆ ของอิตาลีมากว่า 200 ปี ผู้บุกเบิกของตระกูลในยุคแรกๆ คือ Andrea Amati (1525-1611) ซึ่งถือเป็นผู้ก่อตั้งสกุลช่างทำไวโอลินหรือ Luthier แห่งเมืองเครโมนาอีกด้วย บุตรชายของเขาทั้ง 2 ที่เป็นผู้สืบทอดศิลปะการทำไวโอลินต่อมาคือ Antonio (1560-1949) และ Hieronymus (1562-1630) แต่ Nicolo Amati(1596-1684) บุตรชายของ Hieronymus ถือเป็นช่างทำไวโอลินที่มีชื่อเสียงที่สุดของตระกูล Amati เลยทีเดียวไวโอลินของเขามีลักษณะเด่นคือมีขนาดใหญ่กว่าเมื่อเทียบกับไวโอลินของลุงและบิดา มีน้ำเสียงที่มีพลังมากกว่า
ผลงานของ Nicolo จะมีฉลากข้อความติดไว้ว่า Nicolaus Amati Cremonens, Hieronimi filius Antonii nepos (นิโคโล อมาติแห่งเครโมนา บุตรชายของเฮียโรนีมัสและหลานชายของอันโตนิโอ)
Nicolo ยังเป็นอาจารย์ของ Guarneri และ Stradivari อีกด้วย บุตรชายของเขาคือ Hieronymus II (1649-1740) ถือเป็นช่างคนสุดท้ายของตระกูล แม้ว่าเขาจะได้รับอิทธิพลจาก Stradivari แต่ฝีมือของเขาถือว่าทัดเทียมกับ Stradivari หรือผู้เป็นบิดาเลยทีเดียว
| โดย: - [15 ก.พ. 49 19:16] ( IP A:203.156.116.26 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 6 ตระกูล Guarneri ตระกูลช่างทำไวโอลินที่มีชื่อเสียงลำดับที่ 2 ของเครโมนา Andrea Guarneri (1625-1698) เริ่มฝึกการทำไวโอลินกับ Nicolo Amati และยังอาศัยอยู่ในบ้านของผู้เป็นอาจารย์ด้วย ผลงานในช่วงนี้จะติดข้อความว่า alumnus (pupil) และนับจากปี 1655 ได้เปลี่ยนเป็นข้อความ ex alumnis (from the school of) บุตรชายของเขา Pietro (1655-1720) เริ่มทำงานที่เมืองเครเมโนนาแล้วย้ายไปตั้งรกรากที่เมือง Mantua เขามักจะใช้ข้อความในฉลากไวโอลินเช่นเดียวกับบิดาคือ sub titolo Sanctae Theresiae (ภายใต้พระอุปถัมภ์ของนักบุญเทเรซา)
ส่วนน้องชายของเขา Giuseppe (1666-1740) พำนักอยู่ที่เมืองเครโมนาโดยตลอดและรับช่วงงานต่อจากบิดา บุตรชายของเขา Pietro II (1695-1762) ได้ย้ายไปยังเมืองเวนิส และเพื่อให้แตกต่างจากผู้เป็นลุงจึงใช้ชื่อว่า Pietro di Venezia (ปีเตอร์แห่งเวนิส) แต่ไวโอลินของตระกูล Guarneri ที่มีชื่อเสียงที่มีที่สุดเป็นผลงานของบุตรชาย Giuseppe ที่ชื่อ Giuseppe Antonio หรือรู้จักกันในนาม Giuseppe del Gesu จากสัญลักษณ์ IHS ( Iesus hominum salvator - พระเยซูผู้ไถ่บาปเพื่อมวลมนุษย์) ซึ่งเป็นจุดเด่นในฉลากไวโอลินของเขา เขาได้ทำการค้นคว้าอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาไวโอลิน ทดลองใช้วัสดุต่างๆ รวมถึงการออกแบบเพื่อให้ได้ผลงานที่ดีที่สุด ผลที่ได้คือไวโอลินของเขาได้รับการยกย่องว่าจะเป็นรองก็แต่เฉพาะ Stradivari เท่านั้น
| โดย: - [15 ก.พ. 49 19:22] ( IP A:203.156.116.26 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 7 ตระกูล Stradivari Antonio Stradivari (1644-1737) เชื่อกันว่าเขาเป็นลูกศิษย์ของ Amati ในช่วงปี 1667-1679 แม้ว่าผลงานที่เป็นชื่อของเขาเองจะเป็นที่รู้จักมาตั้งแต่ปี 1666 ก็ตาม บางทีเขาอาจจะเริ่มต้นจากการเป็นช่างแกะสลักให้กับ Amati ก็เป็นได้ และก็เป็นไปได้ว่าทำงานให้กับคนอื่นๆ ด้วย ผลงานของเขาในช่วงนี้มีหลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่ชิ้นเท่านั้น งานของเขาในช่วงแรกๆ แสดงถึงอิทธิพลของ Amati อย่างชัดเจน ซึ่งผลงานในช่วงนี้มีราคาสูงมากเช่นกัน มีหลายชิ้นที่มีการประดับประดาในส่วนรายละเอียดต่างๆ โดยเฉพาะส่วนเส้นขอบสีดำ (Purfling) หรือหางปลา ผลงานที่ยอดเยี่ยมเหล่านี้ปัจจุบันซื้อขายกันในราคาที่สูงมาก โดยเฉพาะเชลโลและวิโอลาที่หายากยิ่งกว่าและมีราคาสูงเช่นกัน
ไวโอลินของเขานั้นจะมีข้อความว่า Antonius Stradivarius Cremonensis fecit anno.... (ทำโดยแอนโทเนียส สตราดิวาเรียสแห่งเครโมนาในปี
) ตามด้วยปีที่ผลิต บุตรชายของเขาทั้ง 2 คน Francesco (1671-1743) และ Omobono (1679-1742) ต่างก็เรียนรู้ศิลปะการทำไวโอลินจากเขา
| โดย: - [15 ก.พ. 49 19:24] ( IP A:203.156.116.26 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 8 3. สกุลช่างเนเปิ้ลส์ (Neopolitan School: 1680 - 1800) ผลงานของช่างเนเปิ้ลส์จะถ่ายทอดผ่านทางช่างฝีมือทำไวโอลินชาวมิลานและเนเปิ้ลส์ ตระกูลช่างทำไวโอลินที่สำคัญได้แก่ตระกูล Grancino, Testore, Gagliano, Landofi ฯลฯ
ตระกูล Grancino Paolo Grancino (1665 - 1690) เขาเป็นลูกศิษย์ของ Nicolo Amati ต้นตระกูล Grancino เริ่มขึ้นที่ช่างผู้นี้ เขาให้ความเคารพยกย่องต่อ Amati เป็นอย่างสูงเช่นเดียวกับที่ Gagliano มีต่อ Stradivari เครื่องดนตรีของเขาในยุคแรกๆ เป็นงานที่ทำเลียนแบบผลงานของผู้เป็นอาจารย์ หลังจากนั้นจึงค่อยๆ ค้นพบแนวทางของตนเอง แต่เขาไม่เคยสร้างรูปแบบเครื่องดนตรีของตนเองอย่างแท้จริง เขามีความเชี่ยวชาญในสร้างเครื่องดนตรี Tenor และ Violoncello ได้อย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะ Violoncello ที่เขาทำได้ดีกว่าผลงานของผู้เป็นอาจารย์ในเรื่องความกังวานของเสียง แต่คุณภาพงานของเขายังเป็นรองอยู่มาก ผลงานจำนวนมากของเขามักจะติดฉลากของ Amati ความแตกต่างเพียงประการเดียวจะเห็นได้ที่หัวซอ ซึ่งแสดงถึงเอกลักษณ์ที่แตกต่างด้วยรูปทรงที่ค่อนข้างยาวกว่า
Giovanni Baptista Grancino (1690 - 1700) ในช่วงแรกเขาทำงานในมิลาน แต่ต่อมาได้ย้ายไปที่แฟร์รารา (Ferrara) เขาเลือกวัสดุในการทำงานได้ค่อนข้างดีกว่า Paolo ผู้เป็นบิดา แบบไวโอลินของเขาค่อนข้างแบน และฝีมือการทำงานที่ค่อนข้างประณีต เครื่องดนตรีของเขามีพลังเสียงที่ดีมาก เขามักจะใช้วานิชสีเหลืองเข้ม ฉลากของเขาจะมีข้อความว่า
Giov. Bapt. Grancino, filius Paoli, fecit in Ferrara 16**
Giovanni Grancino (1696 - 1720) บุตรชายคนที่ 2 ของ Paolo ผลงานของเขาทำได้ดีมาก และแทบจะแยกแยะความแตกต่างจากผลงานของพี่ชายเขาไม่ออกเลย ฉลากไวโอลินของเขามีข้อความว่า
Giovanni Grancino in Contrada largha di Milano al Segno de la Corona 17**
Francesco Grancino (1710 - 1746) เป็นช่วงของความตกต่ำที่เกิดขึ้นกับตระกูลนี้เช่นเดียวกับตระกูล Gagliano นั่นคือต้นตระกูลถือกำเนิดมาจากช่างที่เป็นศิลปิน แต่กลับจบลงด้วยฝีมือของช่างที่ทำงานเป็นเครื่องจักรกล | โดย: - [15 ก.พ. 49 19:31] ( IP A:203.156.116.26 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 9 Giovanni Grancino ไวโอลินที่ทำขึ้นในปี 1703 
| โดย: - [15 ก.พ. 49 19:32] ( IP A:203.156.116.26 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 11 Carlo Ferdinand Landolfi (1750 - 1760) เนื่องจากไวโอลินของเขาได้แสดงให้เห็นถึงถึงความแตกต่างหลายๆ อย่างที่เด่นชัด ซึ่งเชื่อกันมานานแล้วอาจมีช่างทำไวโอลิน 2 คนที่เกิดมาชื่อเดียวกัน แต่เรื่องนี้ยังไม่มีหลักฐานใดๆ มาสนับสนุน เครื่องดนตรีของเขาที่เคลือบวานิชสีแดงสดใสถือว่าดีที่สุด เขาเลือกใช้แบบไวโอลินของตนเอง
ความป่องของลำตัวไวโอลินจะคล้ายคลึงกับขอบลำตัวไวโอลิน (Edge) ของ Pietro Guarneri แต่ผลงานบางส่วนของเขาก็ทำอย่างปราศจากความเอาใจใส่ และไม่มีการฝังเส้นขอบ (Purfling) และงานเหล่านี้จะลงวานิชเคลือบเพียงชั้นเดียว เชลโล (Violoncello) ของเขาจะใช้แบบเล็ก เครื่องดนตรีของเขาให้น้ำเสียงที่ดี Charles Reade กล่าวว่า Landolfi เป็นช่างทำไวโอลินคนสุดท้ายที่ใช้วานิชแบบเครโมนา เขาทำงานในช่วงหลังๆ ปี 1760
| โดย: - [15 ก.พ. 49 19:51] ( IP A:203.156.116.26 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 12 ตระกูล Testore Carlo Guiseppe Testore (1690-1710) บางทีเขาอาจจะเป็นลูกศิษย์ของ Joseph Guarnerius ก็เป็นได้ ซึ่งเป็นช่างที่เขาเลียนแบบงานได้ดีมาก งานของเขาได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงจากผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงในด้านราคาอีกด้วย ฝีมือการทำเครื่องดนตรีของทำได้ดีอย่างเสมอต้นเสมอปลาย Bottesini นักดับเบิ้ลเบสที่มีชื่อเสียงก็มี Contra-bass ของเขาไว้ในครอบครอง ซึ่ง Bottesini มักจะใช้ Contra-bass ขนาดเล็กของเขาในการแสดงเดี่ยว Carlo Guiseppe เป็นลูกศิษย์ของ Cappa นอกจากนั้นเขายังไปทำงานที่มิลานด้วย
Carlo Antonio Testore (1700-1730) เขาทำเครื่องดนตรีตามแบบ Nicolas และ Joseph Guarnerius เครื่องดนตรีของเขาทำได้ดีมาก มีไวโอลินของเขาตัวหนึ่งที่ได้ยอมรับกับว่าดีเยี่ยมมาก เขามีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ Giovanni ซึ่งทำงานด้านธุรกิจ มีข้อมูลเรื่องบุตรชายคนนี้ของเขาน้อยมาก
Paolo Antonio Testore (1710-1745) พี่ชายของ Carlo Antonio เขาทำไวโอลินตามแบบของ Joseph Guarnerius โดยปกติแล้วเครื่องดนตรีของเขาจะไม่ฝังเส้นของ (Purfling) เขานิยมใช้วานิชสีเหลือง เขาได้สร้างไวโอลินไว้จำนวนหนึ่งซึ่งมีคุณภาพไม่ดีนัก นอกจากนั้นยังได้สร้างเครื่องดนตรี Cither เอาไว้อีกด้วย เขาทำงานอยู่จนกระทั่งถึงปี 1759 ฉลากของเขามีข้อความว่า Paolo Antonio Testore Milano 17** | โดย: - [15 ก.พ. 49 19:53] ( IP A:203.156.116.26 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 17 Carlo Giuseppe Testore ไวโอลินที่ทำขึ้นในราวๆ ปี 1735 
| โดย: - [16 ก.พ. 49 10:26] ( IP A:202.12.74.5 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 23 4. สกุลช่างฟลอเรนซ์ (Florentine School: 1680 -1760) ผลงานของสกุลช่างฟลอเรนซ์จะรวมถึงช่างฝีมือทำไวโอลินชาวโรมและโบโลญญ่าเข้าไปด้วย ผ่านทางฝีมือของช่างทำไวโอลิน Gabrielli, Anselemo, Florentus, Techler และ Tononi
5. สกุลช่างเวนิส (Venetian School: 1690 -1764) ช่างฝีมือทำไวโอลินที่มีชื่อเสียงของสกุลช่างเวนิส ได้แก่ Domenico Montagnana และ Sanctus Seraphin ซึ่ง Domenico นั้นอาจจะมีความสัมพันธ์กับสกุลช่างเครโมนา ซึ่งเขาเคยไปฝึกปรือฝีมืออยู่ที่นั่นมาก่อน และงานของเขามีความคล้ายคลึงกับงานของสกุลช่างโครโมนา
6. สกุลช่างไทโรล (Tyrolese School: 1640 -1696) ผลงานที่ยอดเย่ยมของสกุลช่างไทโรลถ่ายทอดผ่านทางฝีมือของ Jakob Stainer และช่างในตระกูล Klotz และ Albani ถ้าสกุลช่างไทโรลไม่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นสกุลช่างอิตาลี แต่อย่างน้อยก็ได้ชื่อว่ามีต้นกำเนิดมาจากประเทศนี้ และระดับผลงานก็มีความทัดเทียมกับช่างอิตาลีแตกต่างกันตามระดับฝีมือของช่างไทโรลแต่ละคน | โดย: - [21 ก.พ. 49 13:02] ( IP A:202.12.74.7 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 24 ไวโอลินที่ทำในราวปี 1710 ผลงานของ Carlo Tononi ช่างทำไวโอลินชาวโบโลญญ่า 
| โดย: - [21 ก.พ. 49 13:03] ( IP A:202.12.74.5 X: ) |  |
|