ฝากลายไว้ฝีมือ
    ฝากลายไว้ฝีมือ


ฉันและน้องสาวลงจากท้ายรถกระบะหลังจากที่ช่วยกันจับข้าวของดอกไม้ไม่ให้ปลิวตามลมยามรถแล่น จากนั้นเราก็แยกกันจับด้ายขาวทำท่าเหมือนจูงรถเข้าวัดแทนการแห่แหนในอดีต เสียงประทัดปัง! ดังห่างไม่เกินเมตรทำเอาหูชา ทั้งขบวนอันรวมไปถึงผู้เฒ่าผู้แก่ที่มาร่วมด้วยสรรเสริญเจริญพรกันถ้วนหน้า โทษฐานที่จุดประทัดตามธรรมเนียมแต่ไม่บอกเล่าเก้าสิบให้ได้ระวังตัวเตรียมอุดหู เศษดินเศษทรายหรือส่วนประกอบของประทัดกระเด็นใส่หน้าลูกพี่ลูกน้องของฉันจนแสบร้อน เธอหันมาถามด้วยความกังวลใจว่าจะเป็นอันตรายอะไรหรือเปล่า ซึ่งฉันก็ได้แต่ปลอบไปว่าคงไม่หนักหนาสาหัสอะไร อย่างมากก็ไปล้างรอยสัมผัสเพื่อความสบายใจก็พอ


วัดศรีประดู่อยู่ตรงหน้า ลำพังชื่อคงฟังธรรมดาสำหรับคนต่างถิ่น แต่ถ้าบอกว่างานแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานีนั้น ต้นเทียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศถูกจับจองโดยวัดศรีประดู่และวัดอีกแห่งสลับกันไปแทบทุกปี คงทำให้ชื่อวัดแห่งนี้น่าสนใจมากขึ้น พ่อบอกว่าช่างเทียนที่ได้รับการยอดรับว่าฝีมือเป็นเยี่ยมมีอยู่นับตัวคนได้ เมื่อถึงคราวแห่เทียนพรรษาจึงต้องแบ่งกันไปช่วยวัดนั้นวัดนี้ตามแต่ความสัมพันธ์ว่าใกล้ชิดสนิทสนมกันแค่ไหน หรือบ้านอยู่ใกล้วัดใด เรียกว่าจองตัวกันรายปี


การประกวดต้นเทียนแต่ละครั้งจึงเสมือนการละเล่นธรรมดาของพวกช่าง ไม่น่าจะเป็นการแข่งว่าใครเก่งมากเก่งน้อย แต่อยู่ที่ทำอย่างไรจะให้ผู้มาชมขบวนแห่ไม่ผิดหวังเสียมากกว่า


ต้นเทียนพรรษาที่ได้รับรางวัลแกะสลักลายละเอียดยิบจอดอยู่ในโรงจอดยามเราเดินผ่าน แต่ฉันไม่ได้แวะเข้าไปถ่ายภาพ อาจจะเพราะเมื่อครั้งยังเด็กพ่อเคยพาไปถ่ายภาพเก็บไว้แล้วด้วยเลยไม่ค่อยตื่นตาตื่นใจนัก และเพราะเมรุที่เราจะมาทำพิธีมันอยู่ต่างฟาก ทำให้ฉันไม่มีโอกาสได้ย้อนกลับมาถ่ายภาพ เนื่องจากต้องร่วมทำหน้าที่เจ้าภาพกับญาติพี่น้อง


ระหว่างเฝ้ารอแขกที่ทยอยมาร่วมงาน ฉันเริ่มต้นเดินชมโบสถ์ที่อยู่ติดกัน ไม่แน่ใจว่าเป็นโบสถ์หรือศาลาการเปรียญกันแน่ แต่พอไปสะดุดเอาลูกนิมิตที่โผล่ส่วนนูนไว้ดักเท้าคนถึงได้มั่นใจว่าคงเดาไม่พลาด

โดย: เจ้าบ้าน [6 ต.ค. 52 11:57] ( IP A:203.113.21.160 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
Counter : 177 Pageviews
ความคิดเห็นที่ 1
   สิ่งแรกที่เตือนตาให้ฉันเดินชมโบสถ์วัดศรีประดู่คือเชิงชายคา ไม่แน่ใจว่าจะเรียกว่าลายปูนเปียกหรือเปล่า ช่างที่ทำได้บรรจงทำรูปดอกบัวบานสัญลักษณ์ของเมืองอุบลเอาไว้ตลอดแนว เรียกว่าเห็นปุ๊บรู้ปั๊บว่าต้องเป็นที่อุบลราชธานี เสียดายที่ฉันไม่รู้ว่าสัญลักษณ์ของปทุมธานี ลักษณะดอกบัวต่างกับที่นี่อย่างไร ไม่งั้นคงเปรียบเทียบให้ผู้อ่านได้



รูปดอกบัวไม่สวยเท่ากลีบบัวหงายบัวคว่ำที่นิยมแต่งวัดโดยทั่วไป แต่มันดูน่ารักเมื่อได้คิดตามว่าช่างต้องการสื่อถึงความเป็นเมืองดอกบัวอย่างชัดเจนแต่เรียบง่าย แน่นอนว่าไม่ใช่ฝีมือธรรมดาหรอกน่า


ยักษ์สองตนที่เฝ้าประตูโบสถ์ก็สวยดี แต่มุมถ่ายรูปมีรถจอดระเกะระกะจึงไม่ได้บันทึกภาพมาอวด แม้แม่และน้องสาวจะให้บันทึกภาพไว้ให้ก็ไม่บังอาจเอาภาพพวกเขามาโชว์

โดย: เจ้าบ้าน [6 ต.ค. 52 12:00] ( IP A:203.113.21.160 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
   ฉันไพล่ไปสนใจมกรคาบนาคห้าเศียรที่เลื้อยยาวอยู่สองฟากบันได เห็นแล้วคิดถึงลายสลักหินของปราสาทยายเหงาที่จังหวัดสุรินทร์ ลายจางๆ แต่อ่อนช้อยนั้น นับวันจะลบเลือนไปตามเวลา มกรหรือที่เรียกง่ายๆ ตามใจปากว่ามังกรของที่นี่สีสันสดสวย สีสดแต่ไม่แจ๊ดเกินงามอย่างบางวัดที่ไม่ขอเอ่ยถึง ตาแววประดับด้วยแก้วสีน้ำเงินดูมีชีวิตแต่เหมือนหม่นเศร้าพิกล หรือมันจะอยากกินนาคในปากแต่ไม่ได้กินสักทีก็ไม่รู้ ฉันชอบวิธีทำนาคห้าเศียรของช่างไทยจริงๆ ต้องมองด้านตรงเท่านั้นจึงจะเห็นว่ามีห้าเศียร ถ้ามองด้านข้างจะเห็นแค่สามเศียร ซึ่งฉันก็หลงกลไปหลายรอบ ตอนเห็นแวบแรกยังสงสัยว่าทำไมทำแค่สามเศียรไม่ทำห้าเศียรเหมือนที่นิยมทำกันทั่วไป ฉันคงเป็นพวกที่หลอกง่ายล่ะมั้ง


เดินวนไปจนเกือบครบรอบถึงได้สังเกตว่าบานหน้าต่างลายไทยที่มองอยู่มันเป็นรูปพุทธประวัติ เกิดความสงสัยขึ้นว่าแล้วที่เดินผ่านมาตะกี้เขาแกะเป็นรูปอะไร ฉันจึงได้เดินอีกรอบ ชมเสร็จพาลูกพี่ลูกน้องอีกคนชมด้วย เป็นอันว่าวันนั้นได้เวียนเทียนรอบโบสถ์โดยไม่ได้เจตนา


หน้าต่างโบสถ์อีกฟากเป็นเรื่องราวของทศชาติที่เห็นภาพแล้วมั่นใจคือพระมหาชนกกับพระสุวรรณสาม ส่วนที่เหลือจำชื่อไม่แม่นและดูไม่ออกว่าภาพนั้นสื่ออะไร ขนาดหน้าต่างบานสุดท้ายที่น่าจะเป็นพระเวสสันดร ฉันยังไม่แน่ใจว่าจำได้หรือเปล่าเลย ความจริงถ้าตั้งใจท่องชื่อย่อเรียงลำดับทศชาติเอาไว้บ้างฉันคงตอบคำถามตัวเองได้ไปแล้ว น่า...รับรองว่าจะกลับไปท่องและอ่านทวนทศชาติให้แม่นยำกว่านี้ เวลาเล่าเรื่องจะได้ไม่ติดๆ ขัดๆ น่าโมโหตัวเองอีก

โดย: เจ้าบ้าน [6 ต.ค. 52 12:02] ( IP A:203.113.21.160 X: )
ความคิดเห็นที่ 3
   นอกจากทศชาติและพุทธประวัติแล้วบานหน้าต่างที่เหลือ ช่างก็ได้จับสัตว์หิมพานต์มาอวดโฉมให้ชมทั้งกินร กินรี หงส์ พญาไกรสร รวมไปถึงคนธรรพ์ และเทวดานางฟ้า
ซาบซึ้งกับลายไทย และการเล่าเรื่องด้วยภาพตามภูมิปัญญาไทย ฉันยิ่งรักความเป็นไทยมากขึ้น หวนนึกขึ้นได้ว่าฉันเดินตั้งหลายรอบยังไม่รู้เลยว่าผู้จำหลักจำลองภาพและลวดลายงามตาเหล่านี้คือใคร ว่ากันว่านี่คือความแตกต่างของค่านิยมไทยและเทศ ต่างประเทศนั้นจะยกย่องผู้ประดิษฐ์คิดค้นต้องป่าวประกาศบอกต่อให้รับรู้ให้นิยมยกย่อง แต่ค่านิยมของไทยสิ่งที่ดีที่งามเราจะอุทิศให้ผู้อื่น อุทิศให้พระศาสนา ถวายแด่พระมหากษัตริย์
อย่างทีมงานผู้คิดค้นวิธีต่อยอดความคิดทำฝนหลวงของในหลวง กระทั่งสามารถสั่งฝนฟ้าได้จริง จะมีใครจดจำผู้ที่ถูกยกย่องว่าดังมี “เทพฤทธิ์” ได้บ้าง
ปลวกตัวเล็กๆ จับบี้ก็แหลกเละคามือ ไม่น่าสนใจเท่าจอมปลวกสูงใหญ่ที่บางคนพันผ้าจุดธูปเทียนบูชา
ช่างไทยก็เช่นกัน ฝากไว้แต่ฝีมือไม่เหลือชื่อไว้ให้จดจำ นอกจากผู้เกี่ยวข้องไม่กี่คน ซึ่งสุดท้ายก็จะจากไปพร้อมกาลเวลา
ทำให้ยากต่อการสืบค้นเสาะหาที่มาที่ไป แต่ก็อดซาบซึ้งในความอ่อนน้อมถ่อมตนที่แฝงมาไม่ได้

๖ ตุลาคม ๒๕๕๒
เพรางาย มณีโชติ
โดย: เจ้าบ้าน [6 ต.ค. 52 12:03] ( IP A:203.113.21.160 X: )

คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน