Gene-Pool-Aquarium.pantown.com
แนะนำปลาจ๊าบบบบบ <<
กลับไปหน้าแรก
แป้นยักษ์กัลลิเวอร์ แทงก์เมทที่ลงตัว
ปลาก็ย่อมต้องการเพื่อนเช่นกัน แต่เพื่อนของปลานั้นอาจจะอยู่ในฐานะเพื่อนจริงๆ หรืออยู่ในฐานะลูกไล่ คู่ซ้อม ในฐานะไม้ประดับ หรือแม้แต่อยู่ในฐานะคนเก็บขยะก็เป็นได้ แต่เราก็เรียกรวมๆว่า เพื่อน อยู่ดี เพื่อนร่วมตู้ของปลาเราเรียกมันว่าแทงก์เมท (tank mate) ครับ แทงก์เมทที่สวยงาม แปลก สาระพัดประโยชน์ ไม่เหมือนใครในวันนี้คือ แป้นยักษ์กัลลิเวอร์ เพื่อนที่แสนดีประจำตู้ครับ
Order: Perciformes
Suborder: Percoidei
Family: Ambassidae- Asiatic glassfishes
Genus: Parambassis - (Bleeker, 1851)
Specific name: gulliveri - (Castelnau, 1878)
ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific name) : Parambassis gulliveri (Castelnau, 1878)โดยชื่อชนิดมาจากตัวเอกในนิยายที่ชื่อ Gulliver ซึ่งเป็นมนุษย์ธรรมดาที่หลงเข้าไปในเมืองคนแคระ ก็เลยกลายเป็นยักษ์ไปโดยปริยายนั่นเองครับ
ชื่อพ้อง (synonym) : Acanthoperca gulliveri Castelnau, 1878 , Ambassis gigas Ramsay & Ogilby, 1886
ชื่อสามัญ (Common name) : Giant Glass Perchlet, Giant Glassfish, Giant River Perchlet
ชื่อไทย : แป้นยักษักัลลิเวอร์
ปลาใน Family Ambassidae มีชื่อไทยว่า ปลาแป้น ,ปลาข้าวเม่า จัดอยู่ในอันดับเดียวกับพวกปลากะพง มีลักษณะเด่นคือ มีก้านครีบแข็ง (spine)เป็นหนาม บนครีบหลังและครีบก้น มีฟันบนขากรรไกร มีสมาชิกมากมายหลายสกุลทั้งน้ำจืด น้ำกร่อยและทะเล ส่วนปลาในสกุล Parambassis ทั่วโลกมีทั้งหมด 21 ชนิดและชนิดย่อย แพร่กระจายอยู่ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นส่วนใหญ่ บางชนิดยังพบในคาบสมุทรอินโดฯ เช่น นิวกีนี และมาเลย์ ปากีสถาน อินเดีย รวมทั้งในทวีปออสเตรเลียครับ และส่วนที่พบในไทยมีประมาณ 5 ชนิดครับ
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [2 มิ.ย. 53 13:35] ( IP A:58.9.146.74 X: )
ความคิดเห็นที่ 1
ถิ่นกำเนิด การแพร่กระจาย และแหล่งที่อยู่อาศัย
เราจะพบปลาชนิดนี้แพร่กระจายอยู่ในแหล่งน้ำจืดของทวีปออสเตรเลียตอนเหนือ และทางใต้ของเกาะปาปัวนิวกีนี ในแม่น้ำสายใหญ่ๆที่มีความขุ่นสูง อุณหภูมิประมาณ 23°C - 28°C pH ประมาณ 6.8 - 7.8 ความกระด้าง (dGH) ประมาณ 4 26
ขนาด รูปร่าง ลักษณะนิสัย และอาหาร
ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 28 เซนติเมตร ซึ่งจัดว่าเป็นปลาซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในครอบครัวนี้ (Family Ambassidae) ครับ ก็เกือบๆไม้บรรทัดหนึ่งนั่นเอง มีรูปร่างแบนข้างมาก ลักษณะคล้าย 4 จัตุรัส กระโดงหลังยกสูงมีหนามแหลมขนาดใหญ่เป็นครีบหลังตอนหน้า ครีบหลังตอนถัดมาเป็นก้านครีบอ่อน โดยครีบหลังจะแบ่งเป็นสองตอนชัดเจน มีส่วนหัวและดวงตาขนาดใหญ่ ปากค่อนข้างใหญ่ช่วยในการล่าเหยื่อ ครีบหางเป็นแบบเว้าลึกรูปส้อม (Forktail) ทำให้ว่ายน้ำได้คล่องแคล่วว่องไว ลำตัวครึ่งบนเป็นสีเทา มีเกล็ดสีดำเป็นลายประกระจัดกระจาย และมองเห็นเป็นแนวของเส้นข้างตัว ลำตัวครึ่งล่างเป็นสีเงิน ครีบก้นและครีบท้อง มีสีเหลือง ไปจนถึงสีส้มแดงในบางตัวครับ ในธรรมชาติจะกินปลาขนาดเล็ก ตัวอ่อนแมลงน้ำ กุ้ง สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเปลือกแข็งอื่นๆ และสัตว์ขนาดเล็กต่างๆที่อาศัยอยู่ในน้ำทั่วไป มีนิสัยรักสงบ ไม่ดุร้ายและก้าวร้าว ว่ายรวมฝูงหากินอยู่กลางน้ำทั่วไป ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูแล้ง ไม่สามารถสังเกตุลักษณะที่บ่งบอกเพศชัดเจนได้จากภายนอก ยังไม่มีรายงานการเพาะพันธุ์ในที่เลี้ยง คาดว่ามีอายุยืนประมาณ 5-8 ปีครับ
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [2 มิ.ย. 53 13:36] ( IP A:58.9.146.74 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
การเลือกซื้อ
แป้นยักษ์ตัวนี้นั้น ก็ไม่ใช่ปลาที่จะหาซื้อได้ตามร้านขายปลาทั่วๆไปอีกนั่นแหละครับ จริงๆจัดเป็นปลาหายากในวงการปลาสวยงามทั่วโลกโดยรวมด้วยซ้ำ แต่เพราะเราพยายามนำเสนอในสิ่งที่มันมีอยู่จริง สิ่งที่น่าสนใจ และไม่ค่อยมีใครทราบหรือมีข้อมูล เพื่อเปิดโลกกว้างของการเลี้ยงปลาให้กับผู้อ่านไม่ให้จมวนเวียนอยู่กับกระแสการตลาดของปลาตัวใดตัวหนึ่งซึ่งผู้ค้าพยายามยัดเยียดให้เราจนเกินจุดอิ่มตัว อย่างน้อยๆคนที่ติดตามคอลัมน์นี้ คงทราบดีครับว่าจะหาซื้อปลาหลากหลายชนิดพร้อมข้อมูลได้ที่ไหน ปลาทุกชนิดที่เรานำเสนอผ่านบทความต่างๆที่ผ่านมา มีขายในประเทศไทย หาซื้อหาครอบครองได้ไม่ยาก และราคาไม่แพงโอเวอร์ครับ ส่วนการเลือกปลาชนิดนี้ ไม่ต้องไปอิงกระแสใดๆหรือการปั่นราคาใดๆทั้งสิ้นครับ เพราะมันเหมือนๆกันหมดทุกตัว ทั้งสีสัน รูปร่าง ครีบ หน้าตา ฯลฯ แค่เลือกตัวที่แข็งแรงสมบุรณ์ ไม่เป็นโรค ตามเบสิกการเลือกซื้อปลาทั่วๆไป และเลือกขนาดที่เหมาะสม ก็พอครับ ไม่ต้องไปรอลุ้นว่ามันจะหัวโหนกมั้ย แดงมั้ย มุขข้ามเยอะมั้ย เป็นต้น ซึ่งเป็นข้อดีของปลาสายพันธุ์แท้ซึ่งไม่ได้ผ่านการปรุงแต่งจากมือและปากของมนุษย์ครับ โดยส่วนใหญ่แล้ว ปลาที่เดินทางไกลมาใหม่ๆ จะมีลักษณะเปื่อย ครีบแตก ขาดวิ่นในบางตัว ถ้ายังเป็นมือใหม่และไม่ชัวร์เรื่องการพักปลา ก็ยังไม่ควรซื้อมาเท่านั้นเองครับ รอจนกว่ามันจะหาย และกินอาหารปกติค่อยซื้อ จะสบายใจกว่าครับ วงการปลาแปลกแคบ หาซื้อปลาแปลกยาก เพราะคนส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสหรือไม่สามารถที่จะเรียนรู้ศึกษาเรื่องพวกนี้ได้นั่นเองครับด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม เรื่องพวกนี้ เลยเป็นเรื่องใหม่เสมอสำหรับประชาชนคนไทย สังเกตได้จากการนำเสนอข่าวของนักข่าว หรือพฤติกรรมของชาวบ้านเวลาจับปลาแปลกๆได้สักตัวดูสิครับ
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [2 มิ.ย. 53 13:43] ( IP A:58.9.146.74 X: )
ความคิดเห็นที่ 3
การเลี้ยงและการดูแลรักษา
ถึงแม้ว่า ปลาในกลุ่มปลาแป้นทั้งหลาย รวมทั้งปลาแป้นทั่วๆไปที่พบในประเทศไทย เช่น ปลาแป้นกระจก (Parambassis siamensis) และปลาแป้นอื่นๆ จะเป็นปลาที่มีความบอบบาง เซนสิทีฟ ใจเสาะ ตายง่าย อายุสั้น แต่สำหรับแป้นยักษ์จากแดนไกลชนิดนี้ กลับไม่เป็นเช่นนั้นครับ อาจเนื่องด้วยขนาดที่ใหญ่โตเกินกว่าญาติๆของมันอย่างมีนัยสำคัญ ก็เลยทำให้อะไรต่างๆในตัวมันแข็งแกร่งตามไปด้วย สรุปก็คือ มันเป็นปลาที่เลี้ยงง่ายชนิดหนึ่งเลยทีเดียวครับ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของคุณภาพน้ำ การอยู่ร่วมกัน อาหาร การเจริญเติบโต และลักษณะนิสัย ดังนั้นมือใหม่ หรือใครที่คิดจะลองเลี้ยงก็เลิกกลัวคำว่า ปลาแป้น ไปได้เลยครับ ขนาดที่โตเต็มที่เกือบฟุต และเป็นปลาที่ชอบรวมฝูง ตลอดจนนิยมใช้เป็นแทงก์เมท สามารถบอกเราได้ว่า มันต้องการตู้ขนาดใหญ่ ในการเลี้ยงระยะยาว ในแง่ของปลาฝูง และ การใช้เป็นเพื่อนร่วมตู้ปลาชนิดอื่นๆมากมาย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กะว่า เราต้องการเลี้ยงมันใหญ่แค่ไหน ฝูงละกี่ตัว และอยู่ร่วมกับปลาอะไร เราก็เลือกขนาดตู้ให้เหมาะสมกับความต้องการก็เท่านั้นเองครับ แต่สำหรับการเลี้ยงเดี่ยว แค่ตู้ 24 นิ้ว กรองข้างก็พอแล้วครับ ถ้ารักษาคุณภาพน้ำให้คงที่ได้ ก็ไม่ต่างอะไรกับการเลี้ยงปลาหมอสีสักตัวครับ
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [2 มิ.ย. 53 13:47] ( IP A:58.9.146.74 X: )
ความคิดเห็นที่ 4
สำหรับน้ำที่ใช้เลี้ยง ก็เป็นน้ำประปาผ่านกรองคลอรีน หรือน้ำพักทั่วไปครับ ไม่ได้มีอะไรพิเศษ อาการเปื่อยของปลา ส่วนใหญ่จะเกิดจากการขนย้ายระยะทางไกล ส่วนการเปื่อยเวลาเลี้ยงยังไม่มีปรากฏให้เห็น รวมทั้งเรื่องการตกใจช๊อค หรือช๊อคน้ำด้วยเช่นกันครับ แต่ทางที่ดีกันไว้ดีกว่าแก้ ให้ใช้น้ำเก่าที่มีการเลี้ยงปลาไว้แล้วจากตู้ปลาอื่นมาผสมน้ำใหม่สักครึ่งหนึ่ง เท่านี้ก็อุ่นใจครับ อีกทั้งยังสามารถเลี้ยงในตู้ไม้น้ำขนาดใหญ่ รวมทั้งในน้ำหมักขอนไม้ หรือแบลควอเตอร์ได้อย่างสวยงามลงตัวอีกด้วย ดังนั้น ใครที่ชอบเล่นไม้น้ำใหญ่ๆ ตู้ใหญ่ๆ ปลาไม้น้ำใหญ่ๆ ก็ลองตัวนี้ได้ครับ แต่อย่ารวมกับปลาเล็กนะครับ มันกินหมด กระแสน้ำนิ่ง หรือค่อนข้างแรงก็ไม่เป็นปัญหาครับ เรื่องสำคัญอีกเรื่องก็คือ คุณภาพน้ำโดยรวมต้องดี และมีออกซิเจนสูงครับ เอามาเลี้ยงในน้ำคุณภาพแย่แบบพวกปลาช่อน ปลาดุก ปลาหมอ แบบนี้ไม่รอดครับ พอนึกภาพออกนะครับ ระบบกรองดีๆแน่นๆ ด้วยหินพัมมีสและปะการัง แปะด้านบนด้วยใยแก้วเต็มพื้นที่ ก็หมดปัญหาแล้วครับ
ส่วนเรื่องการจัดตู้นั้น อย่างที่บอกไว้ว่า มันเป็นได้ทั้งแทงก์เมท และปลาไม้น้ำ ดังนั้น สามารถจัดตู้ได้ตามใจชอบครับ ตั้งแต่ตู้โล่ง ยันตู้รก ถ้าอยากเห็นมันว่ายน้ำชัดๆ รวมฝูงว่าย หรือเห็นตัวง่ายๆ ก็ควรมีพื้นที่ว่างพอสมควร การเลี้ยงจำนวนมาก จะทำให้มันโชว์ตัวได้ง่ายกว่าการเลี้ยงฝูงเล็กๆครับ การว่ายชนตู้แรงๆ และการกระโดดแทบไม่พบครับ แต่ปิดไว้หน่อยจะอุ่นใจ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ เช่นแสงไฟ หลอดไฟ ก็ตามใจผู้เลี้ยง หรือปลาหลักได้เลยครับ ไม่ได้มีผลอะไรมากนักต่อการดำรงชีวิต แต่ปลาที่อยู่ในน้ำเก่า และมีการจัดตู้ จะมีสีสันสวยงามมากกว่าปลาที่อยู่ในตู้โล่งๆ สว่างๆครับ
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [2 มิ.ย. 53 13:49] ( IP A:58.9.146.74 X: )
ความคิดเห็นที่ 5
ความเป็นแทงก์เมท
คำว่า แทงก์เมท (tank mate) แปลง่ายๆว่า เพื่อนร่วมตู้ ส่วนใหญ่แล้ว จะมีความหมายไปในแนวที่เป็นปลาประกอบตู้ เพื่อดึงความสวยงามโดยรวม หรืออยู่เป็นเพื่อนปลาชนิดอื่นที่เป็นปลาหลัก หรือเป็นตัวเด่นของตู้ หรือตัวเอกในการเลี้ยงปลาในตู้นี้เสียมากกว่าที่จะหมายถึงปลาซึ่งมีความเด่นและสำคัญในตู้ เท่าๆกับปลาที่มันอยู่ด้วยครับ ดังนั้น ความสำคัญของแทงก์เมท ก็เลยถูกลดระดับลงให้น้อยกว่าปลาหลักโดยปริยาย ประมาณว่า อยากเลี้ยงปลาหลักก็เลยซื้อปลาหลักมาก่อน แล้วค่อยหาปลาอื่นๆมาเสริม ด้วยเหตุผลที่ว่า ชอบเป็นการส่วนตัว เพื่อความสวยงามที่มากขึ้น ดูเป็นธรรมชาติขึ้น หรือหามาเป็นเพื่อนปลาหลักเพื่อลดความเครียด หรือเพื่อดึงดูดหรือโน้มนำให้ปลาหลักเกิดพฤติกรรมหรือการเปลี่ยนแปลงอื่นๆในทางที่ผู้เลี้ยงชอบ หรือเก็บกินเศษอาหารที่เหลือจากปลาหลักกิน หรือแม้แต่ฟังเค้าเล่ามา สอนมา ว่าต้องมีนะ หรือเป็นค่านิยมซึ่งปราศจากความคิดหรือไตร่ตรองใดๆเลยก็มี เป็นต้น อารมณ์ประมาณว่า ปลาหลักต้องสวยสมบูรณ์ไว้ก่อน ปลารองจะโดนพระเอกกัดก็ไม่เป็นไร หรือจะตายก็ต้องตายก่อนปลาหลัก ไม่งั้นเศร้า ซึ่งไม่ว่าจะเลี้ยงแทงก์เมทด้วยสาเหตุใดๆก็ตาม หลักการเลือกแทงก์เมทกว้างๆก็ยังคงเดิมคือ ต้องไม่ทำร้ายกันเอง หรือทำร้ายปลาหลัก หรือทำร้ายแทงก์เมทอื่นๆในตู้ หรือเป็นอาหารปลาหลักหรือมักโดนปลาหลักทำร้ายบ่อยๆหรือโดยง่าย หรือถ้าจะทำก็ให้อยู่ในระดับที่รับได้และควบคุมได้ และสามารถตอบโจทย์และความต้องการข้างต้นได้ ซึ่งต้องอาศัยการทดลองและประสบการณ์พอสมควรครับ จริงๆแล้ว ไม่มีใครฟันธงได้หรอกครับว่า ปลาอะไรเลี้ยงกับปลาอะไรได้ไม่ได้ ในระยะเวลานานเท่าไร สถานการณ์เช่นไร มันจะแสดงหน้าที่บทบาทตามที่เราต้องการหรือเปล่า และต้องทำอย่างไรจึงจะเลี้ยงได้ เราผู้เลี้ยงซึ่งมีเบสิกพื้นฐานกันทุกคน จะเป็นผู้ค้นพบด้วยตัวเองครับ
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [2 มิ.ย. 53 13:53] ( IP A:58.9.146.74 X: )
ความคิดเห็นที่ 6
แป้นยักษ์กัลลิเวอร์ เป็นปลาขนาดค่อนข้างใหญ่ คือมีขนาดใหญ่เกือบๆฟุต ทำให้มันสามารถกินอาหารได้หลากหลาย ประกอบกับนิสัยกินง่าย อยู่ง่าย เก็บเศษอาหารได้หลากหลาย หรือช่วยกินปลาเหยื่อเล็กๆก็ยังได้ จึงเป็นนักเก็บกวาดที่ดีระดับหนึ่ง ผมเชื่อว่าคนที่อ่านหนังสือและศึกษาเรื่องปลาอย่างจริงจังส่วนใหญ่ คงจะไม่มีใครเชื่อร้านขายปลาบางร้าน ที่ขายปลาบางชนิด โดยบอกว่า ถ้าใส่ปลาตัวนี้ลงไปแล้ว มันจะดูดฝุ่น ทำให้น้ำใสสะอาด หรือ กินขี้ปลาจนหมด ทำให้เราเลี้ยงปลาโดยไม่ต้องเปลี่ยนน้ำปลา ฯลฯ อะไรแบบนี้แล้วนะครับ แป้นยักษ์ก็เช่นกันครับ คงไม่ถึงกับขนาดที่ว่า เลี้ยงปลาชนิดนี้แล้ว เราไม่ต้องดูแลความสะอาดตู้ให้ปลาหลักอีกเลย เพราะมันเป็นไปไม่ได้ครับ และด้วยขนาดค่อนข้างใหญ่ของมัน ทำให้มันอาศัยอยู่กับปลาขนาดกลางและขนาดใหญ่ได้ค่อนข้างครอบคลุมหลายชนิด มีนิสัยรักสงบมากๆ แทบจะไม่พบพฤติกรรมดุร้ายก้าวร้าวจากปลาชนิดนี้เลย เพราะมันเป็นปลาแป้น เลยไม่ต้องห่วงเรื่องการกัดกันเอง หากเลี้ยงเป็นฝูงใหญ่ๆ หรือทะลึ่งไปทำร้ายปลาหลักสุดที่รักของเราเข้า ตลอดจนมีความว่องไวพอตัวที่จะลดหรือหลีกเลี่ยงการโดนกัดทำร้ายจากปลาหลัก เช่น อโรวาน่า ได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้น ยังมีรูปร่างและสีสันที่แปลกและสวยงามไม่เหมือนแทงก์เมทหน้าเดิมๆซึ่งเรารู้จักและชินตา มีนิสัยชอบว่ายกลางน้ำ โชว์ตัวชัดเจนเป็นฝูง ไม่หลบซ่อนนิ่งๆตามวัสดุจัดตู้ต่างๆหากไม่ตกใจผิดปกติ กางครีบสวยงาม สีสันไม่เด่นสะดุดตาเกินปลาหลัก และอื่นๆ ที่เราอาจจะค้นพบมันด้วยตัวเราเองครับ สิ่งเหล่านี้ทำให้ความเป็นแทงก์เมทของมันลงตัวกับหลายๆความต้องการครับ อาจเพียงแค่หาซื้อยากสำหรับบางคน (ซึ่งจริงๆไม่ยาก) เท่านั้น และยังมีปลาอื่นๆแหวกแนวอีกมากมาย ทั้งปลาไทย ปลานอก ปลาเพื่อนบ้าน ปลาพื้นบ้าน ปลาที่ถูกลืม ฯลฯ ซึ่งพร้อมจะเป็นแทงก์เมทปลาหลักของท่าน นอกเหนือจาก อินซิกนิส ปลาจอมตอดเมือก ซึ่งหลายคนนึกออกเพียงแค่เท่านั้นเมื่อเอ่ยถึงแทงก์เมท อโรวาน่า เพราะถูกปลูกฝังมาเช่นนี้บ่อยๆซ้ำๆซากๆ จากสื่อต่างๆนั่นเอง จนบางครั้งปิดกั้นจินตนาการ ความคิด ความกระตือรือร้นในการค้นหาสิ่งใหม่ๆมาเสริมและประดับความรู้ไปอย่างน่าเสียดาย สุดท้ายนี้ อยากมีความรู้เรื่องปลามากๆ ในทุกแง่มุม อย่าลืม
https://www.genepoolaquarium.com
เช่นเคยครับ มีความสุขกับการเลี้ยงแทงก์เมทให้เหมือนกับการเลี้ยงปลาหลักของตู้นะครับ
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [2 มิ.ย. 53 13:56] ( IP A:58.9.146.74 X: )
ความคิดเห็นที่ 7
ขอบคุณครับบ สวยจริงๆเลย
โดย: ไผ่จีโม๊ะ (truffle_drum
) [2 มิ.ย. 53 20:44] ( IP A:110.168.129.247 X: )
ความคิดเห็นที่ 8
แจ่มครับ
โดย: Harn
[3 มิ.ย. 53 15:39] ( IP A:222.123.194.183 X: )
ความคิดเห็นที่ 9
เป็นปลาที่ผมชอบอีกตัวครับ
โดย: ป_ปลาระเบิด(เกร็ดกระจาย)
[4 มิ.ย. 53 10:27] ( IP A:124.122.228.194 X: )
ความคิดเห็นที่ 10
สวยดีครับ
โดย: ลายเล็ก
[10 มิ.ย. 53 10:23] ( IP A:125.26.47.74 X: )
คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน