phraongai.pantown.com
บนทางเวลา <<
กลับไปหน้าแรก
ยักษ์เล็กตัวใหญ่
ยักษ์เล็กตัวใหญ่
ช่วงสงกรานต์เป็นโรคกลัวน้ำ เลยเลือกที่จะเก็บเนื้อเก็บตัวอยู่ในนิวาสสถาน วันก่อนคุยกับคุณบ้อเมี้ยตอแขะเลยไปค้นหาหนังสือในกล่อง ย้ายบ้านหลายหน หนังสือที่สู้อุตส่าห์เก็บรักษาก็กระจัดพลัดพรายกันไปมาก ไม่เจอตำรับโคลง ว. ณ ประมวลมารคที่ต้องการ เลยเลือกเอานิทานคำกลอนทั้งหลายมาอ่าน
เปิดหนังสือ บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาอ่าน เรื่องเริ่มต้นจากตอนที่พระรามใช้ให้หนุมาน องคต และชมพูพานไปสืบข่าวนางสีดา เพื่อจะได้ยกทัพไปช่วย คิดถึงรามเกียรติ์ฉบับเต็มที่เคยอ่าน เรื่องเริ่มต้นก่อนหน้าตอนนี้ยาวไกล มานึกประหลาดใจตัวเองเหมือนกันว่าทู่ซี้อ่านตลอดเล่มได้ยังไง ถ้ามีโอกาสก็จะซื้อเอาไว้อ่านเล่นเสียหน่อย
เนื้อเรื่องรามเกียรติ์นั้นยืดยาว แต่ที่สนุกคือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่แทรกอยู่ภายใน คนที่ไม่ชอบศัพท์แสงโบราณอาจจะอ่านลำบากบ้าง แต่ถ้าเดาๆ ความตามไปก็ยังเข้าใจง่ายกว่าพวกโคลงหรือฉันท์
อ่านไปจนถึงหน้าที่สี่ก็จ๊ะเอ๋กับยักษ์ปักหลั่น คุ้นเคยกันมานานว่ายักษ์ปักหลั่นเป็นคำเปรียบเปรยเรียกคนที่รูปร่างใหญ่โต ทำนองว่าตัวใหญ่ยังกะยักษ์ เพิ่งจะรู้ว่า ปักหลั่น นั้นเป็นชื่อของยักษ์ตนหนึ่ง
ตามท้องเรื่องเล่าว่า เมื่อหนุมานและพลพรรคเดินทางจากทัพพระรามไปได้ประมาณห้าโยชน์ก็พบสระโบกขรณีสมควรเป็นที่พักพลโยธา บังเอิญว่าในสระมียักษ์อยู่ตนหนึ่ง ค่ำลงยักษ์ขึ้นมาจากสระพบลิงนอนมากมายก่ายกอง ก็กะจะจับกินตามวิสัย
ท่าทางยักษ์ปักหลั่นตัวนี้จะเป็นผีเสื้อน้ำ เพราะต้องอาศัยอยู่ในสระ ยักษ์นั้นมีคำเรียกหามากมาย ทั้งอสูร กุมภัณฑ์ ผีเสื้อ รากษส ราพณ์ และทานพ ในวรรณคดีเราเรียกรวมๆ กันไปหมดว่าหมายถึงยักษ์ตัวโต ถ้าศึกษาในรายละเอียดแต่ละคำศัพท์นั้นได้ระบุประเภทของยักษ์แตกต่างกันไปอีก ยักษ์ส่วนใหญ่แล้วจะกินเนื้อเป็นอาหาร และจะมีอาณาเขตของตน ถ้าใครล่วงล้ำเข้าไปก็สามารถจับกินได้ ฟังแล้วเหมือนกับว่าใครเข้ามาก็ซวย พ้นจากเขตไปได้จะปลอดภัย แต่คิดๆ แล้วก็เหมือนกับพวกสัตว์ล่าเนื้อทั้งหลายที่แบ่งเขตกันหากิน พ้นจากอาณาเขตนี้ก็มีตัวอื่นจับจองเป็นพื้นที่ล่าเหยื่ออีก อย่างอาณาเขตของเสือหรือฝูงหมาป่า ที่จะต้องคอยระวังเขตแดนของตน
ตามสำนวนที่ว่า จับโจรต้องจับหัวหน้า ยักษ์ปักหลั่นพินิจพิจารณาดูลิงที่ใส่เครื่องประดับสวยงามต่างจากลิงตัวอื่น แล้วก็เลือกถีบเอาลิงตัวสีเขียวคือองคต ในรามเกียรติ์ใช้สีในการจำแนกตัวละครต่างๆ ตัวละครที่มีสีเขียว ได้แก่ พระราม ทศกัณฐ์ และองคต ตัวละครเด่นๆ ล้วนมีสีสันให้คนอ่านหรือคนชมจำได้ง่าย เช่น พระลักษม์กายสีเหลือง หนุมานตัวสีขาว หรือสุครีพที่ตัวสีแดง สีของแต่ละตัวก็มีที่มาต่างกันไป
องคตกำลังนอนอยู่ดีๆ จึงตื่นขึ้นทันควัน เรียกระดมสมุนพระรามทั้งหลายให้ช่วยกันจับยักษ์ร้าย
ครั้นจับได้ไต่ถามอสุรา มึงนี้มาแต่ตำบลหนไหน
นามวงศ์พงศ์ประยูรอย่างไร เหตุใดลอบมาในราตรี
ไม่เกรงกูหมู่กบินทร์สิ้นทั้งหลาย ล้วนทหารพระนารายณ์เรืองศรี
หรือผู้ใดใช้สอยอสุรี จงแจ้งความตามที่จริงไป
ปักหลั่นได้ฟังว่าลิงพวกนี้เป็นทหารของพระนารายณ์อวตารก็ดีใจ รีบเล่าให้ฟังว่า ตนนั้นเดิมเป็นเทวดาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ กระทำความผิดคือไปเป็นชู้กับนางฟ้าที่ชื่อมาลี จึงต้องคำสาปให้มาเป็นยักษ์อาศัยอยู่ในสระแห่งนี้ จะได้พ้นคำสาปกลับสู่สวรรค์ก็เมื่อทหารของพระนารายณ์สังหารเท่านั้น
เมื่อนั้น สามกระบี่มีจิตคิดสงสาร
จึ่งตอบว่าถ้าจะใคร่บรรลัยลาญ จะช่วยท่านให้พ้นเวทนา
ว่าแล้วลูกพาลีมีศักดิ์ ช่วยชักพระขรรค์เงื้อง่า
กระหยับย่างสามขุมเข้ามา พิฆาตฆ่ากุมภัณฑ์ให้บรรลัย
สรุปว่าเมื่อเขาขอมาก็จัดไป องคตจึงเป็นคนลงมือฆ่ายักษ์ปักหลั่น เพื่อให้ได้กลับคืนสู่สวรรค์ตามที่เจ้าตัวปรารถนา
อ่านแล้วรู้สึกขัดๆ นิดหน่อย เพราะตามหลักศาสนาพุทธนั้นการฆ่าสัตว์เป็นความผิดบาปอันดับแรกที่ไม่สมควรกระทำ แม้จะเป็นฆ่าเพื่อช่วยเขาตามคำขอร้องก็ยังรู้สึกไม่ดี แต่ถ้านึกถึงการเคลื่อนผ่านภพ ใครจะไปสู่ภพภูมิใหม่ก็ต้องละร่างกายไปก่อนเท่านั้น ที่จะไปทั้งเลือดเนื้อยังไม่เคยเห็น พวกที่ไปท่องสวรรค์วิมานหรือนรกภูมิแล้วกลับมาเล่าให้ฟัง ส่วนใหญ่ก็วิญญาณหลุดไปก่อน แล้วกลับเข้าร่างถึงมาเล่าให้ฟังได้ หรือมิฉะนั้นก็หลับฝันแล้ววิญญาณจึงได้สัญจรไป ผู้แต่งเขาคงพยายามหาทางออกที่คิดว่าดีที่สุดสำหรับยักษ์ปักหลั่นหรือเทวดาตกสวรรค์องนี้
ยักษ์ปักหลั่นเป็นคำที่หลงเหลือให้ได้ยินอยู่ในสังคมไทยยาวนาน ทั้งที่ในเรื่องรามเกียรติ์มีเรื่องราวของยักษ์ปักหลั่นเป็นคำกลอนอยู่แค่สิบห้าบท แถมยังเป็นยักษ์ไม่เต็มตัวคือเป็นเทวดาที่ถูกสาปให้มาเป็นยักษ์ ในนิทานคำกลอนที่ตีพิมพ์มาเกือบหนึ่งพันหน้ากระดาษ จัดว่ายักษ์ปักหลั่นเป็นเพียงยักษ์ตัวเล็กที่โผล่มาตายเท่านั้นเอง คาดว่าที่เป็นที่จดจำกันคงเพราะยักษ์ปักหลั่นเป็นยักษ์ตัวแรกที่โผล่หน้ามาในบทละคร
เสียดายเมื่อคราวแสดงโขนเมื่อไม่นานมานี้ ได้ชมถ่ายทอดสดแค่ตอนหนุมานหักสวนไปจนถึงเผากรุงลงกา เลยอดดูหน้ายักษ์ปักหลั่นในท้องเรื่องว่าเป็นอย่างไร
เอาน่า...วันพระไม่ได้มีหนเดียวหรอก
๑๕ เมษายน ๒๕๕๕
เพรางาย มณีโชติ
โดย: เพรางาย (เจ้าบ้าน
) [15 เม.ย. 55 10:18] ( IP A:110.49.250.24 X: )
Counter : 1204 Pageviews
ความคิดเห็นที่ 1
แวะมาเยี่ยมเยียนขอรับ คุณงายคงสุขสบายดี^^
บุญรักษาพระคุ้มครอง นะครับ
โดย: ฉุนชุน [21 พ.ค. 55 19:04] ( IP A:49.49.166.110 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
ขอบคุณที่แวะเวียนมา ไม่ได้เจอกันเสียนานนะคะ
โดย: เพรางาย [16 ก.ย. 55 15:26] ( IP A:110.49.226.172 X: )
คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน