ซีบร้าไนท์ฟิช Gymnotus pedanopterus ใบมีดลายสุดพริ้ว
   Gymnotus pedanopterus ครับ เรามาดูกันว่ามันคือตัวอะไร เรามาดูการจัดลำดับทางอนุกรมวิธานของปลาชนิดนี้กันก่อนนะครับตามระเบียบ
Domain Eukaryota - eukaryotes
Kingdom Animalia Linnaeus, 1758 - animals
Subkingdom Bilateria (Hatschek, 1888) Cavalier-Smith, 1983 - bilaterians
Branch Deuterostomia Grobben, 1908 - deuterostomes
Infrakingdom Chordonia (Haeckel, 1874) Cavalier-Smith, 1998
Phylum Chordata Bateson, 1885 - chordates
Subphylum Vertebrata Cuvier, 1812 - vertebrates
Infraphylum Gnathostomata auct. - jawed vertebrates
Class Osteichthyes Huxley, 1880
Subclass Actinopterygii - ray-finned fishes
Infraclass Actinopteri
Superdivision Neopterygii
Division Halecostomi
Subdivision Teleostei
Infradivision Elopocephala
Cohort Clupeocephala
Subcohort Otocephala
Division Ostariophysi
Order Gymnotiformes - knifefishes
Family Gymnotidae™ - nakedback knifefishes
Genus Gymnotus™ Linnaeus, 1758
Gymnotus pedanopterus Mago-Leccia, 1994

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [8 ต.ค. 50 16:03] ( IP A:58.9.138.21 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
ความคิดเห็นที่ 1
   สำหรับท่านที่ไม่เข้าใจตรงนี้ก็ไม่ต้องตกใจนะครับ ผมแค่ต้องการบอกให้ทราบว่า ปลาชนิดนี้ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มไหนบ้างในอันดับใด เผื่อเอาไว้ในการค้นหาข้อมูลอื่นๆที่ต้องการทราบต่อไป เอาที่เข้าใจง่ายๆก็คือ ปลาชนิดนี้ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มไนฟ์ฟิชซึ่งสร้างกระแสไฟฟ้าได้ (Order Gymnotiformes) นั่นเองครับ ปลาในสกุลนี้ ที่เป็นชนิดใกล้เคียงกัน และค่อนข้างมีคนรู้จักกันดี ก็คือ ซีบร้าไนฟ์ฟิช (Gymnotus carapo) ดังที่แสดงไว้ในรูป ไนฟ์ฟิช คาราโป นั้นจริงๆแล้ว ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ เราจะเรียกมันว่า Banded knifefish ไม่ใช่ Zebra knifefish อย่างที่เราเรียกกัน ปลาชนิดนี้ ถูกนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยนานแล้วครับ แต่ในจำนวนที่น้อยมากๆ และนานๆครั้ง ประกอบกับรู้จักกันในกลุ่มที่แคบ พ่อค้าปลา หรือ คนเลี้ยงปลาน้อยคนที่จะได้ปลาตัวนี้ไปขายหรือครอบครอง ทำให้หลายคนคงเห็นเพียงรูป แค่ในหนังสือ หรือตามเวปต่างๆเท่านั้นเอง ไม่เหมือนกับปลาแบลคโกส หรือ อบาอบา ซึ่งมีเกลื่อนตลาด และหวังว่าคงไม่เกลื่อนลำคลองด้วยละกันครับ เข้าเรื่องกันต่อครับ ซีบร้าไนฟ์ฟิชคาราโป ว่าหายากแล้วในประเทศไทย เจอตัวนี้เข้าไปชิดซ้ายครับ กับ จิมโนตัส พีดานอปเทอรัส อ่านยากหน่อยครับ ปลาตัวนี้ ชื่อสามัญภาษาอังกฤษคือ Zebra knifefish ตัวจริง และยังไม่มีชื่อไทย ผมจึงขอทำความเข้าใจในการเรียกชื่อไทยของปลาทั้งสองชนิดนี้ เป็นทับศัพท์ไปเลยนะครับคือ ซีบร้าไนฟ์ฟิช (Gymnotus pedanopterus ) และ แบนด์เดดไนฟ์ฟิช (Gymnotus carapo) ไว้ ณ.ที่นี้เลยละกันครับ เข้าใจง่ายดี ความหายากของซีบร้าไนฟ์ฟิชนั้น เทียบไม่ได้กับ แบนด์เดดไนฟ์ฟิชซึ่งจับได้ครั้งละฝูงใหญ่ๆเลยทีเดียว ส่วนซีบร้าไนฟ์ฟิช จะพบยากมากครับ

ในรูปคือ แบนด์เดดไนฟ์ฟิช ขนาดใหญ่

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [8 ต.ค. 50 16:05] ( IP A:58.9.138.21 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
   ต่อมา เรามาดูแหล่งที่อยู่อาศัยในธรรมชาติของปลาชนิดนี้กัน เดาได้ไม่ยาก ปลาในกลุ่มไนฟ์ฟิชสร้างไฟฟ้า นั้น ล้วนแต่ถือกำเนิดมาจากทวีปอาฟริกา และ อเมริกาใต้เสียเป็นส่วนใหญ่ครับ แถบเอเชียแถวๆบ้านเราจะไม่พบปลาในกลุ่มนี้ ซีบร้าไนฟ์ฟิชนั้น ถูกบรรยายลักษณะทางอนุกรมวิธานมาได้ไม่นานนักครับ โดย Mago-Leccia ในปี 1994 ซึ่งเราจะพบปลาชนิดนี้ทั่วไปในทวีปอเมริกาใต้ แถวลุ่มน้ำอเมซอนอันโด่งดังตามเคย เช่น แถบทางใต้ของประเทศเวเนซูเอลา ไปจนถึงแม่น้ำเนโกร ในบราซิล และในเปรู เป็นต้น

ในรูปคือ แบนด์เดดไนฟ์ฟิช ขนาด 5 นิ้ว

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [8 ต.ค. 50 16:07] ( IP A:58.9.138.21 X: )
ความคิดเห็นที่ 3
   ลักษณะของปลาชนิดนี้ ก็เรียกได้ว่า เป็นปลาแปลกชนิดหนึ่งครับ ลำตัวเรียวยาว และผอม ถ้าเปรียบเทียบกับแบนด์เดดไนฟ์ฟิชฟิชแล้วจะผอมเรียกกว่าอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่แบนด์เดดไนฟ์ฟิชจะมีรูปทรงที่อ้วนหนา และสั้นกว่าชัดเจน ซีบร้าไนฟ์ฟิชนั้น ไม่มีครีบหลังครับ แต่จะมีครีบก้น ( anal fin) ที่มีความยาวมากตลอดแนวลำตัวด้านล่าง โดยเริ่มที่ก่อนทวารหนักยาวไปจนถึงปลายหางเลยทีเดียว ซึ่งครีบก้นที่ยาวมากนี่เอง เลยทำให้ปลาชนิดนี้ สามารถว่ายน้ำทรงตัวกลางน้ำได้เป็นอย่างดี ตลอดจนมีความสามารถในการว่ายน้ำไปหน้า และถอยหลังได้อย่างคล่องแคล่วมากอีกด้วยนะครับ อีกทั้งการโบกพัดพริ้วไหว ของครีบก้น ยังมองดูแล้วสวยงามอีกด้วย เวลาปลาว่ายน้ำครับ ลำตัวของปลาชนิดนี้มีสีดำสนิท ต่างจาก แบนด์เดดไนฟ์ฟิชซึ่งมีสีจางกว่า ลายของซีบร้าไนฟ์ฟิชนั้น จะเป็นแถบสีขาว ลากจากด้านบน ไปด้านล่างของลำตัว มีหลายแถบครับ ลากยาวตลอดแนวลำตัว แต่ะละแถบค่อนข้างห่างกันดังรูป และเป็นแถบสีขาวที่ชัดเจน ส่วน แบนด์เดดไนฟ์ฟิชนั้น จะมีแถบที่ถี่มาก และมีลักษณะแถบที่หยัก และสีสันไม่ชัดเจนเท่าซีบร้าไนฟฟิ์ชอีกด้วย นี่เป็นข้อแตกต่างที่ดูง่ายที่สุดครับ ส่วนหัวของปลาชนิดนี้มีขนาดเล็ก ดวงตาเล็กใช้การได้ไม่ดีนัก ปากของปลาชนิดนี้จะกว้าง และเชิดขึ้นด้านบนครับ เพื่อใช้ในการกินเหยื่อขนาดใหญ่ ต่างจากไนฟ์ฟิชอื่นๆหลายชนิดที่ปากเปิดลงด้านล่าง หรือไม่ก็มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็ก เป็นต้น ปลาชนิดนี้จะมีอวัยวะสร้างไฟฟ้าอ่อนๆ เรียกว่า electric organ discharge (EOD) อยู่รอบๆลำตัว สนามไฟฟ้าอ่อนๆที่มันสร้างขึ้นนั้นใช้ในการนำทาง และหาอาหารครับ ตลอดจนใช้ในการส่งสัญญาณหาคู่ได้อีกด้วยเมื่อพร้อมผสมพันธุ์ ขนาดโตเต็มที่ของปลาชนิดนี้นั้น จะมีความยาวประมาณ 1 ฟุตครับ ซึ่งเล็กกว่า แบนด์เดดไนฟ์ฟิช ซึ่งโตได้ มากกว่า 2 ฟุตครับ ลักษณะนิสัยของปลาชนิดนี้ เป็นปลาที่ค่อนข้างดุร้าย ก้าวร้าว หวงถิ่น โดยเฉพาะกับปลาพวกเดียวกัน แต่มักไม่แสดงพฤติกรรมแบบนี้รุนแรง กับปลาชนิดอื่น การกัดกันเองนั้น พบได้บ่อยครับ โดยมักจะกัดปลายหางกันจนแหว่งเพราะเป็นจุดที่เสียหายได้ง่าย ตลอดจนตามครีบและตามลำตัวก็พบบ่อย เท่าที่ผมเลี้ยงมานั้น เราก็สามารถรวมได้และลดความเสี่ยงในการกัดลงได้เหมือนกันครับ โดยทำที่ซ่อนให้ปลาเยอะๆ เช่น ท่อต่างๆ ให้เพียงพอกับจำนวนปลา เท่านี้ มันก็จะอยุ่บ้านใครบ้านมันแล้วล่ะครับ ลดการกัดลงได้มากเลยทีเดียว

รูปแสดงเซลล์สร้างไฟฟ้าของปลาในกลุ่มนี้

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [8 ต.ค. 50 16:09] ( IP A:58.9.138.21 X: )
ความคิดเห็นที่ 4
   การเลี้ยงและการดูแลรักษาปลาชนิดนี้นั้น ไม่ยากนักครับ มือใหม่ก็สามารถเลี้ยงได้ การเลี้ยงเดี่ยวในตู้ไม่ต้องใหญ่มาก เป็นวิธีที่ดีที่สุดครับ หรือถ้าเก๋าพอ ก็รวมได้ อย่าลืมทำบ้านแยกกันด้วย และต้องคอยหมั่นสังเกตุอยู่เสมอนะครับ น้ำที่ใช้เลี้ยงนั้น ก็น้ำประปาปกติ ผ่านกรองคลอรีนครับ pH เป็นกลางหรือต่ำเล็กน้อย (6-7) ไม่ชอบน้ำกระด้างมากครับ ดังนั้น ถ้าจะใช้น้ำบาดาลเลี้ยง ก็ควรกรองและตกตะกอนไว้ก่อน หรือเลี่ยงได้ก็ดี อุณหภูมิที่ใช้เลี้ยง ก็ ปกติครับ ไม่ควรเกิน 29 องศาเซลเซียส นอกจากนั้น ถ้าอยากจะหมักน้ำด้วยใบไม้แห้ง หรือแบลควอเตอร์ ก็ไม่มีปัญหาครับ สามารถอยู่ได้ อีกทั้งใช้ในการรักษาแผลได้เป็นอย่างดี โดยช่วยลดการติดเชื้อแบคทีเรียได้พอสมควรครับ แต่เลี้ยงน้ำใสๆ ปกติ ก็ได้นะครับ

ในรูปคือ ซีบร้าไนฟ์ฟิช

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [8 ต.ค. 50 16:10] ( IP A:58.9.138.21 X: )
ความคิดเห็นที่ 5
   การจัดตู้นั้น สำคัญคือ ควรมีที่หลบครับ ไม่งั้นปลาก็จะไปมุดตามที่ต่างๆ หรือร้ายที่สุดคือมุดลงกรองไปเลย หรือไม่ก็มุดเข้าไปในอาหารที่เราให้ทิ้งไว้ เช่นพวกไส้เดือนน้ำ ซึ่งจะทำให้ปลาติดเชื้อได้ง่ายครับ วัสดที่ใช้หลบ ก็เช่นพวกขอนไม้ หิน และท่อพลาสติกใส จะได้มองเห็นปลาได้ตลอดเวลา หินปูพื้นก็ปูได้ครับ บางๆหรือไม่ต้องปูก็ไม่เป็นไร ไม้น้ำทนๆ เช่นอนูเบียส หรือเฟริ์น ก็สามารถลงได้ ส่วนระบบกรอง ก็ปกติครับ แน่นๆ เข้าไว้ สับสเตรท แนะนำเป็น หินพัมมีส ผสมปะการังได้เล็กน้อยครับ ปลาไม่กระโดดครับ จึงมีฝาหรือไม่มีก็ได้ ระวังการมุดไปติดตามซอกต่างๆแล้วออกไม่ได้ก็แล้วกันครับอันนี้สำคัญ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [8 ต.ค. 50 16:13] ( IP A:58.9.138.21 X: )
ความคิดเห็นที่ 6
   อาหารปลาพวกนี้ กินได้หลากหลายครับ โดยธรรมชาติจะเป็นปลากินเนื้อ ล่าปลาเล็กๆ แมลงเล็กๆกินเป็นอาหาร เมื่อนำมาเลี้ยงก็ อาจให้ปลาเล็กเช่นหางนกยูง หรือ ปลาสอด ไรทะเล ไส้เดือนน้ำ หนอนแดง กุ้งฝอย สามารถผึกให้กินหนอนแดงแช่แข็ง หรือกุ้งตายได้สบาย ขนาดของอาหาร ก็เลือกให้เหมาะสมกับขนาดปลาที่คุณเลี้ยงด้วยละกันครับ ปลาชนิดนี้ไม่กินอาหารเม็ดนะครับ ถ้าไม่พร้อมตรงนี้ก็ไม่ควรเลี้ยง ส่วนอาหารสด ก็ล้างน้ำเปล่าหลายๆรอบให้สะอาดก่อนนำมาให้ทุกครั้งจะปลอดภัยครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [8 ต.ค. 50 16:14] ( IP A:58.9.138.21 X: )
ความคิดเห็นที่ 7
   สำหรับการดูแลรักษาอื่นๆนั้น จำไว้เลยนะครับ ว่า ปลากลุ่มนี้ มีความทนทานต่ำมาก หรือเรียกง่ายๆว่าแพ้ยา ต่อยา พวก มาลาไคท์กรีน ดิพเทอเร็กซ์ ฟอร์มาลีน คอปเปอร์ทูซัลเฟต หรือ ยาในท้องตลาดทั่วไปที่มีส่วนผสมของสารเคมีพวกนี้ครับ เช่น ยารักษาจุดขาว เชื้อรา ฆ่าเห็บหนอนสมอ ต่างๆ เป็นต้น ยาพวกนี้นอกจากจะเป็นอันตรายต่อปลากลุ่มนี้แล้ว ยังเป็นอันตรายต่อปลาแปลกๆอื่นๆอีกหลายชนิดครับ เหตุผลก็เพราะว่า ผู้ผลิตยาพวกนี้ไม่เลี้ยง ปลาแปลกพวกนี้มาก่อน หรือไม่เคยแม้แต่จะพบเห็นรู้จักมันด้วยซ้ำ ยาดังกล่าวที่เขาผลิตขึ้นมา จึงทดลองมากับปลาหมอ ปลาทอง ปลาคาร์พ หรือปลาราคาถูกหาง่ายทั่วไปสำหรับการทดลองของเขาครับ ดังนั้น ความรู้ ประสบการณ์ หรือความรับผิดชอบในผลผลิตของเขาจึงมีต่ำมากๆ ถ้าเรานิยมการเลี้ยงปลาหรือสัตว์แปลกๆอื่นๆแล้วล่ะก็ ควรหาข้อมูลเพิ่มเติมให้มากๆในทุกๆด้านก่อนนะครับ จึงจะเลี้ยงได้ประสบผลสำเร็จอย่างดี การใช้ยาโดยไร้เหตุผลหรือ ไร้สาระ เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำครับ อาการเจ็บป่วยที่มักเกิดขึ้น จะเกิดจากการผิดน้ำเสียมากกว่า ก็คือ การที่ปลาปรับตัวไม่ทัน กับสภาพน้ำที่แตกต่างกันอย่างฉับพลัน เช่น pH ตลอดจน ค่าไอออนและสารเคมีอื่นๆในน้ำ อาการที่แสดงออกคือ อาการเปื่อย ซีดขาวตามลำตัว อาการพวกนี้ แก้ไขได้โดยการหมักน้ำด้วยแบลควอเตอร์ ให้น้ำเป็นสีชาอ่อนๆ และแช่ด้วย ยาปฏิชีวนะ เตทตร้าซัยคลิน 15 มิลลิกรัมต่อลิตร ตลอดไปจนหายครับ หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนน้ำจำนนมากๆและกระทันหันนะครับ ส่วนเรื่องยาและการรักษาตลอดจนข้อมูลอื่นๆ เราสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ในเวปไซต์ https://www.genepoolaquarium.com ครับ
ก็ขอจบบทความแรกไว้เพียงเท่านี้ก่อนนะครับ ฉบับหน้าคงได้เจอกันอีกครับ เลี้ยงปลาให้มีความสุขล่ะครับ สวัสดีครับ

หมายเหตุ : บทความถูกตีพิมพ์ในนิตยสาร Fish Guideline ฉบับแรกครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [8 ต.ค. 50 16:16] ( IP A:58.9.138.21 X: )
ความคิดเห็นที่ 8
   อ่า สุดยอดครับๆๆๆๆๆ
โดย: วินWIN [8 ต.ค. 50 17:33] ( IP A:117.47.104.12 X: )
ความคิดเห็นที่ 9
   ^_____________^
โดย: ป_ปลาระเบิด(เกร็ดกระจาย) [9 ต.ค. 50 14:24] ( IP A:124.121.188.66 X: )
ความคิดเห็นที่ 10
   แจ่มจริงครับ
โดย: ฮวน โรมัน (48115036 ) [11 ต.ค. 50 19:16] ( IP A:203.113.34.10 X: )
ความคิดเห็นที่ 11
   จะบอกว่า ฮิคาริจมที่ใส่ให้หมูกระโดงสูง เจ้าซีบร้ามาด้อมๆมองๆแล้วก็ชิม ติดใจไปครับ

แต่ถ้าจะบังคับมันกินคงยาก นานเหมือนกันกว่าจะเริ่มกิน
โดย: jay [25 ม.ค. 51] ( IP A:203.118.80.232 X: )
ความคิดเห็นที่ 12
   คัยมีขายมั่งมั้ยคับ ขอทราบราคาด้วยนะคับ แฮะๆ
โดย: vindicated_1986@hotmail.com (vein ) [10 ธ.ค. 51 2:02] ( IP A:58.8.122.105 X: )

คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน