ความคิดเห็นที่ 1 การตั้งสายไวโอลิน สิ่งที่ควรจะทราบก่อนที่จะเรียนรู้เรื่องการตั้งสายไวโอลินก็คือ ชิ้นส่วนต่างๆ ของไวโอลินที่เกี่ยวข้องกับการตั้งสาย
ลูกบิด (Peg) ลูกบิดอาศัยหลักการของแรงฝืด (Friction fit) ซึ่งเป็นเพียงสิ่งเดียวที่ทำให้ลูกบิดติดอยู่กับช่องใส่ลูกบิดได้ ห้ามใช้กาวหรือน้ำยาอื่นๆ ทาลูกบิดโดยเด็ดขาด
หย่อง (Bridge) หย่องอาศัยหลักการของแรงฝืดเช่นเดียวกัน หย่องติดอยู่กับที่โดยอาศัยแรงดึงของสาย (ห้ามใช้กาวทาเช่นเดียวกัน) ปลายของหย่องอาจจะเคลื่อนที่ได้ โดยเฉพาะเวลาที่เราเปลี่ยนสายใหม่ ต้องหมั่นสังเกตดูว่าหย่องอยู่ในแนวตรงและตีนหย่องไม่เลื่อนไปมา หย่องควรจะอยู่ในแนวตรงเมื่อเทียบกับช่องเสียง (F - hole) และตีนหย่องต้องแนบสนิทกับไม้แผ่นหน้าไวโอลิน การเช็คว่าหย่องอยู่ในแนวตรงหรือไม่นั้นให้มองที่ด้านข้างไวโอลิน หย่องด้านที่หันไปทางหางปลา (Tailpiece) ควรจะทำมุม 90 องศากับไม้แผ่นหน้า ส่วนอีกด้านหนึ่งที่หันไปทางฟิงเกอร์บอร์ดจะเอียงเล็กน้อย
หลักเสียง (Sound post) ถ้าสายเกิดอาการหย่อนจนถึงระดับที่จะทำให้หย่องล้มได้เนื่องจากมีแรงดึงของสายที่น้อยเกินไป หรืออาจจะเกิดในขณะที่เปลี่ยนสายชุดใหม่ เครื่องดนตรีของคุณอาจจะเสี่ยงต่อการล้มของซาวด์โพสท์ (แท่งไม้ขนาดเล็กที่ถ่ายทอดเสียงจากไม้แผ่นหน้าไปยังไม้แผ่นหลัง) เนื่องจากมันอยู่ได้ด้วยแรงดึงของสายเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงควรเปลี่ยนสายทีละสายและให้สายอื่นๆ บนไวโอลินมีความตึงอยู่บ้าง แต่ถ้าซาวด์โพสท์หลวมและทำให้ไวโอลินมีเสียงก๊อกแก๊ก คุณอาจจะต้องให้ช่างผู้เชี่ยวชาญช่วยปรับซาวด์โพสท์ให้อยู่ในตำเเหน่งที่เหมาะสม สำหรับช่างที่เก่งๆ แล้วไม่ถือว่าเป็นงานที่ยากแต่อย่างใด และไม่ควรจะใช้เวลาหรือเสียเงินมากนัก บางที่ช่างก็อาจจะทำให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
ตัวปรับเสียง (Fine Tuner) คุณอาจจะเคยสังเกตเห็นว่าไวโอลินของนักเรียนมักจะมีปุ่มปรับเสียงครบทุกสาย ทำให้นักเรียนสามารถตั้งสายได้เร็วขึ้น สำหรับนักไวโอลินที่เก่งๆ แล้ว ส่วนใหญ่จะใช้ปุ่มปรับเสียงที่สาย E เท่านั้น เพื่อช่วยให้ตั้งสายง่ายขึ้น เนื่องจากการตั้งสาย E ต้องอาศัยความพิถีพิถัน และมักจะเป็นสายที่เพี้ยนได้ง่าย
ตัวปรับเสียง (Fine Tuner) คือก้านโลหะขนาดเล็กที่สามารถปรับสายให้ตึงหรือหย่อนได้ ทำให้เสียงสูงขึ้นหรือต่ำลงทีละนิด โดยปกติจะมีสกรูขนาดเล็กสำหรับหมุนเพื่อปรับก้านโลหะดังกล่าว - ถ้าหมุนสกรู ตามเข็มนาฬกา จะทำให้สายตึงและเสียงจะสูงขึ้น - ถ้าหมุนสกรู ทวนเข็มนาฬกา จะทำให้สายหย่อนและเสียงจะต่ำลง
เมื่อเราตั้งสายเปล่าไวโอลิน เราจะหมุนสกรูขึ้นจากเสียงที่ ต่ำกว่า ทีละนิดจนกว่าจะได้ระดับเสียงที่ต้องการ หรืออธิบายได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นการปรับสายให้ตึงจนได้เสียงที่ต้องการ เทคนิคการตั้งสายเเบบนี้มีเหตุผล 2 ประการคือ ประสาทหูของเราจะรับรู้ได้ง่ายกว่าเล็กน้อยเมื่อเราปรับเสียงจนได้เสียงที่ถูกต้อง และสายจะอยู่ในระดับเสียงนั้นๆ นานกว่าการหย่อนสายเพื่อลดระดับเสียงลงไปหาเสียงที่ถูกต้อง
| โดย: - [9 ก.พ. 49 11:28] ( IP A:202.12.74.8 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 2 การตั้งสายด้วยลูกบิด คุณอาจต้องใช้ลูกบิดในการตั้งเสียงถ้าสายคลายตัวจนเสียงเพี้ยนมากๆ ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ร้อนหรือเย็น และความชื้นในอากาศ หรืออาจจะเป็นเพราะลูกบิดหลวมเกินไป วิธีการตั้งสายด้วยลูกบิดทำได้ดังนี้
1. ตรวจดูว่าตัวปรับเสียง (Fine Tuner) บนสายมีปัญหาหรือไม่ (ถ้าใช้เพียงอันเดียว) ตำแหน่งของสกรูควรจะหมุนเข้าไปเพียง 1 ส่วน 4 เท่านั้น เมื่อตั้งสายด้วยลูกบิดจะทำให้คุณสามารถใช้ปุ่มปรับเสียงปรับเสียงในขั้นสุดท้ายได้ 2. คุณอาจจะต้องคลายสายและลูกบิดเล็กน้อยเพื่อให้เสียงต่ำลง หลังจากนั้นจึงตั้งสายให้ได้ระดับเสียงที่ต้องการ วิธีตั้งสายอีกแบบหนึ่งที่ง่ายกว่าคือ ถือไวโอลินไว้บนตักของคุณและดีดสายในขณะที่ตั้งสายไปด้วย แต่ควรจำไว้เสมอว่า เมื่อไม่ใช้คันชักให้วางไว้ในที่ๆ ปลอดภัยทุกครั้ง 3. เนื่องจากลูกบิดอยู่ได้ด้วยแรงฝืด คุณต้องหมุนลูกบิดไปมาในช่องลูกบิด (Peg box) พร้อมกับตั้งสายไปพร้อมๆ กัน 4. คุณอาจจะใช้ลูกบิดตั้งเสียงแบบคร่าวๆ ให้อยู่ในช่วงเสียงที่ต้องการ หลังจากนั้นจึงใช้ตัวปรับเสียงเพื่อปรับเสียงให้ถูกต้อง 5. ทำซ้ำจนกว่าจะได้ระดับเสียงที่ถูกต้อง
วิธีแก้ปัญหาเมื่อลูกบิดหลวมหรือติดแน่น ลูกบิดไวโอลินไม่ควรติดแน่นหรือหลวมจนเกินไป ข้อมูลข้างล่างเป็นวิธีแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ถ้ายังไม่ได้ผลให้นำไวโอลินของคุณไปที่ร้านซ่อม เพราะอาจจะมีปัญหาที่หนักเกินกว่าที่จะเราทำเองได้ เช่น ลูกบิดหรือช่องใส่ลูกบิดแตกร้าว
- ถ้าลูกบิดติดแน่นเกินไป คุณสามารถซื้ออุปกรณ์ที่เรียกว่า Peg Dope เพื่อลดความฝืดในช่องใส่ลูกบิด ให้ใช้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น Peg Dope มีลักษณะคล้ายแท่งลิปสติกใช้ทาที่ลูกบิดโดยตรงบริเวณที่ตรงกับช่องใส่ลูกบิด วิธีแก้ปัญหาง่ายๆ อีกแบบก็คือ ใช้ผงดินสอซึ่งมีส่วนประกอบของคาร์บอนถูลงบนก้านลูกบิดในตำแหน่งที่ตรงกับช่องใส่ลูกบิด
- ถ้าลูกบิดลื่นเกินไป ให้ใช้ผงยางสนจำนวนเล็กน้อยทาลงบนก้านลูกบิด โดยใช้หางม้าของคันชักถูไปมาบนก้านลูกบิด ผงยางสนจากหางม้าจะหล่นลงบนก้านลูกบิด ช่วยให้ติดลูกบิดติดกับช่องลูกบิดได้แน่นขึ้น
การตั้งสายเปล่าด้วยคันชัก
สาย A (สาย 2) โดยปกติจะตั้งสาย A (สาย 2) เป็นสายแรก ในวงออร์เคสตร้าจะใช้เครื่องเป่าโอโบเล่นเสียง A (ปกติจะมีคลื่นความถี่อยู่ที่ 440 Hz แต่ในบางครั้งจะใช้สาย A ที่คลื่นความถี่แตกต่างกันออกไป เช่น 443 Hz ขึ้นอยู่กับวงออร์เคสตร้าวงนั้นๆ) นักดนตรีในวงจะตั้งเสียงเครื่องดนตรีของตนให้ตรงกัน การที่ใช้โอโบก็เพราะว่า มันเป็นเครื่องดนตรีที่มีเสียงที่มีความพิเศษสามารถได้ยินได้ง่าย
สาย D (สาย 3) สาย D เป็นสายที่ควรจะตั้งถัดจากสาย A โดยใช้สาย A เป็นหลัก ให้เล่นสาย A และ D พร้อมๆ กัน ขั้นคู่เสียง (Interval) ของโน้ตทั้ง 2 ตัวคือ คู่ 5 (Perfect Fifth) ซึ่งเป็นโน้ตตัวแรกของเพลง Twinkle, Twinkle, Little Star (โน้ตตัวแรกของเพลงนี้คือโน้ตตัว D ต่ำ และโน้ตตัวที่ 2 คือ A ที่สูงกว่า) ใช้ประสาทหูของคุณในการปรับเสียงสาย D จนกระทั่งได้ยินเสียงสายเปิด (Open sound) ของเสียง คู่ 5
สาย G (สาย 4) การตั้งสาย G ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกัน โดยใช้สาย D ที่มีเสียงสูงกว่าเป็นหลัก
สาย E (สาย 1) การตั้งสาย E ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากสาย E เป็นสายที่มีความละเอียดอ่อนที่สุด และสามารถเพี้ยนได้ง่ายในขณะที่เรากำลังตั้งสายอื่นๆ อยู่ เราจึงตั้งสาย E เป็นสายสุดท้าย นักไวโอลินส่วนใหญ่จะใช้ปุ่มปรับเสียงบนสาย E เพื่อปรับอย่างละเอียดเพื่อให้เสียงได้ คู่ 5 (Perfect Fifth) กับสาย A
| โดย: - [9 ก.พ. 49 11:33] ( IP A:202.12.74.6 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 3 ตัวปรับเสียง (Fine Tuner) 
| โดย: - [9 ก.พ. 49 11:33] ( IP A:202.12.74.7 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 4 เทคนิคการตั้งเสียงขั้นสูง บางครั้งการฟังเสียงของ คู่ 5 ก็เป็นสิ่งที่ยากพอสมควร โดยเฉพาะกับนักดนตรีมือใหม่ เทคนิคการตั้งเสียงขั้นสูงดังต่อไปนี้คงจะมีประโยชน์กับนักไวโอลินบ้าง
ก่อนอื่นต้องทำความรู้จักกับเสียง Harmonic (เสียงประสาน) หรือเสียง Overtone (เสียงคู่ 8) เสียก่อน โน้ตแต่ละตัวที่เราได้ยินนั้นจะมีเสียงประสานที่ทำให้เกิดเป็นโทนเสียง เช่น การทำเค้ก ที่มีส่วนผสมของ เเป้ง, ไข่ไก่, น้ำตาล ฯลฯ และส่วนผสมอื่นๆ ที่จำเป็น เมื่อนำส่วนผสมทั้งหมดผสมเข้าด้วยกันก็จะได้ขนมเค้ก ตัวโน้ตที่เราได้ยินก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเสียง A หรือเสียงอะไรก็ตาม
เราสามารถได้ยินเสียง Harmonic ของไวโอลินโดยการใช้นิ้วแตะสายเบาๆ บนสายตรงตำแหน่งของมัน ซึ่งอยู่บริเวณกึ่งกลางสาย เมื่อลากคันชักผ่านสายที่จุดกึ่งกลางสายนั้นๆ ซึ่งเรียกว่า Node (ในทางฟิสิกส์หมายถึง เส้นหรือบริเวณของคลื่นที่มีการสั่นสะเทือนเล็กน้อยหรือไม่มีการสั่นสะเทือนเลย) ซึ่งเป็นจุดของสายที่ไม่มีการสั่นสะเทือน (คุณอาจจะเคยเห็นจากการเล่นกระโดดเชือกของเด็กมาบ้างแล้ว ถ้าคุณแกว่งเชือกอย่างรวดเร็วและสม่ำเสมอ จะมีจุดที่ดูเหมือนว่าไม่มีการเคลื่อนไหวซึ่งเรียกว่า Node นั่นเอง) ใช้ปลายนิ้วแตะที่ส่วนนี้เบาๆ เมื่อลากคันชักผ่านสาย จะเกิดโน้ตที่เสียงสูงกว่าโน้ตตัวเดิม 1 ขั้นคู่เสียง (Octave) นอกจากนั้นยังมี Node อีก 1 จุดตรงส่วนที่สายแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ใช้ปลายนิ้วแตะที่ส่วนนี้เบาๆ ในขณะที่ลากคันชักผ่านสาย จะเกิดโน้ตที่เสียงสูงกว่าโน้ตตัวเดิม 1 ขั้นคู่เสียง (Octave) บวกกับอีก คู่ 5 (Perfect Fifth)
และด้วยพื้นฐานความรู้อันนี้ คุณสามารถนำไปใช้ตั้งสายไวโอลินของคุณได้ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
1. ใช้ปลายนิ้วแตะที่จุดกึ่งกลางสาย E เมื่อลากคันชักผ่านสายจะได้เสียง e ที่สูงกว่า 1 ขั้นคู่เสียง (โดยปกติแล้วเมื่อแตะนิ้วที่ระยะ 1/2 ของ Node สาย E จะให้เสียง e ซึ่งสูงกว่า 1 ขั้นคู่เสียง แต่วิธีนี้ไม่สามารถใช้กับ Harmonic แบบอื่นๆ ได้)
2. ใช้ปลายนิ้วแตะที่จุด 1 ใน 3 ของสาย A จะได้เสียง e ที่สูงกว่าเสียง A, 1 ขั้นคู่เสียงบวกกับอีก คู่ 5 ซึ่งเป็นโน้ตตัวเดียวกับโน้ตที่คุณพึ่งเล่นด้วย Harmonic บนสาย E (ระยะ 1/3 ของ Node จะได้โน้ตที่เสียงสูงกว่าโน้ตตัว E บนสาย A)
3. ใช้ปลายนิ้วก้อยของมือซ้ายเล่นเสียง Harmonic บนสาย E โดยให้มือซ้ายอยู่ในตำแหน่งนั้นเอาไว้ ใช้ปลายนิ้วชี้หาเสียง Harmonic ของสาย A ซึ่งวิธีเล่นโน้ต Harmonic แบบต่างๆ เหล่านี้จะทำให้คุณจะพบว่า สามารถที่จะบอกถึงเสียงที่เพี้ยนได้ง่ายกว่า เนื่องจากเสียง Harmonic เหล่านี้จะให้ระดับเสียงที่ตรงกันพอดี
4. ปฏิบัติเช่นเดียวกันบนสายอื่นๆ วิธีการนี้จะช่วยฝึกประสาทหูของคุณได้เป็นอย่างดี
หวังว่าคุณคงไม่สับสนไปเสียก่อน เพราะยังมีวิธีตั้งสายอีกวิธีหนึ่งเช่นกัน ให้เลื่อนนิ้วมือขึ้นมาเล่นโพสิชั่น 4 ของสาย A ซึ่งนิ้วชี้จะอยู่บนโน้ตตัว E ของสาย A ลองหาโน้ตของสาย E ที่อยู่สูงกว่า 1 ขั้นคู่เสียงด้วยนิ้วก้อย เมื่อคุณพบโน้ตขั้นคู่เสียงที่ว่าเเล้ว ให้ผ่อนแรงกดบนสายของนิ้วทั้ง 2 จะทำให้ปลายนิ้วของคุณสัมผัสบนสายเบาๆ เท่านั้น ลากคันชักผ่านสายทีละสาย คุณจะได้เสียง Harmonic ของแต่ละสายที่ตรงกัน ใช้วิธีนี้ในการตั้งสาย E
เทคนิคการใช้สายเปล่าสาย A (440 Hz) ในการตั้งสายไวโอลินของคุณ มีวิธีการดังนี้ 1. ตั้งสาย A กับเครื่องตั้งสาย เช่น Tuning Fork หรือเครื่องตั้งสายอีเล็คโทรนิค หรือตั้งให้เข้ากับเสียง A ของคนอื่นๆ ในวงดนตรี 2. หลังจากนั้นใช้เสียง Harmonic ของสาย A (ตำแหน่ง 1/3 ของสาย) เพื่อตั้งเสียง Harmonic สาย E (ตำแหน่ง 1/2 ของสาย) 3. หลังจากนั้นใช้เสียง Harmonic ของสาย A (ตำแหน่ง 1/2 ของสาย) เพื่อตั้งเสียง Harmonic สาย D (ตำแหน่ง 1/3 ของสาย) 4. หลังจากนั้นใช้เสียง Harmonic ของสาย D (ตำแหน่ง 1/2 ของสาย) เพื่อตั้งเสียง Harmonic สาย G (ตำแหน่ง 1/3 ของสาย)
ข้อควรจำก็คือ ไม่มีอะไรที่จะพัฒนาประสาทการฟังของคุณได้ดีไปกว่าการเล่นเครื่องดนตรีที่ตั้งเสียงอย่างถูกต้อง | โดย: - [9 ก.พ. 49 11:37] ( IP A:202.12.74.7 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 5 Vibrato Vibrato เป็นเทคนิคที่นักดนตรีประเภทเครื่องสายนิยมใช้ สำหรับนักไวโอลินมือใหม่แล้วนับเป็นเทคนิคที่น่าสนใจที่สุดอย่างหนึ่งเลยทีเดียว คุณสามารถใช้เทคนิค Vibrato ได้เมื่อคุณเล่นโดยที่เสียงไม่เพี้ยน สามารถฟังและแก้ไขการเล่นให้ถูกต้องได้
Vibrato เป็นเทคนิคหนึ่งที่ควรจะนึกถึงเมื่อคุณกำลังจะหัดเล่นเพลงสักเพลง ในตอนแรกควรฝึกซ้อมเฉพาะการ Vibrato ก่อน โดยการฝึกสเกล ในขั้นแรกให้ฝึกสเกลต่างๆ เพื่อเรียนรู้เทคนิค Vibrato เมื่อเริ่มฝึกนั้น ควรฝึกด้วยสเกลต่างๆ ตามปกติและฝึกโดยใช้ Vibrato ควบคู่กันไป ซึ่งจะทำให้คุณได้ฝึกทั้งเรื่องเสียงและ Vibrato
Vibrato คือการเล่นโดยการลดเสียงลงเล็กน้อยอย่างรวดเร็วและกลับไปที่โน้ตตัวเดิม หูของคนเราจะชอบเสียงที่สูงมากกว่าเสียงต่ำ นั่นหมายความว่าถ้าคุณเล่นโน้ตเสียงสูงสลับกับโน้ตเสียงต่ำตัวที่ต้องการอย่างรวดเร็วอัตราจังหวะที่สม่ำเสมอจะได้เสียงที่ค่อนข้างเเหลม (สูงเกินไป) วิธีที่ถูกต้องคือโยกโน้ตตัวที่เสียงต่ำกว่าก่อน ก่อนที่จะกลับไปเล่นในโน้ตตัวที่ต้องการ
หลังจากที่ฝึกไปซักพักหนึ่งคุณจะค้นพบอัตราความเร็วที่จะทำให้เกิดเสียงที่ไพเราะ เพราะว่าระดับเสียงหรือโน้ตของไวโอลินและวิโอล่าสูงกว่าเชลโลหรือดับเบิ้ลเบส ซึ่งยืนยันเหตุผลว่าการทำ Vibrato ของนักไวโอลินควรจะเร็วกว่าเครื่องสายที่มีระดับเสียงต่ำกว่าเล็กน้อย
การฝึก Vibrato ควรจะอยู่ในอัตรา 5-7 จังหวะต่อวินาที (BPS - Beat Per Second) ซึ่งจะช่วยสร้างสีสันให้กับดนตรีสไตล์ต่างๆ ได้มากขึ้น วิธีการก็คือการเล่น Vibrato 5-7 รอบ โดยเริ่มจากโน้ตตัวที่ต้องการและลดลงไปยังโน้ตตัวที่ต่ำกว่าและกลับมายังโน้ตตัวเดิม
ความกว้างของการเล่น Vibrato (หรือระยะห่างจากจากโน้ตตัวแรก) จะให้สีสันของเพลงรวมถึงความไพเราะของบทเพลงที่แตกต่างกันไป โดยปกติแล้ว Vibrato ที่เร็วกว่าจะมีช่วงที่สั้นกว่า ถ้าคุณเล่น Vibrato ที่ช้าเท่าไหร่ ช่วงห่างไปจากโน้ตตัวแรกจะมากขึ้นเท่านั้น
ในทางดนตรีแล้ว Semi-tone (ระยะห่างที่ใกล้ที่สุดของโน้ต 2 ตัวตามทฤษฎีดนตรีตะวันตก) สามารถแบ่งออกเป็น 100 ส่วนหรือเรียกว่า Cents ซึ่งทำให้เราสามารถอธิบายถึงความแตกต่างของระดับเสียงได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น คนส่วนใหญ่ไม่สามารถได้ยินความแตกต่างระหว่างเสียง 2 เสียงที่ต่ำกว่าหรือสูงกว่าเพียง 1-2 Cents ได้ แต่นี่เป็นวิธีหนึ่งที่จะใช้อธิบายถึงเรื่องละเอียดอ่อนเหล่านี้
ความกว้างของ Vibrato ควรจะอยู่ที่ 40-50 Cents จากโน้ตตัวแรก (หรือต่ำกว่าโน้ตตัวแรกประมาณ ½ Semi-tone) ช่วง Vibrato ที่แคบเสียงจะใกล้เคียงเสียงโน้ตตัวเดิมมากที่สุด ประมาณ 5 Cents เท่านั้น และให้ผลลัพธ์ของเสียงที่มีประกายพลิ้วไหว โดยปกติแล้ว Vibrato ที่แคบจะเร็วกว่า Vibrato ที่กว้าง ควรจะฝึก Vibrato ที่แคบไปจนถึงปานกลาง ซึ่งจะทำให้คุณเล่นได้เสียงที่ถูกต้องและสามารถสร้าง Vibrato ที่สัมพันธ์กับความเร็วได้
| โดย: - [9 ก.พ. 49 11:41] ( IP A:202.12.74.8 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 6 Arm vibrato เทคนิค Vibrato นั้นสามารถทำได้หลายแบบ Vibrato ขั้นพื้นฐาน (Arm vibrato) สามารถทำได้โดยการเคลื่อนไหวแขนบริเวณข้อศอกเลื่อนเข้าและออกจากลำตัว ทำให้นิ้วที่อยู่บนฟิงเกอร์บอร์ดบนสายโยกไปมา ซึ่งจะทำให้เสียงเกิดการเปลี่ยนเเปลงอย่างต่อเนื่อง เทคนิค Arm vibrato นั้น ข้อมือต้องมั่นคง (เป็นแนวเดียวกับแขน) นิ้วต้องผ่อนคลาย ดังนั้นการเคลื่อนไหวข้อศอกสามารถส่งผลกับการวางปลายนิ้วบนสายได้
Hand vibrato คือการดัดแปลงมาจาก Arm vibrato มีการเคลื่อนไหวของข้อมือแบบเดียวกัน โดยการโยกออกและโยกเข้าหาลำตัว แต่ใช้ข้อมือแทนข้อศอก นักไวโอลินบางคนจะเล่นโดยใช้ Hand vibrato เท่านั้น ซึ่งทำให้เกิดอาการเมื่อยล้าได้ คุณอาจจะใช้ Hand vibrato เฉพาะการเล่นในโพสิชั่นสูงๆ เท่านั้น (โดยเฉพาะสาย G และสาย D) เมื่อข้อมือของคุณไม่ได้อยู่แนวเดียวกับแขน
Finger vibrato เป็นเทคนิคที่ค่อนข้างเร็วและมีการเคลื่อนไหวของนิ้วในแนวดิ่ง (Vertical) เล็กน้อย เพื่อตอบสนองต่อการวางนิ้วบนฟิงเกอร์บอร์ด เทคนิคนี้ค่อนข้างยากในการที่จะฝึกให้ชำนาญและใช้กับวลีของเพลง (Phrase) ที่ค่อนข้างเร็ว ซึ่งคุณไม่มีเวลาพอที่จะเล่นด้วย Arm หรือ Wrist vibrato ได้
Open vibrato เชื่อหรือไม่ว่ามีวิธีที่จะเล่น Vibrato บนสายเปล่าได้ โดยปกติจะใช้กับสายเปิดสาย G เท่านั้น เนื่องจากเป็นโน้ตตัวเดียวบนไวโอลินที่ไม่สามารถกดด้วยนิ้วได้ (ในวิโอล่าสายเปล่าจะเป็นโน้ตตัว C) วิธีการเล่นก็คือกดโน้ตที่สูงกว่าโน้ตสายเปล่า 1 Octave ในสายถัดไปที่สูงกว่า (ตัวอย่างเช่น เล่นสายเปล่าสาย G และกดนิ้ว 3 หรือนิ้วนางบนสาย D) และทำ Vibrato บนโน้ตตัวนั้นในขณะที่เล่นเพียงสายเปล่าที่ต่ำกว่าเท่านั้น ซึ่งจะสร้างเสียง Vibrato ที่เป็นประกายพลิ้วไหวให้กับสายเปล่า
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะการสั่นสะเทือนของสายเปล่าจะสร้างการสั่นสะเทือนที่ตรงกับสายถัดไป (โดยเฉพาะเมื่อสูงกว่า 1 Octave) และเนื่องจากคุณได้ทำ Vibrato บนโน้ตที่ Octave สูงกว่า ซึ่ง0tส่งปฏิกริยากลับไปที่สายเปล่าในแบบเดียวกันในระดับการสั่นสะเทือนที่ตรงกัน นอกจากนั้นยังส่งผลต่อเสียง Overtone (เสียงคู่แปดที่ผสมอยู่กับเสียงต่ำ) ของสายเปล่าอีกด้วย | โดย: - [9 ก.พ. 49 11:50] ( IP A:202.12.74.5 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 7 ประวัติของการเล่น Vibrato เทคนิค Vibrato เริ่มใช้ครั้งแรกในยุคบาโร้ค (ค.ศ. 1650-1750 ซึ่งบางทีอาจจะเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น) ในฐานะลูกเล่นของเทคนิคเสียงแบบ Legato ของเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย แต่ไม่ถือว่าเป็นการเล่นที่เป็นมาตรฐาน เป็นเพียงสิ่งที่ตรงข้ามกับแบบแผนที่ใช้กันอยู่ น้ำเสียงที่ไพเราะและน้ำเสียงที่กลมกลืนล้วนเกิดจากคันชักและการเคลื่อนไหวที่สงบเงียบของมือเท่านั้น
Vibrato ถูกนำมาใช้ในดนตรีเพื่อเพิ่มความเข้มข้นให้กับเสียงดนตรี และเปลี่ยนอารมณ์ที่ส่งผลต่อดนตรี แต่ใช่ว่าทุกคนจะประทับใจในการใช้เทคนิคนี้ แม้ว่าจะยังคงใช้ต่อเนื่องมาจนถึงยุคคลาสสิค (ค.ศ. 1750-1850) และถูกนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของการประพันธ์เพลง โดยโน้ตบางตัวถูกกำหนดให้ใช้เทคนิคนี้ แต่ในขณะที่โน้ตส่วนใหญ่จะไม่ใช้
จนกระทั่งถึงต้นศตวรรษที่ 20 เทคนิค Vibrato จึงนิยมใช้กันอย่างเเพร่หลายและกลายเป็นมาตรฐานในการเล่น วง Ensemble กำลังมองหาวิธีสร้างชีวิตชีวาให้กับเสียงดนตรีของยุคบาโร้คและดนตรีเครื่องสายยุคเก่า หลายๆ ครั้ง Vibrato ได้ถูกนำออกมาใช้ในการเเสดงของพวกเขา เพื่อสร้างสรรค์เสียงที่ควรจะได้ยินตามที่คีตกวีได้ประพันธ์ไว้
Vibrato ถือเป็นเครื่องมือเฉพาะตัวในการเเสดงออกทางดนตรี ดังนั้นจึงไม่ควรให้ใครมาบอกคุณว่าควรจะใช้ให้บ่อยแค่ไหนหรือไม่ควรจะใช้เลย ดนตรีคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้และตลอดยุคสมัยที่ผ่านมา วิธีการเล่นก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย จงเรียนรู้ที่จะใช้เทคนิค Vibrato แต่อย่านำมันไปยึดติดกับกับการเล่นดนตรี ด้วยวิธีนี้ เมื่อคุณชำนาญการเล่นไวโอลินมากขึ้น คุณก็สามารถที่จะเลือกว่าสิ่งไหนที่เหมาะสมกับการเล่นดนตรีมากกว่ากัน | โดย: - [9 ก.พ. 49 11:53] ( IP A:202.12.74.7 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 9 การฝึก Vibrato ดังที่ได้กล่าวไว้แต่แรกแล้วว่า ในช่วงแรกๆ ควรจะฝึก Vibrato แยก จากเพลงที่คุณจะเล่น ให้ฝึกเล่นทีละนิ้วโดยเล่นโน้ตเสียงยาวและต่อเนื่องกัน การเล่นเสกลช้าๆ จะได้ผลดีกับการฝึกเทคนิคนี้ การฝึกในขั้นแรกนั้นคุณสามารถที่จะเลือกเล่นโน้ตตัวใดก่อนก็ได้
โดยปกติแล้วนิ้ว 4 หรือนิ้วก้อยเป็นนิ้วที่ฝึกยากที่สุด เพราะเป็นนิ้วที่อ่อนแที่สุดและข้อนิ้วมักจะเกร็งหรือเหยียดตรง ควรเริ่มด้วยนิ้วกลางหรือนิ้วนางก็ได้ที่เราถนัดที่สุด
การฝึกการเคลื่อนไหวของเเขนให้คล่องนั้น ให้ตั้งท่าเล่นตามปกติ เคาะนิ้วทั้ง 4 ที่ด้านข้าง (Rib) ส่วนบนไวโอลิน โดยการโยกแขนไปมา (บริเวณข้อศอก) คุณสามารถฝึกวิธีนี้สักพักจนกว่าคุณจะสามารถเคาะนิ้วได้ตามจังหวะดีแล้ว
ใช้ Metronome โดยตั้งค่าไว้ที่ 60 ครั้งต่อนาที (bpm-beat per minute) (หรือ 1 คลิ๊ก ต่อ 1 วินาที) และเคาะนิ้วที่ความเร็วต่างๆ กัน ในขั้นแรกให้เริ่มด้วยจังหวะ 3 ถึง 4 ครั้งต่อวินาที (bps-beat per second) และเคาะนิ้วได้อย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 1 นาที ถ้าคุณทำได้ดีและรักษาจังหวะได้อย่างถูกต้องแล้ว ให้เพิ่มค่า bps ขึ้นอีกทีละ 1 จังหวะและทำอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะทำได้ 6-7 ครั้งต่อวินาทีในช่วงเวลาประมาณ 45-60 วินาที แต่อย่าลืมสลับด้วยการพักบ้าง ปล่อยเเขนตามสบายและสบัดแขนเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
เมื่อคุณสามารถเคาะนิ้วที่ด้านข้างไวโอลิน (Rib) ตามจังหวะต่างๆ ได้ดีแล้ว ให้ลองวางนิ้วลงบนสายและลองโยกเเขนโดยให้ปลายนิ้วโยกไปมาบนสาย ในตอนแรกให้ใช้ Metronome แต่ยังไม่ต้องใช้คันชัก วางนิ้วทั้ง 4 บนสายใดสายหนึ่งพร้อมๆ กัน (ไม่จำเป็นต้องเล่นให้ตรงคีย์) ให้นิ้วรู้สึกผ่อนคลายและโยกนิ้วด้วยข้อที่ไม่เกร็ง
เมื่อคุณคลื่อนไหวนิ้วบนสายได้อย่างคล่องเเคล่วดีแล้ว ให้ลองปฏิบัติแบบเดียวกันโดยฝึกทีละนิ้ว ในตอนแรกยังไม่ต้องใช้คันชัก หลังจากนั้นให้ฝึกเพิ่มโดยใช้คันชักเล่นโน้ตยาวๆ เปลี่ยนคันชักทุก ๆ สี่จังหวะ สิ่งที่สำคัญก็คือ ในช่วงแรกๆ นั้น พยายามเปลี่ยนคันชักให้ถูกจังหวะจนกระทั่งทำได้คล่องเเคล่วเป็นธรรมชาติและเน้นที่มือซ้าย ในช่วงนี้ยังไม่จำเป็นต้องเล่นสเกล ให้ฝึกไล่ไปทีละนิ้วด้วยโน้ตตัวใดก็ได้
เมื่อฝึกได้คล่องแคล่วดีแล้วให้ลองฝึก Vibrato กับสเกลต่างๆ พยายามสีคันชักให้ได้จังหวะสม่ำเสมอ และให้ระวังข้อผิดพลาดดังต่อไปนี้
1. จังหวะ Vibrato ไม่สม่ำเสมอ - จังหวะการโยก Vibrato ของนิ้วแต่ละนิ้วไม่เท่ากัน หรือเเม้แต่การฝึกเสกลโดยไม่ใช้ Vibrato ก็ตาม โดยเฉพาะนิ้วก้อย
2. จังหวะ Vibrato หยุดในช่วงที่เปลี่ยนคันชัก - พยายามให้จังหวะ Vibrato ต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นช่วงที่เปลี่ยนคันชักหรือในการสีคันชักเดิมก็ตาม
3. จังหวะ Vibrato หยุดหรือสะดุดในช่วงที่เปลี่ยนสายหรือเปลี่ยนโพสิชั่น - เป็นปัญหาที่คล้ายๆ กับจังหวะการเปลี่ยนคันชัก ให้ระวังเรื่องความสม่ำเสมอของจังหวะในช่วงเปลี่ยนสายและเปลี่ยนโพสิชั่น ในช่วงเปลี่ยนโพสิชั่นอาจจะมีจังหวะที่ขาดช่วงเล็กน้อย เเต่เมื่อคุณเปลี่ยนโพสิชั่นได้คล่องแคล่วดีแล้วก็ไม่ควรที่จะมีช่วงสะดุดอีก
ข้อเเนะนำก็คือ ควรจะฝึกเสกลโดยไม่ใช้ Vibrato เพื่อฝึกเรื่อง Intonation ของเสียงไปด้วย พยายามฝึกสิ่งที่คุณยังทำได้ไม่ถนัดก่อน แม้ว่าสิ่งที่เราทำได้แล้วจะดูน่าฝึกมากกว่า สิ่งที่คุณยังทำไม่ได้ย่อมต้องใช้ความพยายามมากเป็นพิเศษ และนั่นจะทำให้คุณพัฒนาไปได้เร็วขึ้นถ้าคุณฝึก Vibrato แต่ละนิ้วที่คุณยังไม่ถนัดเสียก่อน | โดย: - [9 ก.พ. 49 12:13] ( IP A:202.12.74.6 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 17 ตำแหน่งของมือซ้ายและการเปลี่ยนโพสิชั่น เทคนิคการเปลี่ยนโพสิชั่นอาจทำให้นักไวโอลินรู้สึกหวั่นๆ หรือสับสนได้ โดยเฉพาะนักไวโอลินมือใหม่ ในโพสิชั่น 1 ซึ่งกดนิ้วชี้บนโน้ตตัวแรกที่เสียงสูงกว่าสายเปล่า ถือเป็นโพสิชั่นปกติทั่วๆ ไป แต่สิ่งที่อาจจะทำให้คุณสับสนได้ก็คือ กุญแจเสียง (Key signature) นิ้วชี้ของคุณที่กดบนสายในโพสิชั่นเดิมอาจจะสูงกว่าหรือต่ำกว่าก็ได้ ตัวอย่างเช่น ตัวโน้ตที่อยู่ถัดจากสายเปล่าสาย D อาจจะเป็น Eb หรือ E natural ก็ได้ ซึ่งถือว่าเป็นโพสิชั่น 1 ทั้งคุ่ เมื่อคุณเล่นโพสิชั่น 2 นิ้วชี้ของคุณจะอยู่บนโน้ตตัวที่ 2 ซึ่งถ้าเป็นโพสิชั่นที่ 1 คุณต้องกดโน้ตตัวนี้ด้วยนิ้วกลาง บนสาย D โน้ตตัวนี้เป็นได้ทั้ง F natural หรือ F# อธิบายง่ายๆ ก็คือ นิ้วชี้ของคุณจะวางอยู่บนโน้ตตัวที่ 2 เหนือสายเปล่าในกุญแจเสียงนั้นๆ
ถ้าจะอธิบายในแง่ของเทคนิคเเล้ว เมื่อคุณกดนิ้วชี้ลงบนโน้ตตัว Gb ซึ่งเป็นโน้ตเสียงเดียว (Enharmonic) กับ F# ถือเป็นโพสิชั่น 3 ต่ำ ในทำนองเดียวกัน ถ้าคุณเล่นโน้ต G# ด้วยนิ้วชี้ นั่นหมายถึงคุณกำลังเล่นในโพสิชั่น 3 แต่ถ้าคุณเล่นโน้ต Ab ซึ่งเป็นโน้ตเสียงเดียว (Enharmonic) กับ G# นั่นหมายถึงคุณกำลังเล่นในโพสิชั่น 4 ยังมีเรื่องกุญแจเสียงให้คุณต้องศึกษาอีกมาก รวมถึง ชื่อ ของโน้ตแต่ละตัว
เคล็ดลับในการหาโพสิชั่นต่างๆ วิธีง่ายๆ ในการจดจำโพสิชั่นต่างๆ โดยไม่ต้องกังวลใจเรื่องกุญแจเสียง และไม่ต้องนับว่าจากสายเปล่าจนถึงนิ้วชี้ว่ามีการเปลี่ยนตัวอักษรทั้งหมดกี่ตัว ตัวอย่างเช่น สาย D โน้ต D-E เป็นการเปลี่ยนตัวอักษร 1 ตัวในโพสิชั่น 1 (ไม่นับ #, natural หรือ b ของโน้ตนั้นๆ) D-E และ E-F เป็นการเปลี่ยน 2 ตัวอักษรและเป็นโพสิชั่นที่ 2 และถ้านิ้วชี้ของคุณกดบนโน้ตตัว B บนสาย D และให้นับ D-E, E-F, F-G, G-A, A-B นั่นหมายถึงคุณกำลังเล่นในโพสิชั่น 5
Half-Position คือชื่อของโพสิชั่นที่อยู่ใกล้กับสายเปล่ามากที่สุด ไม่มีการเปลี่ยนตัวอักษรระหว่างสายเปล่าและนิ้วชี้ ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณกำลังเล่นคีย์ E major (ซึ่งประกอบด้วย F#, C#, G#, D#) บนสาย D และต้องการเล่นโน้ต D# ด้วยนิ้วชี้ เล่นโน้ตตัว E ด้วยนิ้วกลาง เล่นโน้ตตัว F# ด้วยนิ้วนาง และ G# ด้วยนิ้วก้อย จากสายเปล่าไปจนถึงโน้ตที่เล่นด้วยนิ้วชี้นั้นไม่มีการเปลี่ยนตัวอักษร ซึ่งไม่สามารถเรียกชื่อเป็นโพสิชั่น 0 ได้ แต่เรียกว่า Half Position | โดย: - [10 ก.พ. 49 11:52] ( IP A:202.12.74.5 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 20 การเปลี่ยนโพสิชั่น 6 แบบ 1. การเปลี่ยนนิ้วไปเล่นในโพสิชั่นที่สูงขึ้นโดยใช้นิ้วเดิม 2. การเปลี่ยนนิ้วไปเล่นในโพสิชั่นที่ต่ำกว่าโดยใช้นิ้วเดิม 3. การเปลี่ยนจากนิ้วที่ต่ำกว่าไปเล่นด้วยนิ้วที่สูงกว่า เช่น เปลี่ยนจากนิ้วชี้ไปเล่นด้วยนิ้วกลางในโพสิชั่นที่สูงขึ้น 4. การเปลี่ยนจากนิ้วที่สูงกว่าไปเล่นด้วยนิ้วที่ต่ำกว่า เช่น เปลี่ยนจากนิ้วนางไปเล่นด้วยนิ้วกลางในโพสิชั่นที่ต่ำกว่า 5. การเปลี่ยนนิ้วไปเล่นในโพสิชั่นที่ต่ำกว่าโดยเปลี่ยนจากนิ้วที่ต่ำกว่าไปเล่นด้วยนิ้วที่สูงกว่า 6. การเปลี่ยนนิ้วไปเล่นในโพสิชั่นที่สูงขึ้นโดยเปลี่ยนจากนิ้วที่สูงกว่าไปเล่นด้วยนิ้วที่ต่ำกว่า
การเปลี่ยนนิ้วในแบบที่ 1 และ 2 นั้นค่อนข้างเป็นธรรมชาติมากกว่า ส่วนการเปลี่ยนนิ้วในแบบที่ 3 และ 4 พัฒนามาจาก 2 แบบแรก ซึ่งการฝึกจะเเบ่งออกได้เป็น 2 แบบ ประกอบด้วย
- ขั้นแรก แบบที่ 1 (สำหรับแบบที่ 3) หรือแบบที่ 2 (สำหรับแบบที่ 4) เปลี่ยนโพสิชั่นโดยใช้นิ้วที่กดโน้ตตัวเดิมเลื่อนไปกดโน้ตที่ต้องการ และ - ขั้นที่สอง การกดด้วยนิ้วที่สูงกว่า (สำหรับแแบบที่ 3) หรือการยกปล่อยนิ้วที่สูงกว่า (สำหรับแบบที่ 4) ไปหาเสียงของโน้ตที่ต้องการในทันทีที่นิ้วอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง
ในแบบที่ 5 และ 6 นั้น ค่อนข้างยากสำหรับนักไวโอลินทั่วๆ ไปหรือแม้แต่มืออาชีพก็ตามที่จะทำให้ได้ดี ทั้ง 2 แบบต้องใช้มือข้างซ้ายและการร่นระยะห่างของนิ้วก่อนที่จะเปลี่ยนโพสิชั่นเพื่อให้ระยะทางระหว่างโพสิชั่นสั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในกรณีของ แบบที่ 5 และ เเบบที่ 6 ซึ่งอาศัยความต่อเนื่องของนิ้วต่างๆ เช่น การเปลี่ยนจากนิ้วกลางไปยังนิ้วชี้เพื่อขึ้นไปเล่นในโพสิชั่นที่สูงกว่า ก่อนเปลี่ยนโพสิชั่นให้เลื่อนนิ้วไปใกล้ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และเลื่อนนิ้วผ่านนิ้วที่เหลือ อาจจะใช้เเขนเลื่อนนำไปก่อนเพื่อให้การเลื่อนนิ้วง่ายขึ้น | โดย: - [10 ก.พ. 49 11:56] ( IP A:202.12.74.8 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 21 การเปลี่ยนโพสิชั่นของไวโอลิน โดยทั่วไปแล้ว การเปลี่ยนโพสิชั่นควรทำอย่างรวดเร็วและนุ่มนวลที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยใช้การเคลื่อนไหวของเเขนตั้งแต่ข้อศอก ส่วนในโพสิชั่นสูงๆ ของสาย G ถ้าจำเป็นก็ให้ใช้ไหล่และข้อมือด้วย น้ำหนักของนิ้วที่กดลงบนสายในจังหวะที่เปลี่ยนโพสิชั่นควรจะนุ่มนวลไม่ติดขัดและเล่นข้ามสายได้อย่างนุ่มนวล คล้ายๆ กับการขึ้นเลงของเฮลิคอปเตอร์
คุณไม่ต้องกังวลมากนักเรื่องเสียงครูดของโน้ตหรือเสียงแปลกๆ ระหว่างเปลี่ยนโพสิชั่น ซึ่งจะเกิดขึ้นในระหว่างที่คุณฝึกเปลี่ยนโพสิชั่น โดยเฉพาะการเปลี่ยนในแบบที่ 3 และ 4 แต่เสียงแปลกๆ เหล่านี้จะหายไปเมื่อคุณฝึกได้คล่องเเคล่วดีเเล้ว หรืออย่างน้อยก็ทำให้ผู้ฟังไม่สามารถจับเสียงนั้นได้ และคุณอาจจะสังเกตว่าผู้ฟังชอบเสียงสไลด์เล็กน้อยระหว่างโน้ต 2 ตัวด้วยเสียงที่ถูกต้องมากกว่าการเปลี่ยนโพสิชั่นโดยไม่มีเสียงสไลด์เลยแต่เปลี่ยนแล้วเสียงเพี้ยน
ถ้าคุณต้องเปลี่ยนโพสิชั่นในท่อนที่เร็วๆ และมีโน้ตที่มีอัตราความยาวของโน้ตต่างกัน เช่น โน้ตประจุด ให้เลือกเปลี่ยนโพสิชั่นที่โน้ตตัวที่มีอัตราจังหวะสั้นกว่า วิธีนี้จะทำให้คุณมีเวลาเพียงพอที่จะเปลี่ยนโพสิชั่นโดยการลดความยาวของโน้ตตัวที่มีอัตราจังหวะยาวกว่าโดยไม่เปลี่ยนแปลงจังหวะของเพลง
ถ้าคุณกำลังเล่นโพสิชั่น 3 หรือสูงกว่า ให้อุ้งมือซ้ายของคุณสัมผัสกับด้านข้าง (Rib) ไวโอลิน เพื่อให้เป็นเสมือนหลักยึดของมือซ้าย และช่วยทำให้คุณจดจำความรู้สึกของตำแหน่งโพสิชั่นสูงๆ ได้ดีกว่า พยายามวางตำแหน่งของมือซ้ายในขณะที่เปลี่ยนขึ้นไปเล่นในโพสิชั่น 3 ในจังหวะเดียวกับที่อุ้งมือซ้ายสัมผัสกับด้านข้างไวโอลิน ซึ่งจะทำให้คุณอยู่ในตำเเหน่งของโพสิชั่น 3 อย่างถูกต้อง เช่น การเล่นโน้ตตัว G ด้วยนิ้วชี้บนสาย D | โดย: - [10 ก.พ. 49 11:57] ( IP A:202.12.74.6 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 22 การแก้ปัญหาของมือซ้ายในการเล่นเทคนิคที่ยากๆ ถ้าเราต้องเจอกับบทเพลงที่มีช่วงที่ยากๆ มีปัจจัย 2 ประการที่ปิดกั้นเราจนไม่สามารถเล่นเทคนิคที่ยากๆ นั้นได้ ประการเเรกก็คือจิตใจของเราที่บอกตัวเองว่า ฉันยังไม่อยากเล่นตรงนี้ ข้ามไปก่อนก็แล้วกัน ซึ่งทำให้เราเกิดความกังวลและเกิดความวิตก ปัจจัยประการที่สองก็คือ ปัจจัยทางกายภาพของตัวเราเอง เช่น ความคิดที่ว่านิ้วของเราจะเล่นข้ามสายให้เป็นธรรมชาติได้อย่างไร?
ถ้าเราลองพิจารณาปัจจัยทั้ง 2 ประการนี้ จะเห็นได้ชัดว่าในหลายๆ ครั้งนั้นเทคนิคการเล่นของเราถือว่าถือว่าใช้ได้ เป็นเรื่องปกติที่ความสามารถในการทำความเข้าใจเทคนิคการเล่นของเรายังไม่ลึกซึ้งและยังไม่รวดเร็วเพียงพอที่จะให้ทันกับความคิดที่เร็วกว่าการเล่นของมืออยู่ก้าวหนึ่ง
ฝึกซ้อมเเละเล่นให้ถูกต้องทุกๆ ครั้ง วิธีหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหานี้ได้คือ พยายามเล่นเเต่ละช่วงของบทเพลงให้ถูกต้องทุกๆ ครั้ง เหตุผลในการเเก้ปัญหานี้ก็คือ จะได้ไม่มีการเล่นที่ผิดพลาดให้เราต้องจดจำ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เมื่อเล่นไปถึงช่วงที่เป็นปัญหาสำหรับเรา คุณจะได้รู้สึกผ่อนคลายและเทคนิคการเล่นของคุณ (ที่เกิดจากการฝึกซ้อม) จะทำให้คุณผ่านมันไปได้ด้วยดี ทุกๆ ครั้งที่คุณเล่นไวโอลินไม่ว่าจะเป็นเพลงใดก็ตาม สมองของคุณได้สร้างการจดจำซึ่งสามารถดึงออกมาใช้ได้อย่างไม่จำกัดในทุกๆ ครั้งที่คุณฝึกซ้อมหรือเล่นพลงนี้ในวันข้างหน้า ไม่เพียงแค่นั้น เทคนิคที่คุณได้เรียนรู้จากการฝึกซ้อมเพลงนั้นๆ ยังสามารถถ่ายทอดไปยังเพลงอื่นๆ ที่มีเทคนิคคล้ายคลึงกันได้อีกด้วย นั่นเป็นเหตุผลที่ว่า การเรียนรู้เทคนิคที่เหมาะสมตั้งแต่ช่วงแรกๆ นั้นถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ซึ่งน่าจะดีกว่าบทเพลงหรือเทคนิคที่เรายังไม่เคยเรียนรู้มาก่อน นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ครูสอนไวโอลินบางคนจะเริ่มสอนนักเรียนตั้งแต่ พื้นฐาน แล้วคุณจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ครูผู้สอนไม่ได้สอนไปตามอำเภอใจหรือเป็นสิ่งที่ครูสอนแบบนี้กับนักเรียนทุกคน นี่อาจเป็นเหตุผลที่ไม่มีข้อสรุป แต่สำหรับคนที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้กับครูที่เก่งๆ ย่อมจะทราบดี แม้ว่าบางครั้งจะรู้สึกท้อแท้และน่าเบื่อบ้าง แต่คุณก็ต้องฝึกฝนต่อไปเพื่อก้าวไปสู่การเป็นนักไวโอลินที่ดี
คุณจะจดจำความผิดพลาดในช่วงที่เล่นผิดพลาดได้ดี เช่น ถ้าคุณเล่นผิดในห้องที่ 34 เมื่อคุณเล่นมาถึงห้องนี้ก็จะจดจำได้ทุกครั้ง ซึ่งมันไม่ได้อยู่แค่ในจิตสำนึกของคุณ แต่มันอยู่ใต้จิตใต้สำนึกของคุณเลยทีเดียว และเมื่อคุณต้องเล่นซ้ำที่เดิมอีก 100 ครั้งและทำผิดพลาดแบบเดิมถึง 50 ครั้งหรือกว่านั้น นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมการฝึกฝนซ้ำๆ จึงเป็นวิธีเดียวที่ใช้แก้ไขข้อผิดพลาดได้
เมื่อคุณมีเทคนิคที่เหมาะสมอยู่แล้ว เราจะเล่นเทคนิคที่ยากมากๆ ให้สมบูรณ์ได้อย่างไร? คำถามนี้มีคำตอบอยู่ 2 ข้อคือ ความรอบคอบและความถูกต้องแม่นยำ โปรดจำไว้ว่าไม่ได้หมายถึง เล่นให้ช้า แต่อย่างใด แต่หมายถึงการเล่นอย่างพินิจพิเคราะห์ ความแตกต่างก็คือคุณยังคงเล่นอย่างถูกต้องในจังหวะที่รวดเร็ว แน่นอนว่าคุณไม่สามารถเล่นช้าลงในจังหวะที่เร็วได้ การเล่นจังหวะที่เร็วให้ช้าลงจะทำเฉพาะในการฝึกเท่านั้นเพื่อฝึกความถูกต้องและความแม่นยำ นั่นหมายถึงว่า ถ้าคุณเล่นอยางช้าๆ ให้ใช้ช่วงเวลานั้นพิจารณาไตร่ตรองข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับเทคนิคที่คุณต้องการ เช่น ควรจะเปลี่ยนโพสิชั่นตรงนี้ มีโน้ตตัวจรตรงนี้ ให้เปลี่ยนสายตรงนี้ เป็นต้น หลังจากนั้นจะทำให้คุณเล่นได้ตามจังหวะที่ถูกต้องหรือใกล้เคียงโดยไม่ขาดช่วง
การเล่นช่วงที่ยากๆ โดยไม่ขาดตอนด้วยจังหวะและพลังที่เหมาะสม ซึ่งความแม่นยำในการเล่นจะตามมาภายหลัง ในช่วงแรกๆ อาจจะยังเป็นสิ่งที่ยาก แต่ทักษะสามารถพัฒนาขึ้นได้ตามการฝึกฝนที่มากขึ้น เเละถือเป็นสิ่งสำคัญเมื่อคุณต้องไปเล่นในวงออร์เคสตร้า ในวง Royal Conservatory of Music ต้องการนักดนตรีที่ผ่านการทดสอบ sight-read ระดับ 2-3 RCM Grade ทีเดียว
| โดย: - [10 ก.พ. 49 12:03] ( IP A:202.12.74.7 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 24 เทคนิคที่คุณสามารถนำไปใช้ในการฝึกฝนเล่นเทคนิคยากๆ เช่น 1. Legato scale มีอัตราจังหวะความยาวของโน้ตหลายๆ ตัวที่เท่ากัน แต่อาจจะยากที่จะเล่นให้เสียงของโน้ตแต่ละตัวออกมาเท่าๆ กัน วิธีการก็คือ ให้ฝึกด้วยสเกลเดิม ฝึกการวางนิ้วและเปลี่ยนโพสิชั่นด้วยจังหวะของโน้ตที่มี จุด เมื่อคุณกลับไปเล่นที่โน้ตตามปกติ จะทำให้เล่นโน้ตให้มีอัตราจังหวะเท่ากันได้ง่ายขึ้น
2. การเล่นในบทเพลงในช่วงที่ยากๆ และมีจังหวะเร็วๆ ให้ออกมาสมบูรณ์นั้นค่องข้างยาก แม้ว่าจะลดความเร็วลงก็ตาม วิธีการฝึกก็คือ ให้เล่นโน้ตตัวที่ 1 และ 2 ของช่วงนั้น โดยเล่นโน้ตทั้ง 2 ตัวต่อเนื่องพร้อมๆ กัน และเล่นให้เร็วและดังที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้ (เเม้ว่าจะเป็นโน้ตเขบ็จ 3 ชั้น ที่มีถึง 32 ตัวก็ไม่ต้องคำนึงถึงอัตราจังหวะที่เเท้จริงของมัน) หลังจากนั้นให้เล่นโน้ต 2 ตัวถัดไปจนกระทั่งจบวรรคนั้น ให้หยุดเฉพาะช่วงต่อของโน้ตแต่ละคู่
หลังจากนั้นให้กลับไปเล่นซ้ำแบบเดิมอีกครั้ง แต่คราวนี้ให้เริ่มเล่นจากโน้ตตัวที่ 2 ของวรรคนั้น โดยจับคู่กับโน้ตตัวที่ 3 และจับโน้ตคู่ต่อๆ ไปเรื่อยๆ ห้ามหยุดหรือเล่นซ้ำโน้ตคู่เดิมแม้ว่าคุณจะเล่นผิดก็ตาม วิธีการนี้จะทำให้คุณสร้างห่วงโซ่ในใจที่เชื่อมโยงกับโน้ตในวรรคของบทเพลงนั้นๆ เข้าด้วยกัน และทำให้เล่นตรงตามจังหวะได้ง่ายกว่า ลองสังเกตดูว่าเมื่อคุณสามารถเล่นโน้ตคู่ต่างๆ ได้ถูกต้องและเร็วเท่าที่คุณต้องการ หลังจากนั้นจึงเริ่มเล่นตามจังหวะ (Tempo) ที่แท้จริงของมัน | โดย: - [10 ก.พ. 49 12:05] ( IP A:202.12.74.5 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 29 การบริหารมือ : Hand Exercises (Warm-Up) เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ ใช้ได้กับเครื่องดนตรีทุกชนิด ให้ฝึกแต่ละแบบฝึกหัดอย่างละ 12 ครั้งทุกๆ วัน
ท่าเริ่มต้น Basic Position 
| โดย: - [10 ก.พ. 49 12:11] ( IP A:202.12.74.6 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 30 ภาพด้านข้าง 
| โดย: - [10 ก.พ. 49 12:12] ( IP A:202.12.74.5 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 31 ท่า Two-Hand Clap จากท่าเริ่มต้นสู่ท่า Two-Hand Clap 
| โดย: - [10 ก.พ. 49 12:12] ( IP A:202.12.74.6 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 32 ท่า Kitty Cat จากท่าเริ่มต้นสู่ท่า Kitty Cat (ให้งอนิ้วโป้งด้วย)
| โดย: - [10 ก.พ. 49 12:13] ( IP A:202.12.74.6 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 33 ท่า Finger Wave จากท่าเริ่มต้นสู่ท่าที่ Finger Wave (เริ่มต้นจากนิ้วก้อย)
| โดย: - [10 ก.พ. 49 12:14] ( IP A:202.12.74.8 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 34 หรือ (เริ่มต้นจากนิ้วชี้)
| โดย: - [10 ก.พ. 49 12:14] ( IP A:202.12.74.7 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 35 ไปยังท่า Two-Hand Clap 
| โดย: - [10 ก.พ. 49 12:15] ( IP A:202.12.74.6 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 36 ท่า Double Scissors จากท่าเริ่มต้นสู่ท่า Double Scissors 
| โดย: - [10 ก.พ. 49 12:15] ( IP A:202.12.74.8 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 37 ท่า Scissors จากท่าเริ่มต้นสู่ท่า Scissors หลังจากนั้นให้ทำท่า Scissors สลับกับท่า Double Scissors 
| โดย: - [10 ก.พ. 49 12:16] ( IP A:202.12.74.8 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 38 ท่า Hand Spread จากท่าเริ่มต้นสู่ท่า Hand Spread 
| โดย: - [10 ก.พ. 49 12:17] ( IP A:202.12.74.8 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 42 เทคนิคการเล่นไวโอลิน
การเตรียมร่างกาย ในตอนเริ่มต้นฝึกไวโอลินใหม่ๆ นั้น มักจะมีปัญหาเดียวกันคือ ความยืดหยุ่นของร่างกาย ดังนั้น ควรเริ่มต้นฝึกโดยไม่ใช้ไวโอลินก่อน ส่วนสำคัญที่สุดของร่างกาย 2 ส่วนที่ควรยืดกล้ามเนื้อก่อนเล่นไวโอลินก็คือ คอ และไหล่ ซึ่งเป็นส่วนของร่างกายที่ต้องรับแรงกดจากไวโอลิน
ควรบริหารด้วยการหมุนคอไปรอบๆและเอนคอไปด้านข้าง พยายามทำอย่างช้าๆ เพื่อป้องกันกล้ามเนื้อฉีกขาด
การบริหารข้อมือ หมุนข้อมือทั้ง 2 ข้างไปรอบๆ ในทิศทางเดียวกัน หลังจากนั้นจึงทำในทิศทางตรงข้าม ทำพร้อมๆ กันทั้ง 2 ข้าง โดยเริ่มต้นทำอย่างช้าๆ ก่อน
ฝึกการหายใจ - นับ 1 (หายใจเข้า) - นับ 2 (หายใจเข้า) - นับ 3 (หายใจเข้า) - นับ 4 (กลั้นหายใจ) - นับ 5 (หายใจออกช้าๆ) - นับ 6 (หายใจออกช้าๆ) - นับ 7 (หายใจออกช้าๆ) | โดย: - [10 ก.พ. 49 12:22] ( IP A:202.12.74.6 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 43 การบริหารนิ้วและข้อมือ 
| โดย: - [10 ก.พ. 49 12:23] ( IP A:202.12.74.5 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 44 Vibrato: การเปลี่ยนระดับเสียงลงอย่างรวดเร็ว เมื่อเริ่มฝึกใหม่ๆ ให้ฝึกด้วยนิ้วนางก่อนเพราะจะง่ายที่สุด ควรจะฝึกพร้อมๆ กับเครื่อง Metronome ตั้งจังหวะ (Tempo) อย่างช้าๆ ที่ประมาณ 80
โยกนิ้วไปข้างหลังและข้างหน้าอย่างช้าๆ ในตอนแรกอาจจะใช้จังหวะของโน้ตตัวดำหรือโน้ตตัวขาวก่อน สิ่งสำคัญคือการโยกนิ้วให้ตรงจังหวะ ในตอนแรกเสียงอาจจะยังไม่เพราะนัก ค่อยๆ ทำอย่าใจร้อน ถ้าฝึกบ่อยๆ ก็จะทำได้เอง ให้เริ่มจากทำช้าๆ ก่อนและค่อยๆ เพิ่มความเร็วขึ้นตามลำดับ
| โดย: - [10 ก.พ. 49 12:25] ( IP A:202.12.74.5 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 45 ตั้งจังหวะ (Tempo) ช้าๆ ที่ประมาณ 80 
| โดย: - [10 ก.พ. 49 12:26] ( IP A:202.12.74.5 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 47 Detache Bowing Detache เป็นคำในภาษาฝรั่งเศส เป็นเทคนิคการเล่นพื้นฐาน ซึ่งการลากคันชักแต่ละครั้งจะเล่นแยกโน้ตกัน การสร้างโทนเสียงของแต่ละโน้ตไม่ควรจะต่อเนื่อง กัน แต่ในบางครั้งอาจจะแยกโน้ตแต่ละตัวออกจากกันเล็กน้อย หรือเน้นเสียงของโน้ต (Accent) แต่ละตัว โดยปกติแล้วเทคนิค Detache จะเเสดงด้วยเส้นที่อยู่ด้านบนหรือข้างล่างโน้ตแต่ละตัว
Martele Bowing เทคนิค Martele (หมายถึงค้อนในภาษาฝรั่งเศส หรือ Martelato ในภาษาอิตาลี) จะแสดงด้วยหัวลูกศรหรือจุด (ขึ้นอยู่กับผู้ประพันธ์จะกำหนด) อยู่ด้านบนหรือด้านล่างของตัวโน้ตนั้นๆ เทคนิคการสร้างเสียงที่มีพลังและไม่ต่อเนื่องนี้ สามารถทำได้โดย เพิ่มน้ำหนักกดที่คันชักด้วยมือขวาและนิ้วชี้ หลังจากนั้นจึงผ่อนน้ำหนักทันทีและลากคันชักผ่านสายต่อไป หยุดคันชักอย่างรวดเร็วและกดน้ำหนักอีกครั้ง โดยให้คันชักอยู่บนสายตลอด เทคนิคการฝึกแบบนี้สามารถใช้ได้กับทุกส่วนของคันชัก (โคน, กลาง, ปลายคันชัก)
| โดย: - [3 ก.ย. 49 20:30] ( IP A:202.12.74.5 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 48 Legato Bowing Legato เป็นคำในภาษาอิตาลี หมายถึงการใช้คันชักแบบต่อเนื่อง ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ การสีคันชักขึ้น (Up-bow) และการสีคันชักลง (Down-bow) ซึ่ง Frog จะลากออกห่างจากสาย ในขณะที่การสีคันชักขึ้น Frog จะเลื่อนเข้าหาสาย การเปลี่ยนคันชัก (จากทิศทางของการลากคันชักอันหนึ่งไปยังอีกทิศทางหนึ่ง) ควรจะทำแบบต่อเนื่องไม่ให้เกิดช่องว่างหรือขาดช่วง โดยปกติแล้วการสีคันชักลงจะให้น้ำเสียงที่หนักแน่นกว่าการสีคันชักขึ้น พยายามรักษาความสมดุลของการใช้คันชักเพื่อไม่ให้ได้ยินความแตกต่างของการเปลี่ยนคันชัก Legato (ตรงข้ามกับ Staccato) ซึ่งหมายถึงความต่อเนื่องของการใช้คันชัก นอกจากนั้นยังหมายถึงการเล่นโน้ตมากกว่า 1 ตัวด้วยการสีคันชักเพียงครั้งเดียวด้วยเครื่องหมายโยงเสียง (Slur)
| โดย: - [3 ก.ย. 49 22:41] ( IP A:202.12.74.8 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 49 Sautille Bowing & Spiccato Bowing Sautille ( Bounced ในภาษาฝรั่งเศส หรือ Saltando ในภาษาอิตาลี) เป็นเทคนิคการใช้คันชักแบบกระเด้งไปมาบนสาย แทนค่าด้วยสัญลักษณ์จุด เล่นในจังหวะที่เร็วโดยใช้บริเวณกลางคันชัก ซึ่งคันชักจะอยู่ค่อนข้างใกล้กับสาย เเม้ว่าในแต่ละคันชักจะกระเด้งออกจากสายเล็กน้อย เทคนิคนี้จะใช้ในโน้ตที่เร็วๆ ซึ่งโน้ตแต่ละตัวแยกจากกัน ส่วนเทคนิค Spiccato ( Detached ในภาษาอิตาลี) เป็นเทคนิคการใช้คันชักแบบเดียวกัน ใช้เครื่องหมายแบบเดียวกัน แม้ว่าโดยปกติแล้วจะช้ากว่าเล็กน้อยและควบคุมได้ง่ายกว่า
| โดย: - [3 ก.ย. 49 22:42] ( IP A:202.12.74.6 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 50 Ricochet Bowing Ricochet (หรือ Jete ในภาษาฝรั่งเศส) สามารถทำได้โดยการสบัดด้ามคันชักด้านบนประมาณสามส่วนสี่ (ซึ่งจะเขียนให้ใช้คันชักสีลง) สีลงบนสาย และสามารถเล่นโน้ตต่อเนื่องอย่างรวดเร็วเป็นชุดได้ ส่วนใหญ่จะเล่นประมาณ 3-4 ตัวโน้ต แต่สามารถเล่นมากกว่า 10 โน้ตในคันชักเดียวได้
| โดย: - [3 ก.ย. 49 22:43] ( IP A:202.12.74.6 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 52 Arpeggio Bowing Arpeggio คือการเล่นคันชักเเบบแตกคอร์ด โดยการกระเด้งคันชักข้ามสายต่างๆ ซึ่งโน้ตแต่ละตัวจะเล่นบนสายที่ต่างกัน
Tremolo Bowing เทคนิค Tremolo มักจะใช้ในวงอร์เคสตร้า สิ่งสำคัญก็คือการใช้คันชักสั้นๆ สีขึ้นและลงอย่างรวดเร็วบนโน้ตตัวเดิม
Sul Ponticello Bowing Sul Ponticello ในภาษาอิตาลีหมายถึง บนหย่อง เป็นเทคนิคที่ให้สุ้มเสียงที่ค่อนข้างกระด้าง โดยการสีคันชักให้คันชักให้ใกล้ๆ กับหย่อง
Sul Tasto (Sulla Tastiera, Flautando) Bowing การใช้คันชักเหนือฟิงเกอร์บอร์ด ให้สุ้มเสียงที่นุมนวลและล่องลอย ในบางครั้งจะคล้ายกับเสียงฟลุ้ต (Hence Flautando) โดยปกติจะใช้คันชักไม่เกิน 1-2 นิ้วหรือประมาณ 3-5 ซม. เหนือฟิงเกอร์บอร์ดเพื่อสร้างน้ำเสียงดังกล่าว
Col Lengo Bowing เป็นเทคนิคที่ใช้ด้ามคันชักเเทนการใช้หางม้า ในบางครั้งจะผสมผสานทั้งการใช้ด้ามคันชักและหางม้าเพื่อสร้างเสียงแบบ Col Lengo ซึ่งจะให้เสียงที่แตกต่างออกไป | โดย: - [3 ก.ย. 49 22:45] ( IP A:202.12.74.8 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 53 Loure Bowing Loure ( Portato ในภาษาอิตาลี) เทคนิคนี้ โน้ตหลายๆ ตัวจะถูกแบ่งจากการโยงเสียง (Slur) โดยการหยุดเพียงเล็กน้อยในระหว่างที่ใช้คันชักหรือการเน้นโน้ตแต่ละตัวโดยไม่ต้องเปลี่ยนทิศทางของคันชัก และจะใช้ในเพลงที่เป็น Cantibile (อ่อนหวานและเหมือนเสียงร้องเพลง)
Staccato Bowing เป็นเทคนิคการใช้คันชักซึ่งจะให้ผลลัพธ์ของเสียงที่คล้ายกับเทคนิค Martele หลายๆ ตัวต่อเนื่องกันในการสีคันชักเดียวกัน สามารถเล่นได้ทั้งสีคันชักขึ้นหรือสีคันชักลง ซึ่งการสีคันชักขึ้นจะง่ายกว่า และสามารถทำให้คันชักเด้งออกห่างจากสายเล็กน้อยซึ่งจะเกิดเทคนิคที่เรียกว่า Staccato Volante หรือ Flying Staccato 
| โดย: - [3 ก.ย. 49 22:49] ( IP A:202.12.74.8 X: ) |  |
|