โรคสนิม (Velvet Disease) และการรักษา ครับ
   โรคสนิม (Velvet Disease)
จากประสบการณ์การเลี้ยงและการรักษาปลาของผม ก็ได้พบเห็นปลาป่วยมามากมาย ต่างๆกัน วินิจฉัย และรักษายากง่ายต่างๆกัน แต่เท่าที่สังเกตดู ยังมีอีกหลายโรค หลายอาการที่ท่านผู้เลี้ยงปลา ยังสับสนในการวินิจฉัย บางโรค นานๆจะพบสักที บางโรค อาการคล้ายกับโรคอื่นๆ บางโรค ดูไม่ออกเลยว่าเป็นอะไร สาเหตุต่างๆเหล่านี้นำมาซึ่งการรักษาซึ่งผิดวิธี และอาจส่งผลให้ปลาของท่าน ไม่หายจากโรคดังกล่าว หรือหายไปจากโลกก็เป็นได้ วันนี้ ผมจะมาแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับ โรคสนิม กันนะครับ
โรคสนิม หรือ Velvet Disease ฟังดู เหมือนว่าโรคนี้เกิดจากสนิม หรืออะไรทำนองนั้น อันนี้ไม่ใช่นะครับ ไม่เกี่ยวกับสนิมเหล็ก หรือ อะไรพวกนี้ ชื่อโรคดังกล่าวแปลตรงตัวมาจากภาษาอังกฤษ โดยบางครั้ง เราจะเรียกโรคนี้ ตามลักษณะอาการที่มองเห็นภายนอกว่า Gold dust หรือ Rust disease คือมีอาการเหมือนมีสนิมเกาะอยู่ตามตัวปลา มีลักษณะเป็นผงๆสีน้ำตาลหรือสีทอง อะไรทำนองนี้แหละครับ โรคนี้นั้นเกิดจากเชื้อโปรโตซัวร์ ในกลุ่ม ไดโนแฟลกเจลเลต (dinoflagellate) ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวขนาดเล็ก ที่เคลื่อนที่ด้วย flagella ซึ่งมีลักษณะคล้ายแส้ขนาดเล็ก ไว้โบกพัดเพื่อเคลื่อนที่ไปในน้ำ สำหรับเชื้อโปรโตซัวร์ที่ก่อให้เกิดโรคสนิมนั้น แต่ก่อน เรารู้จักกันดีในชื่อของ Oodinium pillularis และยังพบโปรโตซัวร์ชนิดอื่นซึ่งทำให้เกิดโรคดังกล่าวได้อีกเช่น Oodinium limneticum หรือ Oodinium vastotor ซึ่งไม่สามารถที่จะแยกชนิดได้ด้วยตาเปล่า ต่อให้ส่องกล้องดูก็เหอะครับ ถ้าไม่ชำนาญเฉพาะทางจริงๆ ก็ยากนักที่จะจำแนกชนิด แต่ก็พอบอกได้ว่า Oodinium limneticum นั้นจะไม่มี Eye spot ในระยะ Dinospore ต่างจาก Oodinium pillularis เป็นต้น ดังนั้น บางครั้งเราอาจเรียกโรคนี้ว่า โรคออดิเนี่ยมก็ได้ครับ และเรียกชื่อเชื้อรวมๆไปว่า Oodinium sp. แต่ก็ไม่นิยมเรียกกันว่า โรคออดิเนี่ยมเพราะว่า มันจะไปซ้ำกับโรคออดิเนี่ยม ในปลาทะเล ซึ่งเกิดจากเชื้อ Oodinium ocellatum ดังนั้น เรียกมันว่าโรคสนิมนั่นแหละ ดีแล้วครับ ไม่สับสน งงป่าวครับ? แต่ในปัจจุบันนั้น ตามรายงานล่าสุด เราพบว่าเชื้อดังกล่าวที่ทำให้เกิดโรคสนิมในปลาน้ำจืดนั้น ไม่ใช่เชื้อในสกุล Oodinium และ เชื้อที่ทำให้เกิดโรคออดิเนี่ยมในปลาทะเล ไม่ใช่เชื้อ Oodinium ocellatum ตามที่เราเข้าใจกันแล้วล่ะครับ เพราะนักวิทยาศาสตร์ได้จัดการเปลี่ยนชื่อสกุลมันไปเรียบร้อยแล้ว เลยสรุปได้ว่า โรคสนิมในปลาน้ำจืด เกิดจากเชื้อ Piscinoodinium pillularis และ โรคออดิเนี่ยมหรือจุดขาวในปลาทะเล เกิดจากเชื้อ Amy loordinium ocellatum ตามรายงานวิชาการล่าสุด ดังนั้น ชื่อสกุลเก่า ของโปรโตซัวร์ดังกล่าวจึงตกเป็น ชื่อพ้อง หรือ synonym ไปโดยปริยาย อ่านแล้วงงมั้ยครับ ดังนั้น ในหนังสือ หรือบทความเก่าๆ บางอันยังคงใช้ชื่อสกุลเก่า หรือไปพบ หนังสือเล่มใหม่ๆที่ใช้ชื่อสกุลที่ตั้งใหม่ ทุกท่านก็จะได้ทำความเข้าใจที่มาที่ไปได้ง่ายขึ้นนะครับ
ต่อไปเราก็มาทำความรู้จักกับเชื้อโรคตัวนี้กันครับ ลักษณะของเชื้อ Piscinoodinium เป็นสัตว์เซลล์เดียวขนาดเล็ก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 70 ไมครอน

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [15 ม.ค. 49 3:01] ( IP A:58.8.66.66 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
ความคิดเห็นที่ 1
   เราจัดให้เชื้อ Piscinoodinium อยู่ในกลุ่มของไดโนแฟลกเจลเลต ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับสาหร่าย เพราะว่า Piscinoodinium มีรงควัตถุ คลอโรฟิล ซึ่งใช้ในการสังเคราะห์แสงได้เช่นเดียวกับพืช ทำให้เรามองเห็นปรสิตดังกล่าว เป็นสีน้ำตาล สีทอง หรือสีคล้ายๆสนิม แต่ก็ยังมีช่วงชีวิตหนึ่งซึ่งต้องอาศัยเกาะติดกับปลา ในฐานะปรสิตโดยอาศัยอาหารจากตัวปลานั่นเอง เรียกได้ว่า หากินกันสองทางเลยล่ะครับ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กชนิดนี้ จะมี แส้ หรือเรียกว่า แฟลกเจลล่า ขนาดเล็ก ใช้ในการโบกพัดเพื่อการเคลื่อนที่ในน้ำ และยังมีออแกนหรืออวัยวะที่ใช้ในการยึดเกาะกับผิวหนัง ครีบ และเหงือกปลาได้อีกด้วยครับ เรียกว่า Pseudopods หรือ Rhizoids การฝังตัวของออแกนดังกล่าว นอกจากจะดูซับสารอาหารจากตัวปลาได้แล้ว ยังจะสร้างบาดแผลให้กับปลาอีกด้วย ยิ่งเกาะกันหลายๆตัว ก็จะยิ่งสร้างบาดแผลที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนำไปสู่การติดเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อราแทรกซ้อนได้ครับ นอกจากปลาจะตายเพราะโดนทำลายเนื้อเยื้อโดยตรงแล้ว ก็อาจจะตายเพราะการติดเชื้อแทรกซ้อนนี่แหละครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [15 ม.ค. 49 3:03] ( IP A:58.8.66.66 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
   เชื้อ Piscinoodinium นั้นมีวงจรชีวิตคล้ายๆกับ เชื้อ Ichthyophthirius multifiliis หรือ อิ๊ค ซึ่งทำให้เกิดโรคจุดขาวนั่นเองครับ คือ ตัวเต็มวัย (Trophont) เมื่อได้รับสารอาหารจากปลาเพียงพอแล้วจะหลุดออกจากตัวปลา จมลงสู่พื้นตู้ และสร้างลูกหลานขนาดเล็กมากมายอยู่ภายใน 30-200 เซลล์ และแตกออกเป็นตัวเล็กๆมากมาย และว่ายน้ำได้ เราเรียกช่วงนี้ว่า Free swimming form หรือศัพท์เฉพาะว่า Dinospore มีขนาดประมาณ 15 ไมครอน ซึ่งช่วงวัยดังกล่าว เป็นช่วงที่อ่อนแอที่สุด ตัวอ่อนระยะนี้ต้องหาตัวปลาเกาะให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง ถ้าหลังจากนั้นตัวอ่อนก็จะเสียชีวิตครับ เมื่อหาปลาเคราะห์ร้ายได้ มันก็จะสลัด แฟลกเจลล่าทิ้งไป และยึดเกาะกับตัวปลา โดยออแกนที่ชื่อว่า ซูโดพอดส์ หรือ ไรซอยด์ นั่นเอง ดังนั้น เป้าหมายในการใช้ยาหรือสารเคมี จึงใช้เพื่อกำจัดตัวอ่อนระยะนี้นั่นเอง เพราะว่า เมื่อตัวอ่อนเกาะกับตัวปลาแล้ว จะกลายเป็นตัวเต็มวัยซึ่งมีความทนทานต่อสารเคมีสูงกว่าตัวอ่อนหลายเท่านัก การกำจัดตัวเต็มวัย จึงไม่สามารถทำได้ เพราะปลาของเราจะทนสารเคมีไม่ไหวซะก่อนน่ะสิครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [15 ม.ค. 49 3:05] ( IP A:58.8.66.66 X: )
ความคิดเห็นที่ 3
   เราก็รู้จักหน้าตาและข้อมูล ของเจ้าตัวปัญหาตัวนี้กันพอหอมปากหอมคอแล้วนะครับ เราจะสังเกตอาการของโรคสนิมได้ดังนี้ครับ
1. พฤติกรรมของปลา
ปลามีลักษณะเซื่องซึม ว่ายน้ำเอื่อยๆ ผิดจากที่ควรจะเป็น ปลาบางตัวปกติจะคึกมาก แต่ถ้ามีอาการของโรค ก็จะเซื่องซึมจนเราเห็นได้ชัดครับ เช่น ไม่ว่ายมาหา ไม่เล่นกับคน ลอยตัวนิ่งๆเหมือนไม่ค่อยรับรู้อะไรรอบด้าน ลอยหัว หรืออาจจะจอดนิ่งๆตรงก้นตู้ก็ได้ครับ นอกจากนั้น ยังอาจพบอาการว่ายน้ำสั่นๆ เอาตัวถูกับวัสดุต่างๆ หรือ กับตู้ มีการหายใจที่เร็วกว่าปกติ ลักษณะเหมือนกับหอบ อันเนื่องมาจากเชื้อเข้าทำลายเหงือกครับ ซึ่งถ้าเราเปิดเหงือกปลาออกดูจะเห็นว่ามีเมือกถูกขับออกมามากผิดปกติ นอกจากนั้นแล้วอาการดรอปของสี หรือ สีซีดผิดปกติ หรือไม่ก็สีออกดำไปเลย ก็เป็นอาการบ่งชี้อีกอย่างหนึ่ง สำหรับปลาที่เริ่มเป็นโรคครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [15 ม.ค. 49 3:06] ( IP A:58.8.66.66 X: )
ความคิดเห็นที่ 4
   2. ลักษณะภายนอก
ตามลำตัว และครีบ จะมีลักษณะคล้ายกับหุ้มด้วย กำมะหยี่ (Velvet) สีน้ำตาล หรือสีทองคล้ายๆกับเป็นสนิม จางๆ สีดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ขึ้นอยู่กับ สภาพรงค์วัตถุในตัวเชื้อตอนนั้นครับ ดูเผินๆเหมือนปลาตัวดังกล่าวโดนโรยด้วยเกลือหรือพริกไทยอะไรประมาณนั้นน่ะครับ สังเกตง่ายๆคือ จะมีความแตกต่างจาก อิ๊ค ตรงที่ อิ๊ค จะมองเห็นเป็นจุดสีขาวชัดเจน คล้ายๆผงแป้ง แต่ว่า จุดของสนิมจะมีขนาดเล็ก และละเอียดกว่าอิ๊คมากครับ เนื่องจากขนาดที่ต่างกันหลายเท่า โดยอิ๊ค มีขนาดใหญ่ถึง 0.5 ถึง 1 มม. ในขณะที่ Piscinoodinium มีขนาดไม่เกิน 100 ไมครอน เท่านั้นเอง เรียกได้ว่าต่างกันถึง 10 เท่าเลยทีเดียว จำนวนของจุดจะมากขึ้นตามระยะเวลาการเป็นโรคที่มากขึ้นครับ เนื่องจากจุดมีขนาดเล็กมาก เราอาจจะใช้ไฟฉายช่วยส่องก็ได้ครับจะมองเห็นได้ชัดขึ้น นอกจากนั้น ครีบต่างๆเช่น ครีบหลัง ครีบอกที่ใช้ในการโบกพัดว่ายน้ำ ครีบก้น ครีบหาง ครีบท้อง จะมีลักษณะ ลีบลู่ เข้าหาลำตัว และอาจมีลักษณะบิดเบี้ยว หงิกงอได้ เนื่องจากสูญเสียสารอาหารออกไปมากนั่นเอง

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [15 ม.ค. 49 3:07] ( IP A:58.8.66.66 X: )
ความคิดเห็นที่ 5
   แต่อย่างไรก็ตามนะครับ อยากให้เราตระหนักไว้ว่า การที่เรายิ่งเห็นอาการชัดเจนยิ่งขึ้นเท่าไร รุนแรงยิ่งขึ้นเท่าไร ปลาเราก็ใกล้ถึงฆาตมากขึ้นเท่านั้นครับ ดังนั้นการดูอาการผิดปกติให้ได้เร็วเท่าไร ยิ่งดีต่อตัวปลาเท่านั้นครับ การวินิจฉัยนั้น ต้องดูหลายๆอย่างเป็นองค์ประกอบ ไม่เพียงแต่ อาการของปลาเท่านั้น แต่เราต้องมองไปถึง สาเหตุ หรือ ความเสี่ยงในการเกิดโรคด้วยครับ โดยเอาข้อมูลทุกๆอย่างมาวิเคราะห์ประมวลผลร่วมกัน จึงจะได้คำวินิจฉัยที่ถูกต้อง สำหรับสาเหตุของการเกิดโรคมีดังนี้ครับ
1. สภาพการเลี้ยงที่ไม่เหมาะสม
อันนี้สำคัญครับ ปลาป่วย ก็จากสาเหตุนี้ ปลารักษาโรคไม่หาย ก็จากสาเหตุนี้ และสิ่งไม่ดีต่างๆที่จะเกิดขึ้นกับตัวปลา ก็จากสาเหตุนี้ทั้งนั้น ถ้าเรายังไม่สามารถจัดการกับสภาพแวดล้อมในตู้ได้แล้ว เราก็จะรักษาโรคยังไงก็ไม่หายครับ หรือบางคนอาจเถียงว่า อาจหาย แต่ก็ช้านะครับ สภาพแวดล้อมในตู้นั้น มีหลายปัจจัยครับ เช่น ของเสียในน้ำ ระบบกรอง pH อุณหภูมิ ผมคงไม่มาอธิบายวิธีการเลี้ยงปลาตรงนี้ แต่อยากให้ทุกท่านลองศึกษาอ่านดูจากบทความอื่นๆนะครับ และต้องตระหนักไว้เสมอว่า ต้องแก้ไขที่สภาพแวดล้อมก่อนจึงจะไปแก้ที่ตัวปลา บางคนบอกว่า ผมมั่นใจครับว่าผมเลี้ยงปลามาดีแล้ว สภาพทุกอย่างโอเคหมด งั้นเราก็ไปดูสาเหตุอื่นๆกันครับ อ้อ อยากจะเตือนนิดหนึ่งว่า การดูแลเอาใจใส่ปลามากเกินความจำเป็น ก็จะก่อให้เกิดอาการปลาป่วยบ่อยๆได้นะครับ สาเหตุก็มาจาก การทำอะไรที่เกินความจำเป็น หรือ ผิดธรรมชาตินั่นเอง เรารักปลามาก ก็เลยอยากทำอะไรไห้ปลามากๆ เช่น ให้อาหารมากๆ ใส่ยาบำรุงมากๆ ใส่อากาศมากๆ ใส่ยาฆ่าเชื้อโรคมากๆ บ่อยๆ ฯลฯ อันนี้ ก็เรียกว่า เลี้ยงปลาไม่เป็นได้เช่นกันครับ
2. การแกว่งของอุณหภูมิ
ผมขอพูดถึงเรื่องอุณหภูมิสักนิดหนึ่งครับ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน จะสังเกตได้ว่า โรคดังกล่าว มักมาพร้อมกับช่วงเวลาที่มีการแกว่งขึ้นลงของอุณหภูมิในรอบวันมากๆ เช่น ตอนเช้า แดดแรงทั้งวัน ตอนบ่ายฝนตกหนัก ตอนกลางคืนหนาว อะไรแบบนี้ อุณหภูมิของน้ำในตู้ปลา จะได้รับผลกระทบไปเต็มๆเลยนะครับ การแกว่งของอุณหภูมิ นอกจากจะทำให้ปลาอ่อนแอลง มีความต้านทานต่อเชื้อน้อยลงแล้ว ยังทำให้เชื้อมีวัฏจักรการสืบพันธุ์ที่รวดเร็วยิ่งขึ้นด้วยครับ
3.การติดเชื้อจากอาหาร
ทุกท่านที่เลี้ยงปลา ก็อยากให้ปลาของตนแข็งแรง สีสวย เป็นธรรมดาครับ ดังนั้นอาหารอะไรที่ว่าดี ก็พยายามสรรหามาให้ กุ้งฝอยเอย หนอนแดงเอย หนอนนกเอย ฯลฯ กลัวว่าให้อาหารเม็ดอย่างเดียว ปลาจะไม่สวย จริงๆก็มีทั้งข้อดีข้อเสียนะครับ สำหรับอาหารสด ข้อเสียที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คือ เชื้อโรคจากอาหารครับ มันมาแน่นอนครับ จะมากจะน้อยขึ้นกับความสะอาด และสภาพแวดล้อมในตอนนั้น ถ้าปลาเราแข็งแรง เชื้อติดมาน้อย ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าทุกอย่างลงตัวกันหมด ปลาอ่อนแอ เชื้อมาก น้ำในตู้ไม่ดี สภาพอากาศไม่ดี ปลาของคุณก็จะแสดงอาการของโรคออกมาครับ ดังนั้น การหลีกเลี่ยง หรือว่า ทำความสะอาดอาหารสด เช่น แช่ด่างทับทิมเข้มข้น 60 ppm สัก 10 นาที ก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำ
4.การเคลื่อนย้ายปลา
หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกเช่นกันครับ สำหรับการย้ายบ้านใหม่ให้ปลา เช่น การซื้อจากร้านมาลงตู้ที่บ้าน การขอปลาเพื่อนมาเลี้ยง ตลอดจนการย้ายตู้ไปมาภายในบ้านของเราเองนี่แหละครับ อย่าลืมว่า ตู้ปลาแต่ละตู้ มีความแตกต่างกันครับ ถึงแม้จะเป็นตู้ปลาในบ้านเดียวกัน คนเลี้ยงคนเดียวกันก็ตาม ปัจจัยหลายๆอย่างที่ส่งผลให้เกิดความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นขนาดตู้ ตำแหน่งการวางตู้ จำนวน ขนาด ชนิดวัสดุกรอง หรือ กรวดปูพื้น แทงก์เมท การให้อากาศ ระบบกรอง การไหลของน้ำ ความถี่ในการเปลี่ยนถ่ายน้ำ จำนวน หรือชนิดเชื้อโรค หรือ แบคทีเรียในตู้ ฮวงจุ้ย ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้เกิดความแตกต่างทั้งสิ้นครับ ดังนั้น เมื่อปลาย้ายตู้ ไปอยู่ในถุง จากถุง ไปอยู่ตู้ใหม่ ปลาก็ต้องปรับตัว ถ้าปรับตัวได้เร็ว ก็ดีไป ปรับตัวช้า ปรับตัวยาก ก็เครียด เครียดก็อ่อนแอ และป่วยเป็นธรรมดาครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [15 ม.ค. 49 3:08] ( IP A:58.8.66.66 X: )
ความคิดเห็นที่ 6
   ยา สารเคมี และวิธีการรักษา
ในการรักษาโรคปลานั้น นอกจากเราจะต้องเข้าใจโรคแล้ว เรายังต้องเข้าใจปลาด้วยครับ โรคแต่ละโรคต่างกันฉันใด ปลาแต่ละตัวแต่ละสายพันธุ์ หรือชนิด ก็แตกต่างกันฉัน การใช้ยาและสารเคมีตลอดจนวิธีการมีต่างๆกัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในการเลือกใช้ดังนี้
1. ควบคุมอุณหภูมิให้สูงขึ้น และคงที่
อันนี้ หนีไม่พ้นฮีตเตอร์แล้วล่ะครับ ฮีตเตอร์หาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายอุปกรณ์ มีตั้งแต่ยี่ห้อ ไลฟ์เทค ที่ราคาตัวละไม่กี่ร้อยบาท ไปจนถึงอีฮามที่ตัวละพันกว่าบาท ก็เลือกใช้กันตามกำลังทรัพย์ล่ะครับ คำว่า ของดี ต้องราคาแพง ยังใช้ได้อยู่ครับสำหรับฮีเตอร์ปลา แนะนำนิดหนึ่งว่า สำหรับปลาตัวโตๆ ที่นิสัยไม่ค่อยดี คือ ชอบกัดทำลาย ชนโน่นชนนี่ อยากให้ใช้กระเปาะฮีตเตอร์แบบเป็นสเตนเลส ดีกว่าใช้แบบแก้วครับ กันแตก สำหรับกำลังไฟที่จะใช้ให้เหมาะสมกับปริมาตรน้ำอยู่ที่ 1 วัตต์ ต่อน้ำ 1 ลิตร ครับ การเพิ่มอุณหภูมิ เราจะคงที่ไว้ที่ 30 องศาเซลเซียสครับ จะทำให้เกิดการเร่งการสร้างตัวอ่อนของเชื้อ เมื่อเชื้อเข้าสู่ระยะการสร้างตัวอ่อนเร็วขึ้นเท่าใด การรักษาก็ง่ายขึ้นเท่านั้นครับ เพราะอย่างที่บอกไว้แล้วว่า ระยะตัวอ่อนที่ว่ายน้ำหาปลาเกาะนั้น อ่อนแอที่สุด อุณหภูมิที่สูงขึ้น ยังเป็นการเร่งอัตราเมตาบอลิซึ่มของปลา ตลอดจนเร่งการทำงานของภูมิคุ้มกันในตัวปลาให้สูงขึ้นได้ นอกจากนั้น การรักษาอุณหภูมิให้คงที่ ยังช่วยให้ปลาลดอาการเครียดจากการแกว่งของอุณหภูมิในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงได้ด้วยครับ อย่าลืม ให้อากาศเต็มที่ด้วยล่ะครับ
2. การเปลี่ยนถ่ายน้ำ
การเปลี่ยนถ่ายน้ำ นอกจากจะเป็นการเอาของเสีย และยาที่เสื่อมคุณภาพออกแล้ว ทำให้ปลาสดชื่นขึ้นแล้ว ยังเป็นการช่วยลดปริมาณตัวอ่อนของเชื้อในระยะที่ว่ายน้ำได้อีกด้วยครับ เพราะมันก็จะถูกกำจัดทิ้งไปพร้อมกับน้ำนั่นเอง แต่ตระหนักไว้ด้วยว่า น้ำใหม่ควรมีอุณหภูมิเท่าๆกับน้ำในตู้นะครับ การเปลี่ยนถ่ายน้ำเราควรทำทุกวัน ครั้งละประมาณ ไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์
3. การควบคุมปริมาณแสง
ดังที่อธิบายไว้ข้างต้นแล้วนะครับ ว่า เชื้อโรคชนิดนี้ มีคลอโรฟิลอยู่ในเซลล์ จึงสามารถสร้างอาหารได้จากขบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง ดังนั้น เราต้องแกล้งให้มันอดครับ โดยการไม่ให้มันได้รับแสง หรือรับแสงได้น้อยที่สุด วิธีการง่ายๆ ก็คือ การเอากระดาษหนังสือพิมพ์ติดไว้รอบตู้ ระหว่างการรักษานั่นเอง เราอาจทำช่องเล็กๆไว้สำหรับเปิดดูอาการปลาไว้สักช่องหนึ่งก็พอ นอกจากจะช่วยให้เชื้ออ่อนแอได้แล้ว ยังจะทำให้ปลาไม่ตื่นตกใจง่ายในระหว่างการรักษาอีกด้วยล่ะครับ
4. การใช้แสง UV
อันนี้เป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่งเลยครับ เพราะนอกจาก UV จะสามารถฆ่าตัวอ่อนในระยะFree swimming ได้โดยตรงแล้ว UV ยังไม่ส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆในตู้ปลา ตลอดจนตัวปลาเนื่องจาก UV เป็นแสง ไม่ใช่ยาหรือสารเคมี ซึ่งไม่ได้สัมผัสกับตัวปลาโดยตรงและไม่มีสารตกค้างใดๆครับ การใช้ UV ควรจะใช้ร่วมกับวิธีอื่นๆด้วยนะครับ เช่น การควบคุมแสง การถ่ายน้ำ การรักษาอุณหภูมิ ตลอดจนการใช้ยาและสารเคมีถ้าจำเป็น

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [15 ม.ค. 49 3:09] ( IP A:58.8.66.66 X: )
ความคิดเห็นที่ 7
   4. การใช้ยาและสารเคมี
ยาและสารเคมีที่ใช้ในการรักษาโรคนี้มีหลายชนิด ดังนี้ครับ
- Chloroquin เป็นยารักษาโรคมาลาเรียในคนครับ มีสูตรเคมีดังรูป
อัตราส่วนที่ใช้คือ 10 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ถ้ามีการถ่ายน้ำออกจากตู้เท่าใด เราก็ใส่ยาคืนไปเท่านั้นครับ เช่น ตู้ 100 ลิตร ใส่ยาไป 1000 มิลลิกรัม เปลี่ยนถ่ายน้ำออกไป 50 ลิตร เราก็ต้องใส่ยาเพิ่มเข้าไปแค่ 500 มิลลิกรัมครับ ผลการรักษาค่อนข้างดีมากครับสำหรับยาตัวนี้

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [15 ม.ค. 49 3:11] ( IP A:58.8.66.66 X: )
ความคิดเห็นที่ 8
   - Quinine hydrochloride เป็นยารักษาโรคมาลาเรียเช่นกันครับ
มีสูตรเคมีดังรูป
อัตราส่วนที่ใช้คือ 10 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร เช่นเดียวกับ Chloroquin ครับ ใช้ได้ผลดีเช่นกัน

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [15 ม.ค. 49 3:12] ( IP A:58.8.66.66 X: )
ความคิดเห็นที่ 9
   คอปเปอร์(ทู)ซัลเฟต, Copper (II) sulfate
มีสูตรเคมีคือ CuSO4 5H2O ในสภาพที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบ มีลักษณะเป็นผลึกสีฟ้า และจะมีลักษณะเป็นผลึกสีขาวหรือสีเทา ในสภาพที่ปราศจากน้ำ (anhydrous) สำหรับคอปเปอร์ซัลเฟตนั้น เป็นสารเคมีที่ค่อนข้างได้ผลดีครับ สำหรับเชื้อตัวนี้ แต่ต้องตระหนักไว้อย่างหนึ่งว่า ความเป็นพิษของคอปเปอร์ซัลเฟตต่อปลาจะสูงขึ้น เมื่อน้ำมีค่าอัลคาไลน์ลดลง หรือในน้ำอ่อนนั่นเอง การใช้คอปเปอร์ซัลเฟตมีสิ่งที่สำคัญอีกอย่างนึงคือที่ต้องตระหนักคือ ถ้าในระบบกรองหรือในตู้มีถ่านคาร์บอน ก็ให้เอาออกซะนะครับ เพราะมันจะดูดซับคอปเปอร์ซัลเฟตได้ดีมากๆครับ หรือไม่ก็ปิดระบบกรองข้างไปซะชั่วคราว หันมาใช้เป็นกรองฟองน้ำแทน ตลอดระยะเวลาการรักษาได้ ก็จะดีไม่น้อย นอกจากเราจะซื้อยาที่มีส่วนประกอบของคอปเปอร์ซัลเฟตได้จากร้านขายอุปกรณ์เลี้ยงปลาแล้ว เรายังสามารถเตรียมเองง่ายๆโดย การผสม คอปเปอร์ซัลเฟต 1 กรัม ร่วมกับ กรดซิตริก 0.25 กรัม ในน้ำกลั่น 1 ลิตร และนำสารละลายดังกล่าวไปใช้ในอัตราส่วน 12.5 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 10 ลิตร ครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [15 ม.ค. 49 3:15] ( IP A:58.8.66.66 X: )
ความคิดเห็นที่ 10
   - Acriflavine (3,6-Diamino-10-methylacridinium chloride)
อคริฟลาวิน เป็นสีย้อมชนิดหนึ่ง มีชื่อเรียก อื่นๆเช่น CF,Euflavine ,Gonacrine,Trypaflavin
มีลักษณะเป็นผงละเอียดสีแดงอิฐ เมื่อเจือจางในน้ำจะมองเห็นเป็นสีเขียวสดใสใช้ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ในวงกว้าง และยังสามารถกำจัดปรสิตในระยะตัวอ่อนได้หลายๆชนิดอีกด้วย เราใช้ยาตัวนี้ในการทาแผลสด แผลเปื่อยสำหรับคน ในชื่อของยาเหลือง และในปลา สารเคมีชนิดนี้ยังเป็นส่วนประกอบในตัวยารักษาโรคปลามากมายในท้องตลาดครับ มีสูตรเคมีดังนี้ครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [15 ม.ค. 49 3:16] ( IP A:58.8.66.66 X: )
ความคิดเห็นที่ 11
   อคริฟลาวินนั้นหาซื้อได้ตามร้านขายยาคน หรือ ร้านขายสารเคมีใหญ่ๆ จะได้ในราคาถูกกว่า สำหรับในการรักษาโรคสนิมนั้น เราพบว่าได้ผลในระดับปานกลาง แต่จะได้ผลดีมาก ถ้าใช้ร่วมกับยาและสารเคมีตัวอื่นๆครับ เช่น ใช้ร่วมกับคอปเปอร์ซัลเฟต เพราะนอกจากจะช่วยในการกำจัดปรสิตตัวอ่อนแล้ว ยังช่วยในการป้องกันและรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนจากบาดแผลได้อีกด้วย สำหรับปริมาณการใช้นั้น เราสามารถเตรียมเองได้ดังนี้ครับ โดยผสม อคริฟลาวิน 1 กรัม ในน้ำกลั่น 1 ลิตร และนำสารละลายดังกล่าวไปใช้ ในอัตราส่วน 1 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 1 ลิตร ครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [15 ม.ค. 49 3:19] ( IP A:58.8.66.66 X: )
ความคิดเห็นที่ 12
   - สารเคมีอื่นๆ
ในหนังสือเก่าๆบางเล่ม อาจแนะนำให้ใช้สารเคมีอื่นๆได้ เช่น เกลือ 1 เปอร์เซ็นต์ แช่ตลอด หรือ ฟอร์มาลีน 50 ppm แช่ตลอด เป็นต้น ตัวผมเองแนะนำว่าสารเคมีดังกล่าว ไม่ได้ผลในการรักษาโรคเท่าที่ควรครับ ซ้ำยังส่งผลร้ายต่อตัวปลาได้อีกด้วย เช่น ฟอร์มาลีน ซึ่งมีความเป็นพิษสูง และ ลดออกซิเจนในน้ำ ส่วนเกลือ เราใส่เสริมได้ครับเพื่อช่วยในการแลกเปลี่ยนไอออนของปลาในอัตราส่วนเพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์ ก็น่าจะเพียงพอแล้ว ผมแนะนำว่า ให้ใช้สารเคมี และวิธีการข้างต้น ก็สามารถรักษาโรคนี้ได้อยู่หมัดแล้วล่ะครับ
สุดท้ายนี้ ก่อนจากกัน อยากจะทิ้งท้ายไว้ว่า ผมได้รวบรวมวิธีการรักษา ตลอดจนสารเคมีและยาเอาไว้ตรงนี้ค่อนข้างเยอะพอสมควร การที่เราจะตัดสินใจจะใช้วิธีรักษา หรือ ใช้ยาหรือสารเคมีใดๆนั้น ต้องดูจากความเหมาะสมเป็นสำคัญนะครับ มันขึ้นอยู่กับ ปลา และ ระบบการเลี้ยงปลาของเรา เช่น ถ้าเราเลี้ยงปลาในตู้ขนาดใหญ่มากๆ การใช้ยา หรือ การควบคุมอุณหภูมิ อาจจะยากกว่าการใช้แสง UV หรือ การเลี้ยงปลาร่วมกันหลายๆตัว หลายๆชนิด โดยไม่สามารถแยกไปตู้อื่นได้ เราต้องดูด้วยนะครับว่า ปลาชนิดอื่นๆของเราเนี่ย มันแพ้ยา สารเคมี หรือวิธีใดๆของเราหรือเปล่า อะไรที่ส่งผลเสีย ก็ไม่ต้องทำ ทำแต่วิธีการที่ปลอดภัย เพราะว่า วิธีการต่างๆนอกจากใช้ร่วมกันหลายๆวิธีแล้วได้ผล การแยกทำแต่ละวิธีด้วยความเหมาะสม ก็ยังได้ผลเช่นกันนะครับ เช่น การเพิ่มอุณหภูมิอย่างเดียว ก็อาจรักษาปลาหาย โดยที่ไม่ต้องใช้ยาหรือสารเคมี เป็นต้น ดังนั้น การตัดสินใจ จึงต้องขึ้นกับ ประสบการณ์ เป็นสำคัญ ว่าเราควรจะต้องใช้วิธีการไหน มากน้อยแค่ไหน อย่างไร นานแค่ไหน ฯลฯ บางครั้งประสบการณ์ ก็เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองครับ หลายๆอย่างรวมกันเข้า คุณ ก็จะรักษาโรคปลาได้ จริงไหม? ผมเอง ได้มีโอกาสมาเขียนบทความลงหนังสือเล่มนี้ครั้งแรก ก็ขอแทรกข้อคิดไว้ยาวหน่อยนะครับ หวังว่าคงไม่รำคาญกัน ถ้ามีความผิดพลาดประการใดเกิดขึ้นในบทความนี้ ผมขอกราบขออภัยไว้ ณ. ที่นี้ด้วยนะครับ บทความนี้ ใช้เวลาเขียนเพียงคืนเดียวอีกตามเคย ง่วงนอนมากครับ ขอตัวล่ะครับ โชคดีและมีความสุขกับการเลี้ยงปลาครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [15 ม.ค. 49 3:24] ( IP A:58.8.66.66 X: )
ความคิดเห็นที่ 13
   แจ่มมากคับ
โดย: ชายฝั่ง [24 พ.ย. 50 21:54] ( IP A:125.26.2.123 X: )

คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน