ปลาดุกไฟฟ้ายักษ์ ไมโครสโตม่า...
   วันนี้ เรามาดูปลาที่น่าสนใจ และแปลกๆกันอีกตัวต่อไปครับ ปลาชนิดนี้แต่ก่อนไม่เคยมีมาขายในไทยเลย หรือมีก็น้อยมากๆ จากการหิ้วเข้ามาไม่กี่ตัว จึงมีราคาสูงมาก แต่มาตอนนี้ มีผู้สั่งเข้ามาหลายสิบตัวหลายครั้งครับ ก็เลยได้มีโอกาสยลโฉมกันเต็มๆ ในราคาที่ถูกกว่าแต่ก่อนมากๆเลยครับ มันคือ ปลาดุกไฟฟ้ายักษ์Malapterurus microstoma นั่นเอง ปลาชนิดนี้มีชื่อสามัญว่า Smallmouth electric catfish ซึ่งแปลว่า ปลาดุกไฟฟ้าปากเล็ก แต่ชื่อสามัญและชื่อทางการค้าในไทยจะนิยมเรียกชื่อปลาชนิดนี้ว่า ปลาดุกไฟฟ้ายักษ์ กันเป็นส่วนใหญ่ครับ หรือไม่ก็เรียกทับศัทพ์ชื่อชนิดไปเลยครับ

เรามาดูลำดับอนุกรมวิธานของมันตามระเบียบครับ
Domain: Eukaryota Whittaker & Margulis,1978 – eukaryotes
Kingdom: Animalia Linnaeus, 1758 - Linnaeus, 1758 – animals
Subkingdom: Bilateria (Hatschek, 1888) Cavalier-Smith, 1983 - (Hatschek, 1888) Cavalier-Smith, 1983 - bilaterians
Branch: Deuterostomia Grobben, 1908 - Deuterostomes
Infrakingdom: Chordonia (Haeckel, 1874) Cavalier-Smith, 1998
Phylum: Chordata Bateson, 1885 – Chordates
Subphylum: Vertebrata Cuvier, 1812 – Vertebrates
Infraphylum: Gnathostomata auct. - Jawed Vertebrates
Superclass: Osteichthyes Huxley, 1880 - Bony Fishes
Class: Osteichthyes Huxley, 1880 - Bony Fishes
Subclass: Actinopterygii - Ray-Finned Fishes
Infraclass: Actinopteri
Cohort: Clupeocephala
Order: Siluriformes - Catfishes
Family: Malapteruridae - Electric Catfishes
Genus: Malapterurus
Specific name: microstomus Poll & Gosse, 1969
Scientific name: Malapterurus microstoma Poll & Gosse, 1969

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [18 เม.ย. 51 14:19] ( IP A:58.9.142.29 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
ความคิดเห็นที่ 1
   ปลาชนิดนี้ ชื่อก็บอกอยู่แล้วครับว่าคือ ปลาดุก ดังนั้น มันก็จัดอยู่ในกลุ่มแคทฟิชนั่นเอง องค์ประกอบหลักๆหรือเบสิกของการเลี้ยงปลากลุ่มแคทฟิชทั้งหลาย ผมคิดว่าทุกท่านคงมีกันหมดแล้วนะครับ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ มันจัดอยู่ในครอบครัว Malapteruridae ซึ่งปลาในครอบครัวนี้ จะมีรูปร่างกลมๆยาวๆ คล้ายไส้กรอก ไม่มีครีบหลัง แต่จะมีครีบไขมันขนาดใหญ่ อยู่ค่อนไปทางท้ายลำตัว ติดๆกับครีบหาง มีช่องเปิดเหงือกเล็กๆอยู่ติดๆกับครีบอก มีสมาชิกอยู่เพียงสกุลเดียวคือ Malapterurus ครับ และมีสมาชิกในสกุล ร่วมๆ 25 สปีชีส์ ซึ่งแล้วแล้วแต่เป็นปลาดุกไฟฟ้ากันทุกชนิดครับ ปลาในครอบครัวนี้ พบแต่ในอาฟริกานะครับ ไม่พบในประเทศไทย ใครนำมาเลี้ยงแล้วเบื่อ ห้ามปล่อยลงสู่แหล่งน้ำไทยโดยเด็ดขาดครับ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ที่อาจประเมินค่ามิได้
การแพร่กระจายและแหล่งที่อยุ่อาศัย
ปลาในสกุลนี้นั้น รวมทั้งปลาดุกไฟฟ้ายักษ์ ล้วนแล้วแต่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอาฟริกาดังที่บอกไปแล้วข้างต้นนะครับ โดยพบแถวตะวันตก และตอนกลางทวีป ไปจนถึงแม่น้ำไนล์ ตลอดจนแม่น้ำสายใหญ่ๆต่างๆในอาฟริกา เช่น Buzi, Niger, Omo, Sanaga, Sabi-Lundi, Senegal, Shari, Congoและ Zambezi ตลอดจนในทะเลสาบน้ำจืดต่างๆเช่น ทะเลสาบ Albert, Chad, Kainji, Tanganyika และ Turkana แต่ปลาดุกไฟฟ้ายักษ์ เราจะพบเฉพาะในแม่น้ำ Congo เท่านั้นครับ ส่วนอีก 25 ชนิดก็จะแพร่กระจายอยู่ทั่วไปตามแหล่งน้ำข้างต้น

โดย: เจ้าบ้าน [18 เม.ย. 51 14:20] ( IP A:58.9.142.29 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
   ปลาดุกไฟฟ้านั้น เป็นปลาที่ชอบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนิ่ง หรือไหลเอื่อยๆครับ ชอบอาศัยอยู่พื้นท้องน้ำ หรือบางทีก็กลางน้ำ โดยจะหลบอาศัยตามโพรงหิน โพรงไม้ และตามรากไม้จมน้ำต่างๆ สภาพน้ำเป็นน้ำขุ่น แสงส่องผ่านได้น้อย หรือเป็นน้ำหมัก (Black water) ที่มีการสะสมของสารอินทรีย์เช่นใบไม้เป็นจำนวนมากครับ อุณหภูมิประมาณ 23-28 องศาเซลเซียส เท่าๆบ้านเรานี่เอง

โดย: เจ้าบ้าน [18 เม.ย. 51 14:21] ( IP A:58.9.142.29 X: )
ความคิดเห็นที่ 3
   ลักษณะรูปร่าง นิสัย อาหาร
ปลาดุกไฟฟ้ายักษ์ มีรูปร่างกลมยาว มองดูคล้ายๆไส้กรอกสีเทาขนาดใหญ่ ส่วนหัวมีลักษณะเรียวแหลม มีช่องปากขนาดเล็ก อันเป็นที่มาของชื่อชนิด microstoma ซึ่งแปลตรงตัวว่า “ปากเล็ก” (Smallmouth electric catfish) นั่นเองครับ มีหนวดอยู่สามคู่รอบๆปากใช้รับสัมผัส

โดย: เจ้าบ้าน [18 เม.ย. 51 14:21] ( IP A:58.9.142.29 X: )
ความคิดเห็นที่ 4
   มีอวัยวะสร้างไฟฟ้าเรียงตัวอยู่ด้านข้างของลำตัว สามารถสร้างกระแสไฟฟ้าที่รุนแรง ถึง 350 โวล์ตเลยนะครับ โดยกระแสไฟฟ้าดังกล่าวนั้น ใช้ป้องกันตัว และ ฆ่าเหยื่อที่จะจับกิน ส่วนลำตัวมีสีเทา มีจุดประสีดำขนาดใหญ่และเล็กกระจายอยู่ทั่วลำตัว นิสัยของปลาชนิดนี้ค่อนข้างดุครับ ไม่ควรเลี้ยงรวมกันกับปลาอื่น เพราะนอกจากเป็นปลาที่ดุ กัด และกินปลาอื่นเป็นอาหารแล้ว ยังสามารถใช้กระแสไฟฟ้าที่รุนแรงช๊อตจนปลาอื่นตาย หรือพิกลพิการไปตลอดชีวิตได้อีกด้วย นอกจากนั้นถ้าเลี้ยงรวมกันในชนิดเดียวกัน ก็ยังกัดกันเองเละเทะอีกด้วย ได้ยินแบบนี้แล้ว ก็เลิกถามหาแทงก์เมทของปลาชนิดนี้ได้เลยครับ

โดย: เจ้าบ้าน [18 เม.ย. 51 14:22] ( IP A:58.9.142.29 X: )
ความคิดเห็นที่ 5
   อาหารหลักของปลาดุกไฟฟ้า ก็คือ ปลาเล็กๆทุกชนิดครับ ปลาดุกไฟฟ้า เป็นปลาที่เคลื่อนที่ช้า ไม่ว่องไว ดวงตามีขนาดเล็กและใช้การได้ไม่ดี ดังนั้น มันจะใช้กระแสไฟฟ้าอันรุนแรงช๊อตให้ปลา หมดสติ หรือตายในทันที แล้วค่อยกลืนกินเป็นอาหาร โดยใช้หนวดร่วมในการดมกลิ่นหาอาหารด้วยครับ ปลาชนิดนี้ เป็นปลาที่กินจุ และตะกละมากๆครับทั้งในธรรมชาติและที่เลี้ยง นอกจากปลาแล้ว ก็ยังกินสัตว์น้ำขนาดเล็กอื่นๆเท่าที่จะหาได้เป็นอาหารอีกด้วย

โดย: เจ้าบ้าน [18 เม.ย. 51 14:22] ( IP A:58.9.142.29 X: )
ความคิดเห็นที่ 6
   ปลาดุกไฟฟ้ายักษ์นั้น ยังเป็นปลาใหม่สำหรับวงการปลาบ้านเราครับ ถึงแม้จะมีหลายๆคนหลายๆร้านเริ่มรู้จักปลาชนิดนี้แล้วจากเวปไซด์ไทยบ้างแล้วก็ตาม ก็ยังมีร้านค้าและนักเลี้ยงปลาแปลกๆอีกมากมายที่ไม่รู้จักมัน หรือยังไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างปลาดุกไฟฟ้าธรรมดา (Malapterurus electricus) ซึ่งมีขายในไทยมานานมากๆแล้ว กับ ปลาดุกไฟฟ้ายักษ์ (Malapterurus microstoma) ได้ครับ ผมจึงถือโอกาสเอาไว้ ณ.ตรงนี้เลยละกัน ข้อแตกต่างประการแรกของปลาทั้งสองชนิดนั้น คือเรื่องขนาดและการเจริญเติบโต ปลาดุกไฟฟ้าธรรมดานั้น สามารถโตได้เต็มที่ในธรรมชาติถึง 1 เมตรเลยนะครับ เรียกได้ว่าตัวใหญ่ที่สุดแล้วในบรรดาปลาดุกไฟฟ้าทุกชนิด แต่ทว่า มันไม่สามารถโตได้ในที่เลี้ยงครับ หรือเรียกได้ว่าโตช้ามากๆจนผมแทบจะไม่เคยเห็นปลาชนิดดังกล่าวโตได้เกินฟุตเลยครับ ยิ่งตัวใหญ่ๆที่อ้างว่าเป็นเมตรนั้น ก็ยังหารูปไม่เจอเลยแม้กระทั่งในอินเตอร์เนตมายืนยัน จึงไม่แน่ใจเหมือนกันว่า มันจะโตได้ขนาดนั้นจริงหรือเปล่า ส่วนปลาดุกไฟฟ้ายักษ์นั้น จะเจริญเติบโตได้รวดเร็วมากๆ แม้กระทั่งในที่เลี้ยงก็ตาม ไปจนถึงขนาด 50-60 เซนติเมตรเลยนะครับ โตกันเห็นๆ เรียกได้ว่าใหญ่มากๆแล้วล่ะครับ คนจึงนิยมเรียกปลาตัวนี้ว่า ปลาดุกไฟฟ้ายักษ์ ก็เพราะคุณสมบัติข้อนี้นั่นเอง

***ในรูปคือ ปลาดุกไฟฟ้าธรรมดา***

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [18 เม.ย. 51 14:23] ( IP A:58.9.142.29 X: )
ความคิดเห็นที่ 7
   นั่นเอง ข้อแตกต่างอื่นๆ ก็คือ รูปร่างลักษณะนั่นเองครับ ส่วนหัวของปลาดุกไฟฟ้าธรรมดา จะสั้นกลม จงอยปากสั้นทู่ ส่วนปลาดุกไฟฟ้ายักษ์ ส่วนหัวจะลาดยาวเรียวแหลมกว่าชัดเจน จงอยปากยาว ช่องเปิดของปากมีขนาดเล็กครับ ส่วนลำตัวนั้น ปลาดุกไฟฟ้าธรรมดาจะมีลำตัวสีน้ำตาลอมชมพู ส่วนปลาดุกไฟฟ้ายักษ์จะมีสีเทาครับ ส่วนหางของปลาดุกไฟฟ้าธรรมดาจะมีลายสีขาวเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวอยู่กลางครีบหางดังรูป ตลอดจนมีแถบสีดำสลับขวาพาดอยู่บริเวณคอดหางอีกด้วยชัดเจนครับ แต่ของปลาดุกไฟฟ้ายักษ์จะมีแถบลักษณะดังกล่าวเหมือนกันครับ แต่จะสีจางมาก แทบจะกลืนไปกับสีเนื้อของตัวปลาเลย บางตัวอาจมองไม่เห็นแถบดังกล่าวด้วยซ้ำครับ ส่วนแถบรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวบนครีบหางก็มองเห็นจางๆเช่นกัน แค่นี้เราก็แยกความแตกต่างของปลาทั้งสองชนิดออกแล้วนะครับ

***ในรูปคือ ปลาดุกไฟฟ้าธรรมดา***

โดย: เจ้าบ้าน [18 เม.ย. 51 14:24] ( IP A:58.9.142.29 X: )
ความคิดเห็นที่ 8
   การเลี้ยงและการดูแลรักษา
ปลาชนิดนี้ จัดเป็นปลาเลี้ยงง่ายชนิดหนึ่งครับ แต่ปัญหาที่มักพบบ่อยๆก็คือ อาการผิดน้ำ หลังจากย้ายที่ปลามาลงใหม่ๆครับ ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ปลาชนิดนี้ชอบน้ำเก่า หรือน้ำหมัก ดังนั้น มันจะเกิดอาการผิดน้ำได้ง่ายมากๆ ถ้าย้ายลงในตู้ที่พึ่งเตรียมน้ำไว้ได้ไม่นาน หรือมีค่าความแตกต่างของคุณภาพน้ำในหลายๆพารามิเตอร์ต่างกับน้ำเดิมที่มันเคยอยู่ มันก็จะแสดงอาการเปื่อย และแผลพุพองบนลำตัวออกมาให้เห็นครับ อาการแบบนี้ แก้ไขโดย พยายามใช้น้ำเก่าจากตู้ปลาตู้อื่นมาเปลี่ยนถ่ายสัก 50 เปอร์เซนต์ ตลอดจนใช้น้ำยาแบลควอเตอร์ช่วยได้ครับ ใส่ลงไปให้น้ำออกสีชาอ่อนๆ ถ้ามีการติดเชื้อมาก เช่นเปื่อยหรือมีแผลขนาดใหญ่ ก็ให้ใส่ยาปฏิชีวนะลงไปด้วย เช่น เตทตร้าฯ ออกซีฯ ขนาด 20 มิลลิกรัมต่อลิตร แช่ตลอดไปครับ ปัญหาอย่างที่สองที่มักจะเกิด ก็คือ การกินอาหารอย่างตะกละจนกระทั่งท้องอืด อาหารไม่ย่อย และตายในที่สุด ปัญหานี้เราป้องกันได้โดย ควรให้อาหารแต่พอดีครับ ง่ายๆเลย คืออย่าให้มันกินเยอะจนท้องป่องเกินไป และหมั่นสังเกตุสภาพแวดล้อมด้วยครับ เมื่อปลากินเยอะเกินไป แล้วเกิดสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงขึ้นเช่น ร้อนจัด หนาวจัด น้ำเสีย จะทำให้ปลาเครียดส่งผลถึงระบบการย่อยอาหารที่ผิดปกติไป อาหารไม่ย่อย เน่าอืด และปลาตายได้ในที่สุดครับ

โดย: เจ้าบ้าน [18 เม.ย. 51 14:24] ( IP A:58.9.142.29 X: )
ความคิดเห็นที่ 9
   การเลี้ยงปลาชนิดนี้เหมาะสำหรับในตู้กระจกเมื่อปลายังเล็กครับ เนื่องจากเป็นปลาที่อยู่นิ่งๆ ไม่ว่ายน้ำ ชอบหลบ เราจึงสามารถเลี้ยงในตู้ขนาดเล็กได้ พร้อมด้วยระบบกรองง่ายๆ เช่นกรองฟองน้ำ หรือกรองบนตู้ และควรใส่ที่หลบให้ปลาสักนิด เช่นขอนไม้ หรือท่อขนาดใหญ่กว่าตัวให้ปลาเข้าไปแอบได้ครับ เมื่อปลาโตขึ้น และเราก็ควรขยายขนาดตู้ตามไปด้วย เพื่อให้ปลามีขนาดโตขึ้นตาม หรือโตได้เร็วต่อไปไม่ชะงัก โดยหลักการคือ ให้ตู้มีความยาวไม่ต่ำกว่า 3 เท่าของความยาวปลาครับ หรือน้อยกว่าได้เล็กน้อย แต่ไม่ควรต่ำกว่า 2 เท่าครับ ง่ายๆ ไม่ยาก ส่วนอาหารการกินนั้น กินได้หลากหลายมากๆ ไม่ว่าจะเป็นลูกปลาเล็กๆ หนอนแดง ไส้เดือนน้ำ กุ้งฝอยเป็นหรือตาย กุ้งชิ้น เนื้อปลาหั่น หรือกระทั่งอาหารเม็ดจม การให้อาหาร ควรมีขนาดอาหารที่เหมาะสมกับขนาดของปลาด้วยครับ และอย่างที่เคยบอกไปแล้ว ว่า ปลาชนิดนี้ไม่ควรเลี้ยงรวมกับปลาอื่นใดๆทั้งสิ้นแม้กระทั่งปลาชนิดเดียวกัน แต่ถ้าเรามีตู้ยาวๆ เราก็สามารถใช้แผ่นกั้นเป็นช่องๆโดยที่น้ำผ่านถึงกันได้ แล้วเอาปลาชนิดนี้ใส่ไว้ช่องละตัวได้ครับ มันจะไม่ช๊อตกันเองหรือกัดกันตาย แต่การที่เอาปลาอื่นลงไว้ในช่องใกล้ๆ ถือว่า ยังมีความเสี่ยงอยู่เช่นเดียวกันครับ ปลาชนิดนี้ ไม่กระโดดครับ จึงอาจไม่จำเป็นต้องมีฝาปิดกันการกระโดดแต่อย่างใด แต่กันแมว กัน นก นี่ก็อีกเรื่องครับ การเปลี่ยนถ่ายน้ำนั้น ไม่ควรเปลี่ยนครั้งละมากๆครับ ควรเปลี่ยนด้วยการดูดตะกอน และขี้ปลาเศษอาหารปลาด้วยสายยาง ครั้งละประมาณ 20-30 เปอร์เซนต์ก็พอครับ ทุกๆ อาทิตย์ แต่ควรทำความสะอาดกรองบ่อยๆเป็นการทดแทนเรื่องความสะอาดครับ และไม่ควรให้อาหารเหลือตกค้างด้วยนะครับ

โดย: เจ้าบ้าน [18 เม.ย. 51 14:25] ( IP A:58.9.142.29 X: )
ความคิดเห็นที่ 10
   นอกจากนั้น ยังมีหลายคนอาจกังวลว่า ถ้าปลาตัวนี้มันปล่อยกระแสไฟฟ้ารุนแรงขนาดนี้ได้แล้วนั้น เราจะจับมันได้อย่างไร ถ้าเกิดต้องการย้ายที่มัน ผมมีวิธีง่ายๆในการจับปลาชนิดนี้ครับ คือ ใช้กระชอนด้ามยาวธรรมดานี่แหละครับ จับมัน โดยที่มือเราต้องใส่ถุงมือยาง และสวมรองเท้ายาง และที่สำคัญ ตัวเราต้องไม่เปียกน้ำนะครับ แค่นี้ เราก็สามารถจับปลาดุกไฟฟ้า ตลอดจนปลาที่สามารถสร้างกระแสไฟฟ้ารุนแรง ชนิดอื่นๆได้ เช่นปลาไหลไฟฟ้า โดยที่ไม่โดนมันช๊อตตาเหลือกแล้วล่ะครับ
มาถึงท้ายบทความแล้วครับ ถ้าผิดพลาดประการใดก็ขออภัยไว้ ณ. ที่นี้ด้วยครับ

***บทความลงตีพิมพ์ในหนังสือ อควาบิท เล่มที่จะออกมั้งครับ***

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [18 เม.ย. 51 14:27] ( IP A:58.9.142.29 X: )
ความคิดเห็นที่ 11
   ขอบคุณสําหรับข้อมูลคับ
โดย: kakapu [18 เม.ย. 51 16:53] ( IP A:58.8.104.30 X: )
ความคิดเห็นที่ 12
   น่ารักดีครับท่านเจ้าบ้าน


ว่าแต่มีรูปตอนโตไหมครับ?


อยากเห็นว่าตอนโตมันหน้าตาเป็นยังไง? อิอิ
โดย: scrolllock [18 เม.ย. 51 21:33] ( IP A:124.121.162.202 X: )
ความคิดเห็นที่ 13
   ขอบคุณข้อมูลครับพี่ต้น

โดย: Devilboyz [18 เม.ย. 51 22:23] ( IP A:58.9.8.65 X: )
ความคิดเห็นที่ 14
   นึกว่าจะกินหัวอาหารเหมือน บิ๊กอุย
โดย: cocho_012 [21 เม.ย. 51 21:31] ( IP A:117.47.76.231 X: )
ความคิดเห็นที่ 15
   ผมเลี้ยงปลาดุกไฟฟ้าธรรมดา 3 ปีแล้ว...

ยังไม่ถึง 10 นิ้วเลยครับ...แต่น่ารักนะ....เรียกมันว่า ไอ้พยูน...อิอิ
โดย: genus [23 เม.ย. 51 9:31] ( IP A:203.151.40.13 X: )
ความคิดเห็นที่ 16
   ขอบคุณมากครับ
โดย: ฟ่อน [23 ส.ค. 51 19:42] ( IP A:222.123.169.91 X: )

คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน