ข้อแนะนำดีๆ เพื่อลดอาการ JET LAG
   ในปัจจุบันทุกคนมีการเดินทางด้วยเครื่องบินไปยังประเทศต่างๆมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ทั้งเพื่อการเดินทางท่องเที่ยว การไปทำธุรกิจหรือการไปศึกษาต่อต่างประเทศ ซึ่งรวมทั้งนักกีฬาก็เช่นเดียวกัน ทุกครั้งที่มีการแข่งขันในต่างประเทศสิ่งหนึ่งที่ทางผู้จัดการทีม โค้ชและแพทย์ประจำทีมจะต้องคิดถึงก็คือเรื่อง Jet Lag (เจ๊ตแล็ก)

ความหมายของ Jet Lag

Jet Lag เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่เดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ ที่ต้องใช้เวลานาน ๆ หลายชั่วโมงบนเครื่องบิน บินข้ามทวีปเปลี่ยนเวลาตรงข้ามกับที่เคยอยู่ประจำ เช่น กลางวันเป็นกลางคืน ต้องบินผ่าน Time Zones (โซนเวลา) มากน้อยแตกต่างกัน ผู้ที่มีอาการ Jet Lag มักเกิดจากการบินผ่านโซนเวลามากกว่า 3 โซน ขึ้นไป นอกจากนี้ทิศทางของการเดินทางก็มีส่วนสำคัญ (บางท่านบินจากตะวันออกไปตะวันตก หรือตะวันตกไปตะวันออก บางท่านบินจากเหนือลงใต้หรือจากใต้ขึ้นเหนือ) ที่ทำให้ เกิดอาการ Jet Lag มากน้อยแตกต่างกัน

กลุ่มอาการ Jet Lag ประกอบไปด้วย อาการต่าง ๆ ดังนี้ คลื่นเหียน วิงเวียน ปวดศีรษะ อ่อนเปลี้ยเพลียแรง นอนไม่หลับ ง่วง เซื่องซึม สลบไสล หน้ามืด ตาลาย ท้องอืดแน่น เบื่ออาหาร จิตใจไม่แจ่มใส ความสามารถในการทำงานลดลง ซึ่งบางท่านอาจมีไม่ครบทุกอาการ หรืออาการมากน้อยแตกต่างกันออกไป

โซนเวลา (Time Zones) โดยปกติโลกใบนี้ของเรามีการแบ่งโซนเวลาออกเป็น 24 โซนเวลา ซึ่งเท่ากับ 24 ชั่วโมง เวลาของแต่ละประเทศจะแตกต่างกันออกไป มีการเปรียบเทียบกันโดยมีเส้นสมมุติ ที่ลากจากขั้วโลกเหนือไปยังขั้วโลกใต้และผ่านหอดูดาวของเมืองกรีนิช(Greenwich) ประเทศอังกฤษ เรียกว่าเส้น GMT หรือ Greenwich Mean Time

ประเทศที่อยู่ด้านตะวันออกของเส้นนี้จะอยู่ในโซนเวลาต่างๆกันไปจากโซนเวลา +1 จนถึงโซนเวลา +12 เช่นประเทศไทยอยู่ในโซนเวลา หรือ Time Zone +7 หมายความว่าถ้าหากประเทศเยอรมนีอยู่ในโซนเวลา + 1 และมีเวลา 13.00 น. ประเทศไทยอยู่ในโซนเวลา +7 (ต่างจากประเทศเยอรมนี 6 โซนเวลา) จะมีเวลาเท่ากับ 19.00 น. ในทางตรงข้าม ประเทศที่อยู่ด้านตะวันตกของเส้นนี้ จะอยู่ในโซนเวลาที่เป็นลบ (-) จากโซนเวลา -1 จนถึงโซนเวลา -12 ตัวอย่างเช่นประเทศไทยอยู่ในโซนเวลา +7 และเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา อยู่ในโซนเวลา -5 ดังนั้นเวลาจึงแตกต่างกันถึง 12 ชั่วโมง เช่นเมืองนิวยอร์กเวลา 13.00 น. ประเทศไทยก็จะเป็นเวลา 01.00 น. และเป็นคนละวันกันด้วย

International Date Line (เส้นแบ่งวัน) จากที่กล่าวไว้แล้วว่าโซนเวลาทางด้านตะวันออกของเส้น GMT จะมีจาก +1 จนถึง +12 ในทางตรงกันข้าม โซนเวลาทางด้านตะวันตกของเส้น GMT จะมีจาก -1 จนถึง -12 หากท่านผู้อ่านลองนึกถึงโลกของเราเป็นลูกโลกกลม โซนเวลา +12 และ -12 ก็จะไปอยู่คร่อมกัน เส้นรอยต่อนี้เองที่เราถือกันว่าเป็นเส้นแบ่งวัน หรือ International Date Line

สาเหตุที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการเจ๊ตแล็ก

โดยปกติคนเรามีชีวิตอยู่ที่ใดนาน ๆ ร่างกายจะมีการทำงานที่คุ้นเคยกับเวลาของประเทศนั้น ๆ เช่น ตื่น 6 โมงเช้า มีกิจกรรมตั้งแต่เช้าจรดเย็นและเข้านอนตอน 23.00 น. การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เป็นไปตามจังหวะเวลา ณ ประเทศที่ตนเองอยู่จนเป็นความเคยชินหรือบางทีเรียกว่า Biological Rhythms บางคนเรียกว่า นาฬิกาชีวิต Biological Clock (Circadian Rhythm) เมื่อมีการเดินทางข้ามโซนเวลามากกว่า 3 โซนขึ้นไปและหากมีการข้ามโซนเวลามาก ๆ ก็จะมีเวลาเปลี่ยนแปลงไปมาก กลางวันเป็นกลางคืน มีสิ่งกระตุ้นที่เป็นแสงสว่างแตกต่างกัน Biological Rhythms ในร่างกายของผู้ที่เดินทางปรับตามไม่ทันกับการที่ร่างกายของคนคนนั้นไปอยู่ในโซนเวลาใหม่ซึ่งมีสิ่งแวดล้อมต่างกันออกไป จนทำให้เกิดกลุ่มอาการดังที่กล่าวข้างต้น

ทิศทางของการเดินทางมีผลอย่างไร

ผู้ที่เดินทางจากเหนือลงใต้หรือใต้ขึ้นเหนือและอยู่ในโซนเวลาเดียวกันจะไม่ค่อยมีผลต่อร่างกาย ส่วนผู้ที่เดินทางมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกพบว่าจะมีอาการ เจ๊ตแล็กมากกว่าเดินทางไปทางทิศตะวันตก โดยพบว่าผู้ที่เดินทางไปทางทิศตะวันตกจะใช้เวลาในการปรับตัวน้อยกว่าถึง 30-50%

ร่างกายใช้เวลานานเท่าใดในการปรับตัว

มีผู้ที่ศึกษาเรื่องเหล่านี้ได้ให้วิธีคำนวณคร่าว ๆ ว่า หากท่านเดินทางข้ามโซนเวลาเท่าใด ท่านก็จะใช้เวลา (เป็นจำนวนวัน) เท่านั้นในการปรับตัว เช่นจากประเทศเยอรมนีมาประเทศไทย อาจใช้เวลาคร่าว ๆ ประมาณ 5-6 วัน ในการปรับร่างกายให้เข้าสู่สภาพปกติ

นอกจากนี้ยังมีเหตุผลอื่น ๆ ที่ทำให้การปรับตัวใช้เวลามากน้อยต่างกัน เช่น วัยและการตอบสนองของแต่ละคน เวลาที่ไปถึงจุดหมายปลายทาง หากเป็นเวลากลางคืนจะปรับตัวได้ง่ายกว่าไปถึงเวลากลางวันที่มีแสงสว่างค่อนข้างมาก

ที่มา : Daily News Online
โดย: webmaster (เจ้าบ้าน
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
ความคิดเห็นที่ 1
    ข้อแนะนำเพื่อช่วยให้เกิดอาการน้อยลง

- ปรับเวลาการเข้านอน-ตื่นนอน ให้ใกล้เคียงกับเวลาในประเทศที่เราจะไป อย่างน้อย 2-3 วัน หากสามารถกระทำได้

- เลือกการเดินทางที่จะไปถึงจุดหมายในเวลากลางคืน

- บางคนแนะนำให้ท่านออกกำลังกายให้มากขึ้น 1 วันก่อนเดินทาง เพื่อที่จะให้ท่านอ่อนเพลียและหลับได้มากบนเครื่องบิน

- ระหว่างที่อยู่บนเครื่องบิน รับประทานอาหารไม่มากเกินไปและที่ย่อยง่าย ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะมีฤทธิ์ขับปัสสาวะทำให้ร่างกายมีน้ำน้อยกว่าปกติ ทางที่ดีควรดื่มน้ำธรรมดาหรือน้ำผลไม้ให้ร่างกายมีน้ำให้เพียงพอโดยดูจากสีของปัสสาวะที่ค่อนข้างใส

- เมื่อไปถึงประเทศเป้าหมายพยายามที่จะเข้านอนตามเวลาที่ควรจะเป็นของประเทศนั้น ๆ

- สำหรับนักกีฬาที่จะไปแข่งขัน อาจต้องพิจารณาเดินทางล่วงหน้าให้มากพอสำหรับการปรับตัว หรือบางทีอาจจะไปฝึกซ้อมในประเทศที่อยู่ใกล้ ๆ กับประเทศที่เราจะไปแข่งขัน เพื่อให้ร่างกายค่อย ๆ ปรับตัวทีละน้อยไปด้วย ตัวอย่างเช่น ทีมฟุตซอลของไทยที่จะไปแข่งขันชิงแชมป์โลกที่ประเทศบราซิล ก็มีโปรแกรมเดินทางไปฝึกซ้อมที่ประเทศสเปนก่อน 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะเดินทางเข้าบราซิล ก็จะทำให้ร่างกายได้มีโอกาสค่อยๆปรับตัว

ที่มา : Daily News Online

โดย: webmaster (เจ้าบ้าน ) [24 ธ.ค. 51 19:33] ( IP A:58.9.102.91 X: )

คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน