โรคเชื้อราและการรักษา
   เชื้อรานั้นก็เป็นสาเหตุของการป่วยที่สำคัญอย่างหนึ่งของปลาที่เราหลีกเลี่ยงแทบไม่ได้เลยครับ มันจะเกิดขึ้นเสมอเมื่อปลาเราอ่อนแอและสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการเกิดโรค แต่ปลาของเราจะไม่แสดงอาการใดๆของเชื้อราเลยถ้ามันยังแข็งแรงอยู่ ถึงแม้ว่าจะมี สปอร์ ของเชื้อราอยู่ในน้ำเสมอก็ตามครับ เชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคในปลาจัดอยู่ในครอบครัว Saprolegniaceae และจัดอยู่ในสกุล Saprolegnia ซึ่งพบในปลาน้ำจืดทั่วไป ชนิดที่รู้จักกันดี และมีความรุนแรงสูงก็คือ Saprolegnia parasitica และยังมีเชื้อราอีกสกุลหนึ่งคือ Branchiomyces ซึ่งจะเข้าทำลายเหงือกโดยเฉพาะเราเรียกโรคนี้ว่า Gill rod ส่วนเชื้อราสกุลอื่นๆก็เช่น Achyla เป็นต้นครับ เชื้อรานั้นสืบพันธุ์ด้วยการสร้างสปอร์ (Spore) ซึ่งมีความคงทนต่อความร้อน สารเคมี ความแห้งแล้งได้เป็นอย่างดี เชื้อรานั้น จะมีลักษณะเป็นเส้นใยสีขาวเรียกว่า ไฮฟี่ (Hyphe) ซึ่งมารวมกันเป็นกลุ่มก้อนคล้ายสำลีเรียกว่า ไมซีเลี่ยม (Mycelium) การติดเชื้อราในปลานั้น ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการติดเชื้อแทรกซ้อน (Secondary infection) ซึ่งหมายความว่า ปลาที่จะเกิดโรคเชื้อรามักจะมีสาเหตุมาจากการเกิดโรค หรือ สาเหตุอื่นๆก่อน เช่น น้ำเสีย สภาพการเลี้ยงที่เลวร้าย ปลาขาดสารอาหารที่พอเพียง เครียด การเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำฉับพลัน การบาดเจ็บทางกายภาพ การติดเชื้อแบคทีเรีย และปรสิต เป็นต้น ซึ่งหลังจากสาเหตุดังกล่าวแล้ว เชื้อราก็อาจตามมาครับ สาเหตุใหญ่ๆที่มักจะเป็นบ่อเกิดของโรคเชื้อรา ก็คือ อาการบาดเจ็บทางกายภาพของปลานั่นเอง บางท่านคงเคยเจอเหตุการณ์แบบที่ว่า ปลาโดนกัดเป็นแผลขนาดใหญ่ กว้าง เกล็ดหลุดเป็นบริเวณกว้าง ปลากระโดดออกมาแห้งแต่ยังไม่ตายแล้วใส่กลับเข้าตู้ได้ทัน หลังจากที่แผลดังกล่าวมีการบวมแดงช้ำแล้ว ก็มักจะมีอาการอย่างหนึ่งตามมาเสมอคือ เกิดปุยขาวๆคล้ายสำลีเกิดขึ้นในบริเวณแผลดังกล่าว นั่นก็คือเชื้อรานั่นเองครับ โดยธรรมชาติแล้ว เมือกของปลา และเกล็ดปลาจะเป็นตัวต่อต้านเชื้อราได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าปลาสูญเสียเมือก หรือเกล็ดออกไปมากเพียงพอด้วยสาเหตุใดๆ ปลาก็จะไม่สามารถต้านทานเชื้อราได้ในบริเวณแผลดังกล่าวจนเกิดโรคเชื้อราในที่สุดครับ

รูปแสดงอับสปอร์ของเชื้อรา

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [20 เม.ย. 49 1:28] ( IP A:58.9.145.44 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
ความคิดเห็นที่ 1
   อาการของโรคจากเชื้อรา
ที่เราพบเห็นอยู่บ่อยๆสำหรับเชื้อรานั้น ก็คือ เชื้อราบนไข่ปลา ไข่ปลาทีไม่ได้รับการผสม และกำลังเน่าสลายนั้น สามารถเกิดการติดเชื้อราได้เป็นอย่างดีครับ ผู้เพาะพันธุ์ปลาทุกท่านย่อมเคยเจอเหตุการณ์นี้ คือ มีปุยขาวๆคล้ายสำลีขึ้นบริเวณผิวไข่ที่กำลังเน่า และถ้าไม่ได้รับการป้องกัน ก็อาจจะลามไปยังไข่ที่ยังมีชีวิตอยู่ ทำให้ไข่ส่วนนั้นตาย เนื่องจากขาดออกซิเจนเมื่อโดนเส้นใยของเชื้อราคลุม และก็จะตายกลายเป็นอาหารของเชื้อราต่อไปเรื่อยๆ ส่วนเชื้อราบนตัวปลานั้น จะพบบริเวณแผลดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น มีลักษณะคล้ายปุยสำลี สีขาวคลุมอยู่ บางครั้งปุยดังกล่าวอาจมีสีเทา ไปจนถึงสีน้ำตาล ในบริเวณบาดแผลปลาที่ปราศจากเมือกและเกล็ดนั้น จะง่ายต่อการเข้าทำลายของเชื้อราแม้เพียงเส้นใยเดียว ก็สามารถเจาะเข้าทำลายกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดอาการเลือดไหล หนอง ซึ่งเป็นอาหารอย่างดีของเชื้อรา จนเจริญเติบโตขึ้นปกคลุมบริเวณดังกล่าว กล้ามเนื้อบริเวณนั้นจะตาย และโดนทำลายไปเรื่อยๆครับ ปลาจะตายเนื่องจากพิษบาดแผล หรือ ตายเนื่องจากสูญเสียแรงดันออสโมติกภายในร่างกาย ก็คือหมายความว่า ปลาจะได้รับน้ำเข้าสู่ร่างกายมากผิดปกติจากบาดแผลดังกล่าวนั่นเอง อีกทั้งยังสูญเสียแร่ธาตุต่างๆออกจากร่างกายทางบาดแผลอีกด้วย ปลาที่มีเชื้อราเกิดขึ้นบริเวณลำตัว อาจยังสามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติ กินอาหารได้ แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ก็ยากนักที่เชื้อราจะหายไปเองครับ ส่วนเชื้อราที่เข้าทำลายเหงือกคือ Branchiomyces นั้น จะทำให้ปลาตายได้ในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากเข้าทำลายเหงือกซึ่งเป็นอวัยวะที่ใช้หายใจโดยตรง ปลาจะแสดงอาการหอบ ลอยหัวเหนือผิวน้ำเพื่อฮุบอากาศ เมื่อเราเปิดกระดูกปิดเหงือกออกดู จะเห็นสีเหงือกบางส่วนเป็นสีน้ำตาลคล้ำ หรือสีเทาครับ แสดงให้เห็นว่าเนื้อเยื่อเหงือกบริเวณนั้นติดเชื้อราและตายไปแล้ว ในบางกรณีเชื้อรายังสามารถเข้าทำลายสมอง ทำให้เกิดอาการเคลื่อนไหวผิดปกติ ตาบวม หรือเข้าทำลายตับ หรือ รังไข่ได้อีกด้วย มีอีกโรคหนึ่งซึ่งคล้ายคลึงกับเชื้อรามาก เราเรียกว่าโรค Columnaris ซึ่งเป็นโรคจากแบคทีเรียชนิดหนึ่งชื่อ Chondrococcus columnaris แต่จะแสดงอาการคล้ายมีเส้นใย เป็นปุยๆขึ้นบริเวณลำตัว และบริเวณรอบๆปาก ซึ่งมักเรียกว่า Cotton mouth Disease ครับ

รูปแสดงไข่ปลาที่ติดเชื้อรา

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [20 เม.ย. 49 1:29] ( IP A:58.9.145.44 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
   การป้องกันโรคจากเชื้อรา
การป้องกันเชื้อราที่ต้นเหตุ นั้นสำคัญครับ เชื้อราจะอาศัยอยู่ในน้ำที่มีสารอินทรีย์ที่เกิดจากซากพืชซากสัตว์อยู่สูง ดังนั้น การรักษาความสะอาดในตู้ และการเปลี่ยนถ่ายน้ำอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญ อย่าให้เกิดอาหารตกค้าง โดยเฉพาะอาหารสดทั้งหลายซึ่งเป็นอาหารอย่างดีของเชื้อรา รวมทั้งขี้ปลาและตะกอนอื่นๆด้วยครับ แค่นี้ เราก็สามารถลดจำนวนเชื้อราในตู้ของเราลงไปได้เยอะครับ แต่ยังไงๆ ก็กำจัดไม่หมดเกลี้ยงหรอกครับ เราแค่ลดปัจจัยลงไปเท่านั้น สปอร์ของเชื้อราทนทานมากๆครับ ที่สำคัญคือการเลี้ยงปลาให้สุขภาพดีอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการบาดเจ็บ ขาดอาหาร หรือ น้ำเสีย ฯลฯ ปลาของเราก็จะสามารถต้านโรคเชื้อราได้เป็นอย่างดี


รูปแสดงปลาที่ติดเชื้อรา

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [20 เม.ย. 49 1:36] ( IP A:58.9.145.44 X: )
ความคิดเห็นที่ 3
   การรักษาโรคจากเชื้อรา
ก่อนที่จะทำการใช้ยาและสารเคมีใดๆนั้น ขอให้ทุกท่านกำจัดปัจจัยต่างๆที่เอื้ออำนวยต่อการเกิดเชื้อราก่อนนะครับ อีกทั้งเตรียมความพร้อมเพื่อการรักษาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างที่ทราบกันแล้วว่า เชื้อราจะอาศัยอยู่บนสารอินทรีย์หรือของเน่าเสียต่างๆในตู้ สิ่งที่ต้องทำก็คือ ต้องทำความสะอาดระบบกรอง ถ้ามีถ่านคาร์บอน หรือ ซีโอไลต์ ก็ให้เอาออกนะครับเพราะมันจะดูดซับยาของเราไปหมด หรือ ปิดระบบกรองไปเลยก็ดีครับ ในกรณีหลายๆท่านที่ชอบใช้กรองใต้ทราย ก็ควรเอาออก กรวดและแผ่นกรองออกเสียถ้าเป็นไปได้ หรือจะย้ายไปตู้พยาบาล (hospital tank) เลยก็ดีครับ การรักษาควรเป็นตู้โล่ง ที่ง่ายต่อการทำความสะอาดและเปลี่ยนน้ำ มีกรองฟองน้ำสักอันก็ดีครับเพื่อดักจับตะก่อนแขวนลอยต่างๆ ให้อากาศเต็มที่ ส่วนเรื่องอาหารนั้น ถ้าปลายังกินอาหารอยู่ เราก็ให้มันกินได้แต่เพียงเล็กน้อยก็พอครับ กันปลาโทรม


รูปแสดงวงจรชีวิตของเชื้อรา

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [20 เม.ย. 49 1:39] ( IP A:58.9.145.44 X: )
ความคิดเห็นที่ 4
   สำหรับการรักษาด้วยสารเคมีนั้นนั้น สำหรับไข่ปลา เราจะแช่ไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว ด้วย Formalin 1500 ppm (มิลลิกรัมต่อลิตร) เป็นเวลา 10 หรือแช่ด้วยเมทิลีนบลู (methylene blue) 3 - 5 mg/l ตลอดไปหรือแช่ด้วยมาลาไคท์กรีน (Malachite Green oxalate zinc free) 0.5 ppm ตลอดไป

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [20 เม.ย. 49 1:40] ( IP A:58.9.145.44 X: )
ความคิดเห็นที่ 5
   ส่วนสำหรับเชื้อราบนตัวปลานั้น เราจะใช้สองวิธีในการรักษาคือ วิธีการแช่ เราจะแช่ด้วยมาลาไคท์กรีน ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้กำจัดเชื้อราได้ดีที่สุดสำหรับปลา มาลาไคท์กรีนนั้นเป็นส่วนผสมหลักของยาหลายๆยี่ห้อในท้องตลาด เช่น มาลากรีนเอฟ ไบโอน๊อค ฯลฯ ถ้าเราใช้ยายี่ห้อพวกนี้ ก็ให้แช่ตามอัตราส่วนที่ระบุไว้ข้างขวดนะครับ เนื่องจากความเข้มข้นในแต่ละยี่ห้อนั้นไม่เท่ากัน แต่ถ้าเราใช้มาลาไคท์กรีนในรูปแบบผง เราจะใช้ในอัตราส่วน 0.1 - 0.15 ppm ร่วมกับการเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกๆ 3 วันและใส่ยาใหม่อีกครั้งจนกว่าปลาจะหาย วิธีนี้เหมาะสำหรับ ใช้กับปลาเล็ก หรือการติดเชื้อเป็นจำนวนมาก หรือปลาที่ติดเชื้อราในเหงือก แต่มีข้อเสียคือ ต้องใช้ยาเป็นจำนวนมาก และอาจส่งผลกระทบต่อปลาชนิดอื่นๆด้วย เนื่องจากมาลาไคท์กรีนมีความเป็นพิษสูง ต่อปลาหลายๆชนิด
อีกวิธีคือการทาบริเวณแผล โดยใช้น้ำยามาลาไคท์กรีนที่วางขายตามท้องตลาดทั่วไป เช่น มาลากรีนเอฟ ฯลฯ มามายหลายยี่ห้อ ให้นำสำลี ชุบน้ำยาหมาดๆ มาเช็ดบริเวณแผลซึ่งมีลักษณะปุยฝ้าย โดยจับปลาขึ้นมาเช็ดเอาปุยฝ้ายดังกล่าวออกให้มากที่สุด เมื่อเช็ดหมดแล้วให้ทาแผลดังกล่าวด้วยน้ำยา เยนเชียนไวโอเลต หรือ อคริฟลาวิน หรือ โพวิโดนไอโอดีน ก็ได้ครับ ก่อนปล่อยปลาลงตู้ วิธีนี้จะมีข้อดีคือ ได้ผลรวดเร็ว และไม่เปลืองสารเคมี อีกทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อปลาอื่นๆในตู้ด้วย แต่วิธีนี้เหมาะกับปลาใหญ่ และต้องอาศัยความระมัดระวังในการทำด้วยครับ นอกจากนั้นยังมีวิธีการอื่นๆอีกเช่น การแช่ปลาด้วยมาลาไคท์กรีน เข้มข้น 1 to 3 ppm เป็นเวลา 1 ชั่วโมง หรือ 60 ppm เป็นเวลา 10-30 วินาที เป็นต้น
ยังมียาอีกยี่ห้อหนึ่งซึ่งใช้รักษาโรคจากเชื้อราได้ผลดี และเป็นพิษต่อปลาน้อย ก็คือ ยา ฟังกัส (Fungus) ที่เรารู้จักกันดีนั่นเองครับ ยาฟังกัสที่วางขายในประเทศไทย ถูกผลิตมาจากประเทศต่างๆหลายประเทศเช่น อเมริกา สิงคโปร์ และมาเลเซีย เป็นต้น ส่วนใหญ่จะนิยมใช้ของอเมริกากันมากที่สุดครับ เพื่อเชื่อกันว่ามีคุณภาพดีกว่าจากประเทศอื่น ยาฟังกัสจะเป็นผงบรรจุอยู่ในแคปซูลขนาดประมาณ 250 มิลลิกรัม ตัวยาจะมีส่วนผสมของ มาลาไคท์กรีน ในรูปแบบผง เป็นหลักเช่นกัน โดยจะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วิคตอเรียกรีนบี และยังมีส่วนผสมของสารเคมีอื่นๆอีก ที่มีผลต่อเชื้อรา และช่วยในการกำจัดแบคทีเรีย ที่มักจะติดเชื้อแทรกซ้อนบริเวณแผลที่เกิดเชื้อราอีกด้วย เช่น acriflavine หรือ neutroflavine เป็นต้นครับ นอกนั้นอาจมีสารเคมีอื่นๆผสมบ้าง ซึ่งอาจเป็นความลับของบริษัทผลิตยาครับ สำหรับอัตราส่วนที่ใช้นั้น ให้ดูจากข้างขวดของยาแต่ละยี่ห้อได้เลย เท่าที่ประมาณก็คงไม่เกิน 0.2 ppm ครับ
ส่วนสารเคมีอื่นๆที่ใช้ในการรักษาเชื้อราได้ เช่น ด่างทับทิม (Potassium permanganate) แช่ด้วยความเข้มข้น 0.01 ppm เป็นเวลา 30 นาที หรือแช่ด้วยความเข้มข้น 1 ppt (กรัมต่อลิตร) เป็นเวลา 30-40 วินาที

เราจะใช้วิธีไหนก็ขึ้นกับความเหมาะสมสำหรับสถานการณ์ที่ท่านประสบอยู่ครับ วิจารณญาณเป็นสิ่งสำคัญ อย่าเชื่อใครโดยไม่ได้ไตร่ตรอง หรือค้นคว้าหาเหตุผลก่อน แม้กระทั่งผมเองก็อย่าพึ่งเชื่อครับ
สรุปแล้วก็จะเห็นได้ว่า ยังไงๆก็ตาม เราไม่สามารถกำจัดเชื้อราให้หมดไปจากตู้ปลาเราได้ครับ เพราะสปอร์ของมันทนทานมาก และมีอยู่ทุกที่ ทั้งในน้ำ ในอาหาร ในหิน ทราย ในระบบกรอง บนผิวหนังปลา ฯลฯ ดังนั้น การเลี้ยงปลาให้แข็งแรง ต่อต้านโรคภัยไข้เจ็บได้ จึงเป็นประเด็นสำคัญที่เราควรใส่ใจ มากกว่าที่จะมานั่งคิดว่า จะกำจัดให้เชื้อโรคหมดไปอย่างไร บางคน ปลาแข็งแรงอยู่ดีๆ แต่ก็วิตก กลัวโน่น กลัวนี่ อุตสาห์ไปหาซื้อยาสารพัดมาใส่ เพียงเพราะคิดว่า มันจะช่วยฆ่าเชื้อโรคต่างๆในน้ำได้หมด ปลาจะได้ไม่เป็นโรค ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดเอามากๆ ไม่เพียงแต่ไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคได้หมดแล้ว ยังจะทำให้ปลาอ่อนแอลงจากการต่อต้านกับยาและสารเคมีที่ท่านใส่ลงไปด้วย ผลก็คือ ปลาอ่อนแอและเป็นโรคอีกนั่นแหละ จำเอาไว้ว่า การเลี้ยงปลาแบบปลอดเชื้อนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ มีแต่ปลากระป๋องเท่านั้นแหละครับ ที่ต้องผ่านขบวนการ สเตอริไลส์ (Sterilization) และปิดผนึกเป็นอย่างดี จึงจะอยู่ในสภาพปลอดเชื้อ หรือมีเชื้อน้อยที่สุด แต่ปลากระป๋องนั้น ตายแล้วครับท่าน สงสัยอะไรเพิ่มเติม ติดต่อสอบถามผ่านเวปไซด์ https://gene-pool-aquarium.pantown.com/ ได้เสมอครับ สวัสดีครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [20 เม.ย. 49 1:42] ( IP A:58.9.145.44 X: )
ความคิดเห็นที่ 6
   สำหรับโรคจุดขาวแล้ว ขอแนะนำยา
RoF Anti Ich & Fungus นะครับ
ไม่มีส่วนผสมของ มาลาไคท์กรีน และ ฟอร์มาลีน ตลอดจนสารก่อมะเร็ง หรือสารเคมีที่มีผลข้างเคียงสูงต่อปลา
จึงสามารถใช้ได้กับปลาทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น อโรวน่า กระเบน แคทฟิช เสือตอ ฯลฯ และปลาหมอสีทั่วไปทุกชนิดครับ โดยไม่ต้องกังวลเรื่อง อาการแพ้ยาของปลา
ใช้รักษาโรคเชื้อราได้ผลดีเยี่ยมด้วยนะครับ
นอกจากนั้นยังใช้ ป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน จากการติดจุดขาว และเชื้อรา
อีกทั้งใช้แช่ หรือ ล้างปลาเหยื่อ อาหารสดต่างๆ เพื่อป้องกันโรคได้เป็นอย่างดี และปลอดภัยครับ

โทรมาที่ 0891206101 ขอบคุณครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [29 ส.ค. 50 23:34] ( IP A:58.9.142.66 X: )
ความคิดเห็นที่ 7
   ตามลิงค์ต่อไปเลยครับ
https://www.pantown.com/board.php?id=2888&area=4&name=board9&topic=138&action=view
โดย: เจ้าบ้าน [21 ต.ค. 51 12:06] ( IP A:58.9.140.183 X: )

คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน