Gene-Pool-Aquarium.pantown.com
สาระน่ารู้กับ RoF <<
กลับไปหน้าแรก
การศัลยกรรมปลาอโรวาน่า
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจเบื้องต้นถึงธรรมชาติของปลาอโรวาน่ากันก่อนนะครับ ปลาอโรวาน่านั้น โดยพื้นฐานจริงๆ เป็นปลาที่ขี้ตกใจ(มากๆ) มักจะมีสัญชาติญาณความระวังภัยสูงมาก ตลอดจนมีประสาทสัมผัสที่ดี โดยเฉพาะตา ระบบรับความสั่นสะเทือนโดยเส้นข้างตัว ตลอดจนการดมกลิ่น ดังนั้น ปลาอโรวาน่าที่เรานำมาเลี้ยงนั้น จึงมีโอกาสตื่นตกใจได้ง่ายมากแม้จะฝึกให้เชื่องหรือเลี้ยงมานานแค่ไหนแล้วก็ตามครับ ไม่ว่าจะเป็น การมองเห็นสิ่งที่ทำให้มันตกใจ หรือไม่ไว้วางใจโดยตรง หรือ ความสั่นสะเทือนที่ผิดปกติ ล้วนแล้วแต่ทำให้มันตกใจได้ทั้งสิ้น และผลของการตกใจ ก็คือ มันจะมีพฤติกรรมหนีไปจากที่ที่มันอยู่อย่างรวดเร็วรุนแรงที่สุดเท่าที่ความตกใจจะผลักดัน เรียกง่ายๆว่า พุ่ง แล้วอะไรจะตามมาล่ะครับ ขอบตู้กระจกแข็งๆ ก็ตาม ฝาตู้คมๆ ก็ตาม หรือไม่ก็กระโดดเข้าช่องกรองไปเลย หรือพุ่งออกมานอกตู้ หรือร้ายแรงที่สุด คือชนตู้แตก ทั้งนี้ ล้วนแล้วแต่ทำให้ปลาบาดเจ็บ ได้ทั้งนั้นครับ การบาดเจ็บจะนำมาซึ่งความเสียหาย หรือตำหนิบนตัวปลามากมาย ที่ไม่เป็นที่พึงประสงค์ของนักเลี้ยงปลาอโรวาน่าทั้งสิ้น เช่น ครีบหัก ครีบขาด หนวดขาด เกล็ดหลุด แผลถลอกฯลฯ มากมายนัก หนักหนาสาหัสต่างๆกัน โดยเฉพาะปลาอโรวาน่าในกลุ่มเอเชียทั้งหลายแหล่ซึ่งมีราคาสูงและเป็นที่นิยมสูงสด ล้วนแล้วแต่มีความบอบบาง ของครีบ และเกล็ดมากที่สุดเป็นเงาตามตัว บางครั้งมันก็ซ่อมแซมตัวเองได้และหายเป็นปกติหรือเกือบปกติ แต่ในหลายๆกรณีครับ ซึ่งมันไม่สามารถกลับมาหายเป็นปกติ หรือสวยดั่งเดิมได้ด้วยตนเอง เราจึงมีเทคนิควิธีการที่จะช่วยมันดังที่จะกล่าวต่อไปครับ นอกจากอุบัติเหตุแล้ว ก็ยังมีอีกหลายสาเหตุครับที่ทำให้ปลาเราเกิดตำหนิได้เช่นกัน มากมายครับ ซึ่งสาเหตุหลักๆ อยู่ที่สภาพการเลี้ยงที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพน้ำครับ อาการที่เกิดขึ้นยอดนิยมก็เช่น อาการหนวดปลาหมึก อาการตาตกผิดปกติ และอาการเหงือกอ้า หรือเหงือกพับ อาการเกล็ดกร่อน ครีบกร่อน เป็นต้นครับ เรามาดูวิธีการง่ายๆในการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุกันครับ
ก่อนอื่นที่เราจะทำการศัลกรรมอโรวาน่านั้น เราต้องวางยาสลบครับ แนะนำว่า ให้วางในทุกกรณีไม่มีข้อยกเว้นครับ ไม่ควรทำโดยที่ไม่ได้วางยาเด็ดขาด เพราะมันจะเละมากขึ้นครับ อันนี้ทดลองกันได้ ก่อนวางยานั้น มีสิ่งสำคัญที่ควรเตรียมก็คือ ต้องงดอาหารปลาครับ งดไปเลย อย่างน้อยที่สุด 2 วันกำลังดี หรือมากกว่านั้นถ้าเป็นปลาใหญ่ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการอ๊วกของปลาเวลาโดนยาสลบ หรืออาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย และติดเชื้อภายในช่องทางตามมาภายหลัง หรือเกิดอาการช๊อคได้ถ้าปลาอิ่มเกินไปแล้วโดนวางยา แต่เอาเข้าจริงๆ ผมก็วางยาปลากินอิ่มมาแล้วมากมายครับ ยังไม่เคยเจอปัญหาอย่างว่าสักที แต่เราต้องมั่นใจนะครับ ว่าถ้าเจอปัญหาอื่นตามมาแล้ว เราจะแก้ไขมันได้ทันท่วงที จึงจะเอาอย่างผม และเมื่ออดอาหารปลาเรียบร้อยแล้วก็เตรียมอุปกรณ์ตามนี้ครับ
อุปกรณ์
1. ถุงสำหรับจับปลา แนะนำว่า ควรเป็นถุงที่มีความหนาและเหนียวมากๆครับ และมีขนาดใหญ่กว่าตัวปลา อย่างน้อย 1.5 เท่าในความกว้าง และสูง อย่างน้อย 2.5 เท่าเมื่อเทียบกับตัวปลา
2. ยาสลบ มีมากมายหลายยี่ห้อ หลายตัวยาครับ ทั้งจากน้ำมันกานพลู, MS-222, ควินาดีน ฯลฯ ไม่แน่นำชนิดใดเป็นพิเศษครับเพราะไม่ได้ค่าโฆษณา ยาพวกนี้มีวางขายทั่วไปตามร้านอุปกรณ์ปลาใหญ่ๆครับ
3. อุปกรณ์ผ่าตัด เช่น มีดผ่าตัด ปากคีบ กรรไกรผ่าตัด หรือจะใช้ของผิดประเภทก็ได้ครับ ไม่ซีเรียส เช่น กรรไกรตัดกระดาษ(คมๆ)เป็นต้น
4. ผ้าขนหนูผืนใหญ่ๆ สำหรับวางปลาหรือห่อปลา ชุบน้ำให้ชุ่ม แล้วปูไว้บนเขียงเลยครับ
5. เขียง สำหรับหั่นปลาครับ นิยมใช้ โฟมแข็งๆ
6. ยาป้องกันการติดเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน(เบตาดีน) อคริฟลาวิน (ยาเหลืองใส่แผล) หรือ เยนเชียลไวโอเลต(ยาม่วง) เป็นต้น
7. อ่างน้ำสำหรับพื้นปลา หรือล้างตัวปลา ควรเป็นอ่างขนาดใหญ่กว่าตัวปลา อย่างน้อย 2 เท่าครับ นิยมใช้ลังโฟม และใส่หัวทรายให้อากาศเตรียมไว้ด้วยครับ เอาแรงๆ
8. กระชอนขนาดใหญ่ เอาไว้ต้อนปลาเข้าถุงได้ง่ายขึ้น
9. สำลี สำหรับทาแผลปลา
วิธีการจับปลาและวางยาสลบ
การจับปลาถือเป็นจุดเริ่มต้น และเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินการเลยล่ะครับ เพราะว่าถ้าจับพลาดแล้ว มันจะเละครับ เข้าใจได้ง่ายๆเลย การจับปลาเพื่อที่จะมาวางบนเขียง หรือเพื่อการใดๆก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีรายละเอียดข้อปลีกย่อยมากมายให้เราได้คิดและตัดสินใจครับ ไม่มีหลักการตายตัวเลยว่าจะต้องทำแบบนั้นแบบนี้ ไปทุกๆสถานการณ์ เรามาดูหลักการและแนวทางกันดีกว่าครับ ก่อนจะเลือกแนวทาง เรามีจุดเริ่มต้นที่เหมือนๆกันครับ คือ การลดน้ำในตู้เลี้ยงลงเหลือ ครึ่งตู้ วิธีการนี้จะทำให้คุณจับปลาได้ง่ายขึ้นมาก และลดโอกาสที่ปลาจะกระโดดชนขอบตู้ หรือ กระโดดออกมาหัวปักลงบนพื้นดินได้อีกด้วยครับ เมื่อลดน้ำลงแล้ว ก็ลองมาเลือกแนวทางคร่าวๆกันครับ แนวทางแรก คือ การจับปลาโดยไม่วางยาก่อน หรือพูดง่ายๆว่า จับสดๆเลย ไม่มีการหยอดยาหรือใส่ยาในตู้ที่ปลาอาศัยอยู่ใดๆทั้งสิ้น วิธีการนี้ เหมาะสำหรับ การเลี้ยงปลาในตู้ใหญ่ เพราะมันเปลืองยามากครับกว่าจะทำให้ปลาออกอาการ ส่วนในตู้ที่เลี้ยงปลาหลายๆชนิดรวมกับอโรวาน่า ก็คงไม่เหมาะนักที่จะทำให้ปลาอื่นๆต้องพลอยสลบไปด้วยกับยาที่ใส่ลงไปเพียงเพื่อจะจับปลาแค่ตัวเดียว นอกจากนั้น น้ำที่ใส่ยาลงไปแล้ว ยังไม่เหมาะอย่างยิ่งที่จะเลี้ยงปลาต่อไปครับ ต้องทำการถ่ายออกให้ 100 เปอร์เซนต์ หรือหมดจดกันเลยทีเดียว ซึ่งก็ไม่สนุกนักในบางกรณี และ สำหรับปลาที่ไม่ชอบน้ำใหม่ๆ100 เปอร์เซนต์แล้ว ก็ยิ่งแย่ จริงไหมครับ แต่ข้อเสียของวิธีการนี้คือ มันจำทำให้คุณจับปลาได้ยากขึ้นครับ โดยเฉพาะมือใหม่ นอกจากจับยากแล้ว โอกาสพลาดก็มีสูงเป็นเงาตามตัวไปด้วย นึกภาพออกนะครับ เมื่อเราลดน้ำลงครึ่งตู้แล้ว เราก็เริ่มจับปลาได้เลยครับ วิธีการคือ นำถุงที่เตรียมไว้ พับปากทบเข้าสัก สามสี่ครั้ง เผื่อให้ขอบปากถุงหนาและคงรูปได้ดี ใช้ถุงตักน้ำในตู้สักเล็กน้อยครับ ยกปากถุงขึ้นให้ถุงมีน้ำอยู่ในก้นถุง การทำแบบนี้เพื่อให้ถุงคงรูปได้ในน้ำเพื่อง่ายแก่การจับปลา เสร็จแล้วก็เอาถุงลงตู้ครับ วางในแนวนอน แล้วพยายามต้อนปลาเข้าถุงครับ อาจใช้ถุงค่อยๆไล่หรือ ใช้มื้อหรือกระชอนต้อนเข้า ก็แล้วแต่ความถนัดและสถานการณ์ครับ สังเกตุอาการปลาให้ดีนะครับ อย่าพยายามเร่ง ฝืน หรือ ทำให้ปลาตกใจมากๆ ไม่งั้นเละอีกตามเคย เมื่อต้อนปลาเข้าถุงได้แล้ว ก็ยกปากถุงขึ้นเหนือน้ำ และใช้มือรวบปากถุงให้สนิททันทีครับ เพราะปลาอาจกระโดดสวนออกมาได้ เสร็จแล้วก็คว่ำถุง ค่อยๆ คลายมืออกเล็กน้อยเพื่อเทน้ำส่วนเกินออก จนได้น้ำในจำนวนที่ยกออกจากตู้ได้โดยง่าย และท่วมหลังปลา ก็ยกถุงออกมาได้เลยครับ เพื่อดำเนินขั้นตอนต่อไป
ส่วนแนวทางที่สอง ก็ตรงข้ามกันครับ คือ ใส่ยาลงไปในตู้เลย แนวทางนี้เหมาะกับการเลี้ยงปลาเดี่ยวๆ หรือมีแทงก์เมทไม่มากนัก หรือ มีแทงก์เมทที่ทนๆ และพร้อมจะรับการถ่ายน้ำ 100 เปอร์เซนต์หลังจากการดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว แนวทางนี้จะทำให้เราจับปลาได้ง่ายขึ้นมากครับ เราจะใส่ยาไปเพื่อให้ปลาซึมๆ และเคลื่อนไหวช้าลง ไม่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใส่ยาให้ปลาสลบเหมือด ในตู้นะครับ มันเปลืองโดยใช่เหตุจริงๆ การใส่ยาสลบนั้นอาจดูโดสข้างขวดก็ได้ หรือ สังเกตุอาการปลาเอาครับ วิธีการคือ หยดยาผสมลงในขันน้ำก่อน เพื่อเจือจางยาไม่ให้สัมผัสกับปลาโดยตรงป้องกันการระคายเคืองจากตัวยาโดยตรง แล้วค่อยๆ เทลงในตู้ครับเทแบบให้ทั่วถึงนะครับ ค่อยๆเพิ่มปริมาณยาเรื่อยๆ พร้อมกับสังเกตุอาการจนปลามีอาการซึม ว่ายช้าลง หรือว่ายปัดไปมา จนเรารู้สึกมั่นใจว่า เราจะจับมันได้โดยละม่อม ก็หยุดยาครับ และทำการจับได้เลย วิธีการจับก็เหมือนแนวทางแรกครับ คือการต้อนปลาเข้าถุงพร้อมกับน้ำนั่นเอง แต่จะง่ายกว่ามากครับ
เมื่อเราจับปลาเข้าถุงได้แล้ว ก็ค่อยๆเพิ่มตัวยาลงไปครับ อาจหยดลงน้ำโดยตรงทีละหยด อย่าให้โดนตัวปลา แล้วค่อยๆกวนน้ำหรือเขย่าถุงเล็กน้อยไปด้วยเพื่อให้ยาผสมกับน้ำได้ดี ค่อยๆทำ ค่อยๆสังเกตุอาการไป สลับกัน ทุกๆ 40-60 วินาที จนปลานิ่ง หรือเรียกง่ายๆว่า สลบเหมือด ย้ำว่า ต้องนิ่งจริงๆนะครับ อย่ามีการขยับครีบหรือตัว ใดๆทั้งสิ้น เมื่อถึงตอนนี้ปลาจะหงายท้องหรือตะแคงข้างแล้วครับ มีอาการเหมือนปลาตาย ทีนี้ เราดูที่เหงือกมันครับ ถ้าเราคิดว่า การดำเนินการศัลยกรรมของเรากินเวลาไม่นานนัก เราก็เอาปลาขึ้นได้เลย เมื่อปลานิ่งแล้ว ถึงแม้ว่าเหงือกยังขยับเบาๆอยู่ก็ตาม หรือถ้าเราคิดว่า การดำเนินการของเราในขั้นต่อไปนั้นต้องกินเวลานานมาก เราก็ทิ้งไว้จนมันหยุดหายใจ หรือ ไม่มีการขยับเหงือกใดๆเลยทั้งสิ้น นิ่งไปหมดทุกส่วน จึงค่อยน้ำปลาขึ้นจากถุงได้ครับ โดยค่อยๆประคองยกตัวปลาขึ้นมา แนะนำให้ใช้สองมือประคองนะครับ
วิธีการศัลยกรรมปลา
นำปลาที่สลบเหมือ มาวางไว้บนเขียงโฟม ที่ปูผ้าขนหนูชุบน้ำชุ่มๆไว้แล้ว โดยวางให้ปลาอยู่ในท่าปกติ อย่าบิดหรืออย่าฝืนปลา และวางในท่าหรือตำแหน่งที่ปฏิบัติงานได้ง่าย แล้วก็ดำเนินการศัลยกรรมได้เลยครับ ด้วยความรวดเร็วและแม่นยำนะครับ
1. การศัลยกรรมครีบต่างๆ
ดังที่ทราบกันดีนะครับว่าครีบปลาอโรวาน่าเอเชียนี่ หักง่ายและเปราะบางเสียเหลือเกิน ครีบ จึงเป็นชิ้นส่วนที่เราจะมีโอกาศได้ตัดแต่งบ่อยที่สุดครับ การตัดครีบนั้น ให้ใช้กรรไกรผ่าตัด ควบคู่ไปกับปากคีบผ่าตัด และ การตัดเฉือนด้วยมีดผ่าตัด โดยหน้าที่หลักๆคือ การไกรใช้ตัดก้านครีบตามแนวขวางหรือตัดก้านครีบให้ขาดออกจากกัน มีดผ่าตัด ใช้กรีดเยื่อครีบให้ขาดออกจากกัน และ ปากคีบผ่าตัด ใช้จับครีบ หรือเยื่อครีบ เพื่อง่ายต่อการดำเนินการมากกว่าการใช้มือหรือนิ้วจับครับ การตัดครีบนั้น เป็นศิลปะครับ ต้องทำด้วยฝีมือ หรือ จินตนาการพอสมควรครับ จึงจะทำออกมาได้สวยงามครับ หลักการคือ ตัดในส่วนที่เสียออกไป เช่น ถ้าคดทุกก้าน ก็ตัดส่วนที่คดออกตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการคดสักเล็กน้อย ถ้าขอบกร่อน หรือขอบเป็นเนื้อตาย (ในกรณีที่ครีบงอกไม่เต็มหลังจากอุบัติเหตุ หรือ การศัลกรรมครั้งที่แล้ว) ก็ตัดออกให้หมดทั้งขอบลึกเข้ามาเล็กน้อยให้เป็นวงที่สวยงาม หรือ ขาดหักเพียงบางก้านหรือบางส่วน ก็ตัดส่วนนั้นออกไป เหลือส่วนที่ดีไว้ ในรูปแบบที่พร้อมที่จะงอกได้สวยงามในอนาคต หรือ ครีบเป็นรู แล้วไม่งอกปิด ก็ใช้มีด เฉือนเอาเยื่อครีบอันนั้นออกไปทั้งหมดระหว่างก้านครีบทั้งสองก้าน ฯลฯ อันนี้อธิบายยากครับ เพราะเป็นศิลปะและประสบการณ์ และรูปแบบการเสียหายก็มีไม่เคยซ้ำกันครับ
2. การศัลยกรรมเหงือก
เหงือกบาน ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้ปลาเราหมดสวยเลยล่ะครับ การตัดเหงือกที่พับอ้านั้น ก็มีหลายสูตรเหมือนกัน ตัดหมดบ้างล่ะ ตัดให้เป็นหยักบ้างล่ะ ฯลฯ แต่สำหรับผมแล้ว ตัดให้หมดเป็นวิธีการที่ดีและง่ายที่สุดครับ การตัดเหงือกที่พับ เราก็จะใช้อุปกรณ์คือ ปากคีบ และ กรรไกรผ่าตัดปลายแหลม โดยหันหัวปลาเข้าตัวเราตรงๆ และใช้ปากคีบคีบเยื่อเหงือกที่พับ และค่อยๆใช้กรรไกรตัดออกให้หมดในแนวโค้งครับ การตัด เราจะตัดเฉพาะเนื้อเยื่อนะครับ อย่าตัดกระดูกปิดเหงือกไปด้วยครับเพราะโอกาสที่มันจะไม่งอกมีสูง แต่จริงๆแล้วกระดูกปิดเหงือกมันก็สามารถงอกได้เหมือนกันนะครับ อย่าไปเชื่อความเชื่อผิดๆ ว่ามันจะงอกไม่ได้ครับ เพียงแต่โอกาสงอกอาจยากมากกว่าเยื่อขอบเหงือก ตัดแล้วก็ตัดให้ชนขอบกระดูกเป็นวงเลยครับ ตัดออกให้หมด ถ้าไม่หมด ก็เล็มให้หมดครับ
3. การศัลยกรรมหนวด
หนวดปลา ก็เป็นส่วนที่เสียหายได้ง่ายครับ เพราะมันอยู่หน้าสุดของตัวปลา ในกรณีที่หนวดขาด กุด แล้วไม่งอก เพราะแผลกลายเป็นเนื้อตาย เราก็ขลิบเปิดแผลได้เลยครับ โดยตัดปลาที่เหลือออกเล็กน้อย หรือในกรณีหนวดปลาหมึก ก็ตัดทิ้งให้หมดครับ แล้วรอลุ้นเอาให้มันงอกออกมาสวย การตัดแต่งหนวดปลาหมึกมักจะไม่ได้ผลครับเพราะมันจะเป็นอีกได้ในเวลาไม่นาน
3. การศัลยกรรมเกล็ด
เกล็ดกร่อน เกล็ดสึก หรือ เกล็ดหลุดคาตัว ไม่ว่าจะเกิดจากอุบัติเหตุ โรคภัยไข้เจ็บ หรือคุณภาพน้ำ เราจะใช้วิธีการ ถอดเกล็ดดังกล่าวออกทั้งเกล็ดครับ ไม่มีการตัดแต่งใดๆทั้งสิ้น การถอดเกล็ดนั้นไม่ง่ายนะครับ จริงอยู่เกล็ดอโรวาน่ามีขนาดใหญ่และมักหลุดได้ง่ายมาก แต่ถ้าเราตั้งใจดึงแล้ว จะรู้ว่า มันเหนียวแน่นมากๆครับ ดึงออกมายากกว่าที่คิด วิธีการก็คือ ใช้แหนบ ที่มีกำลังบีบสูงๆหน่อยครับ ช้อนใต้เกล็ดที่มีปัญหา หนีบให้แน่น แล้วค่อยๆขยับเล็กน้อยไปมา พร้อมกับดึงออกตรงๆครับ หรือจะดึงเฉียงลงด้านล่างท้องปลาลงมาตรงๆก็ได้ครับ
4. การศัลยกรรมตา
เป็นอะไรที่ยาก และเสี่ยงที่สุดแล้วครับ เราจะทำในกรณีที่ปลาตาตกมากๆ หรือ ขอบตาบวมปลิ้นออกมามาก ซึ่งถ้าไม่จำเป็นแล้วก็ไม่ควรทำเองครับ นอกจากจะให้ผู้มีประสบการณ์ทำให้จะดีกว่า วิธีการก็คือ การตัดเนื้อเยื้อ ส่วนบนหรือส่วนที่ปลิ้นออกมาทิ้งไป แล้วอาจต้องมีการเย็บแผลด้วยไหมละลายให้ตาปลาติดเข้าไปดังเดิมครับ ซึ่งก็ต้องใช้ประสบการณ์พอดู ลองนึกภาพดูละกันครับ
วิธีการฟื้นปลาและการดูแลรักษาหลังการศัลยกรรม
เฮ้อ.. ก็ผ่านช่วงลุ้นระทึกกันไปแล้วนะครับ แต่ อย่านึกว่าไม่มีลุ้นต่อนะครับ เพราะมันยังไม่จบ สิ่งที่จะต้องลุ้นต่อไปก็คือ มันจะฟื้นหรือเปล่าครับ เพราะว่า ถ้ามันไม่ฟื้น ทุกๆอย่างที่ทำมาก็จบสิ้นกัน เมื่อเราทำการตัดแต่งเสร็จแล้ว ก็จะเกิดบาดแผลขึ้น ก็ให้ใช้สำลี ชุบยาฆ่าเชื้อที่เตรียมไว้ชุ่มๆ แล้วมาป้ายตรงแผลเบาๆครับ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อนบริเวณแผล เช่น แบคทีเรียและเชื้อรา แล้วอุ้มประคองปลา ลงไปในอ่างฟื้นปลาที่เราเตรียมไว้ครับ น้ำที่ใช้ก็เป็นน้ำในตู้ หรือ น้ำกรองสะอาดทั่วไป ให้อากาศแรงๆเตรียมไว้ ประคองปลาไปปล่อยในอ่างดังกล่าว แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องอุ้มหรือประคองอะไรมันอีกให้เมื่อยครับ เพราะมันจะฟื้นเอง ไม่ต้องกลัวว่ามันจะจมน้ำ เพราะถึงประคองไว้ มันก็จมน้ำอยู่ดี ไม่ต้องกลัวว่ามันจะขาดออกซิเจน เพราะที่แคบๆ ให้ออกซิเจนหรืออากาศแรงๆ ยังไง ออกซิเจนก็ทั่วถึงอยู่แล้ว ลองนึกภาพตามละกันครับ เมื่อปลาเริ่มฟื้น และเริ่มทรงตัวได้แล้ว ส่วนใหญ่จะกินเวลาประมาณ 3 นาที ก็ให้รีบใช้ถุง ต้อนปลาเข้าดังเดิม แล้วนำไปปล่อยในตู้เลี้ยงที่เตรียมน้ำไว้แล้วในแบบที่พร้อมเลี้ยงปกติครับ อย่าทิ้งไว้นานจนปลาฟื้นเต็มที่นะครับ มันจะโดดออกมาแล้วก็เละอีกครับ เมื่อปล่อยปลาลงไปสักพัก ไม่นาน ปลาก็จะว่ายน้ำได้ปกติครับ ในช่วงที่ปล่อยปลาลงไปแรกๆนั้น ควรมีการเพิ่มหัวทรายเตรียมไว้ด้วยในตู้เลี้ยงนะครับ เพื่อปลาจะได้ฟื้นตัวแข็งแรงเร็วขึ้นครับ เมื่อปลาว่ายน้ำได้เป็นปกติแล้ว ก็โอเคครับ การดูแลปลาต่อจากนี้ ก็คือ การรักษาคุณภาพน้ำครับ อาหารค่อยให้เมื่อผ่านไปอีกวัน และควรให้น้อยๆก่อนนะครับ เพื่อคุณภาพน้ำที่ดีและ การฟื้นตัวของปลาซึ่งอาจยังไม่เต็มที่ครับ
เป็นอย่างไรบ้างครับ จบแล้ว ก็คงจะนำไปประยุกต์ใช้ และนำไปปฏิบัติได้จริงๆนะครับ การเลี้ยงปลานั้น บอกไว้เลยครับ ว่าการ ทำใจ เป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนไม่แน่นอน จะให้ปลาเราสวยสมใจไปตลอดกาลนั้นคงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ถ้าปลาเราจะมีตำหนิบ้างเล็กน้อย ก็อย่าไปคิดมากให้ปวดกบาลครับ ปล่อยวาง และยอมรับมันบ้าง ก็อาจไม่จำเป็นต้องศัลยกรรมใดๆครับ เลี้ยงและดูแลให้ดีที่สุดก็พอ นอกนั้น ช่างมันถ้ามันจะเกิด มีความสุขกับการเลี้ยงปลาละกันครับ บทความนี้ เขียนแปปเดียวครับ เวลา 1.55 น. แล้ว ง่วงมาก ราตรีสวัสดิ์ครับทุกๆท่าน
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [2 ก.ย. 50 8:47] ( IP A:58.9.147.162 X: )
คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน