อโรวาน่าจอมดูดแห่งกาฬทวีป (ไม่ประกวด)
   อโรวาน่าอาฟริกา นั่นเองก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับชื่อของมัน และ ลำดับทางอนุกรมวิธานของมันก่อนนะครับตามระเบียบ สิ่งเหล่านี้จะตอบเราได้ครับว่า มันคือปลาอะไร พวกเดียวกะอะไร ใกล้เคียงกับอะไร เป็นญาติกะใครยังไงบ้าง อย่ามองข้ามเรื่องพวกนี้ไปนะครับ สำหรับคนที่อยากจะก้าวเข้ามาในโลกของปลาที่ลึกซึ้งอีกก้าว ถ้าเข้าใจแล้ว จะไม่เกิดคำถามที่ว่า ปลาอราไพม่า เป็นพวกเดียวกะปลาช่อนบ้านเราหรือเปล่า เป็นต้นครับ ยิ่งไอ้ตัวนี้ คล้ายปลาช่อนมากซะด้วยสิครับ เรามาดูกันเลยครับ
Domain: Eukaryota Whittaker & Margulis,1978 - eukaryotes
Kingdom: Animalia Linnaeus, 1758 - animals
Subkingdom: Bilateria (Hatschek, 1888) Cavalier-Smith, 1983
Branch: Deuterostomia Grobben, 1908
Infrakingdom: Chordonia (Haeckel, 1874) Cavalier-Smith, 1998
Phylum: Chordata Bateson, 1885 - Chordates
Subphylum: Vertebrata Cuvier, 1812 - Vertebrates
Infraphylum: Gnathostomata Auct. - Jawed Vertebrates
Superclass: Osteichthyes Huxley, 1880 - Bony Fishes
Class: Actinopterygii Ray-Finned Fishes
Order: Osteoglossiformes
Family: Arapaimidae Bonytongues
Genus: Heterotis (Cuvier, 1829)
Specific name: niloticus - (Cuvier, 1829)
Scientific name: - Heterotis niloticus (Cuvier, 1829)
เห็นอย่างนี้แล้ว อย่ามึนนะครับ ถ้าเข้าใจหรือช่างสังเกตุสักนิด ก็จะเห็นว่า มันถูกจัดอยู่ในครอบครัวเดียวกับ ปลาอราไพม่า (Family: Arapaimidae) นั่นเอง ซึ่งปลาในครอบครัวนี้ มีเพียงสองชนิดเท่านั้นครับที่ยังไม่สูญพันธุ์ ซึ่งก็คือ อราไพม่า (Arapaima gigas) และก็เจ้าอโรวาน่าอาฟริกาชนิดนี้เท่านั้นครับ ดังนั้น เห็นหน้ามันแล้ว อย่าคิดว่ามันคือปลาช่อนครับ แต่มันคือปลาโบราณกลุ่มหนึ่งในอันดับ ออสทีโอกลอสสิฟอร์เมส (Order: Osteoglossiformes) ซึ่งเรียกว่า กลุ่มปลาลิ้นแข็ง ซึ่งมีสมาชิกในกลุ่มนี้ เป็นพวก อโรวาน่าชนิดต่างๆ ปลาผีเสื้ออาฟริกา (Pantodon buchholzi) ตลอดจนกลุ่มปลากรายชนิดต่างๆด้วยเช่นกันครับ ดังนั้น การเข้าใจเรื่องอนุกรมวิธานแม้เพียงเล็กน้อย ทำให้เราสามารถต่อยอดความรู้ของเราได้อีกมากมายครับ ดูบ่อยๆแล้วจะชินครับ ต่อมาเรามาดูรายละเอียดของชื่อปลาตัวนี้กันครับ
ชื่อไทย : อโรวาน่าอาฟริกา
ชื่อสามัญ : African arowana, African bonytongue
ชื่อวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง : Heterotis niloticus (Cuvier, 1829) อ่านว่า เฮท-เทอ-โร-ทิส ไน-โล-ติ-คุส(คัส)
ชื่อพ้อง : Clupisudis niloticus (Cuvier, 1829) (synonym)
Heterotis adansoni Valenciennes, 1847 (synonym)
Heterotis adansonii (Cuvier, 1829) (synonym)
Heterotis ehrenbergii Valenciennes, 1847 (synonym)
Heterotis nilotica (Cuvier, 1829) (synonym)
Sudis adansonii Cuvier, 1829 (synonym)
Sudis nilotica Cuvier, 1829 (synonym)
Sudis niloticus Cuvier, 1829 (synonym)
Sudis niloticus R?ppell, 1829 (ambiguous synonym)

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [23 ส.ค. 52 19:35] ( IP A:58.9.140.233 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
ความคิดเห็นที่ 1
   ปลาชนิดนี้ ถึงแม้ว่า จะถูกเรียกติดปากว่า อโรวาน่าอาฟริกา แต่แท้จริงแล้ว มันมีความสัมพันธ์ที่ห่างจากปลากลุ่มอโรวาน่า (Family: Osteoglossidae) สักเล็กน้อยครับ อย่างที่บอกไปข้างต้นครับว่า มันมีความสัมพันธ์ใกล้เคียงกับปลาอราไพม่า มากกว่า แต่ไม่มีใครที่ไหนเรียกมันว่า อราไพม่าอาฟริกา เท่านั้นเองครับ อโรวาน่าอาฟริกา ถึงแม้ว่าจะไม่มีสีสันสวยงามเหมือนญาติๆในกลุ่มนี้ของมัน เรียกได้ว่าขี้เหร่ที่สุดก็ว่าได้ครับ แต่มันก็เป็นที่นิยมเลี้ยงในหมู่นักเลี้ยงปลาที่หลงไหลในปลาโบราณ ตลอดจนปลาแปลกๆต่างๆจากทั่วทุกมุมโลก ดังนั้น คุณค่าของมันจึงไม่ได้อยู่ที่ความสวยครับ คนจะเห็นคุณค่าของปลาที่ไม่สวยชนิดต่างๆได้ก็ต่อเมื่อเขามองทะลุเปลือกนอกเข้าไปเห็นสิ่งที่น่าสนใจ และเสน่ห์ ในตัวปลาแต่ละชนิดเท่านั้นครับ การที่จะมองทะลุได้ก่อนอื่นเลยคือ เราต้องมีความรู้ครับ ดังนั้น เรามาดูต่อกันครับว่า ปลาชนิดนี้น่าสนใจเช่นไร
แต่ก่อนสมัยที่ผมเริ่มสนใจและเลี้ยงอโรวาน่าใหม่ๆ เมื่อประมาณ 10 กว่าปีก่อน หลายท่านรุ่นเก่าๆคงยังจำหนังสือเรื่องอโรวาน่าเล่มเดียวในขณะนั้นได้นะครับ ปกแข็ง หน้าปกเป็นรูปอโรวาน่าแดงทะลุกระดาษออกมา หนังสือเล่มนั้นแหละครับ เป็นเล่มแรกที่ทำให้ผมได้รู้จักกับปลาอโรวาน่าอาฟริกาชนิดนี้ ตอนนั้น ข้อมูลต่างๆมีน้อยมากๆครับ คาดว่าคงไม่มีใครเคยเลี้ยงและสัมผัสจริงๆในขณะนั้น จำได้แต่เพียงว่า ในหนังสือระบุว่าเป็นปลาอโรวาน่าชนิดเดียวจากอาฟริการที่หายากมากๆใกล้สูญพันธุ์ เด็กๆตาดำๆอย่างเราๆ ได้แต่มองรูปในหนังสือครับ อินเตอร์เนตก็ยังไม่รู้จัก และใฝ่ฝันอยากจะครอบครอบอโรวาน่าแสนหายากและโบราณตัวนี้เสียยิ่งกว่าอโรวาน่าทองมาเลย์เสียอีกในขณะนั้น เพราะเชื่อว่า มันเป็นปลาหายากและใกล้สูญพันธุ์จริงๆ แต่มาในตอนนี้ ทุกอย่างเปลี่ยนไปเกือบหมดแล้วครับ เรามาดูกันต่อไปครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [23 ส.ค. 52 19:40] ( IP A:58.9.140.233 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
   ถิ่นกำเนิดการแพร่กระจายและแหล่งที่อยู่อาศัย
อโรวาน่าอาฟริกา ได้ยินแล้วก็ทราบทันทีครับว่า มีถิ่นกำเนิดในทวีปอาฟริกา เช่นแถบประเทศอียิปต์ เซเนกัล ซาอีร์ ชาร์ด พอมาดูชื่อสปีชีส์ niloticus ก็คงเดาได้ไม่ยากนะครับว่ามีถิ่นกำเนิดจากในแม่น้ำไนล์ โดยเฉพาะแม่น้ำไนล์ตอนบน ในเขตพื้นที่ที่เรียกว่า Sahelo-Sudaneseนอกจากนั้นยังพบในแม่น้ำคองโก แม่น้ำเซเนกัล ไนเจอร์ แกมเบีย ชาร์ด โวลต้า โครูบอล และ ทะลสาป Turkana ด้วยเช่นกันครับ โดยเป็นปลาที่พบกระจายโดยทั่วไปในแหล่งน้ำดังกล่าว ตลอดจนถูกนำมาเลี้ยงเพื่อการบริโภคแพร่กระจายอยู่โดยทั่วไปในหลายๆพื้นที่นอกจากถิ่นกำเนิดที่กล่าวมาอีกด้วยครับ แม้กระทั่งในเกาะมาดากัสการ์ก็มีการนำเข้าไปเลี้ยงครับ และหลายๆประเทศต่างก็พบปัญหาทางนิเวศน์วิทยาหลังจากถูกปลาชนิดนี้บุกรุกแหล่งน้ำธรรมชาติแล้วด้วยเช่นกัน ดังนั้น จะเลี้ยงปลาอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นปลาต่างถิ่นหรือปลาไทย ก็ไม่ควรปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติโดยที่ไม่ได้มีการศึกษาข้อมูลผลกระทบอย่างชัดเจนโดยเด็ดขาดนะครับ
ลูกปลาวัยอ่อนจะพบอาศัยอยู่ตามบึงที่มีพืชน้ำขึ้นรกๆ เมื่อโตขึ้นจะค่อยๆย้ายไปอาศัยในแหล่งน้ำเปิดขนาดใหญ่ เช่นแม่น้ำต่างๆหรือทะเลสาปครับ อุณหภูมิน้ำ 25-30 องศาเซลเซียส

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [23 ส.ค. 52 19:44] ( IP A:58.9.140.233 X: )
ความคิดเห็นที่ 3
   รูปร่างลักษณะ นิสัย และอาหาร
อโรวาน่าอาฟริกา มีขนาดโตเต็มที่ได้ประมาณ 1 เมตรครับ เท่าที่มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานพบว่า ปลาที่ใหญ่ที่สุดจับได้ที่ทะเลสาป Kainji มีขนาด 1 เมตร หนักประมาณ 10 กิโลกรัม อโรวาน่าอาฟริกามีลักษณะลำตัวและครีบโดยรวมที่คล้ายกับอราไพม่าครับ คือมีลำตัวกลมหนา แต่ส่วนท้องแบนเป็นสันคล้ายอโรวาน่ามากกว่า ครีบหลังและครีบก้นเป็นก้านครีบอ่อนไม่พบก้านครีบแข็ง (spine) ตำแหน่งครีบหลังและครีบก้นวางอยู่ค่อนไปทางหางในต่ำแหน่งใกล้ๆกันบนล่าง และมีรูปร่างคล้ายกัน อันนี้เป็นลักษณะร่วมที่ชัดเจนของปลาในกลุ่มอราไพม่าและอโรวาน่าครับ ลองสังเกตุดูครับ ว่ามันคือจุดบ่งบอกที่ชัดเจนว่ามันต่างจากครีบของปลาช่อนมากขนาดไหนครับ ครีบอก เป็นแผ่นรีๆ วางตำแหน่งในแนวระนาบครับ เหมือนๆกับอโรวาน่าและอราไพม่าอีกเช่นกัน ไม่ได้ติดอยู่ข้างกระพุ้งแก้มและวางตำแหน่งในแนวตั้งเหมือนปลาช่อนทั่วไป ส่วนครีบท้องอยู่กลางลำตัว ครีบหางกลมๆรีๆนิดหน่อย ส่วนหัวสั้นหน้า มีอวัยวะรับความรู้สึกเป็นรูเรียงกันเป็นแนวอยู่บนหัวครับ อย่าคิดว่ามันป่วยเป็นโรคหัวเป็นรูนะครับ ริมผีปากมีลักษณะงุ้มลงด้านล่างเล็กน้อย ปากอ้าได้ค่อนข้างกว้าง ยืดหดได้ มีฟันเรียงบนขากรรไกรเต็มปาก ไม่มีหนวด ลำตัวทั่วไปมีสีน้ำตาลอมเทา ส่วนท้องมีสีอ่อนกว่าส่วนหลัง เกล็ดมีขนาดใหญ่คล้ายอโรวาน่าครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [23 ส.ค. 52 19:48] ( IP A:58.9.140.233 X: )
ความคิดเห็นที่ 4
   ปลาอโรวาน่าอาฟริกามีความสามารถในการฮุบอากาศและแลกเปลี่ยนก๊าซด้วยถุงลมครับ นอกเหนือจากการใช้เหงือกในการแลกเปลี่ยนก๊าซจากน้ำแล้ว มันยังสามารถแลกเปลี่ยนก๊าซจากอากาศได้โดยตรงอีกด้วย ซึ่งลักษณะพิเศษอันนี้ยังพบในปลาอราไพม่า ญาติของมันอีกด้วยเช่นกัน โดยจะมีถุงลมขนาดใหญ่และมีเส้นเลือดฝอยมาหล่อเลี้ยงมากมายทำให้แลกเปลี่ยนก๊าซจากอากาศได้โดยตรงคล้ายๆปอดครับแต่ทำงานได้ไม่ดีเท่าปอดของสัตว์ชั้นสูง ความสามารถพิเศษนี้ทำให้มันมีชีวิตรอดได้ในน้ำที่มีออกซิเจนค่อนข้างต่ำได้ โดยเฉพาะลูกปลาที่อาศัยอยู่ตามบึงหรือพื้นที่ชุ่มน้ำรกๆต่างๆ โดยจะมีพฤติกรรมการขึ้นหายใจพร้อมๆกันทั้งฝูง คล้ายๆปลาช่อนบ้านเรานั่นเองครับ
ปลาอโรวาน่าอาฟริกานั้น เป็นอโรวาน่าเพียงชนิดเดียว ที่เป็นปลากินแพลงก์ตอน (planktivorous) หรืออาจเรียกว่าเป็นปลาซึ่งกินซากเน่าเปื่อย (detritivore) ซึ่งมีพฤติกรรมการกินอาหารแบบที่เรียกว่า filter feeder ครับ ไม่เป็นนักล่า (predator) เหมือนกับญาติๆของมัน ซึ่งก็หมายความว่า มันกินอาหารโดยการกรองกินอนุภาคขนาดเล็กใดๆก็ตามที่ผ่านเข้าไปในปากของมัน โดยจะมีอวัยวะพิเศษซึ่งมีโครงสร้างเป็นเกลียวพัฒนามาจากกระดูกซี่เหงือก อยู่เหนือเหงือกทั้งสองข้างของหัว โดยอาหารที่มีอนุภาคขนาดเล็กซึ่งผ่านเข้ามาทางปากจะผ่านเข้าไปในอวัยวะดังกล่าวแล้วผสมกับเมือกที่อยู่ภายใน อาหารขนาดเล็กที่ถูกผสมรวมกันกับเมือกดังกล่าวแล้วจะจับเป็นก้อนใหญ่ขึ้น แล้วจึงจะถูกกลืนผ่านเข้าไปสู่หลอดอาหารลงกระเพาะอาหารเพื่อทำการย่อยต่อไปครับ ความสามารถพิเศษอันนี้ จึงสามารถทำให้อโรวาน่าอาฟริกา สามารถกินอาหารที่มีอนุภาคขนาดเล็กได้ครับ นอกจากนั้น ยังมีกระเพาะอาหารส่วนพิเศษที่มีผนังหนาคล้ายๆกับ กึ๋น (gizzard) ของพวกสัตว์ปีก ซึ่งจะพบเม็ดทรายอยู่ภายในทำหน้าที่ช่วยในการบดอาหารอีกด้วยครับส่วนอาหารของปลาอโรวาน่าอาฟริกานั้น มีตั้งแต่ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กต่างๆมากมาย นอกจากนี้ยังกินพวกแพลงก์ตอนพืชต่างๆ ตลอดจนซากพืชซากสัตว์สารอินทรีย์ที่ถูกย่อยลสายลงเป็นอนุภาคเล็กๆได้ด้วยเช่นกันครับ เนื่องจากพฤติกรรมการกินอาหารแบบกรองของปลาชนิดนี้ จึงทำให้อโรวาน่าอาฟริกาจึงต้องหาอาหารกินตลอดเวลาเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เราจึงเห็นปลาชนิด อ้าปากตอดตามพื้น กรวดทราย หรือตามวัสดุจมน้ำต่างๆแทบจะตลอดเวลา รวมทั้งอ้าปากกรองอาหารที่อยู่ในมวลน้ำ ตลอดจนแม้กระทั่งบนผิวน้ำด้วยเช่นกันครับ เพื่อกินอาหารอนุภาคเล็กๆได้อย่างเพียงพอในแต่ละวันครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [23 ส.ค. 52 19:50] ( IP A:58.9.140.233 X: )
ความคิดเห็นที่ 5
   การผสมพันธุ์วางไข่
ปลาอโรวาน่าอาฟริกาตัวโตเต็มวัยขนาดประมาณ 2 ฟุตขึ้นไป อายุประมาณ 2 ปี จะเริ่มทำการผสมพันธุ์วางไข่ในช่วงต้นฤดูฝน ในทะเลสาปที่ติดต่อกับแม่น้ำที่ปลาอาศัยอยู่ ปลาจะสร้างรังในน้ำลึกประมาณ 60 เซนติเมตร เป็นรูปวงกลมด้วยเศษวัชพืชต่างๆเส้นผ่านศูนย์กลางของรังโดยประมาณก็ 4 ฟุตครับ ตัวเมียจะวางไข่ลงไปแล้วตัวผู้จะฉีดน้ำเชื้อผสมตามลงไป ไข่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5 มิลลิเมตร เป็นไข่ขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับกลุ่มอโรวาน่า แต่ก็ใกล้เคียงกับอราไพม่าครับ จำนวนไข่แต่ละครั้งไม่ต่ำกว่าพันฟอง ตัวผู้จะดูแลไข่และลูก โดยไข่จะใช้เวลาฟักเป็นตัวประมาณ 2 วัน หลังจากนั้น ประมาณ 5-7 วันหลังจากลูกปลาฟักออกจากไข่จะใช้ไข่แดงจนหมด และจะเริ่มหาอาหารกินครับโดยจะหากินร่วมกันเป็นฝูงใหญ่ หลังจากนั้นประมาณ 25-30 วันนับจากวันฟัก ลูกปลาจึงค่อยแยกออกจากฝูงไปหากินเป็นอิสระ ฝูงลูกปลาขนาดเล็กจะถูกปกป้องดูแลจากปลาตัวผู้ครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [23 ส.ค. 52 19:51] ( IP A:58.9.140.233 X: )
ความคิดเห็นที่ 6
   การเลี้ยงและดูและรักษา
อันดับแรกเลยครับ ที่สำคัญที่สุด ก็ควรทำความเข้าใจถึงเรื่องการกินอาหารของปลาชนิดนี้ก่อน อย่างที่อธิบายไปแล้วนะครับว่ามันกินอาหารเช่นไร อย่างไร อโรวาน่าอาฟริกาเป็นปลาโบราณเขตร้อนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใครในการกินอาหาร โดยจะกินได้เฉพาะอาหารที่มีอนุภาคขนาดเล็กเท่านั้นครับ ทำให้มันต้องหาอาหารกินตลอดเวลาและกินอาหารถี่กว่ามากเมื่อเทียบกับปลาขนาดใหญ่หรือปลาล่าเหยื่อชนิดอื่นๆ เพราะปลาล่าเหยื่อขนาดใหญ่ชนิดอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น อโรวาน่า จะกินอาหารเป็นมื้อๆ พออิ่มแล้วก็จะหยุดกินจนกว่าจะย่อยหมดและมีอาการหิวอีก จึงค่อยล่าเหยื่อใหม่ครับ ดังนั้น แนวทางการเลี้ยงในเรื่องการให้อาหารจึงแตกต่างจากอโรวาน่า หรือ อราไพม่าโดยสิ้นเชิง ในธรรมชาติ อโรวาน่าอาฟริการจะเก็บกินอาหารขนาดเล็กตามวัตถุจมน้ำต่างๆทั่วไป หรือกลืนกินอาหารที่ล่องลอยอยู่ตามมวลน้ำ โดยจะอ้าปากและหุบปากเพื่อกลืนมวลน้ำอยู่แทบจะตลอดเวลาที่ว่ายน้ำไปตามที่ต่างๆ แต่เมื่อมันกลืนอาหารที่มีชิ้นใหญ่เกินไป จนไม่สามารถเข้าไปผสมกับเมือกในอวัยวะพิเศษรูปเกลียวดังกล่าวได้ มันก็จะคายทิ้ง หรือไม่ก็ปล่อยออกมาทางช่องเปิดเหงือกข้างหัว ถึงแม้ว่าอาหารดังกล่าวมันควรจะย่อยได้ก็ตามครับ การกระทำเช่นนี้ เป็นพฤติกรรมที่ติดตัวมาโดยสัญชาติญาณ ดังนั้น การให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องชนิดและขนาดของอาหารในการเลี้ยงปลาอโรวาน่าอาฟริกาในแต่ละวัย แต่ละขนาดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่เราต้องใส่ใจ เมื่อเรานำปลาดังกล่าวมาเลี้ยงในสถานที่เลี้ยง อาหารที่เข้าข่ายดังกล่าว ก็จะเป็นพวกแพลงก์ตอนสัตว์ต่างๆเช่น ไรแดง ไรทะเลหรืออาร์ทีเมีย ไส้เดือนน้ำ(Tubifex tubifex) หนอนแดง ลูกน้ำ ตัวอ่อนกุ้งระยะ Mysis หรือสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กต่างๆครับ ไม่ใช่ให้กินลูกปลาเหยื่อ กุ้งฝอยตัวโต เหมือนกับการเลี้ยงอโรวาน่าชนิดอื่นๆทั่วไปดังที่คนส่วนใหญ่คิดกันเมื่อได้ยินชื่อของมันครับ สำหรับปลาที่มีขนาดเล็ก ตั้งแต่ 1 นิ้วขึ้นไป การเลี้ยงให้รอดนั้น มีเทคนิคโดยการเลียนแบบธรรมชาติของมันครับคือ ควรจะต้องเลี้ยงเป็นฝูงใหญ่ ยิ่งมากเท่าไร ปลาจะยิ่งกินอาหารเก่งและเจริญเติบโตได้ดี ส่วนการนำไปเลี้ยงเดี่ยวนั้น โอกาสรอดก็จะลดต่ำลงไปด้วย อาหารของปลาขนาดนี้คือ ไรแดง ไรทะเล และไส้เดือนน้ำตีให้ฟุ้ง หลายๆอย่างผสมกัน จะทำให้ปลารอดได้มากขึ้นครับ อาหารต้องมีให้ปลาได้กรองกินตลอดเวลา เพราะปลาเล็กมีความต้องการอาหารสูงมากครับ และยังมีนิสัยเก็บกินโน่นกินนี่ตลอดเวลาแม้จะเลยเวลาให้อาหารมาแล้วก็ตาม ดังนั้น ควรต้องมีอาหารเหลือไว้ในตู้ตลอดครับ ดังนั้น การเลือกชนิดอาหาร และการจัดการกับอาหารสดและคุณภาพน้ำเป็นสิ่งสำคัญ เช่น ถ้าคุณให้หนอนแดงแช่แข็ง การเหลือทิ้งไว้ย่อมทำให้น้ำเสีย อาจแก้โดย ให้ถี่ๆบ่อยๆ หรือถ้าคุณให้ไรทะเล หรือไรแดงซึ่งมีลักษณะฟุ้งกระจายทั่วมวลน้ำ ก็ควรให้แต่พอดีและควรปิดระบบกรองก่อน จนแน่ใจว่าปลากินอิ่ม แล้วค่อยเปิดระบบกรองดูดส่วนที่เหลือเพียงเล็กน้อยเข้าไป หรือถ้าคุณให้ไส้เดือนน้ำ มันก็จะกองอยู่บนพื้นโดยมีชีวิตอยู่ได้นาน แถมยังกำจัดขี้ปลาก้นตู้ได้อีก แต่มีข้อเสียคือ คุณต้องเสียเวลามาทำให้มันฟุ้งอยู่ตลอด ถ้าคิดว่าปลายังกินไม่อิ่ม เป็นต้นครับ ปริมาณอาหาร ตลอดจนชนิด วิธีให้และวิธีจัดการ ล้วนแล้วแต่ไม่ตายตัว เราต้องเป็นผู้ทดลองและหาความเหมาะสมด้วยตนเองครับ ถ้าปลาอดปลาจะอ่อนแอ ผมท้องลีบลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นปลาที่แอคทีฟและมีเมตาบอลิซึ่มสูงมาก และอาจจะกินอะไรไม่ได้จนตายไปในที่สุดครับ เมื่อปลาโตขึ้นปลาจะแข็งแรง และยอมกินอาหารได้มากและง่ายขึ้น สามารถค่อยๆฝึกให้กินอาหารเม็ดจมได้ เช่น ฮิคาริปลาทองซองสีดำ ฮิคาริคานิวอร์ หรือ เตทตร้าบิท หรือถ้าตัวใหญ่ๆมากๆ ก็สามารถกินอาหารสุนัข ลูกปลากัด ปลาหางนกยูงและปลาเล็กๆ ได้อีกด้วยครับ ปลาใหญ่จะมีความต้องการอาหารน้อยกว่าปลาเล็กมาก จึงไม่จำเป็นต้องมีอาหารเหลือตลอด สามารถให้ปลากินเป็นมื้อๆได้ครับ ดังนั้น การที่เราจะเลี้ยงปลาชนิดนี้รอด จนเจริญเติบโตเป็นปลาขนาดใหญ่ได้นั้น เป็นเรื่องที่ท้าทายครับ โดยเฉพาะการเลี้ยงเดี่ยวตั้งแต่เล็กจนโตในตู้ ถ้าท่านทำได้ จะเป็นเครื่องยีนยันถึงระดับเลเวลของการเลี้ยงปลาของท่านได้เป็นอย่างดี รับรองว่า ไม่ง่ายเหมือนอโรวาน่าชนิดอื่นๆที่ท่านเคยรู้จักโดยสิ้นเชิงครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [23 ส.ค. 52 19:54] ( IP A:58.9.140.233 X: )
ความคิดเห็นที่ 7
   ขนาดของตู้ปลาหรือสถานที่เลี้ยงปลาชนิดนี้ ควรมีขนาดใหญ่ที่เหมาะสมกับตัวปลาครับ ที่เลี้ยงที่ขนาดใหญ่เกินไป จะทำให้ปลาหาอาหารกินได้ยากมาก โอกาสเจออาหารน้อยลง เพราะมวลน้ำมีมาก อาหารที่ใส่ลงไปก็ต้องมากตามไปด้วย สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ ส่วน ที่เลี้ยงที่แคบเกินไป จะทำให้ปลาซึ่งมีนิสัยว่ายน้ำหากินตลอดเวลา ตกใจง่าย และมีความตื่นตัวสูง เกิดความอึดอัดและเครียดได้ง่ายเช่นกันครับ ดังนั้น ความกว้างของตู้หรือบ่อเลี้ยง ต้องเท่ากับหรือมากกว่าความยาวของตัวปลาครับ ส่วนความยาว ต้องไม่ต่ำกว่า 3 เท่าของความยาวปลาเป็นอย่างน้อย ระดับความสูงของน้ำ ก็ประมาณเท่ากับ ความยาวของตัวปลาครับ แต่ระวังเรื่องคานตู้ด้วยครับ ปลาอาจจะกระโดดชนได้ หรือ เกิดการสะบัดตัวเวลาขึ้นหายใจเหนือน้ำได้เช่นกัน ดังนั้น คานควรอยู่สูงกว่าระดับน้ำมากหน่อย หรือมีวัสดุป้องกัน เช่นฟองน้ำหุ้ม เป็นต้น เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ฝาปิดตู้ จำเป็นอย่างยิ่งครับ ปลาชนิดนี้มีแรงกระโดดและแรงชนมหาศาล แถมกระโดดได้สูงอีก ฝาตู้ต้องมีความมิดชิด แข็งแรง และมีน้ำหนักเพียงพอที่จะต้านแรงชนได้ครับ อันนี้คงต้องลองกะดูเอาเองตามขนาดปลา เอาเกินๆหนักๆไว้เป็นปลอดภัย และ ถ้าปลามีขนาดใหญ่ขึ้น เชื่องขึ้นและชินตู้มากขึ้นแล้ว อาการตื่นตกใจ และอาการชนตู้ หรือการกระโดดจะลดน้อยลงมาจนแทบไม่มีครับ แต่ต้องใช้เวลานาน ส่วนขนาดของตู้ หรือที่เลี้ยง ก็ควรจะขยายขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับขนาดของปลาด้วยเช่นกันครับ อย่างไรก็ตาม สำหรับปลาที่เราเลี้ยงจนขนาดโตเกิน 2 ฟุต การหาตู้ใหญ่ๆที่สุดเท่าที่จะหาได้ หรือการลงบ่อ จะทำให้ปลามีความสุขในการดำรงชีวิตมากตามไปด้วยนะครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [23 ส.ค. 52 19:57] ( IP A:58.9.140.233 X: )
ความคิดเห็นที่ 8
   ถึงแม้ว่า ปลาจะมีอวัยวะช่วยหายใจพิเศษดังที่กล่าวมาแล้ว แต่การนำมาเลี้ยงนั้น ปลาย่อมต้องการคุณภาพน้ำที่ดีที่สุด ระบบกรองจึงเป็นสิ่งสำคัญครับ ระบบกรองมีมากมายหลายแบบครับ จะกรองข้าง กรองมุม กรองเพชร กรองนอก กรองบน กรองถัง กรองใต้ทราย กรองทำเอง ฯลฯ ได้ทั้งนั้น เราสามารถเลือกได้ตามความเหมาะสม เหตุผลในการเลือกรูปแบบกรองมีมากมายครับ เอาที่สะดวกและลงตัวกับสถานที่เลี้ยงและความพร้อมในการดูแลของเราก็พอ ระวัง อันตรายจากการกระโดดลงกรอง และการพุ่งชนด้วยละกันครับ สับสเตรทควรเป็นหินพัมมีส ผสมปะการังเล็กน้อย ส่วนการปูหินกรวดทรายตามพื้นนั้น ก็อยู่ในกรณีเดียวกับกรองใต้ทราย จะปูก็ได้ครับ ถ้าคิดว่าดูแลและแก้ปัญหาที่จะเกิดตามมาจากความหมักหมมหรือโรคปลาได้ดีและทันท่วงที แต่จากการที่ปลามีพฤติกรรมหากินด้วยการกรองเศษอาหารนั้น มองได้สองแง่ครับ ประการแรก การที่มีสับสเตรทตามพื้นมากๆ เมื่อนานๆเข้าก็จะเป็นที่สะสมของสารอินทรีย์ที่ปลาอาจสามารถกินเข้าไปได้ โดยการดูดและกรองสารอินทรีย์จากสับสเตรทดังกล่าว และปลามันก็ชอบที่จะแสดงพฤติกรรมแบบนั้นเวลาหาอาหารกินด้วย ส่วนประการที่สอง ถ้าเรามีการให้อาหารอย่างเหมาะสมตลอดเวลาแล้ว ปลาก็แทบจะได้รับอาหารจากเราโดยตรง ดังนั้นการที่มีทราย หรือหินปูพื้น คอยขัดขวางการกินอาหารแทนที่จะได้รับอาหารโดยตรง แต่ต้องมากรองเอาจากกรวดทรายอีก ก็น่าจะไม่เหมาะสมเท่าไรนัก อันนี้คิดไปคิดมาจากข้อดีและข้อเสียแล้ว ถ้าเลือกได้ผมแนะนำว่า ไม่จำเป็นต้องปูกรวดทรายน่าจะดีกว่าครับ น้ำที่ใช้เลี้ยงก็ควรเป็นน้ำประปาพักปราศจากคลอรีน หรือผ่านเครื่องกรองคาร์บอนเหมือนการเลี้ยงปลาทุกชนิดครับ ไม่ควรมักง่ายใช้น้ำประปาสดไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม การเปลี่ยนถ่ายน้ำควรทำอยู่อย่างสม่ำเสมอเพราะปลาผลิตของเสียออกมาเยอะพอสมควรครับ แต่อีกนัยหนึ่ง การจัดการน้ำก็อยู่ที่คุณภาพน้ำในตู้ ซึ่งขึ้นกับ ระบบกรอง การให้อาหาร แทงก์เมท ฯลฯ ไม่มีอะไรตายตัวครับว่าต้องเปลี่ยนวันไหนแค่ไหน เราต้องสังเกตุและประยุกต์ให้เป็นครับ ถ้ากะคร่าวๆก็ 30-50 เปอร์เซนต์ ทุกๆ 7-10 วันครับ อโรวาน่าอาฟริกา เป็นปลาที่สามารถเปลี่ยนน้ำได้ 100 เปอร์เซนต์ โดยไม่ผิดน้ำ ถ้าน้ำใหม่มีคุณสมบัติใกล้เคียงน้ำเก่าครับ อุณหภูมิน้ำ 25-30 องศาเซลเซียส และ pH 7 ปกติครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [23 ส.ค. 52 19:58] ( IP A:58.9.140.233 X: )
ความคิดเห็นที่ 9
   ปลาอโรวาน่าอาฟริกา ถือว่าเป็นปลาที่ไม่ดุร้ายก้าวร้าวครับ ถึงมีบ้างก็น้อยมาก สามารถเลี้ยงรวมกับปลาอื่นที่ไม่ดุร้ายและมีขนาดใกล้เคียงกับมันได้ ตลอดจน เลี้ยงรวมกันเองในชนิดเดียวกันได้เช่นกัน แต่ก็มีข้อควรคำนึงเล็กน้อยครับ ก็คือ ปลาที่จะเลี้ยงรวมกับมันต้องไม่แย่งอาหารมันกินแบบชนิดที่ว่ามันแย่งกินไม่ทัน เช่นพวกปลาในกลุ่มไซปรินิดส์(ตะเพียน คาร์พ) เป็นต้นครับ ส่วนปลาที่เลี้ยงด้วยกันได้ก็เป็นพวกล่าเหยื่อที่ไม่ดุร้ายนัก เช่น การ์ เสือตอ กระพง แคทฟิชต่างๆ กลุ่มโลมาน้อย ไบเคอร์ และซิคลิดบางชนิด ยิ่งเป็นพวกกินแพลงก์ตอนด้วยกันอย่างเช่น ฉลามปากเป็ด ก็โอเคครับ แต่ต้องเลี้ยงในที่กว้างมากๆเช่นกัน และการเลี้ยงรวมชนิดเดียวกัน ปลาอาจกัดกันได้ครับ ถ้าอาหารไม่พอ และพื้นที่คับแคบเกินไป ถ้าจะเลี้ยงอโรวาน่าอาฟริการวมกันหลายๆตัวอย่างปกติสุข ต้องมีพื้นที่กว้างมากๆครับ เลี้ยงแน่นๆแบบอึดอัดอาจเกิดการกระทบกระทั่งกันได้ตลอดเวลา ส่วนแทงก์เมทที่มีนิสัยชอบอยู่นิ่งๆ หรือมีความอ่อนไหวต่อการถูกรบกวนมากๆก็ไม่ควรเลี้ยงรวมกับอโรวาน่าอาฟริกา ซึ่งมีความตื่นตัวสูง ตื่นตกใจง่ายและจะพุ่งชนและมุดไม่เลือกที่ ดังนั้นจึงอาจก่อความรบกวนให้ปลาพวกนั้นได้ตลอดเวลาครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [23 ส.ค. 52 19:59] ( IP A:58.9.140.233 X: )
ความคิดเห็นที่ 10
   ข้อมูลเพิ่มเติม
อย่างที่เคยบอกไว้แล้วในย่อหน้าบนๆครับว่า แต่ก่อนเชื่อกันว่าปลาอโรวาน่าชนิดนี้เป็นปลาหายากใกล้สูญพันธุ์และประเมินราคามิได้ ไม่มีใครในประเทศไทยที่ได้เป็นเจ้าของกันง่ายๆครับ แต่มาในวันนี้ เราพบความจริงกันหมดแล้วว่า แท้จริงแล้ว ปลาชนิดนี้ไม่ได้เป็นปลาหายากใกล้สูญพันธุ์อย่างที่เคยได้รับรู้กันมาแต่แรก ตรงข้าม กลับเป็นปลาท้องถิ่นที่พบได้ทั่วไปมากมายในแหล่งกำเนิด และแหล่งอื่นๆที่ถูกนำเข้าไปเลี้ยงเป็นปลาเศรษฐกิจครับ เมื่อถูกนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย แรกๆ ราคาอาจจะอยู่ที่เกือบพัน หรือพันกว่าบาท เข้ามาเรื่อยๆนานๆเข้า ตอนนี้ราคาอยู่ที่ไม่กี่ร้อยบาทแล้วครับ แต่ปลาจะไม่พบจำหน่ายทั้งปี จะเข้ามาเป็นช่วงๆ คาดเดายาก แต่จะเข้ามาทีละจำนวนมาก ถ้าหาอยู่เจอที่ไหนก็ไม่ควรรอครับ เพราะบางทีที่เคยพบ อาจไม่มีเข้ามาจำหน่ายติดๆกันหลายปีก็มี สุดท้ายนี้ก็ขอขอบคุณเพื่อนๆทุกท่านที่ติดตามบทความจนจบนะครับ อยากได้ข้อมูลอะไรเพิ่มเติม ศึกษาได้ที่เวป https://www.genepoolaquarium.com เจ้าเก่า สวัสดีครับ

หมายเหตุ
บทความจากหนังสือ The Fish MAX เล่มหนึ่งครับ
รูปจากเนตทั่วไป
รูปสุดท้ายฝีมือคุณ ปู ปลาคุณ Peter ครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [23 ส.ค. 52 20:02] ( IP A:58.9.140.233 X: )
ความคิดเห็นที่ 11
   ดูหน้าตามันนี่เป็นหน้าปลาที่คลาสสิกเลยมากครับ
โดย: boytoplay [23 ส.ค. 52 21:34] ( IP A:125.25.149.218 X: )
ความคิดเห็นที่ 12
   บทความดีมากมากเลยครับพี่ต้น ข้อมูลแน่นมากมากครับ
โดย: ฟ่อน [24 ส.ค. 52 12:47] ( IP A:203.172.208.14 X: )
ความคิดเห็นที่ 13
   แจ่มครับพี่ หน้าตามันสดชื่นดีจัง - -"

ปล.มีบอกด้วยว่าไม่ประกวด จ๊าบจิงๆ
โดย: taez [25 ส.ค. 52 3:20] ( IP A:113.53.77.168 X: )
ความคิดเห็นที่ 14
   เป็นอีกชนิดที่อยากเลี้ยง แต่ ณ บัดนาวไม่มีตู้ใส่แล้วครับ
โดย: jay [25 ส.ค. 52 11:09] ( IP A:203.146.227.254 X: )
ความคิดเห็นที่ 15
   หากผมต้องเลี้ยงปลาได้เพียงตัวเดียว ผมคงเลือก อโรวานา อัฟฟริกา
โดย: pook [29 ธ.ค. 52 20:16] ( IP A:125.26.177.179 X: )
ความคิดเห็นที่ 16
   ข้อมูลแน่นมากมากครับ แจ่มครับพี่
โดย: Harn [25 พ.ค. 53 10:06] ( IP A:112.142.137.81 X: )

คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน