วูล์ฟฟิช หมาบ้าแห่งอเมซอน
   ปลาวูล์ฟฟิชเป็นปลาในกลุ่มคาราซิน (Order Characiformes) จัดอยู่ในครอบครัว อิริธรินิดี้ (Family Erythrinidae) ซึ่งปลาในสกุลนี้ ต่างก็มีรูปร่างหน้าตาและจุดเด่นคล้ายๆกัน หลักก็ก็คือ เป็นคาราซินที่ไม่มีครีบไขมัน (คาราซินส่วนใหญ่มีครีบไขมันกันทั้งนั้น) มีลำตัวรูปทรงกระบอก เกล็ดขนาดค่อนข้างใหญ่ ใบหางกลมใหญ่ มีฟันเขี้ยวที่แข็งแรงเต็มเพดานปาก ดำรงชีวิตเป็นนักล่าโดยสมบูรณ์ บางชนิดสามารถเคลื่อนที่บนพื้นดินที่ชื้นแฉะและหายใจแลกเปลี่ยนก๊าซจากอากาศโดยตรงได้เพื่อหาแหล่งน้ำใหม่ได้ในระยะทางสั้นๆคล้ายปลาช่อนของเรา


รูปแสดง ขากรรไกรอันน่ากลัวของ วูล์ฟฟิช

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [7 พ.ค. 53 1:40] ( IP A:58.9.141.11 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
ความคิดเห็นที่ 1
   มีแต่แต่ชนิดที่ตัวเล็กๆไม่เกิน 1 ฟุต (Erythrinus erythrinus) ไปจนถึงชนิดตัวยักษ์ใหญ่ถึง 1 เมตร (Hoplias aimara) ปลาในครอบครัวนี้ มีสมาชิกเพียง 3 สกุล คือ Erythrinus ,Hoplerythrinus และ Hoplias ส่วนตัวเอกในวันนี้คือ Hoplias malabaricus ครับ

รูปแสดง วูล์ฟฟิชมาลาบาริคัส ทรงหน้ายาว

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [7 พ.ค. 53 1:45] ( IP A:58.9.141.11 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
   Order: Characiformes
Family: Erythrinidae - Trahiras (erythros แปลว่าสีแดง หรือสีเลือด)
Genus: Hoplias - (Valenciennes, 1847)
Specific name: malabaricus - (Bloch, 1794) Malabar อยู่ในประเทศอินเดียครับ เป็นชื่อที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงเท่าใดนัก

ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific name) : Hoplias malabaricus (Bloch, 1794)

ชื่อพ้อง (synonym) : Erythrinus macrodonSpix & Agassiz, 1829
Erythrinus trahiraSpix, 1829
Esox malabaricusBloch, 1794
Esox tarariraLarrañaga, 1923
Hoplias malabarica(Bloch, 1794)
Macrodon feroxGill, 1858
Macrodon malabaricus(Bloch, 1794)
Macrodon tareiraValenciennes, 1847
Synodus palustrisBloch & Schneider, 1801
Synodus tareiraBloch & Schneider, 1801

ชื่อสามัญ (Common name) : Trahira (ตราฮิรา เป็นภาษาพื้นเมือง), wolffish , wolf characins

ชื่อไทย : วูล์ฟฟิช,คอมมอนวูล์ฟฟิช ,วูล์ฟฟิชมาลาบาริคัส

รูปแสดง วูล์ฟฟิลมาลาบาริคัส ทรงหน้าสั้น

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [7 พ.ค. 53 1:47] ( IP A:58.9.141.11 X: )
ความคิดเห็นที่ 3
   ปลาในสกุล Hoplias นั่นประกอบไปด้วยสมาชิกทั้งหมด 11 สปีชีส์ดังนี้ครับ

Hoplias aimara (Valenciennes, 1847)

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [7 พ.ค. 53 1:48] ( IP A:58.9.141.11 X: )
ความคิดเห็นที่ 4
   Hoplias malabaricus (Bloch, 1794)

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [7 พ.ค. 53 1:52] ( IP A:58.9.141.11 X: )
ความคิดเห็นที่ 5
   Hoplias macrophthalmus (Pellegrin, 1907)

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [7 พ.ค. 53 1:54] ( IP A:58.9.141.11 X: )
ความคิดเห็นที่ 6
   Hoplias brasiliensis (Spix & Agassiz, 1829) ไม่มีรูป
Hoplias lacerdae Miranda Ribeiro, 1908

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [7 พ.ค. 53 1:55] ( IP A:58.9.141.11 X: )
ความคิดเห็นที่ 7
   Hoplias microcephalus (Agassiz, 1829) ไม่มีรูป
Hoplias microlepis (Günther, 1864) ดังรูป
Hoplias patana (Valenciennes, 1847) ไม่มีรูป
Hoplias teres (Valenciennes, 1847) ไม่มีรูป
Hoplias australis Oyakawa & Mattox, 2009 ไม่มีรูป
Hoplias curupir Oyakawa & Mattox, 2009 ไม่มีรูป

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [7 พ.ค. 53 2:00] ( IP A:58.9.141.11 X: )
ความคิดเห็นที่ 8
   ส่วนชนิดที่น่าสนใจมีดังนี้ครับ
Hoplias aimara (Valenciennes, 1847) หรือ "Amapa" (ภาษาถิ่นบราซิล) พบที่ เฟรนช์กิอานา เวเนซูเอลา ซูรินาเม และอาจพบในบราซิลด้วย วูล์ฟฟิชไอมาร่า ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 100-123 เซนติเมตรถือเป็นวูล์ฟฟิชที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และดุร้ายที่สุด และอาจจะเป็นปลาน้ำจืดที่มีความดุร้ายที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 40 กิโลกรัม ลักษณะเด่นที่สำคัญของไอมาร่า คือ มีส่วนหัวที่เรียวแหลม ส่วนหลังบริเวณครีบหลังยกสูง มองภาพโดยรวมของลำตัวมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมฐานกว้าง มากกว่าเป็นรูปทรงกระบอก ลวดลายบนลำตัว มีลักษณะเป็นแถบขนาดใหญ่สีเข้ม รูป < ปลายชี้ไปทางส่วนหัว แต่บางครั้งก็สามารถถอดสีจนมองไม่เห็นลายบั้งสีเข้มเหล่านี้ก็เป็นได้ครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [7 พ.ค. 53 2:02] ( IP A:58.9.141.11 X: )
ความคิดเห็นที่ 9
   เกล็ดบนลำตัวมีสีน้ำตาลเหลือบเขียว และจุดสังเกตที่สำคัญอีกอย่าง คือมี จุดแต้มกลมๆสีดำเข้ม อยู่บริเวณเยื่อของกระดูกปิดเหงือกทั้งสองข้างของหัวครับ ไอมาร่า เป็นวูล์ฟฟิชที่เป็นที่ตัองการสูงสุด ของนักเลี้ยงปลาโหดทั่วโลก และยังไม่มีเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการครับ เมื่อใดที่ผู้เขียนมีโอกาสได้ครอบครอง เราจะนำมาเจาะลึกกันอีกครั้งละกันครับ

เป็นพระเอก ของ บอนิโต้ เลยทีเดียว

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [7 พ.ค. 53 2:03] ( IP A:58.9.141.11 X: )
ความคิดเห็นที่ 10
   ไอมาร่า อีกสักรูป

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [7 พ.ค. 53 2:04] ( IP A:58.9.141.11 X: )
ความคิดเห็นที่ 11
   Hoplias macrophthalmus (Pellegrin, 1907) หรือ Giant trahira (แต่ก่อนเคยมีสถานะเป็นสับสปีชีส์ของมาลาบาริคัส Hoplias malabaricus microphthalmus Pellegrin, 1910) พบที่ ลุ่มน้ำอเมซอน โอริโนโค และแม่น้ำในประเทศกายอานา ซูรินาเม และ เฟรนช์กิอานา ขนาดโตเต็มที่ ประมาณ 100 เซนติเมตรไล่ๆกับไอมาร่าครับ รูปร่างลักษณะลวดลาย คล้ายคลึงกับไอมาร่ามากๆ เพียงแต่ลายแถบบนลำตัวจะไม่ชัดเจนเท่า ออกแนวลายประๆเลอะๆมากกว่า บางตัวก็ลายคล้ายมากครับ แต่จะไม่มีจุดดำที่เยื่อกระดูกปิดเหงือกครับ เท่าที่รู้ ยังไม่มีหลุดเข้ามาในไทยเช่นกัน

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [7 พ.ค. 53 2:05] ( IP A:58.9.141.11 X: )
ความคิดเห็นที่ 13
   Hoplias lacerdae Miranda Ribeiro, 1908 (แต่ก่อนเคยมีสถานะเป็นสับสปีชีส์ของมาลาบาริคัสHoplias malabaricus lacerdae Miranda Ribeiro, 1908) พบที่ แม่น้ำ Ribeira de Iguape และโอริโนโค นอกจากนั้น ยังพบปลาที่มีลักษณะคล้าย ลาเซอดี้ ในแม่น้ำ ซิงกู มีสีดำ หน้าแหลมและยาวกว่า ถูกเรียกชื่อทางการค้าว่า Hoplias sp. "Black" Xingu หายากและราคาแพงมาก นอกจากนั้นยังพบในแม่น้ำโทแคนติน ทาปาโจส และอเมซอนตอนล่าง ซึ่งน่าจะถูกบรรยายเป็นสปีชีส์ใหม่ได้ในอนาคตครับ ยังไม่มีในไทย

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [7 พ.ค. 53 2:09] ( IP A:58.9.141.11 X: )
ความคิดเห็นที่ 14
   ส่วน ลาเซอดี้ ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 75 เซนติเมตร ซึ่งก็ถือว่าใหญ่กว่ามาลาบาริคัสมาก และใกล้เคียงสองยักษ์ใหญ่ข้างต้นครับ รูปร่างลักษณะจะคล้ายมาลาบาริคัส แต่มีจุดสังเกตุที่แตกต่างหลายอย่างคือ ลาเซอดี้จะมีลำตัวและเกล็ดสีดำเข้มกว่าชัดเจนประด้วยเกล็ดสีเหลืองสะดุดตา ตลอดจนรูปร่างกลมหนา บึกบึนกว่า ส่วนหัวกลมและสั้นกว่าชัดเจน มีลวดลายประสีเหลืองตามครีบหลังและครีบหางสวยงามชัดเจนตัดกับพื้นสีดำ นอกจากนั้น เวลาถอดสี จะเห็นเป็นแถบสีดำขนาดใหญ่พาดกลางลำตัว ไม่มีลายเป็นก้างปลาเหมือนมาลาบาริคัสครับ

แยกออกนะครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [7 พ.ค. 53 2:09] ( IP A:58.9.141.11 X: )
ความคิดเห็นที่ 15
   ลาเซอดี้นั้น ถูกนำมาจำหน่ายในประเทศไทยแล้วหลายตัว แต่ก็นับตัวได้ครับ ด้วยราคาที่แพงกว่ามาลาบาริคัสหลายเท่า และ มาเป็นปลาขนาด 1 ฟุตทุกตัว เลยทำให้เปลืองค่าขนส่งอยู่เอาการ บวกกับความหายากแล้ว ก็เลยมีราคาตัวละเป็นหมื่นๆ หวังว่าต่อไปอาจจะมีตัวจิ๋วๆเข้ามาบ้าง ราคาจะได้ถูกๆครับ แต่เห็นในเวปไซด์นอกแล้ว น่าจะยากแฮะ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [7 พ.ค. 53 2:10] ( IP A:58.9.141.11 X: )
ความคิดเห็นที่ 16
   ถิ่นกำเนิด การแพร่กระจาย และแหล่งที่อยู่อาศัย
วูล์ฟฟิช เป็นปลาที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำไหลเชี่ยวขนาดใหญ่ ขึ้นไปจนถึงหุบเขา แน่นอนครับว่าย่อมเป็นน้ำใสสะอาด และมีออกซิเจนละลายอยู่ในปริมาณสูงมากแน่นอน นอกจากนั้นยังพบทั่วไปในน้ำไหลเอื่อยๆ น้ำนิ่งๆขุ่นๆ แบลควอเตอร์ หรือแม้แต่ตามคูคลองต่างๆ ตลอดจนสระน้ำนิ่งบนที่ราบ หรือน้ำที่มีออกซิเจนต่ำๆ ก็ยังพบปลาพวกนี้อาศัยอยู่เช่นกันครับ เรียกได้ว่ามีการกระจายพันธุ์ที่ค่อนข้างกว้างขวางเลยทีเดียว ส่วนสำหรับมาลาบาริคัสนั้น มีการแพร่กระจายตั้งแต่ คอสตาริก้า และแม่น้ำส่วนใหญ่ในอาเจนติน่า โบลิเวีย บราซิล โคลัมเบีย เอกวาดอร์ เฟรนช์กิอานา กายอานา ปารากวัย เปรู ซูรินาเม ตริแดดและโตเบโก อุรุกวัย และ เวเนซูเอลา เรียกได้ว่าแพร่กระจายไปทั่วทั้งอเมริกากลาง และอเมริกาใต้ ในฐานะชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดครับ ดังนั้น มันจึงมีรูปแบบลาย สีสัน และรูปร่างค่อนข้างเยอะมากๆ เรียกได้ว่ามีหลายวาไรตี้ตามแหล่งที่พบ และราคา ความหายากก็แตกต่างกันไปครับ โดยพบตามแหล่งน้ำจืดทั่วไป อาศัยอยู่บริเวณพื้นท้องน้ำหรือกลางน้ำ หลบซ่อนแรงกระแสน้ำอยู่ทั่วไป pH ประมาณ 6.0 - 8.0 dH อยู่ระหว่าง 4 – 25 อุณหภูมิอยู่ที่ 20°C - 26°C ครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [7 พ.ค. 53 2:11] ( IP A:58.9.141.11 X: )
ความคิดเห็นที่ 17
   ขนาด รูปร่าง ลักษณะนิสัย และอาหาร
ขนาดใหญ่ที่สุดพบว่ามีขนาดประมาณ 48.5-55.2 เซนติเมตร น้ำหนักโตเต็มที่มากกว่า 3 กิโลกรัม มีรูปร่างคล้ายทรงกระบอก มันขากรรไกรที่ใหญ่และแข็งแรง เต็มไปด้วยฟันเขี้ยวที่แหลมคม มีครีบหลังและครีบหางขนาดใหญ่ เกล็ดบนลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อนไปจนเข้ม มีลวดลายบนลำตัวขณะถอดสีคล้ายก้างปลา โดยมีแถบสีดำขนาดใหญ่พาดตามแนวยาวกึ่งกลางลำตัว และมีแถบสีดำเข้มพาดขึ้นลงตามแนวตั้ง บางขณะ บางอารมณ์เราอาจมองไม่เห็นลายดังกล่าวชัดเจนหรือมองไม่เห็นเลยก็เป็นได้ครับ นอกจากลายประสีดำบนเกล็ดสีน้ำตาลกระจายอยู่ทั่วลำตัว เป็นปลาที่หากินเวลากลางคืนเป็นส่วนใหญ่ กลางวันจะหลบแอบนิ่งๆ ตามซอกหิน หรือพืชน้ำ แทบไม่ขยับตัวไปไหนเลย อาหารในธรรมชาติ คือ ปลาชนิดต่างๆ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังต่างๆ และสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กเท่าที่มันจะล่าได้ ดุร้าย ก้าวร้าว และชอบกัด มันจึงกลายเป็นปลาเกม ที่นักตกปลาชอบเป็นนักหนาครับ วูล์ฟฟิช ผสมพันธุ์และวางไข่ในรูที่ขุดไว้ในบริเวณน้ำตื้น ตัวผู้จะเป็นผู้เฝ้ารัง ตลอดจนดูแลไข่และตัวอ่อน

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [7 พ.ค. 53 2:13] ( IP A:58.9.141.11 X: )
ความคิดเห็นที่ 18
   การเลือกซื้อ
การที่จะได้วูล์ฟฟิชมาครอบครองนั้น อันดับแรก ก็ต้องแยกชนิดให้เป็นก่อนครับ โดยอย่าให้ใครเอา มาลาบาริคัส มาหลอกขายเป็นวูล์ฟฟิชตัวอื่นก็เป็นพอ แต่ถ้าใครเอาวูล์ฟฟิชตัวอื่น มาขายเป็นมาลาบาริคัสหรือในราคาของมาลาบาริคัส ก็จงรีบโดนหลอกทันทีเลยนะครับ พูดแบบนี้คงเข้าใจครับว่า มาลาบาริคัส เป็นวูล์ฟฟิชที่พบบ่อย พบง่าย และพบเยอะที่สุด เลยทำให้มีราคาถูกที่สุด ตัวเล็กๆก็แค่หลักร้อยครับ ใครๆก็เป็นเจ้าของได้โดยไม่ยากเย็น ในประเทศไทยนั้น นอกจากมาลาบาริคัส ก็จะมีวูล์ฟฟิชยักษ์อีกตัวที่ถูกนำเข้ามาจำหน่ายหลายตัวแล้วนั่นก็คือ ลาเซอดี้ ในราคาหลักหมื่น ส่วน ไอมาร่า ตัวสุดยอดของวูล์ฟฟิชนั้น ยังไม่เคยมีเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการให้ได้พบเห็นเลยสักครั้งครับ สนนราคาในเวปต่างประเทศ ก็ตัวละหลายๆๆหมื่น และหายากเอาการ นอกจากนั้น อาจเป็นไปได้ว่า มีวูล์ฟฟิชชนิดอื่นๆ ปนเข้ามากับ มาลาบาริคัส ขนาดเล็กบ้างประปราย แต่ผู้เขียนยังไม่ฟันธงนะครับว่าจะมีปนเข้ามาจริงๆหรือเปล่าหรือเป็นตัวไหน ยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูลอยู่ครับ ฝากเพื่อนๆลองสังเกตดูความแตกต่างด้วยละกันครับ การเลือกนั้น ส่วนใหญ่แล้ววูล์ฟฟิชจะไม่ใช่ปลาที่ต้องเลือกเฟ้นอะไรมากมายนัก ชอบตัวไหนก็ตักตัวนั้น ขอให้สภาพสมบูรณ์ แข็งแรง ตัวโตๆ และเห็นกินอาหารท้องป้องแล้วก็ดีครับ เรื่องลวดลายสีสันนั้น ไม่ใช่ประเด็นเลยเพราะมันเปลี่ยนไปมาได้ ระหว่างลายก้างปลาชัดๆ หรือกลายเป็นสีประๆกระดำกระด่าง หรือสีซีดไปเลยก็มี ส่วนเรื่องครีบแตก แหว่ง หรือเป็นแผลนี่ถือเป็นเรื่องปกติของปลาที่เลี้ยงรวมเพื่อรอการจำหน่ายครับ พวกนี้งอกใหม่ได้หมดและงอกเร็วมากด้วยเนื่องจากเป็นปลาที่โตเร็วมาก จึงซ่อมแซมเนื้อเยื่อได้รวดเร็วตามไปด้วย ขอแค่อย่าบาดเจ็บในจุดสำคัญก็พอ เช่น ลึกถึงกระดูกหลัก ดวงตา อะไรแบบนี้ครับ ปลาวูล์ฟฟิช ค่อนข้างหาซื้อยากในตลาดทั่วไปสักนิดครับ แต่ท่านใดที่เล่นเวปไซด์ รับรองว่าหาไม่ยากแน่นอน

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [7 พ.ค. 53 2:14] ( IP A:58.9.141.11 X: )
ความคิดเห็นที่ 19
   การเลี้ยงและการดูแลรักษา
วูล์ฟฟิช เป็นปลาที่แข็งแรง พละกำลังมาก อดทน จึงจัดเป็นปลาที่เหมาะสำหรับมือใหม่หรือผู้หัดเลี้ยงซึ่งผ่านการศึกษาเบสิกมาบ้างแล้วอย่างไม่ยากเย็นนัก ด้วยนิสัยที่ชอบอยู่นิ่งๆ หรือซุ่มรออาหาร ไม่รวมฝูง บอกให้เราทราบว่า มันเป็นปลาที่หวงถิ่น และไม่ชอบให้ใครเข้ามาใกล้ๆแม้แต่พวกเดียวกันก็ตาม นิสัยอีกอย่างที่ดูจากภายนอกแล้วคาดไม่ถึง ก็คือ มันเป็นปลาที่กระโดดเก่งมากๆครับ แถมยังมีพละกำลังในการพุ่งชนที่รุนแรงเกินตัว บางคนอาจจะคิดว่า ปลาที่ว่ายน้ำเร็วๆ ขี้ตกใจจะกระโดดเก่ง ส่วนปลาพื้นตู้ นิ่งๆเฉี่อยๆ จะไม่ชอบกระโดดนั้น เอามาใช้กับปลาวูล์ฟฟิชทุกชนิดไม่ได้จริงๆ อาจเป็นเพราะว่า มันเป็นปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำที่ไหลเชี่ยว โดยหลบอยู่ตามมุมอับของกระแสน้ำ เลยทำให้มันมีความสามารถในการกระโดดและพุ่งตัว อยู่ในสายเลือดก็เป็นได้ครับ และโดยเฉพาะ นิสัย การกระโดดยามเราเผลอ ไม่กระโดดต่อหน้า แถมยังเลือกช่องกระโดดได้อย่างแม่นยำ แม้กระทั่งรูเล็กๆก็ตาม เป็นต้น ทำให้เราทราบว่า โดยพื้นฐานแล้ว เราจะเลี้ยงมันอย่างไรดี


Erythrinus sp.

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [7 พ.ค. 53 2:15] ( IP A:58.9.141.11 X: )
ความคิดเห็นที่ 20
   เนื่องจากเป็นปลาที่ชอบอยู่นิ่งๆ นิ่งซะจนน่าเบื่อสำหรับบางคน เลยทำให้มันไม่ต้องใช้ตู้ที่มีขนาดใหญ่มากมายนักครับ ปลาเล็กๆขนาด 3-4 นิ้ว อาจเริ่มที่ตู้ 20 นิ้ว กรองฟองน้ำก็พอแล้วครับ และค่อยๆขยับขยายไปเรื่อยๆเมื่อปลาตัวใหญ่ขึ้น ความยาวของตู้ก็อย่าให้ต่ำกว่า 2 เท่าของความยาวปลา ก็ทำให้มันไม่อึดอัดแล้ว ส่วนความลึกก็แล้วแต่สะดวกครับ การย้ายปลาวูล์ฟฟิช ไม่มีปัญหาในเรื่องการช๊อคน้ำ หรือการเปื่อยใดๆ แต่จะมีปัญหาเรื่องการจับมันโดยปลอดภัยมากกว่าครับ เพราะการกระโดดพุ่งชนของมันและการกัดกระชอนอย่างรุนแรงดุเดือดเท่านั้นเอง หากระชอนที่ใหญ่พอเหมาะ แข็งแรง แล้วใช้ความชำนาญจับมันขึ้นมาแล้วพับม้วนกระชอนรอบตัวมันซะ เท่านี้ก็ดิ้นไม่ได้แล้วครับ จะย้ายตู้สักกี่ตู้ก็สบาย อยากให้ปลาใหญ่ ก็เลี้ยงตู้ใหญ่ๆ น้ำดีๆ เปลี่ยนน้ำบ่อยๆครั้งละน้อยๆ ให้อาหารเต็มที่ เท่านี้ เราก็จะได้ขนาดปลาซึ่งน่าประทับใจแก่ผู้พบเห็นแล้วครับ ซึ่งหลักการพวกนี้ก็ใช้ได้กับการขุนปลาแทบทุกชนิดเช่นกันครับ ส่วนความหนาของตู้นั้น เอาหนาเท่าที่กำลังทรัพย์จะจัดได้ก็แล้วกันครับ

Hoplerythrinus unitaeniatus

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [7 พ.ค. 53 2:17] ( IP A:58.9.141.11 X: )
ความคิดเห็นที่ 21
   เรื่องน้ำไม่ใช่ประเด็นสำคัญอีกเช่นกัน วูล์ฟฟิชไม่เรื่องมากเรื่องน้ำครับ จะเป็นน้ำเก่า น้ำใหม่ปราศจากคลอรีน น้ำหมักขอนไม้ ก็ใช้เลี้ยงได้ แต่มีจุดควรระวังอีกอย่างที่ผู้เขียนเคยพบมากับตัวเองเต็มๆก็คือ การย้ายวูล์ฟฟิช จากตู้ที่มีคุณภาพน้ำต่างกันโดยสิ้นเชิง อาจทำให้มันช๊อคน้ำและตายในระยะเวลาอันสั้นก็ได้ครับ คุณภาพน้ำที่ต่างกันโดยสิ้นเชิงก็ เช่น จากตู้ที่ไม่เคยเปลี่ยนน้ำเลยหลายเดือน เอาแต่เติมน้ำที่ระเหยทดแทนไปซึ่งวูล์ฟฟิชก็อยู่ได้ ไปยังตู้น้ำใหม่เอี่ยม หรือตู้ที่หมักขอนไม้หรือแบลควอเตอร์สีเข้มจัดๆ ไปยังน้ำใสแจ๋ว ประมาณนี้เป็นต้นครับ ควรหลีกเลี่ยงไว้ก่อนเป็นดี แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่า มีน้อยตัวครับ ที่จะตายแบบนั้น อาจเป็นที่ความอ่อนแอของปลาตัวนั้นๆเอง และปัจจัยอื่นๆประกอบด้วยหลายอันครับ ประมาณว่าผู้เขียนยังมั่นใจในความอึดของวูล์ฟฟิชอยู่เต็มหัวใจนั่นเอง ถึงแม้ว่ามันจะอึด และสามารถมีชีวิตอยู่ได้ในน้ำที่ไม่ได้เปลี่ยนหรือน้ำที่มีออกซิเจนต่ำเป็นระยะเวลานานๆ จนถึงขั้นเน่าเสีย และขาดการดูแลเอาใจใส่เป็นระยะเวลานานๆก็ตาม แต่ก็เป็นชีวิตที่ทุกข์ทรมาน จนมิอาจปิดกั้นอาการป่วย และอาการผิดปกติต่างๆเอาไว้ได้ เช่น ตาขุ่นขาว ตาบอด ตาบวม ตัวเปื่อย ร่างกายซูบผอม ไม่กินอาหาร เหงือกบานอ้าเหมือนกับอโรวาน่า หรืออาการน่าสงสารอื่นๆ เป็นต้นครับ ซึ่งถ้ามันแสดงอาการออกมาแล้ว ย่อมยากที่จะรักษาให้หายเป็นปกติ เนื่องจากมันทนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีมานานเกินไปนั่นเอง ดังนั้นเลี้ยงในน้ำที่มีคุณภาพดีเท่าที่จะทำได้ ด้วยระบบกรองและสับสเตรทที่เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์การเลี้ยงครับ


Hoplias sp. San Francisco

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [7 พ.ค. 53 2:18] ( IP A:58.9.141.11 X: )
ความคิดเห็นที่ 22
   ส่วนการจัดตู้นั้น เน้นโล่งครับ เพื่อป้องกันการพุ่งชาร์จจนบาดเจ็บ จะแต่งอะไรก็ให้มีซอกใหญ่ๆ หรือที่ว่างใหญ่ๆไว้ก่อน หินหรือขอนไม้ใหญ่ๆ ก็ไม่ควรมีส่วนแหลมคมครับ ส่วนการปูพื้นไม่จำเป็นเช่นกัน แต่ถ้าอยากสวย ก็กรวดเม็ดเล็กๆก็พอ จะหนาจะบางอย่างไร หลักการพวกนี้ยังคงเดิมตามที่เคยกล่าวมาแล้วในบทความเก่าๆนั่นแหละครับ อยากให้ไปเน้นเรื่องการปิดตู้ ปิดกรองข้างให้มิดชิดจะดีกว่า นอกจากมิดชิดแล้ว น้ำหนักของวัสดุที่ปิด ตลอดจนความแข็งแรงนั้น ขอให้เอาแบบเกินๆไว้เยอะๆก็ดีครับ เช่นพวกแผ่นกระจกหนา ถ้าเป็นวัสดุที่เบา ควรมีอะไรทับไว้เช่น ขันใส่น้ำเต็มๆ ก้อนหิน หรืออะไรที่มีน้ำหนักเป็นต้น สำหรับฝาตู้อคริลิคทั่วไปนั้น บางครั้ง ก็กันวูล์ฟฟิชขนาดใหญ่เกินฟุตไม่ได้นะครับ ถ้ามันจะกระโดดอัดเต็มแรงยามตกใจ รับรองว่าเอาไม่อยู่ครับ ยิ่งถ้าฝาเก่าๆ เปราะๆล่ะก็ โหว่เป็นรูขนาดเท่าตัวปลาแน่นอน ทางป้องกันก็คือ ตาข่ายพลาสติกปิดชั้นในไว้ก่อนอีกชั้น ก็ปลอดภัยแล้วครับ หรือจะวัดดวงเอาแค่ฝาอย่างเดียวก็ได้ครับ โอกาสกระโดดชนจนแตกนั้น ไม่ได้มีสูงจนต้องกังวล ถ้าจะเลี้ยงในบ่อ ก็หาตาข่ายคลุมหรือไม่ก็กั้นแผงตาข่ายไว้รอบๆสูงๆนะครับ รับรองว่ากระโดดแน่ๆ ไว้ใจไม่ได้เลยจริงๆ สำหรับเรื่องฉากและแสงในตู้ ก็แล้วแต่ชอบเช่นกันครับ ไม่มีปัญหาอะไรกับมันมากนัก ถึงแม้ว่ามันจะเป็นปลาหากินกลางคืน และชอบแสงสลัวๆก็ตาม

Hoplias sp. BLACK

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [7 พ.ค. 53 2:19] ( IP A:58.9.141.11 X: )
ความคิดเห็นที่ 23
   แค่ดูหน้าก็รู้กำพืดครับว่า มันเป็นปลาล่าเหยื่อตัวฉกาจ โดยมีพฤติกรรมการดักซุ่มรอเหยื่อนิ่งๆ แล้วเข้าชาร์จด้วยความรุนแรงสูงสุด ไม่ค่อยชอบว่ายไล่เหยื่อเท่าใดนัก ถึงแม้ความว่องไวจะมีน้อย แต่ถูกทดแทนด้วย พละกำลังมหาศาล ที่ใช้ในการสยบเหยื่อขนาดใหญ่ให้แน่นิ่ง และ ขาไกรไกรที่แข็งแรงมากๆ ขอย้ำว่าแข็งแรงมากๆ และฟันที่แหลมคมแข็งแรงขนาดใหญ่เรียงอยู่เต็มปาก ทำให้มันสามารถกินเหยื่อได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเหยื่อขนาดใหญ่โดยการกัดสะบัดให้ขาด คล้ายๆปลาชะโด หรือเหยื่อขนาดใหญ่ๆที่มองดูแล้วไม่น่ากลืนได้ แต่มันก็กลืนเข้าไปจนได้ ส่วนเหลื่อเล็กๆจิ๋วๆนั้น ถึงแม้มันจะไม่ชอบจับกินให้เสียพลังงานในการล่าเท่าใดนัก แต่ก็ไม่ปฏิเสธเมื่อนำมาเลี้ยงในตู้ครับ ด้วยพฤติกรรมเหล่านี้ จึงจัดว่า วูล์ฟฟิช เป็นปลาที่กินอาหารง่าย กินจุ ตะกละ และไม่เลือกชนิดอาหารเท่าใดนัก แม้กระทั่งปลาที่ย้ายที่ใหม่ๆ หรือแม้แต่กระทั่งปลาซึ่งพึ่งถูกขนส่งมาจากอเมซอน มาถึงประเทศไทย แกะกล่อง ปล่อยลงตู้ ให้อาหารก็จะกินทันทีเป็นส่วนมากครับ ดังนั้นอาหารที่ให้ก็จะเป็นพวกเนื้อต่างๆทั้งเป็นหรือตายสามารถให้กินหรือฝึกให้กินได้ทั้งนั้น สำหรับปลาขนาดเล็ก ก็ให้พวกกุ้งฝอยเป็นหรือตาย หรือลูกปลาเล็กๆทั้งเป็นหรือตายก็ได้ครับ โตขึ้นมาเรื่อยๆ ก็ขยายขนาดของอาหารขึ้นไปเรื่อยๆเช่นกัน โดยส่วนใหญ่ ก็หนีไม่พ้นปลาทองตัวอ้วนๆ และปลาคาร์พตัวอวบๆที่เคราะห์ร้ายเจ้าเก่านั่นเอง หรือจะเป็น กบ เขียด หนู หรืออะไรก็แล้วแต่ขึ้นกับดีกรีความโหดของคนเลี้ยงล่ะครับ และยังกินได้ทั้งปลาเป็น ปลาตาย หรือปลาหั่น ปลาแล่ และเนื้อสัตว์อื่นๆ ก็ฝึกให้กินได้ไม่ยากครับ แต่แนะนำให้ใช้เนื้อสัตว์น้ำจืดทั่วๆไปจะดีกว่าครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [7 พ.ค. 53 2:19] ( IP A:58.9.141.11 X: )
ความคิดเห็นที่ 24
   วูล์ฟฟิชขนาดเล็กนั้น จะมีนิสัยชอบกินกันเองเป็นอย่างยิ่ง ชัดเจน และแน่นอน โดยปลาซึ่งเป็นหัวปลา มีขนาดใหญ่กว่า จะรีบกินน้องๆของมันซึ่งมีขนาดเล็กกว่ามันให้เยอะที่สุด เพื่อที่มันจะได้โตให้เร็วที่สุด และเก็บกวาดพี่น้องที่เหลือให้ได้เยอะที่สุด หมดแล้วค่อยไปเก็บกวาดปลาอื่นๆต่อไปในธรรมชาติ ขนาดของปลาที่ลูกวูล์ฟฟิชกินเข้าไปได้นั้น แค่เล็กกว่าตัวมันเพียง 30-40 เปอร์เซนต์ของความยาว มันก็สามารถขยอกกลืนพี่น้องของมันเข้าไปในท้องได้แล้วล่ะครับ หรือถ้ากลืนทีเดียวไม่หมด ก็คาปากไว้อย่างนั้นและค่อยๆย่อยค่อยๆกลืนจนหมดตัวในที่สุด และเมื่อมันได้กินอาหารชิ้นใหญ่ขนาดนี้เข้าไป มันก็จะโตพรวดพราดแบบทันตาเห็นเลยทีเดียว พฤติกรรมการกินอาหารขนาดใหญ่มากๆแบบนี้จะลดน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อปลาโตขึ้นครับ เหมือนๆกับปลาล่าเหยื่อชนิดอื่นๆในวัยเยาว์นั่นเอง ที่มักมีความสามารถในการกินอาหารชิ้นใหญ่ๆ และมีความกล้าในการโจมตีอาหารชิ้นใหญ่มากกว่าปลาใหญ่ ด้วยเหตุผลที่ว่า มันต้องรีบโตแซงเพื่อนให้เร็วที่สุด เพื่อความอยู่รอดและพ้นวัยอันตรายให้เร็วที่สุดนั่นเองครับ

เรนโบว์วูล์ฟฟิช Erythrinus erythrinus

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [7 พ.ค. 53 2:22] ( IP A:58.9.141.11 X: )
ความคิดเห็นที่ 25
   ปลาในกลุ่มนี้นั้น จัดว่าเป็นปลาน้ำจืดที่ดุร้ายที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะไอมาร่า อย่าเอาไปเทียบกับพวก ปิรันย่าใจเสาะ ขี้ตกใจและเก่งแต่หมาหมู่เลยนะครับ เพราะวูล์ฟิช เก่งได้ ดุได้ กัดได้ ไม่กลัวใครหน้าไหนแม้อยู่ตัวเดียวก็ตาม เพียงแค่ฟันของมันไม่เป็นฟันตัดคบกริบเท่าปิรันย่าเท่านั้นเอง ไอมาร่า เป็นปลาเพียงชนิดเดียว ที่มีความดุร้ายถึงขั้นกระโดดขึ้นกัดคนเหนือน้ำอย่างบ้าคลั่งเอาเป็นเอาตาย แม้กระทั่งถูกจับใส่ตู้ไว้ก็ตาม ย่อมพิสูจน์ได้ชัดเจนว่า มันกัดเพราะความบ้าเลือด ความโมโหร้าย ไม่ใช่แค่เพราะหิว ไม่ใช่เพราะต้องการปกป้องถิ่นที่อยู่ หรือลูกๆ หรือไม่ใช่เพราะต้องการแย่งอาหาร เหมือนที่ปลาชนิดอื่นๆจะใช้เป็นเหตุผลในการแสดงความดุร้าย เปรียบได้กับหมาบ้า ที่ดุ และกัด โดยไม่มีเหตุผลนั่นเองครับ เป็นที่น่าดีใจว่า วูล์ฟฟิชธรรมดาๆอย่าง มาลาบาริคัส ไม่ดุถึงขนาดนั้นครับยกเว้นยามหิว ซึ่งมันจะพร้อมกระโดดขึ้นกัดมือคุณ ถ้าคุณไม่ระวัง รับรองว่าบาดแผลฉกรรจ์แน่นอนครับโดยเฉพาะปลาตัวใหญ่ๆ ด้วยเหตุผลเหล่านี้เอง เลยเป็นสาเหตุให้ วูล์ฟฟิชไอมาร่า เป็นที่ต้องการสูงสุดของนักเลี้ยงปลาโหดทั่วโลก ทำให้มันไม่เคยหลุดหลงเหลือเข้ามาในประเทศไทยให้คนทั่วไปได้ยลโฉมกันสักที ก็เลยต้องเลี้ยงตัวเบสิกกันไปเรื่อยๆครับ อย่างหรูก็แค่ ลาเซอดี้ เท่านั้นสำหรับนักเลี้ยงปลาในประเทศไทย ซึ่งก็ดุกว่ามาลาบาริคัสอยู่พอตัว แถมโตเร็ว และกินเก่งกว่าชัดเจน ดังนั้น เมื่อเราทราบนิสัยบ้าๆ ของปลากลุ่มนี้แล้ว จึงขอรณรงค์ให้ท่านที่อยากเลี้ยง หรือนำไปเลี้ยง โปรดเลี้ยงมันแค่ตัวเดียวในตู้ ก็พอครับ คงไม่ต้องอธิบายอะไรมากมายนักเพราะโตๆกันแล้ว ถ้าอยากรวมจะรวมได้มั้ย ? ตอบว่าได้ครับ สิทธิ์ของเราใครจะว่า รวมกับปลาใหญ่ๆดุๆ ว่องไวๆ ในตู้ใหญ่ๆยักษ์ๆ จะช่วยให้สมาชิกแต่ละท่านในตู้ปลอดภัยมากขึ้นครับ และบางครั้งมันอาจจะอยู่ร่วมกับแทงก์เมทของมันได้โดยไม่มีอาการดุร้ายใดๆเลยนานนับเดือน ก่อนจะลงมือฆ่า หรือฉีกเป็นชิ้นๆครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [7 พ.ค. 53 2:23] ( IP A:58.9.141.11 X: )
ความคิดเห็นที่ 26
   ความเจ็บป่วย เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แม้จะดุร้ายแค่ไหนก็ตาม นอกจากปัญหาเรื่องการช๊อคน้ำที่เคยเจอดังที่เล่าให้ฟังแล้ว วูล์ฟฟิชยังอาจมีปัญหาเรื่อง อาการเปื่อย ตกเลือด ในปลาเล็กซึ่งพึ่งผ่านการเดินทางขนส่งมายาวไกลจากอเมริกาใต้ มาถึงประเทศไทย ปลาที่อยู่รวมกันแน่นๆ จะกัดกันมาหรือกินกันเองมาในถุงแน่นอน หรือแม้แต่การแพคแยกถุงเล็กๆถุงละตัวก็ตาม ย่อมเกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย ความเครียด ต่างๆนาๆ ช่วงแรกๆนี้เราอาจจะได้เห็นวูล์ฟฟิชบางตัวแสดงอาการเปื่อย และตายลงอย่างรวดเร็วได้ครับ การรักษาก็เดิมๆครับ ด้วยการแช่ยาปฏิชีวนะและการรักษาคุณภาพน้ำร่วมด้วย แต่ปัญหาพวกนี้ ส่วนใหญ่จะเกิดกับผู้นำเข้าและพักปลาเพื่อรอจำหน่ายปลีกเสียมากกว่าครับ สำหรับผู้เลี้ยงแล้ว ส่วนใหญ่จะได้ปลาแข็งแรง ปลอดภัย พร้อมเลี้ยงกันทุกคน ถึงแม้จะไปเปื่อย ผิดน้ำ กัดกันหรือมีบาดแผลติดเชื้ออักเสบใดๆในภายหลัง ก็รักษาได้ไม่ยากด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น เตทตร้าซัยคลิน 30 มิลลิกรัมต่อลิตร เปลี่ยนน้ำและยาสัก 30 เปอร์เซ็นต์ทุกๆ 3 วันจนกว่าจะหาย จำง่ายดีครับและหวังว่าหลายคนคงจำได้บ้างแล้ว ส่วนโรคจุดขาวหรือโรคอื่นๆนั้น ก็รักษาไปตามอาการครับ อย่าไปใช้ยาอันตราย พวกมาลาไคท์กรีน ฟอร์มาลีน ดิพเทอเร็กซ์ ดีมิลีน คอปเปอร์ซัลเฟต ฯลฯ อะไรพวกนี้ก็พอ คงไม่กล่าวซ้ำๆอีกครับ อาการอื่นๆที่มักเจอ ก็เช่น การไม่กินอาหารเป็นระยะเวลานานๆ อาจแก้ไขได้โดย การเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อยๆวันละนิด ทำความสะอาดใยกรองบ่อยๆ ใส่เกลือสักเล็กน้อย ไม่เกิน 0.2 กรัม ต่อลิตรและให้อากาศแรงๆ กระแสน้ำไหลเอื่อยๆ จะช่วยกระตุ้นให้ปลากลับมาเป็นปกติได้ในเวลาไม่นานครับ

ไอมาร่า ขนาดเล็ก

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [7 พ.ค. 53 2:24] ( IP A:58.9.141.11 X: )
ความคิดเห็นที่ 27
   เป็นไงบ้างครับ หมาบ้า จบลงจนได้นะครับ จะปลาบ้า หมาบ้า หรือแม้แต่คนบ้า ถึงยังไงก็ยังมีค่า ถ้ารู้จักหามุมดีๆสักมุมให้มอง แต่ คนคด มองมุมไหนก็ไร้ค่าครับ จะเลียนแบบใครก็เจ๊งวันยังค่ำ ถ้าเกิดมีความผิดพลาดใดๆ ผมก็ขออภัยไว้ ณ. ที่นี้ด้วยนะครับ อยากมีความรู้เรื่องปลาใดๆเพิ่มเติม สามารถเข้าไปศึกษาได้ที่ https://www.genepoolaquarium.com
ที่เดิม มีความสุขกับหมาบ้านะครับ ขอบพระคุณครับ

ลากันด้วยรูป ไอมาร่าขนาดใหญ่พร้อมจำหน่าย...

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [7 พ.ค. 53 2:25] ( IP A:58.9.141.11 X: )
ความคิดเห็นที่ 28
   heart
โดย: truffle_drum [7 พ.ค. 53 19:47] ( IP A:61.90.93.38 X: )
ความคิดเห็นที่ 29
   พี่ต้นครับรบกวนถามเจ้าโคลลัมเบียวูฟฟิชคือตัวไหนครับ รบกวนพี่ต้นด้วยครับ
โดย: น้องเล้ง (tainlang ) [8 พ.ค. 53 1:08] ( IP A:115.67.61.57 X: )
ความคิดเห็นที่ 30
   https://www.youtube.com/watch?v=zTCYkpDsOO8

วูฟฟิชไอมาร่า ขนาด 31 นิ้วครับ ขออนุญาตเจ้าของคลิปด้วยนะครับ
โดย: Tin (Tin ) [10 พ.ค. 53] ( IP A:113.53.38.129 X: )
ความคิดเห็นที่ 32
   การแยกปลาวูล์ฟฟิช..แบบง่ายๆ

โดย: zadd (ZADDER60 ) [9 มิ.ย. 53 12:20] ( IP A:113.53.235.162 X: )
ความคิดเห็นที่ 33
   ช่วยให้มองง่ายขึ้นอีกหน่อยครับ
ขอบคุณครับผม
โดย: sunless [9 มิ.ย. 53 20:00] ( IP A:202.44.135.35 X: )
ความคิดเห็นที่ 34
   
โดย: boynong [2 ต.ค. 53 21:11] ( IP A:1.46.247.174 X: )
ความคิดเห็นที่ 35
   ผมมีครอบครองอยู่1ตัวคับหมาบ้ามาลาบาริคัส
โดย: boynong [2 ต.ค. 53 21:14] ( IP A:1.46.247.174 X: )

คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน